หนังสือมีหลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงแค่การบรรยายผ่านตัวอักษร หรือการร้อยเรียงถ้อยคำเท่านั้น บางครั้งนักเขียนเลือกที่จะสื่อสารข้อความเหล่านั้นผ่านรูปภาพ หรือภาพประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจและจินตนาการถึงสิ่งเดียวกัน ศศิ วีระเศรษฐกุล หรือ ‘หยอย-ศศิ วีระเศรษฐกุล’ อดีตสถาปนิกผู้ผันตัวมาเป็นนักเขียนหนังสือภาพ ได้เลือกสื่อสารกับผู้อ่านผ่านทางภาพวาดสีน้ำที่มีลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาเช่นกัน ตัวอย่างผลงานหนังสือภาพ เช่น Something Sometime Somewhere Everyday (เล่ม 1-3) การเดินทางของพระจันทร์ (เล่ม 1-2) และ PARIS ผลงานล่าสุดในชุด Sasi’s Sketch Book 34 days in EUROPE จาก สำนักพิมพ์ ฟูลสต๊อป Fullstop
ทางสำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม ได้มีโอกาสพูดคุยผ่านทางจดหมายกับ ‘ศศิ วีระเศรษฐกุล’ ในประเด็นเรื่องการเขียนหนังสือ และการเล่าเรื่องราวผ่านภาพวาด รวมถึงการทำงาน และการปรับตัวของนักเขียนในยุคโควิด นี่คือบทสัมภาษณ์ที่เรียกได้ว่าจะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับนักเขียนผู้มีลายเส้นอบอุ่นคนนี้มากขึ้น
Q: ใช้เวลานานแค่ไหนในการเขียนหนังสือ 1 เล่ม
A: แต่ละเล่มใช้เวลาไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยคือ 6 เดือนต่อเล่ม แบ่งเป็นช่วงหาข้อมูล 2 เดือน และช่วงทำต้นฉบับแบบจริง 4 เดือน บางเล่มวางแผนเป็นปีๆ เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ พอครบก็ค่อยลงมือทำ ตัวอย่างเช่น เล่ม ‘PARIS’ ช่วงหาข้อมูลจะนานหน่อย เพราะต้องเตรียมเดินทางไปยุโรปก่อนจะไป ช่วงที่ไปรวมๆ 6 เดือน พอกลับมาค่อยมานั่งเขียนใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
Q: ทำไมจึงใช้ภาพประกอบสื่อความหมาย หรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แทนการเขียนบรรยาย
A: เพราะความเคยชินและคุ้นเคยกับการวาดมากกว่าการเขียน เลยเลือกเทคนิคนี้ในการเล่าเรื่องตลอดที่ทำหนังสือมา
Q: ส่วนใหญ่หาแรงบันดาลใจจากอะไรในการเขียนหนังสือ
A: หาจากเรื่องรอบๆ ตัว ส่วนใหญ่จะเริ่มจากตัวเอง เช่น เรื่องที่สนใจ เรื่องที่อยากรู้ และเรื่องที่อยากเล่าให้คนอ่านฟัง
Q: ในช่วงที่เรียนรู้การใช้สีน้ำ คิดว่าเรื่องใดที่ทำความเข้าใจหรือฝึกฝนยากที่สุด
A: เวลาในการทดลอง เพราะความไม่รู้ว่าเทคนิคแค่ไหนจึงจะเหมาะสม ถ้ามีเวลามากพอจะได้ลองเยอะๆ แต่เท่าที่ผ่านมาใช้เทคนิคเรียนรู้ไปทดลองไประหว่างทำ ที่ยากคิดว่าเป็นเพราะเวลาไม่พอ
Q: ระหว่างการวาดภาพสีน้ำกับการเขียนหนังสือชอบ หรือถนัดทำสิ่งใดมากกว่ากัน
A: ข้อนี้ตอบง่าย วาดภาพสีน้ำ
Q: เคยเขียนหนังสือแบบบรรยายล้วนไหม
A: ไม่เคย
Q: คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของการเล่าเรื่องราวโดยใช้รูปวาด
A: คำถามข้อนี้ตอบยากมาก เอาเป็นว่าเสน่ห์ของหนังสือภาพคือ การสื่อสารมิติต่างๆ หลากหลาย ให้คนอ่านรับรู้และตีความได้จากการมองแค่ภาพ โดยไม่ต้องมีคำอธิบาย
Q: ส่วนใหญ่ชอบวาดรูปแนวไหน เช่น สิ่งของ อาคาร บุคคล
A: ชอบวาดอาคาร เช่น บรรยายบ้านเมือง วิวทิวทัศน์ต่างๆ
Q: คิดว่าผลงานของตัวเองมีจุดเด่นตรงไหน
A: จากคำบอกเล่าของนักอ่าน เขาบอกว่าสีน้ำน่ารัก ชอบสีน้ำใสๆ ลายเส้นดูไม่ซับซ้อน แต่เต็มไปด้วยรายละเอียด
Q: มีช่วงเวลาหมดไฟกับการเขียนหนังสือ หรือวาดรูปบ้างไหม มีวิธีจัดการอย่างไร
A: ที่ผ่านมายังไม่มีช่วงหมดไฟ อาจจะเพราะเพิ่งเริ่ม ส่วนใหญ่จะทำไม่ทันและเหนื่อยจากงานอื่นทำให้ไม่มีแรงเขียน วิธีแก้อาการเหนื่อยคือพยายามออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
Q: มีความคิดอยากจัดนิทรรศการภาพวาดของตนเองบ้างไหม
A: ตอนนี้ยังไม่อยาก คงต้องสะสมผลงานไปเรื่อยๆ ก่อน
Q: วางโครงสร้างของหนังสืออย่างไรเวลาเริ่มทำงาน
A: ข้อนี้ตอบยาก ที่ผ่านมาแต่ละเล่มมีความแตกต่างกัน แต่โดยรวมผมแบ่งโครงสร้างออกแบบสามส่วน คือ 1) ช่วงหาข้อมูล 2) ช่วงทำแบบร่างตัวอย่างหนังสือ 3) ช่วงทำแบบจริงตัดเส้นลงสีน้ำ
Q: มองอนาคตหนังสือภาพอย่างไรบ้าง
A: น่าจะไปเรื่อยๆ ไม่หวือหวา น่าจะมีแนวทางหรือหนทางอะไรใหม่ๆ เข้ามาทดแทน
Q: ชอบวาดภาพในกระดาษหรือแบบกราฟฟิกมากกว่า
A: กระดาษล้านเปอร์เซ็นต์
Q: ตอนว่าภาพแรกๆ คิดว่าภาพเหล่านี้จะกลายมาเป็นหนังสือหรือไม่
A: แรกๆ ไม่เคยคิด (ตอนนี้ถือว่ามาไกลเกินคาด)
Q: ตอนส่งหนังสือให้สำนักพิมพ์พิจารณายากไหม หรือมองว่าสำนักพิมพ์“ฟูลสต็อป” จัดพิมพ์หนังสือแนวภาพอยู่แล้วหรือไม่
A: ยากไหม ไม่ยาก เพราะรู้จักเจ้าของสำนักพิมพ์เป็นการส่วนตัว เคยได้ร่วมทำหนังสือเล่มหนึ่งด้วยความบังเอิญ คุยกันทุกคอ เลยลองส่งผลงานให้พี่คิดพิจารณาดู ส่วนรู้ไหมว่าฟูลสต็อปทำหนังสือแนวภาพอยู่แล้ว ตอนแรกไม่รู้แต่พอคุยๆ กันก็มาทราบจากปากพี่จัด
Q: หนังสือเล่มโปรดที่คุณชื่นชอบและอยากแนะนำให้คนอื่นได้ลองอ่าน
A: ขอตอบแบบพ่อค้าขายอาหารตามสั่ง “อร่อยทุกอย่างเลย สั่งเลย” ส่วนเล่มที่อยากแนะนำก็เป็นเล่มใหม่ที่เพิ่งวางขาย ‘PARIS’
Q: สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณเช่นบันทึกเรื่องราวต่างๆ ขณะเดินทางหรือไม่ แล้วคุณมีวิธีปรับตัวอย่างไร
A: กระทบในส่วนการหาข้อมูล เพราะเดินทางไปไหนไม่ได้ ส่วนแบบร่างและแบบจริงไม่มีปัญหาได้ทั้งเวลาและสมาธิเพิ่มด้วย ส่วนการปรับตัวก็พักเล่มที่เป็นท่องเที่ยวไว้ก่อน หันกลับมาเขียนเล่มที่ไม่จำเป็นต้องออกไปหาข้อมูลแทนไปก่อน
Q: ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คุณได้เรียนรู้ทักษะใดเพิ่มเติมหรือไม่
A: ด้านเรียนรู้ทักษะด้านความไม่ประมาทเพิ่มเติม ถ้าเป็นเมื่อก่อนมีโควิดก็จะใช้ชีวิตทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ได้ระวังอะไรมาก แต่พอมีโควิดได้กักตัวอยู่บ้าน 5 เดือนเต็มๆ ก็ได้คิดถึงสมดุลทางด้านร่างกาย จิตใจ คนรักและหน้าที่การงาน
Q: จากสถานการณ์โควิดในปัจจุบันทำให้เสียสมาธิมากน้อยเพียงใดต่อการทำงาน
A: ช่วงแรกๆ เสียสมาธิมาก เพราะเป็นช่วงที่เรายังไม่รู้ แต่พอช่วงแรกผ่านไปช่วงหลังๆ ตัวผมก็ค่อยๆ ปรับตัว เริ่มคุ้นชินมากขึ้น สมาธิก็ค่อยกลับมา
จดหมายสัมภาษณ์ฉบับนี้อาจทำให้เราเห็นแง่มุมการทำงาน ความมุ่งมั่นที่มีต่อการวาดภาพสีน้ำ รวมถึงแง่คิดและวิธีการใช้ชีวิตของ ศศิ วีระเศรษฐกุล ที่ไม่เพียงแต่ทุ่มเทให้การงานเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต