หมายเหตุ

นิทรรศการขนาดย่อม 6 ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง บอกเล่าเรื่องราวตลอด 60 ปีที่ผ่านมาของ PUBAT และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จัดแสดงในโซนรักคนอ่าน

ดำเนินการโดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
เรียบเรียงข้อมูลโดย นิวัต พุทธประสาท
ออกแบบนิทรรศการโดย Pink Blue Black & Orange
ผู้ออกแบบ สาวิตรี สุกุล
ผลิตนิทรรศการโดย D-63

 

สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเริ่มก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จากความพยายามที่จะรวบรวมสมาชิกสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในเวลานั้นขึ้นมา ท่ามกลางความยากลำบากในการก่อตั้ง ระยะเวลาเริ่มแรกเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคมากมาย จนกระทั่งในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ จึงสามารถจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมฯ กับกองตำรวจสันติบาลได้สำเร็จ โดยมีสำนักงานอยู่ที่อาคาร ๙ ถนนราชดำเนิน ภายในองค์การค้าคุรุสภา โดยมี นายกำธร สถิรกุล ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นท่านแรก

กำเนิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ ๑

ก่อนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ ๑ จะถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรก เวลาผ่านพ้นไปร่วมทศวรรษหลังก่อตั้งสมาคมฯ ด้วยความร่วมมือจาก UNESCO ซึ่งได้ประกาศให้ปี ๒๕๑๕ เป็น “ปีหนังสือระหว่างชาติ” จึงก่อให้เกิดความร่วมมือ โดยหนังสือจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันดีต่อชนชาติต่างๆ ทางสมาคมฯ จึงถือโอกาสนี้เป็นวาระสำคัญ จัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติขึ้น โดยจัดขึ้นครั้งแรกในบริเวณโรงละครแห่งชาติ ไปจนถึงหอประชุมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ ๑ ถึง ๗ เมษายน ๒๕๑๕ 

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติมีอันต้องพ้นสภาพไปด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง ขณะเดียวกันงานสัปดาห์หนังสือฯ ในการจัดการโดยสมาคมฯ ยังดำเนินต่อไป แต่ได้เปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานจากโรงละครแห่งชาติไปสู่อาคารลุมพินีสถาน ภายในสวนลุมพินี ในเวลานั้นการย้ายสถานที่โดนผู้อ่านวิพากษ์วิจารณ์ว่าไกล เดินทางไม่สะดวก แต่กระนั้นงานก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากใกล้ศูนย์กลางธุรกิจทั้งถนนสีลมและสาทร

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ร่วมจัดกับกระทรวงศึกษา

เข้าสู่ทศวรรษที่ ๓ ความมั่นคงในการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมีมากขึ้น การจัดที่อาคารลุมพินีสถานเป็นไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ “เมษาฮาวาย” ในปี ๒๔๒๔ พลเอกสัณห์ จิตรปฎิมา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัชาการทหารสูงสุดในเวลานั้น ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลางดึกของวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ โดยนำกำลังเข้ายึดพื้นที่ในสวนลุมพินี และสั่งปิดงานสัปดาห์ฯ ซึ่งเป็นเวลาเริ่มงานสัปดาห์หนังสือฯ ทำให้ ม.ล. มานิจ ชุมสาย นายกสมาคมฯ ในเวลานั้นต้องวิ่งไปเจรจาชี้แจง และงานสัปดาห์จึงได้เปิดตามปกติอีกครั้ง

ในปีรุ่งขึ้นทางสมาคมฯ จำเป็นต้องย้ายสถานที่จัดงานอีกครั้ง เนื่องจากทางกรุงเทพมหานครได้แจ้งว่า อาคารลุมพินีสถานต้องปิดปรับปรุงซ่อมแซม ห้วงเวลาดังกล่าวทำให้งานสัปดาห์หนังสือฯ พเนจรไปจัดตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง เช่น หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี ๒๕๖๒ โรงเรียนหอวังในปี ๒๕๒๗ จากการย้ายสถานที่จัดงานบ่อยๆ และสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน ทำให้ผู้มาชมงานน้อยลง ประกอบสถานที่ไม่เป็นที่รู้จักของผู้ชมงาน ทางสมาคมฯ และผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมจัดงาน จึงเล็งเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบของงานสัปดาห์หนังสือฯ ใหม่ทั้งหมด การจัดงาน ครั้งที่ ๑๔ ในปี ๒๕๒๘ จึงจัดขึ้นครั้งแรก ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

จึงนับว่าเป็นทศวรรษใหม่ของงานสัปดาห์ฯ ที่ร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ โดยทางสมาคมฯ ได้จัดตั้งเต้นท์ผ้าใบรอบหอประชุม และจัดตั้งคูหาให้กับร้านค้า โดยมีการคิดค่าเช่าร้าน อัตราส่วนลดหลั่นกันไปตามทำเลและขนาด การจัดงานประสบความสำเร็จอย่างสูง จนต้องขยายพื้นที่ออกไปยังถนนลูกหลวง และทางคณะกรรมการสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้เสนอให้หอประชุมคุรุสภาเป็นที่จัดงานถาวร โดยในแต่ละปีทางสมาคมฯ เป็นผู้ออกสื่อประชาสัมพันธ์ของงาน จัดการในเรื่องกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆ 

งานสัปดาห์หนังสือฯ กับก้าวที่กล้า

งานสัปดาห์หนังแห่งชาติ จัดขึ้นเป็นประจำหลายปีที่หอประชุมคุรุสภา ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย แต่รูปแบบการจัดงาน จากการพัฒนาการอ่าน พัฒนาชาติ กลายมาเป็นงานลดราคาหนังสือเป็นสำคัญ งานประชุม สัมนา นิทรรศการในงานไม่ได้รับความสนใจ ช่วงเวลานี้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้เริ่มจัดงานหนังสือของตัวเองขึ้นมาภายในชื่องาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ” โดยครั้งแรกในปี ๒๕๓๙ จัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ การจัดงานที่ห้างฯ สร้างสีสันบรรยากาศที่แตกต่างจากงานสัปดาห์หนังสือฯ ดูผ่อนคลายขึ้น ครั้งที่สอง ในปี ๒๕๔๐ ทางสมาคมฯ จัดงานที่ท้องสนามหลวงก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ค่าประกันหญ้านั้นสูงถึงหนึ่งล้านบาท จนกระทั่งในปี ๒๕๔๑ สมาคมฯ ได้เริ่มจัดงานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งแรกที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยการไปจัดงานที่ศูนย์สิริกิติ์ถือเป็นก้าวที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ในเวลานั้น 

ขณะเดียวกันงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พยายามแก้ปัญหาเรื่องความแออัดที่หอประชุมคุรุสภา และสถานที่โดยรอบ จึงย้ายมาจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วยเช่นกัน เป็นการย้ายจากสถานที่ที่คุ้นเคยมาสู่สถานที่แห่งใหม่ เป็นการตัดสินใจที่กล้าเสี่ยง ซึ่งหลังจากย้ายงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมาสู่ศูนย์สิริกิติ์ ซึ่งจัดขึ้นในห้วงเวลาเดิมคือระหว่างปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน ขณะที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ จัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของปี มีคำถามว่าจัดงานสองงานใหญ่จะไปรอดหรือไม่นั้น ปัจจุบันได้เป็นคำตอบแล้วว่า ทั้งสองงานที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ ประสบความสำเร็จด้วยดี และจากพื้นที่โซนซีหนึ่งจากปีแรก ก็ขยายพื้นที่ครอบคลุมไปจนเต็มทุกพื้นที่ของศูนย์ประชุมจนถึงปัจจุบัน

ความท้าทายบทใหม่ สู่การเปลี่ยนแปลง

สำหรับในปี ๒๕๖๒ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ถึงเวลาอีกครั้งที่ต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากศูนยประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้เวลาปรับปรุงซ่อมแซมตามกำหนดการ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ต้องย้ายสถานที่จัดงานอีกครั้ง หลังจากหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้จัดงานตามสถานที่แตกต่างกันหลายต่อหลายแห่ง และครั้งนี้ถือเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ ที่ต้องออกมาจากพื้นที่อันคุ้นเคย ไปสู่สถานที่แห่งใหม่นั่นคือ อิมแพค เมืองทองธานี และทางสมาคมฯ คิดว่ารูปแบบงานที่น่าตื่นตาตื่นใจกับพื้นที่ใหม่ จะทำให้งานหนังสือทั้งสองงานประสบความสำเร็จเช่นเดิม เพราะทางสมาคมฯ เชื่อว่า ผู้อ่านหนังสือคือผู้แสวงหาสิ่งใหม่ๆ และเป็นผู้กล้าที่จะฝ่าฟัน ไม่ยึดติดอยู่กับความสำเร็จของอดีต 

 

Time Line สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

๒๕๑๕ ถึง ๒๕๑๙

โรงละครแห่งชาติ และหอประชุมธรรมศาสตร์

๒๕๒๐ ถึง ๒๕๒๕

อาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี

๒๕๒๖

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒๕๒๗

โรงเรียนหอวัง

๒๕๒๘ ถึง ๒๕๓๔

หอประชุมคุรุสภา ถนนลูกหลวง กระทรวงศึกษาธิการ

๒๔๓๕

สนามหลวง

๒๕๓๗ ถึง ๒๕๔๓

หอประชุมคุรุสภา ถนนลูกหลวง กระทรวงศึกษาธิการ

๒๕๔๔ ถึง ๒๕๖๒

ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

Time Line มหกรรมหนังสือระดับชาติ

๒๕๓๙

ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์

๒๕๔๐

สนามหลวง

๒๕๔๑ ถึง ๒๕๖๑

ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

อ้างอิง

หนังสือครบรอบ 50 ปี สามาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *