20 เคล็ดลับ วิธีแต่งนิยาย : How to Write a Novel : เขียนนิยายอย่างไรให้สำเร็จ โดยไม่ล้มเหลว

นักเขียนหลายคนเขียนต้นฉบับนวนิยายไม่จบ สิ่งที่ประสบคือ ทำไมเขียนไม่เสร็จหรือเขียนไม่ออก นี่คือ 20 เคล็ดลับ วิธีแต่งนิยาย สำหรับมือใหม่ และเก่าตามขั้นตอน
How to writing
#image_title

นักเขียนหลายคนรู้สึกว่าการเขียนนวนิยายเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะนักเขียนที่เพิ่งเริ่มต้น จะเป็นอย่างไรถ้าเราจะเขียนนวนิยายให้จบเล่ม โดยไม่ติดขัด ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่านวนิยายเป็นศาสตร์และศิลป์ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน วิธีแต่งนิยาย ไม่มีสูตรสำเร็จ การยึดหลักทฤษฏีก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้เขียนเสร็จได้ หรือแม้แต่การอ่านบทความบทนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมพูดเสมอว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับการเขียนต้นฉบับนวนิยายร่างแรก

ผมรู้จักนักเขียนหลายคนที่เขียนนวนิยายไม่จบเล่ม ตั้งแต่นักเขียนรุ่นใหม่จนถึงนักเขียนที่มีประสบการณ์ สิ่งที่พวกเขาประสบคือ “ความกลัว” หรือ “กังวลใจ” ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาควรกังวลใจว่าทำไมเขียนไม่จบ หรือกลัวเขียนไม่ออก นวนิยายเป็นงานหนักที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลานาน หน้ากระดาษ ฮาร์ดไดร์ฟ รวมไปถึงแฟ้มงานมีแต่โครงเรื่องที่ทิ้งร้าง ข่าวดีคือเราไม่จำเป็นที่จะเป็นต้องเป็นแบบนั้น เราจะไม่ล้มเหลว สามารถเขียนนวนิยายจนจบเรื่องได้ และเรื่องที่เขียนไม่ใช่นวนิยายดาดๆ ที่แค่เขียนให้จบลงอย่างแกนๆ

การเป็นนักเขียนเรื่องสั้น ทำให้ผมเขียนนวนิยาย

สมัยที่ผมเริ่มเขียนหนังสือ เรื่องสั้นเป็นผลงานที่ผมผลิตออมามากมายนับจากวันแรกจนถึงวันนี้น่าจะมีไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง ช่วงเริ่มต้นงานเขียนผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเขียนนวนิยายได้เช่นเดียวกัน เมื่อผมเริ่มเรียนรู้วิธีการทำงานมากขึ้น ในหัวของผมก็ยังไม่มีนวนิยายอยู่ในความคิด จนกระทั่งเขียนเรื่องสั้นมาถึงจุดหนึ่ง ผมเริ่มตระหนักว่านวนิยายเป็นงานเขียนที่สนุกมากแบบหนึ่ง และผมจะต้องเขียนให้สำเร็จจนได้ นั่นทำให้ผมเริ่มต้นเขียนนวนิยายเรื่องแรก แม้ว่ามันจะไม่ได้รับการตีพิมพ์ในทันที และมีจุดบกพร่องมากมายที่เกิดขึ้นระหว่างการเขียน แต่นวนิยายเล่มต่อมาของผมก็ได้รับการตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ และได้ตีพิมพ์เป็นเล่มเพื่อจัดจำหน่ายที่แพรวสำนักพิมพ์

หลังจากนั้นผมเปิดสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม รวมถึงเวบไซต์วรรณกรรมเวบแรก thaiwriter.net ซึ่งเวบไซต์ดังกล่าวได้ถึงเวลาบอกลาเนื่องจากปัญหามากมายเกี่ยวกับเทคนิค และต่อมาผมกลับมาทำเวบไซต์ porcupinebook.com ขึ้นมาใหม่ เนื้อหามีเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมมากมายให้ผู้รักวรรณกรรมได้อ่าน

ในช่วงสองปีหลัง (2563) ระหว่างโควิดระบาดผมรู้สึกว่าสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนคนอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะนักเขียนรุ่นใหม่ ผมเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับงานเขียน ซึ่งแน่นอนว่ามันได้รับการตอบรับที่ดีมากในลำดับต้นๆ ของบทความในเวบไซต์ หลายคนอาจจะได้อ่าน 15 ขั้นตอนการเขียนนิยาย ไปบ้างแล้ว ซึ่งนั่นทำให้ผมยิ่งตระหนักได้ว่ามันควรจะต้องมีภาคต่อ ที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ซึ่งผู้อ่านจะได้อ่านในบทความนี้

ขณะเดียวกันสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมได้จัดทำ Story Planner สมุดบันทึกเพื่อนักเขียนและการเขียนโดยเฉพาะ สมุดบันทึกเล่มนี้จะเป็นคู่มือเคียงกายสำหรับผู้ที่ต้องการเขียนนวนิยาย Story Planner ไม่เป็นเพียงสมุดบันทึก แต่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้นักเขียนทำงานง่ายขึ้นกว่าเดิม

ถ้าเราเคยท้อแท้กับการเขียนนวนิยายมาก่อน และเคยรู้สึกเหมือนผม ความกังวลใจมากมายเกี่ยวกับงานเขียนจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข ความกลัวที่ว่าถ้าเขียนนวนิยายไม่จบสักเรื่อง อาชีพในงานเขียนอาจจะไม่รุ่ง ผมคิดว่าบทความนี้จะช่วยได้ หรืออย่างน้อยจะทำให้มั่นใจมากขึ้นหลังอ่านจบ

ทั้งหมดจะเริ่มจากขั้นตอนที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นกว่าเดิม แต่ยังไม่ทิ้งประสิทธิภาพ รวมถึงความเป็นตัวตนในงานเขียน สิ่งที่ต้องเริ่มต้นคือ เรียนรู้กระบวนการเขียนในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง และลงมือเขียนจริงๆ โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ

วิธีแต่งนิยาย : 20 เคล็ดลับ เชิงปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

วิธีแต่งนิยาย : How to Write a Novel
#image_title

ด้านล่างนี้เป็นขั้นตอนการเขียนที่ผมอยากแนะนำ ตั้งแต่นักเขียนหน้าใหม่จนไปถึงนักเขียนที่มีประสบการณ์มาก่อน ผมคิดว่าขั้นตอนต่างๆ สามารถแบ่งปันกันได้ เพื่อทำให้งานเขียนบรรลุเป้าหมาย นั่นคือเขียนต้นฉบับร่างแรกเสร็จ

1.แนวคิดและแรงบันดาลใจ 

ความต้องการที่จะเขียนนวนิยายเกิดจากการที่เรามีไอเดียใหม่ๆ อยู่ในหัว จนอยากจะกลั่นมันออกมาจากสมองให้กลายเป็นตัวหนังสือ และอาจจะไม่ได้มีแค่ไอเดียหรือแรงบันดาลใจเดียว อาจมีเป็นสิบๆ แต่ตอนนี้ลืมเรื่องไอเดียชั้นยอดนั้นไปได้เลย ถ้าเราไม่มีกระบวนการทำงานที่จะผลักดันให้ทำงานต่อไปได้ ไอเดียจะกลายเป็นหมันและหายไปในอากาศ

การมัวแต่ดีใจกับไอเดียชั้นยอดนับสิบๆ ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ถ้าไม่สามารถนำมันออกมาใช้ได้ในงานเขียน แล้วเดินหน้าไปสู่กระบวนการทำงานขั้นที่สอง

แรงบัลดาลใจหรือไอเดียที่ดีเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังเหลือขั้นตอนที่จะต้องลงมือเขียนอีกนับสิบรออยู่ ไอเดียจะไร้ประโยชน์ถ้าไม่เริ่มทำงาน เมื่อมีไอเดียแล้ว ขั้นตอนที่สองรออยู่

2.เปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็น Premise

วิธีแต่งนิยาย สําหรับมือใหม่
#image_title

นำไอเดียที่ยอดเยี่ยมในหัวเปลี่ยนมาเป็น Premise บางแห่งก็เรียกว่า Storyline ผมขอทับศัพท์คำนี้เนื่องจากหาคำที่จะอธิบายให้เข้าใจในภาษาไทยยาก สิ่งที่ต้องทำคือเขียนมันออกมาเป็นประโยคเดียว 

Premise คืออะไร ทำไมต้องใช้มันเพื่อเขียนนวนิยาย

สิ่งที่ต้องทำคือกลั่น Premise ออกมาให้กลายเป็นประโยคเดียว ประโยคนี้จะควบคุมแนวทางของนวนิยายที่เขียน นับตั้งแต่ทำต้นฉบับไปจนสิ้นสุดกระบวนการพิมพ์ ประโยคดังกล่าวจะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน มันจะช่วยจับภาพความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของเนื้อเรื่อง รวมถึงรายละเอียดสำคัญที่ท้าทายตัวเอกและโครงเรื่องให้ดำเนินไป

นอกจากนี้ Premise ยังสามารถสร้างจุดขายของหนังสือ ถ้านักอ่านถามว่านวนิยายเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร Premise จะกลายเป็นคำตอบที่ทำให้รู้ทันทีว่าหนังสือเล่มนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับอะไร มีแนวทางอย่างไร มันจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อเสนอนวนิยายให้กับสำนักพิมพ์ เมื่อต้องตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับนวนิยายที่เขียน มันมีส่วนช่วยให้ข้อมูลของนวนิยายในแง่ที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงอะไร ต้องการอะไร และกำลังจะไปไหน

ตัวอย่าง Premise

“The Wizard of Oz” โดย L. Frank Baum :

“เด็กสาวโดนพายุทอร์นาโดพัดไปยังดินแดนมหัศจรรย์ และต้องออกเดินทางเพื่อค้นหาพ่อมดที่สามารถช่วยให้เธอกลับบ้านได้”

ตัวอย่างนี้ดึงดูดความน่าสนใจในทันทีเมื่อ เด็กสาว–ดินแดนมหัศจรรย์–ภารกิจ (ค้นหาพ่อมด)—และเป้าหมายของเธอที่ต้องการ “กลับบ้าน”

“Shutter Island” โดย Dennis Lehane :

“ทหารเรือไปสืบคดีและหนีออกมาจากโรงพยาบาลบ้า”

“The Road”  โดย Cormac McCarthy :

“พ่อปกป้องลูกชายจากมนุษย์กินคนที่หิวโหย”

“ความโดดเดี่ยวทั้งมวลที่ไม่มีใครสังเกตเห็น” โดย นิวัต พุทธประสาท

“ชายวัยกลางคนออกตามหาอดีตเพื่อนสาวแต่เขาต้องไปพบกับองค์กรเลวร้ายโดยไม่คาดคิด”

Premise มีองค์ประกอบที่สำคัญสามประการเพื่อทำให้โครงเรื่องโดดเด่นขึ้นมา 

  1. อธิบายตัวละครโดยใช้เพียงคำสองคำ – “เด็กสาว” “ชายหนุ่ม” “พ่อ” “นายทหาร”
  2. เป้าหมายของตัวละครคือ ปรารถนา หรือต้องการ/ความขัดแย้ง/ปรปักษ์
  3. สถานการณ์/วิกฤต/เหตุไม่คาดคิด ที่ตัวเอกต้องเผชิญ

3.กำหนดเวลา (ขีดเส้นตาย)

ก่อนที่จะเริ่มทำอย่างอื่น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกำหนดเส้นตาย หรือวันที่ที่จะเขียนต้นฉบับร่างแรกให้เสร็จ

สตีเฟ่น คิง กล่าวว่า ร่างแรกควรจะเขียนเสร็จไม่เกินหนึ่งฤดูกาล หรือไม่ควรเกินกว่าสามเดือน

ขณะนี้เวบไซต์เม่นวรรณกรรมพยายามกระตุ้นให้นักเขียนเขียนเรื่องสั้น ใน Short Story Season แน่นอนว่าอนาคตเราจะมีโปรแกรมสำหรับผู้เขียนนวนิยายบ้าง โดยโปรแกรมอาจจะให้เวลา 100 วันสำหรับการเขียนต้นฉบับร่างแรก 100 วัน เป็นระยะเวลาที่ดูดูยืดหยุ่นขึ้นมาอีกนิด ซึ่งเป็นข้อดีที่ผู้เขียนจะมีเวลามากขึ้น รวมถึงตัวผมด้วย 555

ผมขอแนะนำว่าเส้นตายในการเขียนต้นฉบับร่างแรกไม่ควรเกินกว่า 4 เดือน เพราะถ้านานกว่านั้นจะทำให้นักเขียนผัดวันประกันพรุ่ง หรือหาข้อแก้ตัวต่างๆ นานาที่ทำให้ต้นฉบับล่าช้า การมีเส้นตายอาจจะสร้างความหงุดหงิดนิดหน่อย แต่ไม่ทำให้สูญเสียความตั้งใจ อย่างน้อยถ้าทำสำเร็จ เราจะได้ต้นฉบับร่างแรกมาอยู่ในมือ

สิ่งที่ต้องทำคือ ลงวันที่ในปฏิทิน ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน สร้างระเบียบแบบแผน กำหนดวินัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด สำรวจความเร็วในการเขียนในแต่ละหน้าจากทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จำเป็นที่จะต้องเขียนนวนิยายออกมาให้ได้ตามเป้าหมายทั้งจำนวนหน้าและแนวคิดที่ตั้งไว้

4.ตั้งเป้าหมายเล็กๆ เขียนไปทีละขั้น จนไปถึงเส้นตาย

ตั้งเป้าหมายเล็กๆ
#image_title

การเขียนนวนิยายไม่สามารถเขียนให้จบได้ภายในวันเดียว (ผมจะพูดเรื่องนี้บ่อยมากๆ)

กุญแจสำคัญที่จะเขียนนวนิยายให้จบคือ “ความก้าวหน้าเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน”

คนทั่วไปสามารถเขียนได้ 1,000 คำ โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งหรือสองชั่วโมง ถ้าเขียนได้ตามเป้า เมื่อเขียนครบ 100 วัน เราจะได้นวนิยาย ขนาด 100,000 คำ ซึ่งเป็นหนังสือที่ค่อนข้างหนาเอาการ

ดังนั้นตั้งเป้าหมายให้เล็กลง โดยกำหนดเส้นตายเป็นรายสัปดาห์ แบ่งช่วงการเขียนออกเป็นส่วนๆ ผมแนะนำว่า ให้เขียนสัปดาห์ละประมาณ 5,000 – 6,000 คำต่อสัปดาห์ ภายในหนึ่งสัปดาห์อาจจะเขียนทุกวันหรือสองสามวันเขียนทีเดียว แบ่งเวลาให้เหมาะสม หาจุดที่พอเหมาะพอดี นักเขียนบางคนอาจจะชอบทำงานวันธรรมดา บางคนทำวันศุกร์กับวันเสาร์  ไม่มีอะไรตายตัว แล้วแต่ความสะดวกและความถนัด ทำงานร้านกาแฟ ทำงานที่บ้าน เขียนในตอนดึก หรือตอนเช้า แต่ที่ต้องคำนึงเสมอการทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัยจะช่วยให้ทำงานสำเร็จ

เมื่อเขียนได้ตามกำหนดเวลาที่ได้ในแต่ละวัน ในหนึ่งสัปดาห์ความก้าวหน้านี้จะทำให้กำหนดเส้นตายวันสุดท้ายได้

ตั้งมาตรฐานการทำงาน รับผิดชอบกับเวลา และจัดลำดับความสำคัญ นั่นจะทำให้งานเขียนบรรลุเป้าหมาย

5.กฎที่มีผลกรรมตามมา

กฎที่มีผลกรรมตามมา
#image_title

การกำหนดเส้นตายเป็นรากฐานของความสำเร็จก็จริง เพราะแค่ทำงานตามกำหนดเราจะได้นวนิยายหนา 100,000 คำ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่กว่าจะไปถึงเส้นตายจะทำได้ยังไง แน่นอนว่าระหว่างทางยังต้องมีอุปสรรค ลูกป่วย ไฟดับ น้ำไม่ไหล และที่แย่คือเขียนไม่ออก ทำอย่างไรเพื่อที่เราจะได้ไม่มีข้ออ้างให้กับตัวเอง

เมื่อกำหนดเส้นตายขึ้นมาแล้ว เพื่อให้เราทำตามตารางงาน เราอาจจะต้องสร้าง กฎที่มี “ผลกรรมตามมา” เพื่อบังคับให้เรามีระเบียบวินัยมากขึ้น ไม่ย่อหย่อน หรือผัดวันประกันพรุ่ง 

ตัวอย่างเช่น

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งในไม่กี่เดือนข้างหน้า ถ้าไม่ชอบพรรคการเมืองไหน เช่นไม่ชอบพลังประชารัฐ เราทำตามเส้นตายหรือตารางงานไม่ได้ เราจะต้องบริจาคเงินเข้าพรรคที่เกลียด (ฟังดูเข้าท่าไหม 555)

อีกตัวอย่างหนึ่ง เราอยากได้เสื้อยืดสวยๆ สักตัว ถ้าทำตามกำหนดเวลาไม่ได้ จะไม่สามารถซื้อเสื้อตัวนั้น (อีกนัยหนึ่ง ถ้าทำสำเร็จ อาจจะมอบรางวัลให้กับตัวเอง)

ขั้นตอนนี้จะช่วยให้โฟกัสกับงานมากขึ้น มุ่งมั่นมากขึ้น มีความหวัง ความตั้งใจ เพราะถ้าทำพลาดอาจจะต้องบริจาคเงินให้พรรคที่เกลียดที่สุด นายกรัฐมนตรีที่ได้ก็ไม่ใช่คนที่ชอบ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ งั้นมาทำตามตารางงานให้ลุล่วงกันเถอะ

6.เขียนตามสัญชาตญาณ และยอมรับความไม่สมบูรณ์

ขั้นตอนต่อไปคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถเขียนนวนิยายออกมาให้ดี

ทำไมผมถึงแนะนำให้กำหนดเส้นตายก่อนที่จะลงมือเขียน เหตุผลก็คือ ตลอดชีวิตของเรามีเรื่องราวดีๆ อยู่ในหัวมากมาย เราอ่านหนังสือที่ชอบ ดูหนังที่ใช่ เราศึกษาวิธีการเขียนขั้นสุดยอดจากตำรา จากยูทูป ได้กำลังใจเต็มเปี่ยมจากโซเชียล แต่ไม่เคยเขียนสิ่งที่อยู่ในหัวของเราออกมาได้จริงๆ ยิ่งไปกว่านั้น เรารู้ทุกขั้นตอนการเขียนให้เรื่องออกมาดีได้อย่างไร แต่เชื่อไหมว่า ถ้าให้ความสำคัญกับ “ความสมบูรณ์แบบ” มากเกินไป มันไม่ได้สร้างผลดีให้กับตัวเราเลย แต่จะกลายเป็นตัวบ่อนทำลายมากกว่า สุดท้ายแล้วนวนิยายที่ตั้งใจเขียนให้ออกมาเลิศเลอจะไม่สามารถเขียนให้เสร็จได้

ระหว่างที่เขียนต้นฉบับ ความรู้สึกที่อยากให้ร่างแรกออกมาสมบูรณ์อย่างที่จินตนาการเอาไว้ ไม่ได้ช่วยให้การเขียนบรรลุผล ในทางกลับกัน ตอนที่เขียนร่างแรกส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องราวที่ไร้สาระ อย่าไปกลัวว่าจะเขียนเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เพราะความกลัวนี้จะบ่อนทำลายเราไปช้าๆ วิธีการที่ดีที่สุดคือเขียนตามสัญชาตญาณ

ต้นฉบับร่างแรกจะเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด เตือนตัวเองทุกครั้งว่า “ร่างแรก” ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แต่ดีพอสำหรับการเขียนในช่วงเวลานั้น นวนิยายที่ยอดเยี่ยมไม่ได้เกิดขึ้นในร่างแรก

ร่างที่สองของต้นฉบับจะทำให้นวนิยายดีขึ้นอีกเล็กน้อย ช่วงเวลานี้การปรับแก้ไขจะเริ่มคิดถึงแนวคิดเริ่มต้น ร่างที่สามจะทำให้นวนิยายใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบตามไอเดียที่กำหนดไว้แต่แรก

การเขียนเป็นกระบวนการของการทำซ้ำ จุดมุ่งหมายของร่างแรกเพื่อที่จะได้ต้นฉบับเพื่อนำไปปรับปรุงในร่างต่อไป อย่ากังวล แต่ลงมือทำ และผมคงได้แค่เตือนซ้ำไปแบบนี้

ถ้าพร้อมแล้ว ในลำดับถัดไป สิ่งที่เตือนความจำก็คือเป้าหมายของการเขียนนวนิยายคืออะไร จุดหมายทำให้ต้นฉบับของเราออกมาเป็นหนังสือ ไม่ว่าหน้ากระดาษในร่างแรกจะบรรจุไปด้วยความยุ่งเหยิงขนาดไหนก็ตาม

7.เขียนในสิ่งที่อยากอ่าน พล็อตที่อยากเล่าอยู่ในประเภทใด

เขียนในสิ่งที่อยากอ่าน
#image_title

ตอนนี้เรากำหนดเส้นตายเป็นที่เรียบร้อย ในขั้นตอนนี้ เริ่มคิดได้แล้วว่าตัวละครเอกต้องการอะไรในชีวิต

งานเขียนที่ดีจะต้องเน้นความสำคัญของตัวละคร พวกเขา “ปรารถนา” และ “ขาด” อะไรในชีวิต ถ้าค้นพบว่าตัวละครของเราปรารถนาและต้องการอะไรได้แล้ว เรื่องราวจะพาตัวละครเหล่านั้นไปนั่งอยู่ในใจคนอ่านทันที อีกนัยหนึ่ง ผู้อ่านจะคาดหวังว่าตัวละครที่อยู่ในเรื่องเป็นพล็อตแบบไหน

รูปแบบของพล็อต (Plot type) เป็นอีกหัวข้อที่มีรายละเอียดมากมาย ซึ่งในบทความนี้เรามีพื้นที่ไม่พอ ผมขอยกยอดเพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับพล็อตเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป

สำหรับรูปแบบของพล็อตในหนังสือมีมากมาย สามารถเลือกพล็อตจำนวนมากได้จากชั้นหนังสือในร้าน วิธีการเลือกคือ เมื่อรู้ว่าเราอยากอ่านอะไร เขียนในสิ่งที่เราอยากอ่าน ประเภทของหนังสือจะปรากฏออกมา นอกจากทำให้รู้ว่าหนังสือของเราจะออกมาในแนวทางไหนแล้ว ยังช่วยให้สามารถจับคู่พล็อตกับ “คุณค่า” (Value) ที่ตัวละครต้องการได้ด้วย และคุณค่าที่ตัวละครต้องการ มีทั้งคุณค่าภายในและภายนอก คุณค่าในที่นี้ ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษของอ๊อกซฟอร์ดหมายถึง สิ่งที่ควรค่าแก่การยึดถือ ความสำคัญ คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กล่าวอีกนัย คุณค่าคือสิ่งที่เราชื่นชม สิ่งที่ต้องการ ถ้าให้คุณค่ากับบางสิ่ง แสดงว่าเราคิดว่าสิ่งนั้นดี ตัวอย่างของคุณค่าที่ตัวละครต้องการ เช่น ทรัพย์สมบัติ, มิตรภาพ, การศึกษา, ความยุติธรรม, ความกลัว, ความกล้า, อำนาจ ฯลฯ 

ตัวอย่างการจับคู่ คุณค่า กับ ประเภทหนังสือ กับ

External Values (สิ่งที่ตัวเอกต้องการภายนอก)

  • ชีวิต vs. ความตาย: แอ็กชัน ผจญภัย
  • ชะตากรรมที่เลวร้ายยิ่งกว่าความตาย vs. ชีวิต : สยองขวัญ ระทึกขวัญ ลึกลับ
  • ความรัก vs. ความเกลียดชัง: ความรัก โรแมนติก
  • สิ่งที่ประสบความสำเร็จ vs.ความล้มเหลว: เรื่องราวการแข่งขัน ดนตรี, การแสดงละคร, เต้นรำ, กีฬา 
  • คุณงามความดี vs. ความชั่ว: เรื่องล่อลวง/ศีลธรรม

Internal Values (สิ่งที่ตัวเอกต้องการภายใน)

ความต้องการภายในแตกต่างจากความต้องการภายนอกเล็กน้อย ความต้องการภายในเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของตัวละคร เริ่มตั้งแต่หน้าแรกจนไปถึงหน้าสุดท้าย ซึ่งประกอบไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตสำนึก จากดำเป็นขาว จากขวาเป็นซ้าย แนวคิดทางศีลธรรม สถานะทางสังคมเพิ่มขึ้นหรือลดลง

ตัวอย่าง Internal Values แบบย่อ

  • โตเป็นผู้ใหญ่/ความซับซ้อน & ยังไม่บรรลุนิติภาวะ/ความไร้เดียงสา: Coming of Age
  • ความดี/ความเสียสละ & ความชั่วร้าย/ความเห็นแก่ตัว: ศีลธรรม การยั่วยวน/การทดสอบ

8.อ่านหนังสือ หรือดูหนังที่มีแนวทางเดียวกับเรื่องที่กำลังเขียน

“ข้อเท็จจริงที่ยากคือ หนังสือทำมาจากหนังสือ”

Cormac McCarthy

เมื่อได้โครงเรื่องนวนิยายของเราแล้ว ถึงเวลามาดูว่านักเขียนใหญ่คนอื่นๆ ทำงานกันอย่างไร พวกเขาได้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และประกอบสร้างเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมจากความคิดที่ริบหรี่ด้วยวิธีการไหนบ้าง

นักเขียนหลายคนอาจจะจะสวนขึ้นมาว่า “เรื่องราวของฉันไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ไม่มีพล็อตเรื่องใดที่คล้ายกับเรื่องที่ฉันกำลังเขียน”

สำหรับผมอาจจะมีข้อเตือนใจเล็กๆ น้อยๆ ในกรณีที่เรื่องราวของเราไม่คล้ายกับเรื่องอื่นใดในโลกมาก่อน นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่ง

โดยส่วนตัว ผมเคนอ่านหนังสือดีๆ อ่านสนุก มีคุณค่า และหนังสือหลายๆ เล่มนั้นคล้ายกับหนังสือเล่มอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผมก็เคยอ่านหนังสือแย่ๆ ที่ไม่เหมือนใครเลยด้วยเช่นเดียวกัน

ฉันใดฉันนั้น เม็ดทรายสีขาวละเอียดที่อยู่ในหาดสวยงาม ทรายเม็ดนั้นไม่เหมือนเม็ดทรายใดเลย แต่ทรายเม็ดนั้นก็คล้ายกับเม็ดทรายเม็ดอื่นๆ ไม่มากก็น้อย

ถ้าเรารู้แล้วว่าจะเขียนนวนิยายแบบใด ให้เลือกหนังสือ หรือหนังสักสามสี่เรื่อง เพื่อนำมาศึกษาถึงการเขียนหรือการดำเนินเรื่อง อย่าดูหรืออ่านเพื่อความบันเทิง แต่เป็นการดูหรืออ่านเพื่อศึกษาโครงสร้าง พยายามเรียนรู้แบบแผนของเรื่อง ฉากสำคัญ และวิธีที่ผู้แต่งหรือผู้กำกับขับเคลื่อนเรื่องราว ตัวละคร และโครงสร้างเรื่องอย่างไร มีอะไรเหมือนหรือแตกต่างจากที่เราคิดเอาไว้ขนาดไหน

9.โครงสร้าง โครงสร้าง โครงสร้าง!

โครงสร้าง โครงสร้าง โครงสร้าง!
#image_title

3 คำนี้มักได้รับการใช้อย่างกว้างขวางสำหรับมือเขียนบทภาพยนตร์หรือซีรีส์ ผมเชื่อว่านักเขียนบางคนอาจจะไม่เคยใช้มันอย่างจริงจัง (แต่เรียนรู้ผ่านความคุ้นเคย) แต่เมื่ออ่านถึงหัวข้อนี้ ถึงเวลาที่เราจะใช้ “โครงสร้าง” อย่างมีประสิทธิภาพและทรงพลังกันแล้ว

สำหรับผมแล้วนักเขียนมีสามประเภท

  • นักด้นสด” คือนักเขียนที่ไม่มีแบบแผน พวกเขาทำงานตามที่ใจต้องการ คาดเดาไม่ได้
  • ผู้เขียนบางคนวางแผนทุกขั้นตอน ผมเรียกว่า “นักวางแผน” พวกเขาคือนักเขียนที่เขียนนวนิยายโดยกำหนดทุกอย่างก่อนลงมือเขียน นักวางแผนมีหลายระดับ แต่ทุกระดับจะต้องรู้ว่านวนิยายที่เขียนจะเป็นอย่างไรในตอนจบ นักวางแผนให้ความสำคัญว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเรื่องก่อนที่จะลงมือเขียน พวกเขาต้องการความชัดเจน แผนช่วยให้พวกเขาประหยัดพลังงาน สร้างความมุ่งมั่นตั้งใจ และช่วยประหยัดเวลาได้มากในการเขียน
  • นอกจากนั้นยังมีประเภทลูกผสม “นักปลูกสร้าง” บางทีผมก็เรียกพวกเขาว่า “คนสวน” พวกเขาผสมผสานระหว่างนักวางแผนและนักด้นสดเข้าด้วยกัน แล้วถ้าเรารู้จักคนสวน พวกเขามักจะเอนเอียงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ นักปลูกสร้างอาจเป็นคนที่เขียนเรื่องย่อก่อนเและคิดรายละเอียดสำคัญที่ขับเคลื่อนไอเดีย พวกเขาอาจเป็นนักเขียนประเภทที่ชอบวางแผนโครงเรื่องย่อยและตัวละคร แต่ในระหว่างการเขียน พวกเขาชอบรสชาติของการเขียนชีวิตตัวละครแบบด้นสด ซึ่ง…อาจไม่ใช่ทั้งหมด

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการวางแผนที่ดีช่วยให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างมีจังหวะ การวางแผนช่วยสรุปช่วงเวลาสำคัญในหนังสือ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือองค์ประกอบของพล็อตประกอบเป็นโครงสร้างสำคัญที่หนังสือทุกเล่มต้องมี ไม่ว่าเราจะรู้มาก่อนหรือไม่ นั่นคือ: จุดเริ่มต้น กลางเรื่อง และจุดสิ้นสุด แบบโครงสร้างคลาสสิก

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าโครงสร้างของเรื่องราวมีความสำคัญกับนวนิยายอย่างไร ก่อนที่จะก้าวไปในขั้นต่อไป เรามาดูว่าโครงสร้างในนวนิยายมี 6 เหตุการณ์ที่สำคัญอะไรบ้าง

6 เหตุการณ์สำคัญของโครงสร้างเรื่องราว

ทั้ง  6 เหตุการณ์มีเรื่องราว ฉาก และการแสดง อยู่ในนั้น

  • Exposition – การเปิดเรื่อง : แนะนำโลกที่ตัวละครอยู่ เป็นการสร้างโลกในนวนิยาย 
  • Inciting incident – จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ : ปัญหาและวิกฤติกำลังก่อตัว
  • Rising Action / Progressive complications – การผูกปม : ปมต่างๆ ค่อยๆ เกิดขึ้น ปัญหาและวิกฤติแย่ลงเรื่อยๆ
  • Dilemma – ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก : ปัญหาเลวร้ายจนตัวละครไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องจัดการกับมัน ซึ่งนำไปสู่จุดวิกฤติ
  • Climax – ไคลแม็กซ์ : ตัวละครตัดสินใจเลือกและไคลแมกซ์คือการกระทำที่ตามมา
  • Denouement – บทสรุป : ปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว (อย่างน้อยในตอนนี้)

ถ้าเราได้อ่านบทความเกี่ยวกับงานเขียนมาบ้างในเวบไซต์ Porcupinebook.com อาจจะคุ้นเคยคำศัพท์แต่ละคำ แต่คำว่า Dilemma – ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ผมจะพูดถึงให้ลึกซึ้งในหัวข้อด้านล่าง เพื่อเป็นประโยชน์กับงานเขียนต่อไป 

โครงสร้างสามองก์แบบคลาสสิก

คำแนะนำเกี่ยวกับโครงสร้างเรื่องราวแบบคลาสสิก “โครงสร้าง 3 องก์

จุดเริ่มต้น–กลางเรื่อง–ตอนจบ

“ในองก์แรก ให้ตัวละครว่ายน้ำข้ามแม่น้ำใหญ่ ในองก์ที่สอง ร่างถูกพัดไปจะตกหน้าผา องก์ที่สาม ช่วยพวกเขากลับเข้าฝั่ง”

Dilemma – ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

การที่ตัวละครต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ คือช่วงเวลาสำคัญ ที่ผมต้องพูดซ้ำเพราะว่ากระบวนการนี้เปลี่ยนการเขียนทั้งหมดโดยสิ้นเชิง

ในทุกการกระทำ ตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้ นี่คือตัวเลือกที่สร้างดราม่าให้กับเรื่องราว นี่คือการวางพล็อตเพื่อให้เรื่องเดินหน้า ถ้าไม่มี Dilemma ตัวละครจะไม่เลือก ฉากต่อไปจะไม่ทำงาน การกระทำหรือตัวเรื่องจะไม่มีวันเกิดขึ้น

ในงานเขียนของผม เมื่อร่างต้นแบับแรก สิ่งที่ผมให้ความสำคัญอันดับต้นคือค้นว่าจุดวิกฤติของตัวละครก่อนเริ่มเขียน ขณะเดียวกันก็วางช่วงเวลาที่สำคัญทั้งห้าเอาไว้อย่างคร่าวๆ

ทุกครั้งผมจะคิดให้ตัวเอกเข้าสู่สถานการณ์ที่ต้องเลือกอย่างยากลำบากได้อย่างไร ส่วนผลที่ตามมาของตัวเอก พวกเขาอาจะตัดสินใจทำอะไร หรือไม่ทำเลยก็เป็นเรื่องที่เราวางเอาไว้ทั้งหมด

เมื่อทำอย่างที่ผมแนะนำ ฉากจะเริ่มทำงาน แต่ถ้าไม่ทำตัวละครจะแบน ตัวเอกเป็นเพียงผู้คอยสังเกตการณ์ มีชีวิตในนวนิยายที่ไม่น่าเชื่อถือ และในที่สุดเรื่องราวในนวนิยายจะเต็มไปด้วยความน่าเบื่อ

จงหา Dilemma – ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทุกครั้ง

มุมมองการเล่าเรื่อง : Point of view

ที่ใดมีเรื่องเล่า ที่นั่นมีผู้เล่าเรื่อง ไม่จะอย่างไรก็ตามผู้บรรยายเหตุการณ์ คือจุดที่ต้องเลือกตั้งแต่เริ่มวางแผนในงานเขียน นวนิยายแบบไหนจึงเหมาะกับมุมมอง เรามาค้นหากัน

  • Third-person limited point of view : มุมมองบุคคลที่สามแบบจำกัดมุมมอง เป็นมุมมองยอดนิยมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งนักเขียนใหม่และนักเขียนมีประสบการณ์ มุมมองนี้ผู้บรรยายสามารถล่วงรู้ถึงความคิด ความรู้สึกของตัวละครได้สูงสุดเพียงตัวละครเดียว สรรพนามที่ใช้คือ เขา/เธอ/พวกเขา/พวกเธอ/เขาทั้งหลาย  
  • First-person point of view : มุมมองบุคคลที่หนึ่ง นิยมใช้กันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องสั้น ในขณะที่นวนิยายหากใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่งบรรยายอาจจะยากขึ้นอีกระดับ เนื่องจากมุมมองนี้เป็นมุมมองภายในของตัวละครเอกตัวเดียว ดังนั้นผู้บรรยายจะต้องอยู่ในเหตุการณ์นั้นเสมอ สรรพนามที่ใช้ ผม/ฉัน/กู/ข้า/ข้าพเจ้า 

ทางเลือกที่สามมีใช้กันอยู่บ้างในงานเก่า ปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว

  • Third-person omniscient point of view : มุมมองบุคคลที่สามแบบมุมมองพระเจ้า มุมมองนี้ไม่นิยมแล้วเนื่องจากผู้บรรยายสามารถเข้าถึงความคิด ความรู้สึกของทุกตัวละคร ทุกสถานการณ์ ซึ่งยากในการบรรยายและทำให้สับสนเมื่อต้องบรรยายตัวละครหลายๆ ตัว อาจทำให้กระโดดไปมา และมุมมองนี้เมื่อใช้แล้วทำให้ขาดความน่าตื่นเต้น ไม่สามารถรักษาความลึกลับของตัวเรื่องได้ สรรพนามที่ใช้คือ เขา/เธอ/พวกเขา/พวกเธอ/เขาทั้งหลาย

ตัวเลือกสุดท้าย

  • Second-person point of view : มุมมองบุคคลที่สอง เป็นมุมมองที่ยากที่สุดในการใช้งาน ผมขอแนะนำว่าไม่ควรใช้มุมมองนี้เพื่อเขียนนวนิยาย และเราแทบหานวนิยายที่เขียนด้วยมุมมองบุคคลที่สองได้ยาก สรรพนามที่ใช้ คุณ/มึง

10.ค้นหาช่วงเวลาสำคัญในนวนิยาย

ค้นหาช่วงเวลาสำคัญในนวนิยาย
#image_title

นวนิยายที่ยอดเยี่ยมทุกเรื่อง มีช่วงเวลาที่ทำสำคัญเสมอ ช่วงเวลานี้ทำให้เรื่องราวทั้งหมดก่อตัวขึ้น นั่นเป็นเหตุผลทั้งหมดที่ทำให้ผู้อ่านซื้อหนังสือเล่มนั้นและอ่านจนจบ

ใน Moby Dick เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายกับวาฬ

Pride and Prejudice ลิซซี่ยอมรับข้อเสนอของมิสเตอร์ดาร์ซีหลังจากค้นพบว่าต้องพยายามขนาดไหนเพื่อช่วยครอบครัวของเธอ

Hamlet แม้แฮมเล็ตรู้ว่าจะไม่รอดชีวิตออกมาจากการดวลดาบ แต่เขาก็รับคำท้า ถ้าแก้แค้นไม่สำเร็จ ก็แค่ตาย (จักคงชีวิตหรือมรณา นั่นคือปุจฉา)

ก่อนลงมือเขียนต้นฉบับ จำเป็นต้องวางแผนช่วงเวลาสำคัญเอาไว้ล่วงหน้า การคิดเอาไว้ก่อนช่วยให้เขียนได้ง่ายขึ้น และมีสมาธิในการเขียน

จะเป็นการดีถ้าจะรู้ว่านวนิยาย หรือภาพนตร์ที่มีเรื่องราวคล้ายๆ ที่เรากำลังเขียนได้เคยทำไปแล้ว

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเขียนนวนิยายเกี่ยวกับนักมวย หนังสือเล่มอื่นก็จะมีการแข่งขันชกมวยในตอนท้ายของเรื่อง

ถ้าเขียนนวนิยายเกี่ยวกับอาชญากรรม ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนของนักสืบ ฉากจบของหนังสือคือการเปิดโปงตัวฆาตกร และอธิบายเบื้องหลังอาชญากรรม

ช่วงเวลาสำคัญมักจะเกิดขึ้นในช่วงไคลแมกซ์ของนวนิยาย การประลองครั้งสุดท้าย ช่วงองก์สองต่อจากองก์สาม

11.สัญญาใจ

ผู้อ่านมีความซับซ้อน พวกเขาอ่านหนังสือมานานตั้งแต่เด็ก และส่วนใหญ่มีความคาดหวังหนังสือที่อ่านทุกเล่ม

นั่นหมายความว่าถ้าต้องการให้ผู้อ่านชื่นชอบผลงานที่เราเขียน เราต้องตอบสนอง หรือทำสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายให้กับพวกเขา

เรื่องราวทำหน้าที่ตอบสนองผู้อ่านจนกลายเป็นขนบ ตลอดเวลาที่นักเขียนสร้างเรื่องราวประเภทต่างๆ ออกมา มันได้ทำให้เรื่องเหล่านั้นกลายเป็นแบบแผน แบบแผนเหล่านั้นทำงานกับนักอ่านด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าเราเขียนหนังสือแนวไหนก็ตาม สัญญาใจที่นักเขียนมอบให้กับคนอ่านก็คือสิ่งนั้น

ตัวอย่างเช่น นวนิยายแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ที่เกี่ยวกับรักสามเส้า ตัวเอกชาย มักจะหลงรักเพื่อนสนิทของแฟนตัวเอง โดยทั้งสองจะมีโมเมนต์ที่บังเอิญมาพบกัน และสร้างความน่ารักให้กับคนอ่าน นี่คือสิ่งที่คนอ่านต้องการ

เช่นเดียวกัน ในนวนิยายแนวสืบสวนลึกลับ เรื่องราวจะเริ่มต้นด้วยฉากฆาตกรรมปริศนา ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนลงมือ โดยมีผู้ต้องสงสัยมากกว่าหนึ่งคน นวนิยายจะจบลงด้วยการไขปริศนา และเปิดโปงฆาตกรในตอนจบ พร้อมขั้นตอนในการลงมือ ถ้าผู้เขียนไม่มีโมเม้นต์ของการสืบสวนในนวนิยายแนวนี้ ผู้อ่านก็จะไม่อ่านต่อหรือถึงขั้นไม่ซื้อหนังสือเล่มนั้นเลยก็ได้

12.ความตั้งใจ

เหลือไม่กี่ขั้นตอนก่อนที่จะลงมือเขียน สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเสมอคือการเขียนนวนิยายเป็นงานที่ใช้เวลา ต้องการความมุ่งมั่น และความมุ่งมั่นจะเกิดขึ้นจากภายในของเรา นั่นคือความตั้งใจที่จะทำงานนั้นๆ ออกมาให้สำเร็จ

การวิจัยพบว่ามนุษย์เราสามารถสร้างนิสัยใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ถ้าจินตนาการว่าเราจะสร้างนิสัยนี้จากที่ไหน และเมื่อไหร่ หลังจากที่คิดในใจแล้วมีแนวโน้มที่เราจะทำตามสิ่งที่เราคิดเป็นไปได้มากขึ้น

ถ้าลองมาใช้กับงานเขียน ลองวาดหวังในใจว่าเราจะเขียนหนังสือที่ไหน เมื่อไหร่ และเขียนได้มากขนาดไหนในหนึ่งวัน ตัวอย่างเช่น เราจะเขียนให้ได้วันละ 1,000 คำ ต่อวัน ที่ร้านกาแฟร้านโปรด โดยใช้ช่วงพักกลางวันจากงานประจำ

ขณะที่คิด ให้ลองนึกภาพสถานที่ที่อยู่ในใจให้ชัดเจน ดูตัวเองนั่งทำงาน พิมพ์หนังสือในแล็ปท็อป ขณะที่จำนวนคำค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นจาก 998 เป็น 1,020 คำ

ผมคิดว่าถึงเวลาเขียนหนังสือกันแล้ว

12.ภาพเหมือนผู้อ่าน

นิยามของเรื่องเล่าที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่านคืออะไรระหว่าง เรื่องตลกขบขัน หรือเรื่องราวการสั่งสอนเชิงศีลธรรม แน่นอนผู้อ่านบางคนอาจจะรู้สึกบันเทิงกับเรื่องตลก แต่ความบันเทิงของผู้อ่านบางคนอาจจะอยู่ที่การสั่งสอนศีลธรรมก็ได้

ผมคิดว่าการนึกถึงภาพผู้อ่านสักคน จะช่วยให้ผู้เขียนสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่ากลุ่มเป้าหมาย ขณะที่เขียนจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้น เมื่อต้องเลือกเป้าหมายผู้อ่านว่าสนใจอะไร ระหว่างเรื่องตลก หรือเรื่องสั่งสอน

สร้างภาพผู้อ่านของเรา สิ่งนี้จะช่วยให้เขียนได้ดีขึ้นเมื่อลงมือเขียน

เลือกคนที่รู้จัก หรือสร้างคนที่อาจจะชอบเรื่องที่เราเขียน อธิบายว่าทำไมพวกเขาถึงชอบเรื่องที่เรากำลังเขียนอยู่

ระหว่างที่เขียน ให้เขียนเพื่อพวกเขา

13.ทีมงาน

ทีมงาน
#image_title

ตำนานที่เล่าต่อๆ กันมา นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง หมกตัวอยู่ในห้อง เขียนหนังสือคนเดียวโดยไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน เขากลับออกมาพร้อมต้นฉบับหนาหลายร้อยหน้า นวนิยายเล่มนั้นได้รับการตีพิมพ์ออกมาเสร็จสมบูรณ์ด้วยการทำงานเพียงคนเดียว

คนส่วนใหญ่ รวมถึงนักเขียนหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า การเขียนนวนิยายจะต้องหลีกหนีสังคม หรือไปเก็บตัวเขียนในกระท่อมกลางป่าที่เต็มไปด้วยความเงียบสงัดปราศจากผู้คนเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายสิบปี พวกเขาคิดว่าการทำงานลำพังเพียงคนเดียวทำให้มีสมาธิมากกว่า แต่อนิจจาที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักเขียนเหล่านั้นประสบความล้มเหลว และเขียนนวนิยายไม่จบเสียที

ถ้าได้ศึกษาประวัตินักเขียนใหญ่ๆ พวกเขาไม่ได้เขียนคนเดียวในป่า หรือเก็บตัวใต้ห้องหลังคา ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะมีทีมงาน มีเพื่อน มีคนคอยให้กำลังใจ หรืออย่างน้อยมีคนทำอาหารเช้าให้กิน คนเหล่านั้นช่วยให้นักเขียนทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย

ทีมงานควรเป็นใคร

  • บรรณาธิการ
  • กลุ่มนักเขียน
  • ที่ปรึกษา หรือผู้ช่วย
  • หลักสูตรการเขียนออนไลน์ ชุนออนไลน์สำหรับนักเขียน

ใครก็ได้ที่สามารถช่วยให้งานเขียนสามารถดำเนินไปจนเสร็จลุล่วง อย่าคิดว่าเราทำได้ด้วยตัวเองคนเดียวโดยไม่ต้องมีทีมงาน ค้นหากลุ่มนักเขียน เข้าชั้นเรียนการเขียนออนไลน์ หรือจ้างบรรณาธิการเพื่อพัฒนางาน ไม่ว่าจะทำอะไร อย่าพยามยามทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว

14.วางแผนเพื่อจัดพิมพ์-เผยแพร่

ทำไมเราพูดถึงขั้นตอนนี้ในช่วงก่อนที่จะลงมือเขียน นักเขียนส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จวางแผนทั้งหมดก่อนลงมือเขียน และในคอลัมน์นี้ก็พูดถึงทุกอย่างเกี่ยวกับการวางแผน ดังนั้นจึงไม่ใช่การข้ามขั้นตอนก่อนลงมือเขียน แน่อนแผนทั้งหลายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่การวางแผนช่วยโฟกัสงานของเราให้สำเร็จได้มากกว่า

แผนในการจัดพิมพ์ เริ่มตั้งแต่การเขียนจบแล้วจัดพิมพ์หนังสืออย่างไร จัดพิมพ์เอง หรือส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา เหมือนวิธีการดั้งเดิม จัดพิมพ์เองยังมีเรื่องที่จะต้องคิดว่าเป็นหนังสือเล่มจับต้องได้ หรือเป็นอีบุ๊ก แผนการตลาดเป็นอย่างไร โปรโมตหนังสือแบบไหน อีเมล์จดหมายข่าว โซเชียลมีเดีย โฆษณาในหน้าหนังสือหรือเวบไซต์อย่างไร

ระดมความคิดเกี่ยวกับการโปรโมต ขั้นตอนการโฆษณา การตลาดจะช่วยให้หนังสือมีโอกาสขายได้มากขึ้น และสิ่งนี้ช่วยกระตุ้นให้เขียนนวนิยายให้จบ เพราะเรารู้แล้วว่าเมื่อเขียนหนังสือจบแล้วขั้นสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

16.เขียน (โดยไม่คาดหวัง)

เขียน (โดยไม่คาดหวัง)
#image_title

เรามีแผนการทั้งหมด เรารู้ว่าจะเขียนอะไร เมื่อไหร่ที่จะเริ่มเขียน และเขียนอย่างไร

ได้เวลาลงมือทำงานจริงๆ แล้ว

นั่งลง เบื้องหน้าคือคอมพิวเตอร์ที่เปิดโปรแกรมเวิร์ดอันว่างเปล่า

เขียนบทแรก

“ร่างแรกเต็มไปด้วยความไม่เป็นระเบียบ อย่าให้ความสมบูรณ์แบบหยุดการเขียน”

อย่าลืมว่าร่างแรกเราอาจจะเขียนแต่สิ่งที่แย่ๆ

แต่จงเขียนต่อไป

17.เชื่อมั่นในกระบวนการทำงานและอย่าล้มเลิก

ผมทำงานกับนักเขียนมาหลายคนมานานหลายปี สิ่งที่พบคือพวกเขาพบคืออุปสรรคมากมายในช่วงที่เขียนไปแล้วสักระยะหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาบอกคือมันยาก และเริ่มหาเวลาในการทำงานไม่ได้ ผมรู้ว่าการเขียนนวนิยายนั้นเป็นงานหนักแค่ไหน หลายคนอยากจะเลิกเขียน หรือพยายามหาวิธีเพื่อจะเขียนให้ได้ง่ายขึ้น

“อย่าล้มเลิก” จงเชื่อในกระบวนการทำงาน เพราะว่าสิ่งนั้นอยู่ใกล้ความสำเร็จมากกว่าที่เราเห็น

เมื่อผ่านไปสองสามสัปดาห์ พวกเขากลับมาทำงานได้ต่อเนื่อง และพบว่าหนังสือที่เขียนใกล้ความจริงมากขึ้นตามที่ตั้งใจ

ขั้นตอนของกระบวนการทำงานมีความสำคัญอย่างที่เห็น และเป็นแบบนั้นเสมอ

เมื่อเราคิดว่าทำไม่ได้ นั่นคือเกือบจะถึงจุดหมายแล้ว

ในเวลาที่เรารู้สึกท้อแท้เหนื่อยล้ามากที่สุด คือช่วงเวลาที่เราเข้าใกล้ความก้าวหน้ามากที่สุด

เชื่อมั่นในกระบวนการทำงานและอย่าล้มเลิก จงทำมันต่อไป

18.เดินหน้าต่อแม้จะยากเย็นแสนเข็ญ

พัดลมหรือไม่ก็แอร์มักจะเลือกเวลาเสียตอนที่เราจะเริ่มเขียนหนังสือ 

เดี๋ยวๆ พ่อก็ป่วย แม่ไม่สบาย ลูกต้องไปสอบ แทบจะหาเวลาเขียนไม่ได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้นจะลงมือเขียนประโยคแรกแล้ว ไฟดับเสียอย่างนั้น

นี่ไม่ใช่เรื่องโชคลาง แต่เรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นเสมอเวลาที่เขียนหนังสือ (อ้าว อย่างตอนนี้เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น และผมต้องลุกไปรับสาย)

ในชีวิตของคนเราทุกคน ทุกอาชีพ ไม่เว้นแต่นักเขียน สิ่งต่างๆ มักเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีอะไรเป็นไปตามแผน ปัญหาชีวิตก็เช่นกัน มันจะมาในช่วงที่เราต้องทำอะไรให้สำเร็จเสมอ มันยากที่เราจะต้องจดจ่อกับงานในทุกสัปดาห์ และรู้ว่าเส้นตายใกล้เข้ามาทุกขณะ ยิ่งถ้านักเขียนมีงานประจำอื่นๆ ยิ่งทำให้งานเขียนถูกฉุดกระชากจากเป้าหมายมากขึ้น

นี่คือข้อสำคัญที่ผมแนะนำว่าเราจะต้องมีทีมงาน เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น จะสามารถแก้ไขได้ บางครั้งเราอาจต้องการใครสักคนเพื่อระบาย ช่วยเหลือ แก้ไข หาทางออก หรือสนับสนุนในด้านกำลังใจ

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เดินหน้ามุ่งมั่นที่จะเขียน เขียนต่อไป เพราะปัญหาจะแยกเราออกจากนักเขียนคนอื่นๆ ที่ปราศจากความทะเยอทะยาน เราทำงานต่อได้แม้งานนั้นจะยากแค่ไหน

เพราะสุดท้ายแล้ว เจ็บแต่จบ

19.จบร่างแรก แต่งานยังไม่เสร็จ

ตอนที่ผมเริ่มเขียนนวนิยาย ผมทำตามขั้นตอนการเขียนที่ตั้งใจเอาไว้ จากบทที่หนึ่ง บทที่สอง ภาคที่สอง จนถึงภาคที่สาม และบทสุดท้ายก็มาถึง นวนิยายเขียนเสร็จมาสู่ฉากจบ

ความรู้สึกในตอนเขียนจบ อาจจะทำให้รู้สึกโล่งอก งานเสร็จไปอีกชิ้น ผมเขียนนวนิยายมาหลายเรื่อง เมื่อจบร่างแรกมีการฉลองนิดๆ มันน่าทึ่งที่เขียนได้ มันคุ้มค่าในการเขียน และเชื่อเถอะว่ามันคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

นักเขียนส่วนใหญ่จะมีความสุขที่ได้เขียน ไม่ใช่การเขียนหนังสือจบเพียงอย่างเดียว ดังนั้นถ้าเราทำตามกระบวนการ เราจะมีความสุขในการทำงานมากขึ้นไปอีก

เมื่อเขียนหนังสือจบเล่มแล้ว ยินดีสำหรับความสำเร็จ เก็บเกี่ยวความรู้สึกนั้นอย่างเต็มที่ ยิ่งถ้าเป็นนวนิยายเล่มแรก

แต่อย่าเพิ่งดีใจกับความสำเร็จในร่างแรกให้มากนัก นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ต้นฉบับร่างแรกยังไม่ดีพอที่จะจัดพิมพ์ แต่อย่างไรเสียฉลองมันด้วยความดีใจ ขอบคุณทีมงาน จัดปาร์ตี้ 

หลังจากฉลองแล้ว จะเข้าสู้ขั้นตอนสุดท้ายของการเขียนนวนิยาย

20.ต้นฉบับร่างต่อไป: ร่างที่สอง ที่สาม…สี่…ห้า จงมาๆๆๆ!!!

ต้นฉบับร่างต่อไป
#image_title

คอลัมน์นี้เป็นคู่มือการเขียนนวนิยาย ไม่ใช่คู่มือแก้ไขนวนิยาย (โปรดรอคอยตอนต่อไป) แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการแก้ไขที่ผมสามารถแนะนำได้มีดังนี้

  • อย่างที่ผมบอกไปแล้ว ขั้นตอนฉลองเป็นหนึ่งในขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการแก้ไข มันจำเป็นมากที่เราต้องทิ้งระยะเวลาจากต้นฉบับร่างแรก การที่เราเพิ่งเขียนหนังสือจบเล่ม ความภาคภูมิใจยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แต่สำหรับนักเขียนที่มีประสบการณ์เราต้องปล่อยให้ความรู้สึกนั้นหายไป พักผ่อน คลายเครียด ฉลอง จากนั้นค่อยเข้าสู่กระบวนการแก้ไขอย่างจริงจัง การทิ้งระยะห่างจะช่วยให้เรามองเห็นจุดบกพร่องได้ดีขึ้น นี่ไม่ใช่คำเตือน แตาเป็นกระบวนการ
  • อ่านโดยไม่ต้องแก้ไขอะไร นักเขียนส่วนใหญ่ชอบเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์อักษร หรือแก้ไขบรรทัด ในทันที ผมรู้ว่าเราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ แต่มันเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง การอ่านนวนิยายตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่แตะต้องอะไรจะดีกว่า แต่สิ่งที่ต้องทำคือการจดบันทึกส่วนที่ต้องการแก้ไข ตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างแผนสำหรับต้นฉบับร่างที่สอง ปักหมุดไปว่าขั้นตอนนี้ไม่ใช่การพิสูจน์อักษร 
  • ส่งต้นฉบับให้กับทีมงาน ทีมงานอาจจะเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ คนใกล้ชิด (ที่ไม่ใช่เพื่อน) จากนั้นรอรับคำวิจารณ์จากพวกเขา โดยเฉพาะคำติชมในเชิงโครงสร้างของเรื่อง แน่นอน อย่าเพิ่งพิสูจน์อักษรในขั้นนี้เช่นกัน
  • ถัดไปเป็นขั้นตอนการแก้ไขโดยเฉพาะโครงสร้างของเรื่อง ร่างที่สองเป็นการแก้ไขเชิงโครงสร้างเท่านั้น ทบทวนขั้นตอนที่ 7-11 ลองทบทวนดูว่านวนิยายเป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้หรือไม่ 
  • สุดท้าย ขัดเกลาถ้อยคำ ในร่างที่สาม พิสูจน์อักษร แก้ไขบรรทัด และทำให้รูปประโยคดูดีขึ้น เรื่องรูปประโยคอาจจะเก็บเอาไว้ทำในร่างสุดท้าย เพราะถ้าจัดการเร็วเกินไป อาจจะตัดฉากทั้งหมดที่เสียเวลาเขียนไปหลายชั่วโมงทิ้งโดยไม่ได้ทบทวน

เคล็ดลับอื่นสำหรับ วิธีแต่งนิยาย

นี่คือประสบการณ์จริงจากนักเขียนสู่นักเขียน ผมได้รวบรวมเคล็ดลับต่างๆ จากการทำงานของนักเขียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจว่าเราสามารถเขียนนวนิยายสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

“กำหนดเวลาการทำงาน แบ่งเวลาในการเขียน เช่น วัน เวลา สถานที่ ระยะเวลาในการทำงาน เช่นคุณจะใช้เวลาเขียน 4-7 วัน ต่อสัปดาห์ ทำแบบนี้จนติดเป็นนิสัย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากถ้าทำเป็นประจำในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน และสถานที่เดียวกัน จากนั้นกำหนดระยะเวลาในการทำงาน เช่น เขียนให้ได้ 500 คำ ต่อชั่วโมง อย่ากำนดให้มากเกินไป เพราะอาจจะทำไม่ได้แล้วเพิ่มความเครียดให้กับตัวเอง” – สเตซี วัตกิน

“พยายามเขียนวันละชั่วโมงในทุกๆ วัน บางวันอาจจะรู้สึกระชุ่มกระชวย พลังสร้างสรรค์หลั่งไหลมาไม่หยุด บางวันอาจจะเฉื่อยเนือยและเชื่องช้า แต่ขอแนะนำว่าเขียนทุกวันวันละชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” – เคิร์ต เพาเซน

อดทน เพราะการเขียนนวนิยายต้องใช้เวลานานกว่าที่เราตั้งเป้าเอาไว้ ถ่อมตน เพราะเป็นวิถีเดียวที่จะเติบโตเป็นนักเขียนได้ ให้อภัยตัวเอง ในวันที่ทำตามเป้าหมายไม่ได้ แต่เราต้องการเดินไปสู่เส้นทางนั้น อย่าให้ความรู้สึกผิดทำลายความตั้งใจ” – เอดิน เฮาเดน

“นักเขียนส่วนใหญ่มีศรัทธาที่แรงกล้า และความมุ่งมั่น ยิ่งเขียนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างงานได้มากขึ้นเท่านั้น แต่อย่าทำมันทั้งหมด ควรแบ่งการทำงานออกเป็นส่วนๆ จะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น” – โจ ฮันส์ลิก

“การส่งต้นฉบับร่างแรกไปให้คนอ่านรุ่นแรกเพื่อติชม ต้องเข้าใจว่าคำติชมนั้นอาจจะไม่ตรงใจกับผู้เขียน หรือตรงตามที่คาดหมาย เมื่อต้นฉบับไปถึงมือผู้อ่านรุ่นแรกเราสามารถควบคุมข้อเสนอแนะได้ ตัวอย่างเช่น หากไม่ต้องการให้พวกเขาแก้ไขคำผิด บรรทัด ย่อหน้า หรือประโยค แต่ขอให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นในส่วนของตัวละคร ฉากในเรื่อง ประเภทของเรื่อง ไอเดียที่นักอ่านรู้สึก ฯลฯ ก็เพียงบอกเขาตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะได้คำติชมตามที่ต้องการ” – บี.อี. แจ็คสัน

“คิดแบบตัวละครเอก เพื่อที่จะทำในแบบที่ตัวละครคิด” – วัลดา

“วางแผนในการเขียน โดยใช้เวลาเขียนสามชั่วโมง เริ่มทำงานตอนเช้าช่วง ตี 4 เพราะจิตใจยังไม่ฟุ้งซ่าน ร่างกายยังคงสดชื่น ไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาประจำวัน” – อา.บี. สมิท

“วางแผน นั่งเขียน ถ้านวนิยายมีสิบฉาก เกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร พวกเขาอยู่ที่ไหน เมื่อได้ฉากสำคัญแล้วเริ่มต้นทำงานได้เลย” – แคโรล วูล์ฟ

“มีกฎข้อหนึ่งในชั้นเรียนวรรณกรรมที่ค่อนข้างคลุมเครือว่ามันคืออะไร “แสดงแต่อย่าบอก” จนกระทั่งเมื่ออ่านกระทู้ออนไลน์เกี่ยวกับการเขียน “แสดงอารมณ์ บอกเล่าความรู้สึก…” การแสดงอารมณ์จะทำให้ผู้อ่านเข้าใกล้ตัวละครมากขึ้น เข้าใจการกระทำได้ดีขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องบอกว่าพวกเขาเคลื่อนไหวเชื่องช้าแบบไหนเพราะความเหนื่อยอ่อน” – ไบอัน คัลเทอร์

“ตัวละครจะต้องมีชีวิตชีวา สร้างอารมณ์ บุคลิกภาพ และนิสัยของพวกเขา ตัวละครไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ การมีข้อบกพร่องช่วยเติมที่ว่างให้กับพวกเขา เมื่อสร้างพวกเขาให้เหมือนจริงสำหรับคนอ่าน เวลาที่พวกเขาต้องการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ทั้งได้และไม่ได้ คนอ่านจะรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละคร เอาใจช่วย นอกจากนั้น ฉากเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่สำคัญ ทำให้ฉากเป็นส่วนหนึ่งของตัวละคร สัมผัสแล้วรู้สึกถึงแสง สี กลิ่น และเสียง” – เจน โฮแกน

“เริ่มต้นด้วยการวางโครงร่าง ซึ่งแน่นอนว่าสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอ ตั้งเป้าในการเขียน ยึดมั่นกับมัน เขียนทุกวัน เมื่อร่างแรกเสร็จ เฉลิมฉลองกับความสำเร็จ ขอความคิดเห็นจากผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมา ปรับปรุงแก้ไขร่างต่อไป เมื่อพิมพ์คำว่า “จบบริบูรณ์” หยุดพักการเขียนนวนิยาย แต่อย่าหยุดเขียนงานอื่น เขียนเรื่องสั้น เขียนบล็อก โพสต์บทความ แล้วกลับไปทำร่างที่สองต่อ” – กาย วูดสัน

คำถามที่พบบ่อยเมื่อเขียนนวนิยาย

คำถามที่พบบ่อยเมื่อเขียนนวนิยาย
#image_title

ต่อไปนี้เป็นคำถามที่มีนักเขียนรุ่นใหม่ถามถึงบ่อยๆ และแน่นอนมันอาจมีประโยชน์สำหรับนักเขียนที่มีประสบการณ์ด้วย 

นวนิยายควรมีความยาวเท่าไหร่

ต้นฉบับนวนิยายมิได้นับที่หน้ากระดาษ มาตรฐานสำหรับนวนิยายคือ 85,000 คำ เป็นจำนวนคำที่เหมาะสม  นวนิยายที่เป็นวรรณกรรมอยู่ที่ 90,000 คำ นวนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซีอยู่ที่ 100,000 คำ และนวนิยายแนวสืบสวน ลึกลับ และเยาวชน มักจะสั้นกว่าอยู่ที่ 65,000 คำ

กรณีนวนิยายที่ยาวกว่า 120,000 คำ จะยาวเกินไป โดยเฉพาะกับการจัดพิมพ์แบบดั้งเดิม หรือถ้าน้อยกว่า 60,000 คำ นั้นสั้นเกินไป ผู้อ่านจะรู้สึกไม่ได้อรรถรสครบถ้วน

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงแนวทางไม่ใช่กฎ

ใช้เวลานานแค่ไหนสำหรับการเขียนนวนิยาย

ทุกๆ ร่างของต้นฉบับอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน แต่สำหรับร่างแรกควรใช้เวลาไม่เกินกว่า 100 วัน ผมแนะนำว่าควรเขียนอย่างน้อยสามร่าง โดยแต่ละร่างใช้ระยะเวลาเท่าๆ กันในการทำงาน นั่นหมายความว่าในหนึ่งปีสามารถเขียนนวนิยายด้วยกระบวนการนี้ได้ในหนึ่งเรื่อง

นักเขียนหลายคนเขียนนวนิยนเสร็จเร็ว บางคนเขียนสี่เล่มจบภายในหนึ่งปี นักเขียนขายดีบางคนกำลังเขียนนวนิยายเรื่องที่ 43 แน่นอนว่าอายุของพวกเธอยังไม่ใกล้ 50 ดังนั้นขึ้นอยู่กับความเร็วของแต่ละคน แต่ร่างแรกอาจจะเป็นกฎที่ตายตัวมากกว่าร่างอื่น

เราสามารถเขียนให้เร็วขึ้นหรือช้าขึ้นอยู่กับประสบการณ์ หรือการวางแผน หากใช้เวลาพักฉบับร่างแรกนานขึ้น หรือใช้เวลามากขึ้น เวลาในการเขียนก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ นั่นอาจส่งผลไปสู่การเขียนที่ไม่เสร็จ

ไม่ว่าจะใช้เวลานานหรือสั้นแค่ไหน ผมไม่แนะนำให้ใช้เวลานานเกินกว่า 100 วัน ถ้าใน 100 วันไม่สามารถจบร่างแรกได้ เราอาจสูญเสียโมเมมตันและจะจบนวนิยายได้ยากขึ้น

การเขียนนวนิยายไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นงานหนัก แต่ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยการทำตามกระบวนการเขียน ถ้าทำตามขั้นตอนดังที่เขียนมาข้างต้น ความสำเร็จรออยู่ข้างหน้า

เมื่อเขียนต้นฉบับเสร็จ นวนิยายอาจจะออกมาไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่เราหวังในจินตนาการ แต่หน้าที่ของนักเขียนคือการทำต้นฉบับชิ่นนั้นให้ออกมาสมบูรณ์ กระบวนการนั้นคือการแก้ไข ขัดเกลา

ขอให้โชคดีและมีความสุขในการเขียน


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *