Interview อุทิศ เหมะมูล

อุทิศ เหมะมูล ได้รับรางวัลซีไรต์จากผลงานเรื่อง “ลับแล แก่งคอย” ด้วยความโดดเด่นในการนำเสนอโครงเรื่องและเนื้อหาที่ดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องเล่าธรรมดา จากตัวละครธรรมดา แต่นิยายของเขาทับซ้อนอยู่บนความคลุมเครือที่น่าค้นหา อุทิศคลี่คลายงานของตนมาอย่างต่อเนื่องหากติดตามผลงานของเขาสม่ำเสมอ เราจะเห็นถึงถ้อยคำที่เขาสื่อถึง และนี่คือบทสัมภาษณ์ล่าสุดก่อนที่ผลงานเล่มใหม่ของเขาจะวางขายในอีกไม่นาน

เริ่มคิดถึงการทำอาชีพขีดๆ เขียนๆ ตั้งแต่เมื่อไร

– จริงๆ ไม่ได้คิดจริงๆ จังๆ แบบเอาการเอางานตั้งแต่แรกเริ่มที่จะเขียนหนังสือ คือการเขียนเหมือนเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำทุกวันมาตั้งแต่วัยรุ่น อย่างการเขียนไดอะรี บ่นเพ้อตีอกชกตัว ก็ได้หน้ากระดาษเปล่านี่แหละเป็นที่ระบายความคิดความรู้สึก ในขณะที่ตัวเองตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นศิลปิน ทำงานด้านทัศนศิลป์ และอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่การเขียนก็เป็นพื้นฐานของงานที่อยากจะเป็นและทำ เช่น ต้องเขียนรวบรวมความคิดก่อนสร้างงานศิลปะ ต้องเขียนบทภาพยนตร์ก่อนจะเอาไปทำเป็นหนัง แล้วช่วงนั้นก็เขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ลงนิตยสารด้วย คือเขียนตลอด แต่เขียนเพื่อไปรับใช้สิ่งอื่น แต่เมื่อยิ่งเขียนแล้วยิ่งพบว่า เฮ้ย ทุกคำและความที่เราวางลงหน้ากระดาษ มันมีความเป็นไปได้ที่จะเต็มสมบูรณ์โดยตัวมันเอง และที่จริงแล้ว การเขียนเติมเต็มความรู้สึกที่เราอยากจะเล่าได้ผ่านคำ โดยไม่ต้องผ่านภาพเคลื่อนไหว หรือวัตถุตัวแทนอื่นใดในฐานะสื่อทางทัศนศิลป์ ตอนนั้นแหละที่เราค้นพบว่าคำและเรื่องเล่ามีอะไรบางอย่างที่น่าค้นหาและติดตามไป เลยเริ่มเขียนจริงๆ จังๆ มาตั้งแต่ปี 2544

แล้วผลงานชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์คือเรื่องอะไร ตอนอายุเท่าไร เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

– ผลงานชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์คือเรื่อง ‘แอบฝันเอาแรง’ ลงในหนังสือปฐมนิเทศนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ค.ศ.1996 (2538?) มั้ง (ฮิ้ววววว เขิน) แต่เรื่องสั้นที่ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกเลยคือเรื่อง ‘วายุ’ ลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปี 2544 ตอนนั้นอายุ 26 ปี  เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มที่เผชิญหน้ากับความกลับกลอกของตัวเอง คือถ้าเรื่อง ‘แอบฝันเอาแรง’ คือการพยายามปลุกปลอบตนและคนอื่นว่าเป็นคนมองโลกในแง่ดีและงาม และชักชวนให้ทุกคนมองเห็นความอ่อนหวานของชีวิตผ่านสภาวะจิตสวยใส ‘วายุ’ คือการตอกกลับภาวะนั้น ตัวตนของผมคนนั้น โดยค้นพบว่า มึงไม่ได้เป็นคนแบบนั้น มึงตอแหล

ถ้าหากต้องอธิบายเกี่ยวกับงานของคุณกับนักอ่านที่ไม่เคยอ่านงานคุณมาก่อนคุณจะพูดถึงสไตล์การเขียน หรือสิ่งที่งานของคุณต้องการจะสื่อว่าอย่างไร

– งานเขียนผมเริ่มต้นจากการสำรวจตัวตนของตัวเอง ค้นพบความกลับกลอก แล้วก็ขยายทั้งกว้างออกและลึกลงเป็นสำรวจอดีต สำรวจสถาบันแสนงามทางสังคม สำรวจคติคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมทางสังคม และสำรวจประวัติศาสตร์ ดูการถูกประกอบสร้างขึ้นมาผ่านความทรงจำทั้งทางสังคมและปัจเจกบุคคล แผ่นผืนแบบบางที่ทบซ้อนกันมากมายเหล่านั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวและเรื่องเล่า มันสามานย์อย่างยิ่ง และผมค้นพบว่าตัวเองชอบเล่าเรื่องสามานย์

แรงบันดาลใจในการเขียน ได้มาจากอะไร

– ก็… ได้มาจากทุกที่ทุกทางที่เรื่องราวเหล่านั้นพุ่งแทงเข้ามาที่ความคิดความรู้สึกของผม เปรียบเหมือนร่างกายที่ได้รับการติดเชื้อจากเรื่องราวต่างๆ ผมก็เฝ้าสังเกตว่ามันเกิดอาการและปฏิกิริยาตอบรับหรือต่อต้านอย่างไรบ้างกับร่างตนของผมเอง เรื่องเล่าเกิดขึ้นตรงนั้น

แล้วมีงานที่เอาตัวเองมาเป็นต้นแบบให้ตัวละครบ้างไหม

– จากคำตอบที่แล้ว ก็ต้องว่าแทบทุกเรื่องแหละ ผมใช้ตัวเองเป็นร่างทรงของเรื่องราวที่เข้ามาสิงสู่ ใช้งานตัวเองหนักมากในทุกๆ เรื่องเล่า แต่เพื่อจะได้รสชาติและชีวิตในเรื่องเล่า ผมก็ต้องใช้งานมันเช่นนั้น ในบางทีคุณอยากรู้ว่าความเจ็บปวดอย่างผึ้งต่อยเป็นอย่างไร ก็ต้องให้ผึ้งต่อยคุณจริงๆ คุณเพียงอ่านข้อมูล ดูรูปภาพที่เขาพูดๆ กันไว้ในอินเทอร์เน็ตไม่พอหรอก ความเจ็บปวดของการโดนต่อยนั้นคือสิ่งที่คุณอยากได้ ประสบการณ์แจ่มชัดเพื่อที่จะเป็นของคุณคนเดียว เพื่อที่จะเขียนถึงมันไม่กี่คำ แต่มันจริงและตรงไปที่ความเจ็บปวดของคุณ งานเขียนคือการสำรวจทุกสภาวะ และการแยกร่างของคุณออกเป็นมุมมองหลากหลาย เวลาคุณพูดถึงความตาย คุณอาจตายเองไม่ได้เพราะว่ากลับมาเขียนถึงมันไม่ได้อีกแล้ว แต่คุณก็ยังต้องมุดแทงลงไปที่ความรู้สึกเจ็บปวดและสูญเสียที่คุณต้องเผชิญหน้ากับความตายอยู่ดี ทั้งหมดนี้เป็นธุระของคำ ความ นัย และมิติภาพในงานเขียน

ระยะเวลาในการเขียนแต่ละชิ้นแต่ละเล่ม ใช้เวลาประมาณเท่าไร

– เรื่องสั้นก็ประมาณสองสัปดาห์ แต่ถ้าเป็นนวนิยายอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาอยู่กับมันหนึ่งปีเต็ม

มาทางด้านฝั่งดนตรีกับภาพยนต์บ้าง ชอบฟังเพลงและดูภาพยนตร์สไตล์ไหน

– ฟังและดูได้หลากสไตล์มากครับ หนังและเพลงสำหรับผมแล้วคือการเติมพลังงานเข้าไปในตัว แน่นอนว่าเราฟังและดูเพื่อความผ่อนคลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรารับพลังงานสร้างสรรค์ที่สามารถให้มุมมอง ความคิด ทัศนะ และกลวิธีหลากแบบในการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้กับเราด้วย ดังนั้น เวลาเราพบเจอภาษาและไวยากรณ์ด้านภาพและเสียงใหม่ๆ ทั้งในดนตรีและภาพยนตร์ เราก็รู้สึกและคิดและดื่มด่ำไปกับมัน และเพลิดเพลินมากไปกว่าเรื่องราวพื้นผิวที่มันต้องการนำเสนอ

แล้วรู้สึกว่า ทั้งสองสิ่งนี้มีอิทธิพลกับงานเขียนของคุณบ้างไหม

– มีมากเลยครับ ช่วงเริ่มเขียนหนังสือใหม่ๆ ผมเล่าเรื่องเป็นหนังเลย และผู้กำกับที่มีอิทธิพลกับผมมากๆ เลยคือ คริสตอฟ คิชลอฟสกี้ ผู้กำกับชาวโปแลนด์ และเพลงโปรเกรสซีฟร็อคอย่างพิงค์ฟลอยด์ ทำให้ผมยึดเอาอย่างจังหวะ ทำนอง และการส่งผ่านจังหวะหนึ่งไปยังอีกจังหวะหนึ่งตลอดเพลงอย่างไร จะถ่ายทอดจังหวะเหล่านี้ลงมาในงานเขียนอย่างไร เพื่อควบคู่และควบคุมลมหายใจคนอ่านในขณะที่อ่านไปเรื่อยๆ ตลอดเล่ม แม้กระทั่งการเรียงเพลงให้เป็นหนึ่งอัลบั้มของดนตรี เขาก็คิดสรรและวางกันไว้อย่างตั้งใจและดิบดี วางเพลงแรกของอัลบั้มต้องเตะหูทันที เพลงเพราะๆ มันจัดไว้ลำดับแทร็คที่ 3 และ 5 และ 7 แต่เพลงที่ฟังครั้งแรกไม่ค่อยจะติดหูนักอาจอยู่แทร็คที่ 4 หรือ 8 หรือก่อนเพลงจบอัลบั้ม และเพลงแทร็คเหล่านี้แหละ ยิ่งฟังบ่อยๆ เข้ายิ่งเพราะขึ้น งามขึ้น เหมือนค้นพบอะไรใหม่ๆ มากขึ้นในการฟังทุกๆ ครั้ง ทั้งหมดนี้ผมคิดว่า ทั้งหนังและเพลงส่งอิทธิพลต่อผมมากจริงๆ

คุณมีวิถีหรือสไตล์ในการทำงานอย่างไร ปกติทำงานตอนไหน

– นักเขียนเป็นผู้กำหนดเวลาของตัวเอง ไม่มีใครบังคับคุณได้ คุณจึงต้องรู้จักเวลาของตัวเอง สำหรับผม เวลาของตัวเองคือช่วงเช้า ผมเริ่มเขียนงานตั้งแต่ 07.00 – 10.00 น. จันทร์ถึงศุกร์ ในช่วงเวลาที่เขียนนวนิยายตลอดทั้งปีหรือมากกว่านั้น

วางอนาคตอาชีพนักเขียนของตัวเองไว้อย่างไร

– ก็… ประสบความสำเร็จไหม? มีงานเขียนออกมาและมีนักอ่านติดตามผลงานของเรา ขายหนังสือหมด 2,000 เล่ม ภายในระยะเวลาหนึ่งปี มีเงินใช้จ่ายจากต้นฉบับของตัวเอง เนี่ย แค่นี้ยังยากเลย แต่ไม่หมดหวังนะครับ

มีสิ่งที่อยากสื่อสารถึงนักอ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ๆ บ้างไหม

– ที่อยากจะบอกอยากจะสื่อสารถึงนักอ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ก็อยู่ในงานเขียนแต่ละเล่มของผมนั่นแหละครับ

สุดท้ายแล้ว ผลงานใหม่ที่กำลังจะออก เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

– เป็นนวนิยายเรื่องใหม่ ชื่อ ‘ร่างของปรารถนา’ ตอนนี้ไม่อยากคุยมาก รอให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นออกเป็นรูปเล่มและรูปแบบสื่ออื่นๆ ให้ได้ปรากฏเห็น ให้งานมันพูดถึงตัวเองคงจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่รอและติดตามอ่านกันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *