How To Write a short story
Home Literature 7 วิธี การเขียนเรื่องสั้น : How to Write a Short Story

7 วิธี การเขียนเรื่องสั้น : How to Write a Short Story

by niwat59
3.3K views 10 mins read

จากประสบการณ์เขียนและบรรณาธิการมากว่ายี่สิบปี ผมขอนำเสนอ 7 วิธี การเขียนเรื่องสั้น รวมถึง เทคนิคการเขียน ตัวอย่างเรื่องสั้น ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เข้าใจถึง องค์ประกอบของเรื่องสั้น และเริ่มต้นการเขียน เรื่องสั้น ได้อย่างมั่นใจรวดเร็ว แต่ก่อนอื่นผมอยากให้ย้อนกลับไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ เพื่อปูพื้นฐานให้ทราบว่า เรื่องสั้นคืออะไร ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจแลจะสามารถเรียนรู้วิธีการเขียนได้เร็วขึ้น

“เรื่องสั้น” เป็นประเภท “เรื่องแต่ง” ที่ใช้เวลาน้อยที่สุด แต่อาจจะทำให้นักเขียนประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุด และสำหรับผู้เริ่มต้น หรือมีความตั้งใจที่จะยึดอาชีพนักเขียนในอนาคต ผมคิดว่านี่เป็นบทความที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าผู้อ่านอาจจะมีพื้นฐานการเขียนมาบ้างแล้ว แต่บทความชิ้นนี้จะช่วยให้เสริมพื้นฐานให้แน่นขึ้น เมื่อลงมือเขียนแล้วพบอุปสรรค บทความนี้จะช่วยแก้ปัญหา นอกจากนั้นยังช่วยจุดประกายความคิดให้ไหลลื่นขึ้นอีกด้วย 

การเขียนเรื่องสั้นเป็นศาสตร์และเป็นศิลป์ แม้แต่นักอ่านที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะเริ่มเขียนเรื่องสั้นได้อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้อ่านกำลังมองหาวิธีเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้น ไม่ว่าจะส่งไปให้หน้านิตยสารพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ ส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณารวมเป็นเล่ม เขียนเพื่อส่งชิงรางวัล เขียนส่งอาจารย์ หรือเพียงแค่ให้ผู้อ่านสักคนประทับใจ ผมพอมีคำตอบ ด้วย 7 วิธีง่ายๆ ที่สามารถเปลี่ยนหน้ากระดาษที่ว่างเปล่า ให้กลายมาเป็นเรื่องสั้นชิ้นสำคัญ

Table of Contents

1.เขียนในสิ่งที่รู้

ก่อนที่จะเริ่มเขียนอะไรสักอย่างบนหน้ากระดาษ ต้องมีไอเดียดีๆ หรือหัวข้อที่จะเขียนอยู่ในหัว หรือสิ่งที่น่าสนใจที่จดอยู่ในสมุดบันทึก นักเขียนบางคนมีความสามารถที่จะดึงเรื่องราวดีๆ ที่อยู่ในอากาศอันว่างเปล่าออกมาเขียนได้อย่างน่ามหัศจรรย์ แต่นั่นไม่ใช่ทุกคน พวกเขาไม่ใช่นักเขียนวิเศษมาจากไหนไม่ต้องกลัว เคล็ดลับก็คือ ไอเดียที่ว่างเปล่านั้นไม่ได้หายากจนคิดไม่ออก ไอเดียที่ว่านี้ก็คือ “เรื่องที่รู้” หรือ”สิ่งที่เห็น” การเขียนเรื่องที่รู้จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งหลายลื่นไหล และช่วยให้การระดมความคิดในการวางโครงสร้างเรื่องไม่ยากจนเกินไป

ทำไมเรื่องที่รู้ ถึงสำคัญอันดับต้น เพราะมันจะช่วยไม่ให้การเขียนไขว้เขวต่อขอมูลที่จะเขียน นักเขียนมือใหม่อาจสงสัยว่าสิ่งที่เรารู้จะน่าสนใจขนาดนำมาเขียนได้ไหม ข้อนี้คือส่วนสำคัญ เพราะนั่นคือหน้าที่ของนักเขียน เรามาดูว่าจะเริ่มกันอย่างไรกับสิ่งที่คุณรู้

การเขียนเรื่องสั้น

เริ่มต้นที่ตัวละคร หรือฉากที่น่าสนใจ

โดยธรรมชาติของเรื่องสั้นจะมีขนาดความยาวน้อยกว่านวนิยาย เรื่องสั้นสร้างแรงกดดันให้ตัวละครน้อยกว่านวนิยาย การเขียนเรื่องสั้นจึงมุ่งไปที่เหตุการณ์เดียว ตัวละครหลักไม่กี่ตัว และสร้างประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวเสมอ ข้อนี้ต้องจับให้มั่น ไม่ต้องคิดซับซ้อน เล่าเรื่องอย่างง่ายๆ อาจจะมุ่งไปที่ตัวละครตัวเดียวหรือสองตัว ที่มีความสัมพันธ์กันในรูปแบบต่างๆ หรือเน้นไปที่ฉาก เมื่อเริ่มเขียน อาจจะเริ่มต้นจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่เหตุการณ์หนึ่งในทันที โดยเรียงลำดับขั้นเหตุการณ์อย่างง่ายๆ เช่นจาก ฉากที่ 1 ไปสู่ ฉากที่ 2 และจบที่ฉาก 3 โดยไม่มีการสลับเหตุการณ์ใดๆ เป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบคลาสสิก จุดเริ่มต้น กลางเรื่อง และบทสรุป  

ผมขอยกตัวอย่างเรื่องสั้น ล่องหน ของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวละครตัวหนึ่ง ที่สูญเสียแม่ เธอปิดกั้นตัวเองจนมองไม่เห็นคนอื่น ตัวละครเอกมีอาการซึมเศร้า เรื่องสั้นเล่าเรื่องความสัมพันธ์ประเด็นเดียวไม่ซับซ้อน ที่ค่อยๆ เปิดเผยรายละเอียดของเรื่องไปช้าๆ ทีละย่อหน้า จนขมวดปมในตอนจบ

ในขณะที่เรื่องสั้น เรื่องเล่าไม่มีชื่อ ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา มีตัวละครมากกว่าสองตัว และเรื่องราวก็มีความสลับซับซ้อนในแง่อารมณ์ และห้วงเวลา แต่ตัวเรื่องก็จำกัดตำแหน่งของสถานที่ที่เป็นฉากเอาไว้ได้อย่างตราตรึง เรื่องสั้นทั้งสองเรื่องเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้คุณเห็นว่าการเขียนเรื่องสั้นนั้นสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วย “ตัวละคร” หรือ “ฉาก” ซึ่งนำไปสู่รายละเอียดของตัวเรื่อง จากตัวละครกลายเป็นพล็อต จากฉากกลายเป็นโครงเรื่อง และทั้งหมดเริ่มต้นง่ายๆ จากสิ่งที่คุณประสบมาในชีวิต

ตัวละครสามารถนำเรื่องราวของคนครอบครัวมาใช้ เรื่องเล่าของเพื่อน หรือคนข้างบ้าน นี่คือสิ่งที่คุณรู้ ประสบการณ์ตรงคือข้อมูลชั้นต้นชั้นดี เพียงแต่หาแง่มุมที่จะเล่า หรือต้องการนำเสนอเรื่องราวแบบไหนให้คนอ่านได้อ่าน

เกร็ดชีวิตคือต้นทุนชั้นหนึ่ง

ถ้าต้องสร้างตัวละครที่มีชีวิตขึ้นมาสักตัว ประสบการณ์จริงคือข้อมูลชั้นหนึ่ง “เขียนในสิ่งที่รู้” นี่คือคำขวัญสุดคลาสสิกที่จะได้ยินจากนักเขียนทุกคนแนะนำ แม้ว่าชีวิตของเราจะไม่เคยใช้ชีวิตแบบเทพนิยายมหากาฟย์มาก่อน เช่น ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ไปจนถึง อลิซในแดนมหัศจรรย์ หรือมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับ คนไข้หมายเลข 23 ตัวละครผู้เป็นเสียงเล่าในเรื่อง ขัปปะ ตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่น แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตสามารถสร้างพื้นฐานในเรื่องสั้นได้ง่ายๆ เช่นอาจจะนำประสบการณ์ตลกๆ ที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงวันแต่งงานเพื่อน หรือญาติ มาเล่าใหม่ โดยเริ่มต้นจากจินตนาการของเรา โดยทำให้เรื่องราวเหล่านั้นสนุก และน่าสนใจ

แอบฟัง และ Spy

ตำนานที่เราได้ยินบ่อยๆ นักเขียนคนนี้ คนนั้น ชอบไปนั่งตามร้านกาแฟ เจ.เค. โรวว์ลิง ก็ไปเขียนหนังสือในร้านกาแฟตอนที่ยังไม่ดัง พวกเขาคงไม่ได้ไปนั่งดื่มกาแฟเฉยๆ เพื่อชิมเอสเพรสโซรสชาติเยี่ยมราวผลไม้สุก หรือ แอบชอบพนักงานเสิร์ฟ แน่นอนพวกเขาไปทำงานเขียน และเก็บข้อมูล มันดูเหมือนพวกนักสืบในหนังอาชญากรรมหรือเปล่า อาจะไม่ใช่ นักเขียนควรสร้างไหวพริบหนึ่งขึ้นมาคือ คอยเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้คนคน สังเกต จดจำ จดบันทึก วิเคราะห์สิ่งที่น่าสนใจ บางทีเรื่องที่ดูไร้สาระอาจะเป็นประโยชน์ในภายหลังก็ได้ ฟังดูไม่ค่อยไพรเวซี แต่นั่นคือหน้าที่ของนักเขียน

ถ้าไม่ชอบไปร้านกาแฟ คุณป้าข้างบ้านก็เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี คุณลองบอกว่าคุณเป็นนักเขียนดูสิ ร้อยทั้งร้อยพวกเขาอยากเล่าชีวิตให้นำไปเขียนเป็นหนังสือ ประสบการณ์ที่พวกเขาเล่าเป็นประโยชน์ พวกเขาอยากจะเล่าประสบการณ์มันๆ ให้ฟังอย่างไม่รู้จักเบื่อ นี่คือข้อมูลชั้นดีเพื่อนำไปเขียน เรื่องราวเหล่านั้นช่วยประกอบโครงสร้างของเรื่องสั้นได้อย่างมหัศจรรย์ โดยไม่จำเป็นต้องปั้นแต่ง หรือใช้จินตนาการทั้งหมด บางครั้งอาจจะใช้สิ่งที่ได้ยินมาแต่งเรื่องต่อไป แม้ฟังดูโหดร้ายกับเจ้าของเรื่อง แต่นักเขียนคือผู้บอกเล่าเรื่องราว ไม่ใช่นักศีลธรรม และทั้งหมดของการสปายคือ ต้องจดทุกอย่างลงในบันทึก เพราะมันอาจจะสูญหายไปเหมือนอากาศถ้าปล่อยไปนานๆ

ไม่ใช่แค่ชีวิตของเราจะเป็นแรงบันดาลใจ แต่ชีวิตของคนอื่นต่างก็มีอะไรพิเศษ เรื่องราวของเพื่อน ของป้า ของใครต่อใครหลายคนคือวัตถุดิบชั้นดี

เทคนิคการเขียน ไอแซก ไดนิเสน
ไอแซก ไดนิเสน

อ่านหนังสือที่คุณชอบ

หากยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเขียนอย่างไร มืดแปดด้านไปหมด สิ่งที่ต้องทำอาจจะกลับไปสู่จุดเริ่มต้น อะไรที่ทำให้เราอยากเป็นนักเขียน ไปเริ่มที่จุดนั้น นั่นคือการอ่านหนังสือ ผมเชื่อว่านักเขียนทุกคนเป็นนักอ่านมาก่อน อ่านมาเยอะจนคิดว่าตัวเองเริ่มมีเรื่องเล่าของตัวเอง นั่นแสดงว่าแรงบันดาลใจกำลังเดินทางมาอย่างเต็มเปี่ยม สิ่งที่ต้องทำคือ อาจจะกลับไปอ่านงานที่ชอบ แต่การอ่านครั้งนี้ไม่ใช่อ่านเอาสนุกอีกแล้ว แต่เป็นการอ่านเพื่อเรียนรู้วิธีการเขียน แล้วไต่ระดับการอ่านอีกครั้ง โดยการอ่านงานที่ยากขึ้นเรื่อยๆ เลือกนักเขียนที่ได้รับการยกย่องของโลก และพยายามดูว่าพวกเขาเขียนอย่างไร นี่คือประเด็นสำคัญ เพราะถ้าไม่รู้ว่านักเขียนเขียนหนังสืออย่างไร เราก็ไม่อาจจะรู้ว่าตัวเองจะเขียนอะไรให้คนอ่านด้วยเช่นกัน

จำเป็นมากที่คุณจะต้องอ่านเออร์เนส เฮมมิงเวย์, จอห์น สไตน์เบ็ค, ลีโอ ตอลสตอย, ไอแซก ไดนิเสน หรือนักเขียนไทยอย่าง ศรีบูรพา, มนัส จรรย์ยงค์, เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือแม่อนงค์ อ่านงานของพวกเขาสักครั้งในชีวิต ถ้าไม่รู้ว่าพวกเขาเขียนอะไรมาบ้าง มันก็ยากที่จะบอกว่าเราจะเขียนอะไร นักเขียนในยุคก่อนก็เหมือนภูเขาที่จะต้องเดินผ่านไปให้ได้ บางคนอาจเป็นเนินเขา บางคนเป็นภูผา บางคนเป็นยอดมหึมา แต่นั่นคือต้องผ่านพวกเขาจากการอ่าน 

เมื่อมีไอเดียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ตัวละคร ฉาก หรือเหตุการณ์ ลองเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งอารมณ์ ทั้งความรู้สึก กำหนดน้ำเสียงที่จะเล่า หากพบว่าแกนอารมณ์นี้สามารถขับเคลื่อนตัวเรื่องได้ คว้ามันมาเป็นแกนหลักสำหรับการนำเสนอ แต่ถ้ามันยังไม่มีแรงผลักดันอะไรมากมาย จะต้องเติมเนื้อหาเพิ่มมากขึ้น เช่น สร้างปมขัดแย้ง สร้างจุดหมายของตัวเอก ความต้องการ หรือแรงปรารถนาทั้งภายในและภายนอก เมื่อมาถึงจุดนี้ พร้อมแล้วสำหรับการสร้างโครงเรื่อง

2.ปรับโครงสร้างให้แน่น

นักเขียนมากมายมักโดนล่อลวงว่าการเขียนเรื่องสั้น หรือนวนิยายที่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐาน คือการวางแผนแต่ละเหตุการณ์อย่างประณีต สร้างชีวิตตัวละครอย่างละเอียด ทำแผนที่ของเรื่องอย่างระมัดระวัง ดำเนินโครงเรื่องตามแนวเรื่องยอดนิยม มีจุดเริ่มต้น มีตรงกลาง และมีจุดสิ้นสุด แต่ทั้งหมดอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในเรื่องแต่งที่กำลังเขียน แต่สิ่งสำคัญจริงๆ ก็คือ การพัฒนาของตัวละครหลัก เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานเขียนทุกชิ้น

ในเรื่องสั้นควรจะมีการสร้างแรงเร้าต่อเหตุการณ์และจุดไคลแมกซ์

การเขียนนิยาย อาจจะมีบทพรรณามากมาย แต่ในเรื่องสั้นต่างออกไป เรื่องสั้นต้องมีความกระชับ ต้องมีการผูกปม โดยสร้างสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดแรงเร้า การผูกปมช่วยให้เรื่องดำเนินไป เรื่องจะไปไม่ถึงจุดไคลแมกซ์เลยถ้าขาดการผูกปม

เมื่อเข้าสู่ช่วงผูกปมแล้ว ข้ามการอธิบายที่ยืดยาว รักษาโครงสร้างในตอนกลางให้เกิดความสมดุลย์ และตบท้ายด้วยแรงขับดันจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือที่เราเรียกกันว่า “ขมวดปม” สรุปเรื่องราวทั้งหมด หรือคลี่คลายปมปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ด้วยการเฉลยทุกปัญหา

สิ่งสำคัญที่สุด เรื่องสั้นไม่มีเวลามากพอที่จะทอดน่องชมนิทรรศการ เรื่องสั้นคือรูปแบบงานที่ต้องการอ่านอย่างรวดเร็ว กระชับฉับไว และไม่จำเป็นต้องมีฉากแอคชันใดๆ ที่ยืดเยื้อ หรือเบื้องหลังที่ซับซ้อน

สร้างความตึงเครียดลงไปในแต่ละฉาก

วิธีผูกปมที่มีประสิทธิภาพคือ ข้ามการบรรยายที่ยืดยาว กระตุ้นเหตุการณ์ในเรื่องให้ปะทุขึ้นจนเกิดคำถามต่อผู้อ่าน เพื่อจะได้หาคำตอบให้พวกเขาในตอนจบ

จากจุดเริ่มต้นของเรื่อง เพิ่มแรงกดดันขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่องราวจะดำเนินไปตามครรลองที่ควรเป็น ตัวละครหลักจะดำเนินมามาถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ การผูกปมจะช่วยให้ตัวละครมีทางเลือกก่อนที่จะถึงจุดเปลี่ยน ตัวละครอาจจะต้องการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ มีความทะเยอทะยาน จนมาถึงจุดไคลแมกซ์ โครงสร้างแบบนี้สนับสนุนให้นักเขียนสร้างวิธีการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด และตรงประเด็น ช่วงกลางเรื่องจะเป็นจุดเชื่อมต่อ ถ้าไม่อยากเพิ่มเติมเหตุการณ์อะไรลงไป ก็รักษาโมเมนตัมไปจนจบเรื่อง

การเขียนเรื่องสั้น อย่ากลัวที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ

โครงสร้างและรูปแบบของเรื่องสั้นได้รับการออกแบบให้ใช้เวลาไม่มาก โดยเฉพาะเรื่องเล่าแบบคลาสสิกที่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดนี้ช่วยให้มีอิสระในการวางโครงสร้างของเรื่อง ว่าจะเรียงลำดับตามเหตุการณ์ จากเริ่มไปจนจบ หรือจะเสี่ยงทดลองโดยเริ่มต้นเรื่องที่ตอนจบ จากนั้นค่อยเล่าเหตุการณ์ตอนต้น หรือระหว่างทางจะมีการเปลี่ยนมุมมองการเล่า จากบุคคลที่หนึ่งไปเป็นบุคคลที่สาม แต่นั่นต้องเขียนจนช่ำชองมาสักพัก เพื่อเอามันให้อยู่มือ

ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าผู้อ่านมีเวลาให้เรื่องสั้นสัก 20 นาทีเพื่ออ่านให้จบ เราอาจจะกลับไปใช้วิธีดั้งเดิม คือการดำเนินเรื่องแบบคลาสสิกเหมือนอย่างเรื่องสั้น มนัส จรรยงค์ หรือ เรื่องสั้นของศรีบูรพา นักเขียนไทยยุคบุกเบิกเคยเขียนมา โดยกำหนดให้ตัวละครเป็นจุดเด่น หรือตัวดำเนินเรื่องมีอิทธิพลต่อโครงเรื่อง สร้างปมปัญหาให้เกิดความน่าสนใจ ทั้งต่อแนวคิด และพฤติกรรม เล่นกับผู้อ่าน พาพวกเขาไปเจอกับคำถามที่ต้องตอบ หรือปัญหาที่ต้องการแก้ไข ดำเนินเรื่องอย่างมีศิลปะ และจบลงด้วยความสยอง ในแบบมนัส จรรย์ยงค์ หรือ ตั้งคำถามเชิงอุดมการณ์ในแบบศรีบูรพาทำเสมอๆ

ถ้าชอบจบเรื่องสั้นแบบหักมุม จงอย่าลืมว่าการหักมุมจบนั้น จะต้องสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงในเรื่องที่เล่ามา นักเขียนบางคนใช้วิธีหักหลังโครงเรื่องแทนที่จะหักมุม ถ้าทำแบบหลัง นักอ่านจะตั้งคำถามถึงตอนจบว่าสมจริงหรือไม่ หรือนักเขียนแค่ต้องการจบเรื่องนี้แบบที่จะเป็นอะไรก็ได้ โดยไม่มีพื้นฐานอะไรรองรับ อย่าทำแบบนั้น เพราะมันจะก่อปัญหามากกว่า การจบแบบธรรมดาเสียอีก

องค์ประกอบของเรื่องสั้น
องค์ประกอบของเรื่องสั้น

3.เปิดเรื่องด้วยแรงดึงดูด

มีวิธีมากมายที่จะเปิดเรื่องสั้นให้น่าสนใจ แต่ๆๆๆๆๆ ต้องเลือกใช้โทนที่เหมาะสม วิธีโบราณที่ผมไม่ค่อยแนะนำเช่น เปรี้ยง ป้าง ปัง กริ๊ง กร๊าง ผั่วะ เอี๊ยด โครม ทำไมผมถึงบอกแบบนั้น (ทั้งที่หลายคนคิดว่าการเปิดเรื่องแบบนี้น่าสนใจ) ก็เพราะว่าตำราการเขียนทุกเล่มจะแนะนำให้นักเขียนเริ่มต้นเรื่องแบบนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้วิธีนี้โดยไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น คนอ่านจะรู้ว่าเราเขียนตามตำรา หรือเป็นมือใหม่ ที่แย่สุดเราซื่อตรงในศาสตร์เกินไปโดยไม่ปรับอะไรมันเลยให้เป็นศิลป์

แน่นอนอาจจะมีหลายคนบอกว่า ฉากเปิดที่รวดเร็วฉับไวน่าฉงนใช้การได้เสมอ ฉากแบบนี้ดึงดูดคนอ่านได้ เช่น เรื่องสั้นเปิดเรื่องด้วยฉากอุบัติเหตุรถบัสพุ่งชนชายคนหนึ่ง เสียงเบรคดังเอี๊ยด ตามมาด้วยเสียงโครม ชายคนนั้นเป็นพยานปากเอกที่กำลังเปิดโปงนายตำรวจที่คอรัปชัน แต่ต้องมาตายเสียก่อน นักสืบเอกชนคิดว่าการตายของชายคนนั้นมีเงื่อนงำ เขาจึงออกติดตามความจริงทั้งหมด ลองคิดดูเถิดว่า มีคนเขียนแบบนี้เป็นพันๆ หมื่นๆ นักเขียนหลายคนก็แนะนนำให้นักเขียนรุ่นใหม่เขียนกันแบบนี้นับแสนๆ ราย ดังนั้นถ้าคิดที่จะเปิดเรื่องแบบนี้ ผมไม่ห้าม เพียงแค่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น

มีสองสามวิธีที่ดูดีกว่านั้น หนึ่งแนะนำตัวละคร สองดึงดูดความสนใจ สามบรรยาฉาก ถ้าให้ดีทำทั้งสองในสามอย่างในคราวเดียว ลองมาดูว่าเรามีวิธีเปิดเรื่องที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

การเขียนเรื่องสั้น เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ตื่นตะลึง

วิธีที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านก็คือ ต้องทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงปัญหา และแรงตึงเครียดที่เกิดขึ้นในเรื่อง ต้องทำให้คนอ่านอยากรู้ว่าสองสามประโยคแรกจะพาพวกเขาไปที่ไหน ผมขอยกตัวอย่างเช่นนิยายสั้นเรื่อง “ใบหน้าอื่น” ของผม ที่เริ่มต้นด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “พี่ชายของคุณตายแล้ว” เสียงนี้สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยคำถาม ความสงสัย เกิดอะไรขึ้น เรื่องราวเป็นยังไง มันรบกวนจิตใจ ชวนอยากให้รู้ อยากเห็น อยากรู้ว่าฉากต่อไปจะเป็นอย่างไร จะเล่าอะไรต่อจากนี้ ทำให้สามารถใส่รายละเอียดของเรื่องเข้าไปสนับสนุนฉากเปิดนี้ได้ทันที

อีกตัวอย่างหนึ่ง เรื่องสั้น “ประเทศไทย” ของ ฮารุกิ มูราคามิิ เขาเริ่มต้นเรื่องด้วย:

เสียงประกาศดังลั่น ‘คณะนี้เคลื่องบีนของเราคามลางลงผ่านเข้าสู่หลูมอากัด ได้โพรดเข้านั่งพระจามที่และรัดเคมขัดขาดที่นั่งของทานคะ’

ประเทศไทย : ฮารุกิ มูราคามิ

ไม่ต้องขึ้นต้นด้วย “เอี๊ยดโครม!!!” ไม่ต้องขึ้นเรื่องด้วยเสียง “เปรี้ยงปร้าง!!!” อันดัง แต่ผู้อ่านก็สามารถมองเห็นภาวะที่น่าตื่นตะลึงได้จากไม่กี่ประโยค

ฉาก การเขียนเรื่องสั้น

เริ่มต้นเรื่องด้วยการดึงดูดความน่าสนใจ

วิธีนี้ยากขึ้น ต้องอาศัยประสบการณ์ในการเขียนพอสมควร มันเป็นเหมือนการดึงดูดความสนใจ เช่น ถ้าตกปลาเราต้องมีเหยื่อ ปลาจะกินเหยื่อหรือไม่ เหยื่อนั้นต้องน่าสนใจ วิธีนี้ต้องทำให้คนอ่านรู้สึกถูกแรงดึงดูด พาพวกเขาเข้าไปในบรรยากาศของเรื่อง จากนั้นทำให้อยากอ่านต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร ผมขอยกตัวอย่างเรื่องสั้นของตัวเองอีกเรื่องคือ “ความเหลวใหล” เรื่องสั้นเปิดขึ้นแบบเรียบๆ ว่า  : 

ย้อนกลับไปในคืนหนึ่ง รถกระบะสีฟ้าของพ่อจอดเสียอยู่ริมถนนท่ามกลางความมืด ตอนนั้นผมอายุประมาณสิบขวบ รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องสนุกที่