เปิดมุมมองเส้นทางนักเขียน ไพฑูรย์ ธัญญา กับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

บทสัมภาษณ์ศิลปินผู้สร้างสรรค์เรื่องราวผ่านตัวอักษร ไพฑูรย์ ธัญญา เกี่ยวกับวงการงานเขียนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

วันนี้ทาง สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ อาจารย์ ไพฑูรย์ ธัญญา ผู้มีผลงานวรรกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์ และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งอาจารย์ได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุย และตอบคำถามกับพวกเราในประเด็นเรื่อง เส้นทางของอาชีพนักเขียน แนวโน้มของงานในตลาดวรรณกรรม รวมไปถึงการปรับตัวในยุคสมัยที่สื่อเปลี่ยนแปลงไป โดยการสัมภาษณ์ในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร น่าสนใจขนาดไหน ไปติดตามและหาคำตอบไปพร้อมๆ กับพวกเราได้เลย!

Q: จริงไหมที่อาชีพนักเขียนของอาจารย์ เกิดจากนิสัยรักการอ่านในช่วงวัยเด็ก

A: แน่นอน นักเขียนส่วนใหญ่เริ่มต้นแบบนี้กันทั้งนั้น ต้องบอกก่อนว่าอาจารย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อตั้งเป้าหมายที่จะเป็นนักเขียนเลยนะ เนื่องจากพ่ออาจารย์เป็นครู มีหนังสือเยอะ อาจารย์เลยได้อ่านหนังสือเยอะไปด้วย จนเกิดเป็นความชอบ บ้านของอาจารย์อยู่ในชนบท หนังสือจึงเป็นสื่อเดียวที่เราสามารถเข้าถึงความบันเทิงได้ในยุคสมัยนั้น ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่าน อาจารย์อ่านหนังสือผู้ชนะสิบทิศจบตั้งแต่อยู่ประถม 5 ตั้งแต่นั้นก็ค้นพบว่าตนเองชอบงานวรรณกรรม

เมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้นก็กลายเป็นนักอ่าน เมื่อเราได้อ่านเยอะมากขึ้น สิ่งที่เราได้มาโดยที่ไม่รู้ตัวคือ รูปคำ ประโยค สำนวนภาษาที่เราซึมซับมาจากการอ่าน เวลาเราเขียน มันเหมือนเรามีต้นทุนมาจากสิ่งนี้อยู่แล้ว มันก็ง่าย และถือเป็นข้อได้เปรียบ วิชาเรียงความอาจารย์ได้คะแนนสูงสุดตลอดในทุกระดับชั้นที่เรียน เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยอาจารย์เริ่มสนใจเหตุการณ์บ้านเมืองสำคัญอะไรหลายๆ อย่าง อาจารย์เลยเริ่มมีความฝันอยากที่จะเขียนหนังสือ เพื่อบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้

__________________________________________________

 ไพฑูรย์ ธัญญา

Q: ช่วงแรกอาจารย์เริ่มงานเขียนจากบทกวี แล้วเพราะอะไรถึงเปลี่ยนมาเป็นงานเขียนเรื่องสั้น

A: ความจริงแล้วในปัจจุบันก็ยังเขียนอยู่เรื่อยๆ นะ การเขียนบทกวีถือเป็นจุดเริ่มต้นของงานในวงการนี้เลย แต่อาจารย์เป็นคนที่สนใจอยากเขียนงานหลายๆ ประเภท อาจารย์เลยตัดสินใจลองเขียนเรื่องสั้น ในปีพ.ศ. 2522 อาจารย์เรียนจบไปเป็นครู ในสมัยนั้นมีวารสารครูชื่อ “ประชาบาล” จัดประกวดเรื่องสั้น อาจารย์เห็นแบบนั้นเลยลองเขียนส่งประกวดไป ชื่อเรื่องว่า ดอกไม้ที่เธอถือมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับครูและเด็กนักเรียนในวันไหว้ครู เรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของอาจารย์ ผลประกาศออกมาได้รางวัลชนะเลิศ อาจารย์ดีใจมาก ได้รับโล่เชิดชูเกียรติกับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย อาจารย์รู้สึกว่าการเขียนเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมมาก มันเหมือนเป็นสิ่งที่จุดประกายไฟในตัวของอาจารย์ในการเขียนเรื่องสั้นเรื่องต่อไป

Q: อะไรคือที่มาของนามปากกา “ไพฑูรย์ ธัญญา”

A: สำหรับนามปากกา ไพฑูรย์ ธัญญา จริงๆ แล้ว เป็นชื่อของอาจารย์สองชื่อรวมกัน ตอนเด็กๆ แม่ของอาจารย์ตั้งใจที่จะตั้งชื่อให้อาจารย์ว่า “ไพฑูรย์” แต่คนที่ไปจดทะเบียนสูติบัตรคือ พ่อ พ่ออาจารย์เลยตั้งชื่อให้ว่า “ธัญญา” ที่มีความหมายว่า ข้าวเปลือก แต่แม่อาจารย์ก็ยังรักชื่อ ไพฑูรย์ อยู่ ชื่อนี้เลยกลายเป็นเหมือนชื่อเล่นของอาจารย์ ในตอนที่คิดนามปากกาอาจารย์ก็คิดว่า หากใช้ชื่อนามสกุลจริง มันก็ยาวไป เลยตัดสินใจเอาชื่อทั้งสองชื่อมารวมกัน จนกลายเป็นนามปากกา ไพฑูรย์ ธัญญา ในปัจจุบัน

__________________________________________________

Q: เหตุการณ์เป็นมาอย่างไร ที่ทำให้จากงานเขียนส่งประกวดวารสาร นิตยสารถึงได้พลิกผันไปจนถึงขั้นได้รับรางวัลซีไรต์ 

A: หลังจากเรื่องแรกได้รับรางวัล อาจารย์ก็หันเหความสนใจมาที่งานเขียนเรื่องสั้นอย่างจริงจัง อาจารย์เขียนเรื่องสั้นประกวดไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเข้ารอบในการคัดเลือก งานก็จะได้ลงตีพิมพ์ ตอนนั้นเรื่อง คนต่อนก เป็นเรื่องสั้นที่อาจารย์ใช้นามปากกาไพฑูรย์ ธัญญาเป็นครั้งแรก อาจารย์เขียนส่งไป ไม่คิดหรอกว่าตัวเองจะได้เข้ารอบ ปรากฎว่าประกาศผลออกมาตนเองได้ โอ้โห ครั้งนี้มันยิ่งกว่ารางวัลที่ได้ครั้งแรกอีก เพราะงานประกวดนี้เป็นสนามใหญ่ของนักเขียนเรื่องสั้นร่วมสมัยในตอนนั้นเลย แต่สุดท้ายในรอบตัดสินก็ไม่ได้ ภายหลังมีคนมาเล่าให้อาจารย์ฟังว่า ความจริงแล้วอาจารย์ได้รางวัล 1 ใน 3 นะ แต่เพราะว่าอาจารย์เป็นนักเขียนหน้าใหม่ โนเนม สู้นักเขียนที่มีชื่อเสียงไม่ได้ เขาเลยไม่ให้ อาจารย์ก็คิดว่าเราไม่ธรรมดานะเนี่ย จากนั้นก็เขียนเรื่องสั้นประกวดไปอีกเรื่อยๆ  

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2528 อาจารย์มีเรื่องสั้นอยู่ประมาณ 15-16 เรื่องที่ได้ตีพิมพ์ อาจารย์จึงตั้งใจที่จะรวมเล่ม กลุ่มเพื่อนอาจารย์จึงพาไปหาสำนักพิมพ์ อาจารย์นำต้นฉบับไปเสนอ เขาก็ไม่รับ จำได้ว่าไปหลายที่มากๆ เนื่องจากเราเป็นนักเขียนหน้าใหม่ ไม่มีชื่อเสียง มันเลยยากหน่อย ถึงแม้ว่าเราจะได้รางวัลมาบ้างแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายก็มี “สำนักพิมพ์สุขภาพใจ” ตัดสินใจพิมพ์ให้ เป็นหนังสือเล่มแรกคือ หนังสือรวมเรื่องสั้น ก่อกองทราย

แต่ก็ขายไม่ค่อยได้หรอก ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 อาจารย์อายุได้ 31 ปี สำนักพิมพ์เขาส่งเรื่องนี้ไปประกวดซีไรต์ บังเอิญว่า ก่อกองทราย ได้เข้ารอบมาถึงรอบสุดท้าย 7 เล่ม มากกว่านั้นคือ ในหนังสือทั้ง 7 เล่มนั้น มีอาจารย์คนเดียวที่เป็นนักเขียนหน้าใหม่ นักเขียนท่านอื่นเป็นผู้มีชื่อเสียง มีผลงานในวงการเยอะแล้วทั้งนั้น ในสมัยนั้นซีไรต์เพิ่งจัดขึ้นได้ไม่นาน และถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรางวัลที่ดังมากๆ เมื่อประกาศผลออกมาแล้วอาจารย์ได้ ถือได้ว่าหักปากกาเซียนเลย เพราะหลายๆ คนมองว่านักเขียนที่มีชื่อเสียงท่านอื่นๆ จะได้ไป หลังจากนั้นอาจารย์ก็หันมาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าการทำงานราชการควบคู่ไปด้วยจะเป็นอุปสรรคในอาชีพนักเขียนอยู่บ้าง เพราะอาจารย์อยากเดินทาง อยากหาประสบการณ์มาใช้ในงานเขียน แต่ท้ายที่สุดก็ปรับตัวและทำงานร่วมกันได้ 

__________________________________________________

Q: เส้นทางในวงการวรรณกรรมไทย จากนักเขียนหน้าใหม่ไปสู่ ศิลปินแห่งชาติ มีเหตุการณ์เป็นมาอย่างไร 

A: หลังจากได้รับรางวัลซีไรต์ อาจารย์ก็ได้ไปเป็นอาจารย์สอนภาควิชาภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื่องจากอาจารย์เรียบจบทางด้านภาษามาอยู่แล้ว งานเขียนที่เราได้ทำ เราก็ได้นำไปสอนเด็ก ทั้งงานวรรณกรรม การวิจารณ์ การเขียน ลูกศิษย์อาจารย์ในสมั้ยนั้น เรียนจบมาส่วนใหญ่ก็ได้เป็นนักเขียนกันหมด อาจารย์เลยรู้สึกว่า งานวิชาการที่เราทำประจำกับงานเขียนที่เราชอบ มันสามารถทำร่วมกันได้ จากนั้นอาจารย์ได้มีโอกาสจัดกิจกรรมขึ้น

เด็กต่างจังหวัดไม่ค่อยได้รับโอกาสที่จะเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้ไม่มีแรงบันดาลใจใหม่ๆ อาจารย์เลยจัดโครงการเชิญนักเขียนมา เนื่องด้วยเราเข้าวงการเขียน มีเพื่อนในแวดวงนี้เยอะ จึงติดต่อนักเขียนง่าย อาจารย์จัดทำ “ค่ายวรรณกรรมสัญจร” ทุกๆ ปี เป็นระยะเวลากว่า 25 ปี จนกระทั่งอาจารย์เกษียณเลยต้องหยุดทำ อาจารย์จำได้ว่าสนุกมาก เหมารถกันไป มีเก็บเงินกันบ้าง ของบประมาณบ้าง บางครั้งไม่มีอาจารย์ก็หาเงินกันเอง 

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2559 อาจารย์ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ จากผลงานเขียนส่วนหนึ่ง แต่โครงการนี้เองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ทำมาชั่วชีวิต เขาบอกอาจารย์ว่า คนที่จะเป็นศิลปินแห่งชาติได้ นอกจากการทำผลงานให้เป็นที่ยอมรับแล้ว จะต้องทำเพื่อสังคมด้วย จากโครงการ ค่าย กิจกรรมต่างๆ ที่อาจารย์ได้ทำขึ้นในวันนั้น เมื่ออาจารย์ได้เกษียณไป ลูกศิษย์อาจารย์ก็ได้ต่อยอดจากสิ่งที่อาจารย์ทำ และก็มีไม่น้อยเลยที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียน

__________________________________________________

Q: “กลุ่มนาคร” ที่จัดขึ้นมากว่า 40 ปีแล้ว อยากทราบว่ากลุ่มนี้มีความเป็นมาอย่างไร

A: กลุ่มนาคร มาจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนๆ นักเขียน และผู้คนที่สนใจในงานวรรกรรมทางภาคใต้ ไม่ว่าจะมาจากจังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช หรือจังหวัดอื่นๆ ก็จะนัดรวมตัวกัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องหนังสือ งานเขียน โดยคำว่า นาคร แปลว่า ชาวเมือง นะ ไม่ได้หมายถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ความจริงแล้วมันมีรากศัพท์เดียวกัน

__________________________________________________

Q: จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาระยะนึงแล้ว อยากทราบว่ามันส่งผลกระทบต่อมุมมองในการสร้างงานเขียนหรือการทำงานของอาจารย์ไหม

A: มีผลกระทบแน่นอน สำหรับนักเขียนอย่างผม การเขียนเรื่องสั้นเทียบกับการเขียนบทกวี ในสถานการณ์แบบนี้ การเขียนบทกวี เราสามารถทำได้นะ เพราะเป็นงานที่ต้องอยู่กับตัวเอง อยู่กับจิตวิญญาณ ความคิด แต่มุมมองของงานเขียนอื่นๆ เช่น เรื่องสั้น อาจารย์มองว่า มันเป็นงานที่เราต้องออกไปเจอผู้คน ต้องมองหาแรงบันดาลใจ เพราะเราเขียนเรื่องราวของสังคม อาจารย์มองว่าสถานการณ์โควิด-19 นี้เป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่มากๆ ในชั่วชีวิตของอาจารย์ คือเราอยู่มาหลายยุคแล้ว แต่ครั้งนี้รุนแรงที่สุด เพราะมันกระทบไปทั่วทั้งโลก 

__________________________________________________

Q: อาจารย์มีมุมมองต่องานเขียนในปัจจุบันอย่างไร และมีโอกาสไหมที่กลิ่นอายของงานวรรณกรรมในสมัยก่อน จะกลับมาเฟื่องฟูในปัจจุบันและอนาคต

A: เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วรรณกรรมมันสามารถเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย ตามบริบทของสังคม สังเกตดูนะในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียน การอ่าน การวิจารณ์ จนไปถึงการจำหน่าย ทุกอย่างมันปรับเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์เสียส่วนใหญ่แล้ว ประเภทงานเขียนถ้าเทียบกับในยุคก่อนก็เปลี่ยนไป แต่มันก็มีข้อดีนะ มันทำให้มีงานเขียนมีความหลากหลายมากขึ้น จากการที่อาจารย์ได้มีโอกาสในการเป็นกรรมการอ่าน และตัดสินรางวัลซีไรต์ประเภทนิยาย อาจารย์พบว่านิยายที่ได้เข้ารอบ 10 เล่มสุดท้าย เป็นนิยายแนวสร้างสรรค์ ที่เรียกได้ว่า นักเขียนพยายามสรรหาวิธีการเล่าที่ในบางครั้ง มันยากเกินไปสำหรับนักอ่านนะ แต่อาจารย์ก็โอเค ถือว่าเป็นรูปแบบใหม่ๆ แต่ถ้าถามว่ากลิ่นอายงานวรรณกรรมในสมัยก่อนยังมีปะปนในงานเขียนปัจจุบันไหม มันก็ยังมีนะ มีนักเขียนอยู่คนหนึ่งที่หยิบยกลีลา และกลวิธีในการเล่าเรื่องแบบการเขียนในสมัยปี พ.ศ. 2475 ของ ศรีบูรพา ผู้เขียน ข้างหลังภาพ หรือ เสนีย์ เสาวพงศ์

ต้องบอกก่อนว่า แนวงานเขียนที่ได้รางวัลซีไรต์ เรียกว่า วรรณกรรมแนววรรณศิลป์ ซึ่งจะเน้นเทคนิค วิธีการใหม่ๆ นักเขียนส่วนใหญ่จะไม่พอใจในรูปแบบเดิม ซึ่งหลายๆ คนก็เขียนย้อนยุคไป บางคนก็ล้ำไปข้างหน้า ที่เขาเรียกว่า วรรณกรรมหลังกระแสใหม่ หรือ Post modern ซึ่งถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ใหม่ เมื่อก่อนงานเขียนก็จะแยกประเภทเป็นงานบันเทิง สมมติขึ้น (Fiction) เช่น นิยาย เรื่องสั้น เป็นต้น กับงานสารคดี (Non-fiction) ที่ให้ความรู้จากเรื่องและเหตุการณ์จริง แต่งานวรรณกรรมหลังกระแสใหม่ บางเรื่องคือการเอาทั้ง 2 ประเภทนี้มารวมกัน ไม่มีเส้นแบ่ง บางครั้งจึงทำให้สับสนว่าเรื่องไหนแต่ง เรื่องไหนจริง ซึ่งนักเขียนในไทยเองหลายๆ คน สามารถแต่งเรื่องนี้ได้ดีมากๆ ทั้งประเด็น รูปแบบ วิธีการคิด เมื่อเทียบกับอาเซียน นักเขียนไทยเรานั้นก็ไม่น้อยหน้าใคร เพียงแต่ว่าไม่ได้รับการเผยแพร่ ไม่มีการแปลเป็นภาษาอื่นๆ อีกส่วนคือ ในสังคมเองก็อ่านหนังสือกันน้อยมาก นี่ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในวงการงานเขียน

__________________________________________________

Q: ไม่นานมานี้ สำนักพิมพ์ทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างทยอยออกมาประกาศปิดตัว และลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับในอดีตที่ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของสำนักพิมพ์ อาจารย์คิดว่าสาเหตุนี้ส่งผลกระทบกับวงการนักเขียนมากน้อยแค่ไหน

A: ส่งผลกระทบมากๆ เลย โดยเฉพาะธุรกิจหนังสือ อาจารย์คิดว่าถ้าเรามองในเชิงทฤษฎี วรรณกรรมมันขึ้นอยู่กับบริบทสังคม แต่ถ้าเรามองในแง่สังคมวิทยา วรรณกรรมก็ประกอบไปด้วยผู้สร้าง และผู้สนับสนุนหรือที่เรียกว่า แม่ยกทางวรรณกรรม เช่น สำนักพิมพ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ ถ้าย้อนไปในสมัยก่อน พระราชสำนักจะเป็นฝ่ายชุบเลี้ยงนักเขียน ยกตัวอย่างเช่น สุนทรภู่ ต่อมาเป็นภาคเอกชนที่เข้ามารับช่วงต่อในการสนับสนุน ผลิตนักเขียนและผลงานออกมาเยอะมาก

คนในยุคนั้นก็อ่านหนังสือกันเยอะเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน มีร้านหนังสืออยู่ทุกมุมถนน เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือ งานเขียน สำนักพิมพ์ต่างก็มีหลากหลายประเภท แต่หลังจากที่ยุคดิจิทัลเข้ามา ทุกๆ อย่างก็ต้องมีการปรับตัว แต่สิ่งที่ปรากฎให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง เราเป็นวัฒนธรรมที่อ่อนแอมากในการอ่าน แต่ถ้าถามว่า หนังสือดิจิทัล เช่น E-Book ในประเทศเราเวิร์กไหม ตอบได้เลยว่า ไม่ เพราะเมื่อหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา มันมีสื่ออื่นๆ มาหลอกล่ออยู่ตลอด ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยิ่งแทบจะไม่อ่านเลย 

__________________________________________________

Q: คิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า “หนังสือดิจิทัลออนไลน์จะเข้ามาแทนที่หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษ”

A: มันแทนไปแล้ว สังเกตดูสิ ไม่ว่าเราจะทำอะไรในยุคสมัยนี้ทุกอย่างล้วนเป็นออนไลน์ไปหมด แต่ถามว่ายังมีคนที่ชอบอ่านหนังสือเป็นเล่มพิมพ์อยู่ไหม มันมีนะ เพราะสิ่งที่หนังสือดิจิทัลออนไลน์ไม่สามารถทำแทนหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษได้คือ กลิ่น และสัมผัสของเนื้อกระดาษ มันให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์มองว่าเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ใช่เพียงแค่วงการหนังสือเท่านั้น แต่ทุกๆ อย่างรอบตัวเรา มันจะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด 

__________________________________________________

Q: ในขั้นตอนการเขียนหนังสือ นักเขียนส่วนใหญ่มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเริ่มง่าย แต่จะเขียนต่อให้จบมันยาก อาจารย์เห็นด้วยไหมในส่วนนี้

A: อาจารย์เห็นด้วยนะ เพราะอาจารย์ก็เป็นเหมือนกัน เคยเขียนนิยายหลายเรื่องแต่ก็ไม่จบ เมื่อเทียบการเขียนนิยายกับเรื่องสั้น อาจารย์ชินกับการเขียนเรื่องสั้นมากกว่า มันไม่ต้องมีพล็อตอะไรมาก ในขณะที่การเขียนนิยายมันต้องขยายความ ต้องมีพล็อตที่ซับซ้อน เราต้องมีแผนผัง ทำสตอรีบอร์ด ไม่อย่างนั้นมันจะสับสนได้ แต่การเขียนเรื่องสั้น มันนึกขึ้นได้ ก็สามารถเขียนออกมาได้เลย อาจารย์มองว่าเป็นเรื่องปกติ ถือว่าเป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่ง

__________________________________________________

Q: หากภาครัฐมีนโยบายที่จะเข้ามาสนับสนุนวงการนักเขียน และงานเขียนอย่างจริงจัง อาจารย์คิดว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่ควรสนับสนุนเป็นอันดับแรก

A: ถ้าภาครัฐได้เข้ามาสนับสนุนวงการนักเขียนอย่างจริงจัง อาจารย์บอกเลยว่าถือได้ว่าเป็นพระเดชพระคุณใหญ่หลวงเลยก็ว่าได้ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นนี่สิ เกิดก็ไม่ตรงประเด็น สิ่งแรกที่สำคัญและควรสนับสนุนที่สุด อาจารย์มองว่า กระบวนการต้นน้ำ คือ นักเขียนและกลุ่มผู้สนับสนุน เช่น สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ หรือธุรกิจในแวดวงงานเขียน เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนให้แข็งแรงที่สุด รัฐบาลควรจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุน หรือจัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อจุนเจือในกลุ่มนักเขียน สมาคมนักเขียน หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่ได้อยู่กับภาคเอกชนด้วย สิ่งสำคัญในวงการหนังสือกระดาษคือ ต้นทุนการผลิต ต้องพยายามลดต้นทุนให้ได้ สังเกตสิหนังสือเดี๋ยวนี้ราคาแพงมาก เพราะต้นทุนกระดาษแพง 

ถ้าเทียบกับในหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย เขามีสถาบันการแปลภาษา ชื่อ เดวันบาฮาซา รัฐบาลเขาทุ่มให้ปีละ 30 ล้าน เขาสนับสนุนทั้งนักเขียนและธุรกิจสิ่งพิมพ์ งานวรรณกรรมในบ้านเขาเลยรุ่งเรือง ต่างกับประเทศไทยเราที่ต่างคนต่างต้องช่วยตัวเอง เมื่อไม่กี่ปีมานี้สำนักพิมพ์ วารสาร นิตยสารต่างๆ ก็ทยอยปิดตัวลงไป มันอยู่ไม่ได้ไง สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ เข้ามาช่วยในจุดนี้ วงการหนังสือเปรียบเสมือนปัญญาของประเทศ แต่ทุกวันนี้ไม่มีอีกแล้ว

ร้านหนังสือเล็กๆ ยังอยู่ไม่ได้เลย ในส่วนของร้านหนังสือใหญ่ๆ เดี๋ยวนี้บนชั้นวาง งานวรรณกรรมเชิงศิลป์ ก็แทบจะไม่มีแล้ว เปลี่ยนไปเน้นขายงานแนวกระแส จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราสามารถสังเกตได้เลยว่า วงการหนังสือเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรยื่นมือเขามาช่วยเหลือในส่วนนี้อย่างจริงๆ อาจารย์ไม่ได้บอกว่าต้องให้เงินฟรีๆ นะ แต่ให้ทำเป็นกองทุนช่วยเหลือสนับสนุน อาจารย์ว่ามันสามารถทำได้ 

นอกเหนือจากนี้ อาจารย์มองว่าวรรณกรรมไทยมีคุณค่าเยอะแยะ ควรมีหน่วยงานเข้ามาบริหารให้เป็นรูปธรรม เพราะปัจจุบันการจัดประกวดหนังสือมีเพียงแค่เอกชน เขาก็ทำไปตามกำลังของเขา อีกทั้งนักเขียนในทุกวันนี้ไม่มีโอกาสได้ตีพิมพ์งานในวารสาร หรือนิตยสารเหมือนในยุคสมัยของอาจารย์หรอก เขาทำได้เพียงแค่ส่งเข้าประกวด เขาจึงจะสามารถแจ้งเกิดในวงการนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การประกวดเช่นนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือ ความคาดหวัง ที่บางครั้งอาจจะเยอะจนทนรับความผิดหวังไม่ได้ ดังนั้น วิธีคิดในการทำงานมันเปลี่ยนไป

อีกสิ่งที่สำคัญคือ ประเทศไทยเราควรจะมีสถาบันแปลวรรณกรรมแห่งชาติ ที่ครบวงจรเป็นการสนับสนุนให้วรรณกรรมไทยได้เผยแพร่ไปต่างประเทศ เพราะอย่างน้อยเขาจะได้ขายได้ด้วย อาจารย์บอกได้เลยว่า นักเขียนไทยเราเองทั้งใหม่และเก่า มีคนที่เก่งเยอะมากๆ แต่จำต้องขาดโอกาสไป โดยส่วนตัวอาจารย์เองนั้น แม้จะเขียนหนังสือมาหลายเล่ม แต่มีเพียง 2 เล่มเท่านั้นที่ได้ทำการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งก็เป็นอาจารย์ต่างชาติช่วยแปลให้ ในสมัยที่อาจารย์ยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวงการนักเขียน งานเขียนในบ้านเราเข้มแข็ง การอ่านหนังสือในประเทศก็จะเข้มแข็ง แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันคือความฉาบฉวย การอ่านยังเป็นการบังคับให้อ่าน ต้องยอมรับว่าในเรื่องนี้ประเทศไทยเราอ่อนแอมากจริงๆ 

__________________________________________________

Q: หนังสือเล่มโปรดในดวงใจของอาจารย์คือเรื่องอะไร

A: หนังสือเล่มโปรดมีเยอะมาก ทั้งของไทยเองรวมไปถึงของต่างประเทศ อาจารย์ชอบหลายๆ แนวเลย แต่ถ้าเป็นเล่มโปรดที่หยิบมาอ่านซ้ำบ่อยๆ จะเป็นเรื่องสั้นของนักเขียนไทยคุณ มนัส จรรยงค์ อาจารย์ชอบทุกเรื่องเลย ในส่วนของงานเขียนต่างประเทศจะเป็นหนังสือเรื่อง ความสุขแห่งชีวิต (The Human Comedy) เขียนโดย วิลเลียม ซาโรยัน เป็นนักเขียนชาวอเมริกา แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นนวนิยายเยาวชน แต่หลังจากอ่านจบ หนังสือเล่มนี้ทำให้มุมมองในการมองโลกของอาจารย์เปลี่ยนไป มันทำให้อาจารย์มองโลกในแง่ดีขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนชีวิต และวิธีคิดของอาจารย์ไปเลยก็ว่าได้

หนังสืออีกเล่มคือ ต้นส้มแสนรัก เป็นวรรณกรรมเยาวชนเหมือนกัน แต่เขียนโดยนักเขียนชาวบราซิล  อ่านมาตั้งแต่เด็กจนอายุขนาดนี้ หนังสือในดวงใจมีเยอะมากๆ ถ้าเอ่ยเล่มนี้ แต่อีกเล่มไม่ถูกเอ่ย เดี๋ยวจะน้อยใจกันอีก รวมๆ แล้วก็คือ หนังสือโปรดของอาจารย์จะเป็นแนวๆ วรรณกรรมนั่นแหละ 

__________________________________________________

Q: นอกจากงานเขียน และงานสอนหนังสือ อาจารย์มีงานอดิเรกอย่างอื่นหรือเปล่า

A: วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ถ้าว่างๆ อาจารย์ก็ชอบปลูกต้นไม้ ทำสวนนะ มันทำให้อาจารย์รู้สึกผ่อนคลาย

__________________________________________________

Q: อยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำถึงคนที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน และประสบความสำเร็จเหมือนอาจารย์หน่อย

A: อาจารย์อยากจะบอกว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จหรอกนะ งานเขียนเป็นงานที่มาจากใจของตัวเราล้วนๆ เลย หลายคนมีความฝันอยากจะเป็นนักเขียนนะ แต่มันก็เหมือนกับที่ความของหลายๆ คนที่อยากจะเป็นนู่นเป็นนี่ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ทำจะให้ความฝันของเราเป็นจริงได้ เราต้องลงมือทำ เราต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ สั่งสม ซึ่งมันไม่ได้มาด้วยวิธีง่ายๆ หรอก มันต้องใช้เวลา เปรียบเทียบกับนักฟุตบอลระดับโลก เขาก็ต้องเตะบอลมาตั้งแต่เด็กๆ นักเขียนเองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครสามารถเป็นนักเขียนได้ หากไม่เคยผ่านการอ่านหนังสือมาก่อน ซึ่งถือได้ว่าการอ่านเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ยิ่งอ่านเยอะ

การอ่านจะทำให้เราเป็นนักคิด จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่กระตุ้นให้เราอยากจะเขียน เราก็ต้องทำมันให้ได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างนั่นคือ ใจรักในการเขียน เพราะงานเขียนเป็นงานที่เราต้องอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง เป็นระยะเวลานานๆ เป็นงานที่เขียนด้วยตัวเราเองไม่มีใครมาบังคับ มันขึ้นอยู่กับตัวเราเอง หลายๆ คนนะที่ท้อและยอมแพ้ ส่วนตัวอาจารย์ตั้งแต่เริ่มจนถึงอายุอานามขนาดนี้แล้ว ไฟในการเขียน ไม่เคยน้อย หรือหมดลงไปเลย แม้ว่าอาจารย์จะต้องสอนหนังสือนักเรียนไปด้วยแต่อาจารย์ก็ยังสามารถเขียนงานไปด้วยได้ เพราะอาจารย์ยังรัก ยังชอบที่จะทำในงานเขียนนี้ 

เพราะฉะนั้นคนที่อยากเขียนหนังสือ หรืออยากจะทำอาชีพนักเขียน อาจารย์บอกเลยว่า เพียงแค่ชอบในการเขียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีใจ ต้องลงมือทำ และต้องมีความอดทนสูงด้วย มันไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าจะสำเร็จ แต่หากในวันหนึ่งที่คุณไปถึงจุดนั้นได้ ชื่อเสียง การเป็นที่ยอมรับ จะเข้ามาหาตัวคุณเอง ส่วนตัวอาจารย์ไม่เคยนึกฝันว่าจะได้รางวัลซีไรต์ หรือแม้แต่การได้แต่งตั้งเป็นศิลปินแห่งชาติหรอก เพราะเราไม่เคยคิด หรือไปยึดติดกับมัน ไม่อย่างนั้นเราจะหมกมุ่นกับมัน หากทำไม่ได้เราก็จะเสียศูนย์ แต่ทุกอย่างมันก็เข้ามาเองเห็นไหม เราแค่ต้องลงมือทำ ถึงมันจะไม่ใช่อาชีพสำเร็จรูป แต่เป็นอาชีพที่เราทุกคนสามารถฝึกได้ เรียนรู้ได้ สร้างได้ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับตัวเรา

__________________________________________________

Q: สุดท้ายนี้ อยากให้อาจารย์ฝากผลงาน หรือมีช่องทางไหนบ้างที่จะสามารถติดตามผลงานของอาจารย์ได้บ้าง

A: อาจารย์ส่วนใหญ่อัพเดทงานผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวนะ ( Facebook: Phaitoon Thanya) สำหรับผลงานหนังสืออาจารย์ จริงๆ หนังสือที่เขียนก่อนหน้านี้ทั้ง ก่อกองทราย ตุลาคม หุ่นไล่กา ก็กลับมาตีพิมพ์อยู่บ่อยๆ  ตอนนี้ก็มีหนังสือเรื่อง ความลับของเรื่องสั้น เป็นฉบับปรับปรุงใหม่ที่จะตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 และเปิดให้พรีออเดอร์กับทาง เพจเฟซบุ๊กสำนักพิมพ์นาครได้จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นี้ อาจารย์ก็ขอฝากหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วยครับ

__________________________________________________

กว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ การเติบโตในเส้นทางของนักเขียนทุกคน แน่นอนว่าไม่ได้โรยเอาไว้ด้วยกลีบกุหลาบ ไม่เว้นแม้แต่ ไพฑูรย์ ธัญญา อย่างไรก็ตาม หากเรายังมีใจมุ่งมั่นที่อยากจะทำตามความฝันของการเป็น ‘นักเขียน’ ให้สำเร็จ ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะมีอุปสรรคขวากหนาม รอเราอยู่มากขนาดไหน แต่สักวันหนึ่งความสำเร็จนั้น ก็จะเป็นของเราเช่นกัน 

เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ
เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
บรรณาธิการ:
นางสาวเจนจิรา ภู่โต
ผู้สัมภาษณ์:
นางสาวพิชญา วัฒนไพบูลย์
นางสาวณัชฐิญา ชัยนุภาพ
ผู้ถอดเทปบันทึกเสียง: นางสาวพิชญา วัฒนไพบูลย์
พิสูจน์อักษร:
นางสาววรางกุล วิลาวัณย์
นางสาวปรียาภรณ์ ปัญญาธรรม
ผู้เขียน:
นางสาวพิชญา วัฒนไพบูลย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *