เรื่องสั้นคืออะไร : What is a short story เรื่องสั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการเขียน จัดอยู่ในประเภท “เรื่องแต่ง” (fiction) เรื่องสั้น กำหนดให้มีความกระทัดรัด และกระชับมากกว่านิยาย (novel) โดยจะมีจำนวนคำอยู่ระหว่าง 3,000 ถึง 7,000 คำ — ค่าเฉลี่ยความยาวของเรื่องสั้นจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 คำ เรื่องสั้นส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก โดยทั่วไปแล้วจะครอบคลุมเหตุการณ์ สถานการณ์เพียงเล็กน้อย โดยมีตัวละครจำกัดไม่กี่ตัว ในบางกรณีตัวละครอาจไม่มีความสำคัญต่อโครงเรื่องเลยก็ได้ และตอนจบของเรื่องสั้นมักจะขมวดปม เพื่อสร้างความประทับใจให้คนอ่านได้จดจำ

ประวัติความเป็นมาของ เรื่องสั้น
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องสั้นมีมานานหลายศตวรรษ ตั้งแต่ก่อนมนุษย์เริ่มมีการคิดค้นระบบตัวอักษร และมีการเขียน จากอียิปต์ไปจนถึงกรีก เรื่องเล่าสั้นๆ ของชาวโรมัน ไปจนถึงการร่ายบทกวีขนาดยาว กระทั่ง ยุคกลาง ยุคศิลปะฟื้นฟู การพัฒนารูปแบบการเขียนเรื่องแต่ง (Fiction) มาถึงยุคเฟื่องฟู อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ได้รับการพัฒนา และได้กลายเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบันแม้จะเข้าสู่ยุคออนไลน์แล้วก็ตาม
เรื่องสั้น ถือกำเนิดขึ้นจากการเล่าเรื่องแบบสั้นๆ สามารถสืบย้อนไปไกลถึงตำนานโบราณ ตำนานนิทานพื้นบ้าน และนิทานที่พบในชุมชนต่างๆ ทั่วโลก เรื่องราวเหล่านี้บางเรื่องมีอยู่ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร แต่หลายเรื่องได้รับการถ่ายทอดผ่านประเพณี การเล่าปากเปล่า–ปากต่อปาก ในศตวรรษที่ 14 เรื่องราวที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ได้แก่ 1001 ราตรี–One Thousand and One Nights นิทานพื้นบ้านตะวันออกกลางโดยผู้เขียนหลายคน ต่อมารู้จักกันในชื่อ Arabian Nights และ Canterbury Tales โดย Geoffrey Chaucer
จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 19 เรื่องสั้นได้รับการรวมเป็นชุดเพื่อจัดพิมพ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น การตีพิมพ์เทพนิยายของพี่น้องกริมม์กลายเป็นจุดเริ่มต้น ต่อจากนั้นนวนิยายโกธิกของเอ็ดการ์ อัลเลน โป ออกมาตอกย้ำถึงสถานะอันมั่นคงของเรื่องสั้น และในที่สุด เรื่องสั้นของแอนตัน เชคอฟ ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาเรื่องสั้นสมัยใหม่
ความนิยมของเรื่องสั้นเพิ่มมากขึ้น ตามการเจริญเติบโตของนิตยสารและวารสาร บรรณาธิการคัดเรื่องเรื่องสั้นเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ และนิตยสารอย่างแพร่หลาย เรื่องสั้นกลายมาเป็นความบันเทิงของนักอ่าน ทำให้เกิดความต้องการเรื่องสั้นในหน้านิตยสาร ยิ่งนักเขียนดังยิ่งดึงดูดใจผู้อ่าน ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 The Atlantic Monthly, The New Yorker และ Harper’s Magazine ได้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากสำหรับเรื่องสั้นคุณภาพจากนักเขียนทั่วโลก และกลายมาเป็นยุคทองของสื่อสิ่งพิมพ์จนมาถึงทุกวันนี้

อะไรคือองค์ประกอบสำคัญของเรื่องสั้น
ฉากในเรื่องสั้นโดยส่วนใหญ่จะเรียบง่าย (จำไว้เสมอ หนึ่งสถานที่ หนึ่งเหตุการณ์) ตัวละครหลัก มีเพียงไม่กี่ตัว (1-5 ตัว) โดยทั้งหมดไม่จำเป็นต้องเล่าภูมิหลังอย่างละเอียด รูปแบบ โครงเรื่อง โครงสร้างต้องกระชับ เข้มข้น ทุกรายละเอียดของคำ และเรื่องราวต้องสื่อความหมาย (คั้นน้ำออก ให้เหลือแต่เนื้อ)
แทนที่จะใช้พล็อตย่อยๆ หลายพล็อต (sub plots) เรื่องสั้นเน้นที่พล็อตเรื่องเดียว บางเรื่องเล่าเรื่องแบบดั้งเดิม โดยเริ่มการบรรยายโครงเรื่องตั้งแต่จุดเริ่มต้น ต่อด้วยสอดใส่รายละเอียดเข้าไปในการดำเนินเรื่องเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่จุดสุดยอด (ช่วงเวลาสูงสุดของความขัดแย้งหรือการกระทำ) และคลี่คลายลงด้วยการแก้ปัญหาในตอนท้าย อย่างไรก็ตาม เรื่องสั้นร่วมสมัยมีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นเรื่องในช่วงกลาง เพื่อดึงดูดผู้อ่านเข้าสู่ฉากที่น่าตื่นตะลึง
เรื่องสั้นในอดีตมักจะวนเวียนอยู่กับประเด็นหลัก หรือบทเรียนเกี่ยวกับศีลธรรม แต่ในปัจจุบัน เรื่องสั้นมีพล็อตซับซ้อนมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นจริง และพฤติกรรมของมนุษย์ มากกว่าการสอนศีลธรรมในแบบอดีต ส่วนจุดไคลแม็กซ์กลายเรื่องปกติที่จะเห็นตอนจบแบบสร้างความคลุมเครือ หรือเรื่องราวที่ยังดำเนินต่อไปไม่ได้คลี่คลายปัญหาที่นำเสนอ แต่เชิญชวนให้อ่านแบบปลายเปิด
ขณะเดียวกัน เรื่องสั้นเหมาะกับการทดลอง ทั้งในรูปแบบ ทั้งเนื้อหา รวมถึงการใช้คำ แม้ผู้เขียนเรื่องสั้นส่วนใหญ่ยังคงทำงานแบบเดิม แต่นักเขียนอีกหลายคนก็สร้างอารมณ์ที่แตกต่างจากวรรณกรรมคลาสสิก (มุมมอง ภาพ การคาดเดา อุปมา ภาพพจน์ การเลือกคำ น้ำเสียง และโครงสร้างประโยค)
ทำไมนักเขียนทุกคนควรเรียนรู้วิธีเขียนเรื่องสั้น
การเขียนเรื่องสั้นมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด ในฐานะนักเขียนเรื่องสั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า ขนาดความยาวของเรื่องสั้น ไม่ได้หมายถึงการใช้ทักษะที่มีน้อยลง
นักเขียนเรื่องสั้นเข้าใจสิ่งนี้เป็นอย่างดี…ความสามารถในการพรรณาถึงเรื่องราวต่างๆ ในเวลาอันสั้น อาจต้องการทักษะมากกว่าตอนที่เขียนนวนิยาย หรือหนังสือสารคดีทั้งเล่มเสียอีก
ตารางเปรียบเทียบจำนวนคำ
ประเภทการเขียน | จำนวนคำ | จำนวนหน้าในหนังสือ | ตัวอย่าง |
---|---|---|---|
เรื่องสั้น (Short story) | 100 – 15,000 | 24 | “The Gift of the Magi” โดย O. Henry |
นิยายขนาดสั้น (Novella) | 30,000 – 60,000 | 100 – 200 | “A Clockwork Orange” โดย Anthony Burgess |
นวนิยาย (Novel) | 60,000 – 100,000 | 200 – 350 | “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์” โดย JK Rowling |
นวนิยายมหากาพย์ (Epic Novel) | 120,00 – 220,000+ | 400 – 750+ | “Game of Thrones” โดย George R.R. Martin |
นักเขียนนวนิยายส่วนใหญ่เริ่มงานเขียนของพวกเขาด้วย เรื่องสั้น หรือ บทกวี ไม่ว่าจะเป็นเออร์เนส เฮมิงเวย์, จอห์น สไตน์เบค หรือนักเขียนไทยอย่าง ศรีบูรพา, ยาขอบ, อุษณา เพลิงธรรม ก็เริ่มจากการเขียนเรื่องสั้น ส่วนนักเขียนที่กลายเป็นนักเขียนเรื่องสั้น เช่น เรมอนด์ คาร์เวอร์, อลิซ มันโร นักเขียนไทยเช่น มนัส จรรย์ยงค์, กนกพงศ์ สงสมพันธ์
ทำไมเราต้องหาคำตอบว่า เรื่องสั้นคืออะไร คำถามนี้อาจรบกวนใจจิตใจทั้งผู้เริ่มเขียนหนังสือ รวมถึงผู้อ่านหน้าใหม่ บางครั้งการเรียนรู้ในเรื่องประเภทงานวรรณกรรมก็มีความวุ่นวายพอสมควร แต่ก็ทำให้คุณสามารถแยกแยะงานแต่ละประเภทได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณเขียนหนังสือ คุณก็จะมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่ากำลังทำอะไรอยู่ หรือถ้าเป็นผู้อ่าน ก็สามารถเข้าใจจุดประสงค์ของเรื่องนั้นๆ ได้รวดเร็วขึ้น หรือกระจ่างขึ้น
เรื่องสั้นคืออะไร มีอะไรบ้าง
เรื่องสั้นมีอยู่ในทุกประเภทงานเขียน: แอ็คชั่น, ผจญภัย, ชีวประวัติ, ตลก, อาชญากรรม, นักสืบ, ละคร, ดิสโทเปีย, นิทาน, แฟนตาซี, ประวัติศาสตร์, สยองขวัญ, ลึกลับ, ปรัชญา, การเมือง, โรแมนติก, เสียดสี, วิทยาศาสตร์, เหนือธรรมชาติ, เขย่าขวัญ, โศกนาฏกรรม และคาวบอยตะวันตก ต่อไปนี้คือประเภทเรื่องสั้นยอดนิยม รูปแบบวรรณกรรมในแบบต่างๆ บางครั้งเรื่องสั้นหนึ่งเรื่องอาจจะจักอยู่ในหลายประเภท โดยไม่เจาะจงว่าอยู่ในหมวดไหนประเภทไหน:
- นิทาน (Fable) : นิทานเชิงคุณธรรมที่ให้บทเรียนศีลธรรม มักใช้สัตว์ สัตว์ในตำนาน พลังแห่งธรรมชาติ หรือใช้วัตถุที่ไม่มีชีวิตแต่งให้มีชีวิตขึ้นมา (พี่น้องกริมม์, อีสป)
- แฟลชฟิกชัน (Flash Fiction): เนื้อเรื่องมีขนาดระหว่าง 5 ถึง 2,000 คำ ตัวเรื่องจะปราศจากโครงสร้าง ไม่ใช้โครงเรื่องแบบดั้งเดิม การพัฒนาตัวละครน้อยมาก ตัวเรื่องมีลักษณะเฉพาะในการนำเสนอ มักจะจบด้วยความประหลาดใจ หรือโชคชะตาพลิกผัน (ลิเดีย เดวิส)
- Vignette: การบรรยายฉากในช่วงเวลาที่กำหนด ไม่มีโครงเรื่อง หรือการเล่าเรื่องที่สมบูรณ์ แต่เผยให้เห็นรายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับตัวละครหรือความคิด (Sandra Cisneros)
- สมัยใหม่ (Modernism): เรื่องสั้นทดลอง เป็นการทดลองกับรูปแบบการเล่าเรื่อง ท่วงทำนองดำเนินเรื่อง และเหตุการณ์ บทพูดเกิดขึ้นภายในตัวเอง หรือ กระแสสำนึก–stream of consciousness เป็นงานเขียนที่เล่าประสบการณ์ส่วนตัว (เจมส์ จอยซ์, เวอร์จิเนีย วูล์ฟ)
- หลังสมัยใหม่ (Postmodernism): แยกย่อยโครงสร้างของเรื่อง ใช้ความความขัดแย้งในตัวบท ผู้บรรยายในเรื่องกับนักเขียนมีความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกัน รวมถึงผู้อ่าน และตัวโครงสร้าง (Donald Barthelme, Jorge Luis Borges)
- สัจจะนิยมมหัศจรรย์ (Magical realism): ผสมผสานการเล่าเรื่อง หรือฉากที่สมจริงเข้ากับองค์ประกอบของจินตนาการ ความฝัน หรือความบิดเบี้ยวไม่สมมาตรต่อความจริง (Gabriel García Márquez)
- Minimalism: การเขียนมีลักษณะกระชับ ภาษาตรงไปตรงมา ไม่ใส่รายละเอียดของโครงเรื่อง (Raymond Carver, Amy Hempel)
ตัวอย่าง เรื่องสั้นประเภทต่างๆ
ในงานเรื่องสั้น แม้ว่าผู้เขียนจะยึดทฤษฏีการเขียน เขียนตามหลักการ แต่นักเขียนก็มิได้ยึดติดกับทฤษฏีทุกกระเบียดนิ้ว เรื่องสั้นที่ดีหลายเรื่องก็ไม่อาจนิยามได้ว่าจัดอยู่ในหมวดหมู่ไหน หรือประเภทใด บางเรื่องก็มิได้ใช้สถานการณ์เด่นสถานการณ์เดียว บางเรื่องมีความยาว มีความสั้น ต่างกัน บางเรื่องมีตัวละครเกินกว่าทฤษฏี บางครั้งในหนึ่งเรื่องอาจจะผสมผสานวิธีการเล่าหลายแบบ การจัดหมวดหมู่มีขึ้นก็เพื่อให้การศึกษาวรรณกรรมง่ายขึ้น มิใช่หยุดยั้งให้เกิดการสร้างสสรรค์ใหม่
เพื่อเป็นแนวทาง เรามาดูกันว่าตัวอย่างประเภทเรื่องสั้นมีอะไรกันบ้าง

เรื่องสั้นแบบคลาสสิก
รูปแบบเรื่องสั้นคลาสสิก เป็นเนื้อแท้ เป็นต้นธารของเรื่องสั้นในทุกรูปแบบ ที่เห็นได้ชัดคือความกระชับของเนื้อห้า โดยมีองค์ประกอบของนิยายอยู่ครบถ้วน เรื่องสั้นคลาสสิกดำเนินเรื่องคล้ายคลึงนิยาย มีจุดเริ่มต้น มีการเล่าเรื่องตั้งแต่ตอนแรกไปจนถึงตอนจบ เน้นจุดสำคัญของเหตุการณ์ หรือการขมวดปม (climax) และแสดงให้เห็นถึงผลลัพท์ในสถานการณ์ของโครงเรื่อง
เรื่องสั้นแบบคลาสสิกแตกต่างจากงานร้อยแก้วอื่นๆ เรื่องสั้นมีตัวละครไม่กี่ตัว ส่วนใหญ่ 1-5 ตัวละคร มุมมองของเรื่องมีไม่มาก ขณะเดียวกันจุดไคลแมกซ์ยังดำเนินไปจนสุดเช่นเดียวกับนิยาย ทว่าถูกตัดทอนให้สั้นกระชับ และส่งผลกระทบที่น่าตื่นตะลึง จนไปถึงน่าจดจำสำหรับคนอ่าน
ตัวอย่างที่ 1: “แอนนาผู้ซัดเซียว” โดย ไฮริช เบิล
ชายหนุ่มกลับจากสงครามล่าช้ากว่าคนอื่น พบว่าบ้านเกิดเมืองนอนที่จากมาเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ที่นั่นไม่เหลือความทรงจำอะไรอีกต่อไป แม้แต่คนที่รู้จักก่อนไปสงคราม โชคดีที่พ่อแม่ยังทิ้งเงินให้เขาไว้บ้าง ทำให้เขาไม่ต้องกลับไปหางานทำ แต่ถึงอย่างไรเขาก็มีอาการซึมเศร้า ไม่อยากออกไปไหน หมกตัวอยู่ในห้องเช่ามืดๆ โดยให้ยายเจ้าของบ้านทำอาหารมาส่งในห้อง
เรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าเรื่องตามขนบคลาสสิก เริ่มจากการกลับบ้านหลังสงคราม ชีวิตที่ไร้จุดหมาย และต้องทนทุกข์โดดเดี่ยวลำพัง เมื่อเขาได้เห็นภาพถ่ายของยายเจ้าของห้องเช่า มีภาพหนึ่งเขาสนใจพิเศษที่ต้องจ้องมองนานๆ ทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาดู มันคือภาพถ่ายลูกชายเจ้าของบ้าน ฉากหลังเป็นภาพเด็กสาวคนหนึ่ง หน้าตาสวย ผิวขาวซีด ดวงตาเรียว เขารู้จักเธอก่อนไปสงคราม โดยพบเธอนั่งอยู่บนรถรางสายเก้าเสมอ ซึ่งต่อมายายเล่าว่าเธอคือคู่หมั้นของลูกชาย และอยู่ห้องข้างๆ
แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือเธอเสียโฉมจากการก่อวินาศกรรมของทหารฝ่ายตรงข้าม ใครๆ ก็เรียกเธอว่าแอนนาผู้ซีดเซียว แต่นั่นก็ไม่ทำให้ตัวเอกไม่อยากพบเธอ เพราะเธอคือคนเดียวที่เขาอาจรู้จักแบบห่างๆ ก่อนไปสงคราม และฝันถึงเสมอในสมรภูมิ
“แอนนาผู้ซีดเซียว” จบลงได้อย่างน่าประทับใจสำหรับชายที่กลับจากสงคราม และเด็กสาวที่ได้รับผลกระทบ แน่นอนว่าถ้าเรื่องนี้เป็นนิยายมันก็เข้มข้นไม่ต่างกัน แต่ขณะเดียวกันเมื่อเป็นเรื่องสั้น มันทำให้คุณสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องในการอ่านเพียงยี่สิบถึงสามสิบนาที เพราะเนื้อหาได้ถูกอัดแน่นลงไปในเรื่องอย่างสมบูรณ์

เรื่องสั้นแบบ Vignette
ถ้าเป็นศัพท์ทางภาพถ่าย Vignette มักใช้กับภาพถ่ายบุคคล หรือภาพถ่ายทิวทัศน์ โดยช่างแต่งภาพจะเน้น subject ด้วยการเบิร์นขอบรูปให้เป็นสีดำ หรือสีขาว เพื่อเน้นให้องค์กอบหลักโดดเด่น ในทางวรรณกรรม มีความหมายว่า “การพรรณาเหตุการณ์ บันทึก หรือฉาก อย่างรวบรัด” นั่นหมายถึง ตัวละคร เหตุการณ์ หรือสถานที่ ถูกขับเน้นเป็นพิเศษ
เรื่องสั้นแบบนี้อาจจะเรียกว่า เรื่องสั้นๆ ก็ได้ เพราะตัวพล็อตจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เน้นหนักไปที่โครงสร้างเรื่อง และอาจจะพบการบรรยายต่างๆ ที่ต่างออกไปจากเดิม โดยมีการสอดใส่สัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับธีมหลักลงไปด้วย
ตัวอย่างที่ 2 “ช่องมองภาพ” โดย เรย์มอนด์ คาร์เวอร์
ถ้าจะให้เล่าพล็อตเรื่อง “ช่องมองภาพ” ของ เรมอนด์ คาร์เวอร์ เริ่มเรื่องโดยช่างภาพแขนด้วนมือติดตะขอ มาขายภาพถ่ายบ้านให้กับตัวเอกที่เป็นผู้เล่าเรื่องด้วยบุคคลที่ 1 เจ้าของบ้านได้เชิญช่างภาพเข้าไปดื่มกาแฟ เรื่องสั้นดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาโต้ตอบกันระหว่างชายสองคนที่มีเบื้องหลังคือความโดดเดี่ยว คาร์เวอร์บรรยายโดยไม่สอดใส่รายละเอียด เขาให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าภูมิหลังชีวิตของตัวละครทั้งสอง หรือถ้ามีก็เป็นเพียงบทสนทนาสั้นๆ ที่ปราศจากรายละเอียด
นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนเสนอว่า คาร์เวอร์เป็นนักเขียนที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการเขียนถึงชนชั้นแรงงานในอเมริกา เรื่องราวของเขาเล่าถึงประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ตัวละครชายหญิงแถบมิดเวสต์ที่ต้องหาเลี้ยงชีพ ตกปลา เล่นไพ่ และสัมผัสสายลมที่พัดผ่านเข้ามาในชีวิต เรื่องสั้นของคาร์เวอร์จึงมีความต่างจากนักเขียนอเมริกันคนอื่น บางทีงานของคาร์เวอร์ก็ทำให้นึกถึงภาพวาดของ Edward Hopper ศิลปินนักวาดภาพชาวอเมริกัน

เรื่องสั้นแบบ Fable
เทพนิยายกริมม์ และนิทานอีสป เป็นต้นแบบของเรื่องสั้นแนวนี้ เรื่องสั้นแบบ Fable อาศัยเสียงเล่า เหมือนเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง เรื่องสั้นแนวนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะเล่าเรื่องได้รวดเร็ว รวบรัด มีอารมณ์ขัน และใช้จังหวะของเรื่องในแบบสั้นๆ
เรื่องเล่าสั้นๆ แบบนี้ บางครั้งใช้บทสนทนาดำเนินเรื่อง บางครั้งก็มีลักษณะซับซ้อน บางครั้งเล่าเรื่องแบบตรงๆ อาจจะมีโครงเรื่องแบบคลาสสิก หรือเน้นเล่าเหตุการณ์โดยใช้โวหาร อย่างไรก็ตามวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ถือเป็นพื้นฐานของงานเขียนเรื่องสั้น และการดำเนินเรื่องไปข้างหน้ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างที่ 3: “เมืองที่มองไม่เห็น” โดย อิตาโล คัลวีโน
โดยนัยแล้ว “เมืองที่มองไม่เห็น” เป็นนิยาย แต่ถ้าคุณลองชำแหละมันออกมาเป็นชั้นๆ ในแต่ละบทมันเป็น Fable จำนวนหลายๆ เรื่องเรียงร้อยเข้าด้วยกัน เรื่องสั้นๆ เหล่านั้นเข้ามารวมกันในหนังสือหนึ่งเล่ม โดยมีคอนเซ็ปต์เรื่องเมืองต่างๆ ที่มาร์โค โปโล ไปเยือนแล้วเล่าให้กุบไล ข่าน ฟัง มันคล้ายๆ 1001 ราตรี ที่นำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าแบบนิทาน เล่าต่อเนื่องจนกลายเป็นภาพขนาดใหญ่ จนผู้อ่านสามารถจินตนาการได้

เรื่องสั้นแนวทดลอง Modernism
โดยธรรมชาติ เรื่องสั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่านิยาย หมายความว่า “เรื่องสั้น” เปิดโอกาสให้เล่นกับพล็อตต่างๆ ได้ไม่จำกัด เรื่องสั้นจึงกลายเป็นเครื่องมือชั้นดีที่นักเขียนสามารถสอดใส่แนวคิดใหม่ๆ เข้าไปเสมอ หรือทดลองเขียนในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เรื่องสั้นจึงเป็นเหมือนสิ่งที่สามารถท้าทายทั้งคนเขียน และคนอ่าน ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ ขณะเดียวกัน “เรื่องสั้น” ยังมีลู่ทางให้ผู้เขียนทดลองกับการเล่าเรื่องได้หลากหลาย ทั้งรูปแบบ ทั้งเนื้อหา โดยไม่ต้องอยู่กับกรอบเดิมๆ
ในหลายๆ ครั้ง การทดลองไม่ใช่แค่การคิดหารูปแบบใหม่ๆ เพียงอย่างเดียว ในทางกลับกัน บางคนอาจจะค้นพบการหักมุมจบแบบคลาสสิก บางคนอาจจะใช้วิธีการแอนตี้ไคลแมกซ์ บางคนอาจจะใช้วิธีแบ่งสองเหตุการณ์ดำเนินเคียงข้างกันไปตลอดเรื่อง นั่นคือเรื่องสั้นแนวทดลอง แน่นอนมันเป็นการเดิมพันที่ต่ำ แต่ถ้าคุณทำสำเร็จ ผลลัพท์ของมันก็ยอดเยี่ยมเสมอ
ตัวอย่างที่ 4: “คนดีหายาก” โดยแฟลนเนอรี โอคอนเนอร์
เรื่องสั้นเรื่องนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วแวดวงวรรณกรรมของอเมริกา เมื่อตีพิมพ์ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1953 เรื่องราวของครอบครัวชาวใต้ เดินทางกลับไปเยี่ยมย่า และจบลงด้วยอุบัติเหตุรถชน ซึ่งเกิดจากฝีมือของกลุ่มชายแปลกหน้าลึกลับ แน่นอนว่าเราไม่ควรเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของเรื่อง แต่คำเตือนคือ อย่าคาดหวังว่าตอนจบจะจบอย่างมีความสุข
เรื่องสั้น “คนดีหายาก” เป็นเรื่องสั้นในแนวโกธิกภาคใต้ของอเมริกา ซึ่งฉายภาพทางศาสนา ตัวละครมีข้อบกพร่อง เต็มไปด้วยความปั่นป่วน ประหลาด บางทีอาจจะเกี่ยวข้องกับลัทธิ–ศาสนา ฉากเต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ถูกทอดทิ้ง สถานการณ์ขับเคลื่อนด้วยความพิลึก ลึกลับ โดยเฉพาะเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเกิดจากความยากจนข้นแค้น ความแปลกแยก อาชญากรรม และความรุนแรง
ตัวละครพบกับความตายที่น่าสยดสยอง ฉากสุดท้ายที่มีการโต้เถียงกัน ทำให้เห็นได้ชัดเจนถึงรายละเอียดที่น่าสยดสยอง ทำให้ผู้อ่านตกตะลึง แม้ปัจจุบันเรื่องสั้นแนวนี้ได้กลายเป็นมาตฐานไปแล้ว แต่ถ้าย้อนกลับไปเวลานั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องสั้นแนวทดลองที่ใช้งานได้ผลกับคนอ่านไม่น้อย
บทสรุป: เรื่องสั้นคืออะไร
มาถึงบรรทัดสุดท้ายอีกครั้ง อย่างที่คุณอ่านมาทั้งหมด เรื่องสั้นเป็นรูปแบบศิลปะที่ต้องอาศัยความคล่องตัว ความจัดเจน ความแม่นยำ ความชำนาญ และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงวิธีการสร้างผลงานในรูปแบบต่างๆ ขนาดของมันจึงไม่ได้ทำให้คุณต้องลดทักษะฝีมือลงเลย บางทีอาจจะเขียนได้ยากกว่านิยายเสียอีก สิ่งเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่มองไม่เห็น สำหรับงานสร้างสรรค์ที่ทรงคุณค่า หากคุณรู้สึกว่าพร้อมแล้วสำหรับการเขียนเรื่องสั้นของคุณเอง ไปที่โพสต์ถัดไปใน ซีรีส์ Writing กันเลย
เราจะมาดูว่าคุณจะเริ่มเขียนเรื่องสั้นได้อย่างไร