ประวัติชีวิต และแรงบันดาลใจ ‘สิเหร่’

‘สิเหร่’ เป็นนามปากกา ของ จิรภัทร อังศุมาลี เป็นคนภูเก็ต เกิดที่ภูเก็ตเริ่มทำงานหนังสือพิมพ์ที่ ‘ประชาธิปไตย’ อยู่ฝ่ายศิลป์
สิเหร่

ปฐมวัย

ประวัติชีวิต และแรงบันดาลใจ ‘สิเหร่’ นักเขียน สารคดีดนตรี เป็นนามปากกา ของ จิรภัทร อังศุมาลี เป็นคนภูเก็ต เกิดที่ภูเก็ต ตอนนี้อายุ 65 แล้ว เรียนประถม มัธยม ที่โรงเรียนประจำจังหวัด ภูเก็ตวิทยาลัย พอจบ มส 3. ก็เข้ากรุงเทพมาเรียนศิลปะ แต่เป็นคนที่ไม่ชอบสอบเข้า พี่สาวพาไปสมัครเพาะช่าง แต่พอถึงวันสอบก็ไม่ได้ไปสอบ  เพราะงั้นก็จบแค่ ปวช แล้วก็ไม่เรียนอีกเลย จากนั้นเริ่มทำงานหนังสือพิมพ์ที่ ‘ประชาธิปไตย’ ตอนนั้นก็ทำอยู่ฝ่ายศิลป์นี่แหละ แต่ข้ามไปเขียนคอลัมน์เรื่องดนตรี กับพี่สเถียร จันทิมาทร  แกต้องเขียน 4 หน้าแล้วทำคนเดียว ก็นั่งคุยกับแก แล้วแกบอกว่า “โอ๋ก็เขียนให้พี่สักครึ่งหน้าสิทุกวันศุกร์” ก็เริ่มจากตรงนี้ แล้วก็กลายเป็นเขียนเรื่องดนตรีมาตลอด  หลังจากนั้นก็ออกจากประชาธิปไตย มาทำนิตยสารกับพี่สุชาติ 5-6 ปี อยู่สำนักพิมพ์ดวงกมล คุมฝ่ายผลิต แล้วก็เขียนคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับดนตรี อย่าง “ผีเพลง” มันอยู่ในสยามรัฐรายวัน ฉบับวันจันทร์ อัศศิริ ธรรมโชติ เป็นบรรณาธิการ เขาชวนเขียนก็เขียนมาเรื่อยๆ แต่ชอบเดินทาง สุดท้ายจึงมาเป็นบรรณาธิการนิตยสารเพื่อนเดินทางร่วมกับพี่ประพันธ์ ผลเสวก แต่ตอนนี้เขาเสียชีวิตแล้ว ชีวิตเดินทางเยอะทั้งต่างประเทศและเมืองไทย ไม่ชอบอยู่ กทม. การเดินทางได้เห็นอะไรเยอะ อย่างที่จีนเขาบอกว่าอ่านหนังสือ หมื่นเล่มสู้กับการเดินทางหมื่นลี้ ไม่ได้ มันก็จริง ได้เห็นของจริง อย่างเราจะเขียนนวนิยายเราก็ต้องเดินทางไปที่ ที่สนับสนุนเรื่องที่เราจะเขียน อย่างตอนที่เดินทางทำนิตยสารเพื่อนเดินทาง ไอ้ฉากต่างๆ ที่เราผ่านมันก็จะมีผลในฉากต่างๆ ของนิยายที่เราจะเขียน  แต่ถ้าเราไม่เคยออกเดินทางเราก็ไม่รู้ว่าข้างนอกมันเป็นอย่างไร จะมานั่งเห็นแต่รูปมันไม่ถึงหรอก มันต้องไปเห็นจริงๆ

การเดินทาง

มันก็ลำบากนะสมัยก่อน ที่เหนื่อยที่สุดคือขึ้นภูเขาบูโด คืออยากรู้ว่าบูโดเป็นอย่างไง คือบูโดเนี่ยเป็นที่ตั้งของขบวนการโจรก่อการร้าย แล้วบนยอดเขาบลูโดเนี่ยมันเป็นที่จอดเฮลิคอปเตอร์ของ ขจก.ที่บินมาจากมาเลเซีย เราก็อยากรู้แต่มันขึ้นลำบากเพราะต้องติดต่อสาย ติดต่อคนนำขึ้นไป ได้สายคนนี้มันเป็น ขจก. เก่า ข้างบนมันก็เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์จริงๆ 

ถ้าพูดถึงตอนเดินทางจากแคนาดามายุโรป มันอีกแบบหนึ่งมันเหงาเพราะไปคนเดียวในต่างที่ต่างเมือง นั่งรถไฟมาถึงฟรังค์เฟิร์ทแล้วก็รอให้สว่างเพื่อจะไปหาที่พักก็นั่งอยู่ในสถานีรถไฟ มันเหงาอย่างสุดขีดก็เลยหยิบสมุดบันทึกเขียนถึงเพื่อน 5 คน แล้วน้ำตามันก็ไหลตอนนั้นมันสุดจริงๆ แต่โชคดีตอนน้ำตากำลังไหลก็มีเด็กหนุ่ม 4-5 คน คนเยอรมันเดินมา มันคงเห็นเรานั่งอยู่เลยเข้ามาคุยด้วย แล้วมันก็เลยชวนไปเที่ยวบ้านมันเลยอยู่ต่อกับมัน ตอนนั้นเราจึงเข้าใจว่าความเหงาคืออะไร ที่เหงาจริงๆนะ เหงาแบบสุดๆ เหงาที่แบบฆ่าตัวตายได้ อย่างนั้นคือความเหงา แต่ถ้าเป็นที่เราคุยกันว่าอยู่บ้านคนเดียวแล้วเหงา อันนั้นไม่ใช่ความเหงา มันอาจจะเป็นความโดดเดี่ยว

เริ่มงานเขียน

ก้าวสู่การเป็นนักเขียน

มันก็เริ่มเขียนตอนทำหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย อย่างรวมเล่มมันจะเป็นเรื่องของเพลง เพื่อนเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์หนอนไปเอางานเขียนที่ลงตามนิตยสารต่างๆ มารวบรวมเป็นเล่ม เล่มแรกชื่อ คำตอบนั้นล่องลอยในสายลม มันไม่มีคอนเซปต์ เหมือนจับยัดไม่ค่อยดี เป็นคนชอบฟังเพลง ยุคแรกฟังพวกร็อค เราโตในยุคฮิปปี้ ชอบใช้ชีวิตเสรี จากนั้นเปลี่ยนมาฟังแจ๊ซก็ฟังมาเรื่อยๆ ได้ 30 กว่าปีแล้ว ก็เขียนเกี่ยวกับ เรื่องแจ๊ซอีก 3 เล่ม  นอกจากเขียนดนตรีก็เขียนนิยาย เรื่องสั้น สารคดี อย่างตอนเดินทางมากๆ เราเห็นคนทำลอบหมึกที่เกาะช้าง จังหวัดตราด คือที่จริงมันมีทางเข้า และถ้าออกที่เดิมมันก็ออกได้ แต่มันออกไม่ได้มันก็เหมือนมนุษย์ที่ติดอยู่ในแอกอะไรสักอย่างที่มองไม่เห็น แล้วพยายามดัน และดิ้นจนบางทีทำให้ตัวเองบาดเจ็บ ล้มเหลว ตาย มันก็เลยเป็นประเด็นทำให้เราเขียนนิยายเรื่องคนลอบหมึก เราก็เลยไปอยู่เกาะช้าง ไปทำลอบหมึกอยู่ประมาณเกือบ 6 เดือน ไปหาข้อมูลแล้วเขียนเป็นนวนิยายเรื่องคนลอบหมึกเป็นนิยายเรื่องแรก ก็เขียนมาเรื่อย ที่เข้ารอบรางวัลซีไรต์ก็มีรวมเรื่องสั้นวิปริต มันค่อนข้างแรง ปีนั้นแพ้ ปราบดา หยุ่น เขาได้ซีไรต์ ปีถัดมาเป็นเรื่องยาว  ชื่อเล่นเงา เป็นเรื่องเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเรามีข้อมูลเยอะ เราเอาไอ้เท่งมาเป็นตัวเอก ให้เท่งมีชีวิต มีตัวตน ตัวเล่าเรื่อง เล่มนี้เข้ารอบ 2 เรื่อง กับงามพรรณ ความสุขของกะทิ แล้วความสุขของกะทิก็ได้ 

อ่านเพิ่มเติม: ประวัติชีวิตของสิเหร่และผลงาน>>

หนังสือเล่มแรก

ตอนอยู่ประถม 7 มีครูชื่อจิม มาจากอเมริกา แนะนำให้เราอ่าน “เฒ่าผจญทะเล” (The Old Man and The Sea ของ Hemmingway) ฉบับ ดร.วิทย์ แปล รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะเราเป็นคนเกาะภูเก็ต ในเรื่องมันมีชาวประมงคนหนึ่งหาปลาไม่ได้ มา 80 กว่าวัน แต่วันหนึ่งเขาก็จับปลาเมอร์ลินได้ ในขณะที่ต่อสู้กัน มันก็สะท้อนให้เห็นระบบทุนนิยม การผ่อนสั้นผ่อนยาว จนกระทั่งได้ปลามา แต่ถึงที่สุดฉลามก็มาฉกกินหมด ก็เหมือนนายทุนใหญ่ผู้ปกครองที่เอาไปหมด ได้แต่โครงกระดูกที่เหลือติดเรือมา ชอบตอนสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวมาเห็นซากที่ติดอยู่กับเรือแล้วถามซากของอะไร นักท่องเที่ยวคนหนึ่งบอกว่าปลาฉลาม ปลาฉลามอะไรทำไมมันถึงสวยอย่างนี้มันเป็นสัญลักษณ์ที่คล้ายๆ กับว่าระบบทุนนิยม เนี่ยมันเลวไง แต่ทุกคนยังถือว่ามันดี ยังงดงาม แต่ตอนนั้นยังไม่ลงลึกขนาดนั้น แต่นั่งคุยกับครูจิม แกแนะให้ฟัง  ส่วนเรื่องไทยอ่านของพนมเทียน แต่ที่อ่านบ่อยๆ ก็ของไม้เมืองเดิม ‘ขุนศึก’ เรื่องแซะเมืองนายของลพบุรี ที่บ้านมีหนังสือของค่ายเพลินจิตเยอะมาก สมัยก่อนเป็นเล่มเล็กๆ ที่สนุกมากก็เพชรพระอุมาที่เริ่มออกเป็นเล่มแรกเล่มเล็กๆ แล้วมันก็ติดยาวนานเลย อ่านจบภาคแรก  ของพนมเทียนนี่อ่านหมด เล็บครุฑ ศิวาราตรี ละอองดาว สกาวเดือน แต่เล็บครุฑสนุกก็อ่านมาเรื่อยๆ สมัยเรียนศิลปะเนี่ยมี 2 เล่ม ‘ปรัชญาชีวิต’ ของคาลิล ยิบราน อาจารย์ระวี ภาวิไล แปล แล้วก็ ‘สาธนา’ ของรพินทรนาถ ฐากูร สองเล่มนี้จะอยู่ในย้ามเสมอไปไหนต้องพกประจำ คือ ณ ตอนนั้นลักษณะของคนเรียนศิลปะมันจะมุ่งไปทางศาสนาจะหานิพพาน ไปอ่านพระไตรปิฎกที่สวนโมกข์ ก่อน 14 ตุลาคม ยังไม่ได้ทำงานหนังสือพิมพ์จริงจัง แต่พอเข้ามาที่ประชาธิปไตย 14 ตุลาเจอเรื่องการเมือง ตอนนั้นเราไม่ยุ่งเรื่องการเมือง เรามุ่งแต่ว่าจะไปนิพพานอ่านแต่ศาสนา อัลกุรอ่าน ไบเบิล อ่านหมด อ่าน ‘ศรีภควัทคีตา’ ด้วย อยากรู้ว่าฮินดูเป็นอย่างไร

พลังจากงานเขียน

คืองานเขียนทุกอย่างมันต้องสะท้อนความจริงทั้งนั้น ความจริงอันไหนที่มันเป็นประเด็นหยิบยกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่องานเขียนที่เราจะทำในแต่ละเล่ม อย่างเราเขียนเรื่องดนตรีมันก็เป็นเรื่องจริงอย่างหนึ่ง พื้นฐานของแจ๊ซเป็นอย่างไง อย่างแจ๊ซมูราคามิ เราก็เริ่มจากนิยายของมูราคามิชอบพูดถึงเพลงแจ๊ซ แล้วถ้าคุณอ่านนิยายของมูราคามิแล้วฟังแจ๊ซที่เขาพูดถึงมันจะได้อรรถรสมากกว่าที่เราอ่านเฉยๆ คืองานเขียน งานศิลปะต่างๆ คือมันสะท้อนความจริงทั้งนั้น คิดว่าทุกเล่มที่เขียน ทุกคนที่เขียนเขาต้องการสะท้อนความจริงทั้งนั้นแหละ แต่จะดีหรือไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง แต่บางคนรู้ว่าเป็นความจริงแล้วมันทำบิดเบี้ยวมันก็โสมม 

แรงบันดาลใจ

ประวัติชีวิต และแรงบันดาลใจ ‘สิเหร่’ ดูเหมือนว่า เป็นเพราะอ่านหนังสือก็อยากเขียนหนังสือมันเป็นเรื่องธรรมดา พอถึงจุดหนึ่งเราอยากเขียน เรามีประเด็นที่จะบอกผู้อ่านคือความจริงที่อยากจะบอก มันก็เลยเขียนมาเรื่อยๆ พอมาถึงจุดหนึ่งมันก็ทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้วไง มันต้องเขียนหนังสืออย่างเดียวมันทำอะไรไม่เป็นแล้ว ตอนนี้ก็เขียนหนังสืออย่างเดียวอายุเริ่มมากก็เขียนน้อยลง

ผลงานของสิเหร่ ที่ออกกับเม่นวรรณกรรมได้แก่ “ผีเพลง” สารคดีดนตรีที่กลายเป็นคัมภีร์ของนักฟังดนตรีที่กำลังเริ่มฟังดนตรีในยุคหกสิบถึงเจ็ดสิบ ที่ซึ่งดนตรีได้พูดถึงสิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ และสันติภาพ เป็นหนังสือดนตรีฉบับภาษาไทยระดับตำนานเล่มหนึ่งที่ผู้อ่านไม่ควรพลาด และผลงานสารคดีดนตรี “แจ๊ซมูราคามิ” เล่มล่าสุด ที่สิเหร่นำเสนอดนตรีแจ๊ซผ่านปผลงานของนักเขียนญี่ปุ่นร่วมสมัย ฮารูกิ มูราคามิ ซึ่งเป็นนักเขียนที่ชื่นชอบดนตรีแจ๊ซเป็นพิเศษ จึงทำให้มูราคามิมักสอดแทรกดนตรีที่เขาฟังเข้าไปในเรื่องสั้นและนิยายของเขา จนกลายเป็นรูปแบบสำคัญที่มีอยู่ในงานเขียนมูราคามิเสมอ

“แจ๊ซมูราคามิ” สิเหร่จึงได้รวบรวมเพลงแจ๊ซที่มูราคามิเขียนถึงมานำเสนอให้ผู้อ่าน เพื่อสร้างอรรถรสให้กับผู้อ่านเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่เป็นนักอ่านที่ชอบผลงานของมูราคามิ จะเข้าใจถึงเนื้อหาของดนตรีแจ๊ซที่มูราคามิกล่าวถึงในนิยายและเรื่องสั้น โดยหนังสือเล่มนี้ยังสามารถเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนที่ต้องการเริ่มฟังเพลงแจ๊ซ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *