Home Literature Publisher VS Printing House: สำนักพิมพ์ กับ โรงพิมพ์ แตกต่างกันอย่างไร เราตอบคุณได้

Publisher VS Printing House: สำนักพิมพ์ กับ โรงพิมพ์ แตกต่างกันอย่างไร เราตอบคุณได้

by Editor
1K views 5 mins read

อย่างที่เราทราบกันดีว่า กว่าจะผลิตหนังสือออกมาได้สักเล่ม ต้องผ่านขั้นตอนการทำงานที่เป็นระเบียบแบบแผน อีกทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่าง สำนักพิมพ์ และ โรงพิมพ์ แล้วเพื่อนๆ หลายคนเคยตั้งข้อสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า สำนักพิมพ์กับธุรกิจโรงพิมพ์ต่างๆ แท้จริงแล้วมีระบบการทำงาน และมีการจำแนกประเภทจากอะไรกันแน่ ในบทความนี้ เราจะมาไขข้อสงสัยที่ว่า สำนักพิมพ์ และโรงพิมพ์ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างในแง่มุมต่างๆ

ประวัติและความเป็นมาของการพิมพ์ 

ก่อนจะเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ เราจำเป็นต้องรู้จักกับประวัติ และความเป็นมาของการพิมพ์โดยคร่าวๆ เสียก่อน 

โจฮัน กูเตนเบิร์ก
  • ประวัติการพิมพ์ของตะวันตก

ในทางฝั่งตะวันตกเราต้องยกความดีความชอบให้กับ โจฮัน กูเตนเบิร์ก ผู้ประดิษฐ์แท่นพิมพ์ชาวเยอรมันจากเมืองไนซ์ ซึ่งในปี ค.ศ. 1440 เขาได้พัฒนาวิธีการแสดงผลซ้ำๆ บนแผ่นกระดาษโดยใช้ตัวอักษรที่เคลื่อนย้ายได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นคนที่คิดออกแบบตัวพิมพ์ การแกะสลักแม่พิมพ์ การหล่อตัวพิมพ์ การทำหมึกพิมพ์ และการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์อีกด้วย ในปี ค.ศ. 1495 ชาวเยอรมันอีกคนนามว่า อัลเบรค ดูเรอร์ คิดค้นวิธีการพิมพ์ โดยใช้แม่พิมพ์ทองแดง นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้แม่พิมพ์แบบพื้นลึก 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1620 วิลเลม จานโซน บลาว ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ที่ใช้กับแม่พิมพ์พื้นนูน เราเรียกว่าเครื่องพิมพ์ดัคซ์ จนมาถึงศตวรรษที่ 16 วิลเลียม นิคโคสัน ชาวอังกฤษแห่งนครลอนดอน คิดค้นแท่นพิมพ์แบบทรงกระบอก ประมาณ 3 ปีต่อมา ชาวเยอรมันชื่อว่า อลัวส์ เซเนเฟลเดอร์ ได้ค้นพบวิธีพิมพ์หิน (lithography) ซึ่งเป็นวิธีการพิมพ์แบบพื้นราบ ในภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำวิธีการพิมพ์นี้เข้ามาในไทย จนกระทั่งการพิมพ์เป็นที่แพร่หลายในรัชสมัยต่อๆ มา

หมอบรัดเลย์
  • ประวัติการพิมพ์ของไทย

เริ่มแรกชาวไทยได้รับวัฒนธรรมมากมายมาจากชาวตะวันตก หนึ่งในนั้นคือการพิมพ์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส นามว่า “หลุยส์ ลาโน” หนึ่งในคณะมิชชันนารีคาทอลิก ได้ก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทยขึ้น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จุดประสงค์ในการตั้งโรงพิมพ์แห่งนี้ เพื่อพิมพ์ และเผยแพร่คำสอนของศาสนาคริสต์ ไวยากรณ์ไทยและบาลี รวมไปถึงการจัดทำพจนานุกรม ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เพื่อศึกษางานที่โรงพิมพ์ของชาวฝรั่งเศส แล้วนำกลับมาพัฒนาการพิมพ์ในไทย แต่ในสมัยสมเด็จพระเพทราชาการพิมพ์ไทยได้หยุดนิ่งลง 

ปี พ.ศ. 2339 ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บาทหลวงการ์โนลด์ ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในโบสถ์ซันตาครูส ฝั่งธนบุรี รัชสมัยต่อมาโรงพิมพ์จึงค่อยๆ เพิ่มขึ้น หลายแห่งมีเจ้าของเป็นชาวตะวันตก จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้นำวิธีการพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์เป็นหิน (Lithography) มาใช้ในเมืองไทยครั้งแรก ขณะเดียวกันในสมัยนั้น นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือ “หมอบรัดเลย์” ได้สานต่อกิจการโรงพิมพ์จากพวกมิชชันนารี เขาเป็นบุคคลแรกที่นำโรงพิมพ์มาทำในเชิงธุรกิจ สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น ต่อมารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเริ่มตั้งโรงงานผลิตกระดาษเพื่อการอุตสาหกรรม ตั้งแต่นั้นมากิจการโรงพิมพ์ได้เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึง ณ ปัจจุบัน

สำนักพิมพ์

คำจำกัดความของ สำนักพิมพ์ และโรงพิมพ์

  • คำจำกัดความของสำนักพิมพ์

สำนักพิมพ์ (Publisher) คือ บริษัท หรือองค์กรที่ทำธุรกิจงานเขียน โดยมีความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าของสิทธิ์ในหนังสือ ที่ตนจัดพิมพ์และสร้างรายได้จากการขายหนังสือ หรืองานเขียนต่างๆ ล้วนมาจากนักเขียน ที่ทางสำนักพิมพ์ได้คัดเลือกมาจัดพิมพ์เอง 

  • คำจำกัดความของโรงพิมพ์

โรงพิมพ์ (Printing house) ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง สถานที่สำหรับพิมพ์หนังสือและสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ 

ความแตกต่างระหว่าง สำนักพิมพ์ กับ โรงพิมพ์

เมื่อได้ทำความรู้จักกับ ประวัติความเป็นมา รวมไปถึงคำจำกัดความของสำนักพิมพ์ และโรงพิมพ์แล้ว ในย่อหน้านี้ เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ ความแตกต่างของสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์

โดยทั่วไปสำนักพิมพ์มักจะมีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ และแบบแผน ขั้นตอนแรก นักเขียนจะเป็นผู้ผลิตต้นฉบับ ส่งต้นฉบับให้บรรณาธิการเป็นผู้ตรวจเนื้อหา หลังจากนั้นบรรณาธิการส่งกลับคืนให้นักเขียนปรับปรุงหรือแก้ไข เมื่อนักเขียนแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และบรรณาธิการให้ผ่าน จะทำการส่งให้พิสูจน์อักษร ผู้ที่รับหน้าที่พิสูจน์อักษรจะทำการตรวจสอบสองรอบ คือ รอบแรกจะตรวจงานเขียนต้นฉบับที่มาจากบรรณาธิการ และรอบที่สองจะตรวจงานเขียนฉบับหลังจากทำรูปเล่มเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือ การตีพิมพ์ นอกจากนี้ สำนักพิมพ์ยังมีหน้าที่ในการรับผิดชอบทางด้านการเงินสำหรับการผลิต และด้านส่งเสริมการขายอีกด้วย ส่วนผู้เขียนต้นฉบับจะได้รับค่าลิขสิทธิ์ตามเปอร์เซ็นต์ของหนังสือแต่ละเล่มที่ขายได้ โดยค่าลิขสิทธิ์ตามมาตรฐาน นักเขียนจะได้รับจำนวน 10% จากราคาหนังสือคูณด้วยจำนวนเล่มในการจัดพิมพ์ ตัวอย่างเช่น ราคาหนังสือ 100 บาท จัดพิมพ์ 3,000 เล่ม นักเขียนจะได้รับค่าลิขสิทธิ์ 30,000 บาท 

ในทางกลับกัน โรงพิมพ์จะมีไว้สำหรับพิมพ์หนังสือและสิ่งตีพิมพ์ ไม่ได้มีกระบวนการ หรือหน้าที่ ที่ต้องมาคัดเลือกผลงานจากนักเขียน โรงพิมพ์จะพิมพ์ตามข้อผูกมัด หรือตามสัญญาที่ลูกค้าให้ บางครั้งโรงพิมพ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในองค์กรสำนักพิมพ์ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ โรงพิมพ์จะเป็นกระบวนการสุดท้ายของสำนักพิมพ์ เมื่อทางสำนักพิมพ์ทำรูปเล่มหนังสือเสร็จแล้ว และต้องการจะเผยแพร่สู่สาธารณชน 

การจำแนกประเภทของ สำนักพิมพ์ และ โรงพิมพ์

  • การจำแนกประเภทของสำนักพิมพ์

สำนักพิมพ์จะจำแนกตามจุดประสงค์ หรือประเภทของชิ้นงานที่สำนักพิมพ์ต้องการผลิต โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเภท

  1. Traditional Trade Publishers  คือ สำนักพิมพ์ที่ขายธุรกิจหนังสือแบบดั้งเดิม หรือเรียกอีกอย่างว่า เป็นสำนักพิมพ์ที่สามารถให้ลูกค้าไปจับดูหนังสือก่อนซื้อได้  
  1. Book Packagers and Book Developers เป็นบริษัทหนึ่งที่ทำงานภายใต้สำนักพิมพ์ เชี่ยวชาญด้านการผลิตหนังสือ แพ็จเกจเจอร์หรือเดเวลอปเปอร์ จะพัฒนาไอเดียสำหรับหนังสือแล้วนำไปขายให้กับทางสำนักพิมพ์ การทำเช่นนี้ช่วยให้ประหยัดต้นทุนมากกว่าผลิตหนังสือขึ้นด้วยตัวเอง
  1. Bargain Book Publishers เป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือราคาถูก หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับหนังสือมาลงขายในหมวด “Bargain” ของร้านหนังสือ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ที่เห็นได้ชัดเลย คือ หนังสือสูตรอาหาร หนังสือในหมวดนี้เริ่มลดลง เพราะสูตรอาหารมีมากมายบนอินเทอร์เน็ต การใส่หนังสืออาหารลงในหมวดของ “Bargain” ช่วยคงการมีอยู่ของหนังสือได้ต่อไป ตัวอย่างสำนักพิมพ์ที่พบในไทย เช่น 
  • สำนักพิมพ์แสงแดด 
  • สำนักพิมพ์แม่บ้าน
  1. Textbook Publishers and Academic Publishers คือ สำนักพิมพ์ที่ผลิตงานเขียน หรือหนังสือโดยมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษา โดยปกติแล้วจะเป็นสำนักพิมพ์ที่ทางสถานศึกษาต่างๆ ก่อตั้งขึ้นมาเอง เนื้อหาในหนังสือส่วนใหญ่จึงสอดคล้องกับหลักสูตรของผู้เรียนในสถานศึกษานั้นๆ ในประเทศไทยมีสำนักพิมพ์ประเภทนี้อยู่หลายแห่งพอสมควร เช่น 
  • สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร 
  • สำนักพิมพ์สานอักษร ของโรงเรียนรุ่งอรุณ
  1. Professional Publishers คือ สำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือสำหรับพวกมืออาชีพที่ต้องการเข้าถึงฐานข้อมูลเฉพาะด้านที่มีความน่าเชื่อถือในสายงาน หรือสายอาชีพของตนเอง หนังสือที่เราสามารถพบเจอได้ในสำนักพิมพ์ประเภทนี้ เช่น หนังสือคู่มือสำหรับนักกฎหมาย หนังสือเกี่ยวกับฐานข้อมูลเชิงปฏิบัติของวิศวกร หนังสือคู่มือสำหรับนักบัญชี และหนังสือทางการแพทย์และพยาบาล ตัวอย่างสำนักพิมพ์ประเภทนี้ที่พบในไทย เช่น 
  • สำนักพิมพ์วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 
  • สำนักพิมพ์มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา
  1. Self-Publishing Services เป็นสำนักพิมพ์ที่ผู้ผลิตงานเขียนเผยแพร่ผลงานด้วยตนเอง ผู้เขียนจะเป็นผู้ดูแลรายละเอียดทั้งหมด ในเรื่องของการผลิตหนังสือขึ้นมา เรื่องของต้นทุนการผลิต จนไปถึงเรื่องการตลาด และการจัดจำหน่าย บางครั้งงานเขียนของสำนักพิมพ์ประเภทนี้จะจัดทำขึ้นเพื่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม จึงอาจจะไม่ค่อยเป็นที่นิยม หรือได้รับความสนใจจากแวดวงสื่อการพิมพ์ ตัวอย่างนักเขียนที่เขียนและตีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเอง เช่น 
  • นักเขียนนามปากกา “Moonscape” ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน” 
  • “ใบพัด นบน้อม” ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ผมบอกรักเธอด้วยฟอนต์ Cordia” 
  • “ชาติ กอบจิตติ” ผู้เขียนนวนิยายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2525 เรื่อง “คำพิพากษา”
  1. Hybrid Publishers เป็นสำนักพิมพ์ที่มีรูปแบบผสมผสานกันระหว่าง Traditional Publisher กับ Self-publishing Service เป็นระบบที่ทั้งผู้เขียนและผู้จัดพิมพ์มีหน้าที่รับผิดชอบในการผลิต การจัดจำหน่าย และการขายหนังสือบางส่วนหรือทั้งหมด 
โรงพิมพ์

การจำแนกประเภทของ โรงพิมพ์

ธุรกิจโรงพิมพ์จะแบ่งตามเทคนิคและเทคโนโลยีในการพิมพ์ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

  1. ธุรกิจโรงพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบออฟเซ็ท 

เป็นประเภทของโรงพิมพ์ที่พบมากที่สุด เนื่องจากเป็นโรงพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีคุณภาพและดีที่สุด จึงค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูงในการจัดทำชิ้นงานหนึ่งชิ้นขึ้นมา โรงพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีออฟเซ็ท ได้แก่ โรงพิมพ์ เอส.ออฟเซ็ทกราฟฟิคดีไซน์ โรงพิมพ์ออฟเซ็ท สุนทรฟิล์ม และโรงพิมพ์ภาพพิมพ์

  1. ธุรกิจโรงพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบดิจิตอล 

เป็นโรงพิมพ์ที่สร้างชิ้นงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบ โดยใช้วิธีการนำเครื่องปริ้นเตอร์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ หรือแล็ปท็อปโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถทำได้ง่าย ยกตัวอย่างโรงพิมพ์ เช่น อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ บีพีเค พริ้นติ้ง   บีพีเค พริ้นติ้ง

  1. ธุรกิจโรงพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์ 

โรงพิมพ์ประเภทนี้จะใช้วิธีการพิมพ์แบบสมัยเก่า และมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยจะใช้แม่พิมพ์ในการพิมพ์ ชิ้นงานจึงอาจจะไม่ค่อยมีคุณภาพเท่ากับโรงพิมพ์ที่ใช้สองเทคโนโลยีข้างต้น อาทิ Papermore โรงพิมพ์ประเภทนี้ไม่ค่อยพบมากในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรงพิมพ์แบบเก่า โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะไปใช้แบบออฟเซ็ทเสียมากกว่า

  1. ธุรกิจโรงพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีแบบสกรีน 

เป็นโรงพิมพ์ที่ใช้ลักษณะการพิมพ์ที่เราเรียกกันว่า การสกรีน โดยทั่วไปจะผลิตชิ้นงานที่ไม่มีรายละเอียดเยอะมาก ตัวอย่างเช่น บริษัท เอสซีที อินเตอร์พริ้น จำกัด และบริษัท หมวย การ์เม้นท์ จำกัด

เมื่อทราบถึงการจำแนกประเภทของสำนักพิมพ์ และโรงพิมพ์แล้ว เพื่อนๆ บางคนอาจจะนึกถึงชื่อสำนักพิมพ์ที่ตัวเองรู้จักมาบ้างพอสมควร ถ้าจะให้พูดถึงสำนักพิมพ์ในประเทศไทยแล้ว มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายแห่งเลยทีเดียว แน่นอนว่า แต่ละแห่งยังมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย เช่น

  • สำนักพิมพ์แจ่มใส (Jamsai) ที่เติมความสุขทุกจินตนาการให้กับผู้อ่าน นิยายที่สร้างสรรค์โดยสำนักพิมพ์แจ่มใส นิยายที่สำนักพิมพ์แจ่มใสผลิตมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนิยายรักโรแมนติก แนวสืบสวนสอบสวน แนวแฟนตาซี ตลอดจนนิยายแปลจีน แต่ส่วนใหญ่ที่เราพบเจอกันบ่อยๆ คงจะเป็นนิยายวัยรุ่นยอดนิยมที่หลายๆ คนน่าจะเคยอ่านกันมาบ้าง เช่น 
    • นิยายในชุด “U-Prince” ที่ได้มีการนำมาจัดทำเป็นซีรีส์แนวรักวัยรุ่น “U-PRINCE Series” ผ่านทาง GMMTV
    • “US รักของเรา” เขียนโดยนักเขียนนามปากกา “เจ้าปลาน้อย”
  • สำนักพิมพ์แซลมอน (Salmon Books) ที่มีดีทั้งรสนิยมและรสชาติ หนังสือน่าอ่านของสำนักพิมพ์แซลมอนมีหลายเล่มด้วยกัน เช่น 
    • “YOU SADLY SMILE IN THE PROFILE PICTURE” เขียนโดย “ธนชาติ ศิริภัทราชัย” 
    • “GO, GO MOROCCO โมร็อกโกนั้นโก้จริงๆ” ของนักเขียนนามปากกา “บีเบนซ์”
  • สำนักพิมพ์บิบลิโอ (Biblio) ที่เชื่อว่าหนังสือเป็นมากกว่าการอ่าน สำนักพิมพ์นี้จะเน้นผลิตหนังสือแปลทั้งนิยาย และนอนฟิกชั่นต่างๆ เช่น 
    • “ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ Actually, I’m an Introvert” ผลงานของนักเขียนชาวเกาหลี “นัมอินซุก” แปลโดย “สาริญา แซ่ตั้ง”
    • “ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ The Cat Who Loved To Protect Books” ผลงานของนักเขียนชาวญี่ปุ่น “นัตสึคาวะ โซสุเกะ” แปลโดย “ฉัตรขวัญ อดิศัย”
  • สำนักพิมพ์กำมะหยี่ (Gamme Magie Editions) ที่เชื่อมั่นในความมหัศจรรย์ของมนุษย์  สำนักพิมพ์นี้ มีทั้งผลงานของนักเขียนไทย และผลงานแปลจากหนังสือต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมแปลญี่ปุ่น เช่น 
    • “รักเร้นในโลกคู่ขนาน: Sputnik Sweethear” ของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ฮารูกิ มูราคามิ แปลโดย “นพดล เวชสวัสดิ์”
    • “สังหารจอมทัพอัศวิน: Killing Commendatore” ของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ฮารูกิ มูราคามิ แปลโดย “พรพิรุณ กิจสมเจตน์”
  • สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม (Porcupine Books) ที่ผลิตหนังสือด้วยความรักที่มีต่อการอ่าน และพร้อมก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกับผู้อ่านทุกคน ตัวอย่างหนังสือน่าอ่านของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เช่น 
    • “จักรวาลของการมอดไหม้” เขียนโดย “วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา”
    • “ในเงาคือเราผู้ซ่อนเร้น” เขียนโดย “อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์”
    • “กายวิภาคของความเศร้า” เขียนโดย “นิวัต พุทธประสาท

สามารถเข้าไปติดตามหนังสือน่าอ่านของทางสำนักพิมพ์เรา ได้ที่เพจเฟซบุก สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม หรือ FaceBook: Porcupine Books

นอกเหนือจากนี้ ยังมีสำนักพิมพ์อื่นๆ อีกมากมายในไทย ที่สร้างสรรค์งานเขียนหลากหลายประเภทให้ทุกคนได้ซื้อ และอ่านกัน

สุดท้ายนี้ทางสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมหวังว่า บทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ เข้าใจ และได้เรียนรู้ความแตกต่างของสองสิ่งสำคัญที่ผลิตหนังสือเล่มหนึ่งให้เกิดขึ้นมาได้ อย่าง “สำนักพิมพ์” และ “ธุรกิจโรงพิมพ์” 


<strong>เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ</strong>
เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
ผู้เขียน: นางสาววรางกุล วิลาวัณย์
บรรณาธิการ: นางสาวเจนจิรา ภู่โต
ผู้ช่วยบรรณาธิการ : นางสาวพิชญา วัฒนไพบูลย์, นางสาวณัชฐิญา ชัยนุภาพ
พิสูจน์อักษร: นางสาวปรียาภรณ์ ปัญญาธรรม


แหล่งอ้างอิง

สโลแกนหรือข้อความบางอย่างที่แสดงถึงตัวตนของแต่ละสำนักพิมพ์

โรงพิมพ์แบบออฟเซ็ท

โรงพิมพ์แบบดิจิตอล 

โรงพิมพ์เลตเตอร์เพลส 

โรงพิมพ์แบบสกรีน

ตัวอย่างหนังสือ

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More