เกริ่นนำ
หลายคนอาจสงสัยว่าการที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ อะไรคือความกล้าหาญที่ทำให้เธอและเขาเหล่านั้นทำเช่นนั้น เพราะเรารู้เสมอว่าการเป็นนักเขียนนั้นมีเส้นทางที่ต้องใช้ความทรหดอนทน ต่อสู้ทั้งกับตัวเองและกับสิ่งอื่นๆ มากมาย แต่กระนั้นก็มีนักเขียนเกิดขึ้นเสมอ เช่นเดียวกับ พิราอร กรวีร์ นักเขียนใหม่ ล่าสุด กับหนังสือ รวมเรื่องชำเรา ซึ่งเธอได้กลั่นตัวอักษรออกมาเป็นเรื่องสั้นสิบเรื่อง ที่เปิดเปลือยการต่อสู้กับค่ายิมทางสังคม ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ การต่อสู้กับโรคร้าย นี่คือชีวิตของนักเขียนใหม่ล่าสุดที่สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมขอนำเสนอ
แม้ว่าพิราอรจะเป็นนักเขียนใหม่ แต่เธอเริ่มงานเขียนเลยวัยกลางคน เธอเป็นแม่ เป็นคนเก็บตัว ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป เธอเขียนหนังสือเพราะชอบเขียนบันทึก อ่านหนังสือ และอยากเล่าเรื่องที่ติดค้างอยู่ในความทรงจำ
เราไม่รู้ว่าเธออยู่ที่ไหน เราส่งคำถามไปให้เธอตอบ เพื่อให้เธอบรรยายชีวิตของเธอผ่านตัวอักษร และเราเชื่อว่าผู้อ่านอยากรู้ว่าเธอเป็นใคร ปะติดปะต่อเรื่องราวของเธอจากหนังสือ และบทสัมภาษณ์ ไม่มีอะไรลึกลับ แต่ความเป็นส่วนตัวคือสิ่งที่เราเคารพนับถือ
บทสัมภาษณ์ พิราอร กรวีร์ นักเขียนใหม่ ผู้เขียน รวมเรื่องสั้นชำเรา
โปรดบรรยายภาพตอนที่คุณกำลังตอบคำถามนี้ ลักษณะของคุณ เสื้อที่คุณสวม สิ่งที่คุณกำลังเคลื่อนไหว อากาศเป็นอย่างไรบ้าง แดดออก ฝนตก ห้องนั้นเต็มไปด้วยแสง หรือปิดม่าน แจกันดอกไม้ หรือเสียงลมลอดผ่านหน้าต่าง
หลังจากทำกิจวัตรประจำวันในช่วงเช้าเสร็จ ก็ออกมาสูดอากาศที่ริมระเบียงห้องด้วยชุดลำลองสบายตัว ใส่เสื้อยืดสีขาว ที่มีสกรีนลายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ลูกสั่งให้ มีลมพัดอ่อนๆ ใบไม้ไหวเบาๆ แต่สัมผัสไม่ได้ถึงความเย็น ในอุณหภูมิ 32 องศา ของกรุงเทพฯ และต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ปิดประตู ปิดม่านโปร่งแสง เปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำผิว เพื่อช่วยให้สุขภาพจิตที่ไม่ค่อยปกติในสถานการณ์โควิดระบาด และขาดวัคซีนแบบนี้ดีขึ้นบ้าง เรามานั่งจ่อมลงในโซฟานุ่มๆ ตัวเดิมหน้าทีวี มองต้นสาวน้อยประแป้งที่ออกใบดกเขียวอยู่บนชั้นหนังสือ ทำให้สบายตาขึ้น มีเสียงนกร้อง สุนัขเห่าลอดเข้ามาตามร่องประตู พร้อมตอบคำถามสัมภาษณ์พิราอร
คุณจำหนังสือเล่มแรกที่อ่านในตอนเด็กได้หรือเปล่า แล้วคุณยังจำได้ไหมว่าคุณชอบอ่านแบบไหน มีความสุขกับการอ่านแค่ไหน
จำได้นะ เป็นหนังสือบทกลอนสั้นเล่มเล็กๆ พร้อมภาพวาดประกอบสีสดใส เป็นเล่มแรกที่เก็บเงินซื้อเองเลย เราแอบเขียนเล่นเก็บไว้ในสมุดบันทึกทำมือด้วย แต่หายไปแล้วตอนย้ายบ้าน
ส่วนหนังสือนวนิยายเรื่องแรกคือสี่ดรุณี (Little Women) ของลุยซ่า เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) เป็นหนังสือนอกเวลาที่เลือกอ่านตอนเรียนมัธยมปลาย โจคือตัวละครที่ชอบมาก เพราะคิดเหมือนเราในตอนนั้นเลย เรารู้สึกขัดใจกับประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ จากผู้นำครอบครัวในสมัยก่อนว่า “เป็นผู้หญิงไม่ต้องเรียนมากหรอก เดี๋ยวก็แต่งงานออกไปเลี้ยงลูก”
เราชอบอ่านแนวเล่าเรื่องชีวิตของตัวละคร คิดภาพบรรยากาศ สถานที่ กริยาท่าทางของตัวละครไปด้วย เหมือนเข้าไปอยู่ในหนังสือ มีความสุขทุกครั้งที่ได้เข้าห้องสมุดไปยืมหนังสือกลับมาอ่านเงียบๆ ในมุมห้อง เผื่อแม่จะได้มองไม่เห็น และเรียกไปทำงานบ้าน
คุณเริ่มสนใจเขียนหนังสือเมื่อไหร่ อะไรทำให้คุณลงมือเขียน มีอะไรเป็นแรงผลักดัน
เริ่มจากอ่านเรื่องสั้นในยุคนี้ ที่พิมพ์ออกมาหลายสำนักพิมพ์มาก ถ้าเขียนสั้นขนาดนี้ได้ เราก็น่าจะเขียนได้ เรามีเรื่องอยากเขียนมากมาย แค่คิดอยู่ในหัว แล้วก็มีโอกาสได้ลงมือเขียน เพราะมีเวลาว่างเกือบ 2 เดือน ขณะรอลูกทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่ต่างประเทศ และช่วยขนของกลับบ้าน เราก็นั่งเขียนไปกับลูกเลย ลูกก็ยุ “ลองเลยแม่ แม่ชอบเขียนบันทึกอยู่แล้ว น่าลองดู” และเรื่องแรกก็มาจากเด็กผู้หญิงที่เขียนอยู่ในคำนำ
ตอนที่คุณเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้น? คุณคิดว่าการเขียนเรื่องสั้นของคุณเป็นอย่างไรบ้าง ยาก หรือง่าย เป็นไปอย่างที่คุณตั้งใจไว้หรือเปล่า
เราเริ่มจากการเปิดใจให้ตัวเอง ลองทำอะไรใหม่ๆ กล้าที่จะลงมือเมื่อมีโอกาส เขียนไว้อ่านเอง ทำให้ตัวเองสุขใจสักครั้งก็พอ
จากเรื่อง ชำเรา เป็นเรื่องแรก หาประโยคที่เรียกแขกก่อนดีไหม เมื่อเขียนประโยคแรก รู้สึกตื่นเต้น อยากเล่าเรื่องต่อ เริ่มสนุกกับการเขียน ทำให้รู้สึกว่าการเขียนเรื่องสั้นก็ไม่ได้ยากมาก จบเรื่องแรกก็คิดประเด็นหลักในเรื่องต่อไป จากประสบการณ์ที่มีอยู่ในหัว ดินสอเคลื่อนไหวไม่ทันความคิดเราเลย จิตใจไม่ว้าวุ่น ไม่มีเรื่องให้ต้องกังวล การเขียนมันออกมาได้ดีอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน เราสนุกกับช่วงเวลานั้นมาก
สิ่งที่คุณต้องการนำเสนอคืออะไรบ้าง เพราะเรื่องสั้นของคุณส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องของเด็กผู้หญิง บ้างก็ถูกกระทำ บ้างก็มีความฝัน บ้างก็มองเห็นอนาคต
เราใช้ตัวละครเป็นเด็กผู้หญิงมันเห็นภาพชัดและสื่อสารได้ง่ายที่สุด ถ้าระบบอำนาจนิยมยังไม่หมดไปจากสังคมไทย ไม่ว่าเด็ก ผู้หญิง ผู้ใช้แรงงาน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ LGBTQ ก็ยังคงถูกกดขี่ เอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา พวกเราต้องออกมาเปล่งเสียง ในทุกวิถีทางที่สามารถทำได้ เราอยากปลดปล่อย อยากช่วย อยากให้กำลังใจพวกเขา ให้สังคมได้เปิดโอกาสให้พวกเขา ได้ออกมาโบยบินบนเสรีภาพ เพราะชีวิตเป็นของพวกเขา สังคมโลกนำเราไปไกลแล้ว เราอยากให้สังคมไทยรีบวิ่งให้ทันสังคมโลก สังคมเราคลานมานานแล้วควรลุกขึ้นเดิน และวิ่งได้แล้ว อย่ามัวนอนคิดอยู่เลย
ในความคิดของผู้เขียน
ในความคิดของคุณ เรื่องราวที่ดีต้องมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง
เรื่องสั้นที่ดีในความคิดเรา ต้องไม่ยาวและยืดเยื้อเกินไป หาประเด็นหลักที่น่าสนใจก่อน ใส่ประสบการณ์ เพิ่มจินตนาการ สอดแทรกสาระที่ถูกต้อง เปิดช่องให้ผู้อ่านได้คิดตาม เพิ่มบทสนทนาที่ผู้อ่านเข้าถึงง่าย เรียกว่าโดนใจ ประมาณนี้ แล้วจบแบบไม่คาดคิด หักมุมบ้าง หรือให้ผู้อ่านไปคิดต่อเอง เราชอบแบบนี้เพราะมันคือชีวิตจริง ตอนจบทุกคนคือผู้กำหนดเอง
ในคำนำ คุณเขียนว่า เช่าห้องเล็กๆ ในเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก คุณอยู่ที่นั่น ใช้ห้องเล็กๆ เขียนหนังสือ? นานแค่ไหนแล้ว ที่อยู่นั่น คุณพอจะเล่าถึงบรรยากาศของห้อง หรือของเมืองนั้นได้ไหม เผื่อว่าผู้อ่านอาจจะได้กลิ่นสายลม หรือแสงแดดที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง
เป็นช่วงปลายฤดูร้อนย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ ฝนตกเป็นบางวัน อากาศอุ่นสบาย มีแดดให้พอตากผ้าที่ระเบียงได้ ใบไม้พัดไหว ใบเมเปิ้ลถูกลมให้พัดเต้นไปตามจังหวะห้องนี้อยู่บนชั้น 2 ของอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งในเมืองเล็กๆ ของประเทศที่ขึ้นชื่อว่าสวยงามแห่งหนึ่งในยุโรป บรรยากาศโดยรวมเงียบสงบ ไม่ค่อยได้ยินเสียงรถยนต์ เพราะผู้คนที่นี่จะขี่จักรยาน และใช้รถสาธารณะไปทำงาน ตกเย็นเด็กๆ จะออกมาขี่จักรยาน เราก็เดินไปซุปเปอร์มาร์เก็ต ซื้อของมาทำอาหาร เมื่อได้เวลาอาหารเย็น บรรยากาศก็เงียบสงบลง เราใช้เวลาเขียนเรื่องสั้นตอนกลางวัน ที่นั่งประจำคือบนโซฟาที่หันหลังให้ระเบียง มีแดดส่องเข้าห้องในช่วงเช้า บ่ายๆ ก็มีลมพัดเย็นสบายให้ออกไปนั่งเขียนที่ระเบียง ฟังเสียงนกร้อง ดูใบไม้พัดไหว บ้านเมืองสะอาด สวัสดิการดี ผู้คนมีจิตสำนึกให้เกียรติกันในความเป็นมนุษย์ นั่งคิดถึงประเทศเราแล้วก็ถอนหายใจ ไม่ใช่อยากย้ายประเทศ แต่อยากเห็นประชาชนยิ้มได้แบบไม่ต้องฝืนทน เราอยากเห็นแบบนั้นก่อนตาย
ในงานเขียนของคุณ ดูเหมือนว่า ประเพณี ครอบครัว หรือสังคม กลายเป็นอุปสรรคของชีวิต พ่อที่ดูแลครอบครัวด้วยเงินที่เขาหา ลูกที่ต้องหนีไปจากครอบครัว หรือการต่อสู้ของคนเล็กๆ เพียงลำพัง มันเริ่มจากความรักแล้วนำไปสู่ความเกลียดชัง วัฎจักรนี้วงเวียนนี้อยู่ในตัวละครหญิงแทบทุกตัวของคุณ คุณคิดอย่างไรกับสังคมของเรา ทางออก ปัญหา การแก้ไข มันควรเป็นอย่างไร
จากที่ถามมา ปัญหาในสังคมไทยมันสะสมมานาน ทับถมจนเป็นกองขยะสูงๆ ทางออก ทางแก้ไข เราบอกไม่ได้ว่าควรเป็นอย่างไร ทุกคนอยากแก้ไขกันมาทุกยุคทุกสมัย เราคิดว่าเอาง่ายๆ เลยคือ เราไม่เอาปัญหาเก่าๆ ทับถมเพิ่มลงไปอีกจะดีไหม
สังคมไทยมีหลากหลายวัฒนธรรม แต่ที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ‘ครอบครัวชายเป็นใหญ่’ ชายเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจทุกเรื่องในบ้าน โดยไม่ถามความคิดเห็นคนในบ้านเลย แม้แต่ความคิดในการตัดสินชีวิตของตัวเด็กเอง
เรามาเริ่มเป็นครอบครัวประชาธิปไตย ใช้ความรู้ ความคิดใหม่ๆ กับสังคมปัจจุบัน ลดวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีแบบเก่าๆ ถามความเห็น ให้สิทธิในการตัดสินใจของสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช้การบังคับ สั่งการให้ปฏิบัติเพื่อง่ายต่อการปกครอง ถ้าผู้ใหญ่เปลี่ยนความคิดนี้ได้ เด็กๆ ก็จะไม่เดินวนเวียนอยู่ในวัฏจักรที่ว่านี้อีก
ชายเป็นใหญ่ต้องเปิดใจจริงๆ ไม่ใช่ออกไปเรียกร้องไม่เอาเผด็จการ ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ในบ้านก็ยังใช้เผด็จการเบ็ดเสร็จอยู่ มันก็จะมาวนให้เรียกร้องกันไปเรื่อยๆ พยายามเข้าใจและเปิดใจกันให้มากขึ้น ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา แต่อย่าให้นานเกินไปเลย เปลี่ยนเถอะค่ะ เปลี่ยนเถอะ
คุณเคยเขียนหรือทดลองเทคนิกในเรื่องสั้นด้วยหรือเปล่า? นักเขียนคนไหนเป็นแบบอย่างสำหรับคุณและเพราะเหตุใด
‘ชำเรา’ เป็นงานเขียนเรื่องแรกที่ทดลองเทคนิคเรื่องสั้นที่เอาประโยคเรียกความสนใจขึ้นต้นเรื่อง ทำให้ชวนติดตามต่อ เราอยากเขียนในสำนวนที่อยากเขียนให้ผู้อ่านตื่นเต้น เห็นภาพตาม ใส่สาระแบบไม่ยัดเยียด อ่านแล้วชวนสงสัยให้ตั้งคำถาม จบเรื่องแบบเดาทางไม่ออก มันสนุกสำหรับเรา เราสนุก ผู้อ่านก็น่าจะสนุกไปด้วย
นักเขียนที่เป็นแบบอย่าง ไม่มีใครเป็นพิเศษ เพราะเราไม่ใช่นักอ่านจริงจัง ว่างก็อ่าน อ่านสะสมมาเรื่อยๆ คิดไว้ว่าถ้าเราเขียนจะเขียนแบบนั้น แบบนี้
คุณชอบดูหนังหรือเปล่า คุณลองนึกภาพว่าเรื่องสั้นของคุณกลายเป็นภาพยนตร์จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
ชอบดูนะ ชอบหนังที่คิดซับซ้อนเยอะๆ ลึกลับ ซ่อนความลับ ชีวิตเสมือนจริง ถ้าให้มองเรื่องสั้นเป็นภาพยนตร์ น่าจะเป็นชีวิตที่เข้าถึงและดูเข้าใจง่าย ตัวละครจะพาคนดูเข้าไปในชีวิตที่คาดเดาได้ยาก เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวดี อาจเสมือนในชีวิตจริงของใครบางคน หรือยู่ในโลกจินตนาการ ตอนจบของหนังอาจจะขัดใจคนดู ทิ้งไว้ให้คิดต่อเอง
ถ้าจะให้พูดถึงหนังสือเล่มแรกของคุณ “ชำเรา” กับคนอ่าน คุณจะพูดถึงอย่างไร
คนอ่านที่สะดุดชื่อ ชำเรา บนปกหนังสือ ขอแนะนำให้ลองอ่านเรื่องสั้นทั้งหมดในเล่ม เพราะคำนี้มีความหมายให้ตีความได้หลายแง่มุม คนอ่านจะได้รับรู้เรื่องราวของการถูกกระทำชำเราในหลายรูปแบบจากตัวละคร ที่กำลังหาทางออกเพื่อปลดแอกออกจากตัวเอง หรือคนอ่านอาจจะเป็นผู้ช่วยปลดแอกให้พวกเขาก็ได้
เกี่ยวกับ พิราอร กรวีร์ ผู้เขียน รวมเรื่องสั้นชำเรา
พิราอร กรวีร์ นามปากกาของผู้หญิงคนหนึ่งในวัยที่ผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาวมาหลายรอบปี มีความคิดเป็นอิสระมาตั้งแต่วัยเด็ก ชอบฟังผู้ใหญ่คุยกันแล้วนำมาตั้งคำถาม เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ชีวิตผู้คน ชอบจินตนาการถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ชอบอ่านหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ จิตวิทยา นิยาย เรื่องสั้น บทกวี เมื่อว่างจากงานประจำจะชอบท่องเที่ยวไปในชนบท พักคุยกับคนท้องถิ่นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เมื่อมีโอกาสได้พักผ่อนยาวถึงสองเดือนเพื่ออยู่กับตัวเอง เรื่องราวที่ค้างอยู่ในหัวก็ไหลหลากออกมาเป็นตัวหนังสือ ได้เรื่องสั้นออกมาพักอยู่บนกระดาษหลายสิบเรื่อง