ข้อเท็จจริงของการทำหนังสือ เริ่มต้นจากสำนักพิมพ์ ควานหาต้นฉบับจากนักเขียน ตัดสินใจตีพิมพ์ จัดรูปเล่ม ส่งอาร์ตเวิร์คไปยังโรงพิมพ์ โรงพิมพ์ทำการพิมพ์ เข้าเล่ม ตัดเจียน ห่อหนังสือ ส่งไปยังสายส่ง สายส่งแกะห่อ กระจายหนังสือไปตามร้านหนังสือทั่วประเทศ หนังสือรอคอยผู้อ่านบนชั้นในร้าน มีคนบอกว่าตราบใดที่หนังสือยังอยู่ในระบบร้านค้า หนังสือจะตามหานักอ่านจนพบ
เดี๋ยวก่อน ร้านหนังสือในช่วงขาขึ้น มาพร้อมกับความเร็ว หนังสือล้นตลาด ชั้นหนังสือใหม่มีเวลาให้กับเล่มใหม่ไม่นานนัก ถ้าหนังสือไม่เดิน เล่มนั้นจะถูกชะตากรรมเสียบสันไม่ได้โชว์หน้าปก หรือแย่สุดอาจจะถูกซุกอยู่หลังร้าน พื้นที่ในร้านกลายเป็นสมารภูมิดุเดือด ตำแหน่งการวางที่ดีบางทีอาจจะต้องมีราคาค่างวด
หนังสือในระบบฝากขายส่วนใหญ่จะเหลือกลับมา 30-40% ซึ่งถือว่าโชคดีแล้วที่หนังสือยังขายได้ในจำนวนหนึ่ง ยังมีหนังสือหลายเล่มเหลือกลับมามากกว่านั้น
ข้อเท็จจริงอีกประการก็คือร้านหนังสือเชนสโตร์อาจต้องการหนังสือมากกว่าที่สำนักพิมพ์ต้องการจะพิมพ์ เช่นสำนักพิมพ์ต้องการพิมพ์สองพันเล่ม แต่เชนสโตร์คิดว่าควรจะพิมพ์สามพันเล่ม เพื่อที่จะได้กระจายหนังสือได้ครบทุกสาขา แต่นั่นเพื่อความสะดวกของร้านเชนสโตร์ แต่ไม่ใช่สำนักพิมพ์
ช่วงสองสามที่ผ่านมา (2555-59) ร้านหนังสือพบกับยอดขายหนังสือตกต่ำลงเรื่อยๆ จนต้องปรับกลยุทธเพื่อความอยู่รอดโดยลดพื้นที่ขายหนังสือในร้านลง และเพิ่มพื้นที่ที่เป็น Non Book มากขึ้น เช่นเครื่องเขียน ดิคชันนารีอัจฉริยะ หรือ Tablet บางเจ้าเพิ่มโปรโมชั่นผ่อน 0% นั่นหมายความว่าจำนวนหนังสือที่จะถูกส่งกลับคลังจะมากขึ้นกว่าก่อน เป็นสัญญาณเตือนให้กับสำนักพิมพ์ว่าอาจจะถึงเวลาต้องลดจำนวนการผลิตลง รวมถึงลดจำนวนปกหนังสือลงด้วย
เมื่อหนังสือเดินทางกลับจากร้านหนังสือ สู่คลังเก็บหนังสือของสายส่ง ราวกับพวกมันกลับมาจากสนามรบ ด้วยสภาพเก่าคร่ำ พังยับเยิน ฝุ่นเกาะ มันไม่ใช่หนังสือในสภาพ 100% อีกต่อไป
ครบสัญญาฝากขายหนังสือ ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเวลาสองถึงสามปี สายส่งจะคืนหนังสือกลับสู่สำนักพิมพ์ โลกจริงของคนทำหนังสืออยู่ที่นั่น กองทัพหนังสือกลับสู่บ้านของมันแท้จริง ในสภาพราวกับทหารผ่านศึก สต๊อคของเราบวมจนล้น วิธีการกำจัดที่ง่ายที่สุดด้วยการขายหนังสือให้กับร้านหนังสือเก่าในราคาชั่งกิโลขาย น้ำตาของผู้ทำหนังสือหยดลงมาโดยไม่รู้ตัว
สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมก็ประสบกับปัญหาการคืนกลับของหนังสือเช่นเดียวกัน แต่เราพยายามที่จะไม่ตัดสต๊อคด้วยการขายเหมาชั่งกิโล ที่เราทำคือจัดหาที่เก็บแล้วจึงค่อยๆ ทยอยขายออกมา แม้ต้องใช้เวลานาน แล้วสภาพหนังสือเสื่อมลง แม้หนังสือหลายเล่มที่กลับมาจะคืนทุนแล้ว แต่หนังสือที่เหลือจากสายส่งก็ยังมากมายอยู่ดี ยิ่งเราพิมพ์หนังสือมากเล่ม มากปี หนังสือก็จะทวีคูณกลับมามากเท่านั้น
ปี 2550 เป็นต้นมาถือว่าธุรกิจหนังสือต่อสู้อย่างดุเดือด ทั้งต้องการการเติบโตที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็เผชิญหน้าการแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่ง จนเข้าสู่ภาวะหนังสือล้นตลาด โอกาสหนังสือใหม่เริ่มดูเป็นเล่มๆ ปรากฏการณ์ในแบบขึ้นยกแผงเริ่มหาได้น้อยลงไปทุกที การเผชิญต่อความเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงแก้ไข หรือเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ อย่างระมัดระวังมากขึ้นได้กลับมาอีกครั้ง แม้เศรษฐกิจจะไม่ตกรุนแรงเหมือนวิกฤติฟองสบู่ แต่อาการเฉื่อยนี้อึมครึมอยู่นาน เมื่อบวกกับกระแสวิกฤติการเมืองในประเทศไทยด้วยแล้ว (นับตั้งแต่รัฐประหารปี 49) ภาวะเศรษฐกิจไม่เฉพาะสิ่งพิมพ์ มีทรงกับทรุด
กลิ่นการเมืองวิกฤติค่อยๆ คุกรุ่นขึ้นระหว่างช่วงปี 2547-48 การปิดตัวของ a day weekly ในเครืออะเดย์ กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงนิตยสาร และธุรกิจสิ่งพิมพ์ไม่น้อย ในปีรุ่งขึ้น คุณอธิคม คุณาวุฒิ เข็นแมกกาซีนของตัวเองในนาม Way ออกสู่ตลาดหนังสืออีกครั้ง โดยวางตำแหน่งหนังสือในฐานะ ไลฟ์สไตล์-การเมือง อย่างที่เขาถนัด ในเวลาต่อมาเวย์ก็เริ่มผลิตหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คสู่ตลาด นอกจากเวย์แล้วยังมีสำนักพิมพ์น้องใหม่ที่ไม่กลัวน้ำร้อน “สำนักพิมพ์สมมติ” ภายใต้การดูแลชอง คุณชัยพร อินทุวิศาลกุล และคุณปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล คุณชัยพร ที่คนในวงการรู้จักกันดีพวกเราเรียกเขาด้วยชื่อเล่นว่าจ๊อก เขาจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับช่วงงานโรงพิมพ์นาม “ภาพพิมพ์” จากครอบครัว และปรับปรุงโรงพิมพ์ให้กลายมาเป็นโรงพิมพ์ที่ครบวงจรทุกขั้นตอน โดยย้ายโรงพิมพ์มาสู่สถานที่แห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม โดยเพิ่มเงินลงทุนลงไปทั้งที่รู้ว่าถ้าจะรอดต้องทำงานหนัก (ปัจจุบันสิ่งที่เขาคิดน่าจะออกดอกออกผลอย่างที่เขาตั้งใจเอาไว้) คนทั้งสองทำสำนักพิมพ์วรรณกรรมด้วยความกล้าหาญ โดยมีคุณปิยะวิทย์ดูแลสำนักพิมพ์เป็นหลักใหญ่
ช่วงเวลานี้ตลาดหนังสือในแบบ Non-Fiction เริ่มได้รับความนิยมจากนักอ่านมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์การเมือง ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ปรัชญา ความเรียงกึ่งวิชาการ ยิ่งสภาพการเมืองเริ่มเข้มข้นขึ้น หนังสือแนวดังกล่าวก็ปรากฏโฉมออกมาอย่างมากมายต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการในช่วงเวลาดังกล่าวได้สร้างความเข้มแข็ง ท่ามกลางความโกลาหลขนาดใหญ่ของประเทศ
ในปี 2555 สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ได้กลับสู่การเริ่มต้นอีกครั้งด้วยการพิมพ์หนังสือเท่ากับจำนวนนักอ่านที่คาดว่าจะซื้อ เม่นวรรณกรรมไม่ผลิตหนังสือเพื่อฝากขายผ่านสายส่งอีกต่อไป สำนักพิมพ์ส่งหนังสือเข้าสู่ร้านโดยตรง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือการก่อเกิดร้านหนังสือ Bookmoby Reader’s Cafe ตั้งอยู่ที่หอศิลปะกรุงเทพฯ อันเป็นทำเลของนักศึกษา นักอ่าน ศิลปิน นักกิจกรรมได้มาใช้พื้นที่ ทำให้ร้านดังกล่าวเป็นศูนย์รวมของปัญญาชนรุ่นใหม่ไปโดยปริยาย ร้านบุ๊คโมบี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สำนักพิมพ์เล็ก และอาจกลายเป็นร้านหนังสือที่ไม่ค่อยมีหนังสือจากค่ายใหญ่ ไม่มีสังกัด (แม้จะไม่ทั้งหมด) ทางร้านบุ๊คโมบี้เน้นหนังสือวรรณกรรม หนังสือศิลปะ หนังสืออินดี้ การอยู่รอดของบุ๊คโมบี้ทำให้เห็นว่าร้านหนังสือสามารถอยู่รอดได้แม้ขายวรรณกรรม
ช่วงเวลาใกล้เคียงกันเกิดร้านออนไลน์ readery.co ซึ่งปฐมบทใช้ชื่อว่า Biblio การรีแบรนด์มาสู่ชื่อ Readery ทำให้เรียกขานกันได้ง่ายขึ้น จนประสบณ์ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยมีร้านหนังสือออนไลน์ร้านใดในเมืองไทยเคยทำได้ ผลจากการปรับปรุงระบบร้านออนไลน์ให้ทันสมัย เข้าถึงผู้อ่านได้ง่าย สามารถชำระเงินได้ทุกช่องทาง การเกิดขึ้นของร้าน Readery เช่นเดียวกับ Bookmoby คือตอบโจทย์การเข้าถึงผู้อ่านกลุ่มวรรณกรรมที่ชัดเจน ตรงเป้า และในเวลาต่อมาร้านหนังสืออิสระอีกมากมายก็ถือกำเนิดขึ้นเช่นร้านก็องดิด บนทำเลย่านฝั่งธนบุรี รวมถึงร้านใหม่ๆ อย่างบุ๊คบุรี ซึ่งรีแบรนด์จากธุรกิจครอบครัว, ร้านคำนำ วางเป้าเป็นร้านแห่งนคปฐม, ร้านหนังสือ(2521) ยุคปรับปรุงมุ่งเน้นลูกค้าที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนย่านเมืองเก่าภูเก็ต, ร้านบูคู ซึ่งแม้จะอยู่ปัตตานีแต่ด้วยความเป็นนักกิจกรรมของเจ้าของร้านจึงมีสีสันที่ไม่เหมือนใคร เช่นเดียวกับร้าน Book Re:public แห่งเชียงใหม่ ฯลฯ
เม่นวรรณกรรมเริ่มทำการพรีออร์เดอร์หนังสือเล่มแรก จากนิยายเรื่อง “ความโดดเดี่ยวทั้งมวลที่ไม่มีใครสังเกตเห็น” (ปี 2555) หนังสือได้รับผลตอบรับดีเกินคาด เราประเมินผิดพิมพ์หนังสือเล่มนี้น้อยเกินไป มันขายหมดในเวลาไม่นาน ทำให้เห็นว่าหนังสือวรรณกรรมอาจจะขายได้ถ้าเข้าถึงกลุ่มคนอ่านที่ถูกกลุ่ม ประจวบกับโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook ทำให้มีกลุ่มนักอ่านติดตามนักเขียน เข้าถึงกิจกรรมของสำนักพิมพ์ได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน
การพรีออร์เดอร์คือการขายหนังสือที่ยังไม่มีอยู่ในสต๊อค หมายถึงสำนักพิมพ์เปิดให้คนอ่านสั่งจอง-ชำระเงินก่อนที่หนังสือจะพิมพ์เสร็จ โดยมีช่วงเวลาที่กำหนดเอาไว้ สำหรับเม่นวรรณกรรมมองว่าการพรีออร์เดอร์ของสำนักพิมพ์คือการเปิดโอกาสให้แฟนหนังสือของสำนักพิมพ์ ได้สั่งจองหนังสือล่วงหน้า ในราคาพิเศษ และผู้ที่สั่งพรีออร์เดอร์จะได้รับหนังสือก่อนที่จะวางจำหน่ายที่ร้านค้า พรีออร์เดอร์ทำให้หนังสือเป็นที่สนใจกับนักอ่านเพิ่มขึ้น ยิ่งเราไม่ได้วางขายหนังสือตามร้านเชนสโตร์เหมือนแต่ก่อน การพรีออร์เดอร์จึงมีความสำคัญกับสำนักพิมพ์ไม่น้อย
แม้เม่นวรรณกรรมจะไม่ได้ทำหนังสือประเภทระดมทุน แต่รูปแบบของการทำหนังสือในแบบระดมทุนก็มีตัวอย่างให้เห็น เช่นหนังสือ Moby-Dick ของเฮอร์แมน เมลวิลล์ เกิดขึ้นได้จากการระดมทุนของนักอ่าน และจัดพิมพ์ตามจำนวนที่นักอ่านสั่งซื้อเท่านั้น กรณีนี้อาจจะคล้ายๆ กับกลุ่มมาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด ซึ่งเริ่มโมเดลแรกกับหนังสือเล่มหนา “สีแดงกับสีดำ” ของสตองดาล โดยสำนักพิมพ์สามัญชน ก็ได้รับความสนใจจากนักอ่าน
ก่อนจบบทความชิ้นนี้ หากไม่พูดถึงการทยอยปิดตัวของแมกกาซีนตลอดช่วงปี 2557-59 คงจะขาดบางสิ่งไป โดยเฉพาะแมกกาซีนแฟชั่น ซึ่งเคยเป็นผู้นำทางด้านเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ ได้ถูกกระแสของความเปลี่ยนแปลงกัดเซาะพังทลายลงอย่างช้าๆ เม็ดเงินโฆษณาสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างน่าใจหาย การปิดตัวของหนังสืออย่าง Cosmopolitan นิตยสารหัวนอกฉบับภาษาไทยที่ผลิตต่อเนื่องมาถึง 19 ปี ต้องหยุดการพิมพ์ก่อนที่จะหมดสัญญา นิตยสาร Image แมกกาซีนแฟชั่นไทยที่ได้รับความนิยมสูง ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2530 ฉบับสุดท้ายวางตลาดในเดือนพฤษภาคม 2559 การปิดตัวอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในแวดวงสิ่งพิมพ์เป็นอย่างมาก ปี 2562 บางกอกโพสต์ เดอะเนชั่น สองหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษต้องปิดตัวตามไปอีกราย ไม่นับรวมผลประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในตลาดหุ้นมีผลขาดทุนมากกว่ากำไร บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ได้ทำการเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น โดยขายหุ้นให้กับ 2 ทายาทเบียร์ช้าง ได้แก่ คุณฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นมูลค่ามากกว่า 800 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท ทำให้ทั้งคู่ครองหุ้นของอมรินทร์ถึง 47.62% ในส่วนของร้านซีเอ็ดเปลี่ยน CEO คนใหม่โดยได้คุณเกษมสันต์ วีระกุล มาเป็นหัวเรือ โดยเริ่มงานด้วยการพัฒนาองกร เดินสายสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน ปรับเปลี่ยนกลยุทธให้เข้ากับยุคสมัยใหม่
ตลอดระยะเวลา 20 ปี ในการก่อตั้งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เราพิมพ์หนังสือเฉลี่ยปีละสามเล่ม บวกลบตามสภาพเศรษฐกิจ มีคนถามเราเสมอว่าเราอยู่ได้อย่างไร ผมมักตอบว่าด้วยความรักที่จะทำหนังสือวรรณกรรม เราเลือกทำหนังสือในแบบที่เราชอบ พิมพ์หนังสือในแบบที่เราอยากอ่าน หน้าปกที่เราอยากเห็น ภาพประกอบที่เราอยากทำ เราเชื่อว่าคนอ่านก็เช่นกัน เราพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาดหนังสือที่เปลี่ยนแปลง เราลงทุนตามกำลังที่มี ไม่ได้โหมแม้ในช่วงขาขึ้น เรารู้ว่าตลาดหนังสือของเราอยู่ตรงไหน
ผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง พบพานทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ท้ายที่สุดผมยังเชื่อว่า เราสามารถทำให้แวดวงวรรณกรรมดีขึ้นเรื่อยๆ เราเรียนรู้มันอย่างค่อยเป็นค่อยไป บทเรียนที่เราได้รับมีราคาที่เราต้องจ่าย ผมไม่เคยเสื่อมศรัทธาต่อพลังวรรณกรรม ผมรู้ว่ามันเปลี่ยนผู้คนได้จากข้างใจ และผมเชื่อว่าแม้เปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิด ก็ยังสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ผมเชื่อเช่นนั้น
ในวาระที่สำนักพิมพ์ครบรอบ 20 ปี ทางสำนักพิมพ์มีโครงการที่จะเฉลิมฉลองความสำเร็จเล็กๆ ของเรา ด้วยการผลิตหนังสือที่ระลึกสำหรับนักอ่าน หนังสือเล่มนี้เราตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอผลงานของนักเขียนที่ทางสำนักพิมพ์คัดสรรค์มาเป็นอย่างดี เพื่อให้ผลงานเขียนในเล่มมองไปสู่อนาคต ขณะเดียวกันเราก็ไม่ลืมเรื่องราวความทรงจำของอดีต เพื่อเป็นบทเรียนของเรา นี่คือหนังสือที่จะเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญสำหรับสำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างเม่นวรรณกรรม ที่เปลี่ยนความเชื่อ ไปสู่ความศรัทธา นั่นคือความหมายที่มีมากกว่าการทำธุรกิจหนังสือ เราศรัทธามากกว่านั้น
4 พฤษภาคม 59
ก่อนวันนักเขียน
8 มิถุนายน 62
ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม