นิวัต พุทธประสาท
Home Author Biography ประวัติ นิวัต พุทธประสาท

ประวัติ นิวัต พุทธประสาท

by niwat59
364 views 4 mins read

ประวัติ นิวัต พุทธประสาท เกิดวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2515 เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เรื่องสั้นเรื่องแรกได้รับการตีพิมพ์ใน หนังสือสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ในปี พ.ศ. 2535 จากนั้นก็มีผลงานตามหน้านิตยสารชั้นนำของเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง จนได้รับประดับช่อการะเกด จากเรื่องสั้นเรื่อง “ความเหลวใหล” ในปี พ.ศ. 2539 (ช่อการะเกด เป็นนิตยสารเรื่องสั้นสำคัญของไทย)

ในปี พ.ศ. 2539 รวมเรื่องสั้นเล่มแรก “วิสัยทัศน์แห่งปรารถนาและความตาย” ได้รับการจัดพิมพ์ โดยแพรวสำนักพิมพ์ นอกจากนั้นเขายังจัดตั้งเวบไซต์ thaiwriter.net เวบไซต์วรรณกรรมเวบแรกของเมืองไทย รวมกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่ภายใต้ชื่อว่า “สนามหญ้า” และยังมีบทบาทสำคัญในการตีพิมพ์ผลงานนักเขียนรุ่นใหม่ โดยก่อตั้งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ต่อมาผลักดันให้เกิด Alternative Writers ซึ่งเป็นบู๊ธที่มีส่วนร่วมในงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งกลายมาเป็นชุมชนวรรณกรรมสำหรับนักอ่านนักเขียน

ตำแหน่งในองค์กรวรรณกรรม

  • กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)
  • คอลัมนิสต์ (นิตยสาร: Mars, Hamburger, The Wave, Electronic Handbook)
  • นักเขียนอิสระ
  • บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
  • ก่อตั้งรางวัลเรื่องสั้น Thai Writers Award 
  • กรรมการรางวัลนายอินทร์ (อมรินทร์)
  • กรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า (รัฐสภาไทย)
  • กรรมการมูลนิธิศรีบูรพา
  • กรรมการรางวัลอินดี้ช็อตสตอรี่อวอร์ด (อาร์ตี้เฮาส์)
ประวัติ นิวัต พุทธประสาท

He Said

นิวัตเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวรรณกรรมเอาไว้ว่า

“ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าเขาเรียกว่าเป็น ‘อำนาจวรรณกรรม’ คือพลังจากการอ่านกระตุ้นเคมีบางอย่างในตัวเรา สั่นสะเทือนความคิดและมุมมองด้วยเรื่องราวที่เป็นเรื่องแต่ง แต่สามารถสะท้อนให้เห็นความจริงบางอย่าง ซึ่งคำว่าวรรณกรรมในที่นี้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแนวที่ซีเรียสหรือเพื่อชีวิตเสมอไป อาจเป็นนิยายรักแบบทั่วๆ ไปก็ได้”

โอกาสของสำนักพิมพ์เล็กค่อนข้างน้อยกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเรื่องการทำหนังสือที่บางทีเรามีทุนทำหนังสือแค่ 4-5 เล่มต่อปี ซึ่งถ้าเทียบกับสำนักพิมพ์ใหญ่ จำนวนเล่มเท่านี้ถือว่าน้อยมาก แล้วในจำนวน 5 เล่มนี้ สำนักพิมพ์เล็กยังไม่สามารถปล่อยให้หนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งขาดทุนได้ แต่ปัญหาก็คือเราจะผลักดันหนังสือทั้ง 5 เล่มนี้ไปสู่คนอ่านได้ยังไง ต้องทำวิธีไหนหนังสือจะได้ถึงมือคนอ่านถูกกลุ่มเป้าหมาย เพราะผมเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มที่สำนักพิมพ์เล็กๆ ทำออกมามันมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และถ้าสามารถส่งเสริมให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ได้ สำนักพิมพ์เล็กๆ ก็จะมีโอกาสเติบโตขึ้นมา

อีกอย่างคือนักเขียนวรรณกรรมไทยยังน้อยอยู่ ตลาดเลยเติบโตช้า แล้วนักเขียนบางคนกว่าจะมีนักอ่านรู้จักจำนวนมากก็ต้องได้รับรางวัลใหญ่ๆ ก่อน คนถึงจะรู้ว่ามีนักเขียนคนนี้อยู่ในโลก ทั้งที่จริงๆ เขาทำงานมาก่อนหน้านั้นตั้งนาน

Interview with The Matter

เมื่อพูดถึง ประวัติ งานเขียน นิวัต พุทธประสาท เรามักนึกถึงหนังสือ เหตุผลอย่างแรกคือเขาเป็นนักเขียนที่มีหนังสือรวมเรื่องสั้นและนวนิยายรวมกัน 10 เล่ม หนังสือเล่มแรกของเขา—วิสัยทัศน์แห่งปรารถนาและความตาย ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2539 ส่วนนวนิยายเล่มล่าสุด—กายวิภาคของความเศร้า เพิ่งถูกตีพิมพ์ไปเมื่อปีที่ผ่านมา

อย่างที่สองคือเขาเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม สำนักพิมพ์ที่มุ่งผลิตหนังสือแนวเรื่องแต่ง และให้โอกาสนักเขียนทุกรุ่นได้โชว์ฝีไม้ลายมือมานานถึง 21 ปี อย่างที่สามคือเขาเป็นเจ้าของ Alternative Writers บูธขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่เปิดพื้นที่ให้สำนักพิมพ์ขนาดย่อมหรือใครคนไหนที่ลงทุนทำหนังสือเองสามารถนำผลงานมาวางขายได้

อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม: ทางรอดในยุคใหม่ของวงการหนังสือ>>

ประวัติ งานเขียน นิวัต พุทธประสาท

ผลงานทั้งหมดของ นิวัต พุทธประสาท

  1. วิสัยทัศน์แห่งปรารถนาและความตาย: รวมเรื่องสั้น จำนวน 13 เรื่อง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2539 เป็นรวมเรื่องสั้นคัดสรรค์เรื่องสั้น ที่เคยจัดพิมพ์ตามหน้านิตยสารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2537 เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือกล่าวถึง ปัญหาสังคม การเมือง และความเป็นไทยในรูปแบบหลากหลาย ตั้งแต่สัจนิยมจนถึงสัจนิยมมายา รวมถึงงานเขียนในแบบ Exit
  2. ไปสู่ชะตากรรม: นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2543 นิวัต กลับมาเขียนในแนวอาชญนิยาย การเมือง ตัวเอกเป็นนักข่าวที่ตามข่าวการฆาตกรรมโสเภณีในเมืองหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาค้นพบของเบื้องหลังอาชญากรรม ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเหตุฆาตกรรม แต่กลับเป็นกระบวนการทางการเมืองที่เปลี่ยนผ่านโครงสร้างของการเมืองไทย โดยย้อนฉากหลังไปสู่ช่วงการเมือง พ.ศ. 2518-19
  3. ใบหน้าอื่น: นิยายขนาดสั้น พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 นิยายเรื่องนี้ เป็นแนว coming of age ตัวละครวัยรุ่น ครอบครัวแตกแยก พ่อเป็นใหญ่ในบ้าน ตัวเอกต้องการค้นหาความหมายของชีวิต เขาติดยา พบความรักครั้งแรก และชีวิตจบลงที่สถานบำบัดทางจิต
  4. ขอบฟ้าเหตุการณ์: รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2544 รวมเรื่องสั้นห้าเรื่อง ที่ตัวละครเกี่ยวร้อยเข้าด้วยกัน ว่าด้วยผู้คนในสังคมสมัยใหม่ การดำรงชีวิตและการหาความหมายของชีวิต
  5. ลมหายใจอุบัติซ้ำ: รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546 รวมเรื่องสั้น ห้าเรื่องที่นำอาหารมาเป็นแกนกลางของเรื่อง โดยเล่าผ่าชีวิตสังคม ความเป็นอยู่ของสังคมไทย
  6. แสงแรกของจักรวาล: รวมเรื่องสั้นคัดสรรค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538-2551 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2551 รวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นรวมเรื่องสั้นชุดเปลี่ยนผ่านงานเขียนของนิวัต จากแนวทางสัจนิยม สัจนิยมมายา มาเป็นดรามาติกโรแมนติก ที่ขับเน้นความเข้มข้นของตัวเนื้อเรื่องมากกว่ารูปแบบที่หวือหวา
  7. หิ่งห้อยในสวน: นิยายขนาดสั้น พ.ศ. 2553ว่าด้วยนิยาย Coming of Age โรคซึมเศร้า การปลิดชีวิตของวัยรุ่นตัวเอก ดำเนินเรื่องผ่านการบันทึกชีวิตประจำวัน
  8. ความโดดเดี่ยวทั้งมวลที่ไม่มีใครสังเกตเห็น: นวนิยาย พ.ศ. 2555 นิวัตกลับมาเขียนนิยายขนาดยาวอีกครั้ง เล่าเรื่องนักเขียนหนุ่มใหญ่ ตกกงาน ภรรยาที่มาจากครอบครัวผู้พิพากษาทิ้งเขาไป เขาถูกบังคับจากหน่วยงานลับให้ออกตามหาเด็กสาวคนหนึ่งที่หายไป ซึ่งเขาคิดว่าเป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนประถม การตามหาเด็กสาวทำให้เขาพบว่าสิ่งที่เขาตามหาเลือนลางลงไปเรื่อยๆ และสิ่งที่เกิดกับเขากลายเป็นกระบวนการหล่อหลอมให้ผู้คนในสังคมอยู่ในเบ้าหลอมแบบเดียวกัน และท้ายที่สุดเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกนั้น
  9. รัตติกาลของพรุ่งนี้: นิยายขนาดสั้น พ.ศ. 2557 นิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ ใช้เวลาเขียนหลังรัฐประหารในประเทศไทยไม่กี่เดือน หลังนักกิจกรรมทางการเมืองโดนจับ ปรับทัศคติ และรัฐบาลทหารได้จัดระเบียบสังคมอย่างหนัก ก่อให้นิยายดิสโทเปียเล่มนี้มีความร้อนแรง และพยายามทำนายถึงอนาคตของประเทศที่จะไม่กลับไปเหมือนเดิม
  10. กายวิภาคของความเศร้า: นวนิยาย พ.ศ. 2559 นิยายเล่มนี้นิวัตใช้วิธีการนำเรื่องสั้นที่เขาเขียนโดยมีพื้นหลังตัวละครเดียวกัน นำมาร้อยเรียงให้เป็นองก์เดียว ตัวละครไม่มีชื่อ เวลาเหมือนเขาวงกต โดยเล่าเรื่องช่างภาพแฟชั่นสตรีท ที่ต้องมาตายจากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามในปี พ.ศ. 2553 นิยายเล่มนี้ซุกซ่อนสัญลักษณ์ที่ไม่สามารถนำเสนอได้ในประเทศไทย เนื่องจากมีบทลงโทษที่รุนแรง เพื่อสื่อถึงความไร้เสรีภาพของประเทศไทย นิวัตจึงตัดสินใจใช้สัญลักษณ์นำเสนอแทน ซึ่งเขาเชื่อว่าบางครั้งสัญลักษณ์อาจจะสื่อถึงพลังได้ไม่ต่างกัน นวนิยายเล่มนี้เริ่มเขียนบทแรกใน พ.ศ. 2541 ตัวละครพบกันแล้วจากกันในบทแรก ก่อนที่พวกเขาจะกลับมาพบกันอีกครั้งในบทต่อมา เรื่องราวของนิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองแปลกหน้า เมืองที่พวกเขาจากกันโดยไม่บอกลา ห้วงเวลาของนิยายเหมือนเขาวงกต เหตุการณ์ทางการเมืองสอดแทรกเข้ามา ชีวิตที่ผกผัน อดีตกลายมาเป็น ความหลังฝังใจ สิ่งที่ต้องการลืมกลายกลับต้องจำ สิ่งที่ควรจำกลับลืมเลือน ตัวละครแต่ละตัวยึดเหนี่ยวด้วยลููกโซ่ที่มองไม่เห็น พวกเขาซ่อนเก็บความเจ็บปวดเอาไว้เพียงลำพัง เพื่อไม่ให้ชีวิตล่มสลายไป 

อ่านเพิ่มเติม: ความเหลวไหลในกระแสสำนึก>>

ผลงานเขียนที่ผ่านมา

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More