คำถามเกี่ยวกับบทละครเรื่อง แฮมเล็ต : Question about Hamlet

นักอ่านตั้งคำถามมากมายว่าเหตุใดตัวละครในเรื่อง แฮมเล็ต กระทำสิ่งต่างๆ จากบทที่ไม่ได้แสดงให้เห็น นัยแฝงเร้นซ่อนอะไรไว้ นี่คือหนึ่งในการตีความเกี่ยวคำถามเหล่านั้น
แฮมเล็ต
#image_title

หลังจากหนังสือเรื่อง แฮมเล็ต – Hamlet ฉบับภาษาไทย ได้วางจำหน่าย นักอ่านหลายคนมีคำถามมากมายว่าเหตุใดตัวละครในเรื่องต่างมีการกระทำต่างๆ หรือข้อสงสัยที่บทละครไม่ได้แสดงให้เห็น ขณะเดียวกันก็ยังมีนัยแฝงเร้น หรือพฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครซ่อนอยู่ระหว่างการแสดงหรือบท กลายเป็นสัญญะให้ผู้อ่านตีความ นี่คือหนึ่งในการตีความ วิเคราะห์ตัวละคร เกี่ยวคำถามมากมายถึงแฮมเล็ต รวมถึงตัวละครตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โอฟีเลีย โพโลเนียส เลแอร์ทีส คอลเดียส เกอร์ทรูด โรเซ็นแครนทส์ และ กิลเด็นสเติร์น รวมไปถึงตัวละครที่แทบไม่มีบทบาทมากเช่น ฟอร์ทินบลาส สัปเหร่อ หรือ ออสริค

หมายเหตุ: ตัวเลข เช่น 3.3.189 หมายถึง องก์ 3 ฉาก 3 หน้า 189 จากหนังสือ แฮมเล็ต เขียนโดย วิลเลียม เชคสเปียร์ แปลโดย ศวา เวฬุวิวัฒนา


วิญญาณใน แฮมเล็ต มีอยู่จริงไหม?

วิญญาณเป็นหนึ่งในความลึกลับที่สำคัญของเรื่องแฮมเล็ต บทละครเริ่มต้นด้วยการแสดงให้เราเห็นวิญญาณที่ปรากฏตัวต่อหน้าทหารยามหลายคน รวมถึงโฮเรโช คนเหล่านั้นได้กลายมาเป็นพยานต่อสิ่งที่ได้พบเห็น เราจึงรู้ตั้งแต่เริ่มแรกว่าวิญญาณไม่ได้เป็นเพียงภาพจำลองภายในจินตนาการของแฮมเล็ต นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้ในภายหลังว่า วิญญาณกำลังบอกความจริงเกี่ยวกับการถูกสังหารโดยคลอเดียส และคลอเดียสยอมรับในเรื่องการฆาตกรรม เมื่อเขาพูดคนเดียวใน 3.3.189 

โอม บาปของข้าช่างต่ำทราม, ส่งกลิ่นเหม็นเน่าไปถึงสวรรค์ คำสาปแรกเริ่ม ดึกดำบรรพ์ ปรากฏเด่นในนั้น ฆาตกรรมแห่งภารดา ข้าสวดภาวนาไม่ได้อีกแล้ว

คลอเดียส (3.3.189)
Hamlet
#image_title

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติพื้นฐานและเจตนาของวิญญาณยังคงเป็นเรื่องลึกลับ วิญญาณอ้างว่าเป็นพ่อของแฮมเล็ต มันถูกจองจำในแดนชำระ แต่ได้รับการปล่อยตัวออกมาในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อส่งข้อความถึงแฮมเล็ต 

คำอธิบายนี้ไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะวิญญาณเป็นสิ่งที่มืดมนและน่ากลัว มันกระตุ้นให้แฮมเล็ตต้องแก้แค้น ส่งเขาไปตามเส้นทางที่นำไปสู่การฆาตกรรมและการทำลายล้างครอบครัวของเขาเอง ในทางศาสนาการแก้แค้นไม่ใช่มโนธรรมจากสวรรค์หรือคุณค่าของคริสเตียน โดยปกติสัตภาวะบนสวรรค์มักไม่ล่อใจตัวละครให้ไปสู่เส้นทางที่รุนแรงและน่าเศร้า (สันนิษฐานว่าวิญญาณอาจมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในวรรณคดี)

สำหรับแฮมเล็ตแล้ว เขาเชื่อว่าปีศาจอาจจะแอบอ้างเป็นพ่อ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้ไม่มากก็น้อย แม้ว่าจะไม่เห็นหลักฐานเพิ่มเติมใดๆ ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ 

โอ เขาบ้าไปแล้ว

เกอร์ทรูด (3.2.202)

ในองก์ที่ 3 ฉาก 4 หน้า 202 เมื่อวิญญาณปรากฏตัวต่อแฮมเล็ต (และผู้ชม) แต่ไม่ใช่เกอร์ทรูด เกอร์ทรูดมองว่าวิญญาณเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความบ้าคลั่งของแฮมเล็ต วิญญาณสามารถปรากฏตัวให้คนอื่นเห็นได้ จนไปถึงข้อเท็จจริงที่คลอดเดียสสังหารพี่ชายตัวเอง และการสารภาพบาปของเขา 

อาจสรุปได้ว่า วิญญาณเลือกที่จะปรากฏสัตภาวะให้กับแฮมเล็ตเห็น ส่วนเกอร์ทรูดไม่เห็นวิญญาณ โดยเข้าใจผิดคิดว่าเขาคุ้มคลั่ง ยิ่งไปกว่านั้นตั้งแต่แฮมเล็ตประกาศเจตนาจะแกล้งบ้า สภาวะทางอารมณ์ ความวิตกกังวลของแฮมเล็ตเพิ่มระดับขึ้นไปเรื่อยๆ  

คุณผู้หญิง ข้าขอนอนบนตักได้หรือไม่ …หรือเจ้าคิดว่าข้าหมายถึงเรื่องหลับนอน

แฮมเล็ต (3.2.163)
โศกนาฏกรรม แฮมเล็ต

อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของวิญญาณเฉพาะกับแฮมเล็ต นั้นดูคลุมเครือ อาจเป็นปีศาจที่พยายามทำให้แฮมเล็ตเป็นบ้า หรือเป็นการก่อตัวของปีศาจภายในของแฮมเล็ต

แฮมเล็ต และโอฟีเลียมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากเพียงไร?

เชคสเปียร์มีความเสี่ยงโดยตรงในการแสดงความสัมพันธ์ทางเพศก่อนสมรสระหว่างตัวละครชนชั้นสูง แต่แฮมเล็ตมีเหตุผลทำให้เราสงสัยว่าในบางจุดก่อนเริ่มละคร แฮมเล็ตและโอฟีเลียมีเพศสัมพันธ์กัน เลแอร์ทีส และโพโลเนียส เตือนโอฟีเลียไม่ให้มีเพศสัมพันธ์กับแฮมเล็ต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยพ่อและพี่ชายของเธอ มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ว่าทั้งสองเกินเลยต่อการเป็นคู่รัก ต่อมาในบทละคร แฮมเล็ตยังหยอกล้อโอฟีเลียด้วยการเล่นสำนวนทางเพศอย่างชัดเจน นัยว่าทั้งสองอาจมีความสนิทสนมร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ก่อนฉากละครซ้อนละครจะเริ่มแสดง

หลักฐานที่ดีที่สุดที่แสดงว่าแฮมเล็ตและโอฟีเลียมีเพศสัมพันธ์ เริ่มเมื่อแฮมเล็ตฆ่าโพโลเนียสพ่อของโอฟีเลีย เธอกลายมาเป็นบ้า ในความบ้าที่แสดงให้เห็น เธอร้องเพลงที่ดูเหมือนจะจมอยู่กับสาเหตุของความเศร้าโศก บางเพลงเกี่ยวกับชายชราหรือพ่อที่กำลังจะตาย ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศก่อนแต่งงาน 

โอ พญาไก่ ต้องกล่าวโทษพวกเขา นางกล่าวว่า ‘ก่อนท่านหลับนอนกับข้า สัญญาไว้ว่าจะแต่งงานกัน’

โอฟีเลีย (4.4227-228)

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด แต่เชคสเปียร์ได้สร้างนัยอย่างแจ่มชัดว่าแฮมเล็ตและโอฟีเลีย อย่างน้อยที่สุดทั้งสองบรรลุความปรารถนาของพวกเขาแล้ว


เกอร์ทรูดมีความสัมพันธ์กับคลอเดียสก่อนที่เขาจะฆ่าพ่อของแฮมเล็ตหรือไม่?

เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเกอร์ทรูดหลับนอนกับคลอเดียส ในขณะที่ยังแต่งงานกับพ่อของแฮมเล็ตอยู่หรือไม่ แม้ว่าวิญญาณจะบอกกับแฮมเล็ตว่าเธอเป็นเช่นนั้น ทั้งแฮมเล็ตและวิญญาณเรียกคลอเดียสว่า “มีชู้” ซึ่งแปลว่า “เสียหายจากการล่วงประเวณี” นอกจากนั้นวิญญาณยังเรียกเกอร์ทรูดว่า “ผู้มากคุณธรรมแต่เพียงเปลือก” (5.1.73) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วิญญาณรู้สึกผิดที่จะไว้ใจเธอตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ 

เมื่อคลอเดียสสารภาพว่าฆ่าพี่ชาย เขาถือว่าเกอร์ทรูดเป็นหนึ่งในสิ่งที่ตน “ครอบครอง” (มงกุฎ ความทะยานอยาก และเกอร์ทรูด) แม้ว่าในบริบทนี้ การ “ครอบครอง” อาจหมายถึงการแต่งงานมากกว่าความใกล้ชิดทางเพศ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่คลอเดียสก่ออาชญากรรมนั้น “ผลสืบทอดแห่งฆาตกรรมที่ตนก่อ (3.3.190) จะพ้นจากบาปหรือได้รับการอภัย

คลอเดียส King Claudius
#image_title

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแฮมเล็ตกล่าวหาเกอร์ทรูดว่า “ก็การกระทำเยี่ยงนั้น ที่จางความละอาย เลือนสง่างามของความสงบเสงี่ยม” (3.4.198) ในตอนแรกเกอร์ทรูดไม่รู้ว่าแฮมเล็ตกำลังพูดถึงอะไร: “อะไร การกระทำใดกัน  ที่แผดคำรามลั่นดุจสายฟ้าได้เช่นนั้น” (3.4.198-199) อย่างไรก็ตาม ภายหลัง เธอสารภาพว่าคำพูดของแฮมเล็ตทำให้เธอเห็น “ข้ามองเห็นจุดดำอันมิอาจลบ ไม่มีวันกลบแต้มสีนั้นได้” (3.4.200) ในจิตวิญญาณของเกอร์ทรูดบ่งชี้ว่า เธอรู้สึกผิดเกี่ยวกับบางสิ่ง แม้ว่าเธอจะไม่ได้ระบุที่มาของความผิดนั้น นี่เป็นอีกครั้งที่เชคสเปียร์ทิ้งเรื่องเพศที่คลุมเครือเอาไว้ให้พวกเรา


ฟอร์ทินบราสคือใคร?

ฟอร์ทินบราสเป็นหลานชายของกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ แม้ว่าเราจะได้ยินชื่อของเขาในการแสดงไม่กี่ครั้ง ซึ่งฟอร์ทินบราสจะไม่ปรากฏบนเวทีจนกว่าจะถึงช่วงสุดท้ายของการแสดง ในช่วงต้นๆ เรารู้ว่าบิดาของฟอร์ทินบราสเป็นกษัตริย์องค์ก่อนของนอร์เวย์ ถูกกษัตริย์แฮมเล็ตผู้พ่อสังหารในการสู้รบเมื่อหลายปีก่อนเหตุการณ์ในละครจะเกิดขึ้น แต่แทนที่เขาจะสืบราชบัลลังก์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์กลับตกไปเป็นของอาฟอร์ทินบราส ดังนั้น ฟอร์ทินบราสและแฮมเล็ตจึงอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ทั้งสองเป็นบุตรของกษัตริย์ที่ถูกสังหาร อาของพวกเขาแย่งชิงบัลลังก์ไป 

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของฟอร์ทินบราสต่อสถานการณ์ของตนนั้นแตกต่างจากแฮมเล็ตมาก 

เพื่อการล้างแค้นให้กับการตายบิดาของฟอร์ทินบราส เขาบุกไปชนะศึกที่โปแลนด์ ยาตราทัพเข้าเดนมาร์กและลงเอยด้วยการสวมมงกุฏของเดนมาร์กเสียเอง ฟอร์ทินบราสเป็นเหมือน “อาวุธที่แข็งแรง” แสดงให้เห็นว่าบุตรของกษัตริย์ที่ถูกสังหารควรปฏิบัติอย่างไร ในขณะที่แฮมเล็ตพบว่าสถานการณ์ของเขาเต็มไปด้วยความทนทุกข์ และหันไปใช้การไตร่ตรองอย่างไร้ประสิทธิภาพ ส่วนฟอร์ทินบราสเป็นคนลงมือทำ โดยฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่ราชบัลลังค์เดนมาร์กสั่นคลอนจากการสังหารกันเอง สถานะของฟอร์ทินบราสใกล้เคียงกับเลแอร์ทีส ลูกชายควรค่าที่จะต้องล้างแค้น ตามธรรมเนียมศตวรรษที่ 16 


ทำไม แฮมเล็ต ไม่ฆ่าคลอเดียเมื่อมีโอกาส?

ความล่าช้าในการฆ่าคลอเดียสของแฮมเล็ต แสดงถึงความลึกลับที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างของแฮมเล็ต เขาให้เหตุผลหลายประการตลอดการแสดง ในตอนแรกเขาไม่ต้องการฆ่าคลอเดียส เพราะไม่รู้สึกโกรธหรือตั้งใจที่จะทำตามสิ่งที่เขาคิดว่าควรทำ โดยอ้างถึงตัวเองว่า “วิญญาณที่ข้าพบนั้น อาจเป็นปิศาจ และปิศาจย่อมมีอำนาจจำแลงตน” (2.2.138) 

ต่อมาแฮมเล็ตสงสัยว่าสามารถไว้วางใจวิญญาณได้หรือเปล่า “หากความผิดบาปที่เร้นไว้ มิได้ผุดเผยออมาในบทนั้น เจ้าวิญญาณที่เราพบนั่นก็คงเป็นปิศาจนรกจริง” (3.2.180) ถ้าวิญญาณเป็นปิศาจแทนที่จะเป็นวิญญาณของพ่อ มีความเป็นไปได้ที่วิญญาณจะมีจุดมุ่งหมายที่จะชักจูงให้เขาทำบาป ดังนั้นเขาจึงสงสัยว่าวิญญาณทำร้ายเพื่อสาปแช่งแฮมเล็ตใช่หรือไม่ 

ในช่วงเวลาแห่งความลังเลอีกครั้งในองก์ 3 แฮมเล็ตตัดสินใจไม่ฆ่าคลอเดียสเพราะกำลังสวดภาวนา แฮมเล็ตเชื่อว่าคลอเดียสจะได้ไปสวรรค์ถ้าถูกสังหารตอนสวดภาวนา ท้ายที่สุด ในตอนท้ายของละคร แฮมเล็ตยังคงไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าการฆ่าคลอเดียสนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ แฮมเล็ตเป็นผู้ต่อต้านความรุนแรง เขาเป็นเจ้าชายที่ไม่เหมือนใคร เขาเป็นปัญญาชนมากกว่านักรบ เกลียดความรุนแรงและรักในวรรณกรรม


เหตุใดมาร์เซลลัสจึงพูดว่า “บางสิ่งในอาณาจักรเดนมาร์กกำลังผุพัง” (1.4.68)

มาร์เซลลัสพูดในเชิงเปรียบเทียบ เขาหมายความว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นในประเทศที่พวกทหารและประชาชนไม่รู้ เขาเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นความจริงเพราะวิญญาณของราชันองค์ก่อนติดอาวุธตั้งแต่หัวจรดเท้า ปรากฏตัวหลายครั้งประมาณเที่ยงคืน และตอนนี้วิญญาณได้เรียกแฮมเล็ตให้มาคนเดียวเพื่อพูดคุยเป็นการส่วนตัว


แฮมเล็ต รักโอฟีเลียจริงหรือไม่

โอฟีเลีย
#image_title

มีแนวโน้มว่าแฮมเล็ตจะหลงรักโอฟีเลียจริงๆ ผู้อ่านรู้ว่าแฮมเล็ตเขียนจดหมายรักถึงโอฟีเลีย เพราะเธอแสดงให้โพโลเนียสประจักษ์ นอกจากนี้ แฮมเล็ตยังบอกกับโอฟีเลียว่า “ครั้งหนึ่ง ข้าเคยรักเจ้าจริง” (3.1.149) เขาแสดงความรักต่อโอฟีเลียอีกครั้งกับเลแอร์ทีส, เกอร์ทรูด และคลอเดียส หลังจากที่โอฟีเลียเสียชีวิต แฮมเล็ตกล่าวว่า “ข้ารักโอฟีเลีย ต่อให้นางมีพี่อีกสี่หมื่นคน แม้นำรักของทุกคนมารวมกัน ก็ยังไม่เท่ารักของข้า เจ้าจักทำสิ่งใดเพื่อนาง” (5.1.279)


เหตุใดแฮมเล็ตจึงเน้นย้ำให้นักแสดงท่องคำรำพันเกี่ยวกับพิรัส และไพแอม

แฮมเล็ตต้องการให้ทุกคนได้ยินคำกล่าวเกี่ยวกับพิรัส และไพแอม เพราะมันเกี่ยวข้องกับลูกชายที่ล้างแค้นให้พ่อของเขาที่ตายอย่างโหดเหี้ยม เรื่องนี้คล้ายกับสิ่งที่แฮมเล็ตอยากทำด้วยตัวเองและรู้สึกว่าควรทำ—ฆ่าคลอเดียสที่ฆ่าพ่อของเขา– แฮมเล็ตยังคงคิดเรื่องนี้อยู่ตลอดละคร แม้ว่าเขาจะลังเลและไม่สามารถพาตัวเองไปทำหน้าที่นี้ได้จนจบ


แฮมเล็ตมีแนวโน้มที่ฆ่าตัวตายหรือไม่?

เมื่อแฮมเล็ตถามว่า “จักคงชีวิต หรือมรณา นั่นคือปุจฉา” เขากำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่—หรือทนทุกข์กับสิ่งที่ชีวิตมอบให้—หรือตายด้วยมือของตัวเองและยุติความทุกข์ทรมาน การฆาตกรรมของพ่อและการแต่งงานของแม่กับอาที่ชั่วร้ายทำให้แฮมเล็ตครุ่นคิดถึงข้อดีของการฆ่าตัวตาย ตลอดช่วงที่เหลือของการแสดงแบบพูดคนเดียว เขาสงสัยว่าทำไมผู้คนถึงเลือกความทุกข์ของชีวิตมากกว่าความตาย และสรุปว่ามันเป็นความกลัวของพวกเขาในสิ่งที่ไม่รู้—โดยไม่รู้ว่าความตายจะนำมาซึ่งอะไร

จักตาย จักนิทรา
ไม่ต่างกัน ด้วยนิทรานั้น เราเห็นว่ามันช่วยหยุด
ความเจ็บปวดใจและบาดแผลธรรมชาติอีกนับพัน
แฮมเล็ต (3.1.146)
Tweet

ทำไม แฮมเล็ต ถึงโหดร้ายกับโอฟีเลียนัก?

แฮมเล็ตโหดร้ายกับโอฟีเลียเพราะเขาเปลี่ยนความโกรธที่เกอร์ทรูดแต่งงานกับคลอเดียสไปสู่โอฟีเลีย อันที่จริง คำพูดของแฮมเล็ตชี้ให้เห็นว่าเขาถ่ายทอดความโกรธและความรังเกียจที่มีต่อแม่ไปสู่ผู้หญิงทุกคน เขาพูดกับโอฟีเลียว่า

พระเจ้าได้ประทานใบหน้าให้เจ้าหนึ่ง แต่เจ้ากลับสร้างอีกหนึ่งขึ้นมาซ้อน พวกเจ้าร่ายรำและเดินวางท่า พวกเจ้าพูดจาชวนหลงใหล ตั้งชื่อเล่นน่ารักให้ผลงานสร้างสรรค์ของผู้เป็นเจ้า

แฮมเล็ต (3.1.151)

ทั้งหมดเกี่ยวกับแฮมเล็ตของวิลเลียม เชคสเปียร์

แฮมเล็ตอาจรู้ด้วยว่าโอฟีเลียกำลังช่วยคลอเดียสและโพโลเนียสสอดแนม การพูดคุยกับเธอ แฮมเล็ตครุ่นคำนึงถึงการทรยศหักหลัง


ทำไมเลแอร์ทีสถึงบุกเข้าไปในท้องพระโรง?

เลแอร์ทีสบุกเข้าไปในห้องคลอเดียสเพราะเขาโกรธที่พ่อเสียชีวิต และต้องการรู้ว่าเขาถูกฆ่าตายอย่างไร ร่างกายอยู่ที่ไหน และทำไมโพโลเนียสจึงไม่ได้รับพิธีฝังศพที่สมควรได้รับ ในความเป็นจริงเลแอร์ทีสเชื่อว่าคลอเดียสมีส่วนที่ต้องรับรับผิดชอบต่อการฆาตกรรม เลรแอร์ทีสแสดงให้เห็นว่าเป็นชายหนุ่มหัวรุนแรงและเต็มไปด้วยความพยาบาท ซึ่งช่วยอธิบายได้ว่าทำไมเขาจึงสมคบคิดกับคลอเดียสเพื่อฆ่าแฮมเล็ตในเวลาต่อมา


เหตุใด โอฟีเลีย ถึงเสียสติ?

โอฟีเลียเสียสติเพราะพ่อของเธอถูกแฮมเล็ตฆ่า โอฟีเลียรักพ่ออย่างสุดซึ้ง นอกจากนี้ แฮมเล็ตซึ่งเธอรักด้วย ได้ปฏิเสธเธออย่างโหดร้าย ความจริงที่ว่าความเศร้าโศกนี้ทำให้โอฟีเลียคุ้มคลั่ง ความคุ้มคลั่งนี้เผยให้เห็นถึงความรู้สึกสิ้นหวังและไร้อำนาจของโอฟีเลียเป็นอย่างมากทั้งชีวิตของโอฟีเลียถูกครอบงำด้วยผู้ชายทั้งสิ้น


โอฟีเลีย ฆ่าตัวตายจริงหรือ?

โอฟีเลีย
#image_title: Ophelia is a painting by British artist Sir John Everett Millais

บางคนอาจมองว่าการตายของโอฟีเลียเป็นอุบัติเหตุ เพราะเธอจมน้ำตายหลังจากกิ่งไม้ที่เธอนั่งพักหัก ทำให้เธอตกลงไปในลำธาร อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมองว่าการตายของเธอเป็นการฆ่าตัวตาย เธอไม่ได้พยายามช่วยตัวเองให้รอด การขาดความพยายามนี้สามารถตีความได้ว่าเป็นความปรารถนาที่จะตายหรือไม่สามารถรับรู้ถึงอันตรายต่อชีวิต การฆ่าตัวตายถือเป็นบาปมหันต์ในยุคสมัยของเชคสเปียร์ เขาทิ้งคำตอบไว้อย่างคลุมเครืออีกครั้ง


ตัวละครสัปเหร่อมีความสำคัญอย่างไรกับเรื่อง?

สุสานเป็นสถานที่แห่งความตาย ในตอนต้นขององก์ 5 สัปเหร่อเพิ่มบรรยากาศให้อึมครึม โดยถกเถียงกันว่าโอฟีเลียสมควรได้รับการฝังศพแบบคริสเตียนหรือไม่ การตายของเธออาจเป็นการฆ่าตัวตาย แต่แล้วบทสนทนาของสัปเหร่อก็กลายเป็นการพูดคุยในเรื่องไร้สาระ เมื่อพวกเขาเล่าเรื่องตลกที่ไม่ดีเกี่ยวกับความตายและการขุดหลุมฝังศพ ร้องเพลงที่ไม่เคารพต่อผู้ตาย และทำตัวเหมือนตัวตลก ฉากนี้ถูกใส่มาเพื่อลดความตึงเครียดของบละครโศกนาฏกรรมแก้แค้น ก่อนจะนำไปสู่ฉากจบ


มุมมองของ แฮมเล็ต เกี่ยวกับ โรเซ็นแครนทส์และกิลเด็นสเติร์น เปลี่ยนไปอย่างไร?

ในช่วงเริ่มต้นของการแสดงแฮมเล็ต ทักทาย ต้อนรับขับสู้ โรเซ็นแครนทส์ และ กิลเด็นสเติร์น ในฐานะเพื่อนเก่า แต่ระหว่างการเดินทางโดยเรือไปอังกฤษ แฮมเล็ตพบว่าพวกเขากำลังทำงานให้กับคลอเดียส และพวกเขาได้รับคำขอร้องจากคลอเดียสให้กษัตริย์แห่งอังกฤษตัดหัวแฮมเล็ต แฮมเล็ตแปลงสานส์โดยขอให้ โรเซ็นแครนทส์ และ กิลเด็นสเติร์น ถูกประหารชีวิตแทน แฮมเล็ตเชื่อว่า “เพื่อนเก่า” ถูกฆ่าเพราะพวกเขาสมควรตายจากการทรยศ: “ความพินาศของพวกเขา เกิดจากนิสัยสอพลอชอบยุ่มย่ามของตัวเองทั้งนั้น” (5.2.287)


ออสริคคือใคร?

ออสริคเป็นตัวประกอบในบทละครเรื่องแฮมเล็ต ในละครของเชคสเปียร์จะมีตัวละครไร้ชื่อลักษณะนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งสาร ผู้พิทักษ์ ทหาร และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ในยุคอลิซาเบธ บางส่วนมีบทพูด บางส่วนที่พูดน้อยและบางส่วนไม่พูดเลย ส่วนออสริคมีส่วนในการพูด และเชคสเปียร์ก็ทำหน้าสร้างตัวละครอย่างออสริคออกมาได้ดี

สำหรับออสริคเป็นหนึ่งในตัวละครรองที่มีชื่อเสียงและสนุกสนานที่สุดของเชคสเปียร์ แม้ว่าเขาจะไม่มีบทในละครฉากอื่นๆ เลย ยกเว้นองก์ 5 ฉาก 2 แต่การปรากฏตัวมีส่วนในการพูด คลอเดียสสั่งให้ออสริคไปเชิญแฮมเล็ตไปดวลดาบกับเลแอร์ทีสหนึ่งในแผนที่จะสังหารแฮมเล็ต นอกจากนั้นออสริคยังเป็นประธานในการดวลดาบ พร้อมกับเป็นกรรมการ ระหว่างการสู้กันในฉากสุดท้าย ออสริกและโฮเรโชเป็นผู้เหลือรอดจากความตาย

แฮมเล็ตอธิบายเกี่ยวกับออสริคให้โฮเรโชฟังว่าเขาคือใคร “เขาครองที่ดินมากมาย อุดมสมบูรณ์เสียด้วย ถ้าสัตว์หนึ่งได้เป็นจ้าวแห่งสรรพสัตว์ไซร้ มันย่อมได้รับส่วนแบ่งใส่รางอาหารในงานเลี้ยงของราชัน เจ้านี่มันนกกาช่างพูด แต่อย่างที่ข้าว่ามันครอบครองฝุ่นดินไว้กว้างขวางเทียว” อาจจะอนุมานได้ว่าออสริคเป็นเหมือนพ่อขค้าที่มีบทบาทและธุรกิจกับวัง


บทสรุป

บทสรุปในบทความนี้อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของคำตอบ อาจจะไม่ถูก อาจจะมีแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือสิ่งที่ แฮมเล็ต ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ เป็นมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี และยังคงยืนอยู่และตั้งคำถามเช่นนั้น

คำถามเกี่ยวกับแฮมเล็ต

Hamlet quiz with immediate answers

หลังจากที่ผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับแฮมเล็ตแล้ว เรามีเกมถามตอบปัญหาเกี่ยวกับแฮมเล็ตให้ผู้อ่านได้เล่นกัน โดยคำถามทั้งหมดมีคำตอบให้ในหน้าถัดไป ผู้อ่านสามารถเล่นไปจนถึงคำถามสุดท้าย และเราจะเฉลยคะแนนผ่านทางอีเมล์ ขอให้สนุกกับคำถามและคำตอบ

[ipages id=”1″]

https://porcupinebook.com/ipages/flipbook/hamlet-sample

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *