หนังสือเสียง : น้ำใจแห่งการแบ่งปัน หรือ ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชอบธรรม

การทำ หนังสือเสียง เปรียบเสมือนการมอบโอกาสให้กับผู้พิการทางสายตา แต่การแบ่งปันครั้งนี้ อาจกำลังละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างชอบธรรมหรือไม่
หนังสือเสียง

หลายคนคงเคยรู้จัก หนังสือเสียง แต่อาจไม่ได้ให้ความสนใจกับสิ่งนี้เท่าไหร่ เพราะคนที่ให้ความสำคัญกับหนังสือเสียง ล้วนเป็นผู้พิการทางสายตา และผู้ที่บกพร่องด้านการอ่าน การทำจิตอาสาอ่านหนังสือให้พวกเขาเหล่านั้นฟัง ย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การกระทำเช่นนี้กำลังละเมิดผลงานของใครบางคนอยู่หรือเปล่า

ประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้พิการทางสายตาจำนวนมาก ยังคงมีความต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น นวนิยาย หนังสือกึ่งทางการ รวมไปถึงหนังสือประเภทให้ความรู้ อย่างไรก็ตาม ในโลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หนังสือเสียงที่เปรียบเสมือนโลกใบใหม่ของคนตาบอด ได้กลับมามีความนิยมเพิ่มขึ้น คนตาบอดสามารถเข้าถึง และใช้งานได้ง่ายกว่าในอดีต

หนังสือเสียง AudioBooks

หนังสือเสียงคือ สื่อที่ถูกแปลงจากข้อมูลในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ มาเป็นรูปแบบเสียง โดยผ่านการบันทึกเสียงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตา หรือผู้ที่บกพร่องด้านการอ่าน ได้รับรู้เนื้อหาจากหนังสือผ่านการฟัง โดยหนังสือเสียงที่สมบูรณ์ จะต้องมีเนื้อหาเทียบเท่ากับต้นฉบับหนังสือที่เป็นเล่ม

ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ เป็นแหล่งรวมหนังสือเสียงที่มากที่สุดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2561 ทางห้องสมุดคนตาบอด ได้เปิดเผยจำนวนหนังสือเสียงทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากถึง 9,000 เล่ม แต่เมื่อเราได้นำมาพิจารณาแล้ว หนังสือทั้งหลายเหล่านี้ เทียบกับสัดส่วนหนังสือที่วางขายทั่วไปตามท้องตลาด นับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก

การผลิตหนังสือเสียงยังเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการทางสายตา แม้ว่าหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือบุคคล ได้ช่วยกันจัดทำหนังสือเสียงมากเพียงใด แต่พบว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการใช้บริการหนังสือเสียงในห้องสมุดคนตาบอด เพราะกระบวนการจัดทำหนังสือเสียงมีหลายขั้นตอน และใช้เวลานาน โดย นายกิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า “การใช้บริการหนังสือเสียงผ่านรูปแบบต่างๆ ของห้องสมุดคนตาบอด มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยเดือนละ 300,000 ครั้ง ดังนั้น ยิ่งมีโอกาสเพิ่มหนังสือเสียงมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการขยายโอกาสของคนตาบอดมากขึ้นเท่านั้น”

หลายครั้งที่ทางห้องสมุดคนตาบอด และสมาคมคนตาบอด ได้ออกมาเชิญชวนให้ผู้คนทำจิตอาสา ผ่านการอ่านหนังสือเสียงให้ผู้พิการทางสายตา และผู้บกพร่องทางการอ่าน ซึ่งผู้พิการทางสายตาหลายท่านได้ออกมาเผยความในใจว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการให้คนอื่นๆ มองพวกเขาว่า เป็นภาระของสังคม พวกเขาพิการแค่สายตา ไม่ได้พิการในการใช้ชีวิต พวกเขาแค่ต้องการสิทธิที่เท่าเทียมกับคนปกติ และโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ต่างๆ 

เสียงของเราอาจจะเป็นแสงสว่าง ที่เปลี่ยนโลกที่มืดมิดของคนตาบอดให้กลับมาสว่างอีกครั้ง ซึ่งในยุคเทคโนโลยีปัจจุบัน การทำจิตอาสาหนังสือเสียง สามารถทำได้สะดวกผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น การอ่านด้วยแอปพลิเคชัน Read for the Blind การอัปโหลดคลิปเสียงลง YouTube หรือการอ่านหนังสือให้ฟังใน Clubhouse โดยเป็นการอ่านจากหนังสือที่เราได้ซื้อมา ให้คนมีปัญหาทางสายตาได้ฟัง เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการทำเพื่อจิตอาสา แน่นอนว่าคนในสังคมมักมองว่าเป็นการกระทำที่ดี และเหมาะสม แต่คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ การนำหนังสือมาอ่านและ เผยแพร่สู่ผู้พิการทางสายตาฟังเป็นจำนวนนับแสนคน จัดได้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือไม่

การเผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบเสียงจากการอ่านหนังสือ ให้ผู้บกพร่องทางสายตาฟัง ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้เขียนหรือไม่ หากตอบกันตรงๆ การอ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาส่วนใด หรือทั้งเล่มลงเผยแพร่สู่สาธารณะนั้น เป็นเรื่องที่ผิดลิขสิทธิ์แน่นอน เพราะเข้าข่ายการดัดแปลง เผยแพร่สู่สาธารณะชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ 

โดยผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของเนื้อหาในหนังสือ ไม่ใช่ผู้ที่ซื้อหนังสือมา หนังสือหนึ่งเล่มที่เราซื้อมา เราเป็นเพียงเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น เรามีสิทธิ์ที่จะทำลาย หรือส่งต่อหนังสือให้ผู้อื่น แต่ไม่มีสิทธิ์นำเนื้อหาในหนังสือออกมาเผยแพร่ ซึ่งระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทย ลิขสิทธิ์จะอยู่ตลอดอายุผู้สร้างสรรค์ และจะกำหนดให้มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต จากนั้นหนังสือที่ลิขสิทธิ์หมดอายุจะถูกตกเป็นสาธารณสมบัติ หรือเป็นสมบัติของแผ่นดินนั่นเอง

วัธนา บุญยัง
วัธนา บุญยัง

อย่างในกรณีของ คุณวัธนา บุญยัง นักเขียนหนังสือที่ถูกปล้นผลงาน โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นำผลงานวรรณกรรมที่เขาบรรจงสร้างสรรค์มาตลอดเวลาหลายสิบปี ไปเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และมียอดวิวเข้ารับชมถึง 20 ล้านวิว ในขณะที่หนังสือถูกตีพิมพ์ออกมาเพียง 2,000 เล่ม แต่ในระยะเวลาหลายปีหนังสือกลับขายไม่หมด แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งของยอดวิวและยอดขายหนังสือ ที่ทำให้เราเห็นแล้วว่า การทำหนังสือเสียงในลักษณะเช่นนี้ กำลังทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้รับผลกระทบอย่างมาก

การพูดถึงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ไม่ได้หมายความว่า ผู้พิการทางสายตาจะไม่สามารถมีโอกาสได้รับรู้เนื้อหาในสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะอย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีกฎหมายคุ้มครองทั้งผู้พิการ และผู้สร้างสรรค์ผลงาน โดยมีการเขียนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์สำหรับผู้พิการ ไว้ในฉบับที่ 3 พ.ศ. 2558 กล่าวไว้ว่า การทําซ้ำ หรือดัดแปลง เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งเนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่น 

อย่างเช่น แอปพลิเคชัน Read for the Blind โดยเป็นแอปที่ช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ให้สามารถฟังไฟล์เสียงหนังสือเล่มต่างๆ ได้ เหล่าจิตอาสาสามารถบันทึกเสียงตัวเองลงในแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่ผิดลิขสิทธิ์ เพราะเมื่อเสียงของเราได้ถูกบันทึกแล้ว จะไม่มีใครสามารถฟังได้ นอกจากผู้พิการทางสายตาเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์สำหรับผู้พิการ

ในทางกลับกัน การอ่านหนังสือลงใน YouTube และ Clubhouse ที่ไม่ได้จำกัดผู้เข้ารับชม หรือรับฟังเฉพาะกลุ่มผู้พิการทางสายตานั้น การอ่านหนังสือเสียง ยังคงต้องคำนึงถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มากถึงมากที่สุด โดยสามารถหลีกเลี่ยงลิขสิทธิ์ได้ โดยวิธีแรกคือ การติดต่อขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อนำผลงานมาเผยแพร่ ซึ่งวิธีการติดต่อลิขสิทธิ์งานเขียนในประเทศไทย สามารถติดต่อได้จากนักเขียนโดยตรงผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย แต่อาจจะดูไม่เป็นทางการมากนัก หรือจะเป็นการติดต่อผ่านสำนักพิมพ์ผู้จัดพิมพ์โดยตรง และในกรณีที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ สามารถติดต่อกับทาง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย หรือสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถมอบคำปรึกษาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ได้ดี ส่วนวิธีที่สองคือ ผู้อ่านหนังสือเสียงนำผลงานที่ตนได้สร้างสรรค์มาอ่านเอง เพราะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ย่อมไม่ผิดกฎหมาย และสำหรับวิธีสุดท้ายคือ การอ่านหนังสือที่ลิขสิทธิ์หมดอายุไปแล้ว

คนตาบอด

ประเภทของหนังสือเสียงอาจมีไม่ค่อยหลากหลายเท่าไรนัก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทำให้หลายๆ สำนักพิมพ์หันเหความสนใจในการผลิตหนังสือเสียงมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์แซลมอน หนังสือเสียงที่ให้ความบันเทิงแถมสอดแทรกข้อคิดที่มีประโยชน์ และยังมีแพลตฟอร์มอ่านหนังสือออนไลน์อย่าง Meb ที่สามารถเลือกซื้อ และรับฟังฟรี นอกจากนี้ Meb ได้ทำการเปิดรับสมัครนักอ่านหนังสือเสียงอยู่เรื่อยๆ นับว่าเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับผู้ที่สนใจอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการทำจิตอาสาหนังสือเสียง ไปพร้อมกับการสร้างรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะผิดลิขสิทธิ์

ท้ายที่สุดนี้ จะดีหรือไม่ หากมีองค์กร หรือบุคคลที่เป็นตัวกลาง ออกมาควบคุมการทำหนังสือเสียงให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้คำแนะนำ และคอยช่วยเหลือ เพื่อให้เหล่าอาสาสมัครสามารถทำหนังสือเสียงได้ง่ายขึ้น และเอื้อประโยชน์กับทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งผู้พิการทางสายตา ที่พึงมีสิทธิ์การเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ และข่าวสารต่างๆ เฉกเช่นคนปกติทั่วไป

เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ
เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
ผู้เขียน: นางสาวณัชฐิญา ชัยนุภาพ
บรรณาธิการ: นางสาววรางกุล วิลาวัณย์
ผู้ช่วยบรรณาธิการ:
นางสาวเจนจิรา ภู่โต
นางสาวปรียาภรณ์ ปัญญาธรรม
พิสูจน์อักษร: นางสาวพิชญา วัฒนไพบูลย

บรรณานุกรม 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *