Home Interview มอง ปัญหาสังคม ผ่านงาน วรรณกรรม และ รู้จักกับ Chinese-American Literature

มอง ปัญหาสังคม ผ่านงาน วรรณกรรม และ รู้จักกับ Chinese-American Literature

by Editor
41 views

มนุษย์จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ เพื่อบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วรรณกรรม เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นและได้สอดแทรกเรื่องราวในแต่ละยุคสมัย รวมไปถึงสังคมในช่วงเวลานั้นๆ เอาไว้ ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันที่วรรณกรรมมีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาในสังคมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่กล่าวถึงชีวิตของกลุ่มคนจีนในสังคมอเมริกันไว้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นอย่างไร วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ พิชญาภา สิริเดชกุล อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกี่ยวกับงานวรรณกรรมและปัญหาสังคม รวมไปถึงเรื่องราวของวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีนที่บางคนอาจจะยังไม่คุ้นหู วรรณกรรมเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมอย่างไรและวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีนคืออะไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันผ่านบทสัมภาษณ์สุดพิเศษนี้

พิชญาภา สิริเดชกุล
พิชญาภา สิริเดชกุล

Q:  มีความชอบหรือสนใจในวรรณกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่

A: ตั้งแต่ยังเด็กเลย เพราะว่าสมัยเด็กๆ พ่อแม่เขาไม่ชอบให้ดูทีวี ได้ดูน้อยมาก เราไม่มีอะไรทำก็เลยอ่านหนังสือ ในบ้านมีหนังสือที่ผู้ใหญ่ในบ้านบางคนอ่านกัน อย่างเช่นนิตยสาร อีกอย่างหนึ่งคือแม่เขารู้สึกว่าการอ่านหนังสือมันดี ตอน ป.1-ป.2 เขาจะชอบซื้อนิทานที่เป็นภาพสวยๆ ไว้ให้ เราอยากจะอ่านออก อยากจะรู้ว่าในภาพมันเขียนว่าอะไร เลยพยายามอ่านหนังสือตั้งแต่เล็กๆ เริ่มมาจากที่บ้านส่งเสริมตั้งแต่เด็ก

Q: ตอนเรียนวรรณกรรม คิดว่าวรรณกรรมมีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างไรบ้าง

A: เราเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว แต่ไม่ใช่คนที่ชอบอ่านหนังสือที่มันจริงจังหรือซีเรียส พูดง่ายๆ คืออ่านเพื่อความบันเทิง เพราะฉะนั้นหนังสือที่อ่านจะเป็นแนวการ์ตูน ทั้งการ์ตูนญี่ปุ่น นิยาย นิทาน อ่านหมด พอเรามาเรียนจึงได้สัมผัสอีกด้านหนึ่ง จากตอนแรกที่อ่านหนังสือเพราะรู้สึกว่าสนุก เราจึงเลือกเรียนสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ แต่พอมาเรียนจริงจัง มันมีความแตกต่างจากที่เราอ่านเพื่อความบันเทิง แต่อันนี้เราอ่านแล้วเราต้องหาสาระ มันยากขึ้นและไม่ได้สนุกเหมือนที่เคย แต่ในการเรียนแบบยากๆ มันทำให้เรารู้สึกท้าทาย แทนที่จะได้อ่านแต่ความบันเทิง ก็เหมือนถูกบังคับให้มาอ่านคลาสสิกที่มันยากขึ้น แต่ในความยากยังมีความสนุกและได้เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนแนวคิด  ได้เห็นธีมและพล็อตที่แตกต่างออกไป ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกประทับใจและซาบซึ้งในตัวบทมากขึ้น

Q: จากมุมมองของคุณ นอกจากวรรณกรรมจะให้ความบันเทิงแล้ว คิดว่าวรรณกรรมมีจุดมุ่งหมายอย่างอื่นอีกไหม

A: เราคิดว่างานเขียนทุกชิ้นที่ผลิตขึ้นมาในโลกนี้ต้องมีจุดประสงค์หรือมีเบื้องลึกเบื้องหลังอยู่แล้ว จุดมุ่งหมายของวรรณกรรม แบ่งได้เป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่าเขียนเพื่ออะไร อีกฝั่งคือผู้อ่านที่หยิบหนังสือขึ้นมา เขาต้องการอะไรจากหนังสือเล่มนั้น เรามองว่าจุดมุ่งหมายของวรรณกรรม สำหรับผู้เขียน คืออยากให้คนอ่านหนังสือของตัวเอง ถ้าเป็นเรื่องของความบันเทิง แน่นอนว่าอยากอ่านเพื่อความบันเทิง แต่มันอาจจะเป็นโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่งได้เหมือนกัน เรามองว่างานเขียนเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านกับคนเขียน อย่างเช่น คนเขียน เขียนงานขึ้นมาเพื่ออยากนำเสนอการสร้างสรรค์สังคมที่ดี จึงใส่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเชิดชูอุดมการณ์บางอย่างเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นแล้วมันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับความบันเทิงเสมอไป อาจจะมีเรื่องของอุดมการณ์หรือว่าจุดประสงค์บางอย่างสอดแทรกไว้ในวรรณกรรมด้วย

Q: คิดว่าวรรณกรรมในปัจจุบันแตกต่างไปจากในอดีตมากไหม เช่น การเซ็นเซอร์เนื้อหาหรือการพูดถึงปัญหาในสังคมได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ทำให้มีการตระหนักรู้ถึงเนื้อหามากขึ้นว่าอะไรควรเขียนและอะไรไม่ควรเขียนในงาน

A: เราคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าเรามองวรรณกรรมประเภทไหน เช่น ถ้ามองในตลาดของประเภทนวนิยายที่ให้ความบันเทิงโดยเฉพาะ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเพราะว่างานวรรณกรรมที่ให้ความบันเทิง มักจะตอบสนองต่อตลาดได้ไวมาก อย่างเช่นในปัจจุบัน สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือการเปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพศ เราจะเห็นว่านิยายวายหรือนิยายโรมานซ์ต่างก็มีการถ่ายทอดหรือบรรยายเนื้อหาที่เปิดกว้างรวมไปถึงพล็อตมีความแปลกใหม่มากขึ้น และที่สำคัญคือวรรณกรรมในปัจจุบันที่เป็นแนวสร้างความบันเทิง มันหลุดจากกรอบของการควบคุมโดยสำนักพิมพ์ไปค่อนข้างมาก เพราะว่านักเขียนสามารถผลิตผลงานและเผยแพร่ด้วยตัวเอง เช่น มีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ให้คนเข้าไปอ่านนิยายฟรีได้มากขึ้น หรือแม้แต่การที่เราสามารถทำอีบุ๊คขายเองได้

เพราะฉะนั้นมันหลุดจากการควบคุมของสำนักพิมพ์ เราจึงเห็นเนื้อหาที่มีความแปลกใหม่และมีความหลากหลาย ถ้าเกิดย้อนไปก่อนหน้านี้สัก 10-20 ปี การที่เราจะเขียนนิยายออกมาให้ได้รับการตีพิมพ์ได้ จะมีกฎเกณฑ์บางอย่าง เช่น งานต้องได้มาตรฐาน แต่เรามองว่าในสมัยนี้ งานวรรณกรรมจำนวนมากที่นักเขียนสามารถเผยแพร่เรื่องราวได้ด้วยตัวเองมีความหลากหลายมากขึ้น ถ้างานวรรณกรรมที่ต้องผ่านสำนักพิมพ์ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐาน อาจจะยังคงอยู่ในกรอบแบบเดิมอยู่บ้าง อาจจะไม่ได้มีความหลากหลายหรือไม่ได้นำเสนอประเด็นที่แหลมคมมากนัก

พิชญาภา สิริเดชกุล
พิชญาภา สิริเดชกุล

Q: คิดว่าวรรณกรรมมีส่วนช่วยลดทอนความรุนแรงหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไหม หรือเพียงแค่บอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น

A: คิดว่าเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง มันสามารถช่วยลดทอนความรุนแรงได้ รวมไปถึงบอกเล่าปัญหาได้เช่นเดียวกัน เราจะเห็นว่านักเขียนหลายท่านพยายามที่จะนำเสนอปัญหาผ่านมุมมองของตัวละคร ซึ่งแท้จริงแล้วการที่นักเขียนถ่ายทอดเรื่องราวออกมานั้นจะช่วยสร้างการตระหนักรู้ เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ว่าการใช้ความรุนแรง เช่น ฉากการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น และถ้าหากนักเขียนพยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในเชิงที่ว่า การข่มขืนไม่ใช่เรื่องโรแมนติกที่ผู้อ่านจะสามารถนำไปทำให้มันดูสวยงามต่อๆ กันแบบผิดๆ

โดยส่วนตัวเราคิดว่าวรรณกรรมจะมีส่วนช่วยในเรื่องนี้มาก ในความเป็นจริง สังเกตจากนักเขียนนิยายที่แต่งนิยายขายและนิยายที่ขายดีที่สุดตามท้องตลาดยังไม่แน่ใจว่ามีฉากล่วงละเมิดทางเพศแทรกอยู่ด้วยหรือไม่ แต่ถ้าสังเกตดูจากเทรนด์นวนิยายหรือละครยอดนิยมในสมัยก่อนมักจะพบว่ามีฉากความรุนแรงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ซึ่งเรามองว่านักเขียนรุ่นใหม่หลายๆ ท่านมีความเข้าใจในประเด็นนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน บางทีการเขียนเรื่องที่เป็นกระแสเพื่อตีตลาดหรือทำเงินเพียงอย่างเดียวก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร บางคนอาจสอดแทรกแนวคิดหรือนำเสนอว่าความรุนแรงไม่ใช่สิ่งสวยงามตามความเชื่อเดิมที่ส่งต่อกันมาแบบผิดๆ รวมถึงเข้าใจความรู้สึกของเหยื่อมากขึ้น ทำให้เราทราบถึงความจริงจากมุมมองของเหยื่อและตระหนักได้ว่าไม่ควรให้คุณค่ากับพวกวัฒนธรรมข่มขืนเหล่านี้

ควรจะเลิกเขียนให้พระเอกมีพฤติกรรมข่มขืนได้แล้ว เรามองว่าถ้านักเขียนไม่ผลิตวรรณกรรมที่มีเนื้อหาหรือพฤติกรรมดังกล่าวซ้ำๆ อาจเป็นการช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ หากในเรื่องจำเป็นต้องมีฉากความรุนแรง ควรจะถ่ายทอดตามความเป็นจริง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหยื่อไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ควรจะหยุดการใช้ความรุนแรงและเลิกมองว่ามันคือเรื่องโรแมนติกกันเสียที

วรรณกรรม
Chinese-American Literature

Q: คิดอย่างไรกับคำที่กล่าวว่า วรรณกรรมที่ดีจะต้องขับเคลื่อนสังคมได้ไม่มากก็น้อย

A: ต้องตั้งคำถามก่อนว่า นิยามของวรรณกรรมที่ดีคืออะไร เราคิดว่าบทบาทของวรรณกรรมไม่ได้มีหน้าที่ขับเคลื่อนสังคม งานเขียนคือผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งเหมือนกับสินค้าทั่วๆ ไป ถ้าหากงานนั้นตอบโจทย์ผู้อ่าน มีอะไรที่ขายได้ คนอ่านต้องอ่านอยู่แล้ว ถ้าจะมองว่าขับเคลื่อนสังคม คือมันหมดยุคที่จะไปบังคับให้คนมาอ่านแล้วเพราะฉะนั้นมันจะขับเคลื่อนได้ยังไง มันอาจจะได้ในแง่ของการปลูกฝังแนวคิด เช่น ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ไม่มีการเหยียดหยามดูหมิ่นคนบางกลุ่ม แต่ถ้าจะไปคาดหวังว่าวรรณกรรมต้องชี้นำสังคม มันไม่ใช่

คนสมัยใหม่สามารถที่จะตัดสินใจเลือกเสพหรือเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรโดยมีวิจารณญาณของตัวเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรามองว่า วรรณกรรมจะขับเคลื่อนได้ไหม ก็ไม่เชิง แต่คนสมัยใหม่เสพตามรสนิยมของตัวเองมากกว่า วรรณกรรมไม่ได้ชี้นำ ไม่ได้เป็นตำราที่จะมาบอกคนว่าควรทำหรือว่าไม่ควรทำอะไรแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว เราคิดว่าคนสมัยนี้มีวิจารณญาณที่จะตัดสินใจและไม่โดนครอบงำโดยพวกวรรณกรรมอีกต่อไป แต่อาจจะได้รับอิทธิพลทางความคิดและแนวคิดต่างๆ จากเรื่องที่อ่านมาไม่มากก็น้อย อาจจะทำให้เราเข้าใจโลกหรือเข้าใจมุมมองของคนที่เขาอยู่ในจุดยืนที่แตกต่างจากเรามากขึ้น

คนอ่านจะตัดสินเอง ถ้าหากงานชิ้นนั้นเขียนโดยที่ผู้เขียนต้องเขียนตามใบสั่งหรือว่าเขียนโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะเชิดชูโฆษณาชวนเชื่อ เราคิดว่าผู้อ่านตัดสินใจเอง สำหรับคนอื่นๆ เราไม่ทราบ
พิชญาภา สิริเดชกุล: อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์
Tweet

Q: งานวรรณกรรมที่ผู้เขียนตกอยู่ใต้อิทธิพลของสังคมมากกว่าที่จะสะท้อนสังคมในแต่ละยุคสมัย ยังถือเป็นวรรณกรรมที่น่าอ่านอยู่หรือไม่

A: ประเด็นนี้ผู้อ่านสามารถตอบได้ คนอ่านจะตัดสินเอง ถ้าหากงานชิ้นนั้นเขียนโดยที่ผู้เขียนต้องเขียนตามใบสั่งหรือว่าเขียนโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะเชิดชูโฆษณาชวนเชื่อ เราคิดว่าผู้อ่านตัดสินใจเอง สำหรับคนอื่นๆ เราไม่ทราบ แต่ถ้าเป็นตัวเอง จะไม่อ่านงานประเภทนี้แน่นอน ถ้าเราคาดเดาทิศทางของงานเขียนได้ว่ามันดูชี้นำเกินไปหรือมันดูยัดเยียดแนวคิดบางอย่างเกินไป เราเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนฉลาดและมีวิจารณญาณที่จะตัดสินใจได้ว่างานชิ้นนั้นน่าอ่านหรือไม่ อ่านแล้วเราได้อะไรจากมันไหม มันได้กระตุ้นเตือนให้เราฉุกคิด ทำให้เรามีความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์หรือว่าทำให้เราได้ฉลาดลึกซึ้งอะไรบ้างหรือเปล่า ตัวผู้อ่านจะบอกได้  โดยต้องอยู่ใต้ข้อจำกัดว่าหนังสือเล่มนั้นไม่ได้เป็นหนังสือที่ถูกบังคับให้อ่าน เช่น นักเรียนทุกคนจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าให้เลือกโดยเสรี ตัวผู้อ่านจะบอกได้ว่ามันดีหรือไม่ดี

Q: มีวรรณกรรมประเภทที่ชื่นชอบหรือว่าถนัดเป็นพิเศษไหม

A: ถ้าชื่นชอบเป็นพิเศษ บอกตรงๆ ว่าชอบอ่านนวนิยายทั่วๆ ไปที่มันไม่ซีเรียส เน้นอ่านเพื่อความบันเทิง แต่ในตอนที่เรียนจะสนใจในเรื่องของวรรณกรรมของนักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายจีน หรือจะเอาเป็นกว้างๆ เลยคือวรรณกรรมเอเชียนอเมริกัน เพราะรู้สึกว่างานประเภทนี้ เราค่อนข้างที่จะเข้าใจเพราะว่าปูมหลังทางวัฒนธรรมของเราใกล้เคียงกัน อย่างเช่นในยุคที่เราเรียน ก็จะมีผู้คนศึกษาเรื่องของแอฟริกันอเมริกันมาก อาจจะเป็นเรื่องราวของคนดำที่ถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆ แต่อย่างของเอเชียนอเมริกันหรือว่าวรรณกรรมจีนอเมริกัน เขาอาจจะไม่ได้ผ่านประสบการณ์ของการตกเป็นทาสหรือการถูกกดขี่ขนาดนั้น แต่มันมีแง่มุมมีประเด็นที่น่าสนใจ และลักษณะสังคมของเขาค่อนข้างคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมในบ้านเรา ก็คือเอเชียเหมือนกัน จึงสนใจมาแนวทางนี้

Q: คิดว่าจุดเด่นของวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีนคืออะไร?

A: จุดเด่นให้นึกถึงว่าคนเอเชียหรือคนจีนอเมริกัน โดยรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน การที่เขาต้องไปอยู่ในสังคมของอเมริกันที่เต็มไปด้วยคนผิวขาว ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง งานของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นแรกๆ ที่อพยพไป คนรุ่นลูกซึ่งเป็นเด็กที่เกิดและเติบโตในอเมริกัน ในครอบครัวที่บ้านของเขา พ่อแม่ยังคงพูดภาษาจีน ยังคงยึดถือขนบประเพณีที่ติดตัวไปจากบ้านเกิด

ในขณะที่ลูกจะต้องออกไปใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมอเมริกันซึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าตัวละครซึ่งเป็นรุ่นลูกจะมีความขัดแย้งทั้งกับในครอบครัวและสังคมภายนอก พูดง่ายๆ คือเขาไม่สามารถที่จะกลมกลืนไปกับสังคมไหนได้เลย เหมือนว่าเขาเป็นคนนอก จะจีนเหมือนพ่อแม่ก็ไม่ใช่ ครั้นจะไปอยู่ในสังคมคนขาวก็รู้สึกว่าตนเองแตกต่างเพราะหน้าตา สีผิว สีผม ไม่เหมือนคนอเมริกัน ต่อให้ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนเจ้าของภาษาก็ตาม แต่มันไม่ได้ทำให้เอเชียนอเมริกันหรือจีนอเมริกันสามารถกลมกลืนไปกับอเมริกันได้ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นจุดเด่นและเป็นความขัดแย้งที่เรามักจะเห็นในงานวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีน

เอมี่ ตัน
เอมี่ ตัน

Q: มีวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีนที่อยากแนะนำให้ลองอ่านไหม?

A: ถ้าเป็นนวนิยายที่เราอ่านและทำวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่จะเป็นงานของ เอมี่ ตัน เป็นนักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่โด่งดังมาจากนิยายเรื่องแรกที่เขาเขียน คือ “The Joy Luck Club” หรือชื่อภาษาไทยคือ “แด่หัวใจแม่ แด่หัวใจลูก” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ของกลุ่มคนรุ่นถัดมาหรือเด็กที่มีเชื้อสายจีนแต่เติบโตในสังคมอเมริกัน โดยจะเห็นได้ถึงความขัดแย้งที่ตัวละครต้องเผชิญ เรารู้สึกว่าเขาถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีและน่าประทับใจ

Q: บุคลิกหรือลักษณะนิสัยของตัวละครในวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมในด้านใดบ้าง?

A: จริงๆ แล้วทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาในสังคมอเมริกันอยู่ นั่นคือการที่สังคมอาจจะมีการเหมารวมบางอย่างกับคนเชีย หรือแม้แต่ในปัจจุบันที่มีสถานการณ์ Covid-19 ที่แพร่ระบาดโดยเริ่มต้นมาจากประเทศหนึ่งที่เรารู้ๆ กันอยู่ และด้วยเหตุนั้นคนเอเชียส่วนใหญ่จึงกลายเป็นเป้าของความเกลียดชัง เราจะเห็นข่าวคนเอเชียโดนทำร้ายอยู่บ่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนจีนหรือคนเอเชียที่อาศัยอยู่ในสังคมอเมริกันมานาน นับตั้งแต่ปี 1800 เป็นต้นมา แต่จนทุกวันนี้คนที่มีเชื้อสายเอเชียที่อยู่ในสังคมอเมริกันยังไม่สามารถจะกลมกลืนอยู่ในสังคมอเมริกันได้ และยังคงตกเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังอยู่ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการสะท้อนปัญหาสังคมได้

The Joy Luck Club is a 1989 novel written by Amy Tan

Q: ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ระหว่างคนเอเชียกับคนอเมริกัน ที่สะท้อนให้เห็นผ่านวรรณกรรมมีอะไรบ้าง?

A: มีมากมาย เราต้องเข้าใจก่อนว่าวัฒนธรรมของเอเชียกับอเมริกันมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ถ้าหากเราอยู่ในสังคมนั้น เรื่องที่เห็นชัดเจนเป็นอย่างแรกเลยคือการกิน เพราะลักษณะการกินของคนเอเชียไม่เหมือนกัน หรือสิ่งที่แตกต่างระหว่างคนเอเชียกับคนอเมริกันที่เห็นได้ชัดเจนจากวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีน อาจเป็นเรื่องของการเงียบ การเก็บไว้ในใจ คือเมื่อพ่อแม่ชาวเอเชียมีปัญหาหรือเรื่องใดๆ ส่วนใหญ่มักจะไม่พูดกับลูกตรงๆ ในขณะที่พ่อแม่ในสังคมอเมริกันค่อนข้างเปิดเผย พวกเขามักจะพูดอย่างตรงไปตรงมา แต่พ่อแม่ชาวเอเชียมักจะไม่ค่อยสื่อสารตรงๆ เช่น ชาวเอเชียจะไม่เอ่ยคำว่า รัก หรือแสดงความห่วงใยต่อลูกตรงๆ แต่เลือกที่จะแสดงออกอย่างอ้อมๆ ด้วยวิธีอื่นแทน โดยสิ่งนี้นับเป็นปัญหาทางด้านการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูก ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นแรกกับกลุ่มคนรุ่นถัดมาที่เติบโตในอเมริกา

Q: ในชีวิตจริง เคยเจอเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมที่เคยอ่านบ้างหรือไม่

A: เคยประสบมาบ้าง เนื่องจากครอบครัวของเราเป็นเชื้อสายจีน ดังนั้นเวลาที่เราอ่านงานเขียนของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีน เช่น เอมี่ ตัน (Amy Tan) เราจะรู้สึกว่าประสบการณ์ชีวิตของเขาตรงกับสิ่งที่เราเคยพบเจอ เพราะบางครั้งเราก็สงสัยว่าทำไมคุณแม่ของเราซึ่งมีเชื้อสายจีนจึงมีความคิดหรืออะไรบางอย่างที่ค่อนข้างขัดแย้งกับสังคมรอบข้างที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่พ่อแม่ของเพื่อนๆ ที่เป็นชาวไทยแท้มักจะไม่เจ้าระเบียบกับเด็กๆ มากนัก ในขณะที่คุณแม่กลับเลี้ยงดูเราอย่างเข้มงวดจนเกินไป หรือบางทีเราไม่เข้าใจการกระทำบางอย่างของคุณแม่ ซึ่งสิ่งนี้จะมีความคล้ายคลึงกับตัวละครในวรรณกรรมของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีนที่เราอ่าน นั่นทำให้เรารู้สึกว่าครอบครัวของเรากับสังคมภายนอกช่างแตกต่างกันจริงๆ

Q: มาถึงคำถามสุดท้ายแล้ว โดยปกติแล้วจะพิจารณาเลือกอ่านหนังสือจากความสวยงามของหน้าปกหรือไม่?

A: ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อหนังสือของเราคือการอ่านจากรีวิวหนังสือ ทุกวันนี้เป็นโลกแห่งการรีวิวไปแล้ว เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อหนังสือหรือเสียเวลาไปกับการอ่านหนังสือ ซึ่งสำหรับเราแล้ว เรื่องของ เงิน กับ เวลา สำคัญพอๆ กัน ต่อให้ได้หนังสือมาฟรีแต่เราต้องเสียเวลาไปกับหนังสือเล่มนั้น เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่า จึงมักจะเลือกอ่านจากรีวิวหนังสือก่อนทุกครั้ง

การพูดคุยครั้งนี้ทำให้เห็นถึงมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับงานวรรณกรรมต่อปัญหาสังคม อีกทั้งยังได้ความรู้เกี่ยวกับ วรรณกรรม ของนักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีน จาก พิชญาภา สิริเดชกุล งานวรรณกรรมที่ไม่ได้เป็นเพียงสื่อให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวและทำให้เราตระหนักรู้ถึงปัญหาของสังคมได้อีกด้วย

เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ
เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
บรรณาธิการ: นายชยุตพงศ์ ปรางโท้ 
ผู้สัมภาษณ์:
นางสาวญาดา รักษาวงศ์ 
นางสาวนุศรา เตชะมานิ 
ผู้ถอดเทปบทสัมภาษณ์:
นางสาวนัฏฐกานต์ รัตนเศรณี 
นางสาวนัทมล ศรีสุข 
ผู้เขียน: นางสาวเนตรนภิส จำนงค์บุญ

You may also like

Leave a Comment

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More