มุมมอง : คู่มือในการเลือกทุกมุมมอง พร้อมตัวอย่าง – Point of View The Ultimate Guide

Point of View เป็นหนึ่งในองค์ประกอบแรกที่นักเขียนจะต้องตัดสินใจเลือก มุมมอง ทำให้งานเขียนประสบความสำเร็จ เมื่อเลือกใช้ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเขียนหนังสือประเภทใด

มุมมองการเขียน : Point of View (POV) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบแรกที่นักเขียนจะต้องตัดสินใจเลือก มุมมอง ทำให้งานเขียนประสบความสำเร็จได้ มุมมองการเล่าเรื่อง คืออะไร เมื่อคุณเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภท (genre) ของงานเขียน ไม่ว่าคุณจะเขียนหนังสือประเภทใด บทกวี เรื่องสั้น นิยาย หรือแม้แต่ บทความ ในการเขียนนิยายเราเรียก POV ว่าเสียงบรรยาย หรือผู้เล่าเรื่อง ใครเป็นผู้เล่าเรื่อง? เสียงเล่านั้นจะประมวลผลไปสู่ผู้อ่านอย่างไรบ้าง? ไม่ว่าจะเล่าเรื่องจากมุมมองใด บุคคลที่ 1 บุคคลที่ 2 หรือ บุคคลที่ 3 จะส่งผลต่อน้ำเสียง การคลี่คลายปม เนื้อหา อารมณ์ และแง่มุมอื่นๆ อีกมากมายจากกระบวนการเล่าเรื่องทั้งหมด 

คำระบุสรรพนามที่นิยมนำมาใช้เล่าเรื่องมีอะไรบ้าง

  • บุคคลที่หนึ่ง ผม/ฉัน/ข้าพเจ้า/ข้า/กู : “ผมกลายเป็นคนแปลกหน้าไปในทันที หลุดจากวงโคจรของทุกคนที่นั่น ไม่มีใครสนใจคนแพ้ ไม่มีใครสนใจผม” (ความตายของหญิงสาว: ศวา เวฬุวิวัฒนา)
  • บุคคลที่สอง เล่าผ่าน คุณ/มึง : “กว่าที่คุณจะยอมรับว่าสิ่งที่มารดาของคุณพูดนั้นถูกต้องทุกอย่าง นางก็ได้ตายลงจากคำสาปแช่งเชื่องช้าของคุณ” (คำสาปแช่งเชื่องช้าชื่อชีวิต: วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา) 
  • บุคคลที่สาม เขา/เธอ/พวกเขา : “เขาน่าจะลามือตั้งแต่ตอนนั้น ทอดด์คิดหลังจากผ่านวันนั้นมาเนิ่นนาน ในบางค่ำคืนที่ยากเหลือเกินที่จะข่มตาได้” (ฤดูร้อนอันฉ้อฉล: สตีเฟน คิง)

สิ่งที่ควรรู้ก่อนศึกษา มุมมอง การเล่าเรื่อง

ผู้บรรยายคืออะไร?

เห็นได้ชัดว่าการค้นหาผู้บรรยายวรรณกรรมเป็นเรื่องสำคัญ แต่ผู้บรรยายคืออะไรกันแน่? ไม่ว่าคุณจะอ่านข้อความประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ หนังสือเรียน บทกวี หรือนวนิยายขายดี มีคนกำลังถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้อ่านฟัง ในทางวรรณกรรม เราเรียกบุคคลนั้นว่าเป็น “ผู้บรรยาย” ผู้บรรยายคือผู้ส่งข้อความ หรือข้อมูลให้คนอ่านได้รู้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้บรรยายวรรณกรรมคือผู้เล่าเรื่อง และคุณรู้ว่าผู้เล่าเรื่องทรงคุณค่ามากกว่านั้น? ข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนิยาย สารคดี กวีนิพนธ์ หรืองานเขียนชนิดอื่น—ล้วนแล้วมีผู้บรรยายทั้งสิ้น

และเนื่องจากผู้บรรยายและมุมมองทำงานร่วมกัน นั่นหมายความว่าข้อความเกือบทั้งหมดมีมุมมองเช่นกัน!

ค้นหาผู้บรรยาย

ใครคือผู้บรรยาย ผมคิดว่าคุณจะคิดออกได้ง่ายๆ ตัวอย่างเช่น บทความในหนังสือพิมพ์ ผู้บรรยายของเรื่องคือนักข่าวที่เขียนบทความ พวกเขารายงานข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา พวกเขาเป็นคนที่ติดตามเรื่องราวที่กลายมาเป็นข่าว และตอนนี้พวกเขากำลังแบ่งปันเรื่องราวให้กับคุณ

อีกตัวอย่างที่ดี ที่ค้นหาได้ง่ายๆ มาจากนวนิยายเรื่อง Moby Dick ของ Herman Melville ประโยคแรกของหนังสือเล่มนี้เขียนว่า “Call me Ishmael” เนื่องจากเป็นบรรทัดแรกของนิยาย และเป็นข้อความบทสนทนาจึงใช้เครื่องหมายคำพูด คุณจึงรู้ว่าผู้บรรยายเป็นผู้พูดกับผู้อ่าน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้บรรยายของ Moby Dick ระบุตัวเองและบอกชื่อของเขาในบรรทัดแรกของหนังสือ!

แต่การค้นหาผู้บรรยายของเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป ตัวอย่างเช่น หนังสือ Harry Potter โดย J.K Rowling ไม่มีผู้บรรยายที่สามารถระบุตัวตนได้ง่าย หรือผลงานคลาสสิกบางเรื่อง เช่น The Giver โดย Lois Lowry หรือ Pride and Prejudice โดย Jane Austen

ผู้บรรยาย กับ มุมมอง : แตกต่างกันอย่างไร

ก่อนที่เราจะเริ่มเจาะลึกในมุมมอง คุณควรสงบนิ่งสักครู่เพื่อมองหาความแตกต่างระหว่าง มุมมอง กับ การบรรยาย เนื่องจากคำบรรยายและมุมมองมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด คุณเลยคิดว่ามันเป็นคำที่ใช้แทนกันได้

แต่ผู้บรรยาย และมุมมอง เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน ผู้บรรยายเป็นผู้เล่าเรื่อง ในทางตรงกันข้าม มุมมองคือมุมมองที่เล่าเรื่องราว หากคุณคิดว่าผู้บรรยายเป็นคนๆ หนึ่ง มุมมองของพวกเขาคือมุมที่พวกเขากำลังพูดถึงเรื่องราวนั้น

ลองใช้วิธีนี้: ในวรรณกรรม มุมมองและผู้บรรยายพร้อมๆ กันแบบ…ก็เหมือนกับฟ้าผ่า และฟ้าร้อง เมื่อมีฟ้าผ่า ฟ้าร้องจะตามมา คุณไม่สามารถมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้โดยไม่มีอีกสิ่งหนึ่ง แต่ทั้งสองก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันอย่างแน่นอน 

ถึงตรงนี้ เรามาดูมุมมองประเภทต่างๆ ในงานวรรณกรรมกันดีกว่า

ประเภทของ มุมมองการเขียน – พร้อมตัวอย่าง

ในบทถัดจากนี้จะพาคุณไปดูว่าประเภทของมุมมมองมีอะไรบ้าง แม้จะมีความสับสนเล็กน้อยเกี่ยวกับมุมมองบุคคลที่สาม ซึ่งเราแยกออกเป็นสองแบบคือ บุคคลที่สามแบบจำกัดมุมมมอง และ มุมมองที่สามแบบมุมมองพระเจ้า ส่วนสองมุมมองที่เหลือมีความสำคัญอย่างไรบ้าง เราจะไปศึกษากัน พร้อมกับการยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

มุมมอง บุคคลที่ 1 (First person)

วิชา 101 การเขียน มุมมองการเล่าเรื่องในแบบบุคคลที่หนึ่งเป็นเหมือนเบสิก มุมมอง บุคคลที่ 1 จะเป็นจุดเริ่มต้นเสมอ อาจเป็นเพราะมุมมมองนี้เรียนรู้ที่จะเข้าใจได้ไม่ยาก (ทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน) เหมือนการเล่าเรื่องชีวิตประจำวัน ซึ่งเราทุกคนล้วนเคยเขียนสมุดบันทึกมาก่อน เป็นเรื่องปกติที่ผู้บรรยายในแบบบุคคลที่หนึ่งจะเป็นตัวเอกของเรื่อง

“นำตัวนักโทษมาให้ผม” ผมบอกกับผู้บัญชาการ

การใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่ง สามารถสร้างความสนิทสนมระหว่างนักอ่านกับตัวละครได้เป็นอย่างดี ทำให้เข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึก จิตใจ และความคิดภายในของพวกเขาได้อย่างถ่องแท้ ไม่น่าแปลกใจที่มุมมองนี้จะสามารถนำพาผู้อ่านเข้าสู่ประเด็นทางอารมณ์ เข้าถึงความทุกข์ทรมาน เข้าถึงสาเหตุการณ์ เช่นการแยกตัวมาอยู่คนเดียว หรือบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายใน

ข้อเสียของการเล่าด้วยบุคคลที่หนึ่งคือ มุมมองการเล่ามีข้อจำกัด ขอบเขตของเรื่องราวถูกกักกันเอาไว้เฉพาะสิ่งที่ผู้บรรยายรู้ เห็น หรือเข้าใจเท่านั้น โดยที่ไม่สามารถล่วงรู้ความคิด ความรู้สึกภายในของตัวละครอื่น จนกว่าพวกเขาจะมาเล่าให้ผู้บรรยายฟัง นอกจากนั้น ถ้าผู้บรรยายมีอคติ ลำเอียง หรือไม่ซื่อตรง อาจทำให้เรื่องราวขาดความน่าเชื่อถือ จะส่งผลต่อคนอ่านไม่เชื่อในโลกของนิยาย แม้เรื่องราวในหนังสือที่คุณเขียนจะเป็นข้อเท็จจริงทุกประการ

มุมมอง The Hunger Games

ใน The Hunger Games ของ Suzanne Collins นิยายเยาวชน ประเภทดิสโทเปีย (dystopian) แคตนิส เอฟเวอร์ดีน เป็นผู้บรรยายของเรื่อง เธออาสาเป็นเครื่องบรรณาการแทนน้องสาว ไปต่อสู้ใน “เกมล่าชีวิต” ซึ่งถ่ายทอดสดจากสังเวียนกลางแจ้งที่เต็มไปด้วยความอันตรายจนถึงตาย ตลอดทั้งไตรภาคของนิยายเรื่องนี้ แคตนิสเล่าจากมุมมองของเธอ ทำให้เราสามารถเข้าใจกระบวนความคิดภายในที่เธอต้องประสบ และแน่นอนเธอจะเป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ไปโดยปริยาย และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ล้วนเกิดขึ้นจากตัวเธอ และคนรอบข้าง

Point of View ขัปปะ

ขัปปะ เป็นนิยายที่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของโครงเรื่อง ผ่านการเล่าแบบบุคคลที่หนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ นิยายเล่มนี้เหมือนกึ่งบันทึกความทรงจำ โดยคนไข้หมายเลข 23 เล่าประสบการณ์ของตัวเองให้จิตแพทย์ฟัง วิธีการเล่าเรียบง่าย ไม่ต่างจากการเล่าเรื่องต่างๆ ให้เพื่อนฟังถึงดินแดนประหลาดที่เคยไปเยือน ขัปปะเป็นเรื่องราวที่ไม่น่าเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์คนหนึ่งตกลงไปอยู่ในเมืองของขัปปะ ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานญี่ปุ่น เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นระยะเวลาหนึ่ง เรียนรู้วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพวกขัปปะ 

แน่นอนว่าตัวเรื่องเต็มไปด้วยความมืดหม่นเล็กน้อย ผสมการเล่าแบบเสียดสีสังคม ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงแรงกดดันภายในของผู้บรรยาย สิ่งที่ชัดเจนคือตัวเรื่องที่ไม่ซับซ้อน จึงทำให้บางตอนดูขบขันแบบขื่นๆ (black comedy) แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวสามารถดึงดูดผู้อ่านให้เข้าใจจิตใจของตัวละครเอก และการพัฒนาตัวละครสามารถทำได้ดีผ่านรูปแบบที่แท้จริงของนิยาย ไม่ใช่การจับคำอธิบายยัดเข้าไปในตัวละคร

เช่นเดียวกับนิยายเรื่อง Trainspotting ของ เออวิล เวลซ์ นิยายเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งหนังสือและหนัง แม้ทั้งเรื่องจะเขียนขึ้นด้วยภาษาเอดินบะระของชนชั้นแรงงาน ทั้งการใช้คำศัพท์ วลี และไวยากรณ์ล้วนแล้วไม่คุ้นเคยต่อผู้อ่านส่วนใหญ่ แต่การเล่าเรื่องของเวลซ์ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ผู้อ่านจมอยู่กับโครงเรื่อง เหตุการณ์ และกลุ่มตัวละครเอก 

มุมมอง บุคคลที่ 2 (second person)

เรื่องเล่าแบบ บุคคลที่ 2 ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก มันเหมือนกับว่าเสียงเล่าเหล่านั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้อ่าน มันถูกวางเอาไว้เพื่อให้ผู้เล่ากับผู้อ่านรู้สึกว่าตนเองอยู่ร่วมในเหตุการณ์เดียวกัน คำสรรพนามที่นิยมใช้ในภาษาไทยคือ “คุณ” หรือถ้าต้องการความดิบเถื่อน “มึง” ก็สามารถทำได้ แต่มันเป็นการใช้สรรพนามในแง่ลบ ส่วนในภาษาอังกฤษคือ You/Yours/Yours เช่น:

คุณสั่งให้หัวหน้าตำรวจนำตัวนักโทษไปที่สำนักงานของคุณ

ในบรรดา POV ทั้งหมด บุคคลที่สองได้รับความนิยมน้อยที่สุด เป็นเพราะว่าผู้อ่านส่วนใหญ่จะต่อต้าน และไม่เชื่อในสิ่งที่เล่า แต่แน่นอนถ้าคุณเขียนด้วยวิธีนี้ได้ดี ในเชิงเทคนิคผลงานของคุณจะกลายเป็นเรื่องที่น่าประทับ และถือเป็นความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนมากแล้ววิธีการเล่าเรื่องบุคคลที่สองเหมาะกับงานเขียนที่มีขนาดไม่ยาว เช่นเรื่องสั้น หรือกวีนิพนธ์มากกว่า

ถ้ามีตอนใดตอนหนึ่งในนิยาย คุณอาจจะใช้วิธีนี้สอดแทรกเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับตัวเรื่องก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าคุณยังไม่ชำนาญ ผมไม่แนะนำให้คุณใช้มุมมองนี้เริ่มต้นเขียนนิยายเล่มแรก

มุมมองการเขียน เรื่อง The Virgin and the Gipsy

นิยายของ ดี. เฮช. ลอว์เรนซ์ เรื่อง The Virgin and the Gipsy ใช้บุคคลที่สองในการเปิดเรื่องในบทแรก เป็นเทคนิคเพื่อดึงคนอ่านเข้าไปในเนื้อหาหลัก นิยายเรื่องนี้เป็นการตั้งคำถามกับผู้อ่านถึงเรื่องความรัก และชีวิตคืออะไร หญิงสาวพรหมจรรย์ที่วาดฝันจะมีชีวิตโลดโผนแทนชีวิตน่าเบื่อประจำวัน เธอท้าทายอำนาจของผู้พ่อ ขณะเดียวกันพ่อของเธอแปรความรักนั้นเป็นพายุแห่งศีลธรรม และนำปีศาจที่เคยซุกซ่อนอยู่ให้เผยออกมา

การเล่าเรื่อง

45 rpm ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา เรื่องราวความสัมพันธ์ของชายวัยกลางคนที่ดูแลพ่อจนกระทั่งวาระสุดท้าย พ่อของเขาวางแผนที่จะฝังศพตัวเองที่บ้าน แต่พ่อขาดสติสัมปชัญญะตอนป่วยหนัก ครอบครัวพาพ่อไปโรงพยาบาลและเสียชีวิตที่นั่น ร่างถูกเผาวัดแถวบ้าน เถ้ากระดูกถูกโปรยจากสะพานสารสิน บ้านถูกขาย เหลือเพียงเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่ากับแผ่นเสียงไม่กี่สิบแผ่น ตัวเอกของเรื่องอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อ รากเหง้าชาวจีนอพยพ รากที่ลอยเคว้งในอากาศ และการเชื่อมสัมพันธ์กับสาวแปลกหน้าไร้ชื่อ 

เรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าด้วยบุคคลที่สอง เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยรอยบอบช้ำ เนื้อหาที่มีความแปลกแยก ระหว่างตัวละครที่แม้ใกล้ชิดแต่เหินห่าง ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ผิวเผินของคนแปลกหน้ากลับทำให้เขามองหาอนาคตที่มองไม่เห็นชัดเจน ประสิทธิภาพของการเล่าเรื่องแบบนี้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเร้า และสนองตอบทางอารมณ์ไปพร้อมกับบรรยากาศของเรื่อง

มุมมอง บุคคที่ 3 แบบจำกัดมุมมอง (Third person limited)

สรรพนามที่ใช้ในการบรรยายแบบ บุคคลที่ 3 คือ เขา/เธอ/พวกเขา เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราว ตัวอย่างเช่น: 

“นำนักโทษมาให้ผม” เขาบอกผู้บัญชาการของเขา

การเล่าเรื่องโดยบุคคลที่สามแบบจำกัดมุมมอง ผู้บรรยายสามารถเปิดเผยความคิด ความรู้สึก และความเข้าใจของตัวละคร “ตัวเดียว” ได้ตลอดเวลา ผู้อ่านจึงถูก “จำกัดมุมมอง” ในมุมมองนั้นมุมเดียว ตัวอย่างเช่น: 

“เธอไม่รู้ว่าพยานคนนั้นโกหกหรือเปล่า”

มุมมอง POV คำยืนยันของเปเรย์รา

ข้อความที่ตัดตอนมาเป็นตัวอย่าง มาจากนิยายเรื่อง คำยืนยันของเปเรย์รา โดย อันตอนีโอ ตาบุคคี นำเสนอมุมมองของเปเรย์รา นักหนังสือพิมพ์ตัวเล็กๆ ปราศจากชื่อเสียง พอๆ กับหนังสือพิมพ์ที่เขาสังกัด มีอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ความป่าเถื่อนถูกเปิดเผยออกมาอย่างโจ่งแจ้ง จากการปกครองด้วยอำนาจอันเบ็ดเสร็จของเผด็จการทหาร

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ทั่วยุโรปคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นแห่งความตาย บรรณาธิการหน้าวัฒนธรรมอย่างเปเรย์ราเอาแต่ตีพิมพ์วรรณกรรมฝรั่งเศสที่เขาชื่นชอบ นี่เป็นการต่อสู้ภายในของชายคนนี้ ความขัดแย้งภายในของเขา ท่ามกลางการเรียกร้องมโนธรรมทางศีลธรรม

นิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านคำสารภาพของเปเรย์รา ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ทางการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้บันทึก มันเป็นคำสารภาพที่มาจากจิตใจ อัดแน่นด้วยความสงสัย ความรู้สึก และสับสนเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะตั้งคำถามแก่ตัวเอง  

คำยืนยันของเปเรย์รา เล่าเรื่องแบบบุคคลที่สามจำกัดมุมมอง เหมาะกับนิยายเรื่องนี้ ที่เป็นนิยายแนวกึ่งสืบสวน การเล่าเรื่องทำให้ผู้อ่านรู้เรื่องเพียงด้านเดียว เขาก็เหมือนกับเรา ไม่ได้ล่วงรู้อะไรมากไปกว่าที่เห็น หรือกระทำ วิธีนี้ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและความน่าสงสัย องค์ประกอบของ “การไม่รู้” ช่วยทำให้เรื่องราวเข้มข้น และผู้อ่านต้องการค้นหาคำตอบ ไปพร้อมๆ กับตัวละคร

มุมมองการเขียน เรื่อง Harry Potter

นิยายซีรีส์เรื่อง Harry Potter ของ เจ.เค. โรว์ลิง แสดงให้เห็นว่าการใช้มุมมองบุคคลที่สามแบบจำกัดมุมมอง ทำให้นิยายของเธอกลายเป็นนิยายกระแสหลัก ดึงดูดคนอ่านจำนวนไม่น้อย นั่นสะท้อนว่ามุมมองบุคคลที่สามแบบจำกัดมุมมองมีประสิทธิภาพที่ชัดเจน การทำให้แฮร์รี พอตเตอร์ เป็นที่นิยมจากแฟนนักอ่านทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพราะลักษณะตัวละครแฮร์รี่ พอตเตอร์ มีการพัฒนาที่ดี และมุมมองการเล่าเรื่องช่วยส่งเสริมให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างตัวละครกับคนอ่าน 

บุคคลที่ 3 มุมมองพระเจ้า (Third person omniscient)

omniscient โดยความหมาย คำว่า omni เป็นคำละติน แปลว่า “ทั่วทั้งหมด” เอามาใช้เป็น prefix เติมหน้าคำนาม ส่วน scient มีความหมายว่า “รู้ รู้จัก” โดยรวมแล้ว omniscient มีความหมายว่ารอบรู้ ผู้รอบรู้ ในที่นี้ผมขอเรียกมุมมองนี้ว่า มุมมองพระเจ้า (ผู้รอบรู้)

สิ่งที่มุมมองนี้แตกต่างจาก บุคคลที่สามแบบจำกัดมุมมอง เล็กน้อย มุมมองพระเจ้า สามารถล่วงรู้ได้ทุกเรื่อง ไม่ถูกจำกัดอยู่ในมุมมองใดมุมมองหนึ่ง หรือข้อมูลจากตัวละครเพียงตัวเดียว มุมมองพระเจ้าสามารถเปิดเผยทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้น ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในโลก เรื่องราวต่างๆ สามารถล่วงรู้ได้ แม้แต่ความคิดภายในของตัวละครทุกตัว  

เขาคิดว่าพยานเป็นคนซื่อสัตย์ แต่เธอไม่ได้คิดแบบเดียวกับเขา

มุมมองพระเจ้า ได้รับความนิยมจากนักเขียนเสมอ เพราะช่วยให้นักเขียนสามารถเล่าเรื่องทุกตัวละครผ่านมุมมองนี้ ดังนั้น ไม่ว่าข้อมูลอะไร ทั้งภายใน ภายนอก หรือตัวละครตัวไหน มุมมองพระเจ้าสามารถนำมาเสนอข้อมูลได้ไม่จำกัด และยังสร้างระดับความใกล้ชิดเทียบเคียงได้กับมุมมองบุคคลที่หนึ่ง 

The Girl with the Dragon Tattoo

The Girl with the Dragon Tattoo ของ Stieg Larsson แสดงให้เห็นว่าการเล่าเรื่องด้วยมุมมองพระเจ้า สามารถสร้างเสียงที่ไม่เหมือนใครได้อย่างไร ผู้บรรยายสามารถสาธยายลักษณะนิสัยตัวละครได้อย่างอิสระ

จากตัวอย่างข้างต้น สติก ลาร์สัน สามารถบรรยายตัวละครเอก ขณะเดียวกันก็ทำให้มองเห็นความขัดแย้งระหว่างเพื่อนนักข่าว ความไม่ลงรอยกันนี้เป็นทั้งเรื่องพฤติกรรมภายนอก และความคิดภายใน มุมมองพระเจ้าช่วยเพิ่มมิติการเสียดสีในหน้าที่การงานของนักข่าวที่มีความแตกตต่างให้กับงานของเขา ทำให้นิยายปราศจากภาระผูกพันจากการเล่าเรื่องของตัวละคร หมายความว่าการเล่าเรื่องสามารถ ‘แยกตัวออกจากการกระทำ’ ทำให้มองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น

มุมมองการเขียน มุมมองพระเจ้า

Summer Sisters ของ Judy Blume แสดงให้เห็นว่ามุมมองพระเจ้าช่วยถ่ายทอดข้อมูลง่ายๆ ได้อย่างง่ายดาย 

หนังสือหลายเล่มเลือกใช้มุมมองพระเจ้า เพราะสามารถเข้าถึงรายละเอียดปลีกย่อยของเรื่องราว และตัวละคร สามารถเผยให้เห็นภาพรวมของเรื่อง ขณะเดียวกันทำให้ข้อมูลสำคัญกระจ่างชัด โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจของตัวเอก มุมมองพระเจ้าช่วยเพิ่มรายละเอียดแก่นสารให้กับตัวละครได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นการใช้มุมมองพระเจ้าสำหรับงานเขียนแฟนตาซี ช่วยให้คุณสร้างโลกนิยายได้ง่ายขึ้น ดูเป็นธรรมชาติมากกว่ามุมมองอื่น รวมถึงลงรายละเอียดต่างๆ ของฉาก ตัวละคร ยุคสมัย ประวัติศาสตร์ในโลกนิยายแฟนซี โดยที่ไม่ต้องจำกัดที่มุมมองใดมุมมองหนึ่งของตัวละคร 

ความสำคัญของ มุมมมองการเขียน

ตอนนี้เราได้เรียรู้ถึงประเภทของมุมมองอย่างละเอียดแล้ว เรามาค้นหาสาเหตุที่ POV มีความสำคัญกับนิยาย หรือเรื่องที่เราจะเล่าอย่างไร

Point of View : POV มุมมอง
Point of View

มุมมอง เป็นตัวกำหนดระยะห่างความสัมพันธ์

แนวคิดเรื่อง มุมมองกับ ระยะห่างความสัมพันธ์ พัฒนามาจากหนังสือ The Art of Fiction ของ John Gardner นักเขียน นักวรรณกรรม ชาวอเมริกัน เรื่องเกี่ยวกับระยะห่าง หรือตำแหน่งระหว่างผู้เล่าเรื่อง กับผู้อ่าน ทำไมต้องจัดวางความสัมพันธ์ของผู้อ่านกับตัวละคร ระยะห่างความสัมพันธ์มีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องเว้นระยะห่าง? 

เพราะมันส่งผลต่อโทนของเรื่อง หรือน้ำเสียงในหนังสือที่คุณเขียน ยิ่งผู้อ่านผูกพันกับตัวละครมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้คุณสามารถส่งข้อมูลจากเรื่องที่แต่งไปสู่ผู้อ่านได้มากขึ้นเท่านั้น

แต่กระนั้นเรื่องราวบางอย่างยังนำผู้อ่านเข้าใกล้ระยะห่างความสัมพันธ์มากกว่าปกติ โดยเฉพาะถ้านิยายเรื่องนั้นๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับอารมณ์ และความรู้สึก หรือหนังสือประเภท Coming of age การเติบโตขึ้นมาจากเด็กสู่วัยรุ่น จากวัยรุ่นสู่ผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันนิยายแนวอื่นๆ อาจจะต้องการสร้างระยะห่างมากขึ้น เพราะถ้าข้อมูลที่เขียนลงไปไม่สมเหตุสมผลจะทำให้ผู้อ่านไม่เชื่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ช่วยสร้างบรรยากาศ

การบรรยายในชั้นต่างๆ ของอารมณ์ (layers) จะส่งผลต่อน้ำเสียง และอารมณ์โดยรวมของเรื่อง คุณอาจจะเคยเจอเช่น คุณกำลังเมาส์เพื่อนร่วมงาน จากนั้นเพื่อนที่คุณเมาส์เดินเข้ามาในห้อง อารมณ์ของคุณจะเปลี่ยนไปในทันที ถูกไหม? อะไรประมาณนี้ เรื่องนี้คล้ายๆ กับการบรรยาย หรือการสร้างบรรยากาศ คุณสามารถควบคุมเรื่องราวที่เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วได้ด้วยวิธีเล่าเรื่อง โดยเฉพาะการเลือกใช้มุมมอง

ตัวอย่างเช่น นิยายเรื่อง The Wind-Up Bird Chronicle ของ ฮารูกิ มูราคามิ การบรรยายที่ขัดแย้ง ระหว่าง มอลตา คะโน กับ โทรุ โอกาดะ ผู้ช่วยทนายตกงาน โทรุ เข้าใจว่ามาพบมอลตาด้วยเรื่องแมวที่หายไป แต่เธอกลับบรรยายเรื่องราวส่วนตัวของเธอมากกว่าเรื่องแมว ฉากนี้สร้างบรรยากาศที่ดูอึดอัด เต็มไปด้วยความพิลึก แต่เมื่อเธอพลิกมาพูดเรื่องที่ต้องการจริงๆ กลายเป็นเรื่องที่รุนแรง โทรุในฐานะของผู้บรรยายของเรื่อง ก็ตกอยู่ในอารมณ์ที่ตื่นตะลึงแทนงงงวย หรือยิ่งงงวยมากขึ้น

สร้างสไตล์การเล่าเรื่อง

การเลือกเสียงเล่า หรือมุมมมอง เป็นตัวกำหนดว่าผู้อ่านจะได้รับข้อมูลอย่างไร โดยเฉพาะบุคคลที่หนึ่ง และที่สาม นักอ่านจะเข้าถึงจิตใจของตัวละคร ไม่ใช่แค่อารมณ์ และความคิด แต่จะรวมถึงลักษณะการพูด และความคิดของพวกเขา ไม่ว่าลักษณะการพูดจะเป็นอย่างไร เสียงเหน่อ เสียงขึ้นจมูก พวกเขาไตร่ตรองเรื่องอะไรอยู่ ฝันถึงอะไร ต้องการอะไรในชีวิตแบบไหน นี่คือส่งที่ผู้เขียนส่งถึงผู้อ่าน

ไม่ใช่ว่าคุณจะเลือกมุมมองใดมุมมองหนึ่งมาใช้กับนิยายได้ทุกประเภท เพราะบางมุมมองไม่เหมาะกับทุก genres นิยายบางประเภทมีข้อจำกัด ตัวละครอาจจะต้องอธิบายทุกอย่างเกี่ยวกับโลกที่เขาอาศัยอยู่ และนั่นไม่ใช่สถานที่จริงๆ หรือวิถีชีวิตที่มนุษย์อาศัยอยู่ 

ในกรณีที่นิยายประเภทต่างๆ ที่พิเศษออกไป และต้องใช้เทคนิคในการอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมจำนวนมมากเช่น นิยายแฟนตาซี วิทยาศาสตร์ ดิสโทเปีย หรือสืบสวนสอบสวน การใช้มุมมองบุคคลที่สาม มุมมองพระเจ้า อาจจะเหมาะกว่า และทำให้เรื่องน่าเชื่อถือมากกว่าการเล่าด้วยมุมมองอื่น

POV มุมมอง ที่นิยมใช้ในแต่ละประเภทนิยาย

เมื่อ มุมมอง กลายเป็นมาตรฐานในนิยายบางประเภท มีเหตุผลบางอย่างเป็นตรรกอยู่เบื้องหลัง เช่น นวนิยายสืบสวนสมัยใหม่ไม่นิยมใช้มุมมองพระเจ้า เพราะความสนุกลดลงถ้าผู้บรรยายรู้เรื่องทุกอย่างอยู่แล้ว ความสนุกของการอ่านเรื่องสืบสวน คือการบรรยายที่ไขปริศนาควบคู่ไปกับตัวเอก

อีกทางเลือกหนึ่ง นิยายเยาวชน หรือนิยายวัยรุ่น (young adult) มักเลือกใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่ง เนื่องจากหนังสือประเภทนี้มักเขียนถึงความครุ่นคิด กระแสสำนึก และเน้นนำเสนอภาพตัวเอกเป็นหลัก โดยเฉพาะการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในแบบก้าวผ่านวัย หรือ coming of age ดังนั้น มุมมองที่เหมาะกับนิยายประเภทนี้คือ เสียงเล่าที่อนุญาตให้ตัวเอกมีบทบาทสำคัญมาเป็นลำดับแรก เหมือนการเลียนเสียงคำสารภาพจากไดอารี่วัยรุ่น เมื่อคุณ เริ่มเขียนนิยาย คุณควรนึกถึงประเภทนิยายที่คุณเขียนเป็นลำดับแรก จากนั้นก็เลือกมุมมองที่เหมาะสมสำหรับเล่าเรื่อง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างจับคู่มุมมองที่เหมาะสมกับประเภทนิยาย

  • วรรณกรรม เยาวชนและวัยรุ่น – บุคคลที่หนึ่งเป็นที่นิยมมาก สำหรับบุคคลที่สามจำกัดมุมมมอง ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
  • มหากาพย์ และแฟนตาซี – บุคคลที่สามมุมมองพระเจ้า และจำกัดมุมมอง
  • ลึกลับ และเขย่าขวัญ – บุคคลที่สามจำกัดมุมมอง
  • โรแมนติก – บุคคลที่หนึ่ง และบุคคลที่สามจำกัดมุมมอง
  • ดรามา – ทุกมุมมอง

มาถึงตอนท้ายของบทความอีกครั้ง ตอนนี้คุณเรียนรู้ที่จะเลือกมุมมองการเล่าเรื่องแล้ว ถ้าคุณยังติดขัดที่จะเริ่มต้นนิยาย ผมแนะนำว่าคุณลองกลับไปทบทวน วิธีการเขียนนิยาย และ การเขียนฉากเปิดเรื่อง อีกครั้ง คุณอาจจะได้ไอเดียในการเริ่มต้นเพิ่มขึ้น

ในโพสต์ถัดไป เรายังอยู่กันที่มุมมองการเล่าเรื่อง แต่จะเป็นการลงลึกถึงมุมมองต่างๆ คุณจะเรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นกับ มุมมอง บุคคลที่ 1 พร้อมตัวอย่างที่ละเอียดมากขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า

All About Point of View (POV)

[block id=”bottom-product”]
Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *