10 วิธี การเขียนบทความ ออนไลน์ Writing Amazing Blog Posts

เคล็ดลับ การเขียนบทความ ที่จะทำให้คุณสามารถเขียนบทความได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ แนะนำ SEO ด้วยวิธีเข้าใจง่าย พร้อมตัวอย่าง วิธีการเขียนบทความ ที่เหมาะกับทุกคน
Writing

ถ้าคุณกำลังเริ่มต้นเรียนรู้ที่จะเป็นนักเขียนบล็อก โพสต์บล็อก หรือ คอนเทนต์ออนไลน์ การเขียนบทความ เป็นเรื่องง่าย แต่การเขียนโพสต์บล็อกที่มีคุณภาพ น่าทึ่ง มีคนอ่านจำนวนมาก ต้องใช้เวลาและความพยายามมากขึ้นในการฝึกฝน เรียนรู้ ในขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็น SEO เพื่อให้ผลออกมาดูดีกว่าการเขียนแบบทั่วไป การเรียนรู้ วิธีการเขียนบทความ มีขั้นตอนไม่ยาก เริ่มได้ด้วยตัวคุณเองจากบทความนี้

ทุกคนสามารถเรียงร้อยประโยคเข้าด้วยกันจนเป็นคอลัมน์ หรือบทความหนึ่งบทความได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อความนั้น ประโยคนั้น หรือบทความนั้นจะดี หรือได้รับความนิยมอย่างสมเหตุสมผลเสมอไป ในบทความนี้เป็นเหมือนคู่มือเพื่อสร้างวิธีคิด หรือโครงสร้างในการเขียน คุณจะสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางแผนโพสต์ การจัดระเบียบความคิด ท้ายสุดเพื่อให้คุณสามารถเขียนได้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

นี่คือ 10 หัวข้อ 10 วิธี พร้อมตัวอย่าง การเขียนบทความ แม้คุณจะเขียนได้ แต่บทความนี้อาจจะสะกิดให้คุณไปไกลกว่านั้น คุณจะมีเครื่องมือตรวจสอบตัวเองทุกครั้งที่เขียนบทความ และพัฒนาวินัยในการเขียนให้ดีขึ้นสำหรับการเป็นนักเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ 

การเขียนบทความ

1. การเขียนบทความ กำลังเขียนให้ใครอ่าน

นี่อาจจะเป็นหัวข้อสำคัญที่สุดของบทความนี้ และไม่ควรมองข้ามแม้แต่เหตุผลเล็กๆ เหตุผลเดียว

เป็นเรื่องดีถ้าคุณรู้ว่ากำลังส่งข้อความนี้ไปให้ใคร ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องค้นหาว่าคนนั้นต้องการอะไร ความสนใจอยู่ที่ไหน และความต้องการของพวกเขาคืออะไร นอกจากนี้ถ้าคุณสามารถเจาะลึกถึงความสนใจของพวกเขาได้ ความต้องการรู้ของผู้อ่านเป็นแบบไหน คุณจะสามารถเขียนบทความที่เหมาะสมกับความเข้าใจของพวกเขา และเข้าไปนั่งในใจผู้อ่าน เพื่อสร้างความใกล้ชิด สนิทสนม ความสัมพันธ์ ไม่ควรทิ้งระยะความห่างระหว่างคุณกับผู้อ่านมากเกินไป หรือน้อยเกินไป

บทความของคุณอาจจะไม่ใช่ความรู้ที่ไม่เคยมีใครทราบมาก่อน คุณอาจจะก้าวหน้ากว่าคนอ่าน แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะถ้าคุณไปไกลเกินกว่า ผู้อ่านอาจจะเข้าไม่ถึง ขณะเดียวกัน ถ้าคุณเขียนเรื่องที่คนทั่วไปทราบอยู่แล้ว ไม่มีรายละเอียดใหม่ๆ ไม่มีข้อถกเถียง หรือความคิดที่พอจะเป็นหลักการได้ นั่นหมายความว่าบทความนั้นเป็นเพียงเรื่องทั่วไป

เพราะฉะนั้น คนอ่านสำคัญเสมอ คุณจะเดินเคียงข้างเขา

แบบฝึกหัด: บันทึกข้อมูลสำคัญต่อไปนี้สำหรับผู้อ่านในกลุ่มเป้าหมายของคุณ

  • นักอ่านรู้อะไรเกี่ยวกับหัวข้อนี้มากแค่ไหน?
  • เป้าหมายของบทความของคุณคืออะไร? ให้ความรู้? สร้างแรงบันดาลใจ? จูงใจ? หรืออย่างอื่น

2. ค้นหาคีย์เวิร์ด (keyword)

การศึกษา ค้นหา คีย์เวิร์ด เป็นพื้นฐานหลักที่ช่วยให้คุณเข้าใจว่าผู้อ่านกำลังค้นหาอะไร ใน Google การโพสต์บทความของคุณจะเข้ากับเครื่องมือค้นหาของกูเกิลได้อย่างไร

เครื่องมือต่างๆ เช่น คู่มือการค้นหาคีย์เวิร์ดของ Google เครื่องมือแนะนำคีย์เวิร์ดของ SEO Book อาจจะช่วยให้คุณทราบคร่าวๆ ว่าผู้คนกำลังค้นหาคำใดในอินเทอร์เน็ต และคำเหล่านั้นทำให้พวกเขาคิดถึงเรื่องที่คุณเขียนหรือไม่

คีย์เวิร์ดเป็นหัวใจสำคัญทุกครั้ง เพราะฉะนั้นคุณอาจจะใช้เวลานานกว่าส่วนอื่นเพื่อค้นหาว่าบทความของคุณเกี่ยวกับอะไร อะไรที่คนกำลังสนใจ คำไหนที่พวกเขาต้องการค้นหา

ตัวอย่าง Keyword: วิธีการเขียนนิยาย, นิยายคืออะไร, องค์ประกอบของนิยาย

คุณลองค้นหาคำเหล่านั้นด้านบนใน Google สิ

เมื่อคุณสร้างคีย์เวิร์ดได้แล้ว เป้าหมายก็คือเนื้อหาหลักที่คุณต้องการนำเสนอ เนื้อหานั้นจะง่ายขึ้นเมื่อคุณมีคีย์เวิร์ด รายละเอียดของบทความจะตามมา คีย์เวิร์ดที่ดีนอกจากทำให้คุณสร้างโครงสร้างบทความง่ายขึ้น ยังทำให้เป็นคำที่ค้นหาใน search engine ง่ายขึ้นตามไปด้วย

แบบฝึกหัด: ใช้เครื่องมือ Seo Book ด้านบน หรือใช้กูเกิล ค้นหาคีย์เวิร์ดที่คุณเลือก

3. ตัดสิ่งไม่มีประโยชน์ออกไปจาก การเขียนบทความ

ก่อนที่คุณจะเริ่มเขียนสักประโยค สิ่งที่คุณต้องทำคือการค้นคว้า แต่อย่าพยายามดึงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อบทความของคุณเข้ามาใส่ แม้เรื่องนั้นอาจจะดูดี แต่ไม่มีสาระสำคัญสำหรับเป้าหมายที่คุณต้องการ จำเป็นต้องแยกแยะข้อมูลทั้งหลายที่ใส่เข้ามาในบทความ ถ้ามันมากเกินไป ผู้อ่านไม่ต้องการ บางคนไม่อยากรู้เรื่องที่อยู่นอกเนื้อหา 

พวกเขาชอบข้อมูลตรงๆ ไม่อ้อมค้อม หรือชักแม่น้ำทั้งห้า 

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเขียนสารคดีท่องเที่ยวเกี่ยวกับเมืองฮ็อกไกโด คุณไม่จำเป็นต้องอ้างถึงร้านอาหารในโตเกียว หรือภูมิอากาศที่ลอนดอน

นอกจากนั้นไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าบทความที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าคุณจะนำข้อมูลนั้นมาจากที่ไหน หรือข้อมูลนั้นจะสำคัญขนาดไหน ในบทความของคุณจำเป็นต้องเจาะลงไปกลางใจเรื่อง ผู้อ่านรู้ว่าเรื่องราวแบบไหนดี แบบไหนถูกต้อง สิ่งนี้นั่นเองคือตัวบ่งบอกคุณภาพของบทความ หากคุณยังฝืนทำ บางทีผู้อ่านอาจจะปิดหน้าเพจ แล้วกลับไปค้นหาข้อมูลใหม่ เพราะสิ่งที่คุณเขียนไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้อ่านอยากรู้

ผมไม่สามารถเน้นเรื่องนี้ได้มากพอในเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่อย่าคิดว่าเรื่องการค้นคว้าเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเขียน

วิธีการเขียนบทความ

4. ร่างโครงสร้างพื้นฐานใน การเขียนบทความ

โครงสร้างพื้นฐานของบทความประกอบด้วย ธีม, ชื่อเรื่อง หรือ หัวข้อหลัก (H1), หัวข้อรอง (H2), หัวข้อย่อย (H3), ข้อมูลอ้างอิง, บทสรุป

หัวข้อหลัก, ชื่อเรื่อง หรือ ชื่อบทความ คือ H1 ต้องจำเอาไว้ว่า H1 จะเกิดขึ้นครั้งเดียวในโพสต์บทความของคุณ

ส่วน Chapter หรือ บท คือ H2 และถ้าคุณยังมีหัวข้อรองจาก H2 ก็คือ H3 ทำไมคุณต้องใส่ใจโครงสร้างเหล่านี้ เพราะนอกจากจะทำให้คุณทำงานง่ายขึ้น การจดจำของเสิร์สเอนจินก็มีรูปแบบของมันทำงานผ่านหัวข้อต่างๆ ที่คุณใส่ลงไปเช่นกัน

อย่าคิดอะไรมากเกินโครงสร้างที่คุณเริ่มต้น ใช้ข้อมูลที่คุณรวบรวมมา ร่างโครงสร้างสำหรับบทความ ซึ่งประกอบไปด้วย ธีม, หัวข้อหลัก และหัวข้อรอง หัวข้อเหล่านี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาจากบทความของคุณได้ง่ายขึ้น 

ตัวอย่าง เพื่อที่คุณจะได้ออกแบบโครงร่างของบทความ ก่อนที่จะเขียน หัวข้อที่จะยกตัวอย่างก็คือ “เรื่องสั้นคืออะไร”

Theme: ธีม: นิยายคืออะไร
Main topic: หัวข้อหลัก: คู่มือแนะนำขั้นพื้นฐานทั้งหมดเกี่ยวกับการเขียน
Subtopics: หัวข้อรอง: ที่มาของนิยาย นิยายเขียนอย่างไร มีความยาวแค่ไหน ใช้มุมมองอะไรในการเขียนดีที่สุด นิยายมีรูปแบบอะไรบ้าง นิยายที่ดีคืออะไร และวิธีการแก้ไขนิยายเมื่อเขียนจบแล้ว

อย่าลืมเมื่อคุณเขียน จำเป็นต้องกลับไปตรวจสอบหัวข้อที่ผมแนะนำข้างต้นด้วย เพื่อที่คุณจะได้ทราบว่ามีอะไรบ้างที่คุณยังไม่ได้ทำก่อนเขียน เช่นผู้อ่านส่วนใหญ่ของคุณอยู่ระดับไหน พวกเขาต้องการเนื้อหาที่มีรายละเอียดระดับใด ผู้เริ่มต้น หรือผู้ที่มีความชำนาญแล้ว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทำให้คุณกำหนดได้ผ่านหัวข้อรองที่คุณจะเขียน

ที่สำคัญที่สุดบทความในอินเตอร์เน็ตต้องมีบทนำ และบทสรุปเสมอ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการช่วยให้บทความของคุณน่าสนใจยิ่งขึ้น และทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องที่คุณกำลังนำเสนอ ซึ่งจะดีมากเมื่อคุณมีบทสรุปในตอนท้ายให้ผู้อ่าน

บ่อยครั้งที่ผู้อ่านมือใหม่ต้องการ “คำอธิบาย” มากขึ้นโดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับหัวข้อหลัก ตัวอย่างเช่น บทความของคุณเขียนถึง นิยายคืออะไร ส่วนหลังของบทนำคือการอธิบายว่านิยายประกอบขึ้นจากโครงสร้างอะไรบ้าง เช่นต้องมีคำไม่เกินกี่คำ มีตัวละครไม่กี่ตัว เป้าหมายของเรื่องเป็นเป้าหมายเดียวหรือหลายเป้าหมาย หากคุณทำเช่นนี้ก็ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจได้มากขึ้นนั่นเอง

แบบฝึกหัด: เริ่มร่างโครงสร้างบทความของคุณ

5. ตั้งชื่อบทความ

บางคนคิดว่าชื่อบทความนั้นจะต้องเป็นที่สะดุดตา ซึ่งเช่นนั้นก็ถูก แต่ชื่อบทความนั้นนอกจากต้องโดดเด่นแล้ว จำเป็นต้องมีความเรียบง่ายผสมผสานอยู่ โดยเฉพาะชื่อจะต้องนำไปสู่บทความที่ใช้งานได้จริง 

ตัวอย่างง่ายๆ คุณอาจจะคิดชื่อได้น่าดึงดูด เช่น “ขอแสดงความเสียใจบิดาดาราเสียชีวิต” คุณรู้สึกอยากรู้ว่าบิดาดาราท่านใดสิ้นลมในวันนี้ แต่เมื่อคุณคลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดของข่าว นอกจากไม่มีชื่อดาราให้คุณทราบ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ตรงกับหัวข้อข่าว แม้ผู้คนจะคลิกเข้าไป แต่เมื่อไม่เจอบทความที่ตรงกับหัวข้อ พวกเขาจะปิดหน้าเพจลงแทบจะทันที

บางครั้งชื่อบทความยังสามารถช่วยให้คุณสร้างขอบเขตในการเขียน นั่นหมายความว่าคุณจะไม่เขียนออกนอกเรื่อง หรือใช้ข้อมูลที่ไร้ประโยชน์มาใส่ลงในบทความ

วิธีง่ายๆ เกี่ยวกับการตั้งชื่อบทความ อย่าคิดให้ซับซ้อน แต่ใช้สิ่งพื้นฐาน ใช้คำในแง่บวกดีกว่าแง่ลบ แม้คำที่น่าตื่นเต้นในแง่ลบดูเร้าใจกว่า แต่ผู้คนก็ยังอยากจะอ่านหัวข้อที่เป็นบวกมากกว่า เขียนประโยคแรกที่นึกถึง เพราะคุณสามารถกลับมาแก้ไขในภายหลังได้

แบบฝึกหัด: ลองตั้งชื่อบทความที่คุณต้องการเขียน

การเขียนบทความ

6. ซัดผู้อ่านให้อยู่หมัดในสองบรรทัดแรก

บทความที่น่าดึงดูดใจต่อผู้อ่านมีหลายแบบ แบบแรก “ใช่…นี่คือเรื่องที่ฉันกำลังอยากอ่านอยู่พอดี” หรือ “เอาจริงดิ กำลังคิดแบบนี้อยู่พอดี” แบบที่สอง “เฮ้ย! อะไรนะ” หรือ “จริงหรือ มีแบบนี้ด้วย ฉันอยากจะอ่านต่อ”

โดยพื้นฐาน คุณต้องดึงดูดให้ผู้อ่านอยากรู้ ด้วยการแนะนำเพื่อให้พวกเขาอยากอ่านบทความที่คุณนำเสนอต่อไปจนจบ 

การแนะนำไม่จำเป็นต้องซับซ้อนจนเกินไป หรือทำตัวให้ดูฉลาดมากนัก จำเอาไว้ว่าผู้อ่านอยากให้เราอยู่ข้างๆ ไม่นำเราจนมากเกินไป หรือตามเราจนสุดกู่ 

ย่อหน้า 1:

อะไรคือสิ่งที่น่าสนใจที่สุดที่ผู้อ่านจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่คุณเขียน

ย่อหน้า 2:

เพิ่มเติมคำอธิบายต่อสิ่งที่คุณเพิ่งพูดและใส่ลงในบริบทหนึ่งหรือสองประโยค

ย่อหน้า 3:

ระบุให้ชัดเจนว่าผู้อ่านคาดหวังอะไรได้บ้างในส่วนที่เหลือของบทความ

จากนั้นคุณดึงทั้งหมดนั้นมาเขียน

ตัวอย่าง:

ย่อหน้า 1:

รู้หรือไม่ หากมีคนบอกว่า เมื่อคุณสามารถคิดเกี่ยวกับไอเดียแปลกใหม่ อาจจะเป็นคำชม ไม่ใช่ทุกคนจะคิดสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ หรือนำความคิดแบบเดิมมาทำให้น่าสนใจ คุณอาจจะมีเครื่องประดับแปลกใหม่สักชิ้นที่ดูดี หรือออาจจะดูไม่เข้าท่าก็เป็นได้ โดยนำมันมาโชว์ในตู้ คำว่า “นวนิยาย” เช่นเดียวกัน มีเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจกับคำคำนี้ คำนามที่คุ้นเคยกันดี เกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 14 จากนักเขียนเรื่องสั้นชาวอิตลี เขียนเรื่องสั้นที่มีขนาดยาวมากกว่าปกติ และเรียกสิ่งนั้นว่า Novella สามศตวรรษต่อมา นวนิยาย หรือ Novel จึงถูกบัญญัติขึ้น ได้รับความนิยม จนกลายเป็นตัวแทนวรรณกรรมยุคใหม่ 

ย่อหน้า 2:

เนื้อหาส่วนใหญ่ของนวนิยายจะใช้ไปกับการบรรยายประสบการณ์ของตัวละครแต่ละตัว สร้างภาพลักษณ์ที่มีความสัมพันธ์อันซับซ้อน โลกที่พวกเขาอยู่อาศัย รวมถึงความรู้สึก ความคิดภายใน ตลอดจนค่านิยมที่ครอบงำจิตใจ แม้กระทั่งความขัดแย้งมักสอดแทรกอยู่เสมอ นวนิยายเป็นมากกว่าวรรณกรรมรูปแบบอื่นที่เคยมีมาก่อน ไม่ใช่แค่เรื่องราวที่เป็นปัจเจกมากขึ้นเท่านั้น แต่รวมถึงประสบการณ์ในการอ่าน 

ย่อหน้า 3:

อย่างที่เราทราบ คำว่า ‘นวนิยาย’ มาจากคำภาษาอิตาลี ‘โนเวลลา’ ซึ่งแปลว่า “ใหม่” ดังนั้นในบทความนี้เรามาดูว่านวนิยายคืออะไร มีลักษณะเหมือนกับเรื่องสั้น หรือแตกต่างกันอย่างไร เช่น ตัวละคร บทสนทนา มุมมอง ฉาก พล็อต ไคลแม็กซ์ ความขัดแย้ง และการคลี่คลายปม อย่างไรก็ตาม นวนิยายที่ดีไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบดังที่กล่าวมาข้างต้นครบถ้วน เพื่อเรียนรู้องค์ประกอบทั้งหมดอย่างเข้าใจ เพื่อนำไปปรับใช้เมื่อเขียนนวนิยาย

แบบฝึกหัด: เขียนบทนำของคุณเพื่อดึงดูดผู้อ่าน

7. การเขียนบทความ

ถ้าคุณยังลังเลว่าจะเริ่มเขียนบทความได้อย่างไร ลองย้อนกลับไปอ่าน วิธีหาไอเดียในการเขียน 

  1. เริ่มเขียนบทความโดยวางโครงสร้างตามตัวอย่างดังนี้
  • คำนำ (intro)
  • นวนิยายคืออะไร
  • องค์ประกอบของนวนิยายมีอะไรบ้าง
  • วิธีเลือกรูปแบบในการเขียน
  • วิธีการแก้อุปสรรคระหว่างการเขียน
  • บทสรุป

2. ขั้นต่อไป เมื่อคุณวางโครงสร้างเสร็จแล้ว คุณจำเป็นต้องค้นหาข้อมูลในการเขียน เพื่อสอดใส่เนื้อหาลงไปในแต่ละตอนที่คุณกำหนดเอาไว้

  • คำนำ (intro)

แนะนำเรื่องที่จะเขียนว่ามีอะไรบ้าง เพื่อดึงผู้อ่านให้ทราบข้อมูลคร่าวๆ

  • นวนิยายคืออะไร

นิยามของนวนิยาย

ที่มาที่ไป ประวัติคร่าวๆ พื้นฐานเรื่องที่จะเขียน

  • องค์ประกอบของนวนิยายมีอะไรบ้าง

องค์ประกอบของนิยาย พล็อต ตัวละคร ฉากการบรรยาย

  • วิธีการเลือกรูปแบบในการเขียน

 รูปแบบนวนิยายมีหลากหลาย แนวสืบสวน แนวโรมานซ์ ผจญภัย ดรามา

  • วิธีการแก้อุปสรรคระหว่างการเขียน

เมื่อเขียนนิยายไปได้หนึ่งในสาม คุณจะพบอุปสรรคมากมาย วิธีการแก้อุปสรรคมีอะไรบ้าง

  • บทสรุป

บทสรุปของบทความ คุณอาจจะทิ้งท้ายให้กำลังใจ และมอบแบบฝึกหัด

3. วิธีการที่ผมมักใช้ในการเขียนบทความคือ ค่อยๆ เติมสิ่งที่เราต้องการนำเสนอเข้าไปในหัวข้อต่างๆ ที่เรากำหนด ดูตัวอย่างด้านบน เริ่มจากหัวข้อใหญ่ จากนั้นก็หัวข้อรอง ประเด็นสำคัญที่คุณต้องการเขียนจะไม่หลุดหาย รวมถึงควบคุมไม่ให้คุณออกนอกเรื่อง และถ้าข้อมูลไม่พอคุณสามารถเติมในแต่ละส่วนเพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้นตามลำดับ 

อีกประการกคือ คุณควรเขียนอย่างช้าๆ ไม่จำเป็นต้องรีบ แต่ถ้าคุณรีบที่จะเขียนให้ทันเส้นตาย หัวข้อย่อยๆ ที่กำหนดเอาไว้จะช่วยได้มากในการหาไอเดียสำหรับการเขียน

และอย่าลืมว่าหัวข้อในแต่ละหัวข้อจะต้องกำหนดให้เป็น H2 สำหรับ H1 จะมีเพียงครั้งเดียว นั่นคือชื่อบทความของคุณ ส่วนหัวข้อย่อยจาก H2 คือ H3 ตามลำดับลงไปเรื่อยๆ 

แบบฝึกหัด: เขียนบทความของคุณให้สำเร็จ

8. ภาพประกอบ และลิงค์อ้างอิง สำคัญต่อ การเขียนบทความ อย่างไร

เมื่อคุณเขียนบทความได้แล้ว ขั้นตอนการอ่านทวนแก้ไขบทความให้สมบูรณ์เสร็จสมบูรณ์ สิ่งที่คุณต้องเตรียมขั้นตอนต่อไปคือ “ภาพประกอบ” สำหรับการโพสต์ลงในบล็อก และลิงค์อ้างอิง ทั้งลิงค์จากภายใน และลิงค์ภายนอก

ทำไมรูปประกอบจึงสำคัญต่อบทความ เพราะรูปประกอบจะช่วยพักสายตาจากข้อความที่เป็นตัวหนังสือ เวลาที่ผู้อ่านเลื่อนบทความลงมา ภาพประกอบมีประโยชน์คล้ายกับกราฟฟิก หรือการอ้างอิงข้อความที่น่าสนใจ (quotes) ดังนั้นคุณจำเป็นต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้

หากคุณใช้สถิติ ตัวเลข หรือการวิจัยใดๆ ในโพสต์ของคุณ ให้ใส่ลิงก์ไว้เสมอ เมื่อคุณไม่ได้ใส่ลิงก์ ดูเหมือนว่าคุณกำลังสร้างสถิติขึ้นมาเอง การระบุแหล่งที่มาของข้อมูลจะทำให้โพสต์ของคุณมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นเดียวกับลิงค์ภายใน ถ้ามีย่อหน้าใดที่เกี่ยวข้องกับบทความอื่นๆ การใส่ลิงค์เข้าไปช่วยให้คนอ่านสามารถอ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันได้ง่ายขึ้น

คุณจะหาภาพประกอบได้จากที่ไหน ปัจจุบันเวบสต๊อกภาพค่อนข้างดี มีทั้งเสียเงินและฟรี คุณสามารถหาภาพประกอบที่เป็นรูปภาพ กราฟฟิก อินโฟกราฟิก ไดอะแกรม ไปจนถึง วีดีโอ

แบบฝึกหัด: หาภาพประกอบที่เข้ากับเนื้อเรื่อง และลิงค์อ้างอิง

(Search Engine Optimize)

9. ปรับบทความให้เข้ากับ SEO (Search Engine Optimize)

SEO เหมือนเครื่องครัว เครื่องครัวมีหน้าที่สำคัญทำให้คุณสามารถประกอบอาหารได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีเครื่องครัว การทำอาหารกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก ไข่เจียวนั้นทำงาน ถ้าคุณมีกระทะ ถ้าคุณไม่มีกระทะ คุณอาจะใช้หม้อที่สะดวกน้อยลง

ทำไมต้องปรับ SEO ในบทความของคุณ อย่าลืมว่า แม้บทความจะดีเท่าไหร่ เมื่อโพสต์ลงในอินเตอร์เน็ต ถ้าผู้อ่านค้นไม่พบบทความของคุณ การเขียนบทความจะกลายเป็นความเปล่าประโยชน์ทันที อย่างไรก็ตามหากบทความของคุณไม่ขึ้นหน้าหนึ่งของกูเกิล (Google) เป็นไปยากมากที่ผู้อ่านจะคลิกไปที่เวบไซต์ หรือบทความที่คุณเขียน เป็นไปได้ยากมากที่คนอ่านจะคลิกที่หน้าสองหรือหน้าสามของการค้นหาในกูเกิล หรือเสร์สเอนจิ้นเจ้าอื่น ดังนั้นบทความดีจะกลายเป็นความว่างเปล่าสำหรับโลกอินเทอร์เน็ตในทันที

คุณอาจมีคำถาม ในเมื่อบทความที่ดี ทำไมเสิร์สเอนจินค้นไม่พบ ในเมื่อกูเกิลชอบบทความที่ดี นี่เป็นคำถามที่ดีมาก อย่าลืมว่าการเขียนบทความนั้นเราเขียนให้คนทั่วไปอ่าน หรือพูดให้ชัดเจนคือเขียนให้มนุษย์ที่รู้จักภาษานั้นๆ อ่าน ขณะเดียวกัน SEO เราต้องการให้อังกอริทึ่มของเสิร์สเอนจิ้นนั้นๆ อ่านมัน ว่าบทความนี้กำลังพูดถึงอะไร แล้วเมื่อมันเก็บข้อมูลไปประมวลผลเรียบร้อยแล้ว นั่นจะทำให้อินเทอร์เน็ตรู้จักบทความนั้น หลายคนอาจแย้งว่าในภาษาไทยนั้นยากที่จะทำ SEO ใช่ครับ แต่การไม่ทำอะไรเลยยิ่งทำให้สถานการณ์ของบทความของเราแย่ลงไปอีก

เมื่อคุณเขียนบทความเสร็จ คุณต้องการคีย์เวิร์ดเพื่อใช้ในการโพสต์บทความ คีย์เวิร์ดนั้นจะต้องปรากฏในบทความประมาณ 1-2 % ถ้าคุณไม่พบคีย์เวิร์ดในบทความ ลองอ่านทวนแล้วเติมลงไปให้เหมาะสม ให้คิดเสมอว่า คุณต้องเขียนพวกนี้ให้ เครื่องจักรในการค้นหา “อ่าน” แน่นอนว่าคุณสามารถปรับให้มันสลักสลวยขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้น เพื่อให้คนอ่านด้วยเช่นกัน แน่นอนว่ามันอาจ dilemma บ้าง แต่คุณต้องชั่งน้ำหนักให้พอดี ระหว่างบทความที่ดี กับบทความที่ค้นไม่พบเลย อันไหนสำคัญกว่ากัน 

แน่นอนว่าเราจะคุยเรื่อง SEO กันแบบเจาะลึกอีกครั้ง ถ้าคุณต้องการให้ผมเขียนอย่างละเอียดขึ้น ลองคอมเม้นต์เรียกร้องใน Comments ด้านล่าง

แบบฝึกหัด: ค้นหาคีย์เวิร์ดในบทความของคุณ หากไม่หนาแน่น 1-2% ให้เพิ่มการคีย์เวิร์ดลงในบทความ 

10. แก้ไขปรับปรุงชื่อเรื่อง

ผลลัพธ์สุดท้ายจากสูตรของคุณ เขียนบทความ อ่านทวน แก้ไข และกลับไปปรับปรุง โดยเฉพาะชื่อเรื่อง (Title)

ไม่ว่าเนื้อหาของคุณจะดีแค่ไหน หากชื่อเรื่องของคุณไม่ได้เรื่อง ไม่มีใครอยากอ่านมัน สิ่งสำคัญคือต้องใช้เวลาคิดหาชื่อเรื่องที่น่าทึ่งเพื่อดึงดูดผู้อ่านเข้ามา อะไรที่พวกเขาอยากจะอ่านบทความของคุณ อะไรที่พวกเขาต้องการ รีดเค้นให้สุด เพื่อที่จะได้ชื่อเรื่องที่น่าสนใจ

ส่วนใหญ่แล้วชื่อเรื่องจะบอก และครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด จากนั้นคุณจำเป็นต้องทำให้ผู้อ่านรู้ว่าจะได้อะไรจากบทความนี้ พูดแบบตรงๆ แต่สั้นและกระชับ

สำหรับเคล็ดลับในการคิดชื่อเรื่องที่ดี โปรดติดตาม ในอนาคต ถ้าคุณกลัวพลาด สมัครสมาชิกข่าวของเวบไซต์ เมื่อผมเขียนเรื่องราวใหม่ๆ คุณจะได้ทราบในทันที

ถ้าคุณต้องการตรวจสอบชื่อเรื่องของคุณว่าได้คะแนนเท่าไหร่แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ลองคลิกไปที่ isitwp แน่นอนว่าภาษาไทยยังไม่ซับพอร์ตทั้งหมด แต่ลองเป็นแนวทางได้ไม่เสียหาย

แบบฝึกหัด: คิดชื่อเรื่องบทความของคุณประมาณห้าชื่อ จากนั้นจดลงในโน๊ต เลือกชื่อที่คุณรู้สึกว่าจะโดนใจกลุ่มเป้าหมายของคุณมากที่สุด

บทสรุป

มาถึงตรงนี้ คุณได้เรียนรู้ 10 วิธี เริ่มเขียนบทความ โพสต์บล็อก และ คอนเทนต์ออนไลน์ 

การเขียนไม่จำเป็นต้องเป็นแบบฝึกหัดที่เครียด หรือยาก ในการฝึกเขียนแต่ละครั้งตามขั้นตอนจนเป็นนิสัย จะช่วยให้คุณเขียนได้เป็นธรรมชาติ แทนที่จะมองว่าการฝึกซ้ำๆ เป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่อย่าลืมว่า การเขียนไม่ได้มีขั้นตอนลัด สิ่งที่จะทำให้คุณเก่งขึ้นได้คือเขียนอย่างต่อเนื่อง มองหาจุดบกพร่อง แก้ไข วิเคราะห์กลุ่มผู้อ่าน คุณจะพัฒนาการเขียนไปอีกระดับหนึ่ง เพราะเมื่อความคิดของคุณถูกจัดระเบียบ ผู้อ่านจะเข้าใจสิ่งที่คุณเขียนได้ง่ายขึ้น และรู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่!

หากคุณมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับการเขียน โพสต์บล็อก หรือคอนเทนต์ต่างๆ บอกให้เราทราบในความคิดเห็นด้านล่าง!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *