เมื่อพูดถึงคำว่า แฟนตาซี แน่นอนว่าทุกคนย่อมนึกถึงโลกที่เต็มไปด้วยเวทมนตร์ สัตว์วิเศษ นางฟ้า แม่มด และผู้กล้า ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนล้วนคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เยาว์วัยไม่ว่าจะเป็นจากการ์ตูน นิทาน เรื่องเล่าปรัมปรา แต่หารู้ไม่ว่าแฟนตาซีที่ทุกคนรู้จักได้มีการแบ่งย่อยอีกเป็นหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นก็คือ แฟนตาซียุคกลาง นั่นเอง บทความนี้จึงขอพาผู้อ่านทุกคนมาทำความรู้จัก ว่ามันคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง จากนั้นจึงขอยกตัวอย่าง 5 นวนิยายแฟนตาซียุคกลาง ยอดฮิตที่ต้องรู้จัก โดยผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากทำความรู้จักหรือลองเขียนเรื่องราวเหนือจินตนาการที่อยู่ใน ยุคกลาง ไม่มากก็น้อย ถ้าพร้อมแล้วก็มาเริ่มกันเลย
แฟนตาซียุคกลาง คืออะไร
แฟนตาซียุคกลาง หรือ Medieval Fantasy เป็นหนึ่งในประเภทย่อยของแฟนตาซีที่ได้รับอิทธิพลมาจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในช่วงยุคกลางของยุโรป ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘ยุคมืด’ (ค.ศ. 476-1453) โดยนักเขียนวรรณกรรมประเภทนี้มักจะดึงเอาตำนานจากประวัติศาสตร์หรือนิทานปรัมปราจากในยุคนี้มาเป็นแรงบันดาลใจ แล้วใส่จินตนาการความเหนือธรรมชาติลงไปในเนื้อเรื่อง จึงเกิดเป็นประเภทของวรรณกรรมดังกล่าวนั่นเอง
องค์ประกอบสำคัญในวรรณกรรมประเภท แฟนตาซียุคกลาง
อย่างที่รู้กันว่าแฟนตาซีนั้นสามารถแตกแยกย่อยได้อีกเป็นหลากหลายประเภท แต่องค์ประกอบที่ทำให้วรรณกรรมถูกจัดอยู่ในประเภทแฟนตาซียุคกลางนั้นก็คงหนีไม่พ้น ความเป็นแฟนตาซี และ ความเป็นยุคกลาง ที่ต้องผสมอยู่ในเนื้อเรื่อง ซึ่งทั้งสององค์ประกอบนี้มีลักษณะอย่างไร ลองมาดูกัน
1. แฟนตาซี
องค์ประกอบแรกที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือความเป็นแฟนตาซี เช่น เวทมนตร์ คาถา การเล่นแร่แปรธาตุ รวมทั้งสิ่งเหนือธรรมชาติต่าง ๆ นักเขียนสามารถเลือกได้ว่าจะอ้างอิงมาจากประวัติศาสตร์ ตำนานที่เกิดขึ้นจริง หรือจะสร้างขึ้นมาใหม่จากไอเดียของตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดนั่นก็คือบทบาทและความสมเหตุสมผลที่ผู้อ่านสามารถเข้าใจถึงที่มาที่ไปของมันได้
นักเขียนหลายคนมักได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยายของ J. R. R. Tolkien ผู้มีชื่อเสียงจากงานเขียนที่โด่งดังอย่าง The Lord of the Rings และ The Hobbit โทลคีนนั้นไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิดแฟนตาซีคนแรกของโลกก็จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาเป็นหนึ่งในเสาหลักแห่งการสร้างสรรค์ผลงานแฟนตาซี เพราะสิ่งที่เขาเขียนได้ปูทางไปสู่โลกแฟนตาซีแบบใหม่ที่แตกต่างจากเทพนิยายแบบดั้งเดิมของยุโรปอย่างมาก ตัวอย่างเช่น โลกสมมติ “มิดเดิลเอิร์ธ” ที่ถูกสร้างขึ้นมาก็เป็นมากกว่าจินตนาการที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเพราะโลกนี้มีทั้งประวัติศาสตร์ ภาษาที่ถูกสมมติขึ้น ความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์ และเรื่องราวที่ซับซ้อน ซึ่งนั่นก็เป็นการสร้างมิติความซับซ้อนและภาพจำให้แก่สิ่งมีชีวิตอย่างออร์ค เอลฟ์ ก็อบลิน คนแคระ ครึ่งเอลฟ์อีกด้วย
การสร้างแผนที่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในวรรณกรรมแฟนตาซียุคกลางที่มักมีเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักร โดยบางครั้งนักเขียนก็ออกแบบโลกสมมติของตนให้คล้ายคลึงกับโลกจริง ตัวอย่างเช่น มิดเดิลเอิร์ธในจักรวาลนวนิยายของโทลคีนก็อ้างอิงมาจากอังกฤษและเขตตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปอย่างชัดเจน
ดังนั้น สำหรับใครที่อยากลองเขียนนวนิยายแนวแฟนตาซียุคกลาง ผู้เขียนแนะนำว่าให้ลองอ่านงานเขียนของโทลคีลเพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจและอ้างอิงในการแต่งเรื่องราวของตนเองดู
2. ยุคกลาง
แน่นอนว่าในแฟนตาซียุคกลาง โลกของตัวละครต้องอยู่ในยุคกลางหรือเป็นโลกสมมติที่อ้างอิงมาจากยุคนี้ โดยสภาพสังคม และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในวรรณกรรมมักจะประกอบไปด้วย
- อิทธิพลของศาสนาคริสต์ที่คอยควบคุมความคิดของผู้คน
- การพิชิตภารกิจของเหล่าอัศวินซึ่งอ้างอิงมาจากตำนานกษัตริย์อาเธอร์
- การทำสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างราชวงศ์และความไม่สงบทางการเมือง
- การถูกบังคับแต่งงานด้วยเหตุผลเรื่องอำนาจ
- การปกครองในระบบฟิวดัลที่แบ่งผู้คนออกเป็น 4 ชนชั้นคือ ทาสติดที่ดิน เสรีชน ชนชั้นปกครองหรือขุนนางเจ้าของที่ดิน และกษัตริย์ หรือบางครั้งอาจจะถูกแบ่งเป็น 5 ชนชั้นได้โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาอยู่สูงกว่ากษัตริย์ ซึ่งทุกคนจะต้องเป็นข้ารับใช้ผู้ที่อยู่เหนือกว่าตนเสมอ
- ชนชั้นทั่วไปมักจะมีอาชีพทำนา เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ บ้างก็เป็นช่างเหล็ก ช่างไม้ หรือช่างทอผ้า ซึ่งจะอาศัยอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ
- ชนชั้นสูงมักจะมีอาชีพเป็นขุนนาง อัศวิน หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ และอาศัยอยู่ในคฤหาสถ์
นอกจากนี้ นักเขียนยังสามารถนำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงในยุคกลางมาดัดแปลงในงานเขียนของตนได้ด้วย ตัวอย่างเช่น สงครามที่เกิดชึ้นในวรรณกรรมเรื่อง A Song of Ice and Fire ก็ได้รับแรงบันดาลใจจาก สงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses) สงครามชิงบัลลังก์ระหว่างตระกูล ‘แลงคาสเตอร์’ กับ ‘ยอร์ก’ ในช่วงศตวรรษที่ 15 ของประเทศอังกฤษ ดังนั้น นักเขียนที่ต้องการจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับแฟนตาซียุคกลาง ก็ควรมีความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมและประวัติศาสตร์ของยุคกลางพอสมควร
องค์ประกอบทั้งสองที่ได้กล่าวมานั้นถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่จะสรรค์สร้างโลกในวรรณกรรมแฟนตาซี เพราะในยุคกลางยังไม่มีเทคโนโลยีเหมือนสมัยนี้ อาวุธที่ใช้ในสมัยนั้นส่วนใหญ่ก็มีแค่ดาบ หอก และโล่ อีกทั้งการสั่งสอนทางศาสนาในสมัยนั้นก็มีการพูดถึงความหวาดกลัวต่อวิญญาณ ปีศาจ รวมถึงภัยพิบัติที่ส่งไปลงโทษคนบาป ทำให้นักเขียนสามารถใส่ความเป็นแฟนตาซีเวทมนตร์คาถาได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาไม่จำเป็นต้องปรากฏอยู่ในเรื่องทั้งหมดและสามารถดัดแปลงไปตามจินตนาการของนักเขียนแต่ละคน
ตัวอย่างนวนิยายยอดฮิตที่อยู่ในประเภท แฟนตาซียุคกลาง
สำหรับผู้อ่านที่อาจจะยังไม่เห็นภาพหรือต้องการข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติมสำหรับการเขียนวรรณกรรมแฟนตาซียุคกลาง ผู้เขียนก็ได้ทำการรวบรวม 5 นวนิยายที่สะท้อนความเป็นแฟนตาซียุคกลางได้อย่างดีเยี่ยมมาให้ได้อ่านกัน
1. The King Arthur Trilogy
ผู้แต่ง: Rosemary Sutcliff
วรรณกรรมแฟนตาซียุคกลางเรื่องแรกที่จะขาดไปไม่ได้เลยคือ The Legends of King Arthur หรือ ตำนานกษัตริย์อาเธอร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวยอดฮิตที่ไม่ว่าใครก็ต้องคุ้นหูกันบ้างกับหลาย ๆ ชื่อ เช่น ดาบเอกซ์แคลิเบอร์ พ่อมดเมอร์ลิน มอร์เดร็ดอัศวินจอมทรยศ และเรื่องราวของอัศวินโต๊ะกลม อาเธอร์นั้นจริง ๆ แล้วเป็นราชาของอังกฤษผู้มีชื่อเสียงในฐานะวีรบุรุษของช่วงยุคกลางที่ได้ปกป้องเกาะบริเตนจากการรุกรานของชาวแซกซัน โดยวีรกรรมของท่านมักถูกนำมาเล่าเป็นตำนานพื้นบ้านจนต่อมาก็กลายเป็นแก่นของวรรณกรรมยุคกลางส่วนใหญ่ในที่สุด
ตำนานกษัตริย์อาเธอร์ได้ถูกนำมาแต่งเป็นวรรณกรรมมากมาย แต่เวอร์ชันที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำคือ The King Arthur Trilogy ที่แต่งโดย Rosemary Sutcliff โดยนวนิยายไตรภาคนี้จะเล่าถึงช่วงชีวิตของอาเธอร์ตั้งแต่วันประสูติจนถึงช่วงวินาทีสุดท้ายของชีวิต รวมถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เต็มไปด้วยความลึกลับและแฟนตาซีอย่างการตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ เรื่องราวของเซอร์แลนสล็อตกับเอเลน เซอร์กาเวนกับอัศวินสีเขียว ทริสทันกับอีซ็อลเดอ ผู้ซึ่งเป็นสหายของกษัตริย์อาเธอร์ ดังนั้น หากใครสนใจเขียนเรื่องราวแฟนตาซียุคกลางแบบดั้งเดิมที่มีฉากอยู่ในโลกจริงอย่างบริเตน รวมทั้งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการทำภารกิจของอัศวินแล้ว The King Arthur Trilogy ก็เป็นอีกหนึ่งวรรณกรรมที่สามารถนำมาอ่านอ้างอิงได้
2. The Farseer Trilogy
ผู้แต่ง: Robin Hobb
The Farseer Trilogy เป็นนวนิยายไตรภาคประกอบไปด้วย Assassin’s Apprentice, Royal Assassin และ Assassin’s Quest โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ฟลิซชิวัลรี ฟาร์เซียร์” ลูกนอกสมรสของเจ้าชาย ผู้ถูกเลี้ยงดูโดยคุณปู่ของเขาเพื่อฝึกให้กลายเป็นนักฆ่าของราชวงศ์ ผู้อ่านจะได้ติดตามการเติบโตของฟลิซตั้งแต่ในวัยเยาว์ที่ต้องรับมือกับเรื่องในพระราชสำนักและการเมือง ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้เรื่องของการเป็นนักฆ่าไปด้วย จุดเด่นของ The Farseer Trilogy คือเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยตัวละครที่มีมิติ มีความซับซ้อนและจุดบกพร่องในตัวเอง อีกทั้งการได้ค่อย ๆ เฝ้ามองการเจริญเติบโตของตัวละครเอกซึ่งจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกอินราวกับว่าตัวเองได้เติบโตควบคู่ไปกับตัวละครนั้น
The Farseer Trilogy อาจจะถูกเรียกว่าเป็นแฟนตาซีระดับสูง (Epic Fantasy) ซึ่งเป็นอีกประเภทย่อยของแฟนตาซีที่โลกในเนื้อเรื่องนั้นถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดโดยไม่ได้อ้างอิงมาจากยุคไหนเลย แต่เนื่องจากภายในเรื่องก็ยังมีการแสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมอันโหดร้ายและความเจ็บปวดของประชาชนในยุคกลาง ดังนั้นนวนิยายเรื่องนี้จึงสามารถจัดอยู่ในหมวดหมู่แฟนตาซียุคกลางได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในนวนิยายมีการพูดถึงพลังวิเศษและอมนุษย์มากมาย ตัวอย่างเช่น ฟลิซผู้เป็นตัวเอกของเรื่องสามารถใช้เวทมนตร์เพื่อสื่อสารกับสัตว์ได้ ถ้าใครสนใจเขียนวรรณกรรมแฟนตาซีแนว Coming of age ที่ตัวละครค่อย ๆ เติบโตไปตามเนื้อเรื่องพร้อมกลิ่นอายของยุคกลาง นวนิยายไตรภาคนี้จัดว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจมาก
3. The Witcher
ผู้แต่ง: Andrzej Sapkowski
อีกหนึ่งวรรณกรรมที่ใส่กลิ่นอายของแฟนตาซียุคกลางไว้มากมายนั่นก็คือ The Witcher ชุดนวนิยายแฟนตาซีจำนวน 6 เล่มกับรวมเรื่องสั้นอีก 2 เล่ม โดยเนื้อเรื่องจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางแห่งโชคชะตาของวิทเชอร์ “เกรอลท์แห่งริเวีย” มนุษย์กลายพันธุ์ผู้รับจ้างล่าอสูรให้แก่มนุษย์เพื่อแลกกับเงิน “เยนเนเฟอร์แห่งเวนเกอร์เบิร์ก” จอมเวทหญิงผู้กล้าแกร่งซึ่งถูกผูกชะตาไว้กับเกรอลท์ และ “ซิริ” เจ้าหญิงเจ้าของสายเลือดลึกลับโบราณที่กำลังหนีจากการตามล่า ในส่วนของเรื่องสั้นจะโฟกัสชีวิตของเกรอลท์ ตัวเอกของเรื่องเสียส่วนใหญ่ ในขณะเนื้อเรื่องหลักจะมีเนื้อหาเข้มข้นมากขึ้นเพราะเน้นเรื่องของการเมืองและถูกตามล่าของเหล่าตัวเอก
Andrzej Sapkowski ได้นำตำนานของชาวสลาฟมาใช้ในการสร้างสัตว์ประหลาดภายในเรื่อง ซึ่งนั่นก็ถือเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของ The Witcher ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ภายในเรื่องก็ยังคงมีตัวละครแฟนตาซีอีกมากมาย เช่น กวี อัศวิน คนแคระ เอลฟ์ และมังกร ในส่วนของความเป็นยุคกลางก็มีเรื่องของการเมืองกับการแย่งชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์ของแต่ละอาณาจักรที่สร้างความลำบากให้แก่เหล่าตัวเอกตลอดทั้งเรื่อง ยิ่งไปกว่านั้น The Witcher ยังมีเรื่องของโรแมนซ์ มิตรภาพลูกผู้ชาย ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวแม้จะไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน โศกนาฏกรรมเคล้าน้ำตา อารมณ์ขันคลายความตึงเครียด และการต่อสู้ไล่ล่าสุดระทึกอีกด้วย เรียกได้ว่าถ้าใครสนใจเขียนเรื่องราวที่มีกลิ่นอายของการออกล่าสัตว์ประหลาดทั้งยังสนุกครบรสในด้านเนื้อเรื่อง The Witcher ก็เป็นนวนิยายที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาอ่านเป็นแรงบันดาลใจ
4. A Song of Ice and Fire
ผู้แต่ง: George R. R. Martin
มาถึงนวนิยายที่เชื่อว่าทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี A Song of Ice and Fire หรือที่รู้จักกันในชื่อ Game of Thrones เป็นซีรีส์นวนิยายที่มีแพลนจะออกทั้งหมด 7 เล่ม โดยปัจจุบันออกมาแล้ว 5 เล่ม ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้นจะเกี่ยวกับสงครามระหว่างราชวงศ์หลายตระกูลเพื่อชิงบัลลังก์ปกครองทวีปเวสเทอรอส และเรื่องราวฝั่งของ “แดเนริส ทาร์แกเรียน” พระราชธิดาผู้ถูกเนรเทศที่กำลังจะเสด็จกลับมาอ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์อันชอบธรรมพร้อมด้วยมังกร นอกจากนี้ยังมีภัยคุกคามจากภูติเหมันต์ “ไวท์วอล์คเกอร์” ซึ่งอาศัยอยู่พ้นกำแพงน้ำแข็งมหึมาทางพรมแดนทิศเหนืออีกด้วย
A Song of Ice and Fire ได้รับการยกย่องทั้งในด้านความสมจริง กลยุทธ์ เล่ห์กลในการเล่นการเมือง เนื้อเรื่องที่มีความหักมุม การนำเสนอความซับซ้อนของตัวละครที่มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ทำให้ผู้อ่านต้องพลิกหน้ากระดาษอ่านต่อไปเรื่อย ๆ เพราะตื่นเต้นกับการกระทำของตัวละครที่คาดเดาไม่ได้ อีกทั้งการแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นสามมุมมองหลัก ๆ ก็ยังเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้ เครียดกับการวางแผนชิงอำนาจของแต่ละตระกูลเสร็จ ก็ต้องไปเอาใจช่วยตัวเอกทางฝั่งเหนือที่ต้องออกไปผจญโลกสุดอันตราย แล้วก็ยังต้องมาลุ้นอีกว่าแม่มังกรอย่างแดเนริสจะกลับมาชิงบัลลังก์ของตนอย่างไร รับรองว่าผู้อ่านจะไม่มีทางเบื่ออย่างแน่นอน สำหรับใครที่ชอบเรื่องราวเน้นเหลี่ยมทางการเมืองมากกว่าแฟนตาซี A Song of Ice and Fire ก็ถือเป็นนวนิยายที่เหมาะสมที่จะนำมาศึกษาอ้างอิงอย่างมาก
5. Fire & Blood
ผู้แต่ง: George R. R. Martin
มาถึงเรื่องสุดท้ายนั่นก็คือ Fire & Blood หรืออาจจะรู้จักกันในชื่อ House of the Dragon ซึ่งเป็นนวนิยายภาคเสริมที่เป็นเนื้อเรื่องก่อนเหตุการณ์ในมหากาพย์อย่าง A Song of Ice and Fire ประมาณ 300 ปี โดยจะเล่าตั้งแต่เมื่อเอกอนที่หนึ่งทำการพิชิตอาณาจักรทั้งเจ็ดของทวีปเวสเทอรอสไปจนถึงช่วงล่มสลายของตระกูลทาร์แกเรียน นวนิยายเรื่องนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์และการเล่าเรื่องคล้ายกับการได้อ่านพงศาวดาร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้อ่านหน้าใหม่จะสนุกกับมันไม่ได้ เพราะ George R. R. Martin ยังคงเนื้อเรื่องที่มีทั้งความตื่นเต้นและการหักมุม รวมถึงการแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมืองเอาไว้จนนักอ่านจะต้องสนุกกระทั่งวางหนังสือไม่ลงอย่างแน่นอน
ในส่วนของความเป็นแฟนตาซียุคกลาง แน่นอนว่า Fire & Blood มีลักษณะคล้ายกับ A Song of Ice and Fire ที่โฟกัสไปที่เรื่องการเมืองมากกว่าความเป็นแฟนตาซี แต่ในนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของตระกูลทาร์แกเรียนที่มีมังกรเป็นสัตว์ประจำตระกูล ทำให้ผู้อ่านจะได้เห็นเจ้าสัตว์วิเศษอันทรงพลังนี้โลดแล่นอยู่ในเนื้อเรื่องอย่างจุใจแน่นอน สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวการแย่งชิงบัลลังก์จากหลากหลายตระกูล Fire & Blood ก็เป็นอีกเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
โดยสรุปแล้ว แฟนตาซียุคกลางนั้นคือส่วนผสมระหว่างความสมจริงและจินตนาการ วรรณกรรมประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างอาณาจักรต่าง ๆ ความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงการทำภารกิจและการทำสงครามของเหล่าอัศวิน โดยจะมีการเพิ่มความเป็นแฟนตาซีลงไปในเนื้อเรื่องด้วย เช่น มีตัวละครเป็นผู้ใช้เวทมนตร์อย่างพ่อมดแม่มด รวมถึงสิ่งมีชีวิตหลากหลายพันธุ์ที่ไม่มีอยู่จริงอย่าง เอลฟ์ คนแคระ โทรล มังกร ซึ่งถ้าใครชอบเรื่องราวทำนองนี้แล้ว 5 นวนิยายยอดฮิตที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างไปก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
วรรณกรรมนั้นก็เหมือนประตูสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์และสภาพสังคมผ่านปลายปากกาของนักเขียน ดังนั้น ถ้าใครอยากลองอ่านหรือเขียนวรรณกรรมแฟนตาซีที่สอดแทรกวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีตเอาไว้ ก็ขอฝากวรรณกรรมประเภทแฟนตาซียุคกลางเอาไว้ในใจด้วยนะคะ
อ้างอิง
The Artifice: Medieval Fantasy
Dek-D: ชวนดู นิยายแฟนตาซี 17 แนวที่พบบ่อยเหลือเกิน
Jamestkelly: 8 Ways Tolkien Changed Modern Fantasy Forever
Rosemary Sutcliff: Review of Rosemary Sutcliff Arthurian Trilogy
Wikipedia: มหาศึกชิงบัลลังก์ (บันเทิงคดี)
Danny Yee’s Book Reviews: A Song of Ice and Fire
Colourmeread: Should You Read the Farseer Trilogy?
Ejstories: The Farseer Trilogy
Wikipedia: Fire & Blood (novel)
Grimdark Magazine: REVIEW: FIRE AND BLOOD BY GEORGE R.R MARTIN
WikiHow: How to Write a Medieval Fantasy Novel