ในยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือต่างๆ ได้เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตผ่านการให้บริการหนังสือออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับความนิยมของกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือนิยายและหนังสือการ์ตูนผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทว่ามีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีผู้สังเกตถึงโอกาสในการตีตลาดกลุ่มนักอ่านเช่นเดียวกัน นั่นคืออุตสาหกรรมเกม โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานจำพวกนิยายอินเตอร์แอ็คทีฟ หรือที่รู้จักกันว่า วิชวลโนเวล (Visual Novel) ซึ่งได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนที่ชอบเสพเรื่องราวหรือนิยายต่างๆ ในบทความนี้จะแนะนำผู้อ่านให้ได้รู้จักกับวิชวลโนเวลและต้นกำเนิดของเกมประเภทดังกล่าว รวมถึงแนะนำเกมที่น่าสนใจ อีกทั้งเว็บไซต์ที่เป็นผู้รองรับการเผยแพร่ของทีมผู้พัฒนาต่างๆ
Table of Contents
มาทำความรู้จักกับ วิชวลโนเวล กัน
วิชวลโนเวล เป็นวิดีโอเกมที่เป็นหมวดหมู่ย่อยของเกมประเภทเกมผจญภัย (Adventure game) โดยคำว่า “Visual novel” นั้นไม่มีคำนิยามที่ตายตัว แต่เกมประเภทดังกล่าวจะมีจุดเด่นที่การใช้ตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องที่มีความคล้ายคลึงกับงานเขียนประเภทนิยาย และเน้นการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครต่างๆ (Character development) โดยเนื้อเรื่องอาจมีจุดจบเดียวหรือมีจุดจบที่หลากหลายก็ได้
วิชวลโนเวลนั้นมีการใช้สื่อต่างๆ เข้ามาประกอบในการเล่าเนื้อเรื่อง ตัวอย่างเช่น รูปภาพตัวละครต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของตัวละครนั้นๆ รูปภาพฉากพื้นหลังประกอบเนื้อเรื่อง เสียงเอฟเฟกต์ และเสียงประกอบฉากให้อินไปกับตัวเกม เอฟเฟกต์แสดงผลต่างๆ ที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมและเพิ่มอิมแพ็คของเรื่องราวในนิยายให้กับผู้อ่านได้ รวมถึงการใช้เพลงและดนตรีประกอบขณะการอ่านที่สามารถกำหนดอารมณ์ของผู้อ่านและเพิ่มความลึกซึ้งให้กับเนื้อเรื่องได้ อีกทั้งหากเป็นเกมวิชวลโนเวลที่รับการพัฒนาโดยทีมผู้พัฒนาขนาดใหญ่อาจมีการใช้คัทซีนแอนิเมชั่น เสียงพากย์ หรือการซ่อนข้อความลับต่างๆ ทั้งนอกและในตัวเกม เพื่อประกอบเนื้อเรื่องของวิชวลโนเวลนั้นๆ อีกด้วย
จุดกำเนิดของ วิชวลโนเวล มาจากไหน
ต้นกำเนิดของเกมตระกูลวิชวลโนเวลในปัจจุบันนั้นอาจเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนอาจคาดไม่ถึงหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน ซึ่งรากฐานของวิชวลโนเวลนั้นคือเกมประเภท “เอโรเก” (エロゲー หรือ erogē โดยย่อมาจากคำว่า Eroi Game) ที่มีเนื้อหาทางเพศและมีตัวเลือกเพื่อดำเนินเกมต่อไป มีความคล้ายคลึงเหมือนกับเกมวิชวลโนเวล แต่เกมเอโรเกโดยพื้นฐานนั้นไม่คำนึงถึงเรื่องราวของเกม และจะเน้นไปยังผลที่ตามมาจากตัวเลือกที่ผู้เล่นได้เลือกไป โดยเกมแรกของประเภทเกมดังกล่าวมีชื่อว่า “Lolita: Yakyūken” ตัวเกมได้เริ่มเผยแพร่ขึ้นโดยบริษัท PSK ที่ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2525
แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี ทางบริษัท Enix ปัจจุบันมักจะรู้จักกันในนามของ Square Enix ได้เผยแพร่เกม “The Portopia Murder Case” หรือในชื่อภาษาไทย “คดีฆาตกรรมต่อเนื่องของพอร์โทเปีย” ซึ่งนับได้ว่าเป็นเกมเนื้อเรื่องที่บุกเบิกเกมในแนวผจญภัยเชิงสืบสวนสอบสวนไขปริศนาคดีฆาตรกรรมและเป็นเกมประเภทวิชวลโนเวลเกมแรกที่เกิดขึ้นในวงการนี้ อีกทั้งเนื้อหาของตัวเกมนั้นมีความแตกต่างจากประเภทของเกมเอโรเกที่เป็นรากฐากของเกมประเภทนี้อย่างชัดเจน โดยตัวเกมจะไม่มีเนื้อหาลามกอนาจาร และจะเน้นให้ความสำคัญกับตัวเลือกที่มีผลกับเนื้อเรื่องของตัวเกมที่จะตามมา ซึ่งองค์ประกอบของเกมนี้มีอิทธิพลต่อเกมเนื้อเรื่องและเกมวิชวลโนเวลต่างๆ ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
มาเริ่มค้นหา วิชวลโนเวล ที่น่าสนใจกัน
อุตสาหกรรมเกมนับได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตได้รวดเร็วมาก ๆ จนเกิดเว็บไซต์ร้านค้าเกมออนไลน์ที่เข้ามารองรับทีมพัฒนาเกมต่างๆ ขึ้นมากมายในปัจจุบัน ทั้งนี้ผู้เขียนมีเว็บไซต์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการค้นหาเกมวิชวลโนเวลมาแนะนำกัน
1. Steam
Steam นับได้ว่าเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มชั้นนำที่มีผู้ใช้กว่า 120 ล้านบัญชีทั่วโลก ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายวิดีโอเกมสำหรับ PC และเครื่องคอนโซลน้องใหม่สุดเอ็กส์คลูซีฟอย่าง Steam Deck เพื่อพูดคุยและแบ่งปันสิ่งที่เกิดขึ้นหรือพบเจอภายในเกม Steam Workshop สำหรับผู้ใช้งานทุกคนที่ชอบแบ่งปันผลงานการดัดแปลงและสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เป็นส่วนเสริมของเกม รวมถึงบริการ Online Streaming และ Cloud Storage ในชื่อ Steam Cloud ซึ่งเป็นฟีเจอร์สำหรับรองรับการอัปโหลดไฟล์จากวิดีโอเกมต่างๆ ได้อีกด้วย
ภาษาที่รองรับ: 28 ภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาไทยด้วย
ระบบปฏิบัติการที่รองรับ: WindowOS, macOS, Linux, iOS, Android, และ SteamOS
2. Epic Games
Epic Games ถือเป็นหนี่งในยักษ์ใหญ่แห่งวงการเกมที่เป็นผู้พัฒนาและจำหน่าย Unreal Engine 5 ซี่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้สร้างวิดีโอเกมที่เน้นภาพเสมือนจริงและมีความคมชัดสูง แพลตฟอร์มดังกล่าวยังเป็นผู้ให้บริการจำหน่ายเกมออนไลน์มากมายและมีกิจกรรมแจกเกมฟรีบ่อยครั้ง นอกจากนั้นก็ยังเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่กระจายข่าวสารในวงการเกมอีกด้วย
ภาษาที่รองรับ: 16 ภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาไทยด้วย
ระบบปฏิบัติการที่รองรับ: WindowOS และ macOS
3. itch.io
หลายๆ คนอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้มากนัก เพราะแพลตฟอร์มนี้มีความแตกต่างจาก Steam และ Epic Games อย่างมาก โดย itch.io เป็นผู้ให้บริการในด้านการเผยแพร่วิดีโอเกมที่นิยมในหมู่ทีมผู้พัฒนาขนาดเล็กที่มักสร้างสรรค์ผลงานเกมอินดี้ (Indie game) รวมถึงเกมวิชวลโนเวล อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่จัดกิจกรรม Game Jam ซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับผู้สร้างวิดีโอเกมต่างๆ ให้มาประชันและอวดผลงานการสร้างสรรค์ของตัวเองกันในธีมและหัวข้อต่างๆ โดยเกมที่เข้าประกวดนั้นจะปล่อยให้ดาวน์โหลดได้ฟรีหรือสามารถอุดหนุนได้ด้วยจำนวนเงินที่ต้องการจ่ายด้วยความสมัครใจของตนเองก็ได้เหมือนกัน และกิจกรรมนี้เองเป็นจุดเด่นของ itch.io ที่ไม่เหมือนใครนั่นเอง
ภาษาที่รองรับ: 20 ภาษา (ยังไม่รองรับภาษาไทย)
ระบบปฏิบัติการที่รองรับ: WindowOS, macOS, และ Linux
แนะนำ วิชวลโนเวล ที่น่าสนใจ
เกมวิชวลโนเวลนั้นก็เหมือนกับหนังสือนิยายเล่มหนึ่ง โดยทั้งสองอย่างนี้มีประเภทที่หลากหลายจนยากที่จะตัดสินใจว่าควรเริ่มจากเรื่องไหนถ้าหากเพิ่งได้ลองสัมผัสกับเหล่านิยายดิจิทัลนี้ ดังนั้นทางผู้เขียนจึงอยากแนะนำเกมวิชวลโนเวลที่น่าสนใจจากหลากหลายประเภทมาให้ได้ลองเลือกกัน
1. Hatoful Boyfriend
Hatoful Boyfriend ได้เปิดตัวครั้งแรกวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2557 ตัวเกมจะให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เป็นมนุษย์เพศหญิงเพียงคนเดียวที่ได้สิทธิ์ในการย้ายเข้ามาเรียน ณ สถาบัน St. PigeoNation ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีเพียงนกเท่านั้นที่สามารถเข้ามาเรียนได้ โดยเกมนี้มีฉากจบหลากหลายมากถึง 16 ฉากจบ และผู้เล่นจะต้องเข้าถึงทุกๆ ฉากจบหากต้องการเข้าใจเนื้อเรื่องของเกมนี้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้หากผู้เล่นเข้าถึงฉากจบหลักเกือบทั้งหมดแล้ว ตัวเกมจะปลดล็อคเนื้อเรื่องเสริมเพื่อให้ได้สนุกกันต่ออีกด้วย รวมถึงตัวเกม Spin-off ที่สร้างขึ้นเป็นภาคต่อเพื่อเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในชื่อ Hatoful Boyfriend: Holiday Star ซึ่งเปิดตัวในวันที่ 15 ธ.ค. พ.ศ. 2558
เวลาเล่นเพื่อจบอย่างสมบูรณ์: ประมาณ 9 ชั่วโมง
ภาษาที่รองรับ: อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน รัสเซีย
ตัวอย่างเทรลเลอร์: คลิกที่นี่
ดาวน์โหลดได้ที่: Steam
2. Cooking Companions
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิยายสยองขวัญ อาจจะอยากลองสัมผัสกับความน่ากลัวของเกมวิชวลโนเวลแนว Psychological Horror อย่าง Cooking Companions ที่สร้างสรรค์โดยทีมผู้พัฒนาหน้าใหม่อย่าง Deer Dream Studio ด้วยการผสมผสานงานภาพตัวละครสไตล์ญี่ปุ่นเข้ากับฟอล์คลอร์ (Folklore) จากทางฝั่งยุโรปได้อย่าง “กลมกล่อม”
Cooking Companions ได้เปิดตัวครั้งแรกในชื่อ Cooking Companions Appetizer Edition ณ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นเวอร์ชันทดลองที่มีความแตกต่างกับ Cooking Companions ที่วางขายอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในด้านฉาก Jump Scare และโหมดเฉพาะที่สามารถเล่นได้แค่ในตัวเกม Appetizer Editon เท่านั้น
ตัวเกมถูกจัด setting ให้อยู่ที่หุบเขาทาทรา (the Tatras Mountains) ซึ่งตัวเกมจะมีธีมการเอาชีวิตรอดผสมกับ “เกมเดทติ้งซิม” หรือที่เรียกกันเป็นคำพูดติดปากว่า “เกมจีบสาว” เข้าไว้ด้วยกัน วิชวลโนเวลนี้มีเนื้อเรื่องที่หลากหลายตามการเลือกตัวเลือกของผู้เล่น ซึ่งมากพอๆ กับฉาก Jump Scare ของเกมนี้เลยทีเดียว
Cooking Companions ได้เปิดตัว DLC หรือเนื้อเรื่องเสริมเพื่อเติมเต็มเนื้อเรื่องและเล่าถึงเบื้องหลังของตัวละครเสริมสำคัญที่อยู่ในเนื้อเรื่องหลัก โดยจำหน่ายในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564
(คำเตือน: เกมนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็กและผู้ที่ขวัญผวาได้ง่าย)
เวลาเล่นเพื่อจบอย่างสมบูรณ์: ประมาณ 7 ชั่วโมง
ภาษาที่รองรับ: อังกฤษ
ตัวอย่างเทรลเลอร์: คลิกที่นี่
ดาวน์โหลดได้ที่: Steam, itch.io และ Android
3. Phoenix Wright: Ace Attorney Trilogy
หนึ่งในซีรีส์วิชวลโนเวลสุดคลาสสิคที่มีคนกล่าวขานมากที่สุดจากค่ายเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Capcom นั่นก็คือ Phoenix Wright: Ace Attorney ซึ่งได้เปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2544 บนเครื่อง Game Boy Advance โดยตัวเกมจะวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
ปัจจุบันซีรีส์ Phoenix Wright: Ace Attorney ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่เพื่อเพิ่มความคมชัดของภาพ ดนตรี และเสียงประกอบต่างๆ รวมไปถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพ (Performance) ของตัวเกมให้เข้ากับ PC มือถือ และเครื่องคอนโซลรุ่นใหม่ต่างๆ โดยได้เปิดตัวอีกครั้งในชื่อ Phoenix Wright: Ace Attorney Trilogy ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการรวมตัวเกมภาค Phoenix Wright: Ace Attorney, Phoenix Wright: Ace Attorney – Justice for All และ Phoenix Wright: Ace Attorney – Trials and Tribulations เข้าไว้ด้วยกัน
สำหรับซีรีส์ Phoenix Wright: Ace Attorney ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็น Phoenix Wright ทนายความหน้าใหม่ที่ได้เข้ามาประชันการว่าความในชั้นศาล โดยผู้เล่นจะได้ไขปริศนาคดีต่างๆ ผ่านการพูดคุยกับตัวละครมากมายและการเก็บหลักฐาน ดังนั้น เกมวิชวลโนเวลนี้จึงเหมาะมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการสืบสวนสอบสวน
เวลาเล่นเพื่อจบอย่างสมบูรณ์: ประมาณ 23 ชั่วโมง
ภาษาที่รองรับ: อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน จีนตัวย่อ จีนตัวเต็ม เกาหลี
ตัวอย่างเทรลเลอร์: คลิกที่นี่
ดาวน์โหลดได้ที่: Steam, Android, iOS, PlayStation และ Switch
4. Zero Escape: The Nonary Games
อีกหนึ่งผลงานเกมโดยผู้พัฒนาและผู้จัดจำหน่ายอันเลื่องชื่อจากผลงานวิชวลโนเวลยอดนิยมอย่างซีรีส์ Danganronpa และ STEIN;GATE ซึ่งถ้าหากคุณชื่นชอบการไขปริศนา Escape Room หรือ ปริศนาห้องปิดตาย Zero Escape: The Nonary Games อาจเป็นเกมที่ถูกใจของคุณ
Zero Escape: The Nonary Games เป็นเกมเวอร์ชันรีมาสเตอร์ที่เป็นการมัดรวมเกมในซีรีส์สองภาคเข้าไว้ด้วยกัน คือ Zero Escape: Nine Hours , Nine Persons, Nine Doors (999) บนเครื่องเกม Nintendo DS และ Zero Escape: Virtue’s Last Reward (VLR) บนเครื่องเกม Nintendo 3DS และ PlayStation®Vita โดยการรีมาสเตอร์ครั้งนี้มีการเพิ่มความคมชัดของภาพ การเคลื่อนไหวของแอนิเมชัน เสียงเอฟเฟกต์และดนตรีประกอบต่าง ๆ รวมทั้งเสียงพากย์ด้วยนั่นเอง
แม้เรื่องราวทั้ง 2 ภาคจะมีเนื้อเรื่อง ตัวละคร และ setting ที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังคงกลิ่นอายและความเป็นเอกลักษณ์ของซีรีส์เกมแนวแก้ไขปริศนาได้อย่างดีเยี่ยม Zero Escape: The Nonary Games มีฉากจบหลายแบบมากกว่า 30 ฉากจบ ทำให้เกมนี้สามารถเล่นซ้ำได้หลายรอบเพื่อความเพลิดเพลินและเพื่อให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้อย่างสมบูรณ์
เวลาเล่นเพื่อจบอย่างสมบูรณ์: ประมาณ 51 ชั่วโมง
ภาษาที่รองรับ: อังกฤษ ญี่ปุ่น
ตัวอย่างเทรลเลอร์: คลิกที่นี่
ดาวน์โหลดได้ที่: Steam และ PlayStation
5. Doki Doki Literature Club!
ปิดท้ายกันด้วยเกมวิชวลโนเวลจากทีมพัฒนาขนาดเล็กอย่าง Team Salvato แต่กลับสร้างผลงานสะท้านวงการเกมอย่าง Doki Doki Literature Club! ที่สามารถกวาดรางวัลจาก IGN ไปได้มากถึง 4 รางวัล รวมถึงรางวัลขวัญใจมหาชนและเกม PC ยอดเยื่ยมประจำปี 2560 (Best PC Game – 2017 People’s) ไปได้อย่างสวยงาม
Doki Doki Literature Club! เปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 ซึ่งหลายๆ คนอาจเคยได้ยินชื่อของเกมนี้กันมาไม่มากก็น้อย เพราะความเป็นเอกลักษณ์ การปะติดปะต่อเนื้อเรื่องนอกจอ และการหักมุมที่หาเปรียบได้ยาก ในเกมนี้ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นนักเรียนมัธยมปลายของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่กำลังหาเข้าชมรมที่สนใจ จนกระทั่งเพื่อนสมัยเด็กมาชวนเข้าชมรมวรรณกรรมที่แม้จะดูเป็นชมรมแสนธรรมดาที่เต็มไปด้วยสาวน่ารัก แต่หารู้ไม่ว่ามีบางอย่างซ่อนอยู่ เนื้อเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องไปลองติดตามและสัมผัสกันใน Doki Doki Literature Club!
ล่าสุดทาง Team Salvato ได้เปิดตัว Doki Doki Literature Club Plus! เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยตัวเกมจะมีความแตกต่างด้านเกมเพลย์และฉาก Jump Scare ไม่มากนักจากเวอร์ชันเดิม แต่ Engine ของเกมได้ถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อรองรับปริศนาและคำใบ้ต่างๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามาอย่างมากมาย และเนื้อเรื่องเสริมที่ทำให้เห็นมุมมองของตัวละครต่างๆ อีกด้วย
(คำเตือน: เกมนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก ผู้ที่ขวัญผวาและเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย)
เวลาเล่นเพื่อจบอย่างสมบูรณ์: ประมาณ 7 ชั่วโมง สำหรับตัวเกมต้นฉบับ และประมาณ 14 ชั้วโมง สำหรับตัวเกม Doki Doki Literature Club Plus!
ภาษาที่รองรับ: อังกฤษ
ตัวอย่างเทรลเลอร์: คลิกที่นี่
ดาวน์โหลดได้ที่
Doki Doki Literature Club!: Steam และ itch.io
Doki Doki Literature Club Plus!: Steam, Epic Games, Switch และ PlayStation
ท้ายที่สุดนี้ ผู้อ่านทุกท่านคงได้ทำความรู้จักกับวิชวลโนเวลมาพอสมควรแล้ว แม้ว่าสิ่งนี้นั้นจะมีลักษณะคล้ายกับนิยาย (Novel) แต่ทั้ง 2 อย่างนี้ก็ยังมีความแตกต่างกัน ถ้าหากพูดถึงนิยาย วรรณกรรมประเภทนี้มักไม่มีรูปภาพประกอบ จะใช้เพียงตัวอักษรเพื่อบรรยายรายละเอียดและเนื้อเรื่องให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ
กลับกัน จุดเด่นของวิชวลโนเวลนั้นไม่ได้มีแค่การอ่านเพียงอย่างเดียว แต่ผู้อ่านสามารถเลือกเส้นทางของตัวเองผ่านตัวเลือกที่ปรากฏขึ้นระหว่างการเล่นได้ ทำให้ฉากจบของเรื่องราวในเกมมีลักษณะแตกต่างกันตามการเลือกของผู้อ่าน นอกจากนี้ เกมประเภทนี้ก็มีขีดจำกัดที่สูงกว่านิยายและวิธีเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกัน โดยผู้เล่นเกมนั้นจะเปรียบดั่งตัวละครตัวหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการคลี่คลายเนื้อเรื่อง ซึ่งตัวเกมสามารถแสดงภาพที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเห็นได้ในอีกมุมมองหนึ่ง
แม้ว่าทั้งสองอย่างจะใช้คำว่า “Novel” ร่วมกัน แต่ทั้งการเล่าเรื่องราวและวิธีการนำเสนอนั้นก็มีเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะที่เปรียบเทียบได้ยาก ซึ่งรอคอยให้เหล่าผู้อ่านได้สัมผัสด้วยตัวเอง
อ้างอิง:
Bigger on the Inside: A History of Visual Novels
What Is a Visual Novel Video Game?
Best of 2017 Awards Wiki Guide