ตามรอย To Kill a Mockingbird เหตุการณ์บ้านเมืองในอดีตผ่าน 

เรื่องราว To Kill a Mockingbird เกิดขึ้นในช่วงปี 1930 ตรงกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ มีผลกระทบกับคนทางตอนใต้อย่างหนัก ชาวเมืองทุกคนตกอยู่ในสภาะลำบากและยากจน

เมื่อมองหาหนังสือสักเล่มที่ควรอ่านก่อนตาย หรือหนังสือที่ควรอ่านสักครั้งในชีวิต ชื่อหนังสือวรรณกรรมเรื่อง To Kill a Mockingbird เขียนโดย Harper Lee มักจะโผล่ขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเราได้กลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง หลังจากอ่านครั้งแรกไปเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ไม่ว่าจะกลับมาเปิดอ่านกี่ครั้ง ทำให้ความคิดเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด วันนี้เราตั้งใจจะพาทุกคนได้ไปศึกษาเหตุการณ์ในอดีต รวมถึงปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเต็มไปด้วยเนื้อหาที่อัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์ที่จริงจังในเรื่องของการเหยียดสีผิวและการเอาเปรียบ

Harper Lee: American Novelist
Harper Lee: นักเขียนนวนิยายชาวอเมริกัน
To Kill a Mockingbird
To Kill a Mockingbird

วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกสร้างจากความทรงจำวัยเด็กของฮาร์เปอร์ ลี นักเขียนสาวชาวอเมริกัน ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับช่วงเวลาของชีวิตใครสักคนผ่านเรื่องราวที่ไร้เดียงสาในวัยเด็ก และยังทำให้เราได้เห็นมุมมองการใช้ชีวิตของมนุษย์ในสมัยนั้น ด้วยวิธีการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ผ่านมุมมองของเด็กหญิงที่มีที่มีความคิดอ่านเกินวัย มองโลกสดใส ช่างชักช่างถามในประเด็นที่เราคาดไม่ถึง 

โดยเรื่องราวทั้งหมดถูกเล่าผ่านสายตาของ สเกาต์ ฟินช์ ในวัย 6 ขวบ ที่อาศัยอยู่กับพี่ชายเจ็มและคุณพ่อแอตติคัส ทนายแสนซื่อตรงที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพนับถือ แถมยังเป็นคุณพ่อแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ เสมอ แต่แล้ววันหนึ่งพ่อของเธอต้องตกอยู่ในคำติฉินนินทา เมื่อแอตติคัสรับว่าความให้ชายผิวสีคนหนึ่ง จนสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเมืองคนอื่นๆ ในเมย์คอมบ์ และทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายมากมายตามมา

To Kill a Mockingbird : Review

เรื่องราวใน To Kill a Mockingbird เกิดขึ้นในประมาณช่วงปี 1930 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ มีผลกระทบกับทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาอย่างหนัก ซึ่งเกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเมืองทุกคนตกอยู่ในสภาะลำบากและยากจน ทำให้ชาวอเมริกันหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ซึ่งในช่วงปีแห่งความโกลาหลนี้ ความไม่พอใจเริ่มก่อตัวขึ้นในใจของคนผิวขาวและคนผิวดำ ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ดำเนินเนื้อเรื่องหลักสะท้อนถึงความคิด และความอคติแบบเหมารวมที่คนขาวมีต่อคนดำ และคนดำไม่สามารถตอบโต้อะไรได้นอกจากก้มหน้าให้พวกเขาตราหน้า

เรื่องราวหลักๆของหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขึ้นศาลว่าความให้ชายผิวดำ ซึ่งในสมัยนั้นดูเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับการที่จะต้องไปให้ค่ากับกลุ่มคนผิวสี เหตุเกิดขึ้นเพราะ ทอม โรบินสัน ชายผิวดำผู้ตกเป็นจำเลยในข้อหาข่มขืนหญิงผิวขาว เมย์เอลลา ยูเวลล์ แอตติคัสที่ค่อนข้างรู้จักกับทอมเป็นอย่างดี จึงได้ทำการตัดสินใจครั้งใหญ่ ว่าความให้ชายผิวดำท่ามกลางความไม่พอใจของชาวเมือง และผลแห่งความไม่พอใจได้ทำให้สเกาต์และเจ็มกลายเป็นที่ถูกเพื่อนในโรงเรียนล้อเลียน

to kill a mockingbird แปล ไทย

ในคืนที่แอตติคัสได้เฝ้าทอม ที่ถูกฝากขังคุกในเมย์คอมบ์ชั่วคราว มีชายกลุ่มหนึ่งเข้ามาหาแอตติคัส และขอให้เขาหลีกทางให้ เพื่อที่จะได้นำตัวทอมออกไป ซึ่งในเรื่องคาดว่าพวกเขาเป็นพวกสมาคม คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) หรือมีชื่อย่อว่า KKK ถูกก่อตั้งหลังสงครามกลางเมือง จากกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เหยียดเชื้อชาติและสีผิว คูคลักซ์แคลนเป็นสมาคมลับที่ใช้ความรุนแรงและการก่อการร้ายกับคนผิวดำ เพื่อยกเลิกผลประโยชน์ที่อดีตทาสทำไว้ อย่างไรก็ตาม หลัง 1920 คูคลักซ์แคลนไม่ได้ปิดบังการรวมตัว และความรุนแรงที่มีต่อคนผิวสีอีกต่อไป รวมถึงการลงประชามติเพื่อกดขี่คนดำ ซึ่งการกระทำเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ย้อนกลับไป เรื่องของกฎหมายอันไม่เป็นธรรมที่กดทับสิทธิ และความเป็นอยู่คนดำให้ต่ำกว่าคนขาว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1863 ลินคอล์นออกประกาศการปลดปล่อยซึ่งประกาศอิสรภาพสำหรับทาสทุกคน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อทำให้อำนาจของทางตอนใต้อ่อนแอลงในช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา และแม้ว่าทาสจะ “เป็นอิสระ” แต่คนผิวดำก็ได้รับผลกระทบจากกฎหมายของรัฐที่ขัดขวางความเท่าเทียมกัน 

to kill a mockingbird movie

ทางรัฐบาลจึงได้ตั้ง “Jim Crow Law” (จิมโครว์) เพื่อแบ่งแยกพื้นที่และรับรองการปฏิบัติที่ต่างกันระหว่างสองผิวสี  ซึ่งความเป็นมาของกฎหมายอันแสนอยุติธรรมนี้ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงหลังสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว หลังสงครามกลางเมือง รัฐบาลกลางพยายามที่จะฟื้นฟูประเทศ โดยการนำรัฐทางใต้ผนวกเข้าเป็นสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ด้วยความมุ่งหวังให้กลมเกลียว และมีการออกกฎหมายให้สิทธิเสรีภาพแก่ทาสผิวดำในฐานะพลเมืองอเมริกัน และยังให้เกิดเท่าเทียมกับคนผิวขาวด้วย

ซึ่งคำว่า Jim Crow มาจากเพลงโชว์ของ Minstrel “Jump Jim Crow” ที่เขียนขึ้นในปี 1828 และขับร้องโดย Thomas Dartmouth “Daddy” Rice ชาวอังกฤษผิวขาวที่มีชื่อเสียงคนแรกของการแสดงคนขาวแต่งหน้าให้ดำ (Blackface) โดยเป็นการแสดงเป็นตัวละครคนผิวดำในลักษณะล้อเลียนขบขันเกินจริง ขับร้องเต้นรำด้วยกิริยาท่าทางโง่เง่า เพื่อดูถูกเหยียดหยามคนผิวดำ การแสดงลักษณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะช่วงหลังสงครามกลางเมืองอเมริกัน และภาพล้อเลียนของคนดำในชนบทที่โทรมอย่าง “จิม โครว์” กลายเป็นตัวละครประจำการแสดงของนักดนตรี 

การบังคับใช้กฎหมาย Jim Crow กินระยะเวลาไปเกือบ 80 กว่าปี คนผิวสีต้องทนทุกข์อยู่กับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า เป็นการเลือกปฏิบัติที่เท่าเทียมกันที่สุดตามคำสอน “Separate but equal” (แบ่งแยกอย่างเท่าเทียม) การแบ่งแยกกลายเป็นเรื่องปกติในสถานที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสถานที่เฉพาะคนดำในรถราง ร้านอาหาร โรงแรม โรงละคร ห้องน้ำ และแม้แต่จุดดื่มน้ำ ซึ่งจริงๆ หากมองกลับกัน การเหยียดคนกลุ่มหนึ่งอยู่ต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง มันเป็นการขัดต่อประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 1776 ว่า “All men are created equal” (มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน) อย่างเห็นได้ชัด 

คนผิวสีถูกมาตรฐานทางสังคมกดทับมากมาย โดยมีข้อห้ามต่างๆ นานา สำหรับพวกเขา ทำให้เราเห็นถึงการขาดความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง และเรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดโศกฆนาตกรรมกับผู้บริสุทธิ์อย่าง ทอม โรบินสัน ที่ต้องกลายเป็นแพะรับบาปโดยปริยาย เรื่องการตัดสินคดีครั้งนี้คล้องจองกับคำคมเด็ดของแอตติคัสที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีอย่าง 

“Shoot all the bluejays you want, if you can hit ’em, but remember it’s a sin to kill a mockingbird.” – Atticus Finch 

ไม่ผิดที่จะยิงนกบลูเจย์ แต่ฆ่านกม็อกกิ้งเบิร์ดเป็นบาป

ที่ให้ความหมายว่า นกบลูเจย์ขโมยพืชและอาหารของคนจึงสมควรถูกลงโทษ ส่วนนกม็อกกิ้งเบิร์ดไม่เคยทำร้ายใคร ซ้ำยังร้องเพลงเพราะๆ ให้เราได้ฟังอีก ดังนั้นจะไปทำร้ายมันทำไม เปรียบเหมือนกับคน ถ้าคนๆ หนึ่งทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะมีสีผิวใดก็สมควรถูกลงโทษ แต่หากเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ไม่สมควรไปกล่าวหาหรือใส่ร้าย

แม้เนื้อเรื่องหลักๆ จะเป็นเรื่องการขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ก็ยังคงมีเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าติดตามและแฝงข้อคิดไว้ในเรื่องเช่นกัน อย่างเรื่องลึกลับของ บู แรดลีย์ ที่ชาวบ้านละแวกนั้นต่างลือกันว่า บูเป็นปีศาจร้ายที่ก่อเหตุการณ์วิปริตยามราตรี สเกาท์ เจ็ม และดิล ต่างหวาดผวาเรื่องราวของบู แต่ก็พยายามที่อยากจะผูกมิตรกับบู จึงพยายามล่อบูออกมาจากบ้าน เมื่อตอนที่บูอายุได้ 13 ปี เขาได้ทำร้ายพ่อ และได้ถูกนำตัวไปตัดสินที่ศาล ผลปรากฎให้เขาต้องถูกจำคุกใต้ดิน แต่ด้วยสภาพของคุกไม่เอื้ออำนวย พ่อของบูจึงขอร้องต่อศาลให้ส่งตัวเขามาอยู่ที่บ้าน โดยมีข้อตกลงให้กักตัวเขาเอาไว้ไม่ให้ไปทำร้ายคนอื่น ทำให้บูถูกกักบริเวณ และจะออกมาได้แค่ช่วงกลางคืนเท่านั้น ทำให้คนในหมู่บ้านไม่เคยเห็นหน้าค่าตาเขามาเป็นเวลากว่า 15 ปี

to kill a mockingbird แปล ไทย

จากประเด็นของ บู แรดลีย์ ทำให้เราเห็นว่า ในสมัยนั้นเมื่อเด็กที่ได้กระทำความผิดมา หรือเคยถูกต้องคำพิพากษา คนในสังคมกลับตอกย้ำความผิดนั้นอยู่เสมอ โดยจะเห็นได้ว่าคนในหมู่บ้านจะพยายามห้ามให้บุตรหลานของตนไม่ให้เข้าไปใกล้บ้านของบูแม้แต่นิดเดียว บางครั้งผู้ใหญ่ยังคงพยายามแต่งเติมเรื่องราวของบูให้น่ากลัว เพื่อเป็นกุศโลบายหลอกเด็กให้หวาดกลัว ซึ่งในมุมมองของผู้ปกครองของบูก็เกิดความกลัวว่าลูกชายของตนจะไปทำร้ายใครอีก จึงขังลูกไว้ในบ้านเป็นเวลานับหลายปี ซึ่งเป็นการหาทางออกอย่างผิดๆ ผลสุดท้ายแล้ว บูกลายเป็นที่ตำหนิของสังคม และไม่กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย 

การอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ ทำให้เราได้ตระหนักถึงอะไรหลายอย่างอยู่เหมือนกัน เช่น บางทีความเกลียดชังอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด คนเราเกลียดคนอื่นด้วยเหตุผลที่ว่า เขาไม่เหมือนเรา หรือเพราะคนส่วนมากเกลียดเลยเกลียดตาม เป็นเหตุผลที่ดูใจร้ายเหลือเกินที่จะเกลียดใครสักคน แม้ว่าในเรื่องมีการพูดถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โดยการเปรียบเทียบว่า อเมริกากับเยอรมนี ไม่เหมือนกัน และให้คำนิยามว่า คนอเมริกันอย่างเราเป็น ‘ประชาธิปไตย’ แต่พอมองดูแล้ว เหตุการณ์ทุกอย่างกลับดูตรงข้ามกันไปหมด อันที่จริง ณ ตอนนั้น อเมริกาอาจจะเรียกได้ว่าเป็น ฮิตเลอร์ในเวอร์ชันสอง ก็เป็นได้ เพียงแค่ไม่ได้จับคนดำไปสังหารหมู่เหมือนอย่างที่ฮิตเลอร์ทำแค่นั้นเอง

สุดท้ายนี้ เรียกได้ว่า To Kill a Mockingbird ถือเป็นหนังที่สามารถสะท้อนภาพสังคมได้อย่างคมคายและร่วมสมัยจนน่ากลัว เพราะแม้ว่าประเด็นเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องจะผ่านมาหลายสิบปี แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาที่เรายังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน ซึ่งเพียงแต่หวังว่ามนุษย์เรานั้น จะหันมา “ยอมรับและเข้าใจในความแตกต่าง” นี้ได้ในเร็ววัน


เกี่ยวกับกองบรณาธิการ
เกี่ยวกับกองบรณาธิการ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
ผู้เขียน: นางสาวณัชฐิญา ชัยนุภาพ
บรรณาธิการ: นางสาวพิชญา วัฒนไพบูลย์


บรรณานุกรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *