หมาป่าผู้โดดเดี่ยว

“เขาชอบบรรยากาศที่สงบของความมีระเบียบและความสะดวกสบาย แต่ก็ยังพึงพอใจในการทำตัวเป็นคนแปลกแยกเช่นนี้”

อาจจะกล่าวได้ว่าผู้เขียนอ่านงานของแฮร์มานน์ เฮสเซอ (Hermann Hesse (German: [ˈhɛɐ̯man ˈhɛsə]) มาเกือบทุกเล่มที่มีแปลเป็นภาษาไทย เฮสเซอเป็นหนึ่งในสิบนักเขียนในดวงใจที่ไม่อาจจะหยุดรักเขาได้ แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน การกลับไปอ่านงานของเฮสเซอในวัยที่ต่างกันก็ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความรักในตัวเฮสเซอเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราอ่านแล้วเราเข้าใจเฮสเซอเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเราอ่านงานเฮสเซอแล้วยิ่งสะท้อนให้เห็นใบหน้าของเราชัดเจนขึ้นต่างหาก ยิ่งกาลเวลาเดินหน้าไปเท่าไหร่ ใบหน้าของเราก็เผยโฉมออกมามากเท่านั้น นั่นล้วนมาจากงานของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย

Steppenwolf หมาป่าผู้โดดเดี่ยว

ยิ่งโดยเฉพาะ Steppenwolf หรือ “หมาป่าผู้โดดเดี่ยว” คือหนึ่งในนิยายที่ตีแผ่กระแสสำนึกคนชั้นกลางได้อย่างดี เฮสเซอกระเทาะเปลือกนอกของมนุษย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เหมือนพาเราเข้าห้อง จากนั้นก็เปลือยเราไปจนถึงแก่น โดยเฉพาะในเรื่องความเชื่อในทางศิลปะ วัฒนธรรม การมีชีวิตอยู่ในช่วงรอยต่อของยุคสมัย ความแปลกแยกของผู้คนที่กำลังก้าวเดินจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง การเมืองที่เปลี่ยนแปลง อุดมการณ์ความรักที่แตกต่าง รวมถึงศาสนาที่ไม่เหมือนกัน เฮสเซอฉีกร่างของเราทิ้งอย่างไม่ไว้หน้า เขาเล่าเรื่องของแฮรี่ ฮัลเลอร์ ชายแปลกหน้าที่มาเช่าห้องใต้หลังคาอยู่อย่างลำพัง เขาเดินทางมากับกระเป๋าเดินทางใบเก่าสองใบ พร้อมกล่องที่อัดแน่นด้วยหนังสือหนึ่งกล่อง ผู้ให้เช่าบ้านเป็นคุณป้าเจ้าระเบียบ โดยมีหลานชายคอยช่วยเหลือดูแลผู้มาเช่า การมีชีวิตอยู่ที่สุดแสนจะพังของฮัลเลอร์ สร้างปมสงสัยให้กับผู้พบเห็น และเรื่องราวของเขาถูกนำมาเล่าผ่านสมุดบันทึกของเขาที่ทิ้งเอาไว้

“เขาไม่ได้ต่อต้านโสเภณี แต่ในทางปฏิบัติเขากลับทำใจได้ยากหากจะยกย่องโสเภณีให้เทียบเท่ากับระดับของตน เขาสามารถรักอาชญากร นักปฏิวัติ หรือคนเจ้าเล่ห์ที่เต็มไปด้วยชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยม ตลอดจนไปถึงพวกคนนอกกฎหมาย เขาสามารถรักคนเหล่านี้เหมือนดังรักพี่น้อง ยกเว้นเสียแต่พวกโจร ฆาตกร หรือพวกกระทำชำเราผู้หญิง เขาไม่รู้จักวิธีที่แสดงอาการเศร้าแบบตัวเขาแต่รู้จักแสดงอาการเศร้าแบบคนชั้นกลาง”

Steppenwolf หรือ “หมาป่าผู้โดดเดี่ยว” ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมแปลจากภาษาเยอรมันโดยตรง โดย ปิยภาณี เฮ็นท์ซ (Piyahanee Hentsch) ซึ่งเต็มไปด้วยลวดลายของภาษาที่พยายามถ่ายทอดให้ใกล้เคียงจากต้นฉบับมากที่สุด ในขณะเดียวกันเพื่อให้สามารถสื่อสารกับยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน งานแปลในเล่มนี้จึงจัดพิมพ์ด้วยความปราณีต และอยากให้นักอ่านทุกท่านได้ลองอ่านในเวอร์ชั่นนี้ แม้จะต้องรอคอยกันอีกสักระยะก็ตาม เช่นเดียวกับสำนักพิมพ์ที่ตั้งตารอด้วยใจระทึก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *