ทินกร หุตางกูร
Home Authors สัมภาษณ์ ทินกร หุตางกูร

สัมภาษณ์ ทินกร หุตางกูร

by niwat59
111 views

สัมภาษณ์ ทินกร หุตางกูร ในบทความนี้ คือบางส่วนของบทสัมภาษณ์ นักเขียน ที่สมบูรณ์บทหนึ่ง โดย นิตยสารเวย์ ในปี 2017  ผู้อ่านสามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ลิงค์ของนิตยสารเวย์ ด้านล่าง

ทินกร หุตางกูร แต่งนิยายลมละเมอดุจแมลงตัวเล็กพยายามเปล่งแสงให้เหมือนดาว

ดวงดาวในบ่อน้ำ (2538) คนไต่ลวดบนดาวสีฟ้า (2542) โลกของจอม (2545) ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร (2547) นกเพลง (2549) ดวงอาทิตย์กับดอกทานตะวัน(2550) จุดตัดบนเส้นเอ็กซ์วาย (2551)

ทั้งนี้หมดคือผลงานก่อนหน้านั้นของทินกร หุตางกูร

เกริ่นนำ

16.00 น. ของวันที่ 14 มีนาคม ทินกรเดินทางมายังสำนักงานนิตยสาร WAY เขาสวมเสื้อยืดสีขาวพิมพ์รูป Crow’s foot in a circle ออกแบบโดย เจอรัลด์ โฮลทอม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958 เดิมเป็นสัญลักษณ์ผู้ชุมนุมเดินขบวนต่อต้านนิวเคลียร์ ก่อนจะเป็นไอคอนของสันติภาพ กางเกงยีนส์สีเข้ม รองเท้าผ้าใบหุ้มข้อสีดำ สะพายกระเป๋าถักใบเล็ก ในนั้นมีบุหรี่มาร์ลโบโรสีขาว หูฟังอินเอียร์ ไอพอด ทินกรเหมือนตัวละครเด็กหนุ่มวัย 18 ที่ตนเขียนในนิยายหลายเล่ม ผิวซีด ผอม แอบสูบบุหรี่ในห้องซักรีด ดาดฟ้า ห้องเก็บถังน้ำขนาดใหญ่ และบนดวงจันทร์

เราเลือกเล่นแผ่นเสียงของ โจแอน เบซ เป็นแผ่นแรก เธอร้องเพลง ‘A Hard Rain’s A-Gonna Fall’ ในบ่ายอากาศร้อน เสียงของเธอทำให้เราเห็นภาพเด็กสาวเศร้า มีปัญหากับเพื่อนร่วมชั้น ครู โรงเรียน กฎระเบียบ ฝนตกหนัก เธอไม่กางร่ม แต่เดินออกไปร้องเพลงกลางสายฝน

ทินกรดื่มสเตราท์เหมือนเด็กแอบกินอเมริกาโนสีดำ สูบบุหรี่หลังตอบคำถามไป 7 ข้อ สางผมยุ่งขณะจัดเรียงความคิดเป็นระเบียบ ผูกเชือกรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ หัวเราะกับคำถาม เศร้าใจกับคำตอบที่มีข้อจำกัด ฯลฯ

4 วันต่อมา WAY เดินทางไปยังบ้านย่านประชาชื่นของทินกรหลังอ่านนิยายของเขาจบเพื่อบันทึกภาพ การพูดคุยกับทินกรทั้ง 2 ครั้ง ห้อมล้อมไปด้วยเพื่อนและน้องๆ ของเขาในแวดวงคนทำสื่อ บรรณาธิการ นักเขียน

การอ่านลมละเมอ และได้พูดคุยกับทินกร หุตางกูร ทำให้เรานึกถึงแมลงตัวเล็กพยายามเปล่งแสงให้เหมือนดาว

ลมละเมอ

ระหว่างที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ (14 มีนาคม) ผู้แทนรัฐบาลไทยจำนวน 46 คนเข้าร่วมชี้แจงข้อซักถามบนเวทีสหประชาชาติที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศไทยถูกตั้งคำถามเรื่องการใช้อำนาจของรัฐบาลทหาร เสรีภาพในการแสดงความเห็น ถ้า 1 ใน 46 ผู้แทนรัฐบาลไทยเกิดท้องเสียไม่สบาย คุณจะเลือกตัวละครตัวไหนใน ลมละเมอ ไปเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมที่นครเจนีวา

เชิญบุญครับ เชิญบุญกับจักรกลคือ 2 ตัวละครที่เป็นขบถต่อกฎระเบียบที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพ แต่เลือกเชิญบุญเพราะคิดว่ามีความมั่นใจในตัวเอง กล้าพูด กล้าแสดงออกมากกว่าจักรกล จักรกลเป็นคนเก็บตัว ขี้อาย คงไม่เหมาะจะไปพูดในวงประชุมหรือที่สาธารณะ จักรกลคงพูดเสียงเบา เผลอยกนิ้วลูบคางกับริมฝีปากอย่างประหม่าทุกครั้งเวลาจะตอบคำถาม

คุณคิดว่าเชิญบุญจะพูดถึงสถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างไร

เชิญบุญคงยอมรับความจริง ไม่พยายามแก้ตัวเพื่อรักษาภาพลักษณ์ประเทศของตัวเอง เชิญบุญคงไม่อยากเป็นเด็กหญิงเลี้ยงแกะในห้องประชุมขององค์การสหประชาชาติ เพราะตอนนี้ใครก็รู้ใช่ไหมครับว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นอย่างไร ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพ กฎหมายที่ไม่เคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกประกาศใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมคนเห็นต่าง

โลกของ ลมละเมอ เข้าไปก่อกวนกลั่นแกล้งโลกของข้อเท็จจริงตลอดเวลา เช่นฉากที่มนุษย์สังหารไปลอบสังหาร บารัก โอบามา ขณะมาเยือนประเทศไทย คุณมีเส้นแบ่งแค่ไหนว่าโลกในเรื่องแต่งเข้าใกล้โลกข้อเท็จจริงเกินไปแล้วนะ เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือเวลาเราดูหนังพีเรียด ตัวละครย้อนอดีตย้อนเวลาได้ แต่ข้อแม้คือห้ามไปเปลี่ยนอดีตนะ แต่ในลมละเมอ โลกของข้อเท็จจริงถูกก่อกวนจนสะดุ้งนะครับ

ประเด็นของผมคือตราบใดที่มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้หยั่งรู้ทุกอย่างในจักรวาล รู้เพียงเศษเสี้ยว คุณไม่มีสิทธิ์ไปบอกหรือชี้นำใครว่า สิ่งนี้จริง สิ่งนั้นไม่จริง ต้องเชื่อแบบนี้ ห้ามเชื่อแบบนั้น ความคิดลักษณะนี้เป็นความคิดเชิงอำนาจ คุณอยากจะควบคุมคนอื่น แล้วใช้กลไกทุกอย่างเป็นเครื่องมือ ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ ผมพยายามจะให้ตัวละครต่อสู้เพื่อให้ตัวเองมีสิทธิเสรีภาพในการคิดการเชื่อ มันอาจจะผิดหรือถูก แต่ใครคือผู้ตัดสิน

อาจจะผิด แต่ถ้ามนุษย์ไม่ใช่ผู้หยั่งรู้ทุกอย่าง ทำไมไม่มีพื้นที่สำหรับคนคิดต่าง ประเด็นอยู่ตรงนี้ ประเทศนี้ใครคิดต่างไม่ได้

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าโอบามาโดนหรือไม่โดนลอบสังหาร (ในนวนิยาย) แต่ทุกอย่างมีพื้นที่ของความเป็นไปได้ ใช่ไหม? ขึ้นอยู่กับคุณมองจากมุมไหน มนุษย์จะตัดสินสิ่งหนึ่งว่าจริงหรือไม่จริงจากอะไร มนุษย์ยังไม่ได้รู้อะไรทั้งหมด ฉะนั้นมันมีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ เสมอ

เหมือนรุ้ง มนุษย์เห็นว่ารุ้งมี 7 สี แต่ผึ้งเห็นรุ้งมี 24 สี แล้วเราจะตัดสินใจว่าอันไหนเป็นรุ้งจริงอันไหนเป็นรุ้งปลอม ดวงตาของผึ้งสามารถแยกสีได้มากกว่ามนุษย์ ถ้ามเราว่ารุ้งมีกี่สี มนุษย์จะตอบ 7 สี แต่ถ้าผึ้งพูดได้ ผึ้งจะบอกว่าไม่จริง เพราะรุ้งสำหรับผึ้งมี 24 สี มนุษย์ก็จะยืนอยู่บนจุดของมนุษย์ว่า ไม่จริง รุ้งมี 7 สี ผึ้งก็ยืนบนจุดของผึ้งว่า ไม่จริง รุ้งมี 24 สี

สัมภาษณ์ ทินกร หุตางกูร


คำให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมนักเขียนฯคนล่าสุดที่บอกว่า “พยายามจะเชื่อมต่อกับภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการอ่าน ซึ่งเมื่อเกิดการอ่านจะนำไปสู่การเขียนที่ยั่งยืน” ถ้าเรามองว่ารัฐบาลทหารคือศัตรูของประชาชนในห้วงเวลาแบบนี้ คุณคิดว่าจำเป็นต้องให้ภาครัฐอุปถัมภ์งานวรรณกรรมหรือไม่

รัฐบาลกับประชาชนไม่ได้เป็นศัตรูกันโดยอัตโนมัติ แต่เราจะรู้สึกว่ารัฐบาลเป็นศัตรูก็ต่อเมื่อรัฐบาลพยายามตั้งตัวเป็นผู้ปกครอง ควบคุมเรา ซึ่งรัฐบาลทหารมักเป็นอย่างนั้น รัฐบาลทหารไม่เหมาะกับโลกปัจจุบันที่ไม่ว่าอย่างไรผมก็ยังเชื่อว่าต้องเป็นโลกของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องเป็นฝ่ายควบคุมรัฐบาล คอยกำกับให้รัฐบาลทำสิ่งที่เราต้องการ เราไม่ควรหวังพึ่งรัฐบาลทหาร สิ่งที่เราควรทำกับรัฐบาลทหารคือเรียกร้องให้ออกไป ไม่ต้องกลับมาอีก

แต่ยุคนี้ทุกอย่างซับซ้อน ไม่มีใครพูดแทนใครได้ สิ่งที่เราคิดเราเชื่ออาจไม่ได้เป็นความคิดความเชื่อของคนอื่น แม้จะเป็นเพื่อนกัน อยู่บ้านเดียวกัน หรือทำงานคล้ายกัน นักเขียนก็เหมือนกัน มีความคิดความเชื่อทางการเมืองต่างกันไป พูดเฉพาะตัวเอง ผมเชื่อว่างานเขียนเป็นงานเชิงสร้างสรรค์ เป็นครีเอทีฟ ถ้าเราไม่ตั้งคำถามกับอำนาจเลย ก็ยากที่จะเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ใช่มั้ยครับ ถ้าเรา get along กับอำนาจไปทั้งหมด ทิศทางของสังคมก็จะเป็นไปแบบเดิม ไม่เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นนวัตกรรมหรือความสร้างสรรค์อะไรขึ้นมา

ผมเพิ่งฟังข่าวว่า มีมหาวิทยาลัยต่างประเทศแห่งหนึ่งให้ทุนคนที่คิดขบถ ขบถในที่นี้คือขบถกับกฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนแบบโบราณ เพราะว่าการที่มีความคิดที่เป็น rebellion เป็นขบถกับกฎเกณฑ์จะทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่จะพาโลกไปสู่ทิศทางที่ดีกว่า

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ประวัตินักเขียนสำนักพิมพ์

สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย คนที่ลุกขึ้นมาขบถต่อกฎเกณฑ์หรืออำนาจรัฐ อย่างคนหนุ่มคนสาว นักศึกษา นักกิจกรรม แต่จุดหมายปลายทางของพวกเขาคือเข้าคุก

ผมคิดว่ามันเป็นโศกนาฏกรรมนะ คนที่ขบถต่อกฎเกณฑ์มักได้รับความเจ็บปวดเสมอ คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเป็นคนที่น่ายกย่อง เขาไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาแบบเรา ซึ่งจะใช้คำว่าอะไรก็ได้ที่มีความหมายถึงบางอย่างที่เหนือกว่า เขาอาจจะรู้สึกว่าไม่สามารถนิ่งเฉยได้อีกต่อไป เขาทุกข์ทรมาน และอาจจะรู้ด้วยซ้ำว่าการที่ลุกขึ้นมาแบบนี้อะไรคือสิ่งที่ต้องเผชิญ แต่ยอมที่จะได้รับผลนั้น เพื่อรักษาบางสิ่งที่สำคัญกว่า

ลมละเมอ

คุณคาดหวังในบทบาทของนักเขียนอย่างไร

คาดหวังว่านักเขียนจะเขียนในสิ่งที่เขาคิดและรู้สึกออกมา โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดอะไรทั้งสิ้น ผมอยากเห็นสมาคมนักเขียนฯ ทำหน้าที่นี้ หน้าที่ในการปกป้องนักเขียนให้มีอิสระในการพูด คิด อ่าน เขียน เหมือนประโยคที่วอลแตร์พูดใช่มั้ยครับ “ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะยอมตายเพื่อปกป้องสิทธิในการพูดของคุณ” มีคนบอกว่าวอลแตร์ไม่ได้พูดแบบนั้น วอลแตร์เขียนว่า “ผมไม่ชอบสิ่งที่คุณเขียน แต่ผมจะสละชีวิตเพื่อให้คุณสามารถเขียนต่อ” วอลแตร์อาจไม่ได้พูดหรือเขียนทั้งสองประโยคนั้น แต่ใครพูดหรือเขียนไม่สำคัญเท่าเนื้อหา

หน้าที่นี้สำคัญที่สุด ไม่ว่าสมาคมนักเขียนฯจะโดนยุบหรือมีชะตากรรมอย่างไรหลังจากนั้น ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำ สมาคมนักเขียนก็ไม่จำเป็นต้องมี หน้าที่อื่นอย่างการส่งเสริมการอ่านเพื่อการเขียนที่ยั่งยืน ไม่ใช่หน้าที่ของสมาคมนักเขียนฯ สมาคมนักเขียนฯมีหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของนักเขียน สมาคมนักเขียนฯคือการรวมตัวของนักเขียนเพื่อให้มีพลังเวลาอยากต่อสู้เรียกร้อง การต่อสู้เรียกร้องโดยคนใดคนหนึ่งลำพังไม่มีพลังพอ การต่อสู้เรียกร้องในนามสมาคมนักเขียนฯอาจจะสู้กับอำนาจรัฐไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่านี่คือตัวแทนของอาชีพหนึ่งในประเทศนี้

คงยากที่สมาคมนักเขียนฯจะมีมติออกเป็นแถลงการณ์ร่วมว่ามีแนวคิดหรือจุดยืนทางการเมืองแบบไหน เห็นด้วยกับรัฐประหารหรือไม่ เพราะสมาคมนักเขียนฯเป็นที่ชุมนุมของนักเขียนที่มีความคิดต่างกัน บางคนอาจเห็นด้วยกับรัฐประหาร บางคนอาจไม่เห็นด้วย บางคนชอบสีนั้น บางคนชอบสีนี้ ทุกคนมีสิทธิ์ การมีแถลงการณ์ร่วมในแง่จุดยืนทางการเมืองอาจทำไม่ได้ เพราะความหลากหลาย ไม่สามารถหาข้อสรุป แต่ถ้าคุณเป็นนักเขียน ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน มีความคิดความเชื่อทางการเมืองอย่างไร สิ่งที่คุณจะต้องต่อสู้เพื่อมันคือสิทธิและเสรีภาพในการพูด คิด อ่าน เขียนในทุกเรื่องทุกประเด็น

คุณเป็นสมาชิกสมาคมนักเขียนหรือไม่

ไม่ได้เป็นครับ แต่ถ้าสมาคมนักเขียนอยากได้รายชื่อสนับสนุน เพื่อออกแถลงการณ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักเขียนในการพูด คิด อ่าน เขียน แล้วเขานับผมเป็นนักเขียน ผมก็ยินดีครับ

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
อ่านฉบับเต็ม

ขอบคุณนิตยสารเวย์มา ณ โอกาสนี้

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More