เกริ่นนำ : จิตวิญญาณประชาธิปไตย
หัวข้อปาฐกถา จิตวิญญาณ ประชาธิปไตยใน เรื่องสั้น ไทย โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีที่มาโดยหัวหน้าโครงการวิจัย อ.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ และให้ย้อนกลับไปในอดีตได้มากกว่าขอบเขตที่กำหนดว่า “40 ปี นับจาก 14 ตุลา 2516” เรื่องนี้แค่เวลา 40 ปี มี เรื่องสั้นไทย กับ ประชาธิปไตย นับหมื่นเรื่องแล้ว ถ้าจะให้ย้อนไปมากกว่านั้น ผมเกรงว่าจะรับไม่ไหว ดังนั้นจึงอยากขอมองในเชิงประวัติวรรณกรรมเท่าที่เวลาจะอำนวย และจะยกตัวอย่างเท่าที่พอมีข้อมูลอยู่ใกล้ตัว
ความหมายของ ประชาธิปไตยใน เรื่องสั้น ไทย
ก่อนอื่นไม่ทราบว่า เราเข้าใจคำว่า “จิตวิญญาณ”กันแบบไหน เมื่อครั้ง อบ ไชยวสุ (นามปากกา “ฮิวเมอริสต์”) ทำหนังสือเรื่อง สะกดให้ถูกตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2493 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2505 พจนานุกรมเล่มนี้ไม่มีคำว่า จิตวิญญาณ มีแต่คำว่า “จิตใจ” และ “วิญญาณ” จิตใจแปลว่า “อารมณ์ทางใจ” วิญญาณแปลว่า “ความรู้แจ้ง ความรู้สึกตัว สิ่งที่สิงอยู่ในตน เมื่อร่างกายเปื่อยเน่าแล้ว ก็ยังเชื่อกันว่ามีอยู่ต่อไป” (1) พจนานุกรมฉบับมติชน ที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2547 ก็ไม่มีคำว่า จิตวิญญาณ แต่มีคำว่า จิตสำนึก ในความหมาย “ความรู้สึกที่รับรู้สิ่งที่สัมผัสได้” และได้ให้ความหมายคำว่า วิญญาณ ไว้ว่า “ความรับรู้ทางประสาทสัมผัส โดยปริยายหมายถึงจิตใจ เช่น มีวิญญาณนักสู้” (2)
ต่อมาใน พจนานุกรมไทย–อังกฤษ ของดำเนิน การเด่น และเสฐียรพงษ์ วรรณปก ฉบับปรับปรุงใหม่เมื่อ พ.ศ.2551 มีคำว่า จิตวิญญาณ ในความหมายของคำว่า soul ในภาษาอังกฤษ ส่วนจิตสำนึกหมายถึงที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า conscious หรือ conscious mind (3) อันหมายถึง “ความตื่นรู้” ซึ่งคำนี้เป็นภาษาทางพระ ผมเองเคยนำคำนี้มาใช้ โดยเรียกปรากฏการณ์ของเรื่องสั้นไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 ถึง พ.ศ.2518 ว่ามีความตื่นรู้บางอย่างเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยเป็นเหมือนขนบมาจากเรื่องสั้นชื่อ คำขานรับ ของ “ศรีบูรพา เมื่อ พ.ศ.2493 (4) ที่มุ่งแสดงจิตใจ “รับใช้ผู้อื่น” หรือส่วนรวม ปัจจุบันคงจะหมายถึงคำที่ใช้กันว่า จิตสาธารณะและผมเคยเรียกปรากฏการณ์แบบอุดมคติในเรื่องสั้นไทยที่เป็นเหมือนรอยต่อก่อนหน้าและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ครั้งนั้นว่า จิตสำนึกขบถ (5)
ความหมายของคำว่า จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย ที่ให้โจทย์มาก็ไม่ทราบว่าคณะผู้วิจัยจะใช้ระดับของความหมายไหน ครั้งที่ อ.เจตนา นาควัชระแสดง “ปาฐกถาช่างวรรณกรรม”ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2533 (6) ท่านก็ตั้งหัวข้อว่า “วิญญาณประชาธิปไตย” ไม่ใช่ “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” ส่วน อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองในประเด็นว่าเป็น “เจตจำนงและวัฒนธรรมทางการเมือง” (7) น้ำหนักของคำว่า ประชาธิปไตยจึงน่าจะขึ้นอยู่กับบริบทของคำว่า “ประชาธิปไตย” ว่าถูกนำมาใช้ตรงกันหรือไม่ เช่นบางคนเน้นไปที่อุดมการณ์ของนักการเมืองและพรรคการเมือง
บางคนเน้นไปที่อุดมคติของบุคคลในสายอาชีพต่างๆ เป็นครูที่แท้ เป็นหมอที่แท้ เป็นพระที่แท้ เทศนาในสิ่งที่ตนเชื่อและยอมพลีได้แม้แต่ชีวิต เช่น สืบ นาคะเสถียร ดังนั้นไม่ว่าจะใช้ “วิญญาณ” หรือ “จิตวิญญาณ” ผมก็อยากขออนุโลมไปก่อนว่ามีความหมายใกล้เคียงกัน และอยากใช้คำว่า จิตวิญญาณ ในความหมายที่ครั้งหนึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยพูดว่าเป็นเรื่องคุณค่าชีวิต ทุกชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในอุดมคติหรืออุดมการณ์ใดก็ตาม ย่อมมีด้านละเอียดอ่อนที่เป็นของตน คือ “..เป็นเรื่อง spiritual.. เป็นเรื่องอัตวิสัย” (8)
ดังนั้นจะเรียกว่าวิญญาณ (soul) จิตวิญญาณ ( spiritual) หรือ จิตสำนึก (conscious) คงจะมีบางสิ่งบางอย่างร่วมกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม สิ่งนั้นคือ จิตใจ มุมมองของจิตใจจึงเป็นเรื่องอัตวิสัย (subjective) เป็นนามธรรม “ข้างใน” (inside) ที่สัมพันธ์กับรูปธรรม “ข้างนอก” (outside) ประชาธิปไตยจึงมีบริบทหลากหลายทั้งแนวตั้ง (vertical)และแนวนอน (horizon) เมื่อมองแนวตั้ง มันคืออุดมคติซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจก แต่เมื่อมองแนวนอน มันคืออุดมการณ์หรือเจตจำนงซึ่งเป็นเรื่องของโครงสร้าง (สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม) ทั้งแนวตั้งแนวนอนล้วนมีความสัมพันธ์กัน ไม่แยกกัน อัตวิสัยเป็นเรื่องของเสรีภาพ (liberty) และภราดรภาพ (fraternity) ภววิสัยเป็นเรื่องของความเสมอภาค (equality) ประชาธิปไตยจึงหมายถึงวิถีทาง (means) ที่เป็นจุดหมาย (end)ในตัวมันเอง
จิตวิญญาณหรือจิตสำนึก ที่เกี่ยวข้องกับ ประชาธิปไตย จึงเป็น way of life ของผู้คนที่มีหลากหลายใบหน้า เป็นนามธรรมของคำว่าอิสรภาพ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ และเป็นหลักการของประโยคที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ไม่ใช่ประโยคที่ว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย” (9)
กุหลาบ สายประดิษฐ์
“จิตวิญญาณประชาธิปไตย” หรือ จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย เป็นใบหน้าอันหลากหลายของวิถีชีวิตผู้คน เมื่อ 80 ปีก่อน คือมิติทางจิตใจที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์เคยใช้คำว่า มนุษยภาพ โดยกล่าวว่ามี “..ความมุ่งหมายที่จะปรับฐานะของมนุษย์ให้ได้ระดับอันทุกคนควรจะเปนได้..” และได้กล่าวต่อไปว่า “.. ถ้าเราไม่สู้หน้ากับความจริง นั่นแปลว่าเราได้หันหน้าเข้าหาความหลอกลวง.. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยความหลอกลวงทั้งหมด ยังเปนภัยน้อยกว่าสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยความหลอกลวงครึ่งหนึ่ง และความจริงอีกครึ่งหนึ่ง..” กุหลาบ สายประดิษฐ์ ไม่เอาด้วยกับคำว่า white lie ด้วยเหตุนี้ในบทความเรื่อง มนุษยภาพของเขาจึงกล่าวว่า “ความซื่อสัตย์คือความจริง ความจริงคือความซื่อสัตย์”(10)
สำหรับภาษาไทยที่ใช้กันว่าสร้างสรรค์นั้น ว่าไปแล้วก็เป็นคำเกิดใหม่ ไม่เกิน 3 – 4 ทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง ในหนังสือ สุภาพบุรุษรายปักษ์ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ.2472-2473 ยังไม่พบว่ามีคำนี้เกิดขึ้น
เมื่อผมทำ โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น ที่เป็นการก่อเกิดเรื่องสั้น ช่อการะเกด ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (ฉบับปฐมฤกษ์ วันเวลาที่ผ่านเลย สำนักพิมพ์ดวงกมล พ.ศ.2521) ผมตั้งใจนำคำว่า สร้างสรรค์ มาใช้ในความหมายที่กว้างขวางมากกว่าคำว่า เพื่อชีวิต เพราะคำว่าเพื่อชีวิต ในระยะนั้นได้กลายเป็นความหมายเฉพาะที่เป็นวรรณกรรมของ “พวกในป่า” (11) โดยคำว่าสร้างสรรค์นั้นผมหมายไกลไปถึงคำว่า Creation ในภาษาอังกฤษมากกว่าจะหมายถึงบริบทในรูปแบบ Social Realism หรือ Socialist Realism ซึ่งแต่เดิมนั้นผมเข้าใจว่ามีความหมายเท่ากับคำว่า เพื่อชีวิต ตามที่ปรากฏอยู่ในทรรศนะของ “บรรจง บรรเจิดศิลป์” “นายผี” “เสนีย์ เสาวพงศ์” และคนสำคัญที่เป็นทฤษฎีมากที่สุด คือจากหนังสือ ศิลปเพื่อชีวิต โดย “ทีปกร” (นามปากกาของจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ พ.ศ.2498)
สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผมคิดว่าภาษาไทยยังไม่มีคำว่า ‘สร้างสรรค์’ แต่มีที่เป็นคำโดดแยกกันไป คือ ‘สร้าง ‘ และ ‘สรร’ (ไม่มี ค การันต์) ส่วน ‘สร้างสรรค์’คงจะถอดมาจากที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า Creative หรือ Creation ในคติพระเจ้าสร้างโลก พระเจ้าคือผู้ Creative ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เกิดขึ้น คำว่า Creative หรือ Creation จึงมีค่าดั้งเดิมเท่ากับ “พระเจ้า”ในความหมายของ Christianity และตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา คำๆนี้ได้มาพร้อมกับ “เรือปืน” ของฝรั่งตะวันตก กล่าวคือมาพร้อมกับคำว่า “จักรวรรดินิยม” (Imperialism) ซึ่งก็ตามติดมาพร้อมกับ “การล่าอาณานิคม” [Colonialism] “ทุนนิยม” (Capitalism) และ “การทำให้เป็นอุตสาหกรรม” (Industrialization) คำว่า “สร้างสรรค์” ในความหมายของ Christianity ที่มาถึงสังคมสยามในสมัยปลายอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ จนสืบต่อมาถึงเวลาปัจจุบันที่เรากำลังนั่งอยู่ในห้องนี้
กล่าวโดยอารมณ์ขันมันเป็นเรื่อง “วุ่นวายสบายดี” (คำของ ชมัยภร แสงกระจ่าง) ที่ก่อผลสะเทือนมาจาก “ความเป็นสมัยใหม่” (Modernism) ของตัวอักษรภาษาอังกฤษ 3 คำ คือ S D A [S หมายถึง Science, D หมายถึง Democracy และ A หมายถึง Art] และ S D A ทั้งสามคำนี้ล้วนอยู่ในน้ำหนักของการ Creation (หรือการ Creative ) ในคติของ “การสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เกิดขึ้น” คือเป็นความริเริ่ม [ Originality] ทั้งเรื่องของ Science, Art และ Democracy (ขอบคุณ “พระองค์วรรณ” ที่ได้บัญญัติศัพท์ Democracy เป็นภาษาไทยว่า “ประชาธิปไตย”)
คำว่า ประชาธิปไตย ที่หมายถึง ประชา + อธิปไตย แปลว่า “ความเป็นใหญ่ของราษฎร” หรือ “ความเป็นใหญ่ของประชาชน” นั้น หลักการก็คือเป็นการปกครองที่ “ถือมติของราษฎร” เป็นใหญ่ เพราะอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ประชาธิปไตยที่มีจิตวิญญาณจึงเป็นการ Creative หรือ Creation ของราษฎรที่มีใบหน้าอันหลากหลาย ถ้าใช้ภาษาของจอห์น เลนนอน ในบทเพลง Imagin ใบหน้าอันหลากหลายที่ว่านี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า the Brotherhood of Man นั่นเอง จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย จึงหมายถึงจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์
การอภิวัฒน์ หรือการเปลี่ยนผ่านให้มีประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นเป็นวิถีทาง (Means) ที่เป็นจุดหมาย (end) ในตัวของมัน ในทรรศนะของผมมันคือจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ [The spirit of democracy is to be HUMAN] การเปลี่ยนผ่านใดๆ ไม่ว่าจะ “ทำการเมือง”กันแบบไหน ผมคิดว่าเราต้องถนอมรัก “มนุษย์” และ “ความเป็นมนุษย์” ไว้ให้ได้ (The revolution is to be HUMAN)
เรื่องสั้นไทย
เรื่องสั้นไทยในแต่ละบริบททั้งอดีตและปัจจุบันไม่ว่าจะนำเสนอเพื่ออะไรก็ตาม มันมีใบหน้าอันหลากหลายปรากฏเสมอ ศิลปะวรรณกรรมสำหรับผมไม่มีคำขยายตามฤดูกาลอีกต่อไป (ยกเว้นในทางวิชาการ) จะเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิต (ทีปกร) วรรณกรรมปวงชน (ชลธิรา กลัดอยู่) วรรณกรรมแนวประชาชน (นศินี วิธูธีรศานต์) วรรณกรรมการเมือง (พานแว่นฟ้า) หรือไม่ว่าในชื่ออื่นใดก็ตาม ตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็นในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ผมก็สิ้นสุดวิธีการมองศิลปะวรรณกรรมในกรอบที่ให้ การเมือง เป็นตัวตัดสินเพียงตัวเดียว เมื่อวรรณกรรมนำเสนอเรื่องราวของมนุษย์ที่มี “ใบหน้าหลากหลาย” มันจึงต้องมองไปที่ ข้างใน ให้ลึกที่สุดเสมอ ผมไม่มีคำว่า “เรือลำใหม่” มีแต่คำว่า “เรือลำเดียวกัน” และไม่เอาคำว่า “วรรณกรรมการเมือง”มาใช้ในความหมายของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” อีกต่อไป (12)
วรรณกรรมก็คือวรรณกรรม เมื่อกระทำออกมาอย่างมี “วรรณศิลป์” มันคือสิ่งที่ผมเรียกว่า สร้างสรรค์โดยพุ่งเข้าหาความคิดริเริ่ม [Originality] และความเป็นเลิศ [Excellence] ซึ่งหมายถึงคุณภาพในระดับเข้มข้น ในปัจจุบันที่มีการแบ่งขั้วแบ่งข้าง “ทำการเมือง” กันเหมือนยุคสงครามเย็นที่แบ่งเป็นซ้าย เป็นขวา ผมมีการเมืองไม่พอที่จะ “เลือกข้าง” ดังนั้นไม่ว่าใครจะ “ทำการเมือง”กันแบบไหน ผมอยากขอใช้แว่นขยายส่องมองเป็นเรื่องๆ ศิลปะวรรณกรรมเป็นงานสร้างสรรค์ในฐานะ “มิติทางจิตใจ” ดังนั้นมันจึงมีความซับซ้อนที่ใช้ “การเมือง”อย่างเดียวมาตัดสินไม่ได้ วิธีคิดแบบนี้ในสมัยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาเรียกว่าเป็นพวกมี “ปัญหาทางความคิด” กล่าวคือ เป็น“โรคประจำศตวรรษ” ที่มองไม่เห็นชัยชนะของสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้างคำว่า “ประชาชน” หรือถ้าจัดหนักเข้าไปอีก ก็ประณามว่าเป็นพวก “วีรชนเอกชน” สมัยนี้เขาคงเรียกว่า “สลิ่ม” หรือ “พวกทำตัวเป็นกลาง” เรื่องนี้ก็ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ เพราะขณะนี้ยังฝุ่นตลบอยู่ (“ฝุ่นตลบ” เป็นคำของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หมายถึงการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง)
จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย จึงมักจะปรากฏอยู่ใน “สี” ไหน ผมมีการเมืองไม่พอจะตัดสิน เพราะไม่ว่าจะ “สี”ไหนก็มา “ผ่านเกิด” กับผมได้ทั้งนั้น ถ้าเขียนเรื่องสั้นได้อย่างมุ่งความเป็นเลิศ จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย แต่ละยุคสมัย ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผม ผมมักกล่าวทีเล่นทีจริงว่า ผมใช้อัตวิสัย หรือใช้ มรส. ตัดสิน (มรส.แปลว่า “มาตรฐานรสนิยมส่วนตัว) และเรื่องสั้นไทยที่สะท้อน จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย ในทรรศนะของผม อาจมองย้อนไปได้จนถึงสมัยที่ชาวสยามเริ่มรู้จักการเขียนหนังสือในรูปแบบ “ร้อยแก้วแนวใหม่” (prose narrative) กล่าวคือเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับ วัฒนธรรมหนังสือตั้งแต่ครั้งหมอบรัดเลทำ หนังสือจดหมายเหตุ Bangkok Recorder เมื่อ พ.ศ.2387 (ปลายรัชกาลที่ 3) และมาก่อเกิดรูปแบบของ “เรื่องสั้นไทย” (สมัยก่อนเรียกกันว่า “นิทาน”)
Magical Realism
ในหนังสือ ดรุโณวาท รายสัปดาห์ของ “คณะสยามหนุ่ม” เมื่อ พ.ศ.2417 อันถือเป็นต้นกำเนิดของเรื่องสั้นไทยยุคบุกเบิกที่ผมยกให้เรื่อง นายจิตรนายใจสนทนากัน เป็นรุ่งอรุณของเรื่องสั้นไทยแบบ Social Criticism และ ชายหาปลาทั้ง 4 เป็นรุ่งอรุณของเรื่องสั้นไทยแบบ Magical Realism (13) นับเวลาจาก พ.ศ.2417 มาถึงปัจจุบัน เรามีการเขียน “ร้อยแก้วแนวใหม่”ในลักษณะที่ต่อมาเรียกว่า “เรื่องสั้น” ผ่านมาแล้ว 138 ปี ผมเข้าใจว่าที่เรื่องสั้นไทยปัจจุบันมีความหลากหลายพอสมควรก็เพราะจุดเริ่มต้นของมันมีลักษณะแบบเข้มข้น คือเป็นทั้งเรื่อง Critical และ Magical แต่ผมก็ยังไม่เห็นภาพรวมของมันอย่างสมบูรณ์ เรามีการศึกษาวิเคราะห์วิจัยวรรณกรรมไทยกันมาช้านาน แต่ภาพรวมของคำว่า “ประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่” ที่อ้างอิงมาจากแหล่งของเอกสารชั้นต้นในทุกยุค ทุกสมัย เรายังไม่เคยทำได้ครบถ้วน
นายจิตรนายใจสนทนากัน ในหนังสือ ดรุโณวาท รายสัปดาห์เมื่อ พ.ศ.2417 มีเนื้อหาว่าด้วยไพร่ 2 คนคุยกัน คนหนึ่งชื่อ จิตร คนหนึ่งชื่อ ใจ (ซึ่งก็คงมาจากคำว่า จิตใจ นั่นเอง) ไพร่ทั้ง 2 (ยามเฝ้าประตูวัง) มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ความเหลวแหลกของสังคมสยามสมัยนั้น เช่นเห็นว่ามีแต่พระทุศีล และขุนนางโกงบ้านโกงเมือง นี่คือลักษณะสมจริงที่ต่อมาเข้าใจกันในฐานะของคำว่าเพื่อชีวิต ใช่หรือไม่ (คำว่า เพื่อชีวิต หมายถึงที่ศัพท์วรรณกรรมเรียกว่า Critical Realism และ Social Realism โดยคำหลังผมเคยบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า สัจจะสังคม
ถ้าหากจัดหนักเป็น Socialist Realism ก็จะเรียกว่า สัจจะสังคมนิยมแต่ต่อมาเห็นด้วยกับ “เสนีย์ เสาวพงศ์” ที่ให้ความเห็นว่า สัจจะนั้นคือ Truth ส่วนอัตถะคือ Real คือ “ความสมจริง” ในบริบทที่เป็นเนื้อหา ดังนั้นผมจึงเปลี่ยนมาใช้ว่า อัตถสังคม และ อัตถสังคมนิยมในเวลาต่อมา แต่ภาพรวมก็ยังหมายถึงสิ่งที่เรียกว่า เพื่อชีวิต ในระดับต่างๆ และผมคิดว่าเรามีบริบทของคำว่าเพื่อชีวิตมาแต่ครั้งเรื่องสั้นที่ชื่อ นายจิตรนายใจสนทนากันนั่นแล้ว ตามมาด้วยเรื่องสั้นที่ชื่อ ชายหาปลาทั้ง 4 ในหนังสือดรุโณวาท รายสัปดาห์ ปีเดียวกัน กล่าวถึงตัวละคร 4 แบบ ที่นำมาจากเรื่องเล่ามุขปาฐะแต่ดั้งเดิมของเราเอง อ่านแล้วเห็นความเหลวไหลแบบ absurd ของชาวสยามมาตั้งแต่ยุคนั้น
สำหรับผมนี่คือกระดูกหลักของเรื่องสั้นไทยยุคแรกในลีลาที่เรียกกันว่า Magical Realism กล่าวคืออยู่ในลีลา Magical แต่บริบทนั้นเป็น Realism จะเรียกว่าเป็นเรื่องสั้นอารมณ์ขัน หรือเรื่องสั้นสาธกความเป็นมนุษย์ที่โง่เขลาและเต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลงก็ได้ ตัวละคร Absurd ทั้ง 4 ต่างก็คิดว่า “กูแน่” “กูเก่ง” และทั้ง 4 ก็แบ่งขั้วกันจนนำไปสู่ความพินาศ ชายทั้ง 4 นั่งเรือลำเดียวกันไปหาปลา แต่ละคนต่างก็หลงว่าตัวเองเก่ง หูกาง บอกว่าถ้าไม่มีหูกางรับลมก็พาเรือออกไปจับปลาไม่ได้ ก้นแหลม ไม่นั่งเฉยๆ แต่นั่งกระแทกจนเรือมีรูรั่วทำให้น้ำเข้าเรือขี้มูกมาก บอกว่าถ้าไม่มีขี้มูกก็อุดเรือที่รั่วไปหาปลาไม่ได้ สามมือปาม มีสามมือ ก็อ้างว่าเพราะมีสามมือจึงจับปลาได้มากและได้เร็ว มีปลาเต็มลำเรือได้ก็เพราะตน แทนที่ทั้ง 4 จะร่วมมือกันก็กลับทะเลาะกันกลางทะเล จนเป็นเหตุให้เรืออับปางจมลงก้นทะเล และทั้ง 4 คนต่างพบจุดจบพร้อมกัน นี่คือรุ่งอรุณของเรื่องสั้นไทยแนวโศกนาฏกรรม นี่คือกระดูกหลักในรูปแบบและเนื้อหาที่ผมเห็นว่าเป็น Magical Realism จากพื้นฐานเรื่องเล่าพื้นบ้านของเราเอง ไม่ได้มาจากโศกนาฏกรรมแบบกรีก หรือแบบแมรี่ คอเรลลี่ (ความพยาบาท) ที่ตื่นเต้นกันเพราะนักเรียนนอกนำเอาเข้ามาแปลเมื่อ พ.ศ.2442
อ่านบทความเพิ่มเติม: Magical Realism>>
เรื่องสั้นไทย 2 เรื่องในรุ่นบุกเบิกเมื่อ 138 ปีของเรานี้ คือภาพสะท้อนจิตใจมนุษย์ที่น่าจะเป็นบทเรียนด้านกลับให้กับคำว่า จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และเพื่อเสนอให้เห็นว่า ถ้าเรามีโอกาสได้ศึกษาวิจัย “เอกสารชั้นต้น”ที่เป็นรากเหง้าของเราอย่างสมบูรณ์และเป็นระบบ คำว่าเรื่องสั้นไทย ของเรานั้นก็มีตัวอย่างที่แสดงจิตวิญญาณอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่เริ่มรุ่งอรุณ (คำของ เจือ สตะเวทิน) แต่ทำไมเราถึงหาตัวอย่างของเอกสารชั้นต้นมาได้ไม่เกินสมัยของ “ศรีบูรพา” และ “ดอกไม้สด”
จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย กล่าวคือเรายังไม่เห็นภาพรวมทั้งมุมกว้างและมุมลึกของคำว่า “ประวัติเรื่องสั้นไทยสมัยใหม่” หรือ “ประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่” อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมา เราทำข้อต่อของเราเองหายไปเรื่อยๆ (missing link) ทั้งโดยตั้งใจ (เช่นการรัฐประหาร การตัดต่อทางความคิด การเซ็นเซอร์) และโดยไม่ตั้งใจ (เช่นค่านิยม “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี” ที่คนในสังคมให้ความสำคัญกับการคิด-การเขียน-การอ่านน้อยกว่าที่ควร)
ประชาธิปไตยใน เรื่องสั้น ไทย ตลอดเวลา 138 ปีที่ผ่านมา
ตลอดเวลา 138 ปีที่ผ่านมา จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย (ที่มี “เรื่องสั้นไทย”เป็นส่วนหนึ่ง) จึงมีข้อต่อที่หายไปเรื่อยๆตามกาลเวลาและการถูกละเลย เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีการ “รัฐประหาร” คำว่า “ประชาธิปไตย” ก็ดูเหมือนถูก “ตัดตอน” หรือถูก “ตัดต่อ” กลายเป็น “ข้อต่อที่หายไป” แล้วแต่พระสยามเทวาธิราชจะทรงโปรด ดังที่มีสมญาร้อยแปด เช่น ประชาธิปไตยไทย-ไทย ประชาธิปไตย “เชื่อผู้นำ” ประชาธิปไตยรวมศูนย์ ประชาธิปไตย “เงินผัน” ประชาธิปไตยฝืด ประชาธิปไตยครึ่งใบ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ฯลฯ และตามความเข้าใจของผม
บรรดาข้อต่อที่หายไปดังกล่าวไม่น่าจะเพิ่งมาเริ่มต้นที่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (40 ปี) และหรือการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 (80 ปี) แต่จากรูปธรรมที่ปรากฏ การอภิวัฒน์ของคณะราษฎรนั้นย่อมต้องถือว่าเป็นรุ่งอรุณของคำว่า “ประชาธิปไตย” โดยแท้ แม้จะถูกตัดต่อทำนองว่าเป็นการกระทำแบบ “ชิงสุกก่อนห่าม” ที่มักถูกค่อนขอดมาจนปัจจุบัน แต่มันก็ไม่เคยถูก “ตัดตอน”ไปโดยสิ้นเชิง ว่าไปแล้วหน่ออ่อนของจิตวิญญาณประชาธิปไตยเคยมีรูปธรรมมาตั้งแต่ครั้งเจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลถวายความเห็นเรื่องจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดินร.ศ.103 (พ.ศ.2427) แต่ความเห็นของคณะขุนนางครั้งนั้นถูกรัชกาลที่ 5 บริภาษว่า “ยังไม่ถึงเวลา” หรือ จิตวิญญาณประชาธิปไตยใน เรื่องสั้นไทย ในงานเขียนเรียกร้อง ‘สภาปาเลียเม้นท์’ ของ “เทียนวรรณ” (ซึ่งผลก็คือถูกรัชกาลที่ 5 จับเข้าคุกเป็นเวลา 17 ปี) (14)
หรือ กบฏร.ศ.130 ของคณะนายทหารหนุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยโดยให้กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย เมื่อล้มเหลวคณะผู้ก่อการก็ถูกจับเข้าคุกกันระนาว หลายคนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ได้รับนิรโทษกรรมต่อมาภายหลัง (15) ถ้าเรามีเอกสารชั้นต้นในยุคสมัย ร.ศ.130 และหลังจากนั้นอย่างเป็นระบบ เช่น จีนโนสยามวารศัพท์ (2450), สยามมวย (2455), ผดุงวิทยา (2455), ไทยเอื้อ (2456), ศรีกรุง (2456), เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ (2458), ดุสิตสมิต (2461), กรุงเทพฯเดลิเมล์ (2462), สยามราษฎร์ (2463), วายาโม (2463), สยามรีวิว (2464), ศัพท์ไทย (2464), กรรมกร (2465), บางกอกการเมือง (2466), ตู้ทอง (2467), ไทยเขษม (2467), สารานุกูล (2468), เกราะเหล็ก (2468), เริงรมย์ (2468), สมานมิตรบรรเทอง (2469), เฉลิมวุฒิ (2470), สยามยุพดี (2471), สุภาพบุรุษรายปักษ์ (2472), ไทยใหม่วันจันทร์ (2473), ประชาชาติ (2475) ฯลฯ
เราน่าจะเห็นภาพต่อเนื่องของคำว่า “วรรณกรรมไทยสมัยใหม่” ได้สมบูรณ์มากขึ้น แต่เอกสารชั้นต้นในอดีต ที่แสดงความตื่นตัวทางการอ่าน การเขียนอันเป็นรากฐานของประชาธิปไตยเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะเป็น “ข้อต่อที่หายไป” อีกเช่นกัน เอาแค่สิ่งพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 เท่าที่ค้นพบบางส่วนก็มีจำนวนถึง 132 รายชื่อแล้ว และสิ่งพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 159 รายชื่อ หนังสือ สุภาพบุรุษรายปักษ์ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่กำเนิดขึ้นในปี 2472 ถือเป็นเพียงหนึ่งรายชื่อเท่านั้น(16)
เอกสารชั้นต้นที่เป็นหนังสือพิมพ์และนิตยสารวรรณกรรมรายต่างๆที่เอ่ยชื่อมาเหล่านี้ คงน่าจะมีชิ้นงานที่สะท้อนจิตวิญญาณประชาธิปไตยของผู้คนในรุ่นรอยต่อแห่งทศวรรษ 2450,2460 และ 2470 มาให้ศึกษาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่นความคิดเรื่อง “มนุษยภาพ”ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่วันจันทร์ เมื่อ พ.ศ.2474 แสดงรูปธรรมที่เรียกร้องให้มนุษย์นั้น “ซื่อตรง” ต่อกัน (17)
และเป็นรูปธรรมต่อมาในเรื่องภราดรภาพนิยม (Solidarism) ที่มีความคิดเศรษฐกิจเรื่องการกระจายความเป็นธรรมใน “เค้าโครงทางเศรษฐกิจ” (สมุดปกเหลือง) ของนายปรีดี พนมยงค์(18) เป็นตัวนำจนก่อให้ความขัดแย้งกับรัชกาลที่ 7 ที่เห็นว่า “ยังไม่จำเป็น” เพราะสังคมไทยนั้นมีการอุปถัมภ์กันเป็นชั้นๆ โดยกล่าวให้ความเห็นแย้งไว้ใน “สมุดปกขาว”ว่า “..แม้แต่หมาวัดยังไม่อดตาย” (19) และความขัดแย้งในเรื่องนี้ได้นำสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา และมีการกล่าวหาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า นายปรีดี พนมยงค์เป็นคอมมิวนิสต์ จนต่อมาได้นำไปสู่การนองเลือดระหว่างคณะเจ้าและคณะราษฎรในกรณี “กบฏบวรเดช”
ความหมายของคำว่าประชาธิปไตย
ขอย้อนกลับไปที่คำว่าประชาธิปไตย เพื่อเป็นข้อสังเกตว่าจิตวิญญาณประชาธิปไตยในบ้านเรานั้นว่ามีความขรุขระมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่เราก็มี “เจตจำนง” ที่ชัดเจนมาตั้งแต่การอภิวัฒน์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยเสนอรูปธรรมผ่านทางหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายเช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
- จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
- ต้องบำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
- จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
- จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
- จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
หลัก 6 ประการของคณะราษฎรนี่แหละคือ “จิตวิญญาณประชาธิปไตย”ที่ปรากฏลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1และเจตจำนงหรือจิตวิญญาณดังกล่าวนี่เองที่ได้ประกาศออกมาว่า “ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่ใช่ของกษัตริย์ (ดังนั้น) จึงต้องปกครองโดยราษฎร คือมีสภาเพื่อปรึกษาหารือกันหลายๆความคิดเพื่อความสุขความเจริญอย่างประเสริฐของราษฎร”(20) ที่ศัพท์ในสมัยนั้น นายปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า ศรีอาริยะ
ในเรื่องนี้มีหลักฐานว่าคณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯเพื่อให้รัชกาลที่ 7 ลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 สองฉบับ คือ หนังสือพระราชกำหนดนิรโทษกรรม และ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 2475 รัชกาลที่ 7 ได้ลงพระปรมาภิไธยให้ในฉบับแรก แต่ฉบับหลังขอเอาไว้ดูก่อน 1 คืน และได้ต่อรองให้เติมคำว่า “ชั่วคราว”ลงไป ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงมีชื่อว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว (วันที่ 27 มิถุนายน 2475) แต่กระนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้บัญญัติมาตรา 1 ไว้ชัดเจนว่า
อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ต่อเมื่อมีการประชุมสภาฯ ตั้งรัฐบาล เพื่อเห็นแก่ความสงบ คณะราษฎรจึงได้ยินยอมให้ทางฝ่ายคณะเจ้าเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก (ขณะนั้นเรียกตำแหน่งนี้ว่า “ประธานกรรมการราษฎร” (ขอให้เปรียบเทียบกับ “ยวนซีไข”ที่ขึ้นสู่อำนาจในสมัยการอภิวัฒน์ของ ดร.ซุนยัดเซ็น เมื่อ ค.ศ.1911) เวลานั้นสภาได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา 7 คน และได้เพิ่มอีก 2 คน เป็น 9 คน ทั้ง 9 คนนี้มีตัวแทนของคณะราษฎรคือ นายปรีดี พนมยงค์อยู่คนเดียว
การร่างรัฐธรรมนูญที่ต่อมาจะได้รับพระราชทานเป็นรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นี้ (และให้ถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม เป็น วันรัฐธรรมนูญ แต่ได้ตัดต่อจนกลายมาเป็นคำว่า วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ) ส่วนคำว่า คณะราษฎร ก็ใส่เครื่องหมายการันต์ลงไปอย่างแยบยล จนกลายเป็นคำว่า คณะราษฎร์(เพื่อให้พ้องเสียงกับคำว่า “คณะราช”)ประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ที่รัชกาลที่ 7 ขอไว้ดูก่อน 1 คืนนั้นก็คือ ได้เปลี่ยนคำในมาตรา 1 จากเดิมที่บอกว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย กลายมาเป็น อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย คำว่า “ประชาธิปไตย” จึงก่อเกิดขึ้นมาอย่างขรุขระตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ กล่าวคือจากคำว่า เป็นของ ก็กลายเป็นคำว่า มาจาก แต่การเปลี่ยนแปลง “ระบอบ”เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มันเป็น the river of no return เสียแล้ว ดังนั้นมันจึงก่อให้เกิดเจตจำนงที่จะ “จำกัดอำนาจกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”มาตั้งแต่นั้น
ตัวอย่างสัญญาณอันขรุขระของคำว่า “ประชาธิปไตย” ภายหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 เริ่มต้นมาจากการท้าทายอำนาจของฝ่ายนิยมเจ้าที่มีการต่อสู้กับฝ่ายคณะราษฎรจนบาดเจ็บล้มตายเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2476 และฝ่ายนิยมเจ้าพ่ายแพ้ กลายมาเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า กบฏบวรเดช ถ้าได้ศึกษาเอกสารชั้นต้นจากสิ่งพิมพ์ในเวลานั้น เราจะพบว่ามีบทกวี เรื่องสั้น บทละคร และนวนิยายของไทยจำนวนหนึ่งที่ยืนอยู่ทั้งข้างฝ่ายคณะเจ้าและคณะราษฎร ทางฝ่ายคณะราษฎรก็เช่นเรื่องสั้นชื่อ ลาก่อนรัฐธรรมนูญ ของ “ศรีบูรพา” ที่พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือชื่อ เทอดรัฐธรรมนูญ เมื่อปลายปี 2476 (21)
“ศรีบูรพา” ได้สะท้อนผ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ว่า กระสุนนัดแรกจากการต่อสู้อันเนื่องมาจากคำว่า “ประชาธิปไตย” นั้นได้ดังขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2476 เอกสารชั้นต้นได้ระบุว่าลาก่อนรัฐธรรมนูญพิมพ์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2476 แสดงว่าชั่วเวลาเพียงไม่ถึงเดือน “ศรีบูรพา” ก็ได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้เพื่ออุทิศ “แด่วีรชน 17 นาย ซึ่งได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อความสันติสุขของประชาชาติไทย” ในเวลานั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการบริหาร นสพ.ประชาชาติ รายวัน (ที่มี มจ.วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นเจ้าของ)
จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย เนื้อหาของเรื่องสั้นกล่าวถึงตัวละครชื่อนายสมศักดิ์ เด่นชัย เป็นราษฎรหัวก้าวหน้า ยืนอยู่ข้างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” และมีความเห็นว่าฝ่ายตรงข้าม คือกองกำลังของพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ที่มีนายพันเอกพระยาสิงหราชคำรน เป็นแม่ทัพคนหนึ่งนั้น เป็นฝ่ายที่อยู่ข้าง “ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง” นายพันเอกพระยาสิงหราชคำรนผู้นี้มีศักดิ์เป็นลุงของนายสมศักดิ์ เด่นชัย และเป็นผู้คิดแผนใช้รถไฟพุ่งชนรถถังที่มาขวางอยู่กลางทางรถไฟ การใช้รถไฟเป็น “ตอร์ปิโดบก”ที่ทุ่งบางเขนครั้งนั้น มีทหารฝ่ายคณะราษฎรบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง นายสมศักดิ์ เด่นชัย ผู้เป็นหลาน ในฐานะเป็นราษฎรคนหนึ่งจึงต้องการอาสาสมัครเป็นทหารเข้าร่วมต่อสู้ ข้อความจากบทสนทนาตอนหนึ่งในเรื่องสั้น ลาก่อนรัฐธรรมนูญ ภรรยาได้ถามสามีของตนที่จะไปอาสาสมัครเป็นทหารเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยว่า
“เธอเป็นอะไรไปเสียแล้วละคะ, ศักดิ์ดิฉันขอถามว่าเธอจะไปรบกับใครเธอลืมเสียแล้วหรือว่าคุณลุงของเธอนายพันเอกพระยาสิงหราชคำรนเป็นแม่ทัพคนหนึ่งในคณะท่านบวรเดชเธอจะไปรบกับคุณลุงของเธอหรือเธอจะไปฆ่าคุณลุงของเธอหรือคะ,ศักดิ์?”
“ในเวลารบเราไม่มีคุณลุงคุณน้องคุณพี่” เขาพูดด้วยเสียงหนักแน่น “เรามีแต่ฝ่ายเขากับฝ่ายเราเมื่อคิดถึงการของประเทศเราต้องเลิกคิดถึงการส่วนตัวฉันถือมั่นอย่างเดียวว่าฉันจะไปรบพวกกบฏเมื่อคุณลุงของฉันเป็นพวกกบฏฉันก็ช่วยไม่ได้”
“เธอไม่มีความเคารพญาติผู้ใหญ่ของเธอบ้างหรือ?”
“ฉันเคารพเหมือนกันแต่ฉันยังเคารพรัฐบาลเคารพรัฐธรรมนูญเคารพมติมหาชนยิ่งกว่าหลายเท่านัก”
“เธอมีเหตุผลอะไรที่เรียกคุณลุงของเธอว่าเป็นกบฏ”(22)
เรื่องสั้นลาก่อนรัฐธรรมนูญมีใจความต่อมาว่านายสมศักดิ์เด่นชัยได้ลอบเข้าไปสังหารนายพันเอกพระยาสิงหราชคำรนจนสำเร็จ ส่วนตัวเองก็ถูกทหารฝ่ายคณะเจ้ายิงโต้ตอบจนบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่สุด และได้เปล่งวาจาครั้งสุดท้ายก่อนขาดใจว่า
“ลาก่อนยอดรัก ลาก่อนรัฐธรรมนูญ”
นี่คือรากเหง้าความขัดแย้งแบบเลือดนองแผ่นดินครั้งแรกที่สะท้อนผ่านเรื่องสั้นหลังการเปลี่ยนผ่านเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
หลานกับลุงฆ่ากันในเรื่องสั้นไทยครั้งนี้ถือเป็น “ราคาแห่งชีวิต”ของคำว่าประชาธิปไตยที่จะมีตัวอย่างต่อไปอีกจำนวนไม่น้อย เป็นต้นเช่น เชิดนอก งานสารคดีในรูปแบบนิยาย โดย พายัพ โรจนวิภาต (ยุคทมิฬ : 2489)(23) ประชาทัณฑ์ โดย สันต์ เทวรักษ์ (โบว์แดง : 2490) (24)
DUM SPIRO,SPERO โดยอิศรา อมันตกุล (สยามสมัยรายสัปดาห์ : 2491) (25) ถิ่นสยอง โดย “ดาวหาง” (สยามสมัยรายสัปดาห์ : 2492)(26) บนผืนดินไทย โดย “อ.อุดากร” (อักษรสาส์น : 2493)(27) ฯลฯ ในบรรดาวรรณกรรมที่สะท้อน “ราคาแห่งชีวิต” เหล่านี้จะปรากฏต่อเนื่องมาเป็นระยะจนถึงเรื่องสั้นในช่วงรอยต่อของทศวรรษ 2510 และ 2520 ที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของอุดมการณ์ในบริบทสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ และทุนนิยม-ประชาธิปไตย ที่ในครั้งนั้นผมเคยเรียกว่า จิตสำนึกขบถ (28)
ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ผ่านกาลเวลาและเส้นทางลุ่มๆ ดอนๆ ภายหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 มาจนครบ 80 ปีในปีนี้ เส้นทางตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่ายังอยู่ในภาวะ “ฝุ่นตลบ” เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก (พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475) จนมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550) ที่กำลังเรียกร้องให้มีการแก้ไขกันใหม่ และมีนักวิชาการหลายคนบอกว่าบ้านเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน (29)
ไม่ว่าจะมี จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย จึงเป็นปรากฏการณ์กึ่งประชาธิปไตย หรือเผด็จการ จากอดีตถึงปัจจุบันเราได้ผ่านรูปธรรมในการมี “รัฐธรรมนูญ”มาแล้ว 18 ฉบับ ผ่านการรัฐประหาร (ในความหมายของคำว่า “ยึดอำนาจ”) มาแล้ว 10 ครั้ง เฉลี่ยแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบันเรามีรัฐประหาร 8 ปีต่อ 1 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและ “ เสือกตั้ง”ทั้งหมด 28 คน มี “ทหาร”ที่มาจากการเลือกตั้ง และ “เสือกตั้ง”เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 12 คน (30)
เส้นทางอันขรุขระของคำว่าประชาธิปไตยในรอบ 80 ปีที่ผ่านมานี้ มีปัญหาที่เราต้องถามตัวเองว่า เรามี วัฒนธรรมการเมือง จริงหรือ ถ้ามี มีแบบไหน จิตวิญญาณประชาธิปไตยเป็นผลที่แสดงถึงวัฒนธรรมการเมืองอันเป็นวิถีชีวิต (way of life) ของผู้คนในสังคมทุกระดับ เช่นเดียวกับคำว่า วัฒนธรรมหนังสือ ที่มีการพิมพ์หนังสือ เขียนหนังสือ มานับไม่ถ้วนตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 3 ไม่มีใครปฏิเสธความมีอยู่ของคำว่า “วัฒนธรรมหนังสือ” ในบ้านเรา แต่ผมก็ยังอดสงสัยมาจนบัดนี้ไม่ได้ว่าเรามี วัฒนธรรมการอ่าน (รวมทั้ง วัฒนธรรมการวิจารณ์) ที่งอกงามอย่างมีคุณภาพมาพร้อมกับวัฒนธรรมหนังสือ จริงหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นเพียง “ภาพลวงตา”ประเภทหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือวรรณกรรม ต่างก็มีสภาพคล้ายๆ กัน คือขรุขระ ไม่หลากหลาย ไม่ต่อเนื่อง และถูก “ตัดต่อ” “ตัดตอน” จนมีสภาพเป็นเหมือนที่นักเขียนรุ่นใหม่คนหนึ่งกล่าวไว้อย่างคมคายในบทความชื่อ “ล้าสมัยเท่าสมัยที่ล้าหลัง”(31)
เชิงอรรถ
- อบ ไชยวสุ, สะกดให้ถูกตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2493,สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.2505
- พจนานุกรมฉบับมติชน, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2547
- ดำเนิน การเด่น เสฐียรพงษ์ วรรณปก, พจนานุกรมไทย–อังกฤษ (ฉบับปรับปรุง), สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2551
- “ศรีบูรพา”, คำขานรับ (เรื่องสั้น), พิมพ์ครั้งแรกใน นสพ.เดลิเมล์วันจันทร์ ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2493
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ), คำขานรับ : รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย “บทกล่าวนำ”, สำนักพิมพ์ดวงกมล พ.ศ.2519 และ “จิตสำนึกขบถในเรื่องสั้นไทย พ.ศ.2506-2519”วารสารภาษาและหนังสือ ปีที่ 29 พ.ศ.2541
- เจตนา นาควัชระ “ละครพูดกับวิญญาณประชาธิปไตย” ปาฐกถาช่างวรรณกรรม ครั้งที่ 1, ช่อการะเกด 27 พฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ.2539
- นิธิ เอียวศรีวงศ์, มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 ฉบับวันที่ 17 – 23 สิงหาคม พ.ศ.2555
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “นักปฏิวัติกับประเด็นจิตวิญญาณ” ตัวตนและจิตวิญญาณ : รวมบทความและปาฐกถา, สำนักพิมพ์สามัญชน พ.ศ.2545
- อ่านเอกสารชั้นต้นได้จาก “ภาคผนวก” ใน แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดีพนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์จัดพิมพ์ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ปรีดีพนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2553 และ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายนพ.ศ.2475 สุพจน์ ด่านตระกูล อ้างใน เสวนา “75 ปี 24 มิถุนายน 2475 : 75 ปีของอะไร?” สถาบันปรีดี พนมยงค์ พ.ศ.2550
- สุชาติสวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ) มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบสายประดิษฐ์, คณะกรรมการจัดงานในวาระ “100 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)” พ.ศ.2545
- วรรณกรรมหรือสิ่งพิมพ์ของ “พวกในป่า” ( “ศรีดาวเรือง” เคยใช้ชื่อนี้เป็นชื่อเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ปุถุชน 8 : ตุลาคม 2518) ได้ปรากฏขึ้นในหลายรูปแบบ เช่นบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย บทความวิจารณ์ บทความบันทึก และมีการเผยแพร่ภายใน “จัดตั้ง” ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ.2519 จนถึงปลายปี พ.ศ.2523 โดยเรียกชื่อผลงาน “ในป่า”ของตนว่าเป็น “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” และมีการจัดตั้งสำนักพิมพ์ในชื่อ “สำนักพิมพ์วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ขึ้นมาด้วย เพื่อตั้งใจให้สืบต่อกับขนบของคำว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ในความหมายที่ “ทีปกร”เคยเขียนไว้ในหนังสือ ศิลปเพื่อชีวิต ที่รวมมาจากข้อเขียนเกี่ยวกับศิลปะที่เขาเขียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2498 และสำนักพิมพ์เทวเวศน์นำมารวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2500 และชื่อนี้ได้มีนักศึกษา-ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งนำมาใช้เป็นชื่อนิตยสาร มหาราษฎร์ฉบับวรรณกรรมเพื่อชีวิต เมื่อ พ.ศ.2515 โดยจัดทำออกมาทั้งหมด 6 เล่ม แต่เมื่อคำว่า เพื่อชีวิตถูกนำมาเป็นความหมายเฉพาะของ “พวกในป่า” โดยจัดทำ “วรรณกรรมในป่า” ออกมาในรูปแบบ “โรเนียว” มีปรากฏในหลายเขตงาน ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ นอกจากนั้นยังมีหนังสือพิมพ์ (โรเนียว) และนิตยสาร (โรเนียว) ที่มีเป้าหมายเผยแพร่ไปทั่วประเทศ ทั้งในเขตงาน “ปิดลับ” และเขตงานที่เป็น “แนวร่วม” ขบวนหนังสือ “ในป่า”เหล่านี้มีที่ปรากฏจากเอกสารชั้นต้น เช่น สามัคคีสู้รบอธิปัตย์ประกายไฟลั่นกลองรบไฟลามทุ่งดาวแดงและ วรรณกรรมเพื่อชีวิต
ผลงานเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวีและบทบันทึก “ในป่า” มีตัวอย่างเช่น ปากกากับกระสุนกระสุนนัดแผ่เมตตา (ประเสริฐ จันดำ) ใบไม้ร่วงแล้วผลิพักพลที่นาหินก่อนฟ้าจะสาง(สุรชัย จันทิมาธร) เลาะเลียบริมภู คนมิใช่หิน(วิสา คัญทัพ)นิราศภูพาน (ยงค์ ยโสธร) ใต้เงาปืนจากลานโพธิ์ถึงภูพาน (วัฒน์ วรรลยางกูร) ลาก่อนนาวังเหล็กหนุนขอนนอนป่า(สมคิด สิงสง) เกิดในกองทัพฯ(จิระนันท์ พิตรปรีชา) ช่อดอกไม้ (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) แรงน้ำใจ (พิทยา ว่องกุล) คำตัดสินของบัว (ธัญญา ชุนชฎาธาร) บทเพลงของผู้บุกเบิก ดงแดงในกรงเล็บ (เริงรวี อรุณรุ่ง)ที่สุดแห่งความปรารถนา (ทองอิน มาบชะอำ)ทลายแนวปิดล้อม (คำเพลิง ผานอก) ศึกดงอินำ (รบชนะ ช่ำชองยุทธ)บนเทือกเขาบรรทัด (พิราบ สันเย็น) ไม่มีหูหรือสหาย (ห้วย คำจัน) คนกับอาวุธ (จรยุทธ์ ภูซาง) อ้อมอกแม่ (แคน ภูพาน)ยุทธการต้านทางรถ (ชัชวาล ปทุมวิทย์)บันทึกจากวนาถึงนาคร (ชลธิรา สัตยาวัฒนา) เกิดในภูเขาเหล็กกล้าในเบ้าหลอม (รวมเรื่องสั้นของนักเขียนปฏิวัติไทย ที่เสถียร จันทิมาธรเป็นบรรณาธิการ) ฯลฯ นอกจากนั้นก็มีหนังสือพิมพ์โรเนียวในเขตงานต่างๆ เช่น ตะวันแดง (พะเยา) ตะวันแดง (พัทลุง-ตรัง) ไฟเหนือ (เชียงราย) ไฟป่า (นครศรีธรรมราช) ธงชัย (อีสานใต้) ธงปฏิวัติ (ภูพาน) ปลดแอก (พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย) หลักชัย (ตะนาวศรี) ฯลฯ ความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมของ “พวกในป่า”ที่มีเอกสารชั้นต้นปรากฏเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของจิตสำนึก หรือจิตวิญญาณประชาธิปไตยในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2519-2523 ที่น่าสนใจไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และก็ด้วยเหตุที่คำว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิต ได้ไปปรากฏ “ในป่า”เสียแล้ว การจัดทำ ‘โลกหนังสือ’ ฉบับเรื่องสั้น อันเป็นต้นกำเนิดของนิตยสารเรื่องสั้น ช่อการะเกด เมื่อปี พ.ศ.2521 จึงได้เอาคำว่า “สร้างสรรค์” มาใช้เป็น “เรื่องสั้นสร้างสรรค์” ในความหมายที่เป็น “ใบหน้าอันหลากหลาย” โดยไม่เกี่ยวกับวรรณกรรม “ในป่า” แม้จะมีจิตวิญญาณบางอย่างร่วมกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (อ่านรายละเอียดจากบทนำโลกหนังสือ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 : ตุลาคม 2522) และต่อมาคำว่า “สร้างสรรค์“ กลุ่มวรรณกรรมในเมืองที่ชื่อ วรรณกรรมพินิจ ได้นำเอาไปใช้ด้วย แต่ก็ใช้ในความหมายค่อนข้างแคบ กอง บก.โลกหนังสือ จึงจัดสนทนา “จัตุรัสความคิด”ขึ้น เพื่อหาความเข้าใจให้คำว่า “สร้างสรรค์” มีแง่มุมที่กว้างขวางขึ้น ดังมีประเด็นอยู่ใน โลกหนังสือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 : ตุลาคม 2523 คำว่า เพื่อชีวิต และ สร้างสรรค์ จึงมีนัยยะเชิงประวัติในแง่การต่อสู้ทางความคิดมาตั้งแต่ก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รายละเอียดเกี่ยวกับวรรณกรรม “ในป่า” อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง 4 ปีของเรื่องสั้นในขบวนการปฏิวัติไทยพ.ศ.2519-2522 โดยผู้ใช้นามปากกาว่า “กลุ่มนักเขียน – นักหนังสือพิมพ์เพื่อประชาชน” ในวารสารภาษาและหนังสือ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ฉลองพระชนม์พรรษา 6 รอบ : 5 ธันวาคม 2542 - ทองแถมนาถจำนง, (คำนิยม)คืนเดือนเพ็ญ : รวมวรรณกรรมเรื่องสั้นการเมืองพานแว่นฟ้า 2545, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2546
- สิงห์สนามหลวง, “สิงห์สนามหลวงสนทนา” เนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 6-12 สิงหาคมพ.ศ.2544 บทความเรื่องสั้นเรื่องแรกของไทย โดย พิทยา ว่องกุล และเอกสารชั้นต้น นายจิตรนายใจสนทนากัน จากการชำระต้นฉบับโดย “ศรีดาวเรือง” ในบานไม่รู้โรย ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 พฤษภาคม 2528
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ) เพื่อนพ้องแห่งวันวาร : เรื่องสั้น “สุภาพบุรุษ” , กองทุนสุภาพบุรุษ 31 มีนาคม พ.ศ.2553
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ) เพื่อนพ้องแห่งวันวาร : เรื่องสั้น “สุภาพบุรุษ” , กองทุนสุภาพบุรุษ 31 มีนาคม พ.ศ.2553
- ดูรายละเอียดเพิ่มเติม “ตัวอย่างสิ่งพิมพ์เก่า ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 8 (ภาคผนวกพิเศษ 5) ใน เพื่อนพ้องแห่งวันวารเรื่องสั้น “สุภาพบุรุษ” อ้างแล้ว
- มนุษยภาพ หรือความเปนมนุษย์ หรือความเปนคน ควรวางอยู่บนลักษณะอย่างไร…ตัวเราเปนใคร มีส่วนอยู่มากน้อยเพียงไรในความเสื่อมความเจริญของประเทศชาติ เรามีสิทธิอะไรบ้าง และควรใช้สิทธิ์นั้นได้ภายในขอบเขตเท่าใดที่นิติธรรมของประเทศอนุญาตให้…ความจริงและความซื่อตรงจะต้องไปด้วยกันเสมอ ความซื่อตรงคือความจริง และความจริงก็คือความซื่อตรง…ความจริงเปนบ่อเกิดแห่งนิติธรรมต่างๆ เปนหัวใจของความบริสุทธิ์ และของความอิสระ…” บางตอนจาก มนุษยภาพ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ อ้างใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบสายประดิษฐ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ) 2545
- ดูรายละเอียดใน ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล,ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของ ปรีดี พนมยงค์ ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2549
- ขอให้สังเกตประโยค “แม้แต่หมาวัดยังไม่อดตาย” เปรียบกับภาพหมาวัดขี้เรื้อนในตอนจบของเรื่องสั้น พระแม่คงคาเถ้าแก่บักและหมา ที่ “ศรีดาวเรือง”เขียนเมื่อปี พ.ศ.2520 (ลลนา : พฤศจิกายน 2520) ในเรื่องสั้นดังกล่าว “ศรีดาวเรือง”ได้เขียนไว้เป็นฉากจบว่า “..หมาขี้เรื้อนที่นอนหนาวสั่นตัวนั้นลุกเดินอย่างเหงาหงอยออกไปก้มๆเงยๆที่กองขยะแห่งนั้น พร้อมกับทำจมูกฟิดฟิดอย่างขัดใจ เพราะหาอะไรเป็นประโยชน์กับท้องอันแสนหิวของมันไม่ได้ มันก้มๆ เงยๆ หันรีหันขวางอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะทำได้เพียงแค่หย่อนตูดลงขี้ไว้บนกองกระทงแห่งนั้น พร้อมกับตะกุยตีนสองสามที และวิ่งออกจากวัดไปอย่างไม่แยแส”ภาพหมาวัดขี้ เรื่องดังกล่าว ดร.เบนเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ผู้แปลเรื่องสั้นชิ้นนี้เป็นภาษาอังกฤษได้เขียนบทกล่าวนำให้ความเห็นเกี่ยวกับตอนจบของเรื่อง พระแม่คงคาเถ้าแก่บักและหมา ไว้ในหนังสือเรื่อง ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน(สำนักพิมพ์อ่าน 2533) มีความตอนหนึ่งว่า “…อารมณ์เย้ยหยันอันเยียบเย็นของประโยคสุดท้ายนั้น (ซึ่งเย้ยหยันทั้งพระ คณะกรรมการวัด ข้าราชการ เจ้าสัว และบรรดาผู้มีศรัทธาแรงกล้าแต่อ่อนต่อโลกที่ยอมให้ตนเองถูกปอกลอกโดยผู้จัดงาน) โหดร้ายเสียยิ่งกว่าประโยคใดๆ…ถือได้ว่าเป็นคุณภาพเฉพาะตัวในลีลาของผู้เขียน วิธีดีที่สุดหากจะบรรยายลีลานี้ ก็อาจจะต้องเรียกว่าเป็นการถอยห่างอย่างบาดลึก จงใจปฏิเสธการรู้เห็นเป็นใจใดๆกับผู้อ่าน ‘ที่อยู่ภายนอกของเรื่องราว’ ทั้งยังไม่ยอมให้มีการเชื่อมโยงใดๆกับตัวละคร..” แต่สิ่งที่ ดร.เบนเนดิกท์ แอนเดอร์สันไม่ได้กล่าวเชื่อมโยงไว้ก็คือ ภาพของหมาวัดขี้เรื้อนในเรื่องสั้นพระแม่คงคาเถ้าแก่บักและหมาที่“ศรีดาวเรือง”เขียนขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ชิ้นนี้ น่าจะมีนัยยะที่ลงลึกไปถึงคำว่า “..หมาวัดยังไม่อดตาย” อันเป็นประโยคที่รัชกาลที่ 7 ได้กล่าววิจารณ์ เค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ของนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ใน สมุดปกขาว เมื่อ พ.ศ.2476
- “75 ปี 24 มิถุนายน 2475 : 75 ปีของอะไร?”ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475, อ้างแล้ว
- เทอดรัฐธรรมนูญ เป็นชื่อหนังสือวรรณกรรมรายปีในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โด่งดังเป็นที่รู้จักและเป็นเหมือนสนามประลองฝีมือการประพันธ์ของนักเขียน นักประพันธ์ไทยในรุ่นทศวรรษ 2470 และ 2480 หนังสือวรรณกรรมรายปีที่โด่งดังในสมัยนั้นและกลายเป็นหนังสือ “หายาก”อย่างยิ่งในสมัยนี้ มี 2 รายชื่อ คือ งานกาชาด และ เทอดรัฐธรรมนูญ นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ผู้ใดมีชิ้นงานได้รับพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือวรรณกรรมรายปี 2 เล่มนี้ จึงเป็นเหมือนพื้นที่ “ผ่านเกิด”ของพวกเขา นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ที่มาชุมนุมกันเป็นรายปีนี้ มีทั้งที่เคยมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ในรุ่นรอยต่อของทศวรรษ 2450 และ 2460 หนังสือวรรณกรรมรายปีงานกาชาด จัดทำขึ้นเป็นอนุสรณ์ “งานกาชาด” ประจำปี ไม่มีหลักฐานครบถ้วนว่าหนังสือ งานกาชาด ได้จัดทำผ่านมากี่เล่ม เอกสารชั้นต้นที่เคยเห็นทั้ง งานกาชาด และ เทอดรัฐธรรมนูญ คือฉบับประจำปี พ.ศ.2477 เข้าใจว่าหนังสือ เทอดรัฐธรรมนูญ ที่มีเรื่องสั้น ลาก่อนรัฐธรรมนูญ ของ “ศรีบูรพา” นั้นพิมพ์ครั้งแรกมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2476 ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ได้เคยนำเอาต้นฉบับของเรื่องสั้นชิ้นนี้มาให้สำนักพิมพ์วิทวัสจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.2522 และได้นำเอาเรื่องสั้นอื่นๆของ “ศรีบูรพา” เช่น ความรักของปุถุชนคืนที่ลืมไม่ได้ทำเงินทำงานใครจะเป็นคนฟัง และ อาหารแห่งชีวิต มาจัดพิมพ์ในเล่มเดียวกันด้วย โดยเรื่องสั้น ลาก่อนรัฐธรรมนูญ ที่นำมาพิมพ์ครั้งที่ 2 ได้ให้ที่มาของแหล่งพิมพ์ครั้งแรกไว้ว่า พิมพ์อยู่ในหนังสือรายปี เทอดรัฐธรรมนูญ 2476 ส่วนเรื่องสั้นอื่นๆที่เป็นเรื่องสั้นในสมัยแรกของ “ศรีบูรพา”กลับไม่ได้ให้ที่มาของ “เอกสารชั้นต้น”ไว้เลย สำหรับหนังสือรายปี เทอดรัฐธรรมนูญ ที่ลงพิมพ์เรื่องสั้น ลาก่อนรัฐธรรมนูญ ไว้เมื่อ พ.ศ.2476 นี้ ต่อมาได้มีการจัดทำหนังสือ เทอดรัฐธรรมนูญ ประจำปี พ.ศ.2477 ออกมาอีก โดยมี “ธนเหนือ” เป็นบรรณาธิการ (“ธนเหนือ” เป็นนามปากกาของนักเขียน นักประพันธ์ และนักแปลในรุ่นทศวรรษ 2460) และในหนังสือ เทอดรัฐธรรมนูญ ประจำปี พ.ศ.2477 นี้ ได้ปรากฏเรื่องสั้นเรื่องแรกของเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ชื่อ วณิพก อยู่ด้วย โดยในครั้งนั้นใช้นามจริงว่า “บุญส่ง บำรุงพงศ์” (ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์” ในภายหลัง)
- เรื่องสั้น ลาก่อนรัฐธรรมนูญ ที่ปรากฏในหนังสือรายปี เทิดรัฐธรรมนูญ 2476 นี้ “ศรีบูรพา”ได้นำเอากรณี “กบฏบวรเดช” มาสร้างเรื่องโดยจำลองขึ้นจาก เหตุการณ์จริง กล่าวคือนายพันเอกพระยาสิงหราชคำรน ที่มีศักดิ์เป็นลุงของนายสมศักดิ์ เด่นชัย นั้น น่าจะจินตนาการมาจากชีวิตของนายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ซึ่งเป็นแม่ทัพคนหนึ่งของฝ่ายคณะเจ้าที่เสียชีวิตในการสู้รบ นายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ผู้นี้ โดยประวัติคือบิดาของ พญ.โชติศรี ท่าราบ นักเขียนสตรีที่ผู้อ่านรู้จักกันในนามปากกา “จิ๋ว บางซื่อ” นอกจากนั้นยังมีบทละครของเสาว์บุญเสนอที่ในครั้งนั้นใช้นามปากกาว่า “ลีเชยสกุล” เขียนบทละครพูดประกอบเพลงไว้ในชื่อคืนปฏิวัติ งานเขียนในรูปแบบ “บทละครฉากเดียวจบ” ของเสาว์ บุญเสนอชิ้นนี้ เข้าใจว่าเขียนขึ้นในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ .ศ.2475 ไม่แน่ใจว่าได้รับการพิมพ์ครั้งแรกหรือยัง แต่เคยเห็นต้นฉบับพิมพ์ดีดอยู่ที่บ้านของ “ลุงเสาว์” ตั้งแต่เมื่อครั้งที่บ้านหลังนั้นยังไม่ได้กลายเป็น “พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน เสาว์ บุญเสนอ” อยากขอให้สืบค้นดู ถ้ายังไม่ได้ตีพิมพ์ สมาคมนักเขียนฯควรนำ “เอกสารชั้นต้น”ชิ้นนี้มาเผยแพร่ เพื่อประกาศเกียรติคุณให้ “ส.บุญเสนอ” บทละครพูดประกอบเพลง “ฉากเดียวจบ”เรื่อง คืนปฏิวัติ ที่ว่านี้สะท้อนบรรยากาศของการ “ยึดอำนาจ”ในสังคมไทยเหมือนหนึ่งเป็น “นิสัยปกติ”
- เชิดนอก เป็นงานเขียนในรูปแบบ non-fiction novel ยุคแรกของประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ โดยก่อนหน้านั้นมีหนังสือในรูปแบบใกล้เคียงกันชื่อ แดนหก โดย ชุลี สารนุสิต อดีตนักโทษการเมืองในรุ่นนั้น และเป็นนักเขียนเรื่องสั้นในอดีตอีกคนหนึ่งที่ดูเหมือนถูกแวดวงวรรณกรรมในปัจจุบันลืมไปแล้ว หนังสือหายากในรูปแบบ “บันทึกความทรงจำ” เล่มนี้ เคยมีอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง แต่ปัจจุบันได้มอบให้ “น้องน้ำไปเรียบร้อยแล้วเชิดนอก ที่นำมาอ้างนี้เป็นบทหนึ่งในหนังสือชื่อ ยุคทมิฬ ที่พายัพ โรจนวิภาต (สมัยรับราชการมียศเป็น ร.ท.ขุนโรจนวิชัย) เขียนขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2480 เข้าใจว่างานชิ้นนี้จะพิมพ์เป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ก่อนจะนำมารวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กรกฎาคม พ.ศ.2489 และ ยุคทมิฬ เล่มนี้เป็นคนละเล่มกับ ยุคทมิฬ ที่เป็นชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นของ อิศรา อมันตกุล เมื่อ พ.ศ.2495 ยุคทมิฬของ พายัพ โรจนวิภาตเล่มนี้ ต่อมาสำนักพิมพ์สอ เสถบุตรได้นำมาจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2515 เนื้อหาที่ไม่รวม “ภาคผนวก” มีทั้งหมด 10 บท เชิดนอก เป็นบทที่ 6 นำเสนอภาพการประหารชีวิตนักโทษการเมือง 18 คนที่ตกเป็นจำเลยใน “ฐานะกบฏ” ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2481 นักโทษการเมืองที่ได้ถูกประหารชีวิตไปในครั้งนั้นก็เช่น พ.ท.พระสุวรรณชิต, พ.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์, พ.ท.หลวงไววิทยาศร, พ.ต.ต.ขุนนามนฤนาถ, ร.อ.จรัส สุนทรภักดี , ร.ท.แสง วัณณะศิริ, นายลี บุญตา ฯลฯ และชื่อที่คุ้นกันมากที่สุดคือ ร.ท.ณ เณร ตาละลักษณ์ นี่คือความขัดแย้งในฝ่ายคณะราษฎรสายทหาร ระหว่างพระยาทรงสุรเดชและจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามได้อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2481-2487) ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้น “ชาตินิยมทางทหาร” และการประกาศ “รัฐนิยม” ฉบับต่างๆ เช่น การยืนตรงเคารพธงชาติวันละ 2 เวลา ในปัจจุบันผลสืบเนื่องจากความคิดเผด็จการของจอมพล “ตราไก่”ผู้นี้ก็ยังปรากฏอยู่ และในสมัย “ชาตินิยมทางทหาร” ครั้งนี้เองที่เลือดต้องหลั่งเพื่อสังเวยคำว่า “ประชาธิปไตย”อีกครั้งหนึ่ง โดยมีสมญาเรียกกันว่า “ยุคทมิฬ”
- ประชาทัณฑ์ เป็นเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของ สันต์ เทวรักษ์ พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร โบว์แดง รายสัปดาห์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2490 นำเสนอภาวะเหนือจริงเหมือนตกอยู่ในดินแดนประหลาดของตำรวจชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง ลีลาการประพันธ์อาจจัดให้เป็นเรื่องสั้น “เซอร์เรียลิสท์” รุ่นแรกๆของประวัติเรื่องสั้นไทยสมัยใหม่ก็คงได้ ดังเช่นประโยคว่า “..เขาเป็นบุคคลที่ตายแล้ว ตายตามคำ พิพากษาของประชาชน ทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเดินไปในป่าช้าของชีวิต..เขายังมีชีวิตอยู่ แต่เขาได้ตายไปแล้ว ตายเพราะเขาต้องประชาทัณฑ์..” ถ้าเราได้ศึกษา “เอกสารชั้นต้น” ในอดีตอย่างต่อเนื่อง เราคงจะเห็นว่างานของนักเขียน นักประพันธ์ไทยในอดีตก็มีลีลา “แนวทดลอง” มากบ้างน้อยบ้างมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มต้นที่ วินทร์ เลียววาริณ หรือ ปราบดา หยุ่น และถ้าสันต์ เทวรักษ์มาเขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ในรุ่นทศวรรษ 2510 บางทีเขาอาจจะถูกมองว่าเป็นนักเขียนใน “คตินิยมสมัยใหม่” (modernism) เหมือนเช่นนักเขียนไทยในรุ่นทศวรรษนั้นก็คงได้ ผมเคยนำเรื่อง ประชาทัณฑ์ มาพิมพ์ซ้ำอีกครั้งใน โลกหนังสือ ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 : มีนาคม พ.ศ.2521 เพื่อนำเสนอตัวอย่างเรื่องสั้น “ต่อต้านเผด็จการ”ของไทยในอดีตที่แสดง “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” อยู่ในเนื้องานทางอ้อม เมื่อเร็วนี้มีการศึกษาเรื่องสั้นไทยในแนวคตินิยมสมัยใหม่ โปรดอ่าน สรณัฐ ไตลังคะ เรื่องสั้นไทยแนวคตินิยมสมัยใหม่พ.ศ.2507 – 2516 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2550
- DUM SPIRO, SPERO เรื่องสั้นชื่อภาษาละตินเรื่องนี้ อิศรา อมันตกุล เขียนพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สยามสมัย รายสัปดาห์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2491 และสำนักพิมพ์ภราดรได้นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2495 ในชื่อปกว่า ยุคทมิฬ หนังสือรวมเรื่องสั้นของอิสรา อมันตกุลเล่มนี้มีเนื้อหาสะท้อนจิตวิญญาณประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ โดยอิศราได้นำเสนอความคิดของเขาไว้ในคำกล่าวปิดท้ายตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าเป็นสามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งมั่นหมายจะเขียนเฉพาะแต่เรื่องราวของประชาชน เพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ความดิ้นรนและความหวังของประชาชนไปสู่ประชาชน เพราะประชาชนเท่านั้นที่เป็นผู้กำลังต่อสู้ และกำลังทำงาน เพื่อสร้างเสรีภาพอันถูกต้องและศตวรรษแห่งสามัญชนขึ้นในระยะนี้” เนื้อหาของDUM SPIRO, SPERO เล่าถึงนายสุจริต ธาดา นักหนังสือพิมพ์ผู้ผันตัวเองไปเป็นนักการเมือง และเริ่มต้นเปิดโปงเรื่องทุจริตของนักการเมืองในรัฐสภา จนถูกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งเป็นพ่อของหญิงคนรัก “สั่งเก็บ” แต่ “…กระสุนพลาดเป้าเฉียดไปโดนเข้าที่ไหล่” ขณะนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ได้ถามเขาว่า “นี่นายยังหวังจะสู้อิทธิพลมืดต่อไปอีกหรือ” นายสุจริต ธาดา ก็ตอบว่า “Dum spiro, spero!” (แปลว่าอะไร ขอความรู้จากผู้รู้ภาษาละตินด้วย)
- ถิ่นสยอง โดย “ดาวหาง” นามปากกาของนักเขียนเรื่องสั้นสะท้อนภาพสังคม-การเมืองในรุ่นรอยต่อแห่งทศวรรษ 2490 และ 2500 นามปากกา “ดาวหาง”ผู้นี้ เจือ สตะเวทิน เคยให้ความเห็นไว้ทำนองว่า ผลงานเรื่อง พัทยา ที่เขียนโดย “ดาวหาง” คือนวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทย ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าจริงหรือเปล่า เพราะในความเห็นของผม เรื่องสั้น นายจิตรนายใจสนทนากัน ก็มีนัยยะของคำว่า “การเมือง”มาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2417 โน่นแล้ว เรื่องสั้น ถิ่นสยอง ที่อ้างพิมพ์ครั้งแรกใน สยามสมัยรายสัปดาห์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 137 ( 26 ธันวาคม 2492) เล่าเรื่องของ ส.ต.ต. ห้าว กรกำแหง “เสือแม่นปืนแห่งสันติบาล” ที่ถูกมอบหมายให้ไปจับตัวหัวหน้าผู้ก่อการจลาจล แต่เกิดผิดพลาด ตำรวจที่ไปจับนั้นกลับ“ลั่นไกปังเดียว” จนหัวหน้าผู้ก่อการจลาจลคนนั้นเสียชีวิต และเรื่องนี้มารู้ในภายหลังว่า ผู้ที่เขาได้รับคำสั่งให้ไปจับนั้น เป็น “นักเขียนจนๆคนหนึ่ง”
- บนผืนดินไทยเรื่องสั้นของ “อ.อุดากร” (นามปากกาของ อุดม อุดาการ)เรื่องนี้ ได้รับการพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร อักษรสาส์น ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2493 เล่าถึง “หมอกบฏ”คนหนึ่งที่กำลังหลบหนีการตามล่าของตำรวจ เขาเป็นหมอที่มีชื่อปรากฏอยู่ใน “จำนวนผู้ที่จะต้องถูกกวาดล้าง” ระหว่างการหลบหนี เขาพบเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนหมอมาด้วยกัน เพื่อนผู้นั้นขอเสียสละเบี่ยงเบนความสนใจของตำรวจ เพื่อ “หมอกบฏ”ผู้นั้นจะได้อยู่รักษาลูกชาวบ้านคนหนึ่งที่กำลังป่วยหนัก และในที่สุดเพื่อนของ “หมอกบฏ”ผู้นั้นก็ถูกตำรวจที่ตามล่ายิงตาย ประโยคสุดท้ายของเขาในเรื่องสั้นนี้คลาสสิคมาก “เผชิญ, แผ่นดินไทยผืนนี้ฝากไว้ด้วย”บนผืนดินไทย ของ “อ.อุดากร” พิมพ์ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2493 ดังนั้นจึงเข้าใจว่า “อ.อุดากร” คงจำลองเหตุการณ์ขึ้นมาจากสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ซึ่งเป็นการรัฐประหาร (ที่ล้มเหลว) ของคณะนายปรีดี พนมยงค์ และในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เรียกกันว่า “กบฏวังหลวง”
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ) , “บทกล่าวนำ” คำขานรับ สำนักพิมพ์ดวงกมล พ.ศ.2519
- ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สยามยามเปลี่ยน (ไม่)ผ่าน, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พฤษภาคม พ.ศ.2555
- ธนาพล อิ๋วสกุล, “บันทึก 80 ปีการเมืองไทย จาก 2475 ถึง 2555” อ้างใน สารคดี ฉบับที่ 328 มิถุนายน พ.ศ.2555
- “เรากำลังเรียกร้องและเขียนถึงสิ่งที่เชยเหลือเกิน เราต้องล้าสมัยให้เท่าทันกับความเป็นจริงที่ล้าหลัง as obsolete as reality itself ล้าสมัยเท่าสมัยที่ล้าหลังในบริบทอัน ‘เฉพาะเจาะจง’ ความทันสมัยหรือท่าทีแบบหลังสมัยใหม่อาจถูกใช้แบบฉวยโอกาส เถรตรง หรือไม่แยบคายต่อการเมืองจนกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง-ปฏิรูป-ปฏิวัติ ในบริบทอันเฉพาะเจาะจง เราต้องกลับไปหาความเป็นสมัยใหม่อันล้าสมัยเพื่อที่จะไปให้พ้นจากความร่วมสมัยที่ล้าหลัง..” อ่านรายละเอียดใน มุกหอม วงษ์เทศ “ล้าสมัยเท่าสมัยที่ล้าหลัง” วารสาร อ่าน ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 เมษายน-มิถุนายน พ.ศ.2555
- อ่านความเห็นเรื่อง “ราชาชาตินิยม” จาก ธงชัย วินิจจะกุล ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา, ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2548 , มูลนิธิ 14 ตุลา,2548
- นีลล์ มุลเดอร์, “การสื่อแสดงความหมายทางวัฒนธรรมของแก่นเรื่องที่เด่นๆในวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยและชวา” (พวงร้อย คำเรียง, คำแก้ว อัศนี แปล) ใน โลกหนังสือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 : พฤศจิกายน 2523
- อ้างใน ปรีชา สุวรรณทัต, เสวนา “75 ปี 24 มิถุนายน 2475 : 75 ปีของอะไร?” ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ฯ, สถาบันปรีดี พนมยงค์มิถุนายน 2550
- อ่านบรรยากาศบางส่วนเกี่ยวกับวรรณกรรม “เล่มละบาท” ได้จาก ประจักษ์ ก้องกีรติ ก่อนจะถึง 14 ตุลา : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ.2506-2516) วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2545 และตัวอย่างเรื่องสั้นบางเรื่องที่นำมาจากวรรณกรรม “เล่มละบาท” ที่พิมพ์ครั้งแรกในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในหนังสือวรรณมาลัยเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย 4 ชุด คือ แล้งเข็ญ(2518)ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย (2518) เหมือนอย่างไม่เคย (2519)และคำขานรับ (2519), สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ดวงกมล รวมพิมพ์ครั้งแรก
- นิธิ เอียวศรีวงศ์, “คนน่าชัง”, มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 : 30 ธันวาคม 2554 – 5 มกราคม 2555
- อ่านข้อคิดเห็นในแง่มุมเกี่ยวกับเรื่องสั้น ช่อการะเกด ยุคต่างๆได้จาก
วิทยานิพนธ์ 4 เล่ม ต่อไปนี้ (1)นรินทร์ นำเจริญ,บทบาทในการสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์สังคมของนิตยสารแนววรรณกรรมไทย, วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาวารสารสนเทศ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2441 (2) เจริญศรี มาศรี, วิเคราะห์เรื่องสั้นในนิตยสารช่อการะเกด, วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.2540 (3) เกศินี จุฑาวิจิตร, ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์กับโลกทัศน์นักเขียน : ภาพสะท้อนสังคมและโลกทัศน์นักเขียนจากวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นระหว่างพ.ศ.2540-2544 , วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการ คณะวิทยาการจัดการ คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2548 (วิทยานิพนธ์เล่มหลัง ต่อมาได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ มองเรื่องให้เห็นภาพ : ภาพสะท้อนสังคมและโลกทัศน์นักเขียนจากเรื่องสั้นยุควิกฤตเศรษฐกิจ, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม พ.ศ.2550)
(4) Ellen Elizabeth Bocouzzi, Becoming Urban : Thai Literature about Rural – Urban Migration and a Society in Transition, Phd. Dissertation Department of South and Southeast Asian Studies, University of California, Berkeley,Fall 2007 - อ่าน “บทนำ”ของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน และภาคผนวกว่าด้วยคำนิยม (สุชาติ สวัสดิ์ศรี) คำวิจารณ์ (ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์) คำตาม (ประจักษ์ ก้องกีรติ) และคำส่งท้าย (เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน) อ้างใน ในกระจก : วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน (ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการ), สำนักพิมพ์อ่าน พ.ศ.2553
- วัตถุประสงค์ของวรรณกรรมการเมืองพานแว่นฟ้าได้ประกาศหลักการไว้ดังนี้
1. เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
2. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพทางการเมือง โดยใช้ศิลปะถ่ายทอดความรู้สึกสะท้อนภาพการเมืองและสังคม หรือจินตนาการถึงการเมืองและสังคมที่ต้องการ ในรูปแบบของเรื่องสั้นและบทกวี
3. เพื่อสืบสานสร้างสรรค์วรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย (ตัวเอนข้อ 2 เน้นโดยผู้บรรยาย) อ้างในโปสเตอร์ “ชิงรางวังพานแว่นฟ้า” ครั้งที่ 11 ประจำปี 2555 เผยแพร่โดยกลุ่มงานเผยแพร่ประชาธิปไตยและกิจกรรมสภาผู้แทนราษฎร สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร) - จรัญ ยั่งยืน รวมเรื่องสั้นพญาอินทรี, สำนักพิมพ์มติชน 2548
- ธงชัย วินิจจะกุล, ข้ามไปให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา : ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2548, อ้างแล้ว