ช่วงเวลาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา พวกเรานั้นล้วนได้เจอกับ เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 มากมายนับไม่ถ้วนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคร้าย ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การประกาศข่าวใหญ่ หรือแม้แต่ดราม่าต่าง ๆ ซึ่งทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานั้นก็เป็นเหตุการณ์ที่ตราตรึงใจพวกเรา และเป็นกระแสที่โด่งดังอยู่ตามช่วงเวลาในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย และตอนนี้เองก็เข้าสู่เดือนธันวาคม ช่วงเวลาสิ้นปีแล้ว พวกเราจึงได้เขียนรวบรวม 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022 เอาไว้ จะมี เหตุการณ์เด่น อะไรกันบ้าง ไปอ่านกันได้เลย
1. กลับมาอีกครั้งกับ ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เมื่อวันที่ 12 – 23 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง หลังจากได้ปิดปรับปรุงมาอย่างยาวนานตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 โดยสามารถทำยอดขายไปได้ถึง 347 ล้านบาท และมีผู้เข้าร่วมงานสูงสุดถึง 1.3 ล้านคนภายในเวลา 12 วัน ซึ่งถือว่าสูงขึ้นถึง 74% เมื่อเทียบกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2562 ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะความอัดอั้นจากการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาที่งานอย่างต่อเนื่อง โดยหมวดหนังสือที่สามารถทำยอดขายได้สูงสุดก็คือ “นิยายและวรรณกรรม” รองลงมาคือ “หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น” ซึ่งสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าผู้คนยังคงให้ความสนใจในการอ่านหนังสือเล่มไม่แพ้การอ่านหนังสืออีบุ๊กอยู่
ในส่วนของการเดินทางก็มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากมีการสร้างทางเชื่อมไปยังศูนย์สิริกิติ์ขึ้นมาใหม่ ทำให้สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT แล้วเดินผ่านอุโมงค์ทางเชื่อมเข้าไปงานหนังสือได้เลย หรือหากโดยสารด้วยรถไฟฟ้า BTS ก็สามารถลงที่สถานีอโศกแล้วต่อรถไฟฟ้า MRT ไปลงที่สถานีสุขุมวิท แล้วออกที่ทางออก 3 ก็สามารถเดินเข้างานได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบริการขนส่งไปรษณีย์ไทยเพื่อเอาใจนักอ่านทุกคน ค่าจัดส่งหนังสือแบบ EMS เริ่มต้นที่ 50 บาททั่วประเทศ มาพร้อมกับสแตมป์และคอลเลคชันพิเศษให้คุณได้สะสมมากมาย อีกทั้งยังมีจุดชมวิวถ่ายรูปอยู่บริเวณกลางพื้นที่จัดงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็น Landmark พิเศษที่เพิ่มขึ้นมาในปีนี้อีกด้วย
สำหรับใครที่กลัวว่าผู้คนส่วนใหญ่จะเลิกอ่านหนังสือเล่มและหันไปหาอีบุ๊ก ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะจากความสำเร็จอย่างล้นหลามของมหกรรมหนังสือระดับชาติในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณอันดีที่บอกว่ายังคงมีคนที่รักในการอ่านหนังสือเล่มอยู่ แม้จะอยู่ในยุคที่ผู้คนหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตก็จะยังคงมีผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติจำนวนมากเช่นนี้เหมือนเดิม และอาจจะเพิ่มขึ้นถ้าผู้คนยังตระหนักถึงความสำคัญและความสนุกของการได้เลือกซื้อและอ่านหนังสือที่ตนรัก
2. ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ‘จนกว่าโลกจะโอบกอดเราไว้’ คว้าซีไรต์ปี 65
เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการจัดการแข่งขันประกวดผลงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเภท “กวีนิพนธ์” ประจำปี 2565 โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565 และเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ได้มีการประกาศผู้ชนะที่สามารถคว้ารางวัลซีไรต์ปีนี้ไปได้ ได้แก่ กวีนิพนธ์เรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ สามารถนำเสนอภาพของสังคมพลิกผันในปัจจุบันที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการระบาดครั้งใหญ่ ปัญหาอาชญกรรม สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมของสื่อต่าง ๆ รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกในอดีตและปัจจุบัน กวีต้องการสื่อว่า แม้ชีวิตจะต้องพบเจอกับความโหดร้ายและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ขอเพียงเรายังเอื้ออาทรต่อกัน โอบกอดกันด้วยความเข้าใจ และเห็นใจซึ่งกันและกัน
ด้วยเหตุนี้ ทางคณะกรรมการจึงตัดสินให้ผลงานวรรณกรรมประเภทกวีนิพนธ์เรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ให้เป็นผู้ชนะรางวัลซีไรต์ประจำปี 2565 ซึ่งถือว่าเป็นกวีหญิงคนที่สองของไทยที่สามารถคว้ารางวัลซีไรต์เอาไว้ได้ต่อจาก จิระนันท์ พิตรปรีชา หญิงคนแรกของไทยที่สามารถคซีไรต์ประจำปี 2532 ไปได้ด้วยเรื่อง “ใบไม้ที่หายไป” สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยเรานั้นก็มีความสามารถในการเขียนวรรณกรรมไม่แพ้ชาติใดในโลก
การจัดงานประกวดผลงานวรรณเช่นนี้ ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่วรรณกรรมอย่างยิ่ง เพราะเป็นโอกาสที่หลาย ๆ คนจะได้รู้จักวรรณกรรมที่มีแนวคิดดี ๆ จากผู้เขียนผู้มากความสามารถจากหลาย ๆ ประเทศในอาเซียน อย่างเช่นในผลงานชนะเลิศก็ยังสอดแทรกสภาพสังคมในปัจจุบันเอาไว้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้อ่าน และผู้เขียนหวังว่าในอนาคตงานแข่งขันประกวดผลงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จะนำพาวรรณกรรมดี ๆ มาให้ทุก ๆ คนอีกในปีหน้า
3. “100 ปี แห่งความโดดเดี่ยว” มหากาพย์ปัญหาลิขสิทธิ์ระหว่างฉบับแปลเก่ากับฉบับแปลใหม่
เรื่องเด่นประจำปี 2565 ก็คงหนีไม่พ้นจุดจบของมหากาพย์ปัญหาลิขสิทธิ์ระหว่างสำนักพิมพ์สามัญชน กับ สำนักพิมพ์บทจร ในการถือครองลิขสิทธิ์แปลไทยนวนิยายเรื่อง “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” ที่เขียนโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ซึ่งถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาสเปนเมื่อพ.ศ. 2510 และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อพ.ศ. 2513
“100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกตั้งแต่พ.ศ. 2529 โดย ปณิธานและร.จันเสน ซึ่งแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ และยังคงมีการพิมพ์ซ้ำรวมถึงจัดจำหน่ายมาจนทุกวันนี้ โดยฉบับปณิธานและร.จันเสน ได้รับการพิมพ์ซ้ำตั้งแต่ก่อนที่กฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากนั้นสำนักพิมพ์สามัญชนก็ได้ลิขสิทธิ์การแปลไทยนี้มาต่ออีกทอดหนึ่ง
จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2559 สำนักพิมพ์บทจรได้ซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้มาจากทายาทของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ โดยแปลเป็นภาษาไทยจากภาษาสเปนซึ่งเป็นภาษาต้นฉบับ และได้ทำการเรียกร้องให้สำนักพิมพ์สามัญชนยุติการจำหน่าย “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” แต่การเจรจาไม่สำเร็จ จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2564 เนื่องจากสำนักพิมพ์สามัญชนได้จำหน่ายนวนิยายเรื่องนี้ในงานหนังสือด้วยราคาที่ถูกกว่า ทำให้สำนักพิมพ์บทจรและทายาทเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหายทางผลประโยชน์
จุดสิ้นสุดของข้อพิพาทก็มาถึงในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯได้พิพากษายกฟ้อง โดยอ้างอิงจากอนุสัญญากรุงเบิร์นที่ว่า “หากผู้สร้างสรรค์ไม่ได้แปลผลงานตนเองเป็นภาษาที่ต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในประเทศภาคีใดภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่การเผยแพร่งานเดิมเป็นครั้งแรก สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะแปลงานของตนเป็นภาษาดังกล่าวย่อมหมดสิ้นไป” ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ไม่ได้อนุญาตให้ใครแปลเป็นภาษาไทย การตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยแต่เพียงผู้เดียวของกาเบรียลเจ้าของลิขสิทธิ์จึงระงับไปแล้ว ศาลพิพากษาว่าการแปลนวนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาไทยไม่ใช่เรื่องผิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด และไม่ต้องได้รับอนุญาตจากกาเบรียล จึงสรุปได้ว่า การที่สำนักพิมพ์สามัญชนจัดพิมพ์และจำหน่ายนวนิยายเรื่อง “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” ไม่เป็นการละเมิดต่อสำนักพิมพ์บทจร
ผู้เขียนคิดว่าคำตัดสินในครั้งนี้ก็ถือเป็นการหยุดการขัดแย้งของทั้งสองสำนักพิมพ์ด้วยวิธีที่สันติที่สุดแล้ว เพราะทั้งสองสำนักพิมพ์ก็ยังคงขายนวนิยายเรื่องนี้ต่อไปได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อพิพาทในครั้งนี้สร้างคำถามให้แก่ผู้คนที่อยู่ในวงการวรรณกรรมอย่างมากในเรื่องของลิขสิทธิ์ อย่างเช่นที่ว่าศาลจะยังคุ้มครองสิทธิของผู้แปลอยู่หรือไม่หากมีการนำไปแปลเป็นภาษาอื่นไปแล้ว เรายังต้องไปขอสิขสิทธิ์จากเจ้าของผลงานอยู่หรือไม่ และการนำวรรณกรรมที่ไม่ใช่ภาษาต้นฉบับมาแปลจะถือว่าผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้อาจจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แค่วงการวรรณกรรมแปลไทยเลยก็ได้ อย่างไรก็ดี บางคนก็พอใจกับคำตัดสินนี้เพราะผู้อ่านจะได้เห็นความหลากหลายของสำนวนการแปล บ้างก็ไม่พอใจเพราะทำให้ผลประโยชน์ที่ทางสำนักพิมพ์ที่จะได้รับลดน้อยลง แต่ในเมื่อศาลตัดสินมาแบบนี้ คงต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้อ่านแล้วว่าชอบ “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” ของสำนักพิมพ์ไหนมากกว่ากัน
4. เทศกาล Colorful Bangkok 2022 เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองศิลปะ
กรุงเทพมหานครได้ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้พื้นที่สาธารณะเป็นเวทีโชว์ความสามารถของศิลปิน และยกพื้นที่ให้ทุกคนมามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ความน่าสนใจของงานนี้คือการรวมเอาเทศกาลและอีเวนต์ศิลปะต่าง ๆ มามากกว่า 120 งาน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 ทำให้ตลอด 3 เดือนนี้ ทั่วกรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยสีสันจากงานศิลปะ แสงสี และดนตรีสำหรับเทศกาล Colorful Bangkok ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศของงานเหล่านี้กันอย่างจุใจ ตามนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีของผู้ว่าราชการ กรุงเทพฯ ‘ชัชชาติ’ โดยแต่ละเดือนนั้นเองก็มีการจัดเทศกาลที่แตกต่างกันไป
ในเดือนพฤศจิกายนเป็นเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ ไฮไลต์ของงานคือ Unfolding Bangkok ที่เชิญชวนทุกคนเข้าวัดเพื่อไปเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาและสถาปัตยกรรมของวัดผ่าน interactive art ของวัดอินทารามวรวิหารและวัดราชคฤห์ ระหว่างวันที่ 12-20 พ.ย. 2565
ตามด้วยเทศกาลแสงสีและเทศกาลดนตรีในเดือนธันวาคมและมกราคม ที่มีไฮไลต์ของงานคือ Awakening Bangkok มาในธีม Endless Tomorrow เป็นการจัดแสดงไฟในย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย ระหว่างวันที่ 16-25 ธ.ค. 65 รวมถึงเทศกาลเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน “Night at the Museum Festival 2022” กว่า 20 แห่ง เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, Museum Siam, ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ โดยแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกจัดวันที่ 16-18 ธ.ค. 65 ในกรุงเทพฯ และวันที่ 23-25 ธ.ค. 65 ในเขตปริมณฑลและต่างจังหวัด นอกเหนือจากนั้น ยังมีงาน Siam Music Fest 2022 ที่ได้ขนศิลปินกว่า 80 คนมาขึ้นแสดงบน 6 เวที รอบสยามสแควร์ ระหว่างวันที่ 17-18 ธ.ค. 65 ต่อด้วยกิจกรรมดนตรีในสวนที่สวนสาธารณะ 12 แห่งในกรุงเทพฯ เช่น สวน 60 พรรษา สวนรถไฟ สวนเสรีไทย ฯลฯ
ผู้เขียนคิดว่าเทศกาล Colorful Bangkok 2022 นี้ถือเป็นตัวเลือกที่ดีในการยกระดับเมืองกรุงเทพฯให้ไปในทางที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนศิลปะสร้างสรรค์ไปด้วยในตัว ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเมืองหลวงของไทยไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยตึกราบ้านช่องและห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่แห่งสีสันที่รวมประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน น่าเสียดายที่เทศกาลนี้มีเพียงแค่ปีเดียว แต่ก็ไม่แน่ว่าในปีหน้าอาจจะมีเทศกาลดี ๆ แบบนี้เกิดขึ้นอีกก็ได้
5. วิลล์ สมิธตบหน้าคริส ร็อกบนเวทีออสการ์ 2022
หากพูดถึงงานประกาศรางวัลออสการ์ในปีนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่คริส ร็อกถูกวิลล์ สมิธตบหน้ากลางเวที จนเกิดเป็นกระแสบนโลกอินเตอร์เน็ตที่พูดถึงความเหมาะสมของนักแสดงทั้ง 2 ฝ่ายมากมายและมีมต่าง ๆ ที่ตามมาอย่างไม่ขาดสายในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ในวันที่ 28 มีนาคม 2565 ระหว่างที่งานประกาศรางวัลตุ๊กตาทอง ออสการ์กำลังดำเนินรายการ ร็อกได้พูดแซวถึงทรงผมของเจด้า สมิธ ผู้เป็นภรรยาของ วิลล์ สมิธ และการเล่นมุกเสียดสีนี้เองทำให้วิลล์ สมิธไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนเกิดเหตุดังกล่าว ซึ่งในเวลาต่อมาไม่นาน วิลล์ สมิธยอมรับว่าการกระทำของตนเองนั้นไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง
การกระทำของวิลล์ สมิธบนเวทีออสการ์เป็นเหตุให้เขาถูกแบนจากทุกกิจกรรมที่จัดโดยออสการ์นาน 10 ปี แต่เจ้าตัวแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากออสการ์ก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ที่บทลงโทษจากออสการ์จะมีผลบังคับใช้ และในวันที่ 29 กรกฎาคม วิลล์ สมิธได้ออกมาขอโทษร็อกผ่านช่องยูทูปของตนเอง “Will Smith” ผ่านวิดีโอที่มีชื่อว่า “It’s been a minute…”
ภายหลังทางคริส ร็อกเองไม่ได้แจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายแต่อย่างใดและยังออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายชั่วโมงต่อมา โดยเจ้าตัวกล่าวทำนองว่าตัวเขานั้นไม่ใช่ผู้ถูกกระทำบนเวทีออสก้าร์ และร็อกได้แสดงความเป็นมืออาชีพโดยการขึ้นทอล์คโชว์ของตนต่อหลังจากงานประกาศรางวัลจบลง ถึงแม้จะมีแฟน ๆ ถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวขณะที่เจัาตัวกำลังดำเนินรายการ แต่เจ้าตัวขอไม่แสดงความคิดเห็นและดำเนินทอล์คโชว์ต่อไป
การกระทำของวิลล์ สมิธนั้นไม่ได้ส่งผลต่อเพียงตัวเขาหรือคู่กรณีอย่างคริส ร็อกเท่านั้น ผู้คนที่ให้ความสนใจไม่ว่าจะเป็นทั้งชนผิวสีหรือชาวผิวขาว โดยส่วนมากต่างไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ใช้ความรุ่นแรงของสมิธ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียง “มุกตลก” ของร็อกก็ตาม และการตัดสินใจช่วงวูบของวิลล์ สมิธในครั้งนี้ได้สร้างรอยด่างพร้อยร้าวให้กับกลุ่มชาวผิวสีและสร้างกระแสการเหมารวม (Stereotype) ที่ว่าชายชาวคนผิวสีมักใช้ความรุนแรง
ทั้งนี้ทางผู้เขียนมีความคิดว่าการกระทำของทั้งสองฝ่ายนั้นมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องมุกตลกของคริส ร็อกที่เล่นเกี่ยวกับโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) ซึ่งเป็นโรคที่เจดา สมิธต้องเผชิญนั้นถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางจิตใจที่ไม่สมควรนำมาพูดเป็นเรื่องตลกอย่างยิ่ง ส่วนการใช้กำลังด้วยอารมณ์ชั่ววูบของวิลล์ สมิธเองก็ถือว่าไม่เหมาะสม แม้ว่าอาจมีผู้ที่เห็นด้วยกับการที่ร็อกถูกตบหน้า แต่ทางผู้เขียนมองว่าวิลล์ สมิธถือเป็นบุคคลที่ชูหน้าชูตาของกลุ่มคนผิวสีในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทุกคนอาจทราบกันดีว่ามีปัญหาการเหยียดเชื้อชาติมาก ดังนั้นการกระทำของวิลล์ สมิธในครั้งนี้จึงส่งผลต่อชื่อเสียงกับกลุ่มคนผิวสีด้วยเช่นกัน
6. อวตาร 2 ภาคต่อของหนังที่ทำรายได้อับดับ 1 ของโลก หลังจากรอคอยมากว่า 13 ปี
อวตาร (Avatar) ภาพยนตร์แนวไซไฟแฟนตาซีฟอร์มยักษ์ระดับโลกที่แฟน ๆ ต่างรอคอยภาคต่อกันมาอย่างยาวนาน ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 ที่กำกับโดยผู้กำกับมือทองอย่าง เจมส์ คาเมรอน และด้วย CGI ที่ล้ำหน้าเหนือยุคในสมัยนั้นทำให้เรื่องนี้ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม กวาดรางวัลระดับโลกหลายรายการ และได้ขึ้นเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสามารถทำเงินไปได้มากกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว ๆ 1 แสนล้านบาท
Avatar ได้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในภาคต่อ “ Avatar 2 ” หรือ “Avatar: The way of water” ที่มีชื่อไทยว่า “อวตาร วิถีแห่งสายน้ำ” หลังจากที่ปล่อยให้แฟน ๆ รอคอยกันถึง 13 ปี ซึ่งได้ประกาศฉายในไทยวันที่ 14 ธันวาคม 2565 โดยตัวหนังมีความยาวหนังถึง 3 ชั่วโมงและเป็นการปฏิวัติวงการ CGI ยุคใหม่อย่างแท้จริงซึ่งได้ใช้งบทุ่มทุนสร้างไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาทเพื่อให้พวกเราเต็มอิ่ม จุใจ สมการรอคอย
ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องนี้มียอดจองตั๋วล่วงหน้าอย่างถล่มทลายเพราะแฟน ๆ ต่างรอคอยกันมาอย่างยาวนาน ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่เข้าฉายได้เพียงแค่วันแรกก็สามารถทำรายได้อย่างเป็นทางการสูงถึง 50 ล้านบาท โดยมีการวิจารณ์อย่างล้นหลามว่าเป็นหนังที่สมการตั้งตารอเป็นอย่างมาก ถ้าเปรียบเป็นคะแนน ก็ให้ความสนุกไปถึง 10000/10 กันเลยทีเดียว
จากรายได้และกระแสตอบรับของผู้ชมแสดงให้เห็นว่าแม้จะผ่านไปแล้วกว่า 13 ปี ความสนใจที่มีต่อภาพยนต์อวตารนั้นก็ไม่ได้ลดหายไปเลย มิหนำซ้ำยังเป็นการเพิ่มฐานผู้ชมหน้าใหม่ที่ไม่เคยรู้จักภาพยนต์เรื่องนี้มาก่อนเสียอีก เพราะทั้งเนื้อเรื่องและภาพ CGI นั้นก็เยี่ยมยอดสมตามคำร่ำลือจริง ๆ ถ้าใครได้มีโอกาสได้รับชมภาพยนต์เรื่องนี้แล้วอยากดูภาคต่อก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรอนาน เพราะผู้กำกับเจมส์ คาเมรอน ได้วางแผนไว้แล้วว่าภาคต่อไปจะฉายในปี 2024 รู้แบบนี้แล้วก็เตรียมเก็บเงินจองตั๋วหนังกันได้เลย
7. APEC 2022 การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่มีไทยเป็นเจ้าภาพ
การประชุมเอเปค 2022 หรือ APEC 2022 เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคตลอดทั้งปีนี้ รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้หัวข้อ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงสู่สมดุล” โดยในงานนี้ไทยก็ได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาใช้เป็นแนวคิดหลักในการประชุมครั้งนี้ด้วย
เจ้าภาพงานเอเปคนี้สำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก เพราะนี่คือโอกาสที่ไทยจะได้ส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล และได้เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ นอกจากนี้การที่ไทยเป็นเจ้าภาพยังแสดงให้เห็นว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดพร้อมกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าการประชุมนี้จะดำเนินการไปอย่างเรียบง่ายราวกับโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีกลุ่มต่อต้านการประชุมวิจารณ์ว่าโมเดล BCG นี้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุนมากกว่าประชาชน ทั้งยังมีการประท้วงขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต่อต้านนโยบายของสี จิ้นผิง ผู้เป็นหนึ่งในแขกของการประชุม นอกจากนี้ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ประท้วงในระหว่างการประชุมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพในงาน APEC 2022 ถือว่าเป็นเหตุการณ์เด่นของประเทศไทยในปีนี้ เพราะการประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เปิดโอกาสให้ไทยได้นำเสนอสินค้าทางเศรษฐกิจของตนให้กับประเทศอื่น ซึ่งประชาชนก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะพัฒนาไปถึงขั้นไหน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าแนวทางเศรษฐกิจของไทยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างแน่นอน
8. ปลดล็อกกัญชาเสรีในประเทศไทย
ประเทศไทยได้มีการปลดล็อกกัญชาเพื่อผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เพราะกัญชานี้สามารถนำไปใช้ประโยนช์ได้มากมายโดยเฉพาะในทางการแพทย์ จึงได้มีการบังคับใช้กฎหมายด้วยการปลดล็อกตัวกัญชาออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติด
กฎหมายปลดล็อกกัญชาเสรี “กัญชง กัญชา” ได้มีผลบังคับใช้ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นวันแรกที่ให้ประชาชนสามารถปลูกพืชชนิดนี้บริเวณบ้านได้แต่ต้องไม่เกิน 15 ต้นต่อครัวเรือน และใช้ในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องมีการแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ขององค์การอาหารและยา ในทางตรงกันข้ามส่วนของการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นั้นยังคงต้องมีการขออนุญาต เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร เครื่องสำอางค์ และยาสมุนไพร ซึ่งในการอนุญาตให้นำส่วนประกอบของกัญชามาใช้ก็ได้นำความกังวลมาสู่หลายภาคส่วนในสังคมอยู่เช่นกัน
แม้ว่าจะมีการปลดล็อกกัญชาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำตามที่ใจต้องการได้ทุกอย่างเพราะมันยังคงอยู่ในการควบคุม ยกตัวอย่างเช่น การจะครอบครองกัญชาได้นั้นคุณต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ตามข้อกฎหมายกัญชาที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนที่ว่า “…ห้ามไม่ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ครอบครอง จำหน่าย เคลื่อนย้ายพืชกัญชา…” นอกเหนือจากนั้น ถ้าถูกร้องเรียนจากกลิ่นหรือควันจากกัญชาแล้วผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาทถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีกฎหมายควบคุมอีกมากมายในเสรีกัญชานี้
ทางผู้เขียนเห็นว่าการปลดล็อกกัญชานี้ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ต่อประเทศไทยเท่าที่ควร เพราะการปลดล็อกพืชชนิดนี้นั้นเหมือนจะไม่ได้ปลดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากสักเท่าไหร่ อ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชงนั้นมีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกกัญชา โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสพหรือใช้กัญชาโดยเสรีเพื่อนันทนาการไม่ใช่การใช้ทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาผู้ป่วย การให้อนุญาตประชาชนปลูกกัญชา กัญชงในบ้านโดยไม่มีระบบการจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากบุคลากรทางการแพทย์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการนำกัญชาไปใช้อย่างไม่เหมาะสมและอาจส่งผลเสียต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมในวงกว้าง”
ในท้ายที่สุด การปลดล็อกกัญชานี้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอยู่พอสมควร เห็นได้จากการนำพืชนี้มาเป็นส่วนผสมในอาหารต่าง ๆ ซึ่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ควรระวังเอาไว้หากเกิดอาการแพ้ นอกจากนี้คนไทยอาจจะต้องเฝ้าระวังการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมภายในชุมชนอีกด้วย
9. ฟุตบอลโลก 2022 กับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของไทย หรือนี่จะเป็นจุดจบของกฏ Must Have & Must Carry
ถือเป็นข่าวดังในปีนี้สำหรับคอฟุตบอลที่ต้องลุ้นจนวินาทีสุดท้ายว่าจะได้ดูฟุตบอลโลกหรือไม่ และจะได้ดูกันแบบไหน เพราะกว่าไทยเราจะปิดดีลได้ก็ปาไป 3 วันก่อนการแข่งนัดแรกจะเริ่มกันเลยทีเดียว โดยสาเหตุก็มาจากปัญหาเรื่องเงินค่าลิขสิทธิ์ที่สูงลิ่ว และกฏ Must Have และ Must Carry ของกสทช.นั่นเอง
กฏ Must Have และ Must Carry ถูกบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2555 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดในยุคทีวีดิจิตอล โดยกฏทั้งสองระบุไว้ว่า คนไทยจะต้องสามารถเข้าถึงรายการที่กำหนดไว้ใน Must Have (ซีเกมส์, อาเซียน พาราเกมส์, เอเชียน เกมส์, เอเชียน พาราเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย) และ คนไทยจะต้องรับชมแบบฟรี ๆ ในทุกแพลตฟอร์ม
สองกฏนี้ดูเหมือนจะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ชม แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับสร้างความวุ่นวายให้เสียมากกว่า เพราะมันทำให้ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์มีราคาสูงขึ้นเนื่องจากสามารถดูได้ทุกช่องทั่วประเทศ ทางเจ้าของลิขสิทธิ์จึงต้องคิดค่าลิขสิทธิ์เพิ่ม และทางเอกชนหรือเพย์ทีวีขาดแรงจูงใจในการซื้อลิขสิทธิ์เพราะขาดรายได้เนื่องจากผู้ชมสามารถดูผ่านฟรีทีวีได้อยู่แล้ว ในขณะเดียวกันทางฟรีทีวีก็ไม่มีแรงจูงใจเช่นเดียวกันเพราะต้องอนุญาตให้เพย์ทีวีนำไปถ่ายทอดสดต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
จนกระทั่งในปี 2565 ราคาค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมีราคาที่สูงมาก จนกว่าจะปิดดีลได้ก็ต้องเสียไปราว 1400 ล้านบาทเพื่อให้คนไทยสามารถดูฟุตบอลโลกครบ 64 แมตซ์ โดยได้เงินสนับสนุนมาจาก กสทช. จำนวน 600 ล้านบาท จากการสนับสนุนของภาคเอกชนอีกจำนวน 700 ล้านบาท และได้จากค่าอื่น ๆ เช่น ภาษี ค่าจัดการ อีก 100 ล้านบาท
แม้จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ได้แล้วแต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เนื่องจาก ทรู ผู้เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนจำนวน 300 ล้านซึ่งคิดเป็น 25% จากราคาเต็มได้เรียกร้องสิทธิพิเศษในการถ่ายทอดสดผ่านทาง True 4U มากถึง 32 นัด และสามารถเลือกนัดได้ก่อนช่องอื่น ๆ นอกจากนี้ทรูยังบล็อกกล่อง IPTV อื่นๆ ทำให้การจะดูบอลโลกจะต้องดูผ่านกล่องของทรูเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าคนที่ใช้กล่องเจ้าอื่นต้องไปหาซื้อหนวดกุ้งเพื่อรับสัญญาณจากทีวีดิจิตอลเอาเอง ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ขัดกับกฏ Must Carry และสร้างความไม่พอใจกับหลาย ๆ ฝ่าย
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เริ่มมีการตระหนักถึงการมีอยู่ของกฏ Must Have และ Must Carry ประชาชนหลายคนเริ่มคิดว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนั้นไม่จำเป็น เพราะไม่มีทีมชาติไทยอยู่ในการแข่งและไม่ใช่คนไทยทุกคนที่อยากดูบอลโลก ซึ่งทางกสทช. ก็กำลังพิจารณาปรับปรุงกฎ Must Have ของไทยในอนาคต ซึ่งนั่นอาจจะทำให้คนไทยไม่ได้ดูบอลโลกฟรีอีกต่อไปในอนาคตเลยก็ได้ ทางผู้เขียนเองก็เป็นคนชอบดูฟุตบอลโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าการต้องฉายฟุตบอลโลกทุกนัดบนทีวีทุกช่องในราคาลิขสิทธิ์ที่สูงลิ่วก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นนัก การปรับปรุงกฏของกสทช.จึงอาจเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ในอนาคตคอฟุตบอลอาจจะต้องเตรียมเงินเอาไว้เผื่อฟุตบอลโลกครั้งต่อไปเพราะครั้งหน้าจะมีเจ้าภาพตั้ง 3 ประเทศนั่นคือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งถ้าพลาดไปก็คงน่าเสียดายมาก
10. อีลอน มัสก์ ซื้อกิจการของทวิตเตอร์
หนึ่งในเหตุการณ์บนโลกโซเชียลที่เป็นที่พูดถึงและถูกจับตากันอย่างไม่อาจละสายตาได้จนถึงตอนนี้ นั่นคือการเทคโอเวอร์ Twitter ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียง 1 วัน มัสก์ประกาศชัยชนะด้วยการทวีต “the bird is freed” มีความหมายว่า “นกฟ้าเป็นอิสระแล้ว” และซ้ำด้วยการเชิญอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างคุณปารัก อกราวัล (Parag Agrawal) ออก
มัสก์ได้เริ่มแผนพัฒนา Twitter หลังจากเข้ามารับตำแหน่ง CEO ครั้งแรกในวันที่ 30 ตุลาคม 2565 โดยเป็นการปรับปรุงระบบยืนยันตัวตน หรือ “เครื่องหมายติ้กถูกสีฟ้า” และเปิดตัวด้วยชื่อ “Twitter Blue” ในราคา $19.99 (หรือราว 700 บาท) เพื่อเป็นคัดกรองบัญชีที่ถูกสร้างมาเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่นและบัญชีบอท แต่ด้วยเสียงตอบรับที่ไม่สู้ดี มัสก์จึงลดราคาลงเหลือเพียง $8 (หรือราว 280 บาท)
หลังจากที่มักส์ได้เริ่มเผยแพร่ข่าวการพัฒนา Twitter Blue เหล่าอินฟลูเอนเซอร์บน Twitter ต่างแสดงความไม่พอใจและส่วนใหญ่ให้ความเห็นกันว่า Twitter Blue นั้นไร้สาระและไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย โดยคุณ Charlie @MoistCr1TiKal ได้ออกความคิดเห็นผ่านการทวิตว่า “เครื่องหมายติ้กถูกสีน้ำเงินมันก็ดูตลกมากพอแล้ว แต่ลองนึกภาพเอาว่าต้องจ่ายค่าติ้กถูกนั่น 8 ดอลล่าห์ต่อเดือน สู้เอาเงินไปกดลงชักโครกยังจะดีซะกว่า พวกคุณก็แค่จ่ายซื้อสัญลักษณ์ติดบัญชีที่เอาไว้ให้คนอื่นได้รู้ว่าคุณมันปัญญาอ่อน”
และแล้วสิ่งที่มัสก์พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกลับได้ผลตรงกันข้าม ในวันที่ 10 พฤษจิกายน 2565 หลังจาก Twitter Blue เปิดบริการอย่างเป็นทางการได้เพียงแค่ 1 วัน มีบัญชีผู้ใช้ที่ได้รับการยืนยันตัวตนแล้วจากบริการใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างล้นหลาม ซึ่งดูผิวเผินอาจเป็นเรื่องดี แต่หลาย ๆ บัญชีนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการปลอมแปลงเป็นบุคคลและบริษัทต่าง ๆ มากมาย และจากเหตุการณ์นี้เองทำให้มีหลาย ๆ องค์กรเสียทรัพย์สินและรายได้จำนวนมากกว่าหลายพันล้านตอลล่าห์สหรัฐ และเหตุการณ์เหล่านี้เอง ทำให้มัสก์ต้องหยุดบริการ Twitter Blue อย่างกระทันหันในวันถัดมา
จนปัจจุบันหลังจากเหตุการณ์การโกลาหลมากมายที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน Twitter Blue ก็กลับมาให้บริการอีกครั้งในวันที่ 29 พฤษจิกายน 2565 แต่จำกัดการให้บริการเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาคา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียเท่านั้น
การเข้าซื้อทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์นั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อแพลตฟอร์มนี้อย่างมากภายในปีเดียว ผู้เขียนคิดว่านโยบายส่วนใหญ่ของมัสก์ที่ออกมาจนถึงปัจจุบันสร้างความลำบากต่อกลุ่มผู้ใช้มากกว่าผลประโยชน์เสียอีก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าผู้ใช้หลายคนจะเริ่มไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม เราไม่มีทางรู้เลยว่าชะตากรรมของทวิตเตอร์จะเป็นอย่างไรต่อไป จึงอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้ใช้แล้วว่าจะยังต้องการใช้แอปนี้ต่อไปหรือไม่
บทสรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเหตุการณ์สำคัญประจำปีนี้ เรื่องราวมากมายที่ได้เกิดขึ้นนั้น มีทั้งเรื่องที่น่ายินดีด้วยความสุข และเรื่องที่น่าขบคิดด้วยความสงสัย แต่ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว พวกเราที่เป็นผู้ก้าวเดินต่อไปในอนาคตคงทำได้เพียงเก็บความทรงจำดี ๆ เอาไว้เป็นความสุข ส่วนเรื่องทุกข์ ๆ ที่พลาดพลั้งก็ให้เป็นบทเรียนให้ดำรงชีวิตกันไป
ส่วนผู้อ่านถ้ามี 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022 ที่อยากจะแบ่งปันสามารถโพสต์ลงในคอมเม้นต์ด้านล่างได้เลย
สุดท้ายทุกอย่างก็มีทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบ เช่นเดียวกันกับปี 2022 ที่กำลังจะจบลง และเริ่มต้นสู่ปีใหม่ 2023 ไม่ว่าเราจะเคยผ่านอะไรมาก็ตาม แต่เมื่อปีใหม่มาถึง เราก็ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ใหม่ ๆ และใช้ชีวิตกันต่อไป
อ้างอิง1
- reviewaraidee: งานหนังสือปี 2565 มีที่ไหนบ้าง ? จัดวันไหน ? เปิดปิดกี่โมง ? (งานหนังสือ 2022)
- Marketeer: ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่ พื้นที่ใหญ่ขึ้น 5 เท่า เล็งขยายกลุ่มงานต่างประเทศ คาดผู้เข้าใช้บริการ 13 ล้านคนต่อปี
- TODAY: ยลโฉม ‘ศูนย์ฯ สิริกิติ์’ ก่อนเปิดจริง 12 ก.ย. นี้ พื้นที่ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า
- ประชาชาติธุรกิจ: งานหนังสือทะลักศูนย์สิริกิติ์ มั่นใจโกย 300 ล้าน-จอดรถ 3 พันคันเต็ม
- นายอินทร์: เปิด Road Map เดินสาย งาน Book Fair ปี 2565 ทั่วไทย ถูกใจนักอ่าน!
- S.E.A. WRITE AWARD: คำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ประเภทกวีนิพนธ์
- Bangkok Life News: ‘รางวัลซีไรต์’ ปี 65 ประเภท ‘กวีนิพนธ์’ เปิดรับแล้ว !!
- ไทยรัฐ: “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” โดย ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ คว้ารางวัลซีไรต์ 2565
- กรุงเทพธุรกิจ: ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์’ คว้าไป ‘จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’
- ไทยโพสต์: ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ นักเขียนหญิงคว้าซีไรต์กวีนิพนธ์ ปี 65
- Thai PBS: “ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์” คว้าซีไรต์ 2565 จากเรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้”
- TimeOut: เปิดตัวเทศกาล Colorful Bangkok 2022
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: เคลียร์ความสับสน ตกลงกัญชาเสรีขนาดไหน!?
อ้างอิง2
- BBC NEWS ไทย: กัญชง กัญชา
- iLaw: ร่าง พ.ร.บ.กัญชา
- Thaiger: AVATAR 2 เข้าไทย
- ไทยรัฐออนไลน์: Avatar 2 รีวิวภาคต่อฟอร์มยักษ์
- Facebook: 20th Century Studios
- TDRI: ถอดบทเรียนลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022
- Workpoint TODAY: บอลโลกจอดำ
- ThaiPublica: APEC 2022 ไทยผลักดัน“เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG”
- Wikipedia: เอเปค 2022
- USA Today: Will Smith and Chris Rock: Everything to know about the infamous Oscars 2022 slap : USA Today
- Will Smith blocked from Academy events for 10 years, Board of Governors decides after slap : USA Today
- Why we can’t agree on Will Smith’s slap : USA Today
- Chris Rock Says ‘I Am Not a Victim’ After Will Smith Slap: ‘I Shook That S— Off’
- Variety: Chris Rock Responds to Will Smith’s Oscars Slap at Standup Show: ‘I’m Still Kind of Processing What Happened’
- Economics Time: Clap to the slap, in a droopy Oscar show
- WAY magazine: ทำความเข้าใจกฎหมาย ‘ลิขสิทธิ์วรรณกรรม’ ผ่านคดี ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’
- มติชนออนไลน์: มองวิวาทะลิขสิทธิ์และความชอบธรรม ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ แบบคนตกสี
- THE OPENER: สรุปปมพิพาท ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’
- SEJ: Twitter Fires Senior Engineers for Opinions Shared in Private Slack Channel
- Outlook India: hy Parag Agrawal Is The First Person To Be Fired By Elon Musk After Twitter Takeover?
- NewsChannel5: Verified Twitter accounts impersonate major companies and celebrities, cause issues
- วิธีการยื่นขอเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้ารูปแบบใหม่… : Twitter
- Blue checkmarks on here are already…: Twitter
- Adda 247 Current Affair: Tesla CEO Elon Musk terminates deal to buy Twitter for $44 billion