10 วรรณกรรมเยาวชน เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี ที่คัดสรรมาเพื่อคุณ

แนะนำ 10 วรรณกรรมเยาวชน คัดสรรมาให้คุณได้สัมผัสถึงมนต์เสน่ห์ของเรื่องเล่าผ่านตัวอักษร ซึ่งพาคุณท่องไปในโลกแห่งจินตนาการที่จะสร้างความประทับใจได้ไม่รู้จบ
วรรณกรรมเยาวชน

วรรณกรรมเยาวชน เป็นหนึ่งในหมวดหมู่ของหนังสือที่ได้รับความนิยมที่สุดของเหล่านักอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เนื่องจากเนื้อหาที่ให้ความเพลิดเพลิน ไม่หนักหน่วงเกินไป ภาษาเข้าใจง่าย รวมไปถึงเสน่ห์ของกลวิธีการเขียน ซึ่งมักจะมีข้อคิดสอดแทรกในเนื้อเรื่องและถ่ายทอดออกมาได้อย่างกินใจ  

สำหรับปี 2022 นี้ สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม จึงถือโอกาสรวบรวมวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกที่ควรค่าและน่าอ่านกว่า 10 เรื่อง มาแนะนำและรีวิวให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน จะมีเรื่องอะไรบ้างไปดูพร้อมๆ กันเลย! 

วรรณกรรมเยาวชน

01. ต้นส้มแสนรัก (Meu Pè de Laranja Lima) 

[blockquote align=”none” author=””หนึ่งในสุดยอดหนังสือแห่งยุค…ไม่มีนิยายเรื่องไหนที่จะบรรยายความโศกเศร้า และความสุขได้อย่างมีศิลปะเท่าเรื่องนี้แล้ว” หลุยส์ อันโตนีโอ อาเกีย – นักเขียนชนะรางวัล Premio Jabut”][/blockquote]

ผู้เขียน: โจเซ่ เมอโร เดอ วาสคอนเซลอส 

ผู้แปล: มัทนี เกษกมล

สำนักพิมพ์: แพรวเยาวชน

เรื่องย่อ: 

ต้นส้มแสนรัก เป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งนามว่า “เซเซ่” ผู้มีจินตนาการเปี่ยมไปด้วยความฝันที่สวยงามเป็นเด็กฉลาด เกิดในครอบครัวที่ยากจน มีพี่น้องหลายคน ด้วยความที่เขาดื้อและซน ชอบก่อเรื่องไม่เว้นแต่ละวัน จึงทำให้เขาโดนทำโทษรุนแรง อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เขาอดคิดไม่ได้ว่าไม่มีใครรรัก เพราะเขาเป็นส่วนเกินของครอบครัว เขาจึงสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมาคือ โลกแห่งความฝัน ที่ทำให้เขามีความสุขอยู่ภายในโลกที่สร้างขึ้น เพราะเขาไม่ใช่คนที่มีเพื่อนมาก ทุกคนต่างคิดว่าเขาคือเด็กแสบที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน สร้างความเอือมระอาให้กับทุกคน

    ต่อมาครอบครัวของเซเซ่ได้ย้ายบ้านใหม่ จึงได้พบกับต้นส้มต้นหนึ่งซึ่งพูดได้ ทำให้เขาได้เพื่อนใหม่ที่รู้ใจ ที่สามารถพูดคุยและเป็นเพื่อนเล่นกับเขาได้ยามที่ถูกกักบริเวณไม่ให้ออกไปข้างนอก ทุกเรื่องได้ทำให้เขามีความสุขมาก โลกแห่งจินตนาการเปี่ยมไปด้วยความสดใสแห่งชีวิตของวัยเด็ก แต่อีกไม่นานเมื่อเขาต้องรับรู้ว่าเพื่อนที่ดีที่สุดของเขาต้องจากเขาไปตลอดกาล โลกที่สดใดของเขาพลันมืดสลัวลง เขารู้สึกเจ็บปวดและเสียใจมากกับการจากลาในครั้งนี้

“ผมเฝ้าจูบดอกไม้เล็กๆ สีขาวที่นิ้วมือ ผมจะไม่ร้องไห้เพราะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกต่อไปแล้ว แม้ว่ามิงกินโยจะพยายามกล่าวคำอำลาด้วยดอกไม้ดอกเล็กๆ เขาจากโลกความฝันของผมไปสู่โลกแห่งความจริงและความเจ็บปวด…” 

– เซเซ่ (ต้นส้มแสนรัก)
Tweet

หนังสือเรื่อง ต้นส้มแสนรัก เป็นวรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิก ของนักเขียนชาวบราซิลอย่าง โจเซ่ วาสคอนเซลอส ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาโปรตุเกส ในชื่อ Meu Pè de Laranja Lima เมื่อปี ค.ศ. 1968 มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า My Sweet Orange Tree และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากถึง 32 ภาษา ตีพิมพ์ใน 19 ประเทศทั่วโลก ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์และแอนิเมชั่นหลายต่อหลายครั้ง 

นอกจากนี้ ต้นส้มแสนรัก ยังเป็นหนึ่งในลิสต์หนังสือที่ศิลปิน ไอดอลเคป๊อบชื่อดังเลือกหยิบขึ้นมาอ่าน และแนะนำให้เหล่าบรรดาแฟนคลับที่สนใจได้ไปอ่านตามๆ กันด้วยนะ ยกตัวอย่างเช่น จินยอง จากวง GOT7 ผู้ที่ทำให้เกิดกระแสแฮชแท็กร้อนแรงในทวิตเตอร์ก่อนหน้านี้ อย่าง #จินยองอ่าน ตามมาด้วยดาราและศิลปินสาวเสียงหวานอย่าง ไอยู (IU) #ไอยูอ่าน ที่เลือกหยิบเรื่องนี้มาแนะนำให้แฟนคลับของเธออ่านเช่นเดียวกัน 

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ การนำเสนอเกี่ยวกับ มิตรภาพและการจากลา ระหว่าง เซเซ่ และเพื่อนของเขา มิงกินโย ได้อย่างกินใจ โดยหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบ มันทำให้เราตกผลึกทางความคิดได้ว่า การดำเนินเรื่องของตัวละครเอกอย่าง “เซเซ่” เปรียบเสมือนเงาสะท้อน ที่ทำให้เรากลับมามองตัวเราเองว่า เราทุกคนก็เคยเป็นอย่าง เซเซ่ ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งความไร้เดียงสา ความเป็นเด็กที่ช่างสงสัย และความอ่อนไหวในวัยเยาว์ 

นอกจากนี้ พวกเราต่างมี “มิงกินโย” เป็นของเราเอง เพื่อนสนิทที่เราสามารถเล่นสนุก และเล่าทุกอย่างให้ฟังได้ เปรียบเสมือนแหล่งพักพิงทางใจ ที่คอยรับฟังและอยู่เป็นเพื่อนข้างๆ เราอยู่เสมอ แม้ว่าเพื่อนสนิทคนนั้นจะเป็นเพื่อนในจินตนาการที่เมื่อเราค่อยๆ เติบโตขึ้น พวกเขากลับค่อยๆ จางหายไปในความทรงจำของเราก็ตาม 

ในขณะเดียวกัน เนื้อหาของ ต้นส้มแสนรัก ยังสะท้อนให้เห็นถึงผลของสภาพแวดล้อมในครอบครัว ความลำบาก ความโหดร้ายและความยากจนส่งผลให้คนในครอบครัวคิดลบต่อกัน ความไร้เดียงสาของเซเซ่ กับการลงโทษอันรุนแรง ไม่ว่าจะทางกายหรือจิตใจจากคนในครอบครัว มีผลกระทบต่อเซเซ่อย่างเห็นได้ชัด สิ่งนี้เองที่ทำให้เด็กชายในวัย 5 ขวบคนนี้ ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ไม่มีใครรักผมเลยเหรอ?” 

รวมไปถึง คำสบถที่เซเซ่มักจะพูดติดปากอยู่บ่อยครั้ง ถือได้ว่าเป็นหลักฐานชั้นดีที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตมา อีกนัยหนึ่งนั้น หนังสือเล่มนี้กำลังสอนให้เรารู้จักการปฎิบัติตัวกับเด็กอย่างเหมาะสม หากเราทำสิ่งที่ดีเป็นแบบอย่าง เด็กก็จะซึมซับและทำในสิ่งที่ดี

02. โรงงานช็อคโกแล็ตมหัศจรรย์ (Charlie and The Chocolate Factory) 

“เด็กเลวและโง่จะถูกปีศาจกลืนกิน จนความสนุกไม่มีเหลือ แทนที่จะได้ลิ้มรสความอร่อยของขนมที่แท้จริง แต่พวกเขากลับโดนขนมกินเสียเอง”

 – โรงงานช็อคโกแล็ตมหัศจรรย์, โรอัลด์ ดาห์ล
Tweet

ผู้เขียน: โรอัลด์ ดาห์ล

ผู้แปล: สาลินี คำฉันท์

สำนักพิมพ์: ผีเสื้อ

เรื่องย่อ: 

เรื่องราวมหัศจรรย์เหนือจริง ของ “เด็กชายชาร์ลี บั๊กเก็ต” ลูกชายคนเดียวของครอบครัวยากจนและหิวโหย อันประกอบด้วยเจ็ดชีวิต ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆ โรงงานผลิตช็อคโกแล็ตแสนอร่อยและลือลั่นไปทั่วโลกของ “นายวิลลี่ วองก้า” ผู้คิดค้นสูตรช็อคโกแล็ตชนิดพิเศษพิสดารมากมาย 

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อ “ชาร์ลี” บังเอิญมีโชค เขาเปิดห่อช็อคโกแล็ตพบตั๋วทอง และกลายเป็นเด็กคนหนึ่งของจำนวนห้าคนในโลก ที่จะได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมและล่วงรู้ความลับสุดยอดของโรงงานช็อคโกแล็ตมหัศจรรย์พร้อมกับผู้ปกครองของตน และยังได้ทั้งได้ช็อคโกแล็ตและขนมแสนอร่อยจากโรงงานไว้กินตลอดชีวิต ความมหัศจรรย์เหนือเวทย์มนตร์และความลึกลับที่เป็นปริศนามานับสิบห้าปี รอเขากับ “ปู่โจ” อยู่ในรั้วโรงงานของ “นายวิลลี่ วองก้า” ไม่มีใครทราบว่าเขาเป็นใคร? มหาเศรษฐี? พ่อมด? หรือผู้วิเศษ? กันแน่!

หนังสือเรื่อง โรงงานช็อคโกแล็ตมหัศจรรย์ เป็นวรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซีของ โรอัลด์ ดาห์ล เรื่องแรกๆ ที่หันมาเขียนเรื่องสำหรับเด็ก หลังจากที่ได้เขียนเรื่องสั้นและเรื่องยาวจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1964 เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลอันดับ 1 ในสาขา The World’s Storyteller และได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดใช้ชื่อว่า Charlie and the Cholate Factory จากประเทศสหรัฐอเมริกา กำกับโดย ทีม เบอร์ตัน

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ การที่โรอัลด์สามารถเขียนเอกลักษณ์ของตัวละครทุกตัวออกมาได้อย่างโดดเด่น ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครเด็กน้อยเจ้าของตั๋วทองทั้ง 5 คน เริ่มที่คนแรก ออกั๊สตั๊ส กลู๊ป เด็กชายหุ่นจ้ำม่ำจอมตะกละ เวรูก้า ซ้อลท์ เด็กสาวในครอบครัวร่ำรวยแต่กลับมีนิสัยเอาแต่ใจ ไมค์ ทีวี เด็กชายผู้คลั่งไคล้การเล่นเกมและการดูทีวี ไวโอเล็ต โบรีการ์ด เด็กสาวที่มีนิสัยชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง และคนสุดท้าย ชาร์ลี บั๊กเก็ต เด็กชายจากครอบครัวยากจน 

“พ่อแม่” คือ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “ลูก” มีพฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไป 

ความอบอุ่นของครอบครัว บั๊กเก็ต แสดงให้เราเห็นว่า ถึงแม้จะมีฐานะยากจน แต่พวกเขาก็สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข คำพูดของปู่ที่คอยสอนหลานของตนให้มีความหวังและความฝันอยู่เสมอ ต่างแฝงไปด้วยข้อคิดและความห่วงใย การเลี้ยงดูจากสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่อบอุ่น ทำให้ชาร์ลีกลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและถ่อมตัว 

ในขณะที่ตัวละครเด็กคนอื่นๆ ในเรื่องนั้น มาจากครอบครัวที่เพรียบพร้อมและร่ำรวย พ่อแม่เลี้ยงดูลูกๆ ของพวกเขาด้วยการตามใจทุกๆ อย่าง แต่เด็กๆ กลับมีนิสัยก้าวร้าว และเอาแต่ใจ เป็นตัวอย่างของคำกล่าวที่ว่า พ่อแม่รังแกฉัน ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น แท้จริงแล้วหนังสือเล่มนี้พยายามจะสอดแทรกให้เราเห็นถึงผลเสียของการเลี้ยงลูกที่ผิดวิธี 

ความคิดของโรอัลด์ ดาห์ล ที่ไม่เห็นด้วยในการให้เด็กดูโทรทัศน์พร่ำเพรื่อ ได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในงานเขียนชิ้นนี้ โดยการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของสื่อชนิดใหม่ในช่วงยุคสมัยนั้น เช่น ทีวี การคิดค้นหมากฝรั่ง ปัญหาการเลี้ยงดูบุตร รวมไปถึงการละเลยสุขภาพของเด็กๆ โรอัลด์ได้ถ่ายทอดสารนี้ผ่านตัวละครเด็กในเรื่องทั้ง 5 คนได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ ภาษาและการแปลที่สละสลวยของคุณ สาลินี คำฉันท์ ที่สามารถขัดเกลาคำออกมาได้สนุก อ่านง่าย และลื่นไหล ทั้งเพลงและบทกลอนของเหล่าอูมป้า-ลูมป้าส์ ที่ใช้เพื่อเสียดสีเหล่าเด็กๆ แต่ละคน ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ ก็สามารถแปลออกมาได้ไพเราะ ตลกปนสะใจ เป็นส่วนเสริมให้การอ่านสนุกมากยิ่งขึ้น

หนังสือเรื่องนี้มีทั้งหมด 30 ตอน แต่ละตอนไม่สั้น และไม่ยาวจนน่าเบื่อเกินไป สามารถอ่านได้เพลินๆ ยามว่าง ความสนุกของการอ่านฉากบรรยายถึงห้องต่างๆ ในโรงงานช็อคโกแลตของ วิลลี่ วองก้า ที่มีทั้งความมหัศจรรย์และความลับซุกซ่อนอยู่ ทำให้เหล่านักอ่านต่างใจจดใจจ่อที่จะอ่านให้ถึงเนื้อเรื่องตอนถัดไปไวๆ ถือเป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ที่บอกได้เลยว่า หากหยิบขึ้นมาอ่านแล้วจะทำให้คุณวางมันไม่ลงเลยทีเดียว 

03. ความสุขแห่งชีวิต (The Human Comedy) 

“ความเจ็บปวดจะต้องมีอยู่ในสิ่งต่างๆ เสมอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนเราจะต้องสิ้นหวังไปเสียหมด คนดีๆ ย่อมจะทำให้ความเจ็บปวดหายไปได้เสมอ…”

– ความสุขแห่งชีวิต, วิลเลียม ซาโรยัน
Tweet

ผู้เขียน: วิลเลียม ซาโรยัน

ผู้แปล: วิภาดา กิตติโกวิท

สำนักพิมพ์: มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม

เรื่องย่อ: 

เรื่องราวของโฮเมอร์และยูลิสซิส ลูกชายของครอบครัวแมคคอลี่กับผองเพื่อนชาวเมืองเล็กๆ ในแคลิฟอร์เนีย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพ่อตายในสงครามและพี่ชายคนโตสมัครเข้าเป็นทหาร โฮเมอร์วัย 14 ปี จึงกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว โดยเป็นพนักงานส่งโทรเลขหลังเลิกเรียน ซึ่งโทรเลขส่วนใหญ่ก็คือข่าวความตายของเด็กหนุ่มๆ ที่อาสาไปเป็นทหารนั่นเอง โฮเมอร์พยายามใช้ชีวิตไปตามปกติ แต่ขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกเศร้าทุกครั้งที่ไปส่งข่าวความตาย โฮเมอร์เป็นเด็กอ่อนไหว ความคิดลึกซึ้ง มีอารมณ์ขันมองโลกรอบๆ ตัว ด้วยความเข้าใจและมีความหวังถึงโลกที่ดีกว่าอยู่เสมอ

“ความสุขแห่งชีวิต : The Human Comedy” เล่มนี้ จะทำให้ผู้อ่านเห็นความดีงามของมนุษย์ ได้เห็นความเลวร้ายของสงครามที่ก่อให้เกิดความสูญเสียและความตาย ได้เห็นความจริง ความดี ความงาม ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และความเข้าใจชีวิต เนื้อหาในเล่มไม่ได้เหมาะสำหรับเยาวชนเท่านั้น ยังเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ด้วย สำหรับผู้ทื่ต้องประสบกับความสูญเสียและความไม่เข้าใจต่อเหตุการณ์หลายๆ อย่างในชีวิต หนังสือเล่มนี้อาจช่วยให้มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไม่ทุกข์จนเกินไปนัก สำหรับเยาวชนที่ได้อ่านจะได้เรียนรู้ทัศนคติอันดีงาม รู้จักการรัก การให้ และการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข

หนังสือเรื่อง ความสุขแห่งชีวิต เป็นวรรณกรรมเยาวชนอมตะเล่มโปรดของนักอ่านหลายๆ คน ซึ่งเขียนโดย วิลเลียม ซาโรยัน ชาวอเมริกันเชื้อสายอาร์เมเนียน ผู้ที่ผ่านชีวิตอันยากแค้น แต่เข้มข้นด้วยประสบการณ์ ก่อนที่จะประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศแก่คนทำงาน ในวงการสื่อสารมวลชนของประเทศสหรัฐอเมริกา

ความสุขแห่งชีวิต ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1943 และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปีเดียวกัน และสามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขาบทประพันธ์ยอดเยี่ยม มาครอง อีกทั้งยังได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ในปี ค.ศ. 1959 และเป็นละครเวทีในปี ค.ศ. 1984 

นอกจากนี้ จากบทสัมภาษณ์ล่าสุดของ สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ที่ได้ร่วมพูดคุยกับอาจารย์ไพฑูรย์ ธัญญา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2559 —(เปิดมุมมองเส้นทางนักเขียน ไพฑูรย์ ธัญญา กับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย) อาจารย์ได้ยกเรื่องนี้ให้เป็นวรรณกรรมภาษาต่างประเทศในดวงใจ โดยอาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า 

“แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นนวนิยายเยาวชน แต่หลังจากอ่านจบ หนังสือเล่มนี้ทำให้มุมมองในการมองโลกของอาจารย์เปลี่ยนไป มันทำให้อาจารย์มองโลกในแง่ดีขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนชีวิต และวิธีคิดของอาจารย์ไปเลยก็ว่าได้” 

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ ความอิ่มเอมใจ เป็นสิ่งที่ได้ภายหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรักและแง่คิดดีๆ จากคุณแม่ ความสัมพันธ์ของครอบครัว ความเมตตาของผู้ใหญ่ในเมือง และมิตรภาพระหว่างเด็กชายสองพี่น้อง โฮเมอร์ กับ ยูลิสซิส หรือแม้แต่ความเศร้าจากการสูญเสียใครบางคน มันคือความหลากหลายทางอารมณ์ที่อัดแน่นอยู่ในหนังสือเล่มนี้ โดยที่ วิลเลียม ซาโรยัน สามารถเขียนและสื่อออกมาได้อย่างกลมกล่อมมากๆ 

ภายใต้ฉากหลังของสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าจะไม่มีฉากรบก็ตาม แต่เมื่อพูดถึง “สงคราม” มันล้วนแฝงไปด้วยความรู้สึกเศร้าและความโหดร้าย ทว่ามันกลับไม่สามารถทำลายความสุขใจของผู้อ่านได้ และถึงแม้ว่ากลวิธีการเล่าเรื่องจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่มันกลับทำให้เหล่านักอ่านสามารถสัมผัสความอบอุ่นได้ผ่านตัวอักษรเหล่านั้น

บทบาทของแม่ จากตัวละครในเรื่องอย่าง แมคคอลี่ แม่ผู้สอนลูกให้มีจิตใจที่ดีงาม เธอหวังให้ลูกๆ ของเธอมีความสุขในการใช้ชีวิต โดยการไม่บังคับหรือห้ามในสิ่งที่ลูกทำ แต่เธอมักสอนลูกว่าควรคิดอะไรหรือไม่ควรคิดอะไรมากกว่า เพราะเธอเชื่อว่าความสุขแห่งชีวิตเริ่มต้นจากความคิดไม่ใช่การกระทำ 

“ทุกคนมีทั้งส่วนดีและไม่ดี เธอเองก็เหมือนกัน มันปนเปกันอยู่ในตัวคนทุกคน ทุกเชื้อชาติ รวมทั้งชาติของเราด้วย สำนึกของคนก็ต่อสู้อยู่กับฝ่ายตรงข้ามในตัวเขาเอง” 

– ความสุขแห่งชีวิต, วิลเลียม ซาโรยัน
Tweet

หลักปรัชญาการมองโลกในแง่ดี เป็นจุดเด่นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่านักอ่าน ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข สอนให้เราได้เห็นแง่มุมหนึ่งในการดำรงชีวิต เมื่อเรายึดเหนี่ยวสิ่งที่เรียกว่า การให้ การทำความดีและการรักเพื่อนมนุษย์ เป็นแบบอย่าง เราจะสามารถสัมผัสได้ถึงคำว่า “ความสุขแห่งชีวิต” ได้อย่างแท้จริง

04. ติสตู นักปลูกต้นไม้ (Tistou Les Pouces Verts)

“จงคัดค้านสงคราม แต่จงคัดค้านด้วยดอกไม้” 

ติสตู นักปลูกต้นไม้, โมรีส ดรูอง
Tweet

ผู้เขียน: โมรีส ดรูอง

ผู้แปล: อำพรรณ โอตระกูล

สำนักพิมพ์: ผีเสื้อ

เรื่องย่อ: 

“ติสตู นักปลูกต้นไม้” เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่ถูกผู้ใหญ่รอบตัวมองว่า “แปลก” เพียงเพราะเขามองโลกในมุมที่แตกต่างออกไป และไม่ยอมให้พวกผู้ใหญ่มาปิดกั้นความคิดของเขา ติสตู ทำให้เราเห็นว่า เด็กๆ นั้น มีดวงตาคู่พิเศษ มองสิ่งต่างๆ ไม่ว่าคนหรือสิ่งของ แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ที่ถูกความเคยชินครอบงำ

เมื่อติสตูเรียนถึงบทเรียนว่าด้วยเมืองและระเบียบ และเห็นสถานที่หนึ่งมีกำแพงมหึมา ไม่มีหน้าต่างแม้แต่บานเดียว บนกำแพงมีเหล็กปลายแหลมเสียบไว้โดยรอบ “ถ้าคุกน่าเกลียดน้อยกว่านี้” ติสตูพูด “บางทีนักโทษคงไม่อยากหนีเท่าไหร่นัก” แล้วภารกิจของติสตูก็เริ่มขึ้น เขาลงมือปลูกต้นไม้ ทำให้คุก โรงพยาบาล ชุมชนแออัด เป็นสถานที่น่าอยู่ด้วยต้นไม้ ดอกไม้ และติสตูค้นพบสิ่งวิเศษอย่างหนึ่งว่า ดอกไม้สามารถสกัดกั้นความชั่วร้ายได้!

หนังสือเรื่อง ติสตู นักปลูกต้นไม้ เป็นหนังสือที่มีผู้กล่าวขานทั่วโลก ที่แต่งโดย โมรีส ดรูอง ชาวฝรั่งเศส โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1968 และถูกนำมาใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนของนักเรียนภาษาฝรั่งเศสมานานกว่า 20 ปี สำหรับประเทศไทยได้ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในการแปลและจัดพิมพ์ โดยการพิมพ์ครั้งแรก ใช้ชื่อว่า ติสตู พ่อหนูนิ้วโป้งเขียว และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ติสตู นักปลูกต้นไม้ ที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ ข้อคิดจากเรื่องที่ต้องการปลูกฝังให้ทุกๆ คนที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้ได้รู้ว่า ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา ทุกคนล้วนมีความพิเศษในแบบของตนเอง และทุกคนสามารถทำสิ่งดีๆ ต่อตนเองและสังคม เพื่อสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้

วิธีการเล่าเรื่องคล้ายกับนิทาน การใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่ายและไม่ซับซ้อน แต่กลับแฝงไปด้วยปรัชญาที่ลึกซึ้งกินใจ แม้ว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้จบไปแล้ว แต่คำพูดและรูปประโยคเหล่านั้นยังคงตราตรึงอยู่ในใจ 

เราขอยกบทพูดบางส่วนในหนังสือ ติสตู นักปลูกต้นไม้ ที่เราอ่านแล้วประทับใจมาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกัน (สามารถสั่งซื้อหนังสือ ติสตู นักปลูกต้นไม้ เพื่ออ่านเนื้อเรื่องฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ)

  • “ผมได้เรียนรู้ว่ายารักษาโรคนั้นไม่อาจช่วยอะไรได้มาก ถ้าหัวใจเราเศร้าสร้อยครับ ผมได้เรียนรู้ว่า คนเราจะหายป่วยก็ต่อเมื่อเราอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป คุณหมอครับ ไม่มียาที่ช่วยให้เรามีความหวังบ้างหรือครับ”
  • “พวกผู้ใหญ่หักห้ามตัวเองไม่ให้ร้องไห้พวกเขาคิดผิด เพราะน้ำตาไปแห้งแข็งอยู่ภายในและทำให้จิตใจของพวกเขาแข็งกระด้าง” 
  • “คุณพ่อเป็นคนดี คุณทราบแล้วว่าท่านเป็นคนดี และท่านก็เป็นพ่อค้าปืนใหญ่ด้วย ตอนแรกอาจจะดูขัดๆ กันอยู่ ท่านเป็นคนที่รักเทิดทูนบุตรชาย ในขณะเดียวกันท่านก็สร้างอาวุธ เพื่อให้เด็กลูกของคนอื่นๆ กลายเป็นเด็กกำพร้า เรื่องทำนองนี้เราเห็นกันออกบ่อยเกินกว่าที่เราจะนึกเชื่อว่ามีจริง”

05. โมโม่ (Momo)

“เวลาคือชีวิต และชีวิตสถิตอยู่ในใจ”

ผู้เขียน: มิชาเอ็ล เอ็นเด้

ผู้แปล: ชินนรงค์ เนียวกุล

สำนักพิมพ์: แพรวเยาวชน

เรื่องย่อ: 

มนุษย์เราอาจมีเวลาในชีวิตไม่เท่ากัน บางคนสั้น บางคนยาว แต่ไม่ว่าจะยาวหรือสั้นแค่ไหน เราทุกคนต่างก็มีเวลาจำกัด เท่ากับชีวิตของเรา และนั่นย่อมหมายความว่า ไม่ว่าเราจะประหยัดเวลาสักแค่ไหน ไม่ว่าจะเร่งรีบทำการงานสักเพียงใด เวลาของเราก็ยังมีจำกัดเท่ากับชีวิตของเราอยู่ดี มนุษย์จึงต้องตัดสินใจเอาเองว่า จะทำอย่างไรกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น เพราะ “เวลาคือชีวิต และชีวิตสถิตอยู่ในหัวใจ” 

หนังสือเล่มนี้จะนำเสนอเรื่องราวของ “โมโม่” เด็กหญิงเร่ร่อนคนหนึ่งที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีญาติ บ้านของเธอคือโรงละครร้าง ในเมืองเล็กๆ ทุกคนในเมืองนั้นชอบมาหาโม่โม่ ผู้ใหญ่ชอบมาเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้ฟัง เด็กๆ ชอบมาจับกลุ่มเล่นกับโม่โม่ แต่เมื่อผู้ชายสีเทาเข้ามาในเมือง ทุกคนรอบข้างโมโม่ก็เปลี่ยนไป ผู้ชายสีเทาเข้ามายุยงให้ผู้คนพักผ่อนน้อยๆ ทำงานหนักๆ เลิกเสียเวลาติดต่อพูดคุยกับคนอื่น โมโม่ก็เลยโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ เธอรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงว่า ยิ่งมนุษย์พยายามจะประหยัดเวลามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีเวลาน้อยลงเท่านั้น เธอเลยพยายามช่วยเหลือให้สภาพสังคมแบบเดิมกลับมา ก่อนที่โลกนี้จะไม่เหลือเวลาให้คนได้พูดคุยกันอีกเลย…

หนังสือเรื่อง โมโม่ เป็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชนภาษาเยอรมันของ มิชาเอ็ล เอ็นเด้ ซึ่งเขียนไว้ในปี ค.ศ. 1973 ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 35 ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทยเช่นเดียวกัน โดยเขาใช้ “เวลา” เป็นจุดเด่นสำคัญของเรื่องนี้ โดยการถ่ายทอดเรื่องราวของ โมโม่ ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้เวลาของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งดูจะสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับยุคสมัยแห่งความเร่งรีบนี้ 

หัวใจหลักของโมโม่ คือการตั้งคำถามระหว่างความเชื่อที่ว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” กับความเชื่อที่ว่า “เวลาคือชีวิต” โดย มิชาเอ็ล เอ็นเด้ กล่าวว่า 

“สำหรับผมแล้ว โมโม่ คือ ตัวแทนของรูปแบบการดำเนินชีวิต เป็นภาพของมนุษย์จำพวกหนึ่ง เป็นตัวเอกที่ไม่มีคุณสมบัติของตัวเอง… เป็นมนุษย์ที่ใสสะอาด(เหมือนเด็ก) และกลายเป็นตัวเอกด้วยการดำรงอยู่ของตัวเอง… ผมคิดว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีวีรบุรุษหรือรูปแบบของมนุษย์ในอุดมคติ มนุษย์ก็คงไม่มีตำนาน และถ้าไม่มีตำนาน วัฒนธรรมของมนุษย์ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้…”

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ การแบ่งมุมมองออกเป็นสองฝ่าย โดยการถ่ายทอดออกมาให้เราๆ ตีความได้อย่างน่าสนใจ ผ่านตัวละคร “โมโม่” แทนภาพของคนในอุดมคติที่ไม่ผูกตัวเองกับเรื่องอะไร เป็นคนที่มีชีวิตเรียบง่าย ในขณะที่ “ผู้ชายสีเทา” กลับเป็นตัวแทนของคนที่มองเห็นเวลาเป็นเงื่อนไขในการแสวงหาผลประโยชน์ และเนื่องจากตัวละครทั้งสองฝ่าย มีความคิดสวนทางกัน จึงเป็นสิ่งที่ทำให้นักอ่านต้องคอยลุ้นและติดตามกันต่อไปว่า บทสรุปสุดท้ายแล้ว ฝ่ายใดกันแน่ที่จะได้อยู่และฝ่ายใดที่ต้องจากไป

หนังสือเรื่อง “โมโม่” เล่มนี้ ช่วยสะกิดให้เราเห็นคุณค่าของเวลาและสอนให้เรารู้จักบริหารจัดการเวลา เราทุกคนมีเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่ว่าเราจะจัดสรรกับมันอย่างไร เราต่างต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย จนเกิดคำถามขึ้นว่า ระหว่างที่คุณงานทำเช่นนี้อยู่ทุกวัน แท้จริงแล้วคุณมีความสุขกับมันหรือไม่ คุณอยู่ร่วมกับครอบครัวของคุณอย่างไร ต่างคนต่างอยู่ หรือเปี่ยมไปด้วยความใส่ใจซึ่งกันและกัน 

สุดท้ายนี้ อยากจะบอกว่าพวกเรามี ผู้ชายสีเทา ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ เพียงแค่ไม่มีโมโม่คอยช่วยเหลือเรา เพราะฉนั้น “ตัวเรา” เท่านั้นที่จะเอาชนะผู้ชายสีเทาเหล่านี้ในตัวของเราได้

06. จินตนาการไม่รู้จบ (The Neverending Story)

“หากยึดติดอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ย่อมแล้งจินตนาการ…หากจมปลักอยู่ในโลกจินตนาการ ย่อมสูญเสียสำนึกแห่งการมองโลกตามความเป็นจริง…”

– จินตนาการไม่รู้จบ, มิชาเอ็ล เอ็นเด้
Tweet

ผู้เขียน: มิชาเอ็ล เอ็นเด้

ผู้แปล: รัตนา รัตนดิลกชัย

สำนักพิมพ์: แพรวเยาวชน

เรื่องย่อ: 

จินตนาการไม่รู้จบ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของบาสเตียน บัทธาซาร์ บูกซ์ เด็กชายวัยสิบขวบ ร่างอ้วน อ่อนแอ ขี้ขลาด ผู้ที่คิดว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการของใคร ไม่ว่าจะเป็นพ่อผู้ซึมเศร้าและหมกมุ่นอยู่กับงานตั้งแต่แม่เสียชีวิตไป ครูและเพื่อนที่ไม่ค่อยจะสนใจ การผจญภัยของเขาเริ่มต้นตั้งแต่เขาได้อ่านหนังสือเรื่อง ตำนานไม่รู้จบ ที่ขโมยมาจากร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ในตอนแรกเขารู้สึกเหมือนกำลังอ่านตำนานการผจญภัยของอันเทรอู เด็กชายผู้กล้าหาญที่ได้รับภารกิจสำคัญในการตามหาวิธีการรักษาอาการประชวรของยุวจักรพรรดินี แต่ต่อมาบาสเตียนได้กลายเป็นตัวละครคนสำคัญที่โลดแล่นอยู่ในเรื่อง เพื่อช่วยอาณาจักรจินตนาการไม่ให้ล่มสลาย

หนังสือเรื่อง จินตนาการไม่รู้จบ วรรณกรรมเยาวชนแปลอีกเรื่องของนักเขียนสัญชาติเยอรมันอย่าง มิชาเอ็ล เอ็นเด้ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศเยอรมัน เมื่อปี ค.ศ. 1979 และฉบับภาษาอังกฤษโดย ราล์ฟ แมนเฮม ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1983 เป็นหนังสือที่ได้รับตรา Best of the World นอกจากนี้ จินตนาการไม่รู้จบ ยังได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน โดยออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1984 กำกับโดย โวล์ฟกัง ปีเตอร์เซน และยังได้รับการดัดแปลงเป็นมินิซีรีส์เมื่อปี ค.ศ. 2001 อีกด้วย 

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ การใช้วิธีเล่าตัดฉากสลับไปสลับมาระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกในจินตนการของบาสเตียน โดยใช้สีของตัวอักษรในการแบ่งโลกทั้งสองโลก เรามองว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เราไม่ค่อยจะเจอในหนังสือเล่มอื่นๆ 

แม้ว่าการเล่าเรื่องผ่านการผจญภัยในโลกจินตนาการของตัวละคร บาสเตียน จะทำให้เหล่านักอ่านต่างรู้สึกลุ้นและสนุกสนานไปกับมัน แต่หนังสือเล่มนี้ก็ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญเอาไว้ในตอนจบของเรื่องนั่นคือ การสอนให้คนเราหันกลับมารักตัวเอง ไม่มีสิ่งใดจะดีเท่าการรักและเคารพในสิ่งที่ตัวเองเป็น 

สุดท้ายนี้ เมื่อเราหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เหล่านักอ่านทุกคนก็คือ บาสเตียน เด็กชายในวัย 10 ขวบที่กำลังอ่านหนังสือและใช้จินตนาการโลดแล่นไปสู่โลกจริง ที่จิตใจของเรานึกคิดและสร้างขึ้นมาตามความปรารถนาของเรา 

07. น้องแป้ง (Flour Babies) 

ผู้เขียน: แอนน์ ไฟน์

ผู้แปล: สุมนา บุณยะรัตเวช

สำนักพิมพ์: ผีเสื้อ

เรื่องย่อ: 

‘น้องแป้ง’ เป็นเรื่องของ ไซม่อน เด็กผู้ชายที่ค่อนข้างจะเกเร ดื้อ และไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีพฤติกรรมก่อกวนเพื่อนอยู่เสมอ ลึกๆ ที่ทำแบบนั้น ก็เพราะอยากเรียกร้องความสนใจ ความต้องการมากที่สุดของไซม่อนก็คือ อยากให้พ่อที่หายไปจากชีวิตตั้งแต่ตัวเองยังจำความไม่ได้กลับมาหาเขา 

จนวันหนึ่งที่ครูให้เด็กนักเรียนในห้องทำโครงการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเรียนรู้พัฒนาการเด็ก ชื่อว่าโครงการ ‘น้องแป้ง’ โดยครูจะให้เด็กแต่ละคนทำหน้าที่ดูแลถุงแป้งคนละหนึ่งถุง ขนาดหกปอนด์ เป็นเวลาสามสัปดาห์ โดยให้ดูแลถุงแป้งนี้เหมือนกับเป็นเด็กคนหนึ่ง และบันทึกสิ่งที่ได้พบเจอรวมถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นของแต่ละคนในช่วงที่ได้ดูแล ‘น้องแป้ง’

การที่ไซม่อนได้ดูแลน้องแป้ง ทำให้เขาได้พบกับความยุ่งยากวุ่นวาย ในขณะเดียวกัน เขาก็เริ่มเข้าใจและรับรู้ว่าการที่แม่เลี้ยงเขามาคนเดียวนั้น มันยากขนาดไหน เข้าใจถึงความรักที่แม่มีให้ และเข้าใจว่าการที่เขาทำตัวเกเรแบบนี้ จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีประโยชน์ และมันไม่ได้ช่วยให้พ่อกลับมาหา เขาจึงตั้งใจว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นเด็กที่ดีขึ้น

หนังสือเรื่อง น้องแป้ง เขียนโดย แอนน์ ไฟน์ เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 2 รางวัลคือ รางวัลเหรียญคาร์เนกี้ และรางวัลวิทเบรด นอกจากนี้ หนังสือเรื่องนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในโรงเรียนมัธยมหลายสิบประเทศทั่วโลก และเคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ การที่ แอนน์ ไฟน์ เขียนให้ตัวละคร ไซม่อน มีมิติที่หลากหลายและมีการพัฒนาบุคลิก โดยใช้ตัวกลางอย่าง น้องแป้ง เป็นการคลายปมในจิตใจของไซม่อนไปอย่างช้าๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล จากเด็กที่ซุกซน เกเร ชอบกลั่นแกล้งเพื่อนและไม่สนใจการเรียน ให้กลายเป็นเด็กที่เห็นอกเห็นใจเพื่อนๆ และคนรอบข้าง รักแม่มากขึ้น เป็นเด็กดีและตั้งใจเรียน 

นอกจากนี้ พล็อตของเรื่อง น้องแป้ง ล้วนสอดแทรกไปด้วยข้อคิดให้เหล่านักอ่าน ได้กลับมาทบทวนและทำความเข้าใจกับตัวเองมากขึ้น โดยนักเขียนสามารถบรรยายออกมาได้อย่างลึกซึ้ง ผ่านมุมมองของเด็กชายไซม่อน วัย 14 ปี ที่สุดท้ายก็ค้นพบความหมายของการมีชีวิต เข้าใจและรักในความแตกต่างของตนเอง

08. นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน (The Story of A seagull and The Cat Who Taught Her To Fly)

“เราต้องอย่าลืมตัวตนของเราและคุณค่าในตัวเอง เราต้องรักในตัวตนที่เราเป็น”

– หลุยส์ เซปุล์เบดา: นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน
Tweet

ผู้เขียน: หลุยส์ เซปุล์เบดา

ผู้แปล: สถาพร ทิพยศักดิ์

สำนักพิมพ์: ผีเสื้อ

เรื่องย่อ: 

หนังสือแปลจากภาษาสเปนเล่มนี้ เป็นเรื่องราวของลูกนกนางนวลที่กำพร้าแม่ เพราะแม่นกถูกคราบน้ำมันดิบที่รั่วจากเรือเปื้อนขนจนบินไม่ได้ ก่อนตายแม่นกได้ฝากไข่ไว้กับแมว ขอร้องให้แมวสัญญาว่าจะเลี้ยงและสอนลูกนกให้บิน ฝูงแมวแห่งท่าเรือเมืองฮัมบูร์กได้ช่วยกันเลี้ยงนกน้อยจนโตพอจะหัดบิน แต่การบินไม่ใช่ธรรมชาติของแมว มวลแมวจึงต้องหาวิธีการสอน แมวแต่ละตัว มีทั้งแมวดำอ้วนพีที่มุ่งมั่นรักษาสัญญา แมวเจ้าพ่ออาวุโสที่พูดจาผิดๆ ถูกๆ ไม่เคยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ แต่ให้คำแนะนำที่ช่วยให้รู้สึกดี แมวเลขานุการช่างประชด แมวรักการอ่านผู้เชื่อว่าหาความรู้ทุกชนิดได้จากหนังสือ แม้กระทั่งการสอนนกหัดบิน โดยใช้หลักการบินจากสารานุกรม มันพูดว่า “ทุกครั้งที่เห็นหน้าหนังสือ ฉันก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ“ 

ทว่าภารกิจสำคัญนี้ไม่ได้มีแต่แมวกับนก มนุษย์ก็ได้รับหน้าที่ช่วยนกหัดบินด้วย วิธีที่แมวเลือกมนุษย์ให้มาเป็นผู้ช่วยนั้น ก็เลือกจากความน่าไว้วางใจ และผู้น่าไว้วางใจก็คือกวี เพราะเมื่อแมวได้ฟังสิ่งที่กวีเขียนก็ “ทำให้รู้สึกยินดี บางครั้งให้เศร้าใจ แต่มักทำให้หัวใจเป็นสุข และอยากฟังต่อ” ผู้เขียนเล่าวิธีการหัดบินของนกน้อยโดยแทรกปรัชญาชีวิตน่าคิดไว้อย่างแนบเนียน ในที่สุดก็ทำสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์

หนังสือเรื่อง นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน เป็นหนังสือวรรณกรรมแปลภาษาสเปนของ หลุยส์ เซปุล์เบดา ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1996 โดยมีชื่อภาษาสเปนว่า Historia De Una Gaviota Y Del Gato Que Le Enseno A Volar ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 30 ภาษาทั่วโลก โดยประเทศไทยได้รับการแปลและพิมพ์เป็นประเทศที่ 30 

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ ภาษาที่เรียบง่ายและการดำเนินเรื่องที่สั้นและกระชับ เป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ที่เราชอบมากๆ การเล่าเหตุการณ์ที่ไม่ยืดเยื้อ เรามองว่ามีผลอย่างมากในการกระตุ้นให้เด็กสามารถอ่านหนังสือได้เยอะขึ้น เพราะเรื่องราวจะดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่น่าเบื่อ นอกจากนี้ พล็อตเรื่องยังแฝงไปด้วยปรัชญาที่สามารถทำให้เหล่านักอ่านนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ยกตัวอย่างเช่น การรักษาสัจจะ การมีความกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา การมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ การรู้รักสามัคคี และสุดท้ายคือการมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นต้น

บทบาทของ แม่ ที่ถ่ายทอดผ่านแมวดำตัวอ้วนกลมอย่าง ซอร์บาส และเหล่าผองเพื่อนแมว ที่คอยปกป้องและดูแลลูกนกน้อย โชคดี ด้วยความรักจากใจจริง เป็นความสัมพันธ์ที่เราสามารถสัมผัสได้ถึงความน่ารักและความอบอุ่นใจในทุกครั้งที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน

“ฉันรักแม่จ้ะ แม่เป็นแมวดีที่สุด”

“ฉันจะไม่มีวันลืมแม่เลยจ้ะ แมวอื่นๆ ด้วย”

– โชคดี, นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน

09. ประคำลูกโอ๊ค (The Acorn People)

“หากคุณท้อแท้…ความเชื่อมั่นและความกล้าหาญของเด็กพิการกลุ่มนี้ จะจุดประกายความเชื่อมั่นให้คุณได้”

– ประคำลูกโอ๊ค, รอน โจนส์
Tweet

ผู้เขียน: รอน โจนส์

ผู้แปล: มนันยา

สำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์สายน้ำและสำนักพิมพ์สมิต

เรื่องย่อ: 

เรื่องราวของเด็กพิการที่ไปค่ายฤดูร้อน ที่แม้จะพบกับอุปสรรคเพราะความพิการทางร่างกาย แต่พวกเขาไม่ท้อแท้ที่จะสร้างความทรงจำประทับใจ การมาค่ายครั้งนี้จึงรวมกลุ่มช่วยกันเก็บลูกโอ๊คมาร้อยเป็นสร้อยคอ และเรียกกลุ่มของตนเองว่า ประคำลูกโอ๊ค จนกลายมาเป็นตัวแทนความทรงจำของคืนวันดีๆ ที่หลงเหลืออยู่ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

หนังสือเรื่อง ประคำลูกโอ๊ค เป็นวรรณกรรมเยาวชนแปลของ รอน โจนส์ ชาวอเมริกัน ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์จริง ขณะเป็นที่ปรึกษาค่ายเด็กพิการ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1976 และได้รับรางวัลหนังสือคริสเตียนแห่งปี (Christian Book of the Year) อีกทั้งยังได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์เมื่อปี ค.ศ. 1981 

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ การใช้ภาษาที่เรียบง่าย สะท้อนเรื่องราวของเด็กพิการในรูปแบบต่างๆ โดยสามารถร้อยเรียงเรื่องราวออกมาได้สั้นและกระชับ และถึงแม้ว่าสำนวนการแปลอาจจะมีคำศัพท์เก่าๆ ปะปนอยู่บ้าง เพราะหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ค่อนข้างนานแล้ว แต่เราก็สามารถอ่านได้เข้าใจ ไม่ติดขัดอะไร 

ประคำลูกโอ๊ค เป็นวรรณกรรมที่ทำให้คนอ่านอบอุ่นหัวใจ สอนข้อคิดของการมีความหวังและเชื่อมั่นในตนเอง โดยการเล่าเรื่องราวของกลุ่มเด็ก ซึ่งพิการทางกาย แต่ไม่พิการทางใจ มีเนื้อเรื่องที่สมเหตุสมผล และการบรรยายความรู้สึกของตัวละครได้อย่างมีเสน่ห์ล้นเหลือ ที่จะทำให้ผู้อ่านอย่างเราๆ อดน้ำตาซึมไม่ได้ สุดท้ายนี้ ถ้าหากใครกำลังท้อแท้หรือสิ้นหวัง เราเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยปลอบประโลมคุณได้อย่างแน่นอน

10. แมวน้อย 100 หมื่นชาติ (100万回生きたねこ)

“มีแมวตัวหนึ่ง มีชีวิตอยู่ถึง 100 หมื่นปี คน 100 หมื่นคน เคยร้องไห้เมื่อแมวตัวนี้ตาย แต่แมวน้อยไม่เคยร้องไห้เลย แม้แต่ครั้งเดียว” 

– แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ, โยโกะ ซาโนะ
Tweet

ผู้เขียน: โยโกะ ซาโนะ

ผู้แปล: พรอนงค์ นิยมค้า

สำนักพิมพ์: แพรวเพื่อนเด็ก

เรื่องย่อ: 

แมวน้อยลายเสือตัวหนึ่งเคยเกิดมาเป็นแมวแล้ว 100 หมื่นชาติ ทุกชาติแมวน้อยมีทาสที่รักและคอยดูแล และเมื่อมันตาย เจ้าของแมวน้อยต่างร้องไห้โศกเศร้าเสียใจ แต่แมวน้อยกลับไม่เคยร้องไห้เสียใจเลยสักครั้ง จนมาถึงชาตินี้มันเกิดเป็นแมวข้างถนน ไม่มีเจ้าของ ไม่มีคนที่รักมัน แต่มันกลับชอบและรักตัวเองมากที่สุด และในชาตินี้แมวน้อยได้เจอกับแมวขาว ความรักครั้งแรกในรอบ 100 หมื่นชาติของแมวน้อย

หนังสือเรื่อง แมวน้อยหนึ่งร้อยหมื่นชาติ เป็นหนังสือภาพที่ยิ่งใหญ่มากเล่มหนึ่งของโลก โดย โยโกะ ซาโนะ เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน ปี ค.ศ. 1977 โดยใช้ชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 100万回生きたねこ ที่แปลในภาษาไทยตรงตัวได้ว่า แมวน้อยอายุล้านปี หรือ แมวที่เกิดมาแล้วล้านครั้ง ดังชื่อภาษาอังกฤษที่ได้รับการแปลว่า The Cat that lived a Million Times  นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังได้รับการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ ละครเวที บทเพลงและอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน 

สิ่งที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือ เสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ดึงดูดให้เหล่านักอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต้องหันมามองและพินิจพิจารณากัน ตั้งแต่ชื่อเรื่องบนปกหนังสือเลยทีเดียว “แมวน้อย 100 หมื่นชาติ” แล้ว 100 หมื่นชาติมันเท่ากับเท่าไรกันนะ คิดไปคิดมา อ้อ! มันคือหนึ่งล้านชาตินั่นเอง 

เราขอชื่นชมทักษะการแปลของคุณ พรอนงค์ นิยมค้า อย่างที่สุด ที่สามารถแปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยได้ดีมากๆ ยกตัวอย่างเช่น การแปลโดยการเล่นคำกับภาษาญี่ปุ่น ในส่วนของชื่อเรื่องของหนังสือเล่มนี้ คุณอนงค์ได้เลือกหยิบคำว่า 100 หมื่นมาใช้แทนคำว่า 1 ล้าน เนื่องจาก การนับตัวเลขในภาษาญี่ปุ่นมีสูงสุดเพียงแค่หลักหมื่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คำว่า 100 หมื่นที่นำมาใช้นั้น กลับสะดุดตาเหล่านักอ่านคนไทยเข้าอย่างจัง เพราะเป็นชื่อที่จำง่าย และยังช่วยเน้นย้ำให้ความรู้สึกถึงระยะเวลาที่เนิ่นนาน ที่เจ้าแมวน้อยได้กลับชาติมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

การนำเสนอในรูปแบบของหนังสือภาพเด็ก และการใช้ภาษาที่สื่อสารด้วยประโยคสั้นๆ กระชับ เรามองว่าหนังสือภาพเล่มนี้เหมาะกับเด็กๆ ในช่วงวัยที่กำลังพัฒนามากๆ เพราะภาษาอ่านง่าย รวมถึงภาพประกอบสีที่จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการ อย่างไรก็ตาม เรามองว่าผู้ใหญ่ก็สามารถอ่านเรื่องนี้ได้อย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งสามารถสัมผัสถึงแง่มุมอื่นๆ ในการใช้ชีวิต ผ่านตัวอักษรและเรื่องราวของแมวน้อยที่โลดแล่นอยู่ในหนังสือเล่มนี้

บทส่งท้าย

แม้ว่าหนังสือบางเล่มที่เราแนะนำจะไม่โด่งดังหรือได้รับรางวัลการันตี แต่เราจะสังเกตได้ว่าหนังสือ วรรณกรรมเยาวชน ทั้ง 10 เล่ม ล้วนสอดแทรกปรัชญา คำสอน และแง่คิดต่างๆ ที่เรามองว่า ไม่ว่าจะหยิบหนังสือเหล่านี้ขึ้นมาอ่านอีกสักกี่ครั้ง เราก็จะได้ข้อคิดใหม่ๆ กลับไปทุกครั้ง และทุกๆ คนสามารถสัมผัสได้ถึงความพิเศษของการอ่าน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม  

เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ
เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
ผู้เขียน: พิชญา วัฒนไพบูลย์
บรรณาธิการ: วรางกุล วิลาวัณย์
ภาพประกอบบทความ: พิชญา วัฒนไพบูลย์

บรรณานุกรม 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *