ประวัติความเป้นมาของเรื่องโป๊ และเปลือย
Home Art & Culture ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊ และ เปลือย : The history of pornography

ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊ และ เปลือย : The history of pornography

211 views 12 mins read

อาจารย์ สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการด้านศิลปะร่วมสมัยและสุนทรียศาสตร์ รองศาสตราจารย์และอดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บทความเรื่อง ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊ และ เปลือย ลงพิมพ์ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นครั้งแรก ขณะที่ “นิตยสารเรื่องสั้น” ที่จัดทำโดยเม่นวรรณกรรม เคยขออนุญาตนำมาตีพิมพ์ในรูปแบบอีบุ๊ก และเพื่อให้บทความนี้ยังคงได้รับการอ่านตามเจตนารมย์ของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เม่นวรรณกรรมจึงนำมาเผยแพร่อีกครั้งในบล็อกเม่นวรรณกรรม เพื่อผู้อ่านจะได้ศึกษา ประวัติเรื่องโป๊ รวมไปถึงความ ประวัติหนังโป๊

เพื่อขุดให้ลึกไปถึงรากของ ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊ และเปลือย บทความนี้นำเสนอถึงที่มาที่ไปของเรื่อง “โป๊” โดยอ้างอิงถึงงานศิลปะ วรรณกรรม และภาพยนตร์ ตั้งแต่ยุคเก่าถึงสื่อยุคใหม่ จากตะวันออกสู่ตะวันตก เพื่อให้เข้าใจแก่นแท้ของเรื่องโป๊และเปลือย

ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊ และเปลือย

ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊
Memoirs of a Woman of Pleasure. London: Printed for G. Fenton in the Strand, 1791

คำว่า “โป๊” (Pornography) : ศัพท์คำนี้ ในปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจกันว่าหมายถึง การนำเสนอเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นไปในลักษณะกามวิสัย (erotic) ในสื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะในหนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพเขียน รูปปั้น ภาพยนตร์ หรืออื่นๆ ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ สื่อเหล่านี้เป็นผลงานต่างๆที่ทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต้องการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวหรือความเร่าร้อนทางเพศนั่นเอง (cause sexual excitement)

pornography (โป๊) มาจากศัพท์ภาษากรีกคือคำว่า Porni (prostitude – โสเภณี) บวกกับคำว่า Graphein (to write – เขียน) รวมแล้วหมายถึง “การเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของโสเภณี”. จะเห็นได้ว่าแรกเริ่มนั้น ศัพท์คำนี้ก็ได้ถูกนิยามขึ้นมาให้หมายถึงผลงานศิลปะหรือวรรณกรรมใดๆ ก็ตาม ที่ได้วาดหรือบรรยายถึงชีวิตของบรรดาโสเภณีมานับตั้งแต่ต้น 

อันที่จริง พวกเราต่างมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับต้นตอกำเนิดและรูปลักษณ์ต่างๆ ในช่วงแรกๆ เกี่ยวกับเรื่องภาพโป๊หรือภาพเปลือย ทั้งนี้เพราะ ตามขนบธรรมเนียมแต่เดิม ภาพหรือผลงานดังกล่าว มันไม่ได้ถูกคิดว่าเป็นสิ่งซึ่งทรงคุณค่าในเชิงศิลปะแต่อย่างใด และเป็นสิ่งที่สมควรจะได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา หรือมีค่าควรแก่การเก็บรักษาเอาไว้ ดังนั้น วัตถุพยานในเรื่องดังกล่าวจึงสูญหายไปเป็นจำนวนมาก 

แต่อย่างไรก็ตาม หนึ่งในพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้นมาครั้งแรก เกี่ยวกับเรื่องโป๊ในวัฒนธรรมตะวันตก สามารถถูกค้นพบได้ในเพลงที่มีเเนื้อร้องที่แฝงด้วยถ้อยคำที่ลามกอนาจาร (salacious song) ซึ่งแสดงกันในหมู่ของชนชาวกรีกโบราณในงานเฉลิมฉลองเพื่อเป็นเกียรติแก่เทพ Dionysus (เทพแห่งสุราเมรัย และความบันเทิง) 

ส่วนหลักฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เกี่ยวกับภาพเขียนที่เป็นภาพโป๊-เปลือยในวัฒนธรรมของชาวโรมัน ได้ถูกค้นพบในเมือง Pompeii ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นงานจิตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกามวิสัยหรืออีโรติค ที่มีอายุอยู่ในราวคริสตศตวรรษที่ 1 ปกคลุมอยู่บนฝาผนังในอาคารต่างๆ เพื่อเป็นการสักการะบูชาต่อเทพ Bacchus ภาพที่ค้นพบส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นถึงงานปาร์ตี้อันสนุกสนาน และมีการร่วมประเวณีกันอย่างสับสนปนเป หรือที่เรียกกันว่า bacchanalian orgies

ผลงานคลาสสิคเกี่ยวกับงานเขียนที่เป็นเรื่องโป๊-อนาจารเป็นผลงานของกวีชาวโรมันชื่อ Ovid ในเรื่อง Ars amatoria (Art of Love), หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศิลปะของการจูงใจให้มีการร่วมเพศ(seduction) ลักลอบเป็นชู้(intrigue) และการกระตุ้นปลุกปั่นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ (sensual arousal)

[หมายเหตุ : การที่ชาวโรมันส่งเสริมในสิ่งเหล่านี้ เป็นผลเนื่องมาจากความต้องการประการหนึ่งที่จะเพิ่มจำนวนประชากร]

พอมาถึงช่วงระหว่างยุคกลางของชาวยุโรป ซึ่งศาสนาคริสต์ได้ขึ้นมามีอำนาจ (แม้ว่าด้านหนึ่ง ศาสนาคริสต์จะไม่ไว้ใจในเรื่องของเรือนร่าง เพราะถือว่าร่างกายของมนุษย์ไม่ใช่ความบริสุทธิ์) เรื่องโป๊ ดูเหมือนว่าได้ถูกทำให้แพร่สะพัดและขยายออกไปอย่างกว้างขวาง แต่เป็นไปในลักษณะที่ชื่อเสียงไม่ค่อยดี ส่วนมากแล้วจะพบได้ในการแสดงออกที่เป็นปริศนา (riddles) เรื่องตลกโปกฮา เรื่องตลกหยาบคาย (doggerel) หรือแม้กระทั่งบทประพันธ์ในลักษณะของการเสียดสีและเหน็บแนมต่างๆ (satirical verses)

ยกเว้นกรณีพิเศษที่เด่นชัดอันหนึ่งก็คือ The Decameron of Giovanni Boccaccio บางส่วนของนิทานร้อยเรื่องของเขานั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกามโลกีย์ที่แหกคอกออกไปจากธรรมชาติ แต่ตามปกติแล้ว โครงเรื่องหรือแนวเรื่องสำคัญหลักอันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องโป๊-เปลือยในสมัยกลาง จริงๆ แล้ว ต้องการให้บรรดาพระทั้งหลายและสมาชิกทางศาสนา พร้อมด้วยผู้รับใช้ต่างๆ ของศาสนาจักรได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ ในฐานะที่เป็นการแสดงของมายาและการหลอกลวงต่างๆ ในตัวมนุษย์นั่นเอง 

การประดิษฐ์ผลงาน สิ่งพิมพ์ที่มีแนวเรื่องดังกล่าว ได้เกิดขึ้นมาเช่นกัน มันเป็นผลงานที่พิมพ์ขึ้นเกี่ยวกับเรื่องโป๊ที่เต็มไปด้วยแรงปรารถนา สิ่งเหล่านี้บ่อยครั้ง มักจะบรรจุไปด้วยปัจจัยหรือองค์ประกอบต่างๆเกี่ยวกับความขบขันและเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และได้รับการเขียนขึ้นเพื่อให้ความบันเทิง ในเวลาเดียวกันนั้นก็ต้องการกระตุ้นปลุกเร้าทางเพศด้วย 

ส่วนมากของผลงานเหล่านี้ สามารถย้อนกลับไปได้ถึงงานเขียนคลาสสิค ซึ่งได้ทำขึ้นมารับใช้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือเยียวยา เพื่อรักษาผู้คนที่ประสบปัญหาในเรื่องความรัก หน้าที่สำคัญของมันก็คือ เป็นการฟื้นคืนความบันเทิงและมาทำหน้าที่คลายความเศร้าเสียใจของการแต่งงานที่หลอกลวงและการนอกใจ 

หนังสือเรื่อง The Heptameron of Margaret of Angouleme ก็มีลักษณะในทำนองเดียวกันกับเรื่อง The Decameron ซึ่งได้ใช้กลวิธีการนำเสนอโดยกลุ่มคนที่มาเล่านิทานต่างๆ ให้ฟัง ในบางเรื่องของนิทานเหล่านี้เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องลามกอนาจาร 

ยุโรปคริสตศตวรรษที่ 18 ปรากฏว่าผลงานวรรณกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาแนวเรื่องโป๊เปลือยในยุค modern แรกๆ ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ที่ได้รับการผลิตขึ้นมา ต่างก็ขาดแคลนในเรื่องคุณค่าเชิงวรรณกรรม และถูกคิดขึ้นมาเพียงกระตุ้นปลุกเร้าความตื่นเต้นทางเพศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็ได้ทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมา ในช่วงนั้นได้มีการค้าขายและการแลกเปลี่ยนใต้ดินเล็กๆ ในผลงานภาพโป๊ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้น จนกระทั่งมันได้กลายเป็นพื้นฐานของการพิมพ์ที่แยกตัวออกไปต่างหาก จากธุรกิจหนังสือในประเทศอังกฤษ 

ยุคคลาสสิคของช่วงนี้ได้มีการอ่านเรื่อง Fanny Hill หรือ Memoirs of a Woman of Pleasure (1749) ของ John Cleland ในช่วงประมาณเวลาใกล้ๆ กัน ศิลปะกราฟิคที่เกี่ยวกับภาพอีโรติคหรือภาพกามวิสัยเริ่มมีการผลิตกันขึ้นมาอย่างกว้างขวางในกรุงปารีส, ซึ่งในท้ายที่สุด ก็ได้เผยแพร่ออกไปและเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง โดยเป็นที่รู้จักกันในนาม French postcards

ภาพโป๊ในสมัยวิคตอเรียและสมัยใหม่ 

ประวัติเรื่องโป๊
The French Postcard

ในขณะที่เรื่องราวและภาพ “โป๊” เฟื่องฟูอยู่นั้น ในเวลาเดียวกัน ผลงานเหล่านี้ก็ได้รับการดูหมิ่นเกลียดชังด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยวิคตอเรียน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ บางทีอาจจะเนื่องมาจากข้อห้ามต่างๆซึ่งมีอยู่ทั่วไปในจารีตดังกล่าว ซึ่งได้ตั้งข้อรังเกียจเกี่ยวกับหัวข้อทางเพศ ซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ไม่ควรจะนำมาเปิดเผยในที่แจ้งกับผู้คนและสังคมในสมัยนั้น 

ปี ค.ศ.1834 ซึ่งมีการสำรวจกันในกรุงลอนดอน ปรากฏว่ามีร้านค้าเกี่ยวกับเรื่อง “โป๊” ถึง 57 ร้านเฉพาะเพียงถนน Holywell Streeet เพียงสายเดียวเท่านั้น. ผลงานที่เด่นชัดชิ้นหนึ่งของสมัยวิคตอเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องโป๊-อนาจารก็คือหนังสือเล่มใหญ่และไม่ระบุชื่อคนเขียน อันเป็นอัตชีวประวัติของบุคคลนิรนาม เรื่อง My Secret Life (1890)

เนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าว เป็นบันทึกเหตุการณ์ตามลำดับเวลาทางสังคมในช่วงหนึ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ข้างใต้ผิวหน้าของสังคม Puritanical (พวกที่เคร่งครัดในศาสนา) และการบรรยายถึงรายละเอียดถี่ยิบเกี่ยวกับชั่วชีวิตของสุภาพบุรุษชาวอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินชีวิตไปตามความพึงพอใจทางเพศ

พัฒนาการต่อมาหลังจากสมัยวิคตอเรียนเกี่ยวกับเรื่อง “โป๊” และช่วงหลังๆ ซึ่งได้มีการคิดประดิษฐ์ภาพเคลื่อนไหวขึ้นมา ได้เป็นการส่งเสริมสนับสนุนอย่างมาก ต่อการแพร่ขยายเกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องราวต่างๆในด้านนี้. เรื่อง “โป๊” ในคริสตศตวรรษที่ 20 เป็นสิ่งซึ่งไม่เคยมีแบบอย่างที่เป็นเช่นนี้มาก่อนเกี่ยวกับสื่อที่ใช้ และผลงานเป็นจำนวนมากมายได้มีการผลิตขึ้น นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา 

งานเขียนหรืองานวรรณกรรมที่เกี่ยวกับเรื่อง “โป๊” มาถึงสมัยนี้ได้รับการแทนที่โดยภาพตัวแทนทางสายตาอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของกามตัณหา หรืออีโรติค ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขาดเสียซึ่งคุณค่าทางศิลปะหรือคุณค่าทางสังคมโดยประการทั้งปวง 

เรื่องหรือภาพ “โป๊” ถือเป็นเป้าอันหนึ่งที่ถูกโจมตีมานับตั้งแต่อดีต มันได้ตกเป็นเป้าหมายอันยืนยงมายาวนาน ที่จะต้องได้รับการลงโทษทางศีลธรรมและทางกฎหมาย (มูลเหตุประการหนึ่ง เป็นความเชื่อที่แฝงมาจากนัยะทางศาสนาคริสตซึ่งไม่เชื่อและไว้วางใจเกี่ยวกับเรือนร่าง – ร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งสกปรก หมักหมม ที่ไม่บริสุทธิ์ -) ว่า เป็นต้นตอหรือสาเหตุหลักที่จะน้อมนำไปสู่ความเสื่อทรามและความชั่วร้ายของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ และอาจเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางเพศได้ 

ในบางครั้ง ผลงานชิ้นสำคัญต่างๆทางศิลปะที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหรือแม้แต่ มันจะมีนัยะที่สำคัญทางศาสนาก็ตาม ก็อาจถูกห้ามโดยรัฐหรืออำนาจศาลไม่ให้เผยแพร่ได้ ทั้งนี้เพราะผลงานเหล่านี้ ถูกพิจารณาว่า เป็นเรื่อง “โป๊” (ลามกอนาจาร) ภายใต้สมมติฐานต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความเสื่อมทรามของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงปัจจุบันสมมุติฐานต่างๆ เหล่านั้น กลับได้รับการท้าทายบนพื้นฐานทางกฎหมายและวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม, การผลิต การเผยแพร่ หรือการครอบครองเกี่ยวกับวัสดุที่เกี่ยวกับเรื่อง “โป๊” บางทีอาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ในหลายๆประเทศ ภายใต้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่อง “ความลามกและอนาจาร”(obscenity)

สื่อลามก-อนาจาร และข้อพิจารณาทางกฎหมาย

ศัพท์คำว่า “ลามก-อนาจาร” (obscenity) โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงการล่วงละเมิดหรือกระทำผิดต่อความรู้สึกของสาธารณชน ในเรื่องของความบังควรกับธรรมเนียมปฏิบัติ. ความสำคัญทางสังคมของมันวางอยู่ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการตรวจสอบ (censorship) และข้อบัญญัติทางกฎหมาย ผลงานใดก็ตาม ที่ได้รับการระบุว่าลามก-อนาจาร โดยทั่วไปแล้วจะถูกกำจัดหรือปราบปรามเพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ส่อไปในทางนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งพิมพ์หรือโฆษณาที่มีการเปิดเผยทางเพศที่กระทำออกมาอย่างโจ่งแจ้ง หรือมีเนื้อหาสาระหยาบคาย 

“ความลามก-อนาจาร” นั้น ก็เหมือนกับ “ความงาม” กล่าวคือมันอยู่ในสายตาของผู้ดู ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยพยานหลักฐานต่างๆ โดยไม่อาจหลบเลี่ยงได้ และ “ความลามก-อนาจาร” นี้ยังเป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกพึงพอใจด้วย แต่ไม่นับเป็นความพอใจอย่างเดียวกับ “ความงาม”

ในช่วงแรกของการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ประเทศในยุโรปส่วนมากถือว่า สื่อลามก-อนาจารเป็นอาชญากรรม และอาชญากรรมเกี่ยวกับการผลิตหรือการเผยแพร่วัสดุที่เป็นสื่อลามก-อนาจารที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติทางเพศ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างพบเห็นได้ทั่วไปอันหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ สื่อลามก-อนาจารจะถูกปราบปรามโดยพวก Puritan (นิกายศาสนาที่เคร่งครัดเน้นความบริสุทธิ์) การแสดงลามกหรืออนาจาร ตามโรงละครต่างๆ ในช่วงครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ 17 จะถูกห้ามและกำจัด เพราะเหตุว่า การกระทำใดๆ ก็ตามที่ประพฤติออกมาหรือส่อไปในทางนั้น จะถือเป็นการกระทำที่เป็นการต่อต้านศาสนา หรือการกระทำที่เป็นภัยต่อความสงบเลยทีเดียว 

แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1727 ได้มีการฟ้องร้องอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องลามก-อนาจารขึ้นมาในศาลเรื่องหนึ่ง และมีการระบุว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางโลก (ฆราวาส) เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อสิ่งพิมพ์และการพิมพ์เผยแพร่ในเรื่องลามก-อนาจาร หลังจากนั้นเป็นต้นมา เรื่องลามก-อนาจารจึงกลายเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นการกระทำผิดที่ฟ้องร้องกันโดยกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ 

ข้อห้ามเกี่ยวกับเนื้อหาทางเพศ กลายมาเป็นบทบัญญัติในสหราชอาณาจักรขึ้นมาเป็นครั้งแรก ด้วยพระราชบัญญัติที่เรียกว่า Obscene Publications Act (พระราชบัญญัติการพิมพ์และการโฆษณาเกี่ยวกับสื่อลามก-อนาจาร)ในช่วงปี ค.ศ.1857 อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้มีการบรรจุนิยามความหมายเกี่ยวกับความลามก-อนาจารเอาไว้อย่างชัดเจน 

สำหรับนิยามของความลามก-อนาจาร จริงๆ แล้ว เกิดขึ้นตามมาราวปี ค.ศ.1868 ใน Regina v. Hickin, ซึ่งเป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับสื่อลามก-อนาจารต่างๆ โดยได้ระบุลงไปว่า “เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามและความชั่วร้ายต่อจิตใจของผู้คน ซึ่งเปิดรับต่ออิทธิพลต่างๆ อันไม่ถูกต้องทางศีลธรรม” (deprave and corrupt those whose minds are open to such immoral influences). 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อพิจารณาข้างต้นนี้จะทำหน้าที่เป็นหลักการหรือเครื่องมือในการตรวจสอบสื่อต่างๆ โดยแยกเอาส่วนที่มีพฤติการอันส่อเจตนาไปในทางนั้น ออกมาจากบริบทของเรื่องราวทั้งหมด เช่น นำเอาข้อพิจารณาข้างต้นมาใช้ตัดสินตอนๆ หนึ่งของผลงานที่ดึงออกมาจากเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด 

ทัศนะอันนี้มีมาก่อนการออกกฎหมายต่อต้านสื่อลามก-อนาจารในประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นด้วย the Comstock Law (กฎหมายเกี่ยวกับระเบียบอันเคร่งครัด)ในปี ค.ศ.1873 ซึ่งได้มีการขยายความเพิ่มเติมในปี ค.ศ.1895 ในพระราชบัญญัติ Mail Act ที่สาระสำคัญก็คือ รูปแบบการฟ้องร้องของมันนั้น หากกระทำผิดจริงจะต้องมีการเสียค่าปรับและการจำคุกบุคคลคนนั้น ที่มีการส่งหรือรับ “สิ่งลามก-อนาจาร” อันกระตุ้นกำหนัด หรือ “สิ่งพิมพ์โฆษณาที่เป็นเรื่องลามก-อนาจาร” 

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนเกี่ยวกับนิยามความหมายต่างๆได้เกิดขึ้นตามมาอีก ซึ่งได้แสดงออกมาให้เห็นในกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา จวบจนกระทั่งช่วงมาถึงกลางคริสตศตวรรษที่ 20 นิยามเกี่ยวกับความลามก-อนาจารของสหราชอาณาจักร ใน Regina v. Hickin จึงค่อยได้รับการนำมาประยุกต์ใช้. 

U.S.v. One Book Entitled “Ulysses” ค.ศ.1934, ศาลอุทธรณ์ซึ่งเปิดการพิจารณาในตำบลหนึ่งๆ เฉพาะเวลาที่มีผู้พิพากษาเดินทางไปฟัง (a New York circuit court of appeals) ถือว่าบรรทัดฐานเกี่ยวกับเรื่องลามก-อนาจาร มิใช่เนื้อหาที่แยกออกมาโดดๆ อย่างเช่น พิจารณาเพียงแค่ตอนใดตอนหนึ่งในหนังสือ แต่ควรจะเป็น “การพิมพ์โฆษณาอันหนึ่งที่ถูกหยิบมาพิจารณาพร้อมกันทั้งหมด ที่มีผลกระทบหรือส่อไปในทางกระตุ้นตัณหา” (libidinous effect – มีผลกระทบในเชิงก่อให้เกิดราคจริต) 

ในปี ค.ศ.1957, ใน Roth v. U.S., ศาลสูงของสหรัฐได้มีการลดหย่อนพื้นฐานการนิยามความหมายอันนี้ลงเกี่ยวกับสิ่งลามก-อนาจาร. แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1966 ศาลสูงสหรัฐฯ ได้วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง Fanny Hill (ของ John Cleland – (1749)) โดยประกาศออกมาว่า ผลงานชิ้นใดก็ตาม ที่จะถูกถือว่าเป็นงานลามก-อนาจารก็ต่อเมื่อ ผลงานชิ้นนั้น “โดยที่สุดแล้ว มันปราศจากคุณค่าทางสังคมใดๆ ที่มาชดเชยกันได้อย่างคุ้มค่า” (utterly without redeeming social value) จะถือว่าผลงานนั้น เป็นสื่อลามก-อนาจาร 

Miller v. California (1973) ศาลได้ละทิ้งข้อวินิจฉัยชี้ขาดในปี 1966 และได้ประกาศว่า มันจะไม่มีการต่อสู้เพื่อปกป้องผลงานชิ้นหนึ่งชิ้นใดที่มี”คุณค่าทางสังคมที่มาชดเชยได้บางอย่าง” และเพราะฉะนั้น รัฐอาจห้ามการตีพิมพ์หรือขายเกี่ยวกับผลงานต่างๆ “ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมทางเพศในหนทางที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจหรือมีการล่วงละเมิดอย่างชัดแจ้ง และการตีพิมพ์ผลงานนั้น เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว มันไม่ได้มีความจริงจังทางวรรณกรรม, ทางศิลปะ, คุณค่าทางการเมือง หรือทางด้านวิทยาศาสตร์ใดๆ” จะเห็นว่า แนวโน้มนี้ได้มาเน้นที่คุณค่าทางศิลปะ การเมือง และวิทยาศาสตร์ โดยตัดเรื่องการชดเชยลงไป 

ปัจจุบัน ยังมีประเทศต่างๆ อีกมากมายที่ได้มีการรับเอาการออกกฏหมายการสั่งห้ามวัสดุลามก-อนาจารมาใช้ ดังเช่น พื้นฐานกฎหมายควบคุมซึ่งผ่านมาทางกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรม แต่ในหลายๆ ประเทศกลับมีวิธีปฏิบัติที่ต่างออกไป กล่าวคือมีการตระเตรียมกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการโดยขนบธรรมเนียมต่างๆ การบริการทางไปรษณีย์ กรรมการท้องถิ่นหรือกรรมการแห่งชาติ สำหรับการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือการแสดงบนเวทีต่างๆ 

เท่าที่สำรวจ ในทศวรรษที่ 1990s มากกว่า 50 ประเทศได้มีการรวมตัวกันเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาติสำหรับการควบคุมเกี่ยวกับการพิมพ์และการโฆษณาเผยแพร่สื่อลามก-อนาจาร ที่น่าสนใจ การประชุมอันนี้กระทำขึ้นโดยปราศจากการให้นิยามใดๆ เกี่ยวกับสื่อลามก-อนาจารออกมาอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะมันเป็นที่ตกลงกันว่า การตีความเกี่ยวกับสื่อลามกนั้น มันเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขนบประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งมีความลักลั่นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้ การให้นิยามจึงความผิดแผกกันไปในแต่ละประเทศ เช่นที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในโลกอาหรับ กับโลกตะวันตก

ศิลปะอีโรติกา (งานศิลปะกามวิสัย)

Erotica art สำหรับคำว่า Erotica เป็นชื่อเรียก ซึ่งใช้เรียกขานผลงานทางด้านศิลปะ งานเขียน หรือภาพถ่าย หรือการแสดงต่างๆ – ที่ได้จำลองเรื่องทางเพศออกมาอย่างแจ่มแจ้ง แต่ในเวลาเดียวกัน มันได้ครอบครองหรือคงไว้ซึ่งคุณค่ามากพอที่จะหนีรอดไปจากการตำหนิหรือประณามว่า เป็นภาพโป๊ (pornography) หรืออนาจาร (obscenity) ไปได้ 

สำหรับคำว่า Erotica เดิมทีมาจากคำว่า Eros อันเป็นชื่อเทพเจ้าของกรีกที่เกี่ยวข้องกับความต้องการ-ความปรารถนาในเรื่องความรักที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางเพศ เทพองค์เดียวกันนี้ชาวโรมันทั้งหลายเรียกว่า Cupid 

ในส่วนของคำว่า Erotica จริงๆ แล้ว ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้มันได้รับการคิดศัพท์คำนี้ขึ้นมาโดยบรรดาคนขายหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ผู้ซึ่งต้องการที่ปรับให้งานวรรณกรรมที่ส่อไปในเรื่องทางเพศเป็นที่น่าเคารพมากขึ้น เนื่องจากความลามก-อนาจารของมันดังกล่าว อาจจะถูกตำรวจจับกุมนั่นเอง 

จวบจนกระทั่งในคริสตศตวรรษที่ 20 มานี้นี่เอง บรรดาศิลปินหลายคนได้สร้างงาน Erotica ของพวกเขาขึ้นมาอย่างประหม่าขวยเขิน แม้มันจะเป็นแนวคิดที่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อจำแนกสิ่งที่มีคุณค่าซึ่งตกทอดมาของอดีต. ผลงานต่างๆ ที่มีคุณค่าเชิงศิลปะ, เชิงสังคม, หรือประวัติศาสตร์ในแนวนี้ล้วนเรียกกันว่า ภาพ Erotica แต่ถ้าปราศจากซึ่งคุณค่าดังกล่าวแล้วก็จะเป็น “ภาพโป๊” (pornography) ธรรมดาทั่วไปเท่านั้น 

หลังจากถูกแบนมานานกว่าสามสิบปี Lady Chatterley’s Lover ของ ดี เอช ลอว์เรนซ์ ขายหมดภายในชั่วโมงเดียวหลังจากออกวางจำหน่ายในปี 1960

ความแตกต่างนั้น บ่อยครั้งเป็นเรื่องของรสนิยม และรสนิยมต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บรรดานวนิยายสมัยใหม่เป็นจำนวนมาก, รวมทั้งเรื่อง ULYSSES ของ James Joyce (1922), เรื่อง LADY CHATTERLEY’S LOVER ของ D.H. Lawrence (1928), และเรื่อง LOLITA ของ Vladimir Nabokov (1955) ถือกันว่าเป็นเรื่องโป๊ทั้งสิ้น เมื่อแรกที่นวนิยายเหล่านี้ปรากฏขึ้นมา แต่ต่อมาภายหลังกลับพบว่า นวนิยายเหล่านี้ต่างก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าเชิงศิลปะและสังคม ซึ่งอยู่ในข่ายของงานศิลปะที่เรียกว่าอีโรติค 

มีอยู่หลายต่อหลายกรณีมาก ที่ความตั้งใจของศิลปินได้ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นบรรทัดฐานเบื้องต้น. ถ้าหากว่าผลงานอันนั้นถูกตั้งใจเพียงเพื่อปลุกเร้าความสนใจหรือความพึงพอใจทางเพศอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นเลย ผลงานนั้นก็ไม่มีคุณค่าอะไร และสมควรที่จะละทิ้งไปได้ในฐานะที่เป็นเรื่องเหลวไหลหรือไร้สาระ แต่ถ้าหากว่า ศิลปินมุ่งที่ต้องการจะสำรวจในเรื่องทางเพศอย่างจริงจัง (ซึ่งอาจไปเกี่ยวพันกับเรื่องทางจิตวิทยาหรือสังคมวิทยา ที่อาจไม่จำเป็นต้องชัดเจนเหมือนงานทางวิชาการ) ผลงานชิ้นดังกล่าวสมควรที่จะได้รับการเรียกขานว่า erotica แต่อย่างไรก็ตาม สาระอันนั้นมันยังค่อนข้างจะคลุมเครืออยู่ 

ในช่วงปี 1989-1990 มีงานนิทรรศการของ Robert Mapplethorpe ในประเด็นที่เกี่ยวกับ homoerotic photographs (ภาพถ่ายเกี่ยวกับโฮโมอีโรติค หรือเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน) งานนิทรรศการครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการปะทุทางอารมณ์และความเกรียวกราวของสาธารณชนมาก และนอกจากนี้ มันยังได้นำไปสู่ความขัดแย้ง การทะเลาะกัน และความหัวเสียเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ที่ต่อเนื่องยาวนานต่อมาพอสมควร

[หมายเหตุ: ความรังเกียจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มีต่อเพศเดียวกัน หากสืบย้อนกลับไป จะไปเกี่ยวพันถึงแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วงต้น ที่ต้องอาศัยแรงงานเป็นจำนวนมากเพื่อมาทำงานกับเครื่องจักร และความเชื่อที่ถูกประนามในศาสนาคริสต์] 

ภาพอีโรติคในวัฒนธรรมตะวันออก

วัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตกอันหลายหลาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมตะวันออก นับแต่โบราณเป็นต้นมา ต่างครอบครองหรือเป็นเจ้าของขนบประเพณีโบราณต่างๆ บางอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะอีโรติคอันนี้เอาไว้ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่โต้เถียงกันในตะวันตก 

ในคริสตศตวรรษที่ 20 ชาวตะวันตกได้มีการตีพิมพ์ภาพ erotica art โดยทำขึ้นมาในรูปของหนังสือที่มีราคาแพง. ภาพสลักหินแบบเหมือนจริงที่มีคุณค่าอย่างสูงในรัฐ Orissa ในอินเดียตะวันออก, งานเหล่านี้นับอายุย้อนกลับไปถึง อย่างน้อยก็คริสตศตวรรษที่ 1 เลยทีเดียว งานภาพสลักเหล่านี้ถูกทำให้สัมพันธ์กับลัทธิบูชาพระกฤษณะ (Krishna) ซึ่งยังได้ให้กำเนิดขนบประเพณีต่างๆของจิตรกรรมแบบอีโรติคด้วย(ดูภาพประกอบที่ 1), รวมทั้งกวีนิพนธ์, และการร่ายรำ

กามสูตร (KAMA-SUTRA) [อ่านเพิ่มเติมในภาคผนวก], คัมภีร์สันสกฤตเกี่ยวกับเรื่องความรักได้รับการเขียนขึ้นมาในระหว่างคริสตศตวรรษที่ 4-7 ได้กลายเป็นเรื่อง erotic ของคนขายหนังสือเมื่อ Sir Richard Burton ได้แปลมันไปสู่ภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1883 

สำหรับขนบประเพณีต่างๆเกี่ยวกับอีโรติคของจีน และญี่ปุ่นก็มีความเก่าแก่มานานแล้วเช่นกัน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทางโลกมากกว่าเป็นเรื่องทางศาสนาหรือความศักดิ์สิทธิ์ (secular rather than sacred) ในญี่ปุ่นสมัยเอโดะ (ราวคริสตศตวรรษที่ 17-19) เราจะได้พบเห็นความเจริญและความเฟื่องฟูอันหนึ่งของกวีนิพนธ์อีโรติค รวมทั้งนวนิยายทำนองเดียวกันนี้ และงานจิตรกรรมในเนื้อหาดังกล่าว สำหรับเรื่องที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับอีโรติคของจีนและงานทางด้านทัศนศิลป์ นับย้อนกลับไปถึงคริสตศตวรรษที่ 16 และก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ยังมีภาพอีโรติคเป็นจำนวนมากในกวีนิพนธ์อิสลามิกในช่วงยุคกลางด้วยเช่นกัน

และเมื่อมองในสายตาที่เป็นไปในด้านตรงข้ามเชิงผกผัน จะพบว่าว่า ในคริสตศตวรรษที่ 20 บรรดาผู้จำหน่ายจ่ายแจกเรื่อง erotica ของตะวันออกไปสู่ตะวันตกได้บ่มเพาะความเป็น puritanical (เกี่ยวกับความเคร่งครัดในทางศาสนาอย่างบริสุทธิ์) อย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาด้วย 

5. ภาพอีโรติคในวัฒนธรรมตะวันตก 

วัฒนธรรมกรีกโบราณได้สร้างงานปั้นที่เป็นภาพเปลือย (nude) ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก, แม้ว่าในจำนวนนั้นเพียงเล็กน้อยจะเป็นภาพจำลองกิจกรรมทางเพศที่ตรงไปตรงมาก็ตาม อย่างไรก็ตาม งานจิตรกรรมอีโรติคบนแจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากศตวรรษที่ 5-4 ก่อนคริสตกาล ได้ให้ภาพเกี่ยวกับการกระทำทางเพศอย่างชัดแจ้งออกมา ทั้งภาพเกี่ยวกับ homosexual (การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน) และ Heterosexual (การมีเพศสัมพันธ์ต่างเพศกัน) 

มีเรื่องที่ฟังดูอาจรู้สึกประหลาดใจเกี่ยวกับงานศิลปะอีโรติคของกรีกข้างต้นนี้ ซึ่งใคร่จะกล่าวก็คือ แม้แต่เมื่อไม่นานมานี้ ถ้วยโถโอชามและแจกันดังกล่าว – แต่เดิมหรือตามปกติเป็นสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านสำหรับชนชาวกรีกมาในสมัยโบราณ แต่เมื่อข้ามผ่านมาสู่ยุคสมัยใหม่ของเรา ซึ่งได้รับการบ่มเพาะมาอย่างประหลาดผ่านความเชื่อทางศาสนาของตะวันตก มันได้ก่อให้เกิดความอึดอัดใจแก่บรรดาภัณฑารักษ์สมัยใหม่ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ผู้ซึ่งเกรงว่า การนำเอาผลงานแจกันกรีกเหล่านี้ออกแสดงในนิทรรศการ บางทีมันอาจจะไปกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของบรรดาผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม ในสายตาของชนชาวกรีกโบราณ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวแทนหรือภาพแทน ที่ไม่มีอะไรเกินเลยมากไปกว่าฉากต่างๆ ของชีวิตประจำวันเท่านั้น 

ในหัสนาฏกรรมทั้งหลายของชนชาวกรีก (Greek comediies) อย่างเช่น เรื่อง Aristophanes’ Lysistrata (411 BC) ได้ใช้ภาษาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา หรือแบบขวานผ่าซากส่วนใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นไปในทำนองเสียดสีและล้อเลียนนั่นเอง 

วัฒนธรรมของชาวโรมัน อย่างที่ทราบและรู้กัน มันมีลักษณะที่ละม้ายคล้ายคลึงกับศิลปะกรีก(ทั้งนี้เพราะ โรมันได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะมาจากอารยธรรมที่ตนได้ชัยชนะมานั่นเอง) และเป็นศิลปะของการเปิดเผย แต่ส่วนใหญ่ของศิลปะเหล่านี้ได้ถูกทำลายลงไปโดยกาลเวลา และโดยอำนาจต่างๆ ของคริสเตียนสมัยที่เรืองอำนาจต่อมาอย่างใดอย่างหนึ่งในคริสตศตวรรษที่ 4 

อย่างไรก็ตาม จากการที่เมือง Pompeii และ Herculaneum ได้ถูกฝังกลบโดยเถ้าถ่านของการระเบิดของภูเขาไฟ Vesuvius ใน ค.ศ. 79 กองเถ้าถ่านเหล่านั้นได้ทำหน้าที่เสมือนแคปซูลเวลาที่นำพาเอาศิลปะของพวกเขาข้ามผ่านห้วงเวลามาอย่างปลอดภัยโดยไม่บุบสลายจนถึงทุกวันนี้ และได้มาเปิดเผยให้เห็นถึงงานศิลปะของพวกเขาอีกครั้งในยุคของเรา ด้วยการขุดค้นทางโบราณคดีสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 18 แต่พวกเราส่วนใหญ่กลับรู้สึกตั้งข้อรังเกียจกับสิ่งที่ตนได้พบเห็น 

บรรดานักขุดค้นได้พบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่โรงโสเภณีต่างๆ และห้องที่ใช้ในการประกอบพิธีสมรส ตามพยานหลักฐานที่พบ ทำให้มีการสันนิษฐานว่า ภาพเหล่านี้ตั้งใจที่จะทำขึ้นเพื่อสนองตอบต่อแรงดลใจแก่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่เหล่านั้น นอกจากนี้ จากการขุดค้นยังได้พบศิลปะที่เกี่ยวกับองคชาติเป็นจำนวนมาก (phallic art) รวมทั้งเครื่องรางและตุ้มหูต่างๆ ที่จำลองเป็นรูปขององคชาติด้วย 

อย่างไม่ต้องสงสัย วัตถุพยานข้างต้น มันได้ก่อให้เกิดอาการช๊อคในสิ่งที่พบเห็นซึ่งเกิดกับผู้สังเกตุการณ์ทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะ การขาดเสียซึ่งความเข้าใจในมโนคติที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ที่ข้ามยุคมาหลายๆสมัยนั่นเอง วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของชนชาวโรมัน ดูเหมือนว่า พวกเขาได้กระทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ 

สำหรับชนชาวโรมัน ก็เหมือนกับกับชาวกรีก กล่าวคือ การเปลือยกายนั้น ในตัวของมันเองไม่ใช่เป็นเรื่องอีโรติคหรือเรื่องของกามโลกีย์แต่อย่างใด แต่มันคือวิถีชีวิตตามปกติของพวกเขา ซึ่งไม่เกี่ยวพับเรื่องของการมักมากในกามคุณอย่างที่เราเข้าใจกันเอาเอง 

อารยธรรมของชาวโรมันยังได้ผลิตวรรณคดีจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องของอีโรติคขึ้นมาด้วย ซึ่งได้เหลือรอดหลุดมาจากการตรวจสอบและการเซ็นเซอร์ของชาวคริสเตียน บทเพลงต่างๆ ของ Catullus และบทกวีต่างๆ ในศิลปะเกี่ยวกับความรักของ Ovid (ทั้งคู่มีอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตศักราช) บ่อยครั้ง มันได้สะท้อนถ่ายเรื่องราวทางเพศอย่างแจ่มแจ้ง 

ในเรื่อง Satyricon ของ Petronius นักเสียดสีเยาะเย้ยชาวโรมัน (ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ.66) (หมายเหตุ: Satyr เป็นเทพที่อยู่ในป่าในปกรณัมของกรีกโบราณมีลักษณะต่างๆ ของม้าหรือแพะที่หลงรักความสำราญอย่าง Dionysian) และบทกวีที่สั้นกระทัดรัดและมีความเฉียบแหลมต่างๆ ของ Martial (มีอายุอยู่ในราว คริสตศตวรรษที่ 1) รวมกระทั่งถึงงานประพันธ์ประเภทเสียดสีประชดประชันต่างๆ ของ Juvenal (คริสตศตวรรษที่ 1-2) ได้แสดงออกให้เห็นถึงความประพฤติอันเกินเลยทางเพศของสังคมชาวโรมัน ซึ่งได้รับการพรรณาออกมาอย่างยิ่งใหญ่และอย่างเปิดเผย 

แม้ว่านักอ่านสมัยใหม่จะพบว่าผลงานต่างๆเหล่านั้นเป็นเรื่องของกามโลกีย์ โดยไม่น่าจะมีอะไรมากเกินไปกว่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว บรรดานักประพันธ์ที่กล่าวนามมานี้ มุ่งหมายให้มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในยุคสมัยของตน 

สำหรับศาสนาคริสต์ เนื่องด้วยความไม่ไว้วางใจในเรือนร่างของมนุษย์ จึงไม่ได้สร้างงานศิลปะอีโรติคขึ้นมา และซ้ำร้ายไปกว่านั้น กลับเป็นผู้ทำลายภาพผลงานศิลปะอิโรติคเหล่านั้นที่เหลือรอดมาถึงยุคสมัยของตนที่รุ่งเรืองด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่จะสิ้นสุดของยุคกลาง บทกวีที่เรียกว่า troubadour (บทกวีที่มีลักษณะบรรยายความรู้สึกอันเร่าร้อนอันหนึ่งในเชิงการเกี้ยวพาราสี – คริสตศตวรรษที่ 13-14) ความรักทางโลกได้หวนกลับมาสู่วรรณคดีอีกครั้ง แต่ผลงานเหล่านั้นเป็นเพียงเรื่องกามโลกีย์ในรูปของความบังเอิญเท่านั้น 

อารยธรรมตะวันตกหลังจากสมัยกลาง

หลังจากสมัยกลาง อารยธรรมตะวันตกได้ก้าวมาสู่ยุคของการฟื้นฟู หรือยุคเรอเนสซองค์ ยุคดังกล่าวถือเป็นการฟื้นคืนอดีตใหม่อีกครั้ง จากการได้หวนกลับไปเรียนรู้เรื่องราวโบราณในสมัยกรีกและโรมัน เรอเนสซองค์ยินยอมให้มีการเลียนแบบผลงานคลาสสิคของกรีกและโรมันขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง บรรดาช่างหรือศิลปินในยุคนี้ได้มีการจำลองแบบผลงานต่างๆ ที่มีลักษณะคลาสสิคของอู่อารยธรรมของตน อย่างเช่น งานจิตรกรรมมากมายเกี่ยวกับภาพเปลือยของ Titian และ Rubens พร้อมกับผลงานประติมากรรมโดย Bernini และคนอื่นๆ อีกมากมาย ที่ได้เข้ายึดกุมคุณภาพผลงานศิลปะในลักษณะของอีโรติค อย่างแจ่มชัด 

ในขณะเดียวกันกับที่กล่าวข้างต้น ก็ได้เกิดแรงต้านขึ้นมาเช่นกัน มีการหวนกลับไปสู่สำนึกของศาสนาในเวลาต่อมา และได้ขยายผลไปสู่ความเคร่งครัดของขนบจารีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในยุควิคตอเรียน และสำนึกดังกล่าวได้ส่งผลมาเป็นความฝังใจที่ยังหลงเหลือในยุคปัจจุบัน 

แม้กระทั่งคริสตศตวรรษที่ 20 ความตั้งใจทั้งหลายทางศิลปะชั้นสูง ยังคงรู้สึกว่าต้องปิดบังหรือซ่อนเร้นการมีอยู่ของงานศิลปะที่มีปัจจัยต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศเอาไว้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ผลงานต่างๆที่เกี่ยวกับงานเขียนที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องราวกามโลกีย์อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้ถูกลดตำแหน่งความสำคัญลงมาอยู่ต่ำสุด และหิ้งหนังสือก็ถูกปิดไม่ยอมเปิดรับให้มีเนื้อที่สำหรับงานวรรณกรรมเหล่านี้ ผลงานอีโรติคได้ลดระดับลงไปเป็นเรื่องโป๊-เปลือย-ลามก-และอนาจารใต้ดิน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 20 ข้อจำกัดทั้งหลายที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องกันมา ก็ค่อยๆ พังทลายลง. อย่างค่อยเป็นค่อยไป อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องราวที่สัมพันธ์กับอีโรติคได้ผลิหน่อออกผล และพัฒนาขึ้นในรูปแบบต่างๆ ทางศิลปะอย่างหลากหลาย ซึ่งในที่นี้ต้องการจะกล่าวถึงบรรดาศิลปินในแนวอีโรติคที่มีนับเป็นจำนวนร้อยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น อย่างเช่น:

Nude in an Armchair
Nude in an Armchair Artist: Pablo Picasso (Spanish, Malaga 1881–1973 Mougins, France)

Anais Nin, Henry Miller และ Pauline Reage (The Story of O, 1954; Eng. trans.,1970) ได้เขียนเรื่องราวในลักษณะที่เป็นแนวอีโรติคอย่างเข้มข้นขึ้น ส่วน Pablo Picasso ได้วาดภาพลายเส้น และเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับภาพเปลือยต่างๆ ขณะที่ Georgia O’ Keeffe ได้ให้ภาพที่แสดงเป็นนัยๆ เกี่ยวกับอีโรติคกับงานจิตรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับดอกลิลลี่ (ดูภาพประกอบที่ 3) และรูปกะโหลกศีรษะที่มีลักษณะส่อนัยไปทางนั้น 

ผู้กำกับภาพยนตร์ Bernardo Bertolucci มีแนวโน้มมุ่งไปยังเรื่องโป๊-เปลือยในงานภาพยนตร์ของเขาใน Last Tango in Paris (1972); Martha Graham ได้ดำเนินอาชีพอันยาวนานมาเป็นทศวรรษๆเกี่ยวกับศิลปะของการร่ายรำเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะที่เจือปนกับอารมณ์ความรู้สึกแบบอีโรติค; และแม้แต่ผลงานทางด้านดนตรี, Bolero ของ Maurice Ravel เป็นดนตรีฮิตและนิยมกันมากในเชิงอีโรติค และต้องแสดงความขอบคุณต่อภาพยนตร์เรื่อง “10” ในปี ค.ศ.1979 ของ Blake Edwards ที่นำเอาดนตรีนี้มาใช้ 

กับสิ่งเหล่านี้ จะต้องได้รับการผนวกเพิ่มเติมอีกเป็นทิวแถวกับสิ่งที่ต่อเนื่องมามากมาย เกี่ยวกับผลงานต่างๆที่ไปสัมพันธ์กับเรื่องทางเพศ นำหน้ามาโดย The Joy of Sex (1972), กับเรื่อง Gay (gay – รักร่วมเพศระหว่างเพศชายด้วยกัน) และการส่งเสริมเรื่องราวของบรรดาผู้นิยมเลสเบียน (lesbian – รักร่วมเพศระหว่างหญิงด้วยกัน) และผลที่ติดตามมาก็คือ ความสนุกสนานได้เพิ่มทวีความรู้สึกมากยิ่งขึ้น 

พร้อมด้วยบรรดานิตยสารต่างๆ ที่จำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน อย่างเช่น Playboy, Playgirl, Penthouse, Honcho และ อื่นๆ อีกจำนวนนับไม่ถ้วน. เคเบิลทีวีก็ได้มีส่วนในการนำเสนอเรื่องราวอีโรติคผ่านสื่อชนิดนี้ด้วย. ในขณะเดียวกัน ความเกรงกลัวเกี่ยวโรคเอดส์ได้ทำให้เกิดการเบ่งบานขึ้นมาอันหนึ่งเช่นกัน นั่นคือ sex phone ซึ่งเป็นการสนทนาและการทำสุ่มเสียงที่สื่อในทางอีโรติคผ่านทางคู่สายโทรศัพท์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่างๆ

บรรดานักสังเกตุการณ์บางคนยังคงถือว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดเป็นเรื่องโป๊ (pornography) ต่อไป การโต้เถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้จะไม่หยุดลงง่ายๆ แต่ความนิยมซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของมันได้เสนอว่า สาธารณชนโดยทั่วไป ปัจจุบัน เพลิดเพลินหรือสนุกสนานกับมันในฐานะที่เป็นเรื่องอีโรติคและไม่ได้ตั้งใจที่จะเลิกลาจากสิ่งเหล่านี้ 

ภาคผนวก 1 : The history of pornography : ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊ และเปลือย

กามสูตร ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊

กามสูตร 

Kama sutra “กามสูตร”คือ ปกรณัมโบราณของอินเดีย เป็นเรื่องของเทพเจ้าแห่งความรัก (กามเทพ) 

ความเป็นมาแต่เดิมนั้น ในสมัยพระเวท กามเทพเป็นเทพที่ได้ทำให้ความปรารถนาแห่งจักรวาล หรือแรงกระตุ้นแห่งการสร้างสรรค์กลายเป็นบุคคลาธิษฐานขึ้นมา และได้รับการเรียกขานว่า”ปฐมเหตุแห่งการกำเนิดของความวุ่นวายสับสนในยุคเริ่มแรก” (the first-born of the primeval chaos) ซึ่งได้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์ภายหลังต่อมาทั้งหมด 

ในยุคต่อมา กามเทพได้รับการวาดขึ้นในฐานะที่เป็นบุรุษรูปงาม ที่อยู่ร่วมกับเทพธิดาที่เต็มไปด้วยความงดงามหลายองค์ พระองค์เป็นผู้แผงศรที่ทำขึ้นจากเกษรดอกไม้ (flower-arrows) เพื่อดลให้เกิดความรักขึ้น คันศรของพระองค์นั้นทำด้วยลำอ้อย (sugarcane) ส่วนสายของคันศรเรียงร้อยขึ้นมาจากตัวผึ้ง 

ครั้งหนึ่งพระองค์ (กามเทพ) ทรงถูกควบคุมโดยเทพเจ้าองค์หนึ่ง เพื่อให้ไปกระตุ้นกำหนัดขององค์พระศิวะที่มีต่อพระนางปารวาตี (Shiva) (Parvati) พระองค์ได้ไปรบกวนการทำสมาธิของเทพเจ้าอันยิ่งใหญ่บนยอดบรรพต. การกระทำครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการพิโรธขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ องค์พระศิวะจึงได้เผาพระองค์ (กามเทพ) จนกลายเป็นจุลด้วยพระเพลิงแห่งดวงพระเนตรที่สาม. ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงกลายเป็นอนัตตา (ananga) (Sanskrit: “the Bodiless”-ไม่มีตัวตน) แต่ในบางเรื่องกล่าวว่า องค์พระศิวะ ในไม่ช้า ได้ทรงประทานอภัยและฟื้นคืนชีวิตให้กับองค์กามเทพ ภายหลังจากการขอร้องของพระมเหสีของพระองค์, คือพระนางราตี (Rati) 

สำหรับศัพท์คำว่า Kama (กาม ในภาษาสันสกฤต) ยังหมายถึงการดำเนินชีวิตอันเหมาะสมของผู้ชาย ในบทบาทของเขาในฐานะที่เป็นผู้ครองเรือนหรือพ่อบ้าน ซึ่งเกี่ยวพันกับความพึงพอใจและความรัก 

[หมายเหตุ : วิถีการดำเนินชีวิตของฮินดูแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ พรหมจรรย์(วัยอันบริสุทธิ์) คฤหัสถ์ (วัยครองเรือน-หนุ่มสาว / เป็นวัยที่มีความข้องเกี่ยวกับกาม) วนปรัส(วัยปลดเกษียณหรือวางมือจากการงานอาชีพ ออกไปอยู่ป่า) สันยาสี(การแสวงหาความสงบ)] 

ส่วนคำว่า Kama-sutra เป็นชื่อของคัมภีร์คลาสสิคเล่มหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องกามวิสัยต่างๆ(erotics) และรูปแบบอื่นๆเกี่ยวกับความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์ของมนุษย์ The Kama-sutra (กามสูตร), เชื่อกันว่าเป็นงานของปราชญ์ วาสยะยานะ (Vatsyayana) 

ภาคผนวก 2 : ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊ และเปลือย : The history of pornography

กวีนิพนธ์เกี่ยวกับความรัก 

Love Poetry / ประสบการณ์ทั้งหมดในเรื่องกามวิสัย (erotic experience) นับจากขั้นตอนพัฒนาการในช่วงแรกของความรัก ไปสู่ช่วงหลังต่อมาของการบรรลุผลสำเร็จ ได้ถูกนำเสนออย่างฉลาดหลักแหลมในกวีนพนธ์แบบลำนำเกี่ยวกับการขับกล่อม แต่ในท่ามกลางของเรื่องราวต่างๆ อันมากมายนั้น ที่มา มาจากแรงดลใจในเรื่องของความรัก บรรดากวีทั้งหลายได้รับการกระตุ้นไปสู่การคร่ำครวญหวลไห้ของคู่รักที่แยกจากกันไป ส่วนใหญ่แล้ว เป็นความทุกข์ระทมของผู้หญิงที่ได้รับการพรรณาถึง แต่ความเศร้าโศกของผู้ชายก็ได้ถูกนำมาพรรณาด้วยเช่นเดียวกัน – อย่างเช่นใน Maghaduta ของ Kalidasa เป็นตัวอย่าง 

ลำนับขับกล่อมในเรื่องความรักประกอบด้วยร้อยกรองโดดๆ ซึ่งจำนวนมากของลำนำเหล่านี้ เป็นการแสวงหาและการนำเสนอห้วงอารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวกับ shrngara (ความรักทางกาย) ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับกามวิสัยอย่างสุดขั้ว แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องหยาบช้าลามก หรือแทบจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย 

ทั้งนี้เพราะ บรรทัดฐานของวรรณคดีสันสกฤต ได้มีการห้ามปรามเกี่ยวกับการแสดงออกที่หยาบโลน (coarse expression) สำหรับบทกวี หรือละครที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ; อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อห้ามเช่นนั้น แต่ทางออกสำหรับความเป็นไปได้ที่จะแสดงออกในเรื่องราวของความรักก็มีหนทางที่เป็นไปได้ต่างๆ อย่างมากมาย 

สำหรับนักอ่านสมัยใหม่,การพาดพิงถึงเรื่องของอวัยะวะเพศอย่างตรงๆ ทื่อๆแทบจะไม่พบเห็นเลยในวรรณกรรมสันสกฤตเหล่านี้ และที่ใดก็ตามที่มีการพาดพิงถึงสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา มันก็ค่อนข้างที่จะได้รับการนำเสนอออกมาอย่างคลุมเครือและอำพรางอย่างละเมียดละมัยถึงที่สุด. ส่วนต่างๆของร่างกายที่มีความหมายต่างๆทางเพศซึ่งปิดบังน้อยกว่า อย่างเช่น หน้าอกและสะโพก จะได้รับการพูดถึงและอธิบายอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา – และตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนต่างๆเหล่านี้จะได้รับบรรยายถึงในลักษณะของการยกย่องสรรเสริญ 

ในการพาดพิงถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ชาวอินเดียจะอาศัยศาสตร์ทางด้านการใช้ภาษา หรือถ้อยคำเกี่ยวกับ The Kama-sutra ของ Vatsyayana ซึ่งก็เท่ากับการไปปลุกเร้าคัมภีร์เล่มนี้ให้ตื่นขึ้นมาบ่อยๆ ประหนึ่งว่า เป็นคัมภีร์โบราณอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้คงแก่เรียนของอินเดีย และเป็นไปได้ที่ว่า มันจะทำหน้าที่ปกป้องต่อความรู้สึกอันหนึ่งของความอัปยศหรือความน่าละอายที่จะพูดถึงเรื่องราวเพศสัมพันธ์ในโลกที่ตั้งข้อรังเกียจกับเรื่องเหล่านี้ 

ในส่วนของโลกตะวันตก ศัพท์ภาษาลาตินได้ถูกนำเอามาใช้และพึ่งพาเช่นกัน เมื่อจะกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ และการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นเรื่องในทำนองดังกล่าว แต่จะเป็นคำที่สั้นและกระทัดรัดกว่า และเป็นคำที่ใช้พูดจากันมากกว่า

บรรณานุกรม : ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊ และเปลือย : The history of pornography

  • Walter Kendrick เรื่อง Erotica 1993 Grolier Electronic Publishing, Inc. 
  • Americana The Encyclopedia (International Edition)
  • Britanica The Encyclopedia
  • The Encyclopedia of World Art 

You may also like

Leave a Comment

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More