15 ขั้นตอน การเขียนนิยาย : How to Write a Novel

รวม 15 วิธี การเขียนนิยาย อย่างละเอียด เทคนิคการเขียน ฉาก ตัวละคร องค์ประกอบ วิธีการเขียนนิยาย เลือกใช้โครงสร้าง ปมขัดแย้ง ทุกขั้นตอนจบในโพสต์เดียว

How to Write a Novel : บทความนี้นำเสนอขั้นตอน การเขียนนิยาย พร้อม ตัวอย่างการเขียนอย่างละเอียด รวมถึง เทคนิคการเขียน เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำไปเขียนนวนิยายได้จริง หรือสามารถวางแผนในการเขียน แก้ไขข้อบกพร่อง อีกทั้งอุปสรรคที่ต้องพบในการเขียน นิยาย

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเขียนคือการลงมือเขียน ไม่ต่างจากการหัดขี่จักรยาน ถ้าไม่เริ่มก็ไม่มีวันขี่เป็น อย่างไรก็ตาม การเขียนนิยาย ไม่สามารถเขียนเสร็จได้ในวันเดียว ต้องใช้ความมุ่งมั่น ต้องมีความพากเพียร ต้องสร้างวินัยในการเขียน จากฤดูร้อนไปสู่ฤดูฝน จากฤดูฝนไปสู่ฤดูหนาว นักเขียนบางคนกล่าวถึง วิธีการเขียนนิยาย “ตอนที่เริ่มต้นเขียน เราไม่ได้ลงมือเขียนในสิ่งดีๆ แต่เขียนเรื่องราวไร้สาระ จากนั้น จึงค่อยๆ ปรับปรุงนิยายให้ดีขึ้น” ไม่ว่าคุณจะมี เทคนิคการเขียน ที่ยอดเยี่ยมเพียงไร แต่คุณสมบัติเรื่องความพากเพียร ความวิริยะ ระเบียบวินัย และความอุตสาหะ คือคีย์สำคัญสำหรับการเขียนนิยายอย่างไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ

ก่อนจะเริ่มเรียนรู้ขั้นตอนการเขียน ผมขอเวลาสั้นๆ เพื่อแนะนำว่า นิยายคืออะไร จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีพื้นฐานในเรื่องนี้ เพื่อที่จะสามารถแยกแยะความแตกต่าง แยกแยะรูปแบบนิยายในประเภทต่างๆ ได้ มันจะทำให้ขั้นตอนการวางโครงสร้างง่ายขึ้น ไม่ทำให้เสียเวลาในการเขียน

ในตอนนี้ผมได้เขียนบทความใหม่ ที่จะทำให้ผู้เขียนสามารถเขียนนวนิยายได้จนจบ บทความนี้เน้นการปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง ผู้อ่านสามารถอ่าน 20 เคล็ดลับ วิธีแต่งนิยาย : How to Write a Novel : เขียนนิยายอย่างไรให้สำเร็จ โดยไม่ล้มเหลว ได้ตามลิงค์บทความนี้

นิยาย คืออะไร

นิยายคืองานเขียนเชิงร้อยแก้ว ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวบกับประสบการณ์ของมนุษย์ ตัวเรื่องมีความยาวและความซับซ้อน เล่าผ่านเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกัน เรื่องราวเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลในสภาพแวดล้อม (ฉาก สถานที่ และเวลา) 

ประเภทของนิยายมีรูปแบบที่หลากหลาย นิยายถือเป็นศาสตร์และศิลปะ ที่ต้องใช้ความชำนาญในการฝึกฝน สร้างเรื่องราวผ่าน ‘คำ’ จนกลายเปลี่ยนเป็นลายลักษณ์อักษร นิยายต่างจากร้อยกรอง หรือกวีนิพนธ์ นิยายต่างจากเรื่องสั้น โดยเฉพาะขนาด ความยาวและความกระชับ นิยายเป็นการพรรณา ขณะที่เรื่องสั้นเจาะจงเฉพาะอารมณ์ หรือเหตุการณ์เดียว นิยายเริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกในยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด และได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบัน

การเขียนนิยาย

องค์ประกอบ: การเขียนนิยาย

พล็อต โครงเรื่อง (Plot)

นิยายขับเคลื่อนผ่านเรื่องราวหลายร้อยพันหน้ากระดาษ เราเรียกเรื่องราวเหล่านั้นว่า พล็อต: “โครงเรื่อง” หรือ “แกนกลาง” ตัวอย่างเช่น ผลงานของ Jane Austen เรื่อง Pride and Prejudice (ค.ศ. 1813) “คู่หนุ่มสาวถูกลิขิตให้แต่งงาน ต้องเอาชนะอุปสรรคของความเย่อหยิ่งและอคติ” หรือ นักเขียนรัสเซียนามอุโฆษ Fyodor Dostoyevsky เรื่อง Crime and Punishment (ค.ศ. 1866) แกนเรื่องคือ “ชายหนุ่มผู้ก่ออาชญากรรม และชะตากรรมไล่ตามอย่างช้าๆ เพื่อลงโทษเขา” พล็อตเรื่องของนิยายแต่ละเรื่องแตกต่างกัน มากน้อยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น นักเขียนสร้างสถานการณ์พื้นฐานจากความเป็นมนุษย์ นักเขียนบทละครทำนิยายให้เหมือนเรื่องจริง ส่วนนักเขียนนวนิยายทำเรื่องจริงให้กลายเป็นเรื่องแต่ง

ผู้สวมบทบาท บุคลิกตัวละคร (Character)

นักเขียนชั้นรองมักหมกมุ่นกับโครงเรื่อง ส่วนนักประพันธ์ชั้นแนวหน้า สนใจบุคลิกภาพของมนุษย์ บุคลิกตัวละครถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของนิยาย โดยเฉพาะสถานการณ์ภายใต้แรงกดดัน ตัวละครเอกที่ดีไม่ต่างจากการสร้างสรรค์งานศิลปะ หากไม่มีตัวละคร นวนิยายจะไม่ถือกำเนิดขึ้นมา นักวิจารณ์วรรณกรรมมองว่า คุณค่าของวรรณกรรมถูกสร้างขึ้นจากตัวละคร ตัวอย่างเช่น ความซับซ้อนในตัวละครของ เชคสเปียร์ อย่าง แฮมเล็ต หรือที่พบเห็นในตัวละครของ ลีโอ ตอลสตอย และโจเซฟ คอนราด บางคนอาจจะชอบตัวละครเรียบๆ คุณลองพินิจภาพเขียน Mona Lisa ฝีมือดาวินซี ภาพมนุษย์เพียงภาพเดียวสามารถบอกเรื่องราวทั้งหมดของชีวิต

ผู้สวมบทบาท บุคลิกตัวละคร Character Mona lisa
Mona Lisa

ฉาก สภาพแวดล้อม (Scene, or setting)

ลักษณะและพฤติกรรมของตัวละครที่สมมติขึ้น สภาพแวดล้อมมีผลเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาตัวละคร หรือบอกนิสัยใจคอ รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ฉากมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวเรื่อง เพราะว่ามันเป็นตัวกำหนดลักษณะนิสัยและการกระทำ สถานที่ในนิยายมักถูกกำหนดโดยตั้งค่าเอาไว้ให้เกิดผลของพฤติกรรม ดังนั้น นิยายเรื่อง “มาดามโบวารี” (ค.ศ. 1857) ของกุสตาฟ โฟลแบร์ต นวนิยายเรื่องนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นมาเลย ถ้าดำเนินเรื่องในปารีส เพราะชีวิตอันน่าสลดใจและความตายของนางเอกมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับสภาพแวดล้อมในชนบทที่เธออาศัยอยู่

วิธีการบรรยายและมุมมองการเล่า (Narrative method and point of view)

ที่ใดมีเรื่องเล่า ที่นั่นมีผู้เล่าเรื่อง ฉันใดฉันนั้น ผู้บรรยายในมหากาพย์ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างตัวละครกับผู้อ่าน บางครั้งผู้บรรยายก็กำหนดทัศนคติของตนเองอย่างตรงไปตรงมา เขามักจะพรรณาถึงสัจธรรมที่มีแนวโน้มว่าจะลดค่าตัวละครเป็นเพียงหุ่นเชิด โดยกำหนดชะตากรรมไว้ล่วงหน้า นักประพันธ์หลายคนไม่พึงพอใจกับวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ เพราะดูเหมือนจะจำกัดเจตจำนงเสรีของตัวละคร และพยายามค้นหาเทคนิคในการเล่าเรื่อง เพื่อแสวงหาจุดยืนต่อความเป็นกลางของละคร ซึ่งทำเหมือนว่าตัวละครสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจของนักเขียน

ขอบเขต หรือ มิติ (Scope or dimension)

ในทางทฤษฎี ไม่มีนวนิยายเรื่องใดที่ยาวเกินไป แต่ถ้าสั้นเกินไป เราก็จะเลิกเรียกหนังสือเล่มนั้นว่า “นวนิยาย” อาจใช่หรือไม่ บังเอิญนวนิยายที่คนอ่านทั่วโลกแล้วยกย่องว่าดีมีความยาวพอสมควร เช่น “ดอน กิโฆเต้” ของ Cervantes, “พี่น้องคารามาซอฟ” ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยียสกี “สงครามและสันติภาพ” ของ ลีโอ ตอลสตอย และ “เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์” ของ ชาร์ล ดิกเคนส์ 

ในทางกลับกัน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความกะทัดรัดถือได้ว่าเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง (555) เช่น นวนิยายของนักประพันธ์แนวแอบเสิร์ด ชาวไอริช ซามูเอล เบคเคตต์ และ นวนิยาย ของ จอร์จ หลุยส์ บอร์เกส ชาวอาร์เจนตินา สุนทรียศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่ปริมาณอีกต่อไป ความสำเร็จของนวนิยายขนาดสั้น (Novella) สามารถเป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมได้ เราไม่อาจจะลดทอนความสำเร็จจากนวนิยายขนาดสั้นของ Ronald Firbank ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ Evelyn Waugh ผู้เขียน The Loved One (ค.ศ. 1948) 

มีสองวิธีในการนำเสนออุปนิสัยของมนุษย์—หนึ่ง ด้วยกลวิธีวิธีสั้นๆ ผ่านเหตุการณ์สำคัญในชีวิต จากบุคคล หรือกลุ่มบุคคล –สอง นำเสนอด้วยความยาวที่ไร้ขอบเขต โดยการนำเสนอชีวิตของตัวละครเป็นส่วนใหญ่ หรือบางครั้งเริ่มต้นด้วยการถือกำเนิดไปจนสิ้นสุดในวัยชราจนเดินไปสู่ความตาย บทละครของเชคสเปียร์แสดงให้เห็นว่า การแสดงลักษณะนิสัยของตัวละครเต็มรูปแบบ สามารถทำให้ชัดเจนได้ด้วยข้อความกระชับสั้นๆ ดังนั้นสำหรับนวนิยาย ความยาวไม่ได้เพิ่มประโยชน์พิเศษใดๆ ในด้านคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ความยาวมีความสำคัญมากก็ต่อเมื่อนักประพันธ์พยายามนำเสนอบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ นักเขียนมุ่งเป้าเพื่อเป็นตัวแทนของสังคมทั้งมวลและยุคสมัยของเขา เพื่อนำเสนอนวนิยายที่สร้างพลังอำนาจให้กับผู้อ่าน

[block_content id=”23524″]

ตำนาน สัญลักษณ์ ประเด็นสำคัญ (Myth, symbolism, significance)

ความหมกมุ่นในชีวิตประจำวันของนักเขียนนวนิยายคือ กำหนดเหตุการณ์-สถานการณ์ กำหนดบุคลิกภาพตัวละคร ควบคุมการแสดงออกทางความคิด ค้นหาจุดสุดยอดเพื่อขมวดปม หรือไขปัญหาทั้งมวลที่สร้างขึ้นมาอย่างยุ่งเหยิง ขณะเดียวกันคุณค่าทางสุนทรียะของนวนิยาย กลับไม่ได้อยู่ในมือนักเขียนอีกต่อไป นวนิยายที่เข้าใกล้ตำนาน ตัวละครจะกลายเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ โดยเฉพาะเมื่อเราอ่านหนังสือเล่มนั้นครั้งแรกแล้วไม่รู้สึกอะไรเลย แต่มนุษย์มีแรงกระตุ้นเพื่อค้นพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นกังหันยักษ์ ใน “ดอน กิโฆเต้”

ความปรารถนาที่จะเขียนนิยาย มีความสำคัญมากกว่าเขียนเรื่องธรรมดา การเขียนนิยายเกิดขึ้นอย่างมีสติสัมปชัญญะ และถือกำเนิดขึ้นด้วยเจตนา บางครั้ง โครงสร้างหลักของนิยายอาจจะไม่เพียงพอที่จะนำเสนอเป้าหมาย สัญลักษณ์ในนิยายก่อให้เกิดความซับซ้อนและสร้างแรงเหวี่ยงให้กับเรื่องราวได้มากมายมหาศาล คุณจึงเห็นได้ว่าบางครั้งการใช้สัญลักษณ์ในนิยายนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อจงใจนำเสนอเรื่องที่ใหญ่กว่าชีวิตจริงๆ ของมนุษย์เรา ผู้ประพันธ์ทำให้ตัวละครผ่านการตีความได้หลากหลาย


หลังจากที่ทำความเข้าใจโครงสร้างของนิยายแบบคร่าวๆ ไปแล้ว ผมได้แบ่งขั้นตอนหลักๆ ออกเป็น 15 ขั้น และเพื่อให้เข้าใจง่าย ผมได้แยกประเด็นออกมาเป็นสามบทด้วยกันคือ I.ก่อนเขียนนิยาย II.ระหว่างการเขียน และ III.หลังจากเขียนต้นฉบับเสร็จ

How to Write a Novel

I. การเขียนนิยาย : ก่อนเขียน…

คุณคงเคยได้ยินเรื่องเล่าจากนักเขียนจนเบื่อ ในเรื่องที่ว่า การเขียนนิยายก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้น ดังนั้นการเตรียมตัวก่อนวิ่งจึงมีความสำคัญ แม้การวิ่งระยะสั้นจะต้องมีการซ้อมด้วยก็ตาม การซ้อมก่อนวิ่งคือการเตรียมตัวลงสนาม ยิ่งเตรียมตัวก่อนเขียนนิยายมากเท่าไหร่ ก็สามารถเขียนได้ง่ายขึ้นเท่านั้น โอกาสที่จะเขียนนิยายจบเรื่องเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ขั้นตอนแรกต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเราเอง วัคซีนที่ดีที่สุดคือ ข้อมูล โครงสร้างเรื่อง ตัวละคร ฉาก จุดมุ่งหมาย ความขัดแย้ง จุดไคลแมกซ์ ขมวดปม และคลี่ปม ถ้าเตรียมตัวไม่พร้อมระหว่างทางที่เขียน อุปสรรคต่างๆ จะประดังมาโดยไม่รู้จักหยุดหย่อน

การวางแผนคือ ควรเริ่มจากการเขียนด้วย format ดังนี้

นิยาย [ประเภท] เกี่ยวกับ [ธีม] เล่าจาก [มุมมอง] และตั้งอยู่ใน [สถานที่และช่วงเวลา] บางสิ่งติดตาม [ตัวเอก] ที่ต้องการ [เป้าหมาย] เพราะ [แรงจูงใจ] แต่ [ความขัดแย้ง] อุปสรรคทำให้เรื่องยากขึ้น ทำให้ [เดิมพัน] ตกอยู่ในความเสี่ยง [คลี่คลาย] เฉลยคำตอบ

ตัวอย่าง

นิยายประเภท ลึกลับ พิศวง กึ่งสืบสวน เกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่มีอดีตซับซ้อน เล่าด้วยบุทคลที่สามแบบจำกัดมุมมมอง สถานที่เหตุการณ์เกิดที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ ช่วงเวลาย้อนไปหนึ่งถึงสองปีจนถึงปัจจุบัน และเล่าย้อนอดีตสลับไปมา ตัวเอกระลึกความทรงจำเก่าที่มักติดตามมาหลอกหลอน เป้าหมายที่ต้องการแก้ไขปมที่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร ระหว่าง เซ็กซ์ พ่อ การสูญเสีย อยุติธรรม เพราะเขาได้พบเด็กสาวคนหนึ่ง ซึ่งนำมาซึ่งความขัดแย้งในตัวเขาเอง ทำให้เขาต้องค้นหาว่าทำไมจึงเกิดเรื่องนี้ ซึ่งนำเขาไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดตลอดกาล

เมื่อคุณเขียนฟอร์แมตดังกล่าวได้แล้ว ก็เริ่มสร้างโครงเรื่องจากแนวคิดดังกล่าว

1.ตอกย้ำแนวคิดจากโครงสร้าง

“โครงสร้าง” – Structure เป็นขั้นตอนแรกที่ต้องทำให้ชัดเจน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่ง่าย ขั้นตอนนี้ข้ามขั้นไม่ได้ นี่คือการเขียนนิยายเรื่องแรก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ต้องการรู้ว่าจะเขียนถึงอะไร “โครงสร้าง” เป็นจุดแรกของการเริ่มต้น มันง่ายมากถ้าคิดว่าแค่ซื้อเครื่องเขียนดีๆ คอมพิวเตอร์แรงๆ หรือเข้าใจโครงสร้างการเขียนจากตำรา (เช่นบทความที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้) แน่นอนมันช่วยได้บ้าง แต่นิยายจำเป็นต้องลงมือเขียนจริงๆ เพื่อให้บรรลุผลที่ต้องการ ถ้าไม่มีโครงสร้าง บ้านในฝันไม่มีวันสำเร็จ

ถ้าคุณกำลังดิ้นรนค้นหา “โครงสร้าง” เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวคิดดีๆ อย่าเพิ่งหงุดหงิดว่าทำไมยังคิดไม่ออก มีหลายประเด็นใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ลองเข้าไปอ่าน โครงสร้างเรื่องคืออะไร? มีวิธีการแบบไหนบ้าง? หรืออาจจะเริ่มด้วยการอ่านหนังสือ จากนั้นเริ่มจดรายการที่น่าสนใจ เนื้อเรื่องแบบนี้ ตัวละครแบบนั้น ง่ายกว่านั้น อาจจะดูหนังสักเรื่อง ไม่ใช่ดูเพื่อความบันเทิง แต่ดูเพื่อค้นหาเป้าหมาย โครงเรื่องพวกนั้นว่าดำเนินเรื่องอย่างไร เพื่อสร้างโครงเรื่องของตัวเองออกมา

<หากว่ากำลังตัดสินใจจะเลือกโครงสร้างนวนิยายเพื่องานเขียนเล่มใหม่ ลองอ่าน 7 โครงสร้างการเล่าเรื่อง ที่นักเขียนทุกคนควรรู้ : Narrative Structures เพื่อทำให้เข้าใจองค์ประกอบของแต่ละโครงสร้างได้ชัดเจนขึ้น>

เวลาที่ลงมือเขียน เราจะพบปัญหาในเรื่อง “แนวคิด” ของเรื่อง ลองใช้ความคิดเพื่อเขียน “ธีม” หนังสือออกมาสักสามสี่บรรทัด ถ้าสงสัยและมีคำถามว่าจะเขียนนิยายเรื่องนี้ไปทำไม คำตอบคือเพื่อเผยแพร่แนวความคิดให้คนอ่านรู้ เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ ก็คือ “ธีม” ยกตัวอย่างเช่น Lord of the Files ของ วิลเลียม โกลดิง นักเขียนรางวัลโนเบล เรื่องราวของกลุ่มเด็กชายที่รอดชีวิตจากเครื่องบินตก พวกเขาติดอยู่บนเกาะร้าง การเอาชีวิตรอดบนเกาะทุรกันดารให้ได้นั้น ต้องมีการแบ่งปันทรัพยากร พวกเด็กๆ ใช้สัญชาตญาณของตนเพื่อปกครอง ทว่าพวกเขายังเป็นแค่เด็กชาย ทั้งหมดคือ “โครงเรื่อง” หรือแกนเรื่องของนวนิยายเล่มนี้ ส่วนหนังสือต้องการนำเสนอแนวคิดอะไร นั่นก็คือ เรื่องความซับซ้อนของพฤติกรรมทางจิต มนุษย์เราเชื่อว่าเด็กมีความบริสุทธิทางความคิด แต่ถ้าพวกเขาไม่เคยเรียนรู้มัน พวกเขาจะดึงสัญชาตญาณดิบออกมาใช้ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องมนุษยธรรม

โครงสร้าง Lord of the Files
Lord of the Files

2.อ่านหนังสือแนวที่กำลังเขียน

ผมไม่ได้บอกให้ลอกงานพวกเขา อย่าเข้าใจผิด แต่ผมกำลังบอกว่า ถ้าเรากำลังเขียนหนังสือแนวสืบสวนสอบสวน เราต้องรู้ก่อนว่าคนอ่านต้องการอะไร มันช่วยทำให้รู้ว่าจะเขียนอะไรลงไปบ้าง ถ้าคุณอยากเรียนรู้เรื่องการจูบ คุณอ่านจากตำราก็ได้ แต่มันไม่ได้สอนอะไรเลย การจูบทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีใครสักคนช่วยให้คุณจูบเป็น นั่นคือหนังสือเล่มนั้น หรือหลายเล่ม คุณต้องเข้าใจวิธีคิด โดยกลายเป็นนักอ่านมาก่อน 

สิ่งที่ต้องเข้าใจอีกประเด็น คุณไม่ใช่คนแรกที่เริ่มเขียนนวนายายแนวนี้ มีคนเขียนนวนิยายสืบสวนมาก่อนคุณ หรือมากกว่าที่คุณเคยอ่านมาทั้งชีวิต ดังนั้นอย่าคิดว่าคุณจะเป็นต้นกำเนิด ถ้าคุณยังไม่ได้เริ่มทำอะไร

การเป็นนักอ่าน เป็นอีกขั้นตอนที่จะช่วยให้คุณเขียนนิยายได้เร็วขึ้น

3.เลือกมุมมองในการเล่าเรื่อง : Person of Voice [POV]

มุมมองในการเล่าเรื่องคืออะไร ผมอยากให้ย้อนกลับไปทบทวนที่ คู่มือในการเลือก ทุกมุมมอง พร้อมตัวอย่าง

“มหาภารตะ” เป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย เป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก มีจำนวนคำถึง 1.8 ล้านคำ ยาวกว่ามหากาพย์อีเลียด หรือมหากาพย์โอดิสซี มหาภารตะเนื้อหาซับซ้อน เล่าเรื่องยืดยาวเกี่ยวกับเทพปกรณัม สงคราม และหลักปรัชญาอินเดีย

ในมหาภารตะใครเป็นผู้เล่าเรื่อง ก่อนที่เราจะรู้ว่าใครเป็นผู้เล่าเรื่อง เรามาดูกันก่อนว่า มุมมองการเล่ามีกี่แบบ มี่กี่มุมมอง

ใครคือผู้เล่าเรื่องในมหาภารตะ เขียนคำตอบและคลิกทวีต

บุคคล ที่ 1 (First Person):

เรื่องเล่าจาก มุมมอง บุคคลที่ 1 คือ ผู้เขียนเป็นคนเล่า ให้ผู้อ่านฟัง สรรพนามหลักที่พบเห็นบ่อยๆ ในภาษาไทยคือ “ผม, ฉัน, ข้าพเจ้า” ในภาษาอังกฤษง่ายๆ คือ “I” 

ข้อดีข้อเสีย

ข้อดี: ผู้อ่านจะได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้เขียน การเล่าด้วยมุมมองนี้เหมือนเพื่อนเล่าประสบการณ์ให้คุณฟัง มันง่ายที่จะเข้าใจ คุณจะรู้สึกได้ว่ามันเป็นเรื่องจริง (ทั้งที่มันเป็นเรื่องแต่ง) 

ข้อเสีย: มุมมองนี้จำกัดมุมมองการเล่าเรื่อง เวลาที่คุณจะเล่าชีวิตของคนอื่น หรือเล่าความความคิดตัวละครอื่น จะทำให้ไม่เหมือนจริง มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะนั่งในใจศัตรู (ตัวละคร) ของคุณแล้วรู้ทุกความคิดของเขา หรือรู้แม้ว่าเขาเข้าห้องน้ำคนเดียวในตอนไหน หรือเขาทำอะไรตอนที่คุณไม่อยู่

บุคคล ที่ 2 (Second Person):

มุมมอง บุคคลที่ 2 ผู้อ่านจะได้รับประสบการณ์โดยตรงเช่นเดียวกับบุคคลที่หนึ่ง แต่แทนที่ผู้เขียนจะสวมบทบาทเล่าเรื่องตัวเอง แต่เล่าเรื่องของ “คุณ” (ที่เขาเป็นคนแต่ง) งงไหม 5555 สรรพนามในมุมมองนี้คือ “คุณ” หรือในภาษาอังกฤษคือ “You” 

ข้อดีข้อเสีย

ข้อดี: มุมมองนี้จะดึงให้ผู้อ่านเข้ามีประสบการณ์ร่วมได้ง่าย ยิ่งถ้าคุณเขียนเรื่องที่พวกเขากำลังประสบอยู่ด้วยแล้ว ผู้อ่านยิ่งเข้าใจตัวเนื้อเรื่องได้ลึกซึ้งขึ้น

ข้อเสีย: ยาก เป็นมุมมองที่ควบคุมยาก แม้จะใช้การเขียนเช่นเดียวกับมุมมมองที่หนึ่ง แต่มีบางจุดคุณอาจจะหลงไปใช้ความคิดของตัวเอง จะทำให้ธีมของเรื่องเสียสมดุลย์ สำหรับมือใหม่ผมไม่แนะนำใช้มุมมองนี้เพื่อเขียนนิยายเรื่องแรก

บุคคล ที่ 3 (Third-Person):

ผมขอแบ่งมุมมองบุคคลที่สามออกเป็นสองประเภท เพื่อจะได้ง่ายในการเลือกใช้ และไม่สับสน 

แบบจำกัดมุมมอง: (Third-Person Limited) 

บุคคลที่สามแบบจำกัด เป็นมุมมอง เป็นการเล่าเรื่องจากมุมมองที่ใกล้ชิดของตัวละครใดตัวละครหนึ่ง เสียงบรรยายนั้นเป็นเสียงของตัวละคร ซึ่งอาจจะไม่เปิดเผยว่าเป็นใคร โดยพวกเขาจะเล่าเรื่องตัวละครอื่น โดยใช้สรรพนาม เขา เธอ และพวกเขา เป็นหลัก การใช้บุคคลที่สามแบบจำกัดมุมมองเล่าเรื่อง เพิ่มศักยภาพในการเล่ามากกว่าใช้บุคคลที่หนึ่ง (ผม–ฉัน) โดยไม่ต้อง “ติดอยู่ข้างในตัวตน” เสียงเหล่านั้นไม่อยู่ในหัวของ “ผม” หรือ “ฉัน” อีกต่อไป

มุมมองบุคคลที่สามแบบจำกัด สิ่งที่ตัวละครแสดงต่อมุมมองนี้ก็คือ การรับรู้ รู้สึก นึกคิด คาดเดา มีหวัง จำได้ ฯลฯ ที่สามารถเล่าออกมาได้จากมุมมองผู้เล่าคนเดียว โดยไม่รู้ในทุกเรื่องของตัวละครอื่น หรือกำหนดชะตากรรมตัวละครอื่น ดังนั้นผู้อ่านจะอนุมานพฤติกรรมเหล่านั้นจากการบรรยายที่จำกัด

มุมมองพระเจ้า: Third-Person Omniscient 

การเล่าแบบมุมมองพระเจ้า เป็นดังดวงตาที่มองเห็นได้กระจ่างทั้งหมด ผู้บรรยายเป็นผู้รอบรู้ทุกเรื่อง ทุกตัวละคร เขาสามารถเปิดเผยทุกความคิด จากทุกจุดของเรื่อง เขาเป็นผู้ชักใยไม่ต่างพระเจ้า เชื่อมโยงความคิดของตัวละครทุกตัวเข้าด้วยกัน กำหนดเรื่องราวได้อย่างอิสระ เสียงผู้บรรยายในมุมมองพระเจ้า มักไม่ใช่เสียงจากตัวละครในเรื่อง แต่เป็นเสียงบรรยายจากภายนอก

สรรพนามที่ใช้ทั้งสองมุมมองคือ “เขา, เธอ, พวกเขา” ในภาษาอังกฤษ he, his, him, she, hers, her, they, theirs และ them

ความแตกต่างระหว่างจำกัดมุมมอง กับมุมมองพระเจ้า

ทั้งสองมุมมมองมีความใกล้เคียงกันมาก จำกัดมุมมองเปิดโอกาสให้ผู้เล่าเเล่าละครตัวอื่นได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ถึงการรู้ทุกอย่าง ขณะที่มุมมองพระเจ้า ผู้เล่าคือผู้รู้ในทุกเรื่องทุกสถานการณ์

Third-Person Point of view: Limited or Omniscient
Third-Person Point of view: Limited or Omniscient
ข้อดีข้อเสีย

ข้อดี: คุณสามารถใช้มุมมองนี้บรรยายตัวละครได้ทุกตัว ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปเล่าตัวเอก หรือตัวรอง นอกจากนั้นคุณยังทำให้เหมือนจริงได้ ด้วยการจำกัดมุมมองการเล่าในตัวละครรอง หรือต้องการจะใช้มุมมองพระเจ้าอย่างไร้ขีดจำกัด

ข้อเสีย: คุณต้องระวังในการจำกัดมุมมองของตัวละครไม่ให้อิสระในการบรรยายเกินกว่าเป็นจริง หากใช้มุมมองแบบจำกัด แต่ถ้าคุณใช้มุมมองพระเจ้า จะต้องหลีกเลี่ยงความใกล้ชิดของตัวละครไม่ให้เสียงเล่านั้นครอบงำมากเกินไป

ตอนนี้คุณคงพอรู้คำตอบแล้วว่าใครเป็นผู้เล่าเรื่อง “มหาภารตะ” ถ้าไม่ใช่ “ฤาษีวยาส” แล้วจะเป็นใคร 

ฤาษีวยาสเล่าเรื่องจากมุมมองพระเจ้า เขารู้เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น รู้ถึงจิตใจตัวละครทุกตัว มุมมองของพระเจ้าคือการเล่าด้วยบุคคลที่สามแบบไร้ขีดจำกัด 

ถ้าคุณยังมึนๆ เรื่อง มุมมองการเล่า ไม่ต้องห่วง ผมจะเขียนขยายความเรื่องนี้ในอนาคต เพียงแต่คุณสมัครจดหมายข่าว ก็จะสามารถรับข่าวสารในการอัปเดต บทความใหม่ๆ ได้ตลอด

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ มุมมองและการเลือกทุกมุมมอง

4.ฉาก และสถานที่

ทำไมฉากและสถานที่จึงสำคัญต่อนวนิยาย เป็นเพราะมันสร้างความสำคัญต่อการพัฒนาตัวละคร ถ้าต้องการให้ตัวละครผู้มีความโหดเหี้ยม ทารุณ และเต็มไปด้วยจิตใจร้ายๆ แต่กลับให้เขาอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยความสุข ครอบครัวแสนดี มันก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล แน่นอนว่าในชีวิตจริงคนร้ายอาจจะมาจากสถานที่ที่ดีๆ ก็ได้ ซึ่งสามารถพบเห็นได้มากมาย แต่ก็ต้องสร้างสถานการณ์หรือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้นได้อย่างไร เพิ่มแรงกดดันที่ทำให้เขากลายเป็นคนร้าย สิ่งที่นักเขียนต้องทำให้คนอ่านเชื่อว่าสถานทีดีๆ นั้นแอบแฝงด้วยความร้ายกาจอย่างไรบ้าง เพื่อพัฒนาการตัวละครให้กลายเป็นปีศาจ นี่จึงเป็นเหตุผลให้สถานที่ หรือฉากมีสำคัญ ไม่ต่างจากโครงเรื่อง

นอกจากนั้นอาจจะต้องทำแผนที่เมืองที่ตัวละครใช้ชีวิต หรือแปลนของห้อง จัดวางโต๊ะอยู่ตรงไหน โทรทัศน์ ตู้เย็น โซฟา เตียง รายละเอียดเหล่านี้จะทำให้ไม่ต้องหลงทางเสียเวลากับจินตนาการ

จงตระหนักว่าสภาพแวดล้อมนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

5.การพัฒนาตัวละคร

นวนิยายที่ดีหลีกไม่พ้นที่ตัวละครจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดทั้งชีวิตเขาอาจจะมีชีวิตประจำวันที่ซ้ำซาก น่าเบื่อ พวกเขาใช้เวลาสิบปีหรือยี่สิบปีแบบนั้น แต่เมื่อถึง “จุดเปลี่ยน” เขากำลังเปลี่ยนชีวิตธรรมดาสามัญให้กลายไปเป็นอื่น 

เรามาเรียนรู้ว่าพื้นฐานอะไรบ้างที่จะสามารถพัฒนาตัวละครเหล่านั้นได้

เป้าหมาย: ตัวละครต้องการอะไร เช่น สาย สีมา จากเรื่อง “ปีศาจ” ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เขาใช้ความรู้ความสามารถเพื่อช่วยชาวไร่ชาวนา คนยากจน ต้องการเอาชนะขนบธรรมเนียมเก่า เป้าหมายของสาย คือเอาชนะสังคมที่กดขี่

แรงจูงใจ: ทำไมตัวละครของคุณจึงมีเป้าหมาย ถ้าขาดแรงจูงใจเขาก็ไม่มีเป้าหมาย ดังนั้น สาย สีมา ได้แรงจูงใจจากอะไร? รัชนี–แฟนสาว? ครอบครัวของรัชนีที่พยายามกีดกันความสัมพันธ์? สังคมที่แบ่งแยกชนชั้น? การไม่เข้าถึงการศึกษาของผู้หญิง? การเมืองเอารัดเอาเปรียบ? นี่คือแรงจูงใจที่นำไปสู่เป้าหมาย

ขับเคลื่อน หรือ ไม่เปลี่ยนแปลง: โดยพื้นฐาน ตัวละครจะเปลี่ยนแปลงเสมอ นั่นทำให้เนื้อหาขับเคลื่อนไปข้างหน้า ตัวละครที่มีพลังในการขับเคลื่อน คือตัวละครที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในบุคลิกภาพ ทัศนคติ หรือโลกทัศน์ การเปลี่ยนแปลงนี้มักจะเกิดขึ้นทีละน้อย แม้ว่าบางครั้งตัวละครจะเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติ อย่างเช่นรัชนี ในเรื่อง “ปีศาจ” เธอเริ่มมองเห็นคุณค่าของตัวเอง และไม่เจริญรอยตามพี่สาว ที่แต่งงานกับคนที่ไม่รัก

นิยาย Pride and Prejudice
นิยาย Pride and Prejudice

ตัวละครที่ไม่เปลี่ยนแปลงคืออะไร?

อย่างที่คาดไว้ ในนิยายหลายเรื่องมีตัวละครที่หยุดนิ่งไม่พัฒนา หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยตลอดเรื่อง พวกเขาไม่มีวิวัฒนาการ บุคลิกของพวกเขายังคงเหมือนเดิมตั้งแต่ต้นจนจบ และโลกทัศน์ของพวกเขาไม่ขยายไปในทางใดๆ เลย

เหตุใดจึงเกิดตัวละครแบบนั้น? มีสองคำตอบ 

คำตอบแรก ผู้เขียนไม่รู้วิธีการเขียน

คำตอบที่สอง เจตนาให้ตัวละครไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างประเด็น หรือล้อเลียนบุคคลบางประเภท ตัวอย่างเช่น นายคอลิน ใน Pride and Prejudice เป็นตัวละครที่นิ่งเฉยไม่เปลี่ยน อย่างไรก็ตาม นายคอลินเป็นแบบอย่างของคนในสังคมที่โง่เขลา ธรรมชาติที่โง่เขลาและตื้นเขิน 

อย่างไรก็ตาม ตัวละครที่พัฒนามาอย่างดีส่วนใหญ่จะมีพลังตามธรรมชาติด้วยตัวมันเอง ท้ายที่สุดแล้ว ตัวละครที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยมักจะขาดสีสัน ทำให้หนังสือไม่สนุก และไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ผู้อ่านมักจะชอบตัวละครที่มีการขับเคลื่อนมากกว่า นั่นเป็นเหตุผลให้ต้องสร้างองค์ประกอบหลักเหล่านั้นได้อย่างอิสระ

วิธีตั้งค่าตัวละคร

  • สร้างประวัติตัวละครให้ครอบคลุมทุกอย่าง ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก สีผม ดวงตา ขนาดใบหน้า ฯลฯ ไปจนถึงครอบครัว
  • สร้างตัวตนภายใน อดีตของตัวละคร ภูมิหลัง ปมทางจิต ความปรารถนา ความทะเยอทะยาน ฯลฯ
  • ตั้งชื่อตัวละครให้เหมาะสมกับยุคสมัยของเรื่อง รวมถึงบุคลิก และนิสัยใจคอ ฯลฯ

6.วิธีสร้างปมขัดแย้งและความเสี่ยง ใน การเขียนนิยาย

ปมขัดแย้งของเรื่องทำให้ตัวละครเดินสู่เป้าหมาย หรือไม่บรรลุเป้าหมาย เราสามารถสร้างเส้นทางเหล่านี้ให้น่าสนใจ ความขัดแย้งเป็นอีกหนึ่งในอุปสรรคที่ตัวเอกจะต้องเผชิญระหว่างทาง ในนวนิยาย “ปมขัดแย้ง” มีสองประเภท

ปมขัดแย้งภายใน: ข้อบกพร่องของตัวละครเป็นตัวขัดขวางให้ความมุ่งมั่นของพวกเขาลดลง นั่นหมายถึงพวกเขาอาจพลาดเป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งใจ ตัวอย่างเช่น โฟรโด ใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงค์ เขาไม่ยอมทำลายแหวน เพราะลังเล ซึ่งนั่นเกิดจากปมภายใน พลังของแหวนส่งผลต่อจิตใจ ทำให้อยากครอบครองแหวนมเอาไว้เอง

ปมขัดแย้งภายนอก: สถานการณ์และอุปสรรคต่างๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของตัวเอก เมื่ออุปสรรคเกิดขึ้น ร้างปัญหาให้พวกเขา หรือขวากหนามที่ต้องฟันฝ่า อุปสรรคเหล่านั้นขัดขวางไม่ให้พวกเขาบรรลุเป้าหมาย เช่น โชรอนทำให้ถนนทุกสายที่มุ่งสู่มอนท์ดูม เป็นเส้นทางทุรกันดาร จนทำให้โฟรโดไม่สามารถเดินทางไปทำลายแหวนได้ง่ายๆ

เช่นเดียวกับการสร้าง “ความเสี่ยง” ให้กับตัวละคร เมื่อสามารถสร้างความขัดแย้งหลักได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือตอกย้ำถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น นั่นทำให้เดิมพันสูงขึ้น อุปสรรคเพิ่มพูน ทุกย่างก้าวของการตัดสินใจคือความเสี่ยง เพื่อให้พวกเขาบรรลุเป้าหมาย เช่น ทำไมโฟรโดต้องทำลายแหวน แล้วทำไมเราต้องเอาใจช่วย เพราะชะตากรรมขิตให้มิดเดิลเอิร์ธแขวนอยู่บนเส้นด้ายจากการถูกทำลาย ดังนั้นอุปสรรคทั้งหมดทำให้โฟรโดต้องประสบเคราะห์กรรมมากมายจนแทบเอาชีวิตไม่รอด เขาจะเดินทางไปสู่จุดหมายได้หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ทุกคนอยากรู้

7.สร้างองค์ประกอบ การเขียนนิยาย

ในโลกของ การเขียนนิยาย มีนักเขียนอยู่สองประเภทหลักๆ คือ “นักวางแผน” กับ “นักด้นสด” 

“นักวางแผน” อาจเดาได้ว่านักเขียนประเภทนี้จะเขียนถึงอะไร ดำเนินเรื่องแบบไหน พวกเขาจะวางแผนก่อนเริ่มเขียน

“นักด้นสด” มักจะเริ่มจากแนวคิดทั่วไปในหัว พวกเขาทำเพียงโน้ตสั้นๆ ว่าเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอจะเป็นอย่างไร พวกเขาจะค่อยๆ เผยรายละเอียดออกมาทีละตอน โดยไม่มีแผนการเขียนที่ชัดเจน

หากเป้าหมายสุดท้ายของนักเขียนทุกคนคือการเขียนหนังสือหนึ่งเล่มในทุกๆ สองปี ทำอย่างไรเพื่อให้นวนิยายได้จัดพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ผมขอแนะนำให้ปฏิบัติตามแนวทางของ “นักวางแผน” และสร้างองค์ประกอบของเรื่องอย่างเป็นระดับขั้นตอน

เมื่อเขียนถึงจุดหนึ่ง นักเขียนทุกคนต้องเผชิญกับทางตันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกำลังเข้าตาจน องค์ประกอบของเรื่อง หรือโครงร่างของเรื่อง จะช่วยเหมือนการเปิดการ์ดพลังจัดเต็ม โครงร่างขององค์ประกอบ จะทำให้จดจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าในกรณีใด มันจะช่วยให้ประหยัดเวลา และทำให้เขียนจนสำเร็จตามเส้นตายที่วางเอาไว้

8.เลือกใช้โครงสร้าง และองค์ประกอบเรื่อง ใน การเขียนนิยาย

ในชีวิตจริงการเรียงลำดับเหตุการณ์ไม่สามารถสลับ หรือย้อนเวลากลับไปกลับมาได้ จากวันที่เกิดไปสู่วันที่ตาย แต่ในนวนิยายสามารถเปลี่ยนแปลงลำดับเหตุการณ์ และเวลาที่เกิดขึ้นให้สลับไปมาได้อย่างไร้ขีดจำกัด

การสร้างพล็อตแบบ Fichtean Curve:

Fichtean Curve คล้ายกับกราฟรูปพีระมิด แต่มันถูกสร้างให้มีความลาดเอียง 45 องศา Fichtean Curve ช่วยกำหนดชีวิตตัวละครให้มีความปกติมากกว่า ขณะเดียวกันเส้นคลื่นของโครงเรื่องยังสามารถโยงเข้าไปหาจุดวิกฤติ การผูกปมเกิดขึ้นในหลายๆ เหตุการณ์ ก่อนจะไต่ลำดับสู่ “จุดเดือด” ไปบรรจบกับจุดไคลแมกซ์ และหล่นลงในตอนจบ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ (ดูภาพประกอบ Fichtean Curve)

Fichtean Curve
fichtean curve

การสร้างพล็อต ใน การเขียนนิยาย แบบ In medias res:

In medias res เป็นวิธีเริ่มต้นนวนิยายด้วยเหตุการณ์กลางเรื่อง จากนั้นค่อยๆ อธิบายเหตุการณ์ที่หายไป หรือค่อยๆ เสริมเนื้อเรื่องด้วยบทสนทนา ใช้การเล่าย้อนหลัง หรือบรรยายเหตุการณ์ในอดีต ตัวอย่างเช่น แฮมเล็ตHamlet เริ่มต้นเรืื่องหลังการตายของพ่อ จากนั้นเชคสเปียร์จึงค่อยๆ สร้างแรงจูงใจให้แฮมเล็ตค้นหาข้อเท็จจริง ว่าใครสังหารพ่อของเขา ก่อนนำไปสู่การแก้แค้น ซึ่งนำไปสู่ฉากจบที่นองไปด้วยเลือด และความตาย

In medias res
In medias res

The Seven-Point Story Structure:

เป็นรูปแบบการเล่าเรื่องในแบบตำนาน คล้ายกับการผจญภัยของวีรบุรุษ (Hero’s Journey) การผจญภัยแบบวีรบุรุษจะเริ่มต้นด้วย การออกเดินทาง พบจุดวิกฤติ แก้ปัญหา ได้รับชัยชนะ และเดินทางกลับบ้าน ส่วน โครงสร้างแบบ 7 จุด จะแบ่งเหตุการณ์สำคัญออกเป็นเจ็ดเหตุการณ์ โดยเปิดเรื่องด้วย Hook ดึงความสนใจ จากบุคลิกตัวละคร เหตุการณ์ สถานการณ์ เรื่อยมาถึงจุดเปลี่ยนจุดต่างๆ และ มาจบที่ Resolution บทสรุปของสถานการณ์ทั้งหมดของเรื่อง (ดูภาพประกอบ)

Seven-Point Story Structure
The seven-point story structure

II. การเขียนนวนิยาย : ช่วงการเขียน

ถ้าคุณสามารถบรรลุแปดขั้นตอนข้างต้นมาได้ แสดงว่าคุณอยู่ในเส้นทางสู่การเขียนนิยายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าคุณได้วางรากฐานทั้งหมดสำหรับเรื่องราวที่ต้องเขียน เหลือเพียงสิ่งเดียวคือเริ่มเขียนจริงๆ และเคล็ดลับสี่ขั้นตอนต่อไปนี้อาจจะช่วยได้ (แม้ว่าคุณจะต้องการมากกว่านี้ แต่ไม่ต้องกังวล เราจะช่วยคุณอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนกว่าคุณจะเริ่มเขียนจนจบ จากบทความชิ้นต่อไปของผม)

9. ใช้เครื่องมืออะไร ใน การเขียนนิยาย

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเขียนแบบไหน “นักวางแผน” หรือ “นักด้นสด” คุณจะสร้างแรงจูงใจให้เขียนนิยายจนจบเรื่องได้อย่างไร จะเลือกใช้เครื่องมืออะไรมาช่วยเขียน ปากกากับกระดาษ? เขียนบนคอมพิวเตอร์? โปรแกรมเวิร์ด หรือซอฟต์แวร์สำหรับเขียนนิยาย เครื่องมือที่สามารถจัดรูปแบบ? หรือถ้ามีทางเลือกเดียว เขียนด้วยหมึกลงในกระดาษ อย่างไรก็ตาม นี่คือการเริ่มต้น:

ผมจะไม่แนะนำโปรแกรม MS Words, Google Doc หรือ Pages บน Mac เพราะถือเป็นเครื่องมือปกติที่ทุกคนมีอยู่แล้วเป็นมาตรฐาน หลายคนอาจจะใช้โปรแกรมเหล่านี้มาทั้งชีวิต ถึงเวลาที่จะเป็นนักเขียนแบบจริงจัง จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเครื่องมือในการสร้างงาน เพื่อการทำงานที่ดีขึ้นหรือไม่ ต้องลองพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะช่วยให้งานออกมาดีขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น

โปรแกรมเหล่านี้มีมากมาย แต่ที่ผมทดลองใช้แล้วมีสามตัวด้วยกัน

Scriveneer: เป็นโปรแกรมที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบันและผมก็ชอบมากที่สุด คุณสามารถสร้างโปรเจ็คได้อย่างอิสระ การปรับแต่งหน้าอินเทอร์เฟซได้ง่าย มันสามารถแบ็คอัพงานเขียนของคุณในทุกวัน เมื่อคุณทำมันหาย คุณสามารถค้นหาได้ง่ายๆ และเรียกมันกลับมาได้ Scriveneer สามารถใช้ได้ทุกระบบตั้ง แมค หรือ พีซี สามารถทดลองใช้ได้ 1 เดือน และที่ดีมากคือจ่ายเงินแค่ครั้งเดียว

Ulysses App: เป็นโปรแกรมเขียนที่ครบเครื่องที่สุดตัวนึง ทำให้คุณสามารถแยกโฟลเดอร์ต่างๆ ได้ง่าย มีเครื่องมือจับเวลา ข้อเสียคือสามารถใช้บน MacOs กับ IOS เท่านั้น และจ่ายเงินเป็น Subscribe รายปี แต่คุ้มค่าที่คุณจะลอง การจ่ายเงินแบบรายปีข้อดีคือมีอัปเดตโปรแกรมตลอดเวลาเมื่อมีการเปลี่ยนเวอร์ชัน ยูเลซิสมีให้ทดลองใช้หนึ่งเดือนก่อนจ่ายเงินเป็นสมาชิก

Highland2 App: ถ้าใครชอบความเรียบง่าย โปรแกรมนี้เหมาะกับคุณ ใช้งานง่าย เครื่องมือที่ช่วยให้โฟกัสการเขียนงาน เช่นจับเวลาการเขียน การแสดงจำนวนคำ การใส่หัวข้อ หรือการเก็บข้อมูลแม้จะไม่เยอะ ที่สำคัญคือใช้งานโดยไม่เสียเงิน ยกเว้นว่าคุณจะจ่ายเพิ่มบางฟีเจอร์

10.คิดถึงคนอ่าน

คนอ่านหนังสือของคุณคือใคร? ไม่ใช่ทุกคนใช่ไหม? ถ้าเราสำรวจชั้นหนังสือของตัวเอง เราอ่านวรรณกรรมแบบไหนบ้าง ในจำนวนหนังสือที่ซื้อ จะมีหนังสือประเภทหนึ่งที่มีมากกว่าเล่มอื่น นั่นแสดงว่าน่าจะเจอคนอ่านแล้ว 

หรือถ้ากำลังมองหากลุ่มเป้าหมาย หรือนักอ่านของตัวเอง นักอ่านในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไรบ้าง?

คำแนะนำคือ ทำงานเขียนของคุณแบบนี้ซ้ำๆ แบบที่นักอ่านของคุณจะชอบ เมื่อทำงานต่อเนื่องไปสักระยะจะค้นพบ “ต้นแบบ” งานเขียน นักอ่านจะเกิดขึ้นตามมา ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น และต้องการเวลาเพื่อสร้างฐานคนอ่าน ไม่มีทางลัด ทำต่อไปอย่างเชื่อมั่น

11.สร้างวินัยใน การเขียนนิยาย

วินัยในการเขียนเป็นหัวใจสำคัญ เป็นหัวใจหลัก ขาดไม่ได้ เพื่อปูทางให้ก้าวสู่เป้าหมายในการทำงาน งานเขียนจะกลายเป็นงานประจำ แต่การเป็นนักเขียนไม่มีใครคอยตรวจดูว่า คุณมาสแกนลายนิ้วมือเข้าทำงานหรือไม่ เริ่มงานกี่โมง เลิกงานเวลาไหน ทำงานจริงๆ กี่ชั่วโมง เขียนได้กี่คำต่อวัน รวมแล้วทำงานได้ตามเป้าหมายไหม วัด KPI จากอะไร การเขียนเป็นงานอิสระ ที่งานประจำอื่นๆให้ไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะเขียนตอนไหนก็ได้ เพราะถ้าคิดแบบนั้นจะไม่สามารถจัดการกับงานเขียนขนาดยาวแบบนิยายได้สำเร็จ ลองมาดูว่าจะสร้างวินัยในการเขียนได้อย่างไร

การสร้างวินัยสำหรับนักเขียน เราจะไม่ยึดติดกับกฎเหล็ก ว่าต้องทำแบบนี้ ต้องสร้างแบบนั้น แต่ต้องยึดหลักยืดหยุ่น วินัยในการเขียนแต่ละคนเกิดขึ้นเฉพาะตัว มันเป็นวิธีการของแต่ละคนที่จะผลักดันให้ทำงานได้ บางคนมีข้อจำกัดเช่น เขียนได้เฉพาะตอนกลางคืน บางคนเขียนตอนเช้ามืด บางคนอาจจะใช้เวลาสองสามชั่วโมง บางคนกำหนดตามจำนวนอักษร หรือจำนวนหน้าในแต่ละวัน  แต่นั่นคือต้องทำอย่างสม่ำเสมอ คุณอาจจะกำหนดวันทำงานให้ตัวเองห้าวันต่อสัปดาห์ หรือใช้จำนวนหน้าในการตั้งเส้นตาย

ผมไม่รู้ว่าคุณต้องการแบบไหน แต่คุณรู้ว่าควรทำแบบไหนได้ อะไรก็ตามที่บังคับให้คุณเขียน อะไรเป็นอุปสรรค การผลัดวันประกันพรุ่ง หรือการไม่ยอมเริ่มต้นอะไรเลยจะกลายเป็นตัวฉุดให้งานไม่เกิดขึ้น ฆ่าพฤติกรรมแบบนั้นให้ออกไปจากชีวิต เพราะไม่งั้นคุณก็เป็นเพียงนักฝันธรรมดาคนหนึ่ง

เมื่อคุณเขียนไปได้สักสิบหรือยี่สิบเปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องประเมินความก้าวหน้า เขียนได้กี่หน้า กี่ตัวอักษร เรื่องเดินไปหรือวนในอ่าง เหลือเป้าหมายอีกกี่มากน้อย คุณสามารถแบ่งนิยายออกเป็นขั้นๆ ว่าจะเดินไปถึงตรงไหน ต้องทำให้วิธีการเหล่านี้ง่าย ต้องทำให้งานเขียนเป็นเรื่องสนุก หรือท้าทายตลอดเวลา แต่ถ้าคุณโดนสำนักพิมพ์เร่งรัดในเรื่องกรอบเวลาสำหรับการส่งต้นฉบับ คุณอาจจะต้องกระชับวิธีการทำงานให้มากขึ้น และเร็วขึ้น คุณอาจจะส่งเรื่องย่อ หรือตอนต้นที่แก้ไขพอสมควรให้บรรณาธิการไปอ่านก่อน เพื่อช่วยลดแรงกดดันทั้งตัวคุณและสำนักพิมพ์

แต่จะทำอย่างไร ถ้าวันไหนคุณพลาดในการเขียน หรือวันไหนคุณคิดงานไม่ออก ประเด็นแรกถ้ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ งานไม่เดิน นั่นแสดงว่าคุณยังไม่สามารถจัดการกับวินัยภายในตัวเอง แต่ถ้าเป็นประเด็นหลัง คุณคิดงานไม่ออก หน้ากระดาษว่างเปล่า นั่งเขียนทุกวันแต่เป้าหมายยังไม่ไปถึงไหน นั่นแสดงว่าคุณยังทำ 10 ข้อแรก ไม่มากพอ คุณอาจจะกลับไปอีดิตงานที่เขียนมาตั้งแต่ต้นอีกครั้ง ดูว่ามีอะไรพลาด จะเล่าตรงไหนเพิ่มเติม หรือตัดออก กลับไปพิจารณาพล็อตที่วางเอาไว้ การพัฒนาตัวละคร จัดการวิธีการดำเนินเรื่องอีกครั้ง 

หลังจากที่ทำตามเป้าหมายได้แล้ว ควรมอบรางวัลให้กับตัวเองบ้าง เช่นอาจจะซื้อของที่เล็งเอาไว้ อาหารดีๆ สักมื้อ ดื่มฉลองเล็กน้อย เพื่อลดความตรึงเครียด เพื่อจะได้กลับมาทำงานต่อให้สำเร็จ

Manuscript Template

ฟรีดาวน์โหลด

อย่าปล่อยให้ต้นฉบับที่ยุ่งเหยิงทำลายเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นส่งต้นฉบับที่มีรูปแบบถูกต้อง คุณสามารถดาวน์โหลดเทมเพลตสำหรับสร้างต้นฉบับทั้งนวนิยาย และเรื่องสั้น เพื่อนำไปใช้กับต้นฉบับของคุณ เทมเพลตนี้จะช่วยให้ต้นฉบับของคุณดูเป็นมืออาชีพมากขึ้นเมื่อส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา อย่ามองข้ามเรื่องเล็กน้อยนี้ และทำให้ต้นฉบับของคุณอยู่ในสายตาของบรรณาธิการอย่างถูกต้อง

ขั้นตอนง่ายๆ เพียงลงทะเบียนเพื่อที่เราจะส่งเทมเพลตให้คุณทางอีเมล์ เมื่อคลิก Download Now แล้ว ขอให้เช็คที่อีเมล์ที่คุณลงทะเบียน หากไม่พบใน Inbox คุณอาจจะลิงค้นหาใน Spam Box จากนั้นดาวน์โหลดจากลิงค์ หรือคลิกที่ PDF ที่แนบมา

III. การเขียนนิยาย : หลังจากเขียนร่างแรกเสร็จ…

เมื่อเขียนนิยายร่างแรกเสร็จ จำเป็นที่จะต้องฉลองให้กับตัวเอง เพราะนี่คือความสำเร็จขั้นแรก แต่แน่นอน งานยังไม่เสร็จแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ 

การเขียนร่างแรกจบเป็นเพียงแค่หน้ากระดาษที่มีถ้อยคำ แต่หลังจากนั้นคุณจะเปลี่ยนให้กระดาษทั้งหมดกลายเป็นนิยายชั้นดีเรื่องหนึ่งด้วยขั้นตอนที่เหลือ

เทคนิคการเขียน

12.ตรวจสอบกลไกทางวรรณกรรม และเทคนิค การเขียนนิยาย

กลไกวรรณกรรมในงานสร้างสรรค์เป็นเรื่องปกติ นวนิยายทุกเรื่องคือวรรณกรรม และมีเทคนิคต่างๆ ในการนำเสนอผสมผสานกันอยู่ในเรื่อง นิยายทุกเรื่องมีกลไกเหล่านั้นดำเนินอยู่อย่างเป็นขั้นเป็นตอน นิยายถูกสร้างขึ้นได้เพราะกลไกนั้นทำงานเช่นเดียวกับกลไกของนาฬิกา นาฬิกาบางเรือนสามารถเดินได้ก็จริง แต่เดินไม่ตรง วิธีแก้ไขคือต้องตั้งเวลาให้ถูกต้อง แก้กลไกของเครื่อง บางเรือนเป็นนาฬิกาก็จริง แต่เข็มไม่เดิน นาฬิกาตาย แม้เราจะเรียกสิ่งนั้นว่านาฬิกา แต่การที่มันไม่ทำงานก็ไร้ค่า บางครั้งกลไกทางวรรณกรรมก็ยากสรุปได้ว่าเป็นแบบใดแบบหนึ่ง แต่ผสมผสานอยู่ในเรื่องเดียวกัน คุณต้องทำให้แน่ใจว่าตรวจงานได้ถูกต้อง มีอะไรตกหล่นไปบ้าง นิยายของคุณยังเดินเรื่องดีอยู่ใช่ไหม ฉาก ตัวละคร จุดเดือด และจุดไคลแมกซ์ รวมถึงจังหวะของเรื่อง ยังทำงานอย่างกลมกลืน ตัวอย่างบางส่วน:

ปืนของเชคอฟ: ปืนของเชคอฟคืออะไร อันตัน เชคอฟเป็นนักเขียนชาวรัสเซีย เขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ถ้าในฉากแรกมีปืนพกแขวนอยู่บนผนัง ในฉากสุดท้ายคุณต้องใช้มันเพื่อเอาไปยิง” นั่นหมายความว่า เมื่อคุณบรรยายถึงสิ่งต่างๆ เพื่อทิ้งเป็นปริศนา คุณได้นำมันกลับมาใช้ในตอนขมวดปมหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องตรวจสอบ เมื่อถึงขั้นตอนแก้ไข ถ้าปริศนาที่ทิ้งไว้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณตัดมันได้เลย หรือนำมันมาใช้ให้เป็นประโยชน์

เทคนิคการเขียน Chekhov's gun
Chekhov’s gun

ผู้เล่าเรื่อง: ตรวจสอบผู้เล่าเรื่อง ตรวจสอบการเลือกใช้มุมมอง มีส่วนใดที่หลงลืม หรือใช้ผิด เช่นย่อหน้าแรกบรรยายด้วย “ผม” ย่อหน้าถัดไปบรรยายด้วย “เขา” หรือ “คุณ” อย่าให้เสียงบรรยายผิดจากบริบท ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และควรระมัดระวัง

ใส่ชื่อที่โยนลงมา: บางครั้งคุณอาจจะลืมบรรยายชื่อที่เอ่ยขึ้นว่ามันคืออะไร ตัวอย่างเช่น ตัวละครพูดว่า “วันนี้ฉันจะไปบ้านเพื่อน” นั่นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีข้อสงสัย แต่เมื่อตัวละครพูดว่า “วันนี้ฉันจะไปที่บ้านของมานะ” มานะคือใคร ตรวจสอบว่าคุณได้ลืมพูดถึงรายละเอียดชื่อของ “มานะ” หรือไม่ รวมถึงในฉากอื่นๆ ที่คุณใส่ชื่อเฉพาะเอาไว้ เพราะมันอาจทำให้คนอ่านงง และตามไม่ทัน

13.แก้ไขนิยาย

การแก้นิยายอาจจะไม่ใช่การแก้ไขเพียงครั้งเดียว ทุกครั้งที่อ่านทวน มักจะเจออะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ นั่นคือเหตุผลที่ต้องกลับไปอ่านอีกรอบ เพราะยิ่งตรวจต้นฉบับมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นจุดอ่อน หรือจุดแข็ง มากขึ้นเท่านั้น สิ่งสำคัญต้องรู้ว่าจะแก้ไขอะไรบ้าง ส่วนไหนที่ควรแก้ ค่อยๆ ทำไปทีละน้อย อย่าทำทุกอย่างพร้อมกัน ต้องค้นหาปัญหาของเรื่อง เมื่ออ่านแล้วรู้สึกว่าบางฉากยังไม่น่าเชื่อถือพอ สิ่งที่ต้องทำคือค้นหาข้อมูล แล้วเขียนบางอย่างเพิ่มเติมลงไป

เมื่อตรวจต้นฉบับ บางฉากอาจจะดูว่าได้เขียนไปตามข้อเท็จจริงหรือเปล่า พยายามอธิบายจุดสำคัญให้ได้รายละเอียดมากที่สุด อาจจะเพิ่มเติมเทคนิคการบรรยายแบบ “ไม่แสดงออก แต่บอกให้รู้” ตัวอย่างเช่น “วันนี้อากาศร้อนอบอ้าวสมกับเป็นฤดูร้อนมหาโหด เขากำลังเดินไปที่ป้ายรถเมล์” ถ้าบรรยายเท่านี้มันเป็นเพียงการบอกเล่าอย่างธรรมดา แต่ถ้าแสดงภาพลักษณ์เพิ่มขึ้น “ขณะก้าวเท้าอย่างรวดเร็ว เหงื่อไหลอาบเสื้อ ก่อนไปถึงป้ายรถเมล์ เขาดึงปกเสื้อเพื่อระบายความร้อน” 

เมื่อเขียนบทสนทนา จะพบปัญหาว่าทำไมบทพูดถึงดูแข็งทื่อ ทำไมมันไม่ลื่นไหล การสนทนาที่ไหลลื่นมีชัยไปกว่าครึ่ง ปัญหานี้ครึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำเสียง ระดับเสียง และบริบทของคำพูดของผู้สนทนา ส่วนใหญ่สามารถใช้คำว่า “เขาพูด” และ “เธอพูด” เพื่อระบุบทสนทนานั้นเป็นคำพูดของใคร แต่บางครั้งต้องการคำอื่นๆ เพื่อช่วยให้ตัวละครพูดได้ชัดเจนขึ้น นี่คือสิ่งที่จะต้องค้นคว้า ดูว่ามีคำอะไรที่หลากหลายมากกว่านี้ คำไม่กี่คำในคลังแสงของเราอาจจะน้อยเกินไป พจนานุกรม “คลังคำ” ช่วยได้

แก้ไขการบรรยายที่รกรุงรัง ภาษาที่หรูหรา ประดับประดามากเกินไป แต่นำไปสู่จุดหมายเพียงเล็กน้อย เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่นการใช้คำหลายพยางค์ ประโยคที่ทับซ้อน และภาษาที่ไม่ยืดหยุ่น องค์ประกอบเหล่านั้นทำให้การอ่านช้าลง ทำให้เนื้อหายุ่งเหยิง และอาจสูญเสียผู้อ่านไปโดยสิ้นเชิง 

หากคุณไม่เคยอ่านการบรรยายที่หรูหรา ดูตัวอย่างประมาณนี้

“เด็กสาวผมสีมะฮอกกานี ดวงตาของเธอเปล่งประกายระยิบระยับราวดวงดาวในทางช้างเผือก ขณะที่เธอจ้องมองใบหน้าของเขาอย่างมีความสุข เธอรู้สึกถึงความรักอันเปี่ยมล้น แม้ความรักระหว่างเธอกับเขาเต็มไปด้วยการแสดงออกที่ลึกลับราวกับเงาในยามค่ำคืนก็จริง แต่เธอมั่นใจในตัวเขา เธอตัดสินใจอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว เป็นการดีที่เธอจะขอติดตามเขาไปทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ตลอดไป…”

ยากมากที่จะให้ผ่านใช่ไหม?

ในเมื่อการเขียนแบบนี้มีข้อเสียมากมาย แล้วเหตุใดยังมีนักเขียนบางคนใช้ภาษาที่หรูหรา–ฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น ตอบแบบประชดนิดๆ : เป็นความพยายาม และทำให้ดูเหมือน “วรรณกรรม” มากขึ้น

ภาษาหรูหราฟุ่มเฟือยของนักเขียนดัง อาจจะทำให้ประทับใจในคราวแรกที่ได้อ่าน แต่เมื่ออ่านมันจริงๆ จะพบว่าไม่มีอะไรในเรื่องที่เล่า ความรุ่มมรวยแพรวพราวแบบนั้นมันไร้ค่า และไม่มีประโยชน์อันใด ดังนั้นแก้ไขตั้งแต่ร่างแรก เพื่อที่ผู้อ่านจะไม่ต้องทนอ่านประโยคแบบนั้น

14.ส่งต้นฉบับให้เพื่อนอ่าน

ก่อนตีพิมพ์ต้นฉบับ ผู้ที่อ่านต้นฉบับแรก ผมมักเรียกพวกเขาว่า “เบต้า” 

การส่งต้นฉบับที่สมบูรณ์เวอร์ชันแรกไปให้ผู้อ่านเบต้ามีข้อดีคือ ทำให้สามารถตรวจสอบนิยายจากมุมมองของคนอื่น 

ใครคือคนอ่านรุ่นเบต้า: คนในครอบครัว เพื่อนผู้ใกล้ชิด บางทีอาจจะเป็นคนที่คุณไว้วางใจ

การอ่านของผู้อ่านรุ่นแรกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะระหว่างที่เขียน เราอยู่กับนิยายนานเกินไป จนอาจจะมองไม่เห็นจุดบกพร่องใหญ่น้อยที่เกิดขึ้น เช่นช่องโหว่ของโครงสร้าง ความไม่ต่อเนื่อง การอธิบายมากเกินไป ผู้อ่านเบต้าจะทำให้มองเห็นความผิดพลาด รูปแบบการวิจารณ์ที่จะได้รับ คล้ายๆ กับที่เราได้จากคอมเม้นต์ใน Goodread หรือ การแสดงความคิดเห็น ช่อง comment ของร้านหนังสือออนไลน์ ซึ่งมันอาจจะไม่ละเอียด แต่พอที่จะเช็คงานที่เขียนได้ว่าเป็นอย่างไร

บางครั้งอาจจะหยิบบางประเด็นที่เห็นด้วยมาแก้ไข หรือปรับปรุงจุดที่มีคอมเม้นต์เข้ามา แม้ผู้อ่านรุ่นเบต้าจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม แต่ให้นึกเสมอว่าเขาคือคนอ่านของคุณ คนธรรมดาที่มีขีดจำกัดในการเข้าใจเนื้อหา ถ้าต้องการให้ผู้อ่านเข้าถึงนิยายมากขึ้น บางครั้งอาจจะต้องลดความยากบางประการลงมา แต่ถ้ามั่นใจว่าจะทำแบบนั้น ก็ก้าวไปข้างหน้า  

บรรณาธิการ

15.จ้างบรรณาธิการมืออาชีพ

เรามาถึงส่วนสำคัญขั้นสุดท้าย การเตรียมนวนิยายให้พร้อมสำหรับการตีพิมพ์ การจ้างบรรณาธิการมาทำหน้าที่ดูแลต้นฉบับ เป็นหนทางที่ดีที่สุด กรณีที่คุณตีพิมพ์ผลงานของตัวเอง หรือเพื่อให้มั่นใจว่าต้นฉบับที่ส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา จะได้รับการคัดเลือก แม้ว่าบรรณาธิการจะไม่การันตีว่าผลงานนี้จะได้ตีพิมพ์ 99.99% แต่มั่นใจได้ว่า ส่งต้นฉบับที่ดีที่สุดไปให้สำนักพิมพ์แล้ว 

ถ้าคำนวณเวลาที่ใช้ไปอย่างมากมายในการเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง บรรณาธิการมืออาชีพคือคำตอบ ค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับปรุง และขัดเกลาต้นฉบับคุ้มค่าเกินบรรยาย

บรรณาธิการมืออาชีพทำอะไรบ้าง

บรรณาธิการเพื่อพัฒนาต้นฉบับ: เมื่อเขียนต้นฉบับเสร็จแล้ว หากตั้งใจที่จะจ้างบรรณาธิการมาดูแลต้นฉบับ วิธีที่ดีที่สุดคือเริ่มด้วยการให้บรรณาธิการมาพัฒนาต้นฉบับ วิเคราะห์–ค้นหา องค์รวมแบบเชิงลึก โดยแนะนำในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในนวนิยาย ตั้งแต่รูปแบบ ตัวละคร ฉาก จังหวะ เวลา โครงเรื่อง ไปจนถึงโครงสร้างประโยคที่มีปัญหา เพื่อที่จะนำบทวิเคราะห์นี้กลับไปปรับปรุงนิยายของตัวเอง 

บรรณาธิการต้นฉบับ: แนวทางในการแก้ไขของ บรรณาธิการต้นฉบับคือ ตรวจสอบ “ต้นฉบับ” ในส่วนของภาษาที่ใช้ในนวนิยายนั้นว่าสมบูรณ์แล้วหรือยัง เช่น ความไม่สอดคล้องกันของเรื่อง จากนั้นยังมองหาส่วนต่างๆ ที่ผิดไปจากปกติไปทีละบรรทัด มุ่งเน้นแก้ไขสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกมองข้าม บรรณาธิการต้นฉบับจะจับผิด เช่น ตัวละครสวมแว่นสายตาพร้อมกับแว่นกันแดดในเวลาเดียวกันหรือไม่ จัดการไวยากรณ์ ตัดประโยค คำซ้ำ หรือการสะกดผิด บรรณาธิการต้นฉบับจะไม่แตะต้องโครงสร้างนิยายของคุณ หรือลักษณะตัวละคร

พิสูจน์อักษร: นี่คือขั้นตอนสุดท้ายของการแก้ไข การพิสูจน์อักษรจะทำให้ต้นฉบับของคุณได้รับการขัดเกลา ตรวจสอบคำสะกด คำศัพท์ ความหมาย ผู้ตรวจทานจะตรวจสอบให้แน่ใจว่า ทุกคำในนวนิยายสะกดถูกต้อง และทุกประโยคถูกต้องตามหลักไวยากรณ์

ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการจ้างบรรณาธิการ ค่าใช้จ่ายในการตรวจแก้แบบมืออาชีพขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่าง: ประเภทของงาน ความยาวของหนังสือ หรือรูปแบบการแก้ไขที่คุณต้องการ สามารถปรึกษาเราได้ทางอีเมล์ ส่งเมล์สอบถามได้ที่อีเมล์สอบถามรายละเอียด

สรุป : 15 วิธี การเขียนนิยาย

หากต้องการเปลี่ยนความว่างเปล่าให้กลายมาเป็นความจริง ความฝันที่จะเป็นนักประพันธ์อาชีพ อยู่ไม่ไกลจากสิ่งที่ยังว่างเปล่า แม้เส้นทางนี้ยังต้องเดินทางอีกยาวไกล แต่จุดแรกที่สามารถสานฝันได้ก็คือ “ลงมือเขียน” วิธีเดียวที่ง่ายที่สุด เป็นวิถีที่จะเอาชนะอุปสรรคมากมาย และเมื่อเขียนเรื่องราวในนวนิยายจบแล้ว แก้ไขร่างที่หนึ่ง ร่างที่สอง และที่สาม เพื่อนำไปสู่ความสมบูรณ์ที่สุดในช่วงเวลานั้น

ความฝันขึ้นอยู่กับทางเลือกว่าจะไปที่ไหน เส้นทางนั้นคุณเป็นคนเลือก 

Manuscript Template

ฟรีดาวน์โหลด

อย่าปล่อยให้ต้นฉบับที่ยุ่งเหยิงทำลายเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นส่งต้นฉบับที่มีรูปแบบถูกต้อง คุณสามารถดาวน์โหลดเทมเพลตสำหรับสร้างต้นฉบับทั้งนวนิยาย และเรื่องสั้น เพื่อนำไปใช้กับต้นฉบับของคุณ เทมเพลตนี้จะช่วยให้ต้นฉบับของคุณดูเป็นมืออาชีพมากขึ้นเมื่อส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา อย่ามองข้ามเรื่องเล็กน้อยนี้ และทำให้ต้นฉบับของคุณอยู่ในสายตาของบรรณาธิการอย่างถูกต้อง

ขั้นตอนง่ายๆ เพียงลงทะเบียนเพื่อที่เราจะส่งเทมเพลตให้คุณทางอีเมล์ เมื่อคลิก Download Now แล้ว ขอให้เช็คที่อีเมล์ที่คุณลงทะเบียน หากไม่พบใน Inbox คุณอาจจะลิงค้นหาใน Spam Box จากนั้นดาวน์โหลดจากลิงค์ หรือคลิกที่ PDF ที่แนบมา

[block_content id=”23797″]
Comments 2
    1. ขอบคุณมากครับคุณสิรินดา ไม่ได้พบกันนานเลย สบายดีนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *