ประวัติ งานเขียน นิวัต พุทธประสาท
Home Art & Culture ความเหลวไหลในกระแสสำนึก

ความเหลวไหลในกระแสสำนึก

by support
205 views

ความเหลวไหลในกระแสสำนึก : เป็นบทความที่เขียนถึงเรื่องสั้น ความเหลวไหล เขียนโดย นิวัต พุทธประสาท เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นในหนังสือ “แสงแรกของจักรวาล” รวมเรื่องสั้นแนวกระแสสำนึก

ชื่อหนังสือ: แสงแรกของจักรวาล
ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท
ประเภท : รวมเรื่องสั้น
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551

โดย สวนหนังสือ

Existentialism

ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงดชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต… เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหมนอกเหนือจากนั้นแล้ว ความเป็นสมัยใหม่ยังบ่งบอกถึงแนวคิดที่ชัดเจนตามแนวทางปรัชญาสมัยใหม่อีกด้วย ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนลงไป คงต้องบอกว่า เรื่องสั้นของนิวัต พุทธประสาท โดยเฉพาะในรวมเรื่องสั้น “แสงแรงของจักรวาล” เล่มนี้ ใช้แนวทางปรัชญา Existentialism มาเป็นจุดเริ่มต้น


Existentialism นักปรัชญาและนักเขียนชาวฝรั่งเศส Jean paul Sartre ได้ให้การสนับสนุนรูปแบบอันหนึ่งของลัทธิ Existentialism ในแนวคิดนี้ได้มองศิลปะว่าเป็นการแสดงออกอันหนึ่งเกี่ยวกับอิสรภาพของปัจเจกบุคคลที่จะเลือก และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของพวกเขาสำหรับการเลือกนั้น การไร้ซึ่งความหวัง เป็นส่งที่ถูกสะท้อนอยู่ในงานศิลปะ แต่มิใช่การสิ้นสุด อันที่จริงมันคือจุดเริ่มต้น ทั้งนี้เพราะมันได้ไปทำลายความรู้สึกผิดและปลดเปลื้องเราจากสิ่งซึ่งเป็นความทุกข์ปกติของมนุษย์ ดังนั้นมันจึงเป็นการเปิดทางให้กับอิสรภาพที่แท้จริง : คัดลอกมาจาก ความรู้เกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์เบื้องต้น สำหรับคนเริ่มเรียน Aesthetics: ความเรียงของ Arthur C. Danto เกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม : แปล
ภาควิชาศิลปะ การออกแบบ และสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(การดำรงอยู่ (Existence) ของมนุษย์ แสดงว่า ไม่ได้มีการดำรงอยู่ของพระเจ้า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติของมนุษย์ก่อนหน้าที่จะมีการดำรงอยู่มนุษย์ มนุษย์ก็คือภาพของมนุษย์ เพราะฉะนั้น มนุษย์จึง “รับผิดชอบ” “ถูกกำหนด” ให้เป็นอิสระ)

ความเหลวไหล

เพื่อผูกโยงไปถึงปัญหาที่ลึกลงไปอีกในข้อของความพยายามของมนุษย์ผู้เป็นอิสระนั้น นิวัตได้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราต่างได้พยายามสร้างใบหน้าของพระเจ้าลงไปในความเป็นมนุษย์ กล่าวคือมนุษย์ต่างพยายามก้าวไปสู่ฐานะของพระเจ้าในความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์แบบและพรั่งพร้อมทุกสิ่งที่ปรารถนา แต่แล้วมนุษย์ก็ไม่อาจยอมรับความเป็นมนุษย์ของตัวเองได้ มนุษย์ต่างผิดหวังและเจ็บปวดนี่คือสิ่งที่เรื่องสั้นของนิวัต พุทธประสาทได้แสดงให้ผู้อ่านได้รับรู้ร่วมกันในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเรื่องความรัก ความเหงาเศร้า รวมไปถึงความแปลกแยกระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองและตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นจากกระแสสำนึกเหล่านั้น ยังเป็นตัวตนที่เป็นจริงเป็นจัง เป็นเสมือนชีวิตหนึ่งในตัวตน กล่าวคือ ในตัวตนของเรา ยังมีตัวตนอื่นที่ถูกสร้างขึ้นจากกระแสสำนึกเราซ่อนแฝงอยู่ รอคอยอยู่ และรอวันที่จะมีชีวิตขึ้นก่อนจะก้าวไปสู่เรื่องสั้นของนิวัต ขอกล่าวถึงภาพกว้างของเรื่องสั้นสมัยใหม่สักเล็กน้อย

น่าสังเกตว่าเรื่องสั้นสมัยใหม่ ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองความบันเทิงใจของผู้อ่านเหมือนอย่างวรรณกรรมในยุคสายลมแสงแดด หรือเขียนเพื่อโน้มน้าวทัศนคติทางสังคมการเมืองของผู้อ่านให้คล้อยตาม หากแต่เรื่องสั้นสมัยใหม่เขียนขึ้นเพื่อแสดงให้ผู้อ่านได้มองเห็นและเข้าถึงแก่นสารของตัวตนที่แท้จริง ซึ่งมีอยู่ในสภาวะของความรู้สึกนึกคิดและอยู่เหนือสังคมการเมืองโดยเรื่องสั้นสมัยใหม่จะมีเจตนารมในการที่จะกล่าวถึงตัวแก่นสาร ซึ่งส่วนมากก็คือแนวคิดตามแนวทางปรัชญาสมัยใหม่ จนบ่อยครั้งบรรดานักเขียนที่มุ่งเน้นแก่นสารทางปรัชญาได้ละเลยความบันเทิงใจแบบสามัญที่ผู้อ่านเคยได้รับจากการอ่านวรรณกรรมสมัยเก่า (ที่เรียกวรรณกรรมว่า เรื่องอ่านเล่น) และบ่อยครั้งนักเขียนยังจงใจราวกับกลั่นแกล้งผู้อ่านที่ตั้งใจอ่านวรรณกรรมเป็นเรื่องอ่านเล่น เพื่อหาความบันเทิงใจเสียด้วย ซึ่งส่วนมากนักเขียนจะใช้กลวิธีต่อต้านการดำเนินเรื่องตามเค้าโครงแบบเก่า คือ มีการเร้าความสนใจของผู้อ่านไปเรื่อย ๆ กระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่รู้ไปเรื่อย ๆ ไปจนถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่องและจบลงไปตามแบบการจบเรื่องต่าง ๆ กันไปดังนั้น

เราจึงพบว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่มีทีท่าคล้ายกับได้เนรเทศตัวเองไปจากปริมณฑลของความบันเทิงใจไปสู่ดินแดนแห่งการขบคิดที่สร้างความไม่คุ้นเคยแก่ผู้อ่าน ขณะเดียวกันเรื่องสั้นสมัยใหม่ก็ได้บัญญัติความบันเทิงใจแบบใหม่ขึ้นด้วย โดยดำริให้เป็น “ความบันเทิงทางปัญญา” เสมือนหนึ่งว่า การอ่านเรื่องสั้นสมัยใหม่เท่ากับเป็นการศึกษาชีวิตอันลึกซึ้ง เป็นกระบวนการจรรโลงใจด้วยปัญญาซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดที่ช่างสวนทางกับสังคมการอ่านของประเทศนี้เหลือเกิน ถ้านับกันจริง ๆ แล้ว กระบวนการจรรโลงใจด้วยปัญญาของกลุ่มวรรณกรรมสมัยใหม่นี้อาจเป็นเพียงกลุ่มขนาดย่อยที่กระจุกตัวกันอยู่ตามเมืองใหญ่ ดูไม่ต่างจากความเจริญทางด้านวัตถุและความเฟื่องฟูของวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่กระจุกตัวอยู่ในรูปเดียวกันนี่เป็นเพียงภาพกว้างของเรื่องสั้นสมัยใหม่ที่ปรากฎขึ้นและกำลังเคลื่อนไหวไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่ใหม่กว่าเดิมแล้วฉันมาประทับใจกับเรื่องสมัยใหม่ได้อย่างไรก่อนอื่นฉันต้องยอมรับว่า ความประทับใจเกิดขึ้นได้ง่าย

การอ่านวรรณกรรมที่มีรสชาติแปลกใหม่ไปจากเดิม แค่นี้เท่านั้น นอกเหนือจากความประทับใจเป็นพื้นแล้ว รูปแบบแปลกใหม่ที่กล่าวถึงนั้นต่างหากเล่าที่เราจะให้ความสนใจมากขึ้นเป็นขั้นตอนต่อไปขอยกเรื่องสั้น ความเหลวไหล ของนิวัต พุทธประสาท จากรวมเรื่องสั้น แสงแรกของจักรวาล เล่มนี้ มากล่าวถึงเพียงเรื่องเดียว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแปลกใหม่ที่เป็นขั้นเป็นตอนเริ่มกันที่ย่อหน้าเปิดเรื่อง ซึ่งสัมพันธ์กับย่อหน้าตอนเกือบจบเรื่อง(ตอนเปิดเรื่อง)

“ย้อนกลับไปในคืนหนึ่ง รถกระบะหกล้อสีฟ้าของพ่อจอดเสียอยู่ริมถนนท่ามกลางความมืด ตอนนั้นผมอายุประมาณสิบขวบ รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องสนุกที่บังเอิญผ่านเข้ามา … ฯลฯ … เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านมาสิบห้าปีแล้ว แต่ผมยังระลึกได้อย่างแจ่มชัด ทั้งความหนาวในฤดูหนาวและความรู้สึกที่ไม่เคยพานพบมาก่อน บนท้องฟ้าในคืนนั้นเต็มไปด้วยดาวพราย ยิ่งย้อนถึงความรู้สึกนั้น มันกลับมีผลต่อชีวิตในวัยหนุ่มของผมเป็นอันมาก” (ตอนเกือบจบเรื่อง)

“ย้อนกลับไปในคืนนั้น รถกระบะสีฟ้าของพ่อกับดวงดาวมากมาย ไม่น่าเชื่อเลยว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านมานานนับสิบปีแล้ว”

ความเหลวไหล

ทั้งสองย่อหน้านี้เป็น “ความทรงจำที่แจ่มชัด ราวกับมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง” ที่นิวัตให้ความสำคัญ และใช้มันต่างหมุดหมายอันหนึ่งในเรื่องสั้น ความเหลวไหล เรื่องนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการขั้นนี้ของนิวัต ทำให้ฉันรู้สึกราวกับนิวัตได้บอกแก่เราว่า ชีวิตเริ่มขึ้นจากความทรงจำ และจบลงก็ด้วยความทรงจำนั่นเอง และความทรงจำก็เป็นกระแสสำนึกอันหนึ่ง ซึ่งในทางจิตวิทยา ความทรงจำเป็นเหตุการณ์ที่ฝังอยู่ในส่วนของจิตใต้สำนึกนอกจากการถือกำเนิดขึ้นของตัวตนแล้ว นิวัตยังได้บรรยายให้เห็นถึง การเกิดขึ้นใหม่และตายลงของตัวตนของมนุษย์ภายในชีวิตหนึ่งตามนาฬิกาสากล กล่าวคือ มนุษย์เราในชีวิตหนึ่ง มีตัวตนอันหลากหลายซ๋อนเร้นอยู่ภายใน อาจเป็นในรูปของจิตใต้สำนึก จิตสำนึก ที่ปรากฎขึ้นมาในรูปของกระแสสำนึก ขณะเดียวกันมันก็ทรงพลังมากพอที่จะปลดเปลื้องตัวตนอันเก่าออกไป

เพื่อสร้างเป็นตัวตนใหม่หรือเป็นชีวิตใหม่ ในเรื่องนี้นิวัตให้ตัวละครเอก คือ “ผม” ถือกำเนิดขึ้นมา และกำลังต่อสู้ดิ้นรนอยู่ตัวตนของปัจจุบันอันเจ็บปวด ด้านชา ผิดหวัง และแห้งแล้ง กระทั่งเขาได้พบเธอ หญิงสาวที่พักอยู่ห้องติดกัน หล่อนเมื่อหล่อนก้าวเข้ามาในชีวิต ตัวตนหนึ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ และเต้นเร่าอยู่ในตัวเขานั้นก็ได้ถือโอกาสเกิดขึ้นมาพร้อมกับการตายของตัวตนเดิม กระทั่งจบเรื่อง ตัวตนอื่นในซ่อนเร้นอยู่ก็ค่อย ๆ ได้โอกาสถือกำเนิดขึ้นมาทดแทน คล้ายกับการลอกคราบของแมลงหรือผีเสื้อ หากแต่วัฏฏะในมนุษย์ที่นิวัตนำเสนอนั้นมีระยะเวลายาวนานกว่า

จากหน้า 32 – 34 ที่ตัวละครจิบเบียร์ภายในไนท์คลับ เป็นการเที่ยวกลางคืนครั้งแรกของเขา ซึ่งหล่อนเป็นคนชวนมา จากนั้นเขาเมาหนัก ควบคุมตัวตนอันเดิมไม่ได้ นี่ถือเป็นบางส่วนของเรื่องสั้นความเหลวไหลที่บรรยายถึงการเกิดใหม่และการตายลงของตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายในชีวิต เขาเขียนไว้ว่า “ผมควบคุมกลไกของร่างกายไม่ได้อีกต่อไป รู้สึกมึนงงราวกับถูกของหนักกดทับอยู่บนหัว สถานะเดิมของผมแปรเปลี่ยนไปแล้ว ผมไม่สามารถกลับไปเป็นดังเช่นเมื่อวานได้อีกภาวะดังกล่าวนั้น น่าจะถือเป็นการปลดเปลื้องหรือปลดปล่อยตัวตนอื่นที่ซ่อนอยู่ให้เป็นอิสระมากกว่าเป็นการเกิดใหม่ของตัวตนอื่นมากกว่า หากแต่นิวัตใช้คำว่า “ไม่สามารถกลับไปเป็นดังเช่นเมื่อวานได้อีก” นี่เท่ากับแสดงให้เห็นว่า เขามุ่งเน้นที่จะแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า กระแสสำนึกมีพลานุภาพมากถึงเพียงนั้นได้อย่างจริงจัง มันไม่ใช่กระบวนที่ต้องอาศัยเวลาในการบ่มเพาะมากมายแต่อย่างใดเลย ซึ่งหากเราจะตีความตามตัวอักษรของนิวัตแล้ว เรื่องสั้นความเหลวไหลของนิวัต อาจเป็นเรื่องที่ออกจะหละหลวมมากกว่าเหลวไหลเสียด้วยซ้ำแต่ทั้งนี้ นิวัตได้ให้รายละเอียดของตัวละครในเรื่องของตัวตนที่ซ่อนอยู่มากพอสมควร โดยเน้นย้ำถึงภาวะสับสนอย่างรุนแรง ราวกับตัวตนที่ต่างก็ซ่อนอยู่นั้นได้พยายามยื้อแย่งที่จะมีเกิดมีชีวิตขึ้นมา ดูในหน้า 28 ที่เขาบรรยายไว้ แต่ขอยกมาเฉพาะที่สรุปไว้

“เมื่อใดก็ตามที่ผมครุ่นคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้ ผมมีแรงกระตุ้นบางอย่าง พลังแปลก ๆ ฉุดกระชากดวงวิญญาณ ตลอดชั่วชีวิตที่ผมดำรงลมหายใจอยู่นี้ ผมต้องข่มพลังอันแปลกประหลาดเอาไว้อย่างมิดชิดเมื่อเรานำความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายใน กับการถือกำเนิดขึ้นและตายลงของตัวตนในชีวิตหนึ่ง” ที่นิวัตให้รายละเอียดไว้ จะเห็นได้ว่า นิวัตเองก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า ตัวตนเก่าที่ถูกปลดเปลื้องออกไปจะจบสิ้นลงไปอย่างสิ้นเชิงเป็นอากาศธาตุ หรือยังคงกลับไปสู่การภาวะที่ต้องซ่อนอยู่ภายในอีกครั้ง เพื่อรอคอยจังหวะที่จะถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งในขณะที่ตัวตนใหม่กำลังเป็นชีวิตอยู่” หากใครได้อ่านเรื่องสั้น ความเหลวไหล จนจบเรื่อง ก็จะพบคำตอบได้ว่า แท้จริงแล้ว ตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายในนั้น เป็นภาวะที่เกิดขึ้นแล้วตายลง หรือเกิดขึ้นดับไปตลอดกาลหรือดับไปเพียงชั่วครู่ยามหนึ่ง หรือนี่เป็นเพียงความสับสนของนิวัตเองสำหรับใครที่อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้แล้ว คงได้คำตอบ แต่ถ้าใครอ่านแล้วยังไม่รู้สึกถึงความเป็นสมัยใหม่ ต้องขอบอกไว้เพิ่มเติมว่า เรื่องสั้น ความเหลวไหล ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ ช่อการะเกด 26 เดือนมีนาคม – เมษายน 2539 ได้รับการประดับช่อการะเกดประจำปี 2539  และเขียนเมื่อราว 15 ปีมาแล้ว และเมื่อนำมาอ่านใหม่ในปีนี้ ความแปลกใหม่ก็ยังมีสีสันอยู่.

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More