ศวา เวฬุวิวัฒนา
Home Author Biography สัมภาษณ์ ศวา เวฬุวิวัฒนา : สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ จากนักเขียนนวนิยาย ไปจนถึงนักแปลวรรณกรรม

สัมภาษณ์ ศวา เวฬุวิวัฒนา : สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ จากนักเขียนนวนิยาย ไปจนถึงนักแปลวรรณกรรม

สัมภาษณ์โดย ธุวพร มีโพธิ์
Photographer: Thanachart Chuengyaempin

247 views 6 mins read

สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ จากนักเขียนนวนิยาย ไปจนถึงนักแปลวรรณกรรม

หลังจากที่วรรณกรรมเลื่องชื่อของเชคสเปียร์อย่าง แฮมเล็ต (Hamlet) ได้รับการแปลและเผยแพร่ออกมาสักระยะ เชื่อว่านักอ่านที่รักทั้งหลายคงได้มีโอกาสอ่านบทละครเรื่องนี้กันแล้ว แว่วมาว่านักอ่านของเรามีจุดที่ชอบและสนใจในหนังสือเล่มนี้แตกต่างกันไป แต่จุดที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันและลงคะแนนว่าดีงามไม่แพ้องค์ประกอบอื่นเลยคือภาษาที่แปลออกมาได้น่าประทับใจมาก ประโยคต้นฉบับคมคายยังไงเมื่อแปลออกมาเป็นภาษาไทยก็ยังรักษาอารมณ์ ความรู้สึก และความหมายของคำไว้ได้อย่างครบถ้วน! วันนี้เราเลยจะพาทุกท่านไปรู้จักกับผู้แปลแฮมเล็ตให้มากขึ้น ทั้งในฐานะนักแปล ในฐานะนักเขียน และในฐานะ ศวา เวฬุวิวัฒนา บุคคลที่น่าจับตามองของวงการวรรณกรรมไทย 

แนะนำตัวเองหน่อยได้มั้ย

สวัสดีครับ นามปากกาของผมคือศวา เวฬุวิวัฒนา จบปริญญาโทสาขามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ครับ 

เมื่อสักครู่บอกว่าชื่อศวา เวฬุวิวัฒนาเป็นนามปากกาพอจะเปิดเผยได้มั้ยว่ามีที่มาจากอะไร

ได้ครับ คือจริงๆ ผมชื่อเล่นว่าไผ่ คำว่า ศวา เนี่ยแปลว่า หมา เวฬุ แปลว่าไผ่ ส่วนวิวัฒนาแปลว่า พัฒนา ดังนั้นที่มาของมันก็คือไอ้หมาไผ่พัฒนาแล้วนั่นแหละครับ แม่ผมก็ขำน่ะ แกบอกว่าวิวัฒนาส่วนใหญ่เป็นชื่อโรงงานแต่เราเอามาตั้งเป็นนามปากกา (หัวเราะ)

จุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นนักเขียนและนักแปลเริ่มขึ้นจากอะไร

ผมเป็นคนชอบเขียนนิยาย ผมเขียนนิยายครั้งแรกตั้งแต่เด็กๆ เลย ถ้านึกดีๆ คือตั้งแต่ชั้นประถมสอง ตอนนั้นนี่ถึงขนาดแบบว่าฉีกกระดาษสมุดมาแล้วก็เอามาเขียนนิยาย เอามาเย็บเป็นเล่มขายเพื่อนต่อ จะเรียกตอนนั้นว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนก็ได้ ด้วยความที่แม่ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือและญาติทางฝั่งแม่ผมเป็นคนชอบขีดชอบเขียน ถึงเค้าจะไม่ได้เป็นนักเขียน ไม่ได้ตีพิมพ์ แต่แม่ผมจะคุ้นเคยกับการนั่งอ่านต้นฉบับญาติๆ  เพราะฉะนั้นตอนเด็กๆ เวลาผมเขียนนิยายเสร็จผมจะเอาต้นฉบับไปวางไว้ที่หัวเตียงให้แม่อ่าน ตอนเช้าขึ้นมาผมจะโดนแม่ด่านะเพราะผมสะกดผิด (หัวเราะ)

หนังสือแนะนำ

Hamlet
แฮมเล็ต

วิลเลียม เชคสเปียร์

แสดงว่าครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ก้าวเข้าสู่การเป็นนักเขียนเต็มตัวหรือเปล่า

ใช่ครับ จุดเริ่มต้นของผมก็จะประมาณนั้น จากนั้นพอก้าวเข้าสู่ช่วงมัธยม รุ่นของผมมีแอปพลิเคชัน Dek-D ไม่รู้ว่าสมัยนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า แต่สมัยก่อน Dek-D เป็นแพลตฟอร์มที่ใครอยากเขียนนิยายต้องเข้ามาเขียนที่นี่ ดร.ป๊อบ ที่ดังๆ สมัยนั้นคือรุ่นเดียวกับผมเลยนะ เขาเป็นนักเขียนคนแรกของประเทศไทยที่จะบอกว่าดังจากการเขียนนิยายออนไลน์ก็ได้ เพราะสุดท้ายเขาตีพิมพ์หนังสือนิยายชื่อ The white road ที่ขายดีเป็นเทน้ำท่า กลายเป็นว่าช่วงหนึ่งตอนนั้นใครๆ ก็อยากเขียนใน Dek-D กัน

แล้วเราเคยเขียนเรื่องอะไรลง Dek-D ไหม เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

ถ้าลง Dek-D เนี่ย ผมเขียนเรื่อง “บุตรชายแห่งอัศวิน” เป็นนิยายแฟนตาซีธรรมดานี่แหละ เล่าเรื่องราวของเด็กชายที่พ่อของเขาเป็นอัศวินแต่ไม่มีความกล้าหาญ เขาพยายามที่จะเอาชนะความรู้สึกของตัวเองและค้นหาความกล้า สรุปง่ายๆ คือเป็นนิยายที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของเด็กคนนึงครับ

จากที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าชีวิตของศวา เวฬุวิวัฒนา วนเวียนอยู่กับการเขียนมาตลอด สามารถเรียกการเป็นนักเขียนว่าเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันได้มั้ย

เป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันอยู่แล้วครับ แต่จะเรียกว่าเป็นอาชีพได้มั้ยไม่แน่ใจ เพราะการเป็นนักเขียนในเมืองไทยไม่สามารถที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่มันก็เป็นความฝัน ความเท่ในชีวิตที่อยากจะอยู่ในวงการวรรณกรรม

ในบทสัมภาษณ์ฉบับหนึ่งของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมเคยนิยามสไตล์งานเขียนของคุณไว้ว่า เป็นนักเขียนที่น่าจับตามอง มีสไตล์เรียบง่าย แต่พลุ่งพล่าน เต็มไปด้วยความมืดดำและขุ่นมัว แล้วคุณมองภาพผลงานของตัวเองเป็นแบบไหน

คือผมเป็นคนที่ชอบเขียนนิยายโดยใช้ Inner Dialog  มันคือการใช้เสียงภายในของคน เป็นขนบจากทางวรรณกรรมตะวันตกที่เรียกว่ากระแสสำนึก เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) เป็นนักเขียนจากตะวันตกคนแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่เขียนนิยายแนวนี้เรื่องยูลิสซีส (Ulysses) โดยนิยายเรื่องนี้นำเสนอบทสนทนาภายในของตัวละคร เหมือนกับเสียงพูดที่อยู่ในหัวของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง การเขียนแนวนี้สอดคล้องกับความสนใจของผม สิ่งที่ผมสนใจในนิยายมากที่สุดคือกระแสสำนึก ดังนั้นสำหรับนิยายหนึ่งเรื่องไม่จำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้นหรือจุดจบแต่สิ่งที่สำคัญคือบทสนทนาที่มันอยู่ข้างในตัวละคร ว่าตัวละครกำลังคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร

คิดว่างานกระแสสำนึกเป็นงานที่เสพยากไหม

จริงๆ ขึ้นชื่อว่าเป็นนิยายมันมีข้อจำกัดอยู่ตลอด อันดับแรกเราต้องมองนิยายเป็นอาร์ตก่อน ศิลปะการเขียนนิยายเป็นศิลปะที่เราพยายามจะเลียนแบบชีวิตจริงของมนุษย์ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง พอเป็นเรื่องของกระแสสำนึกถ้าถามว่าเสพยากไหม มันขึ้นอยู่กับว่าคนอ่านมีกรอบในการอ่านแค่ไหน คนเราเกิดมามักจะถูกวางกรอบด้วยสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น คนมองว่าหนังอาร์ตดูยาก เพราะว่าเราถูกตีกรอบเอาไว้ด้วยฮอลลีวูด (Hollywood) ที่สอนว่าหนังหนึ่งเรื่องจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง จุดเริ่มต้น ตรงกลาง จุดจบ จนสุดท้ายมันกลายเป็นการสร้างกรอบให้กับคนดูอย่างเราๆ ทำให้เราดูหนังอาร์ตแล้วเรารู้สึกว่าไม่รู้เรื่อง เพราะเราดันไปคาดหวังกับกรอบที่เรามี เพราะฉะนั้นไอ้คำว่าอ่านง่ายหรืออ่านยาก ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับกรอบมากกว่าว่าคนอ่านอ่านโดยที่มีกรอบอะไรจำกัดตนเองอยู่

มีนักเขียนหรือนักแปลในดวงใจไหม

นักเขียนในดวงใจผมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความรู้สึกของผมเอง ไม่ได้มีนักเขียนในดวงใจ แต่มีคนที่รู้สึกว่ามีอิทธิพลกับตัวเองมากๆ คือ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) งานเขียนของเขาอาจจะไม่ได้พูดถึงกระแสสำนึกก็จริงแต่กลวิธีการเขียนและความเรียบง่ายในสไตล์งานเขียนของเขาทรงอิทธิพลต่องานของผม อีกคนนึงที่มีอิทธิพลต่องานของผมไม่แพ้กันกันคือ มิลาน คุนเดอรา (Milan Kundera) คนที่เขียนหนังสือเรื่องความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต (The Unbearable Lightness of Being)

ศวา เวฬุวิวัฒนา
#image_title

จุดเริ่มต้นการแปลแฮมเล็ต

จุดเริ่มต้นของการแปลแฮมเล็ต คุณเคยบอกว่าเริ่มต้นด้วยเบียร์หลายแก้ว เล่าได้ไหมว่าทำไมถึงตัดสินใจแปล

อ๋อ วันนั้นเมาครับ เรื่องจริงเลย เพราะวันนั้นไปดื่มกับพี่ปอและพี่หมู (นิวัต และปรียา พุทธประสาท ผู้ก่อตั้งเม่นวรรณกรรม) ไม่รู้อีท่าไหน เมาแล้วจับมือตกลงกันแปลผลงานของเชคสเปียร์

แสดงว่านอกจากเบียร์ เชคสเปียร์ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจแปลแฮมเล็ตด้วยใช่ไหม

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ครับ จริงๆ แล้วเชคสเปียร์เป็นนักเขียนใหญ่ของวงการวรรณกรรมโลก และในประเทศไทยการแปลผลงานของเชคสเปียร์ก็ไม่ได้เยอะมาก เล่มสำคัญๆ ของเขาบางเล่มก็ถูกละเลยไป ไหนๆ เราเองก็พอจะมีไฟอยู่บ้างเลยคิดว่าน่าจะลองแปลดูหน่อยดีกว่า

หลังจากตัดสินใจแปลแฮมเล็ตแล้ว เตรียมตัวยังไงบ้าง

พูดได้ป่ะ ฮ่าๆ จริงๆ ก็คือไปซื้อไวน์มาหนึ่งขวดแล้วนั่งแปลครับ คือมันเป็นเรื่องของสุนทรียภาพ นั่งแปลไปรู้สึกว่ามันช่วยให้ไหลลื่นดี อาจจะเป็นเพราะผมชอบผลงานเชคสเปียร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แล้วแฮมเล็ตใช่ผลงานที่ชื่นชอบที่สุดไหม

น่าจะใช่ครับ คือแฮมเล็ตเป็นผลงานชิ้นเอกของเชคสเปียร์และเป็นอะไรที่ชื่นชอบอยู่แล้ว แฮมเล็ตมันเป็นตัวกลางที่ปรัชญาของตะวันตกจะหยิบยกไปใช้บ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่เขาก็เอาแฮมเล็ตไปใช้ เพราะแฮมเล็ตเป็นเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูก ความขัดแย้งตรงนี้แหละที่ชาวตะวันตกเค้านำไปใช้เยอะ

แล้วความขัดแย้งตรงนี้ทำให้แฮมเล็ตต่างออกไปจากผลงานอื่นๆ ของเชคสเปียร์ไหม

ความขัดแย้งตรงนี้แหละที่ทำให้แฮมเล็ตต่างออกไป งานของเชคสเปียร์แบ่งได้เป็น 3 ประเภท โศกนาฏกรรม สุขนาฏกรรม และประวัติศาสตร์ แฮมเล็ตเป็นผลงานโศกนาฏกรรม ถ้าถามว่าคนรู้จักเชคสเปียร์จากผลงานอะไรมากสุดก็น่าจะเป็นแฮมเล็ต 

ในฐานะผู้แปลอะไรที่ท้าทายสำหรับการแปลแฮมเล็ต

มันท้าทายเพราะภาษาของเช็คสเปียร์เป็นภาษาเมื่อประมาณเกือบ 300-400 ปีที่แล้ว ภาษาหลายๆ อย่างก็แตกต่างไปจากทุกวันที่เราใช้ แต่ว่าด้วยความที่เป็นวรรณกรรมคลาสสิก เราจำเป็นจะต้องหาความเชื่อมโยงกับผู้อ่านในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้อ่านสามารถที่จะสัมพันธ์กับมันได้ ถึงแม้ว่ามันจะผ่านไป 400 ปีแล้วก็ตาม

ประโยคไหนคือประโยคที่แปลเป็นไทยยากที่สุดในแฮมเล็ต

น่าจะเป็นประโยค “to be or not to be that is the question.” ถ้าเราอ่านปรัชญาฝรั่งมาเยอะ จะรู้ว่าคำว่า “be” มีความหมายที่แปลได้ลึกกว่า “เป็น อยู่ หรือตาย” มันจะมีความหมายของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งด้วย ซึ่งตรงนั้นแหละครับที่ทำให้แปลยาก พอเราจะแปลขึ้นมาจริงๆ กลายเป็นว่าจำเป็นที่จะต้องทำให้มันเข้าใจง่ายขึ้นโดยการปรับเปลี่ยนให้เป็นคำที่คนทั่วไปรู้เรื่อง เราต้องยอมเสียความหมายบางอย่างไป เพื่อให้ได้ความหมายบางอย่างกลับคืนมา

มีประโยคไหนในแฮมเล็ตที่รู้สึกชอบที่สุดไหม

มีอยู่ประโยคหนึ่ง เป็นประโยคที่แฮมเล็ตพูดกับโฮเรโช ก็คือ “There are more things in Heaven and Earth, Horatio, than are dreamt of in your philosophy.”

ตัวละครที่ชอบที่สุดในแฮมเล็ตล่ะ

แฮมเล็ตครับ เวลาผมเขียนนิยาย ผมชอบ Inner Dialog ของตัวละคร ซึ่งแฮมเล็ตเป็นตัวละครที่มีบทสนทนาภายในเยอะมากแล้วก็ดูน่าสนใจมาก

ให้คะแนนความยากของการแปลแฮมเล็ตหน่อย

ถ้าความยากก็ให้สัก 9 เต็ม 10 แล้วกันครับ มันยากในเรื่องของภาษาเพราะตอนจะแปลแฮมเล็ต ผมต้องไปหาซื้อพจนานุกรมศัพท์เฉพาะของเชคสเปียร์มา เพราะมีคำหลายๆ คำที่ไม่สามารถจะแปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงไปตรงมาได้

ไม่นานมานี้มีผลงานที่ได้รับรางวัลคือนวนิยายเรื่อง “เซ็นเซอร์” พอจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเขียนได้ไหม

เริ่มต้นจากที่ผมไปเมาอยู่แถวบ้าน บังเอิญมีคนแก่คนหนึ่งนั่งอยู่บนโต๊ะเหล้า เขาเป็นคนพิการไม่มีแขนหนึ่งข้างเป็นผู้รอดชีวิตของเหตุการณ์เดือนตุลาคม ผมไปคุยกับเขาแล้วดันคุยกันถูกคอในพวกเรื่องวรรณกรรม ผมก็เลยถามเขาว่า “ผมเอาเรื่องลุงไปเขียนนิยายได้ไหม” นั่นแหละครับนิยายเรื่องนี้เลยได้เกิดขึ้นจริงๆ ตอนเขียนนิยายเรื่องนี้ใช้ชื่อเรื่องว่า “คนบ้า” นะ แต่คุณวาดรวีเขาคอมเมนต์มาว่าน่าจะเปลี่ยนเป็นชื่อ “เซนเซอร์” ผมก็เลยเปลี่ยน

นอกจากแฮมเล็ตแล้ว ตอนนี้มีผลงานอะไรบ้าง

ตอนนี้กำลังแปล ยูลิสซีส (Ulysses) ของ เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) คาดว่าน่าจะวางแผงในปีหน้า

ศวา เวฬุวิวัฒนา
#image_title

ว่าด้วยวรรณกรรม

ในอนาคตวาดภาพตัวเองยังไงในวงการหนังสือ

ยากมากนะ (หัวเราะ) ผมไม่ได้วาดภาพอะไรไว้เลย ผมคิดว่าเป็นเรื่องของความชอบมากกว่า เวลาเราอยู่ในวงการวรรณกรรม เราชอบเขียน ชอบแปล อยากทำงานของเราไปเรื่อยๆ ชอบอะไรก็ทำอย่างนั้น

แล้วภาพของวงการวรรณกรรมและวงการหนังสือไทยในอนาคต มุมมองของศวา เวฬุวิวัฒนา เป็นแบบไหน

ยากเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ถ้าผมพูดอะไรออกมาว่าวงการหนังสือไทยเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ มันจะมีคนที่เขารู้สึกว่ามันไม่ควรจะพูด ซึ่งสุดท้ายมันค่อนข้างที่จะ controversial หรือกลายเป็นที่วิพากย์ แต่โดยรวมผมคิดว่าวงการหนังสือไทยยังเป็นวงการที่ดีครับ ทุกคนช่วยเหลือกัน

บริบทของนักเขียนกับการปรับตัว

ผมว่าหนังสือมันไม่มีทางหายไปหรอก แต่ผมมองว่ามันจะกลายเป็นของฟุ่มเฟือย หนังสือเล่มหนึ่งจะราคาแพงขึ้นเพราะมันจะกลายเป็นของสะสมมากขึ้น ยิ่งถ้าเราพิมพ์หนังสือเป็นภาษาไทย มันก็จะขายได้แต่คนในประเทศ ซึ่งมันเป็นตลาดที่เล็กมาก หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมเมืองไทยไม่มีการแปลเล่มนั้น ไม่มีแปลเล่มนี้ คำตอบคือมันใช้ต้นทุนเยอะและมันไม่คุ้มทุนที่สำนักพิมพ์ หรือคนแปลลงมือด้วย เพราะหนังสือเล่มหนึ่งทำเสร็จแล้วกว่ามันจะคุ้มทุน มันใช้เวลานานมาก ดังนั้นหนทางที่หนังสือมันจะอยู่รอดได้ในวงการสิ่งพิมพ์คือหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษ หนังสือที่ไม่ได้เป็นภาษาอังกฤษจะกลายเป็นของฟุ่มเฟือยไปในที่สุด

แล้วแบบนี้จะส่งผลต่อแนวโน้มการเกิดใหม่ของนักเขียนหน้าใหม่ไหม

มีอยู่แล้วครับ คือมันจำเป็นที่จะต้องปรับตัว จริงๆ แล้ววงการนักเขียน วงการหนังสือในเมืองไทยมันมากับความเท่ คือมันมีความรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเนี่ยมันเท่ พูดใหม่ก็คือผมคิดว่าวงการหนังสือเมืองไทยโดยอย่างยิ่งวงการวรรณกรรมในไทยมันเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าคนยังรู้สึกว่ามันเท่อยู่ที่ได้เขียน ที่ได้ทำตัวเป็นนักเขียนฮิปๆ ซึ่งในปัจจุบันมีลักษณะการเขียนนิยายเพื่อขายออนไลน์มากขึ้น มีนักเขียนหลายคนปรับตัวไปเขียนออนไลน์ก็เยอะขึ้น

แสดงว่าการเขียนออนไลน์เป็นทางรอดของนักเขียนหน้าใหม่ที่ต้องการพื้นที่ในวงการใช่ไหม

ใช่ครับ แต่ปัญหาใหญ่ของการเขียนออนไลน์มันไม่เท่ไง นักเขียนหลายๆ คนในเมืองไทยยังมีความรู้สึกว่าหนังสือที่ออกเป็นเล่มมันเท่กว่า นอกเสียจากว่าเขาใช้มันเป็นอาชีพจริงๆ ที่ต้องใช้อยู่รอดจริงๆ นั่นก็โอเค แต่วงการนิยาย วงการเขียนในเมืองไทย มันยังอยู่กับความเท่

จากบทสัมภาษณ์วันนี้เชื่อว่าคงจะเพียงพอต่อการทำความรู้จักกับ ศวา เวฬุวิวัฒนา ให้มากขึ้น รวมถึงทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ ต่องานวรรณกรรมและวงการวรรณกรรมไทยที่น่าสนใจกลับไปคิดกันต่อ ใครที่ตกหลุมรักการแปลของศวาจากเรื่องแฮมเล็ตก็อย่าลืมรอติดตามผลงานต่อๆ ไปของเขากันล่ะ รับประกันว่ามีคุณภาพไม่แพ้กันแน่นอน!

ภาพถ่าย ศวา เวฬุวิวัฒนาโดย Thanachart Chuengyaempin

นักศึกษาฝึกงาน Porcupine Blog

Our Team Member

ผลงานของนักศึกษาฝึกงาน

Author
ธุวพร มีโพธิ์
นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Assistant
รุจาภา พรหมวิเศษ
นักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาวิชา: ภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล - เอก : การผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More