blade runner
Home Art & Culture Blade Runner Dystopian Film

Blade Runner Dystopian Film

by Editor
23 views

Blade Runner: Neo-Noir Dystopian–Science Fiction Film

Movie Review: Blade Runner นิยามสั้นๆ เกี่ยวกับหนังเรื่อง Blade Runner คือฟิล์มนัวร์ยุคใหม่ ด้วยภาพมืดหม่น ฝนตกจนหนาวเหน็บ หมอกควัน สีซีดจางแทบเป็นขาวดำ เรื่องราวและฉากว่าด้วย dystopia มันคือคู่ตรงข้ามของ utopia หมายถึงดินแดน หรือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความล่มสลาย ไม่สมบูรณ์แบบ พังทลายทั้งกายภาพและจินตภาพ แม้ว่าตัวเมือง-สถาปัตยกรรมในเรื่องจะงดงาม ทว่าในด้านจิตใจของมนุษย์ยังคงเจ็บปวด ถูกคุกคาม ทำร้าย ถูกกดข่มเหง

dystopian เป็นหนังประเภทที่พูดถึงความกลัวในอนาคต ทั้งอนาคตอันใกล้ และอนาคตไกลออกไป ในขณะที่ระบอบการปกครองที่กดขี่ทั่วโลกหันไปใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมประชากร เราได้เห็นรัฐบาลของเรานำเด็กๆ ไปขังในคุกและทำลายความเป็นส่วนตัวที่เรามองข้ามไปนานแล้ว เรามองเห็นความน่าสะพรึงกลัว ที่ที่เราจะมุ่งหน้าไปในอนาคต เป็นเรื่องปกติที่เราจะสำรวจสถานการณ์แบบใดแบบหนึ่งในภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 1932 เมื่อ ฟริตซ์ แลงก์ ทำให้มหานครมีชีวิตขึ้นมา

เพื่อไม่ให้สับสนกับภาพยนตร์หลังวันสิ้นโลก (แม้ว่าหนังทั้งสองประเภทอาจความทับซ้อนกัน) ภาพยนตร์ดิสโทเปีย มักเกี่ยวกับการจัดการ รัฐบาลจัดการประชาชนให้อยู่ภายใต้การถูกควบคุม โดยเครื่องมือการปกครองต่างๆ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือแม้แต่สวัสดิการทางสังคมที่จำกัด สังคมดิสโทเปียจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน และความอยุติธรรมครั้งใหญ่ เราไม่จำเป็นต้องมองหานิยายเพื่อดูเป็นตัวอย่าง สำหรับรับมืออำนาจ

Movie Review: Blade Runner
Movie Review: Blade Runner

“ถ้าเราเข้าใจเสรีภาพในเชิงลบ (negative freedom) คือเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบโดยไม่ถูกขัดขวางจากภายนอก เช่น เสรีภาพที่จะไปชอปปิ้ง เสรีภาพที่จะเที่ยวเตร่ เสรีภาพที่จะดื่มกินเฮฮาสนุกสนาน เสรีภาพที่จะทำมาค้าขาย เสรีภาพที่จะเดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ กฎอัยการศึกก็คงไม่เป็นอุปสรรคสร้างความเดือดร้อนอันใดให้ เสรีภาพเชิงลบจึงไปกันได้กับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์แบบ Leviathan ในปรัชญาของ Thomas Hobbes, ไปกันได้กับระบอบอำนาจนิยมที่เน้นจำกัดจำเขี่ยเสรีภาพในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะทางการเมือง (“คิดต่างได้แต่อย่าแสดงออก”) , แต่คงไปกันไม่ได้กับระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบคอมมิวนิสต์หรือฟัสซิสต์นาซีที่มุ่งคุมล้วงลึกเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวแบบเบ็ดเสร็จ”

เกษียร เตชะพีระ: กฎอัยการศึกและเสรีภาพ

ซึ่งหากเรามีมุมมองทางกายภาพทางสังคม เราจึงไม่รู้สึกถึงภัยคุกคาม ทว่าเอาเข้าจริงๆ เราต่างถูกคุกคามและจำกัดเสรีภาพของตัวเองให้อยู่ภายใต้การกักกันของจิต และบางทีในสังคมเราในตอนนี้คงไม่ต่างจากหนัง  dystopian เรื่องนี้

Blade Runner ดัดแปลงจากนิยายขนาดสั้นเรื่อง Do Androids Dream of Electric Sheep ของ Philip K.Dick กำกับโดย Ridley Scott ที่ฝากผลงานในระดับขึ้นหิ้งมามากมายตั้งแต่ Alien (1979) หนังสยองขวัญจากต่างแดนยุคใหม่ที่ทำให้วงการหนังฮอลลีวู๊ดต้องเดินตาม Thelma&Louise (1991) หนังที่ทำให้ปัญหาเฟมินิสต์ถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง รวมถึงหนัง Gladiator (2000) ว่าด้วยชนชั้นในยุคกรีกโรมัน ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ และ Black Hawk Down (2001) หนังสงครามที่วิพากษ์ปฏิบัติการทางทหารของอเมริกาที่ล้มเหลว

ในส่วนของ Blade Runner นั้นต้องกล่าวว่าริดเลย์ได้สร้างต้นแบบหนังไซไฟให้กับวงการอีกครั้ง ส่วนตัวหนังสามารถแยกดูได้สองทาง ทางแรกคือดูเพื่อความบันเทิง ก็เป็นหนังไล่ล่าหุ่นยนต์ที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม แต่ถ้าดูให้ลึกซึ้ง Blade Runner เป็นหนังที่ได้รับการยกย่องถึง “ความเป็นมนุษย์” และเป็นเรื่องท้าทายศีลธรรมของผู้ทรงศีล หรืออาจจะรวมถึงผู้สร้างโลกใบนี้ขึ้นด้วยน้ำมือของตนได้อย่างน่าขบคิด

ตัวหนังเริ่มขึ้นที่ริค (Harrison Ford) ตำรวจหนุ่มใหญ่นอกราชการ ถูกเรียกตัวมาปฏิบัติการลับ ที่เรียกว่า Blade Runner อีกครั้ง เมื่อหน่วยตรวจพบว่า หุ่นยนต์จากบริษัท ไทเรลล์ คอร์เปอร์เรชั่น ผู้สร้างหุ่นยนต์รุ่น Nexus-6 ขึ้นมาเพื่อนำไปใช้งานในอาณานิคมต่างดาว ทุกตัวถูกตั้งโปรแกรมให้มีอายุใช้งานได้เพียงสี่ปีก็จะตายลง หรือถูกทำให้ตาย การฆ่าหุ่นยนต์ไม่ใช่การประหาร แต่เป็นการเกษียณอายุการทำงาน หุ่นยนต์สี่ตัวได้แอบเดินทางกลับมายังบนโลกโดยไม่ทราบสาเหตุ ทางหน่วยลับจึงต้องใช้ริคออกไปตามหา

Movie Review: Blade Runner
Blade Runner Dystopia

เมื่อริคออกไปสอบสวนที่บริษัท ได้พบกับดร.เอลดอน ไทเรลล์ โดยดร.เอลดอล ได้ทดสอบหุ่นรุ่นนี้ที่มีอยู่บนโลก นั่นคือตัวราเชล (Sean Young) ให้กับริคได้ดู ริคพบว่า Nexus-6 นั้นเป็นหุ่นที่มีความเหมือนคนเป็นอย่างมาก มันเป็นการโคลนนิ่งมนุษย์ลงไปในหุ่น ไม่ว่าจะระดับสมอง พฤติกรรม ความคิด สุดยอดนวตกรรมที่สุดก็คือ มันทำให้หุ่นยนต์เชื่อว่าตัวเองไม่ใช่หุ่นยนต์ พวกเขามีชีวิต มีเลือด มีเนื้อ มีความทรงจำ มีครอบครัว มีพ่อ มีแม่ โดยเฉพาะความทรงจำเกี่ยวกับอดีตนั้นทำให้พวกเขาเชื่อว่า พวกเขาไม่ได้แตกต่างจากมานุษย์ทั่วไป เป็นมนุษย์จริงๆ เป็นเลือดและเนื้อ ลมหายใจ

จุดนี้นี่เองที่ Blade Runner เริ่มฉีกออกไปไกลจากนิยายวิทยาศาสตร์อื่นๆ ไม่ใช่ตรงที่หุ่นยนต์อยากเป็นมนุษย์ แต่เป็นเรื่องในระดับ “ความเท่าเทียม” หนังไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้หุ่นยนต์จะได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์ แต่มันเป็นหนังที่จู่โจมศีลธรรมมนุษย์อย่างเราว่าตกลงแล้วเราแทบไม่มีระบบศีลธรรมในตัวเองเลย เมื่อเราแยกมนุษย์ออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งหุ่นยนต์ ดังนั้นกฎที่ Nexus-6 ต้องทำลายตัวเองในสี่ปี จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลสำหรับหุ่นบางตัว มนุษย์สามารถทารุณหุ่นยนต์ได้ ขณะเดียวกันอาชญากรรมที่หุ่นยนต์ทำต่อมนุษย์กลายเป็นอาชญากรรมขั้นร้ายแรง

Blade Runner ตั้งคำถามที่แสนสาหัส ตรงที่ว่า เมื่อเราแยกความเป็นมนุษย์ของแต่ละฝ่ายออกจากกันได้แล้วเมื่อไหร่ เราก็จะพบว่าเราจะใช้กฎหมายใดๆ กับมนุษย์ฝ่ายตรงข้ามเหล่านั้นอย่างไรก็ได้ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะโหดร้ายเพียงไร ก็สมควรที่จะต้องจัดการให้สิ้นซาก ในฉากที่ราเชลพบริค ทั้งสองเกิดพบว่าราเชลอาจจะปลอดภัย เมื่อเธอจำยอมตามที่ริคเสนอ แม้เรื่องความรักและความซื่อสัตย์ มันเหมือนกับว่าแม้เธอจะเป็นหุ่นที่จะต้องถูกทำลาย แต่ถ้ายืนข้างมนุษย์อย่างริคซึ่งเป็นคนดี เธอจะได้รับการปกป้อง

ในฉากตอนใกล้ปิดเรื่อง เป็นฉากสำคัญราวกับฉากจบของละครเชกสเปียร์ เมื่อรอยหนึ่งในหุ่นยนต์ที่ต้องการอิสระภาพจากผู้ที่ให้กำเนิด ต่อสู้กับริคจนริคพลาดกำลังตกตึก รอยดึงริคขึ้นมาเป็นการช่วยชีวิต ประจวบกับเวลาในตัวของรอยกำลังจะดับลง เขากล่าวถ้อยคำสะเทือนใจ ซึ่งตัวแสดงเป็นรอย Rutger Hauer ได้เปลี่ยนแปลงบทโดยที่ผู้กำกับไม่รู้

“ความกลัวนั่นใช่ไหม ที่นำไปสู่ความเป็นทาส”

“ฉันได้เห็นสิ่งที่ผู้คนไม่เชื่อ เรือพิฆาตโหมไฟกลางหมู่ดาวนายพราน ฉันเห็นแสงซีบีมวาบขึ้นใกล้ทานห์เชอร์เกต ห้วงเวลานั้นทุกคนหายไปเหมือนสายน้ำตาในสายฝน ถึงเวลาแห่งความตาย”

Movie Review: Blade Runner

อ่านบทความเพิ่มเติม: Enemy ศัตรูคือความหวาดกลัว

สรุป

Blade Runner เช่นเดียวกับหหนังประเภท Dystopian Film ในแนว The Road Warrior เช่น Mad Max มันถูกกำหนดรูปลักษณ์ และโทนภาพภาพยนตร์ในห้วงเวลาหลังวันสิ้นโลก โลกของ Blade Runner สกปรก ชื้นแฉะ และเต็มไปด้วยความอึดอัด ริดลีย์ สก็อตต์ สร้างมาตรฐานสำหรับภาพดิสโทเปีก่อนวันสิ้นโลก เขาปลุกให้นักแสดง แฮร์ริสัน ฟอร์ด, ฌอน ยัง, รัทเกอร์ ฮาวเออร์ และนักแสดงมากมาย แสดงผ่านเรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายของ ฟิลิป เค. ดิก

เรื่องราวตำรวจที่เกษียณอายุแล้ว มีชีวิตที่กล้าหาญและน่าเชื่อถือ ภายใต้การออกแบบฉากที่น่าประทับใจ และการแสดงในหนังเรื่องนี้ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับหนังในแนวเดียวกัน ที่น่าสนใจหนังยังซุกซ่อนความเหงาที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ (และบางทีอาจไร้มนุษยธรรม) ที่ยังคงดังก้อง Blade Runner กระตุ้นการสร้างสรรค์ใหม่ๆ เช่น Blade Runner 2049 ของ Villeneuve มาจนถึงทุกวันนี้

You may also like

Leave a Comment

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More