เล่นบทพระเจ้า : บุคคลที่ 3 มุมมองพระเจ้า ดวงตาที่มองเห็นได้ทั้งหมด : Third Person Omniscient POV in Fiction

ศึกษาทุกแง่มุมทั้งข้อดีและข้อเสียจาก บุคคลที่ 3 มุมมองพระเจ้า ในภาษาอังกฤษคือ Third Person Omniscient POV ผู้บรรยายสามารถรู้ได้ทุกสิ่งจากตัวละครรวมถึงความรู้สึก
Point of view

มุมมองพระเจ้า เป็นมุมมองเล่าเรื่อง บุคคลที่ 3 รูปแบบหนึ่งของ การเขียนนิยาย ในภาษาอังกฤษคือ Third Person Omniscient Point of View (POV) คำว่า omniscient มีความหมายว่า “สัพพัญญู” คำนี้มาจากภาษาบาลี แปลว่า รู้รอบ รู้ทุกอย่าง รู้ไปหมด ถ้าในสันสกฤต คือ “สรรเพชญ” ส่วนพุทธ ก็นำมาใช้แทนพระพุทธเจ้าว่าเป็นสัพพัญญู คือ ผู้รู้รอบ รู้แจ้ง ในส่วนมุมมองเล่าเรื่องทางวรรณกรรมเราเรียกมุมมองนี้ว่า มุมมองพระเจ้า ดวงตาที่มองเห็นทุกสิ่งอย่างได้ทั้งหมด

บุคลลที่สามมุมมองพระเจ้า เป็นมุมมองเล่าเรื่องแบบหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้มีการบันทึกเอาไว้ ในนิทานตำนานต่างๆ ที่เล่าผ่านกันต่อๆ กันมา นิทานเหล่านั้นต่างใช้มุมมองพระเจ้าเล่าเรื่อง เนื่องจากมุมมองนี้ผู้เล่าสามารถล่วงรู้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่มีข้อจำกัด มุมมองนี้เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้อ่าน มุมมองพระเจ้าสร้างระยะห่างมากกว่าบุคคลที่สามจำกัดมุมมอง คุณอาจจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าหนังสือที่คุณเขียนด้วยมุมมองพระเจ้ายังทำงานได้ดีในนวนิยายของคุณ และยังทำให้เรื่องราวในหนังสือสนุกสำหรับนักอ่านยุคใหม่หรือไม่

วิธีการบรรยายของมุมมองพระเจ้า เหมือนผู้บรรยายลอยอยู่ในอากาศ มองลงมาเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ตัวละครไม่รู้ว่ามีผู้บรรยายอยู่ในโลก เสมือนพระเจ้ากำลังเล่าเรื่องของแมลงวันที่เกาะอยู่บนกำแพง ขณะที่บุคคลที่สามจำกัดมุมมอง ผู้บรรยายคือตัวละครใดตัวละครหนึ่งที่อาจจะไม่มีบทบาทในเรื่องหรือไม่ก็ได้

ในขณะเดียวกัน มุมมองพระเจ้า กลายมาเป็นที่ไม่นิยมสำหรับบรรณาธิการสำนักพิมพ์ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้บรรยายกับผู้อ่านต่ำกว่ามุมมองอื่น เมื่อเทียบกับบุคคลที่หนึ่ง หรือบุคคลที่สามจำกัดมุมมอง ที่ผู้อ่านคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในขณะที่มุมมองพระเจ้ามักจะนำไปสู่ “การกระโดดข้ามหัวตัวละคร” ได้ง่าย

อำนาจวรรณกรรมจาก มุมมองพระเจ้า

ควบคุมตัวละครได้หลายตัว

การใช้ บุคคลที่ 3 มุมมองพระเจ้า นักเขียนสามารถสร้างโลกตัวละครให้มีชีวิต และเจาะลึกเข้าไปในจิตใจของพวกเขา มุมมองนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญทางวรรณกรรมที่ช่วยให้พัฒนาตัวละครได้ดี สร้างความซับซ้อนให้กับเรื่องที่เขียน มุมมองพระเจ้าสามารถเชื่อมโยงตัวละครมากมายในเรื่องให้เข้าด้วยกัน 

พลังอำนาจของผู้รู้ ทำให้การบรรยายไม่ติดอยู่เฉพาะกระแสสำนึกของตัวละครใดตัวละครหนึ่ง แต่สามารถมอบ POV ให้กับตัวละครสำคัญได้หลายๆ ตัว ในทางกลับกัน มุมมองนี้ยังสามารถเจาะลึกสภาวจิตของตัวละครจำนวนมาก เพื่อให้ผู้เขียนทดลองกับการนำเสนอเรื่องราวของตัวละครที่มีความแตกต่างกันมากเป็นพิเศษ 

มุมมองพระเจ้าแสดงให้เห็นว่าตัวละครสามารถแสดงความคิดของตัวเองออกมาได้อย่างไร ตัวละครสามารถมองเห็นการเชื่อมโยงต่างๆ ภายในจิตใจ แม้การแสดงออกนั้นจะไม่ชัด หรือเป็นส่วนตัวเพียงไร แต่นี่คือความพิเศษของมุมมองพระเจ้าที่มอบให้มากกว่ามุมมองอื่น

บุคคลที่ 3 : 1984 POV การเขียนนิยาย

วินสตันทิ้งแขนลงข้างตัว สูดอากาศเข้าปอดช้าๆ ความคิดล่องลอยสู่อาณาจักรวกวนของการคิดสองชั้น การรับรู้และการไม่รับรู้ การต้องสำเหนียกถึงความจริงสมบูรณ์ขณะกล่าวคำเท็จที่ผูกขึ้นอย่างระมัดระวัง การยึดกุมความเห็นพร้อมกันทีเดียวสองอย่างซึ่งหักล้างกัน ทั้งที่รู้ว่าความเห็นทั้งคู่ขัดแย้งกันแต่ก็ต้องเชื่อทั้งสองฝ่าย ต้องใช้ตรรกะเพื่อต่อต้านตรรกะ ต้องละทิ้งคุณธรรมขณะปากกลับกล่าวอ้างถึงไม่ขาด ต้องเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องเหลือวิสัย และปักใจว่าพรรคคือผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย

นวนิยายเรื่อง 1984 ของ George Orwell มักถูกอ้างอิงเสมอในฐานะนิยายการเมืองเสียดสีระบอบการปกครองยุคใหม่ของโลกอนาคต น้ำเสียงของผู้บรรยายจึงถูกสอดใส่ความคิดลงไป แม้เสียงเล่าจะผ่านตัวละครอย่างวินสตัน แต่น้ำเสียงนั้นก็หนักแน่นที่จะเสียดสีการกระทำของรัฐที่พยายามจะครอบงำประชาชนให้อยู่ในระเบียบ โดยเฉพาะระเบียบทางความคิด ซึ่งถ้าพวกเขาแม้เพียง “คิด” ที่จะต่อต้าน “ความคิด” นั้นก็มีความผิดแล้ว

มุมมองพระเจ้า ปลดปล่อย “เสียง” ของผู้บรรยาย

การเขียนด้วยมุมมองพระเจ้าช่วยให้ผู้เขียนสร้างบุคลิกตัวละครได้อย่างมากมาย  เหมือนผู้บรรยายนั่งอยู่นอกเรื่องราวแล้วมองลงมาจากเบื้องบน การบรรยายช่วยให้เสียงภายในของตัวละครมีความโดดเด่น

เสียง หรือ “สำเนียง” ในมุมมองพระเจ้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้บรรยาย ใครเป็นคนเล่าเรื่องนี้ให้คุณฟัง? ทำไมพวกเขาถึงเลือกองค์ประกอบบางอย่างที่จะมุ่งเน้น? พวกเขามีทัศนคติอย่างไรต่อตัวละคร และเรื่องราวที่พวกเขาเล่า? เสียดสีและห่างเหิน? แบนและไร้อารมณ์? ร่าเริงและงอน? เศร้าและปรัชญา? ขมขื่นและน่าขนลุก? บ้าเล็กน้อย? พยายามทำให้คุณกลัว พยายามทำให้คุณร้องไห้?

Third Person Omniscient POV

เธอคงจำได้ว่าโสกราตีสไม่เคยเขียนอะไร แม้นักปรัชญารุ่นก่อนเขาจำนวนมากจะเขียน ปัญหาก็คืองานเหล่านี้แทบไม่เหลือมาถึงปัจจุบัน แต่ในกรณีของเพลโต เราเชื่อว่ามีการเก็บงานเขียนหลักๆ ทั้งหมดของเขาเอาไว้ (นอกจากคำแก้ต่างของโสกราตีส ยังมีงานรวมเล่มชื่อ Epistles  และบทสนทนาทางปรัชญาอีก 25 เรื่อง) สาเหตุหนึ่งก็เพราะเพลโตได้ตั้งสำนักปรัชญาของเขาเอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายป่า ไม่ไกลจากกรุงเอเธนส์ เขาตั้งชื่อตามวีรบุรุษในตำนานกรีก คืออพคาเดมุส

Sophie’s World: Jostein Gaarder
Tweet

โลกของโซฟี เขียนด้วยมุมมองพระเจ้า สำเนียงในนิยายนำพาผู้อ่านเข้าไปในโลกประวัติศาสตร์ปรัชญา ที่ตัวละครในประวัติศาสตร์กลับมามีชีวิต ผ่าน “บทสนทนา” ที่เชื่อมโยงกับเด็กสาวโซฟี ผู้เขียนเลือกแก่นปัญหาในวิชาปรัชญามานำเสนอ โดยเดินรอยตามผู้สนใจปัญหาเกี่ยวกับกำเนิดของชีวิตและโลก รวมถึงพลังที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ โดยสอดใส่มุกขำขันเพื่อให้เกิดรอยยิ้มน้อยๆ เอาไว้ตลอดเรื่อง

เล่นกับความดรามาเชิงประชดประชัน

มุมมองพระเจ้าเป็นมุมมองที่ผู้บรรยายสามารถล่วงรู้บางสิ่งจากตัวละครได้ทุกเรื่อง บางครั้งตัวละครยังไม่รู้จักตัวเองดีเท่าตัวผู้บรรยายเสียอีก ดังนั้นการเขียนเรื่องเสียดสี เรื่องประชดประชัน ด้วยมุมมองพระเจ้าจึงไปกันได้ด้วยดี โดยเฉพาะถ้าคุณมีตัวละครที่มีบุคคลิกน่าหมั่นไส้ และต้องการเล่นตลกกับพวกเขา

ทำให้นวนิยายของคุณเป็นเหมือนภาพยนตร์ด้วย มุมมองพระเจ้า

สิ่งที่เราทราบดีนวนิยายมาก่อนภาพยนตร์เสมอ (ในแง่อักษรศาสตร์) การดัดแปลงนวนิยายไปเป็นภาพยนตร์เป็นเรื่องปกติ แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยุคใหม่สร้างภาพจากนวนิยายได้น่าตื่นเต้น โดยเฉพาะฉากที่ยิ่งใหญ่ก่อนเริ่มเรื่อง 

ในทางกลับกัน ถ้าคุณต้องการบรรยายฉากเลียนแบบมุมมกล้องภาพยนตร์บ้าง ลองจินตนาการดูว่าการบรรยายด้วยมุมมองพระเจ้า ด้วยฉากภาพยนตร์จะงดงามเพียงไร เริ่มด้วยภาพมุมกว้างระยะไกล แสดงให้เห็นภูมิประเทศที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติยิ่งใหญ่ จากนั้นภาพค่อยๆ เจาะไปสู่ตัวละคร ที่กำลังควบม้าอยู่บนทุ่งหญ้า มันน่าตื่นตาไม่น้อยใช่ไหม

เขามองไปตามท้องทะเลรอบด้านและรู้ว่าเขาอยู่ตามลำพัง เขายังคงเห็นน้ำเป็นรูปแก้วหลายเหลี่ยมอยู่ในน้ำลึกสีน้ำเงินเข้ม–The Old Man and The Sea: Ernest Hemingway

ภววิสัย และ อัตวิสัย ใน มุมมองพระเจ้า

นักเขียนใหม่หลายคนเข้าใจว่า มุมมองพระเจ้า เป็นมุมมองแบบภววิสัยเท่านั้น โดยเนื้อแท้แล้ว มุมมองพระเจ้าไม่ได้เป็น

บางแหล่งข้อมูลแบ่งมุมมองพระเจ้าออกเป็นสองแบบ คือ

แบบแรก: ภววิสัย (อังกฤษ: objective) ผู้บรรยายรู้ทุกสิ่ง แต่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และไม่สามารถเจาะลึกทะลุเข้าไปในความคิดของตัวละคร โดยบรรยายเรื่องราวจากการกระทำของตัวละครเท่านั้น ข้อดีก็คือสร้างความเท่าเทียม ไม่เปรียบเทียบ หรือตัดสินตัวละครด้วยอคติทางความคิด 

โดยความหมายของคำว่า ภววิสัยคือ สิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง เงื่อนไขที่เป็นความจริง โดยไม่ขึ้นอยู่กับจิตใจ ไม่ว่าผลของการตัดสินจะออกมาเป็นอะไร จะไม่ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและความรู้สึก ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตามภววิสัยมักจะถูกค้นพบมากกว่าที่จะถูกสร้างขึ้นมา ในทางปรัชญา สิ่งที่เป็นภววิสัยจะเป็นจริงเสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด หรือกับบุคคลใด 

Third Person Omniscient POV

ตัวอย่างของ POV มุมมองพระเจ้า แบบภววิสัย เป็นเหมือนกล้องที่ติดตามตัวละครไปรอบๆ เพื่อบันทึกการแสดง การกระทำและบทสนทนา โดยไม่เข้าไปในความคิดภายในของตัวละคร

ผู้อ่านจะรู้ความคิดของตัวละครได้ก็ต่อเมื่อตัวละครพูดออกมา ผ่านการเขียนด้วยบทสนทนา มุมมองภววิสัยจึงเป็นการ “แสดง” โดย ไม่ “บอก” ยกเว้นการอธิบายเป็นครั้งคราว แทนที่จะอธิบายว่าตัวละครรู้สึกอย่างไร ตัวละครจะต้อง “แสดง” ออกมาจากการกระทำของพวกเขา

เมื่อเขียนด้วยมุมมองภววิสัย ผู้เขียนจะต้องหลีกเลี่ยงคำกริยาทั้งหมดที่แสดงถึงพฤติกรรมทางอารมณ์จากภายใน เช่น “รู้สึก” “คาดเดา” “สันนิษฐาน” รวมถึงคำคุณศัพท์และคำวิเศษณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ (เศร้า มีความสุข โกรธ ฯลฯ)  เหตุผลก็คือมันบอกผู้อ่านผ่านการบรรยายว่า ตัวละครมีความรู้สึกหรือคิดอย่างไร จำไว้ว่า POV แบบภววิสัย ก็เหมือนกับกล้องถ่ายรูป มันแสดงได้เฉพาะสิ่งที่ตัวละครกำลังทำอยู่ และไม่สามารถเข้าไปอยู่ในใจของพวกเขาได้โดยตรง

ภววิสัยมีความหมายตรงข้ามกับอัตวิสัย ข้อเท็จจริงที่เป็นอัตวิสัยจะเป็นภววิสัยก็ต่อเมื่อ สิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริงบนเงื่อนไขเฉพาะอย่าง ในเวลาเฉพาะ ในสถานที่เฉพาะ หรือกับบุคคล

แบบที่สอง: อัตวิสัย  (อังกฤษ: subjective) เรื่องราวในนวนิยายจากมุมมองพระเจ้าแบบอัตวิสัย ผู้บรรยายเป็นผู้สังเกตการณ์พร้อมไปกับแสดงทัศนคติ ผู้อ่านจะรับรู้ความรู้สึกว่าผู้ยรรยายคิด “อย่างไร” กับตัวละคร รวมถึงการตัดสิน (judge) ตัวละครในแง่มุมต่างกันด้วย

POV แบบอัตวิสัย เสียงผู้บรรยายจะเต็มไปด้วยความหนักแน่น เนื่องจากสามารถแสดงความคิดจากภายในของตัวละครได้ มีบางคนกล่าวว่า มุมมองพระเจ้าแบบอัตวิสัย ผู้บรรยายสามารถติดตามตัวละครได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ไม่จำเป็นเสมอไป ผู้บรรยายสามารถบอกเล่าถึงตัวละครตัวอื่นได้ แม้ไม่ใช่ตัวละครหลัก 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ POV อัตวิสัยก็คือ ผู้บรรยายมี “สำเนียง” ที่หนักแน่น และอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดของเรื่องถูกกรองผ่านผู้บรรยาย ไม่ใช่ตัวละคร เพราะฉะนั้น คุณอาจจะหัวร้อนจากผู้บรรยายที่มีความลำเอียง หรือสร้างตัวละครให้ถูกตัดสินจากสายตาผู้บรรยายก็เป็นได้

อัตวิสัย หมายถึงมุมมองหรือความคิดเห็นของบุคคล โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ความเชื่อ หรือความต้องการ อาจหมายถึงแนวความคิดส่วนบุคคลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งตรงข้ามกับความรู้และความเชื่อที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง ในทางปรัชญา

บางคนมองว่า ผู้บรรยายมุมมองพระเจ้าเป็นภววิสัย โดยส่วนตัวคือไม่ ความหมายของ POV คือ ผู้บรรยายจะต้องมีมุมมอง มีจุดยืน แม้บางครั้งจะเป็นมุมมองที่ค่อนข้างเยือกเย็น และเหินห่าง แต่ก็ยังเป็นมุมมอง

บุคคลที่ 3 มุมมองพระเจ้า Milan kudera

โทมัสเฝ้าพยายามทำให้เธอเชื่อว่า ความรักกับการร่วมรักเป็นคนละเรื่องกัน เธอไม่ยอมเข้าใจ บัดนี้เธอถูกกลุ้มรุมด้วยเหล่าบุรุษที่เธอไม่ได้แยแสเลยสักกระผีกริ้น การร่วมรักกับชายพวกนี้เป็นอย่างไรหนอ? เธอกระสันอยากลอง ถึงจะเป็นแค่รูปแบบของคำสัญญาที่ไม่มีหลักประกัน ดังที่เรียกว่าการให้ท่าก็เถอะโปรดอย่าเข้าใจผิด: เทเรซามิได้ปรารถนาจะแก้เผ็ดโทมัส เธอเพียงแต่อยากหาทางออกจากความว้าวุ่นใจ เธอรู้ว่าตัวเองกลายเป็นภาระแก่เขา: เธอจริงจังกับเรื่องต่างๆ มากเกินไป ทำให้ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องเศร้าThe Unbearable Lightness of Being: Milan Kundera

นวนิยายเรื่อง The Unbearable Lightness of Being ของ Milan Kundera ใช้ บุคคลที่ 3 มุมมองพระเจ้า เล่าเรื่อง แน่นอนว่าหลายคนอาจจะแย้งว่านวนิยายเรื่องนี้เล่าด้วยบุคคลที่ 1 เพราะบางฉาก “ผม” ได้ออกมาเป็นผู้บรรยาย ทว่า “ผม” เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เขาไม่ได้เป็นตัวละครในเรื่อง ตัวละครอย่างโทมัส หรือเทเรซา ไม่รู้การมีอยู่ของเขาเลยแม้แต่ฉากเดียว หรือ “ผม” จะเป็นบุคคลที่หนึ่งแบบมุมมองพระเจ้า แต่เขาก็ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเรื่องของนวนิยาย การที่ “ผม” ปรากฏขึ้นในบางฉากก็เพียงออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะตลอดทั้งเรื่องเขาก็บรรยายถึงสองตัวเอกด้วยบุคคลที่สาม

ข้อดีอีกประการของมุมมองพระเจ้า คือช่วยให้ผู้เขียนพาผู้อ่านไปได้ทุกที่ หรือทุกเวลาด้วยการดีดนิ้ว และอธิบายทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องใช้ตัวละครเป็นตัวกลาง

บุคคลที่สามจำกัดมุมมอง มีข้อจำกัดในการเล่าเรื่องของตัวละครทีละตัวในแต่ละฉาก ทำให้การเล่าเรื่องแคบตามลงไป เมื่อเทียบกับมุมมองพระเจ้าที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เราอาจคาดหวังว่ามุมมองพระเจ้าจะเป็น POV ที่โดดเด่นจนกลายเป็นเครื่องมือที่นักเขียนนิยมใช้กันทั่วไป ใครบ้างที่ไม่อยากใช้พลังเทพพระเจ้าในการเล่าเรื่อง?

แต่ปรากฎว่านิยายส่วนใหญ่ในศตวรรษที่ผ่านมา นิยมเขียนด้วยบุคคลที่สามจำกัดมุมมองมากกว่ามุมมองพระเจ้า มุมมองพระเจ้ามีผู้นิยมเขียนน้อยลง เป็นเพราะว่า POV จำกัดมุมมองเขียนออกมาเป็นธรรมชาติในตัวมันเอง ขณะเดียวกันมุมมองพระเจ้าได้เสียสละสิ่งที่สำคัญที่สุดในนิยาย: โดยไม่อนุญาตให้ผู้อ่านเข้าใกล้ และเห็นอกเห็นใจตัวละคร รวมถึงสถานการณ์ที่พวกเขาพบ เป็นเพราะระยะห่างที่สร้างขึ้นจากการเห็นทุกอย่างของผู้บรรยายมุมมองพระเจ้า แทนที่ผู้อ่านจะรู้สึกอินไปกับการกระทำของตัวละคร กลายเป็นว่ามุมมองพระเจ้าได้ทำให้เกิดช่องว่างนั้นมากเกินไป

บุคคลที่ 3 มุมมองพระเจ้า ดวงตาที่มองเห็นได้

ข้อผิดพลาดทั่วไปเมื่อใช้ บุคคลที่สาม มุมมองพระเจ้า ในงานเขียน

มุมมองพระเจ้าเป็นมุมมองที่ผู้บรรยายสามารถบรรยายอะไรก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มุมมองนี้ก็มีข้อผิดพลาดบางประการที่ผู้เขียนควรหลีกเลี่ยง 

ย้อนอดีต, เจาะลึกความรู้สึกภายใน และบรรยายมากเกินไป

โทคิล และดอสโตยเยียฟสกี้ มักถูกวิจารณ์เสมอว่าพวกเขาบรรยายออกนอกโครงเรื่องหลักอยู่เสมอ โทคิลออกนอกโครงเรื่องด้วยการบรรยายเบื้องหลังประวัติศาสตร์ (ลอร์ดออฟเดอะริงส์) ขณะที่ดอสโตยเยียฟสกี้ ชอบเจาะลึกความรู้สึกภายใน และพาผู้อ่านออกไปไกลจากโครงเรื่อง ก่อนจะวกกลับมาสู่เส้นทางเดิม (พี่น้องคารามอซอฟ) 

การเขียนแบบนี้แม้จะสามารถขยายขอบเขตของโลกในนวนิยายได้ แต่เป็นการเขียนที่อันตราย มันสามารถทำลายจุดสมดุลย์ของหนังสือ ชลอการพัฒนาตัวละครหรือโครงสร้างเรื่อง อาจนำไปสู่ความน่าเบื่อ จนผู้อ่านจำใจต้องปิดหนังสือลงก่อนจบก็เป็นได้

หอคอยทั้งสองนี้ มนุษย์ชาวกอนดอร์สร้างขึ้นแต่สมัยโบราณยุคที่กอนดอร์เรืองอำนาจ ภายหลังจากที่เซารอนพ่ายสงครามและหลบหนีไป ด้วยมีความหวั่นเกรงกันว่าเซารอนอาจจักพยายามย้อนกลับมาสู่อาณาจักรเดิมอีก–The Two Towers: J.R.R. Tolkien

เทคนิคการเขียน anton chekhov gun

เฉลยปริศนาเร็วเกินไป (จากการบอกใบ้มุกหักมุม)

แม้คุณจะไม่ได้ตั้งใจเฉลยปริศนาให้เร็วเกินไป จนกว่าจะถึงจุดไคลแมกซ์ แต่การบรรยายด้วยมุมมองพระเจ้าอาจจะทำให้คุณบอกใบ้มุกที่คุณสร้างเอาไว้ทั้งหมดด้วยตัวมันเอง ในยุคนี้ผู้อ่านรู้จักเทคนิกต่างๆ ของการเล่าเรื่อง ปริศนาที่คุณทิ้งเอาไว้ตามรายทางของเรื่องเล่า มักจะถูกนำกลับมาเป็นอาวุธ หรือปมแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เสมอ

เช่นถ้าในฉากแรกตัวละครเหลือบไปเห็นปืนโบราณประดับอยู่บนฝาบ้าน ผู้อ่านจำนวนหนึ่งจะเชื่อทันทีว่ามันจะต้องถูกนำมาใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในอนาคต ถ้าผู้บรรยายไม่ซ่อนสัญลักษณ์เหล่านั้นให้ดี ผู้อ่านอาจสันนิษฐานได้ว่าผู้บรรยายมุมมองพระเจ้าให้ความสำคัญกับปืนกระบอกนั้น มันกลายเป็นจุดดึงดูดใจที่คาดเดาได้ว่าต้องเกิดอะไรขึ้นสักอย่าง ถ้าเดาถูกก็หมดสนุกกันไป

เมื่อลองเปรียบเทียบการบรรยายด้วย บุคคลที่หนึ่ง หรือ บุคคลที่สามจำกัดมุมมอง ตัวละครจะสามารถซ่อนสัญลักษณ์เหล่านั้นได้แนบเนียนกว่า เช่นตัวละครอาจจะเคยเป็นอดีตทหารผ่านศึก หรือพ่อมักจะพาไปล่าสัตว์ในช่วงวันหยุดฤดูร้อน ปริศนาของเรื่องจะถูกปลอมแปลงด้วยรายละเอียดได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องบรรยายถึงปืนบนผนัง

เปิดเผยแต่ไม่แสดง

อีกครั้งที่เราต้องเน้นย้ำในเรื่องนี้ การเขียนด้วยมุมมองพระเจ้าทำให้รู้สึกว่าไม่มีกฎเกณฑ์ในการเขียนมากนัก เพราะมีอิสระในการเล่าเรื่อง ซึ่งทำให้นักเขียนเสียนิสัย กลับไปใช้วิธีที่ดูเหมือนง่าย ตอนนี้เรากำลังพูดถึงกฎสำคัญในงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้น การแสดงที่ไม่เปิดเผย จึงมีความสำคัญ

เชคอฟเคยกล่าวเอาไว้ว่า “อย่าบรรยายว่าพระจันทร์ส่องแสง แต่ควรแสดงให้เห็นว่าฉันเห็นแสงแวววับบนกระจกที่แตกอย่างไร”

ตัวอย่างง่ายๆ สั้นๆ เกียวกับ เปิดเผยแต่ไม่แสดง

ประโยคบอกเล่า: ประติมาเป็นโรคกลัวความสูง

ประโยคเปิดเผยแต่ไม่แสดง: ทุกครั้งที่ประติมาลงบันไดฉุกเฉิน หรือมองขึ้นไปบนยอดตัวตึก ร่างของเธอจะหนาวสั่น หัวใจเต้นเร็ว มีอาการวูบวาบที่หน้าท้อง ความรู้สึกนี้เหมือนทำให้เธอท้องผูก

พื้นฐานการเขียนที่ดีช่วยทำให้การเขียนของคุณไหลลื่น มันทำให้คุณเป็นอิสระแม้จะอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับมากเท่าไหร่

มุมมองพระเจ้า สร้างความสับสนจนอาจจะเกิด Head Hopping

คุณคงเคยได้ยินความน่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับ Head Hopping มาก่อน นักเขียนใหม่หลายคนสับสนกับ Head Hopping สิ่งนี้มักเกิดขึ้นเพราะนักเขียนต้องการแสดงให้เห็นว่าตัวละครมากมายทั้งหมดคิดอะไรอยู่ในฉากเดียว โดยเขียนมันลงไปราวกับว่ามันเป็น บุคคลที่สามในแบบหลากหลายมุมมอง แทนที่จะเป็น “มุมมองพระเจ้า” เมื่อสับสนแล้ว จะเขียนทั้งสองรูปแบบสะเปะสะปะปนเป จนกลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับคนอ่าน

Head Hopping
Head Hopping

Head Hopping คือ เมื่อคุณเปลี่ยนการบรรยายระหว่างตัวละคร หรือ มี POV มากกว่าหนึ่งตัวละครในฉากนั้น อาจทำให้ผู้อ่านสับสนอย่างมาก โดยดึงพวกเขาออกจากการเล่าเรื่อง

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มเขียนหนังสือ ผมยังจำตอนแก้ไขนิยายของตัวเอง มันเกี่ยวข้องกับ Head Hopping และนี่เป็นสิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยงเมื่อเขียนนิยายของตัวเอง

ข่าวดีก็คือ Head Hopping จะเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลที่สามเท่านั้น ไม่เคยเกิดขึ้นบุคคลแรก ทำไม? เพราะในตอนแรกคุณไม่เคยเปลี่ยน POV ภายในฉากหรือบท หากคุณเริ่มเรื่องด้วย “ผม/ฉัน” (สมมติว่าตัวเอกของคุณชื่อ สมศักดิ์) POV จะเป็นของ สมศักดิ์ เสมอ

ตัวอย่าง 1

ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับรอยแผลที่แขน ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อคืนผมออกไปเที่ยวกลางคืน โดยชวนวีนัสไปด้วย ระหว่างเทียวผมเล่นพนันบอลได้เงินมา ผมบอกได้เลยว่าเธอเป็นห่วง ผมเลือกเส้นทางลัดเพื่อไปสถานีรถไฟใต้ดิน ตอนนั้นเราเผชิญหน้ากับแก๊งค์เด็กวัยรุ่นในซอย เมธาหัวหน้าของพวกเขามักจะเยาะเย้ยขณะที่เราเดินผ่านไป และผมไม่ชอบวิธีที่เขาจ้องมองเธอ 

นั่นคือมุมมองทั้งหมดของ สมศักดิ์ แต่ถ้าคุณนำ POV เหล่านั้นมาแยกเป็นคนๆ ในฉากเดียวกัน นั่นคือ Head Hopping ซึ่งเป็นเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว เปลี่ยนเป็นที่สามกันเถอะ

ตัวอย่าง 2

สมศักดิ์ตื่นขึ้นมาพร้อมกับรอยแผลที่แขน ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเขาออกไปเที่ยวกลางคืน วีนัสไปเป็นเพื่อนเขา เธอกังวลใจเกี่ยวกับเงินที่ได้จากการพนัน สมศักดิ์เลือกเส้นทางลัดเพื่อไปสถานีรถไฟใต้ดิน ตอนนั้นพวกเขาเผชิญหน้ากับแก๊งค์ในซอย เมธาหัวหน้าแก๊งค์แซวที่สมศักดิ์พาผู้หญิงมาเป็นเพื่อนด้วย วีนัสยั่วยวนหัวใจของเขา เขาสั่งให้เด็กในแก๊งค์รุมทำร้ายสมศักดิ์ ขณะที่วีนัสสวดอ้อนวอนอยู่เงียบๆ

นิยายเรื่องนี้เกี่ยวกับใคร? มุมมองนี้เป็นของใคร POV คือของใคร? ผมไม่มีความเห็น มันคือของทั้งสาม เราได้รับ ความรู้สึกภายในจากทั้งสาม และนั่นเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ คุณจะจัดการกับสิ่งนี้ได้อย่างไร?

มีวิธีที่ซับซ้อนกว่าในการทำเช่นนี้ในบุคคลที่สาม คือการแบ่งเรื่องราวหรือนวนิยายของคุณออกเป็นสามมุมมอง สมศักดิ์ได้ฉาก/บท และวีนัสด้ฉาก/บท และเมธาได้ฉาก/บท แต่คุณอาจไม่ต้องการทับซ้อนกัน เพราะมันซ้ำซ้อนเกินไป เราไม่จำเป็นต้องเห็นช่วงเวลาสามครั้งจาก POV ทั้งหมดของพวกเขา (เว้นแต่คุณจะเขียนราโชมอน) เป็นไปได้มากว่าฉากนี้จะได้รับการบอกเล่าจากมุมมองของสมศักดิ์ จากนั้นเรื่องราวจะถูกส่งไปยังวีนัสเพื่อแสดงให้เราเห็นเรื่องใหม่ๆ แล้วเรื่องอื่นๆ ของเมธา

คุณเห็นความแตกต่างระหว่างตัวอย่างที่หนึ่งและตัวอย่างที่สองหรือไม่? เราได้รับข้อมูลที่ใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงคือเข้าไปอยู่ในหัวของวีนัสและเมธา คุณสามารถอ้างถึงการกระทำ บทสนทนา แม้แต่การแสดงออก แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการผ่าน สมศักดิ์ เขารู้สึกว่าวีนัสเป็นห่วงเพราะเขารู้จักเธอดี เขาไม่ชอบวิธีที่เมธากำลังเยาะเย้ยเธอ

คุณจะเขียนฉากเดียวกันนี้ในบุคคลที่สามได้อย่างไรโดยไม่ต้องปวดหัว? ในบุคคลแรกเรามีความคิดภายในของสมศักดิ์เท่านั้น ในตัวอย่างที่สอง เรากระโดดไปกระโดดมา ทำให้เกิดประโยคที่ยากต่อการติดตาม นี่คือวิธีที่ผมจะจัดการกับฉากเดียวกันในบุคคลที่สาม

ตัวอย่างที่ 3

สมศักดิ์ตื่นขึ้นมาพร้อมกับรอยแผลที่แขน ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเขาออกไปเที่ยวกลางคืน วีนัสไปเป็นเพื่อนเขา และเขาบอกได้ว่าเธอกังวลเรื่องเงินพนันบอลที่ได้มาตอนไปเที่ยว โดยที่เธอใช้มือม้วนผมสีน้ำตาล และจับไม้กางเขนที่คอของเธออยู่เรื่อยๆ สมศักดิ์เลือกเส้นทางลัดเพื่อไปสถานีรถไฟใต้ดิน ทั้งสองเผชิญหน้ากับแก๊งค์ในซอย เมธาหัวหน้าแก๊งค์เยาะเย้ยมาทางพวกเขา แต่สายตาของเขาจับจ้องไปที่วีนัส และนั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดี สมศักดิ์เคยเห็นรูปลักษณ์ที่ดุร้ายแบบนี้มาก่อน เมธาสั่งให้ลูกน้องรุมทำร้าย ขณะที่วีนัสกระซิบคำอธิษฐานภายใต้ลมหายใจของเธอ 

แตกต่างกันเล็กน้อยใช่หรือไม่? แต่เราอยู่กับสมศักดิ์ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ถูกกรองผ่านสายตาของเขา ความแตกต่างระหว่างตัวอย่างที่หนึ่งและสาม เป็นสิ่งที่คุณสามารถสังเกตเห็นได้จากใบหน้า และการเคลื่อนไหวของพวกเขา ด้วยตัวอย่างสุดท้ายนี้ เราไม่สามารถเข้าใจความคิดหรืออารมณ์ใดๆ ของวีนัส เว้นแต่เธอจะแสดงให้เราเห็นต่อหน้าสมศักด์ หรือใครทั้งหมดในฉาก การสวดอ้อนวอนอย่างเงียบๆ นั้นต้องเป็นการกระซิบ การกระทำของเธอ (ม้วนผมเป็นเกลียว แตะที่ไม้กางเขนรอบคอของเธอ) เปิดเผยความกังวลของเธอต่อสมศักดิ์ เพราะเขารู้จักเธอมาหลายปีแล้ว และนี่คือสิ่งที่เธอบอก เรายังสูญเสียการกระทำภายในบางอย่างของเมธา และต้องหันไปให้สมศักดิ์รับรู้ถึงอาการเยาะเย้ยและการจ้องมองนั้น การแอบมองนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ และในเวลาต่อมา เมื่อเขาอาจไม่ได้อยู่กับเธอ

โดยสรุป ตอกย้ำถึงวิธีการเพื่อหลีกเลี่ยง Head Hopping:

ข้อสังเกต ในนิยาย ถ้าคุณต้องการเปลี่ยน POV พยายามเริ่มด้วยการเริ่มบทใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่หนึ่งหรือบุคคลที่สามจำกัดมุมมอง กฎที่สำคัญที่สุดคือควรหลีกเลี่ยงไม่เปิดเผยความคิดภายในหรืออารมณ์ของใครอื่นนอกจากตัวเอกของคุณ การทำงานภายในกระแสสำนึกของตัวละครตัวรองอื่นๆ นั้น หากต้องการเปิดเผยจะต้องแสดงผ่านบทสนทนาและการกระทำทั้งหมดเท่านั้น กรองทุกอย่างผ่านตัวเอกของคุณ นั่นคือการสร้างวิถีทางในการเล่าเรื่อง เมื่อเรานั่งอยู่ในหัวของตัวเอก รู้สึกในสิ่งที่พวกเขารู้สึก มองโลกผ่านสายตาของพวกเขาเป็นหลัก

สุดท้ายอีกครั้งสำหรับการเรียนรู้เรื่องมุมมองการเล่าเรื่อง หรือ Point of View ที่เราลากยาวต่อมาเป็นห้าบทเพื่อเจาะลึกกับเรื่องนี้ หากผู้อ่านอ่านจบแล้ว ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกมุมมองใดเขียนนิยายเรื่องแรกอย่างไร ลองกลับไปอ่านบทแรกของซีรีส์นี้อีกครั้ง จากนั้นลองเลือกมุมมองที่จะเริ่มเขียนนิยายกัน

POV มุมมองพระเจ้าเป็นสิ่งที่ท้าทาย เมื่อเทียบกับ POV อื่นๆ แน่นอนจะต้องใช้เวลาในการเขียนและแก้ไขมากขึ้นเพื่อให้ถูกต้อง แต่เพียงเพราะคุณไม่ใช่ George Eliot หรือ William Faulkner คุณไม่จำเป็นต้องกลัวมัน คุณอาจจะเริ่มเทคนิคนี้จากเรื่องสั้น บางที รอดูว่ามุมมองนี้มีอะไรให้คุณบ้าง

มีคำถาม อยากแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองต่างๆ ถ้าคุณต้องการ ผมคิดว่าลองเขียนมาแลกเปลี่ยนกัน โพสต์คอมเม้นต์ที่อยู่ด้านล่าง ถ้าคุณเริ่มมั่นใจว่าจะเลือกมุมมองไหนในการเขียนได้แล้ว ขอให้โชคดี!

แบบฟอร์มทดสอบการเลือกมุมมองการเขียน

ถ้าคุณกำลังเขียนนวนิยาย และยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกมุมมองการเขียนใด เรามีบททดสอบให้คุณได้ทดลองทำก่อนตัดสินใจ บททดสอบนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าคุณชอบมุมมองใดเป็นพิเศษ และจะสามารถวางแผนในการเขียนได้ดีขึ้น

มุมมองไหนที่เหมาะกับนวนิยายที่คุณกำลังเขียน
Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *