Come and See เอหิปัสสิโก

เอหิปัสสิโก หรือ Come and See หนังสารคดี ที่พยายามจะค้นหาคำตอบ กรณี ธรรมกาย ที่กลายมาเป็นคดีพิเศษ มีการทุจริต ฟอกเงิน โดยศาลอาญาได้ออกหมายจับ พระธัมมชโย
Come and See เอหิปัสสิโก

เอหิปัสสิโก หรือ Come and See หนังสารคดี ที่พยายามจะค้นหาคำตอบ กรณี ธรรมกาย ที่กลายมาเป็นคดีพิเศษ ที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,458 ล้านบาท เริ่มจากคดีฟ้องความผิดฐานฉ้อโกงที่มีการหลอกลวงให้ประชาชนนำเงินมาฝากที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง เมื่อประชาชนหลงเชื่อและได้นำเงินมาฝากแล้ว ได้มีการกระทำทุจริต มีการฟอกเงิน โดยศาลอาญาได้ออกหมายจับ พระธัมมชโย หรือ พระไชยบูลย์ สุทธิผล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งหลบหนีไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ระหว่างนี้อยู่ในช่วงการสืบสวนติดตามจับกุม เพื่อดำเนินคดี

Come and See เอหิปัสสิโก

จุดเริ่มต้น ของ Come and See

ก่อนที่ ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ จะทำสารคดีเรื่อง เอหิปัสโก เขากำลังไปเรียนต่อด้านการทำสารคดีที่อเมริกา ในตอนนั้นเขาตั้งใจที่จะทำวิทยานิพนธ์เรื่องชายคนหนึ่งที่เล่นดนตรีให้แมวฟัง แต่เมื่อข่าววัดพระธรรมกายเกิดขึ้นในสื่อ เขาตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อในการทำหนังมานำเสนอในเหตุการณ์นี้แทน 

ณฐพล เห็นว่าหนังเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะอ่อนไหว จากที่เคยคิดว่าจะฉายหนังเรื่องนี้แบบเงียบๆ เปิดในคลาส หรือในวงเล็กๆ หนังกลับได้รับการถูกพูดถึงทีละน้อย เริ่มจากหอภาพยนตร์นำไปฉาย มีคนดูเพิ่มมากขึ้น จากนั้นหนังไปประกวดที่ปูซาน จนมาฉายที่ House ในแบบเหมาโรง จนกระทั่งหนังมีกระแสพอที่จะเข้าไปฉายในโรงทั่วไป ซึ่งต้องเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจพิจารณาจากสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังอาจมีแนวโน้มถูกพิจารณา ‘ห้ามฉาย’ หลังมีคณะกรรมการบางท่านไม่อยากให้มีการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เวลาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก คนดูหนังรุ่นใหม่เติบโต ตั้งคำถาม และในที่สุดหนังก็ขึ้นไปอยู่บนสตรีมมิงแพลตฟอร์มอย่าง Netflix ในปัจจุบัน

Come and See เล่าเรื่องผ่านบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง นักวิชาการด้านสังคม วัฒนธรรม และศาสนา รวมถึงลูกศิษย์วัดที่ยังศรัทธา และได้ออกจากวัดไปแล้วมาให้สัมภาษณ์ ในสัดส่วนที่ไม่น้อยและไม่มากจนเกินไป หนังสารคดีเรื่องนี้เรียบเรียงอย่างเรียบง่าย ผสานความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ลงลึกถึงความขัดแย้ง แต่พยายามสื่อภาพในมุมมองที่มีอยู่จำกัด รวมถึงกิจกรรมที่คนนอกวัดพระธรรมกายไม่ค่อยได้เห็น และอาจจะเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่สามารถถ่ายทอดกิจกรรมของวัดออกมาได้อย่างสมบูรณ์

หนังเริ่มด้วยสองความขัดแย้งทางความคิดที่สำคัญของธรรมกายที่เราต่างรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น จากเสียงของอดีตสมาชิกที่ไร้ศรัทธา และสมาชิกที่ยังศรัทธา ฝ่ายที่ไร้ศรัทธามองว่า ธรรมกายเป็นธรรมสายมืด ทำให้ครอบครัวแตกแยก ผัวเมียหย่าร้าง เพราะหาเงินมาเท่าไหร่ก็นำเงินไปบริจาควัดจนหมดตัว ธรรมกายทำลายศาสนาพุทธ เป็นที่ซ่องสุมกองกำลัง เป็นที่ฟอกเงิน และจะพบจุดจบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหลังจากนี้ ฝ่ายที่ยังศรัทธามองว่าธรรมกายไม่เคยมีเรื่องงมงายในไสยศาสตร์ ธรรมกายไม่เคยบังคับให้ใครบริจาคเงินมากมายจนหมดตัว แต่คนที่บริจาคเต็มใจที่จะนำเงินไปบริจาคตามกำลังเงินที่มี และธรรมกายทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ถึงว่าอะไรคือความชั่ว อะไรคือความดี แยกแยะได้ว่าสิ่งไหนควรไม่ควรในการนำไปดำเนินชีวิต

เอหิปัสสิโก

จากนั้นภาพตัดไปที่มหาธรรมกายเจดีย์ ผู้คนในวัดกำลังเดินถ่ายรูปด้วยอริยบทสบายๆ ชมภาพเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ ภาพซีนนี้มีความเป็น Poetry เป็นอย่างมาก ทัศนียภาพนี้เต็มไปด้วยความแปลกแยก เป็นความงามแบบแปลกๆ เจดีย์ที่ไม่เหมือนเจดีย์ใดในพุทธศาสนา เป็นที่รวมใจของผู้เลื่อมใสในธรรมกาย ขณะเดียวกันอีกนัยเป็นภาพที่ทำให้ผู้คนภายนอก หรือคนที่ไม่ได้เชื่อถือรู้สึกถึงความกระอักกระอ่วน ศาสนาพุทธดั้งเดิมที่พวกเขาเชื่อกำลังถูกสั่นคลอนลงทีละน้อย

ก่อนที่สารคดีจะเข้าสู่แก่นแกนของเรื่อง ณฐพล ปูพื้นด้วยคลิปข่าวจากสำนักต่างๆ ที่พูดถึงคดีของธรรมกาย และเริ่มตั้งคำถามจาก ไพบลูย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ ปัจจุบัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ส.ส. ลำดับที่เท่าไหร่ของพรรค ยืนให้สัมภาษณ์สื่อ เคียงคู่กับ มโน เลาหวณิช (เมตตานันโท) อดีตพระนักวิชาการ วัดพระธรรมกาย ระหว่างปี พ.ศ. 2517-2538 ทั้งสองไปยื่นหนังสือกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อเร่งคดีให้รวดเร็ว เพราะเป็นที่สนใจของประชาชน

การเติบโตของธรรมกายในประเทศไทยมีจำนวนหลายล้านคน วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการด้านพุทธศาสนา มองธรรมกายที่เจริญเติบโตต่อเนื่องรวดเร็วว่า ธรรมกายก็เหมือนทุนนิยม เข้าใจถึงจิตวิทยาของผู้ศรัทธาว่าต้องการอะไร และทำสิ่งนั้นให้เป็นรูปธรรม

ธรรมกายทำให้ศาสนาพุทธจับต้องได้ ทำให้บุญสามารถมองเห็นในชาตินี้ ไม่จำเป็นต้องรอไปถึงชาติหน้า เหล่าผู้เลื่อมใสสามารถพบมันได้ในรูปแบบการนั่งสมาธิ การเห็นนิมิตร การเห็นสวรรค์ การได้พบพระพุทธเจ้า หรือความรู้สึกถึงความดีความชั่ว เช่นเดียวการบริจาคเงินก็เป็นการสะสมบุญ ทั้งชาตินี้และชาติก่อน ทำให้การถือกำเนิดทั้งรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ ถูกกำหนดขึ้นจากบุญที่สั่งสมมาทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน บรรณจบ บรรณรุจิ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา กล่าวว่าแนวคิดของธรรมกายส่วนใหญ่ที่ถูกต่อต้านเป็นเพราะ ธรรมกายสอนในสิ่งที่ขัดต่อความเชื่อพื้นฐานดั้งเดิมของเถรวาท ทำให้นิพพานมีรูปร่าง มีตัวตน มีสถานที่ และสามารถพบพระพุทธเจ้าได้ 

แนวคิดของธรรมกายทำให้พระไพศาล รู้สึกกังวลใจไม่มากก็น้อย แม้พระไพศาลมองว่าเถรวาทเป็นบทบัญญัติดั้งเดิมที่สุด ถูกต้องที่สุดในการชำระพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นบทบัญญัติในแนวอนุรักษ์นิยม พระไพศาลเสนอว่าทำไมธรรมกายถึงถูกโจมตีหนัก ก็เป็นเพราะการใช้ไม้บรรทัดในแบบเถวรวาทเป็นตัวชี้วัดนั่นเอง และถ้าธรรมกายเจริญเติบโตจนไม่สามารถหยุดยั้ง คำสอนในพระไตรปิฏกก็อาจจะขัดแย้งกับความนิยมในธรรมกาย

สิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชากร และผู้สื่อข่าว มองแนวคิดของธรรมกายไม่ต่างจากแนวคิดพุทธศาสนานิกายต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่ธรรมกายทำให้มันสุดโต่งจนคนรู้สึกว่ารับไม่ได้แล้วก็ช๊อค สุดท้ายปัญหาธรรมกายมันสะท้อนว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนยังไง แล้วธรรมกายเป็นยังไงจนเราไม่อยากเห็นมัน

แต่ความกังวลใจในเรื่องธรรมกายของนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ อธิบายว่าธรรมกายสร้างความขัดแย้ง เพราะการเจริญเติบโตของพวกเขาเข้าไปทำลายความเชื่อดั้งเดิมที่เคยมีอยู่ ทั้งทางการเมือง ข้าราชการ และสังคม นิธิเท้าความว่า ในสมัยหนึ่งศาสนามีบทบทมากมายในสังคม ตั้งแต่สอนหนังสือเด็กไล่ขึ้นไปเรื่อย ทุกวันนี้รัฐเข้ามาแทนที่กิจกรรมศาสนาจนหมดแล้ว นิธิขยายให้เห็นว่าถ้ารัฐจะปราบธรรมกายเพราะว่าเจ้าอาวาสทุจริต ฟอกเงิน หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องเข้าใจว่าธรรมกายเป็นส่วนหนึ่งในการหาคำตอบของพุทธศาสนา ธัมมชโยก็พยายามหาคำตอบ เพียงแต่คำตอบไม่เหมือนท่านเหล่านั้น ถ้าไม่มีธรรมกาย ก็ยังคงมีคำถามว่าพุทธศาสนามีบทบาท มีความสำคัญอย่างไรในสังคมไทยปัจจุบัน คำตอบก็คือยังไม่มีอยู่นั่นเอง ไม่ว่าคุณจะทำลายธรรมกายอย่างไรคำถามก็ยังอยู่

พระธัมมชโย

การเมือง กับ ธรรมกาย

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมธรรมกายถึงถูกจับจ้องจากฝ่ายความมั่นคง เมื่อบรรจบ บรรณรุจิ เผยว่า 

“ผมเคยนั่งคุยกับเจ้าหน้าที่มั่นคง เป็นถึงระดับรัฐมนตรี ท่านมองว่าความมั่นคงของประเทศชาติคือความมั่นคงของสถาบัน ซึ่งต้องอาศัยความรัก ความศรัทธาของประชาชนค้ำยัน พอความรักนึงมันถูกแบ่งไปที่ธรรมกาย จึงเกิดความอ่อนไหว จึงสรุปว่าธรรมกายเป็นภัยต่อสังคม เป็นภัยต่อประเทศชาติ”

หลังรัฐประหารของ คสช. มีการเรียกตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ส.ส. ฝ่ายตรงข้าม และประชาชนจำนวนมากเข้าไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร บางคนถูกกักตัว คุมขัง โดยปราศจากหมายศาล บางคนถูกรื้อคดี และถูกฟ้องคดีมาตรา 112 ย้อนหลัง หลายคนหนีออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยทางการเมือง สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนจำนวนมาก

ไพบูลย์ นิติตะวัน โจมตีธัมมชโยว่า “พระธัมมชโยไปท้าทายเขาโดยตรง (คสช. นายกฯ ประยุทธ จันทร์โอชา) เป็นการท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การต่อสู้ระหว่างธรรมกาย กับ คสช. เป็นซีโรซัมเกม มันต้องมีคนหนึ่งอยู่คนหนึ่งไป”

ในท้ายที่สุดประยุทธ จันโอชา ใช้มาตรา 44  ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่เขียนขึ้นโดย คสช. ให้อำนาจกับหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งอะไรก็ได้ที่มีผลในทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ คุมพื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นเขตควบคุม เพื่อเข้าตรวจค้นจับกุมพระธัมมชโย ที่ก่อนหน้านั้นไม่ยอมออกมามอบตัวตามหมายจับ โดยอ้างว่าป่วยอยู่ในวัด

ธรรมกาย

เมื่อประกาศออกไปทำให้สานุศิษย์ของธรรมกายได้เข้าไปขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยนั่งสมาธิขวางทางไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้ามาได้ จนทำให้ประยุทธ จันทร์โอชาถึงกับประกาศผ่านสื่อว่า “คุณต้องบอกให้เขาหยุดการต่อต้านเจ้าหน้าที่ ถ้าคิดว่าถูกก็ออกมารับ มาพิจารณาคดี มาต่อสู้ทางกฎหมาย”

อ่านบทความเพิ่มเติม: DSI เร่ง สืบคดีธรรมกาย

ขณะเดียวกันพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังใส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย มองว่าการเรียกร้องให้พระธัมมชโย มอบตัวทั้งที่อาพาธ หรือการปรักปรำว่าท่านทุจริตฟอกเงิน นั้นไม่มีมูล ธัมมชโย และ ธรรมกาย ทุกคนยอมรับในกระบวนการยุติธรรม แต่ต้องเป็นกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่ช่วงเวลารัฐประหาร

นอกจากนั้นทางการยังมีการปิดกั้นสเบียง อาหาร ยา ตัดน้ำ ตัดไฟ วัดพระธรรมกาย จนมีผู้เสียชีวิตสองราย รายแรกป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ ส่วนคนที่สองจากการฆ่าตัวตายเพื่อปกป้องธรรมกาย การเสียชีวิตสองรายเจ้าหน้าที่รัฐปฏิเสธความรับผิดชอบ การตรวจค้นเพื่อจับพระธัมมชโยเป็นอันสิ้นสุดลง และยกเลิกคำสั่ง ม.44 โดยไม่สามารถจับกุมตัวได้ตามที่ต้องการ ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดในวัดลดลง

Com and See
ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ

บทสรุป

สารคดี เอหิปัสโก เล่าเรื่องโดยปราศจากผู้บรรยาย แต่ในบางซีน มีการอธิบายข้อมูลของวัดเป็นภาษาอังกฤษ โดยไม่มีเสียงเล่า แกนกลางการเรื่องจึงอยู่ที่ตัวผู้สัมภาษณ์ และที่เป็นจุดเด่นของหนังเรื่องนี้ก็คือ ภาพกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในวัดที่คนนอกไม่เคยสัมผัสมาก่อน รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ศรัทธาต่อธรรมกาย ก็เป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจต่อการทำความเข้าใจ ข้อความนี้สำคัญเพราะ เอหิปัสโก เป็นมุมมองจากคนนอก ไม่ใช่ภาพที่ธรรมกายนำเสนอออกมาเอง มันจึงดูมีมิติ

ความขัดแย้งในเรื่องธรรมกายล้วนแล้วกลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้งในสังคมไทย ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในทุกที่ ทุกเวลา ทุกศาสนา ประวัติศาสตร์ระหว่าง รัฐ กับ ศาสนา ในสังคมไทยเกิดขึ้นเสมอ และไม่ใช่เพียงศาสนาพุทธ แต่กลับเป็นทุกศาสนา เพราะสุดท้ายแล้ว รัฐไทยต้องการเข้าไปจัดระเบียบในศาสนาต่างๆ โดยมองตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของอำนาจ

เราจะเห็นได้ว่าตัวผู้ให้ข้อมูล ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสีย ต่างมีแนวคิดของตัวเอง ขณะเดียวกันผู้ที่ศรัทธาก็มีความเชื่อที่เชื่อว่า ศรัทธานั้นเกิดจากตัวพวกเขา ในทางกลับกันผู้ไร้ศรัทธา หรือสมาชิกที่ออกจากธรรมกายส่วนใหญ่มองว่าแนวคิดของพวกเขาเปลี่ยนไป พวกเขาทนทุกข์มากกว่ามีความสุข อุดมการณ์เปลี่ยน และวิธีคิดเปลี่ยน

หากจะกล่าวว่า หนังเรื่องนี้เป็นกลางไหม ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ ให้สัมภาษณ์กับ The Matter ว่า “เรามีเสรีภาพในการที่จะคิดจะเชื่อ แต่เราจะแสดงออกได้ไหมว่าเราไม่อินกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ แสดงออกได้มากแค่ไหน เราว่านี่คือประเด็น”

“คำว่า ‘เป็นกลาง’ เป็นคำที่มีปัญหาในตัวมันเอง […] ‘ความเป็นกลาง’ นี่อันตรายเหมือนกัน เพราะสำหรับเรามันเป็นการแปะป้ายให้ตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าชุดข้อมูลนั้น […] ทำสารคดีก็ไม่ต้องมีความเป็นกลาง เพียงแต่ว่าสิ่งสำคัญคือ เรายึดถือคุณค่าแบบไหนมากกว่าในการที่จะถ่ายทอดเรื่องเล่านั้น”

อ่านบทความเพิ่มเติม: หนังทดลอง Mass

[block id=”about-author-niwat-2″]

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *