The Catcher in the Rye
Home Literature The Catcher in the Rye หนังสือที่เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม

The Catcher in the Rye หนังสือที่เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม

251 views

คุณเคยสงสัยไหมว่าอะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจลงมือก่อเหตุฆาตกรรม คุณคงคิดว่าสาเหตุอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพจิต ครอบครัว หรือสภาพสังคมที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ แน่นอน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่ยังมี  ‘บางสิ่ง’ ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะสามารถกระตุ้นให้ผู้คนกล้ากระทำการอุกอาจ และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือมันไม่ใช่เครื่องมือที่มีกลไกสลับซับซ้อนอะไรเลย แต่กลับเป็นเพียงหนังสือธรรมดาเล่มหนึ่ง ใช่ คุณอ่านไม่ผิดหรอก เพราะมันคือหนังสือ The Catcher in the Rye – จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น ที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของเหล่าฆาตกร ซึ่งในบทความนี้จะนำแฟ้มคดีต่างๆ มาไล่เรียงรายละเอียดพร้อมทั้งวิเคราะห์ปมความสัมพันธ์ปริศนาระหว่างหนังสือเล่มนี้กับคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้น รวมทั้งเปิดเผยทฤษฎีแปลกประหลาดที่คุณอาจคาดไม่ถึง

catcher in the rye coming of age

หนังสือ The Catcher in the Rye เป็นผลงานของนักเขียนชาวอเมริกัน เจ.ดี. ซาลินเจอร์ (J. D. Salinger) ฉบับแปลไทยมีชื่อว่า จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น แปลโดย ปราบดา หยุ่น โดยภาษาต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งตลอดระยะเวลา 71 ปีที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้ได้เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมหลายคดี และเคสที่ผู้คนให้ความสนใจจนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกก็มีถึง 4 คดีด้วยกัน

หลายคนอาจคิดว่าหนังสือที่มีส่วนพัวพันกับเหตุฆาตกรรมจะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรม แต่ความเป็นจริงแล้วหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงแค่การบอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มนามว่า โฮลเดน คอลฟิลด์ (Holden Caulfield) และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคนรอบข้าง บรรดาผู้คนที่เขาพบเจอหล่อหลอมให้ความคิดของเขาแปลกแยกออกจากสังคม เขามองว่าพวกผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง แต่ในขณะเดียวกันเขากลับอ่อนโยนยามที่มองดูและพูดถึงเหล่าเด็กน้อยไร้เดียงสา สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือคอลฟิลด์สะท้อนนิสัยของผู้คนออกมาในรูปแบบของลักษณะภายนอก ในสายตาของเขา ร่างกายของผู้ใหญ่นั้นช่างน่ารังเกียจ ทั้งใบหน้าที่เปรอะไปด้วยสิวและขาที่เต็มไปด้วยขน แต่ในทางตรงกันข้าม พวกเด็กๆ กลับมีร่างกายที่สวยงามเหมือนจิตใจของพวกเขา คอลฟิลด์จึงอยากปกป้องเด็กๆ เหล่านั้นไว้ ในยามที่น้องสาวของเขาถามว่าเขาอยากจะทำอะไรในอนาคต เขาตอบว่า

อยากมองดูเด็กๆนับพันที่กำลังวิ่งเล่นกันในทุ่งกว้าง โดยที่ไม่มีผู้ใหญ่ตัวโตอยู่แถวนั้นเลย มีแค่เขาเท่านั้นที่ยืนอยู่ขอบผาข้างล่างทุ่งนั่น ยามที่เด็กเล็กเผลอพลัดตกลงมา เขาจะคอยรับเอาไว้ อยากจะทำแบบนี้ทั้งวัน นี่เป็นสิ่งเดียวที่เขาอยากทำ

The Catcher in the Rye

ในนวนิยายแสดงให้เห็นว่าคอลฟิลด์เจ็บช้ำจากผู้คนในสังคมมามากเฉกเช่นเดียวกับวัยรุ่นในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างพวกเรา เรื่องราวที่เขาพบเจอสะท้อนให้เห็นว่าในทุกๆ การเติบโตนั้นเจ็บปวดเสมอ เขาจึงเกลียดพวกผู้ใหญ่ที่เอาแต่ทำตัวน่ารังเกียจและเต็มไปด้วยการโกหกหลอกลวง แต่กลับรักและยกย่องเด็กๆ ว่ามีความจริงใจและความบริสุทธิ์ เขายังวาดฝันไว้ว่าสักวันหนึ่งจะได้ดูแลและปกป้องเด็กๆ เหล่านี้

ครั้งหนึ่งผลงานเรื่องนี้เคยเป็นหนังสือต้องห้ามสำหรับเด็กมัธยมในอเมริกา แต่ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นหนังสือยอดนิยมที่ผู้อ่านทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง แม้ว่าจะมีเนื้อเรื่องที่แสนธรรมดา แต่สิ่งที่เปรียบเสมือนเสน่ห์ของเรื่องนี้คือบุคลิกที่ซับซ้อนทว่าน่าค้นหาของ โฮลเดน คอลฟิลด์ เขามักจะมองโลกในแง่ร้ายและทำตัวแปลกแยก แต่ในขณะเดียวกันก็บอบช้ำ อ่อนไหว เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมองโลกในมุมมองที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ วัยรุ่นหัวขบถ ที่มีแนวคิดต่อต้านสังคมและโหยหาอิสรภาพในการใช้ชีวิต นอกจากนี้อาจเป็นไปได้ว่าอุปนิสัยและการใช้ชีวิตของคอลฟิลด์อาจมีความคล้ายคลึงกับผู้อ่านบางคน จนทำให้พวกเขาอินกับตัวละครนี้ และคิดว่าคอลฟิลด์สะท้อนตัวตนของพวกเขาได้เป็นอย่างดี

แต่ใครจะคาดคิดว่าหนังสือที่ดูเหมือนไม่มีอะไรนอกจากเรื่องเล่าอันขมขื่นของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมด้วย

การฆาตกรรมศิลปินนักร้องชื่อดังก้องโลก จอห์น เลนนอน (John Lennon) – The Catcher in the Rye

John Lennon
Yoko Ono and John Lennon, Dakota Apartments, NYC, November 21, 1980

จอห์น เลนนอน อดีตสมาชิกวง เดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) ถูกยิงเสียชีวิต โดยนายมาร์ค เดวิด แชปแมน (Mark David Chapman) ผู้ซึ่งกล่าวว่า The Catcher in the Rye เป็นหนังสือเล่มโปรดของเขาและเป็นแรงบันดาลใจให้เขาก่อเหตุฆาตกรรม ในตอนที่มีผลพิพากษาออกมาว่าเขาถูกจำคุก 20 ปีถึงตลอดชีวิต สิ่งที่เขาทำก่อนเข้าห้องขังคือการลุกขึ้นยืนและอ่านข้อความจากหนังสือ The Catcher in the Rye

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2523 จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะผู้เป็นภรรยากลับถึงที่พักในเวลา 22.50 น. ทั้งคู่ได้เดินผ่านนายแชปแมนไป แต่คล้อยหลัง นายแชปแมนเรียก ‘จอห์น เลนนอน’ และยิงเข้าที่หลังของเขาด้วยจำนวนกระสุนห้านัดในระยะหกเมตร ร่างของคุณเลนนอนล้มลง แต่รปภ.ของอาคารกลับคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่น จนกระทั่งเห็นเลือดไหลออกมาจากร่าง จึงได้โทรแจ้งว่ามีเหตุร้าย แต่เห็นว่าไม่ทันการณ์แน่ๆ จึงได้พาคุณเลนนอนขึ้นรถไปส่งที่โรงพยาบาล แต่ก็สายไปเสียแล้ว กระสุนสามนัดเจาะเข้าที่กลางหลังทะลุเข้าปอด หนึ่งนัดเข้าที่บริเวณไหล่ซ้าย และอีกหนึ่งนัดเข้าที่บริเวณต้นคอซึ่งทำลายหลอดเลือดใหญ่และตัดหลอดลม ทำให้แพทย์กู้ชีพไม่สามารถช่วยชีวิตคุณเลนนอนไว้ได้ ศิลปินชื่อดังจากไปอย่างไม่อาจหวนกลับคืน ในเวลา 23.07 น.

หลังจากที่นายแชปแมนยิงคุณเลนนอนแล้ว เขาไม่ได้หนีไปไหน แต่กลับนั่งอยู่หน้าประตูและอ่านหนังสือ The Catcher in the Rye อย่างสงบ พร้อมทั้งเอ่ยขอโทษกับตำรวจที่เขาได้ทำเรื่องเลวร้ายลงไป  เรื่องราวก่อนที่นายแชปแมนจะตัดสินใจปลิดชีพจอห์น เลนนอน ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ที่เขายังเด็ก พ่อของเขารับราชการอยู่ในกองทัพ ส่วนแม่เป็นพยาบาล นายแชปแมนมีน้องสาวหนึ่งคน ครอบครัวที่เหมือนจะดูปกติ กลับมีปัญหาภายในครอบครัวมากมาย พ่อของเขามักจะทำร้ายร่างกายแม่ โดยที่เขาไม่สามารถช่วยอะไรได้ ในขณะที่สังคมภายในรั้วโรงเรียนก็ไม่ได้ดีนัก เขามักจะถูกล้อเลียนเพราะมีรูปร่างอ้วนท้วม ความแค้นและความสิ้นหวังเริ่มก่อตัวในใจ เมื่อถึงช่วงวัยรุ่น เขาได้ลองเสพสารเสพติดแอลเอสดีที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น แต่แล้วเขาก็กลับตัว เลิกเสพยาและประกาศว่าเขาคือพระคริสต์กำเนิดใหม่

มาร์ค แชปแมน: ชายผู้สังหารจอห์น เลนนอน หลังถูกจับกุมในช่วงเช้าของวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2523: Picture: Bureau of Prisons/Getty Images
The Charter Arms .38 Special ที่ Mark Chapman ใช้เพื่อฆ่า John Lennon: : Jack Smith/NY Daily News Archive via Getty Images

ต่อมาเขาได้งานเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงใน YMCA (Young Men’s Christian Association) ซึ่งเขาทำเพราะความชอบและเด็กๆต่างก็รักเขา นายแชปแมนเหมือนจะประสบความสำเร็จแต่เขานั้นไม่มีความกระตือรือร้น เขาเคยเข้าเรียนหลายที่แต่ก็ต้องลาออกกลางคัน จากนั้นบุคลิกของเขาเริ่มเปลี่ยนไปจนทำให้เลิกรากับแฟนสาว เขาเริ่มคิดอยากฆ่าตัวตายหลายครั้ง จนเมื่อเขามีแฟนใหม่เป็นตำรวจ เขาได้สมัครเรียนยิงปืนและมีใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเขาสามารถพกปืนได้ ต่อมาเขาย้ายไปฮาวาย และพยายามฆ่าตัวตายอีกหลายครั้ง ท้ายที่สุดเขาเข้ารับการบำบัดทางจิตและแต่งงานในปี 1979 แต่หลังจากแต่งงาน ภรรยาเล่าว่านายแชปแมนเริ่มพูดจาข่มขู่เธอแม้จะไม่เคยทำร้ายร่างกาย และสังเกตว่านายแชปแมนเริ่มคลั่งไคล้หนังสือเรื่อง The Catcher in the Rye

หนังสือเรื่องนี้ส่งผลต่อความคิดของเขาเป็นอย่างมาก เขาเริ่มจินตนาการว่าตัวเองเป็นตัวเอกของเรื่อง โฮลเดน คอลฟิลด์ ผู้มีความคิดแปลกแยกและขัดแย้งในตัวเอง ภรรยาของเขากล่าวว่า แชปแมนเคยบอกว่าอยากเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโฮลเดน คอลฟิลด์ นายแชปแมนเกลียดความผิดพลาดของผู้คน ดังนั้น เมื่อมีคำกล่าวว่า ‘เดอะ บีเทิลส์เป็นที่นิยมมากกว่าพระเยซู’ ทำให้ผู้ที่ศรัทธาในศาสนาอย่างนายแชปแมนสั่นคลอน เขาเป็นแฟนคลับของคุณเลนนอน แต่ต่อมาก็กลายเป็นความเกลียดชังฝังลึกภายในจิตใจ เมื่อเลนนอนติดยา มีบทความมากมายตีพิมพ์เรื่องนี้

เมื่อนายแชปแมนได้อ่านก็โกรธและมองเลนนอนว่าเป็นคนหน้าซื่อใจคดเหมือนที่เขียนอยู่ในหนังสือ The Catcher in the Rye แชปแมนวางแผนฆ่าคุณเลนนอน ในเช้าวันที่เกิดเหตุ นายแชปแมนออกจากห้องพร้อมกับอาวุธปืนและคัมภีร์พระคริสตธรรมใหม่ที่เขาได้เขียนชื่อ โฮลเดน คอลฟิลด์ และชื่อของเลนนอนต่อท้ายคำว่า ‘Gospel According to John’ ต่อมาเขาได้แวะซื้อหนังสือ The Catcher in the Rye และเขียนลงไปบนปกหนังสือว่า ‘This is my statement’ ซึ่งเป็นเล่มที่เขาอ่านหลังฆาตกรรมเลนนอนแล้ว ก่อนการพิกพากษานายแชปแมนได้อ่านประโยคในหนังสือก่อนที่เขาจะถูกจำคุก

การฆาตกรรมอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F Kennedy) – The Catcher in the Rye

John F Kennedy

จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี หรือที่รู้จักกันในนาม จอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถูกมือปืนที่มีชื่อว่านายลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (Lee Harvey Oswald) ลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ภายหลังการจับกุมตัวนายออสวอลด์ เขากลับอ้างว่าตนเป็นเพียงแพะรับบาปเท่านั้น สองวันถัดมา ในขณะที่นายออสวอลด์อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาก็ถูกนายแจ็ค รูบี้ เจ้าของไนต์คลับแห่งหนึ่งยิงเสียชีวิต นอกจากนี้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Bureau of Investigation หรือ FBI) ได้ทำการบุกค้นอพาร์ตเมนต์ของฆาตกร และพบสำเนาหนังสือเรื่อง The Catcher in the Rye วางอยู่บนชั้นหนังสือภายในที่พักอีกด้วย

ดร.ฮาร์ทอกส์ นักจิตวิทยาที่เคยวินิจฉัยอาการทางจิตของนายออสวอร์ดได้กล่าวว่า ออสวอร์ดในช่วงวัยรุ่นโดนไล่ออกจากโรงเรียนและถูกส่งตัวมาหาเขา หลังจากทำการตรวจสอบ เขาพบว่าออสวอร์ดเป็นคนสุภาพและมีพฤติกรรมที่เฉื่อยชา แต่ในทางกลับกัน เขามักจะตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ รวมถึงยึดตรรกะและความต้องการของตนเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้เขายังพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรง ซึ่งคาดว่าอาจจะมาจากปัญหาการขาดความอบอุ่นในครอบครัว และเพื่อเติมเต็มข้อบกพร่องดังกล่าว เขาจึงสร้างโลกในจินตนาการของตนขึ้นมา

การลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)

Ronald Reagan
ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในกรุงวอชิงตันในปี 1981

ในปี พ.ศ. 2524 โรนัลด์ เรแกนได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ และในวันที่ 30 มีนาคมของปีนั้น เขาถูกลอบยิงโดยนายจอห์น วอร์น็อค ฮิงค์ลีย์ จูเนียร์ (John Warnock Hinckley, Jr.) เรแกนถูกยิงหกนัดด้วยปืนพก ขนาด .22 ขณะที่เขากำลังออกจากโรงแรมฮิลตันในวอชิงตัน ดีซี โชคดีที่เขารอดชีวิตมาได้ส่วนคนร้ายถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดด้วยเหตุผลว่าเขาวิกลจริต เขาถูกย้ายไปอยู่ในการดูแลของสำนักเรือนจำในฐานะผู้ป่วยจิตเวช

ส่วนสาเหตุที่นายฮิงค์ลีย์ก่ออาชญากรรมนั้นมาจากความคลั่งไคล้ในตัวของนักแสดงสาว โจดี้ ฟอสเตอร์ (Jodie Foster) ที่รับบทเป็นเด็กหญิงค้าประเวณี ในภาพยนตร์เรื่อง Taxi Driver เมื่อปีพ.ศ. 2519 เขาย้ายไปพักอาศัยอยู่ใกล้เธอ พร้อมทั้งสอดบทกวีและข้อความไว้ใต้ประตูห้องของเธอด้วยความหลงใหล แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ

เขาจึงคิดที่จะปล้นเครื่องบินหรือแม้แต่ฆ่าตัวตายต่อหน้าคุณฟอสเตอร์ ท้ายที่สุดเขาจึงตัดสินใจจะลอบสังหารประธานาธิบดีเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเธอ ซึ่งประธานาธิบดีในตอนนั้นคือ จิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) เขาถูกจับกุมในข้อหาพกอาวุธปืน จากนั้นเขากลับบ้านและเข้ารับการบำบัดทางจิตเวช  แต่มันไม่ได้ผล เพราะในใจเขายังคงคิดถึงแต่คุณฟอสเตอร์ เมื่อเรแกนเข้ารับตำแหน่ง เขาก็ตกเป็นเป้าหมายใหม่ของนายฮิงค์ลีย์ทันที ก่อนที่เขาจะยิงเรแกน เขาเขียนจดหมายถึงฟอสเตอร์ว่าเขากำลังจะทำอะไร หลังจากการลอบสังหารที่ล้มเหลว นายฮิงค์ลีย์ถูกจับกุมและตำรวจได้เข้าค้นที่พักของเขา ซึ่งมีสำเนาของหนังสือ The Catcher in the Rye วางอยู่บนโต๊ะกาแฟ

คดีฆาตกรรมนักแสดงและนางแบบสาว รีเบคกา เชฟเฟอร์ (Rebecca Schaeffer)

Rebecca Schaeffer

รีเบคกา เชฟเฟอร์ เป็นนักแสดงและนางแบบชาวอเมริกันที่ถูก นายโรเบิร์ต จอห์น บาร์โดแอบสะกดรอยตามและส่งจดหมายให้ถึง 3 ปีติดต่อกัน เขาพยายามจะพบปะพูดคุยกับคุณเชฟเฟอร์หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล และความรุนแรงก็ยิ่งทวีขึ้นเมื่อเขาได้เห็น

ฉากที่คุณเชฟเฟอร์แสดงร่วมเตียงกับดาราชายท่านหนึ่งในซีรีส์ตลกร้ายยุค 90 เรื่อง “Beverly Hills, 90210” นั่นทำให้นายบาร์-โดเกิดความหึงหวงและต้องการจะสั่งสอนเธอ จากนั้นนายบาร์โดได้ทำการจ้างวานนักสืบเอกชนเพื่อค้นหาที่อยู่ของคุณเชฟเฟอร์ และขอร้องให้พี่ชายซื้อปืนลูกโม่ให้ เพราะนายบาร์โดไม่สามารถซื้อปืนเองได้เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพจิต

Robert John Bardo in August 1989

เมื่อถึงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2532 นายบาร์โดได้เดินทางไปยังที่พักของดาราสาว ครั้งแรกเธอขอให้เขากลับไป แต่หลังจากนั้นเขาก็กลับมาที่บ้านของเธออีกครั้ง ก่อนจะชักปืนยิงเข้าที่หน้าอกของคุณเชฟเฟอร์จนถึงแก่ชีวิตและหลบหนีไป โดยเขาได้ทิ้งกระเป๋าเป้กับสำเนาของ “The Catcher in the Rye” ไว้ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ วันรุ่งขึ้นเขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ในท้ายที่สุดนายบาร์โดถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรมและต้องจำคุกตลอดชีวิต

ทฤษฎีการล้างสมองและสิ่งเร้าที่ใช้กระตุ้นเหล่านักฆ่า – The Catcher in the Rye

มีทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อกันอย่างลับๆ ว่าในโปรแกรมควบคุมจิตใจของหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐฯ (Central Intelligence Agencies หรือ CIA) มีการใช้หนังสือ “The Catcher in the Rye” เป็นตัวกระตุ้นให้นักฆ่าที่แฝงตัวเป็นพวกเดียวกับเหยื่อลงมือสังหารเป้าหมาย  

 โดยขั้นแรกของการทดลองจะเป็นการนำผู้ที่อยากเป็นฆาตกรเข้าสู่โปรแกรมดังกล่าวเพื่อฝึกฝน และเมื่อนักฆ่าถูกเรียกตัวให้ปฏิบัติงาน ผู้ที่คอยควบคุมการฝึกจะใช้หนังสือเล่มนี้เป็นตัวกระตุ้นให้มือสังหารเริ่มลงมือ หลังจากนักฆ่าที่ถูกล้างสมองปฏิบัติภารกิจของเขาเสร็จสิ้น เขาจะหลงลืมว่าตนเองเคยถูกล้างสมองและมักจะเชื่อเรื่องราวแปลกๆ ที่เขาได้ใช้มันเป็นเหตุผลในการกำจัดเป้าหมาย

โดยแผนการฆาตกรรมของคุณจอห์น เลนนอน สามารถใช้ยืนยันกลไกการทำงานของทฤษฎีนี้เป็นได้อย่างดี ซึ่งในกรณีของนายมาร์ค เดวิด แชปแมน นั้นเขาเชื่อว่าการสังหารคุณเลนนอนเป็นการทำเพื่อประสงค์ของพระเจ้า และหลังจากที่คุณเลนนอนเสียชีวิตแล้ว นายแชปแมนก็ไม่ได้มีท่าทีกระวนกระวายหรือคิดหนีแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเขากลับนิ่งสงบและยึดมั่นในความคิดที่แปลกประหลาดของตน ซึ่งท่าทีของเขาคล้ายกับคนที่ถูกล้างสมอง นอกจากนี้ยังมีบางคนอ้างว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการให้คุณเลนนอนเสียชีวิต เนื่องจากแฟนคลับจำนวนมากของเขาต่อต้านการทำงานของหน่วยงานรัฐบาลในขณะนั้น

หรือในกรณีของนายลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ มือปืนที่ลอบยิงจอห์น เอฟ. เคนเนดี เขาได้เรียกตัวเองว่า “แพะรับบาป” สำหรับการฆาตกรรมในครั้งนี้ และผู้คนบางส่วนเชื่อว่าการเสียชีวิตแบบฉับพลันของเขา เปรียบเสมือนเป็นการฆ่าเพื่อปิดปากหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ ซึ่งนั่นก็ทำให้บทบาทแพะรับบาปของเขามีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น

ยังมีอีกข้อสังเกตหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในแต่ละคดีคือนักฆ่าเหล่านี้มักมีปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง ซึ่งผู้คนต่างก็เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวทำให้พวกเขากลายเป็นมือสังหารที่สมบูรณ์แบบ นั่นจึงทำให้ทฤษฎีนี้เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่ค่อนข้างสมเหตุสมผล แต่อย่างไรก็ตามมันยังเป็นแค่การสันนิษฐานที่ต้องการหลักฐานมารองรับอีกเป็นจำนวนมาก จึงนับเป็นเพียงการเปิดมุมมองทางความคิดที่ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้มากนัก

จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น coming of age

เหล่าอาชญากรพยายามเปรียบเทียบว่าตัวเองคือ โฮลเดน คอลฟิลด์ ตัวละครหลักในเรื่อง The Catcher in the Rye ที่แปลกแยกจากสังคมและคิดว่าตนเองช่ำชองทางโลกยิ่งกว่าใคร นั่นจึงทำให้พวกเขาพร้อมที่จะลงโทษผู้คนที่ผิดต่อความศรัทธาอันแปลกประหลาดของตน

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หนังสือ The Catcher in the Rye ไม่สามารถใช้เป็นสิ่งเร้าในการกระตุ้นให้คนก่อคดีฆาตกรรมได้ ผู้คนทั่วไปที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ต่างก็ดื่มด่ำไปกับปรัชญาชีวิตอันแสนขมขื่น บ้างก็มองว่ามันคือเงาสะท้อนของตนเอง แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้คิดจะฆ่าใครเลย ดังนั้นนวนิยายเรื่องนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ก่อความรุนแรง หากแต่เป็นคนหัวรุนแรงและมีปัญหาสุขภาพจิตที่ใช้มันเป็นแรงกระตุ้นในการสังหารด้วยความคิดและศรัทธาที่บิดเบี้ยว อย่างที่เราได้เห็นกันในหลายๆ คดีที่ผ่านมา แต่ใครเล่าจะรู้ ไม่แน่ว่ามันอาจมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ในหนังสือที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมคร่าชีวิตผู้คนมานักต่อนักก็เป็นได้

เกี่ยวกับผู้เขียน
เกี่ยวกับผู้เขียน

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
เขียนโดย:
นางสาวนัฏฐกานต์ รัตนเศรณี
นางสาวนัทมล ศรีสุข

แหล่งอ้างอิง

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More