Umberto Eco and Music: Desert Island Discs
อุมแบร์โต เอโก– Umberto Eco เป็นนักเขียนชาวอิตลี เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1932 ที่เมืองอาเลสซานเดรีย ในแคว้นปีเยมอนเต ทางตอนเหนือของอิตาลี เมื่อโตขึ้น บิดาของเขาต้องการให้เขาเป็นนักกฎหมาย แต่เอโกกลับเข้าศึกษาวิชาปรัชญายุคกลางและวรรณกรรมแทน วิทยานิพนธ์ของเขาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดของทอมัส อไควนัส หลังสำเร็จการศึกษา เขาทำงานที่สถานีวิทยุกระจายเสียง และเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยตูริน เอโกศึกษาความรู้ในแขนงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาสัญญาณศาสตร์ (semiotics—การศึกษาเกี่ยวกับสัญลักษณ์) โดยเขาเป็นผู้ริเริ่มศึกษาสัญญาณศาสตร์เชิงตีความ (interpretative semiotics)
การจากไปของ อุมแบร์โต เอโก เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 สร้างความเศร้าสลดให้กับผู้คนในแวดวงวรรณกรรมไม่น้อย เขาเป็นนักคิด, นักปรัชญา, นักเขียน, นักวิชาการชื่อดัง ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญความรู้ทางด้านสัญญะศาสตร์ (semiotics) ที่มหาวิทยาลัยเก่าสุดในยุโรป University of Bologna เขียนบทความทางวิชาการมากมาย ก่อนจะมาเริ่มเขียนนิยายขายดีเล่มแรก The Name of the Rose ในตอนอายุเกือบ 50 ปี นิยายได้รับการดัดแปลงเป็นหนัง โดยมีฌอน คอนเนอรี่แสดงนำ ก่อนหน้านั้นเอโกมีงานหนังสือเชิงบทความก่อนที่จะเปลี่ยนมาเขียนงานในแบบเรื่องแต่ง นับได้ว่าเอโกเป็นนักเขียนไม่กี่คนที่เดินบนเส้นทางสองโลก
ช่วงวัยเยาว์ของ Umberto Eco เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกำลังปะทุขึ้น เอโกเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมแบบคาทอลิกที่ดำเนินการโดยคณะนักบวชซาเลเซียนของ ดอน บอสโก กระทั่งต่อมาเขาเรียนที่มหาวิทยาลัยตูรินราวทศวรรษ 1950 เขาได้พัฒนาความสนใจในปรัชญาและวรรณกรรมยุคกลาง ตลอดจนเริ่มเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งในเวลานั้นเขาได้หันหลังให้กับแนวคิดของศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก
เมื่อจบการศึกษาเขาเริ่มต้นทำงานเป็นบรรณาธิการฝ่ายวัฒนธรรมให้กับสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐบาลอิตาลี หรือ RAI และเริ่มต้นบรรยายวิชาที่มหาวิทยาลัยตูรินที่ซึ่งเขาเคยศึกษาเล่าเรียน โดยให้สัมภาษณ์ว่าการที่ตนเองตัดสินใจทำงานเกี่ยวกับทีวีถึงห้าปีเป็นเพราะต้องการเงินเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง ระหว่าง ค.ศ. 1956-1964 หนังสือเล่มแรกได้รับการตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1956 โดยเป็นภาคต่อมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา และอีก 6 ปีถัดมาเขาก็ได้แต่งงานกับ เรอแนต รัมเกอ (Renate Ramge) อาจารย์ศิลปะชาวเยอรมัน โดยทั้งคู่มีลูกชาย 1 คน และ ลูกสาว 1 คน
แม้ว่าเอโกจะเป็นศาสตราจารย์ นักปรัชญา แต่เขาก็ชื่นชอบในการฟังเพลง เขาเคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีในปี 1995 ว่า ผลงานเพลงที่เขาชื่นชอบมีเพลงอะไรบ้าง เอโกคัดเลือกหกเพลงที่น่าสนใจมากๆ โดยทั้งหกเพลงเป็นเพลงคลาสสิกถึงห้าเพลง และอีกหนึ่งเพลงเป็นเพลงร้องสแตนด์ดาดแจ๊ซ
As Time Goes By
ผู้เขียนขอเริ่มเพลงแรกที่เอโกเลือกมาคือ As Time Goes By เพลงประกอบหนังเรื่อง Cassablanca เพลงนี้ประพันธ์โดย Herman Hupfeid ในปี 1931 เป็นเพลงที่ได้รับการต้อนรับในการแสดงละครบร์อดเวย์อย่างคับคั่ง ร้องโดยฟรานซิส วิลเลียมส์ ในห้วงเวลาหลายปีต่อมาเพลงได้รับการนำไปร้องจากนักร้องมากมาย จนกระทั่งเพลงได้ประกอบหนังดัง Cassablanca ในปี ค.ศ. 1942 ร้องโดย Dooley Wilson ยิ่งได้รับความนิยมขึ้นไปอีกหลายเท่า เอโกกล่าวว่าเขาได้ดูหนังเรื่องนี้ แล้วก็สามารถคาดเดาตัวหนังได้อย่างไม่ยากนัก โดยเขาเขียนถึง Cassablanca ในหนังสือของเขาด้วย
Chopin Sonata No.2 Op.35
ในมูฟเม้นต์แรก โซนาต้าบทนี้ของโชแปงมีด้วยกันสี่มูฟเม้นต์ โดยมีชื่อเรียกเพลงนี้ว่า The Funeral March เขียนสำเร็จสมบูรณ์ในปี 1839 มูฟเม้นต์แรกเริ่มขึ้นด้วยบทนำเสนอช่วงสั้นๆ ตามมาด้วยท่วงทำนองรุนแรงคล้ายพายุเป็นการเดินนำสู่ธีมทั้งหมด ก่อนเข้าสู่ความนุ่มนวลทรงพลังในธีมที่สอง โดยท่วงทำนองในธีมที่สองนี่เองเริ่มพัฒนาไปสู่มูฟเม้นต์จบ เอโกกล่าวถึงการเลือกโชแปงโซนาต้าหมายเลขนี้ด้วยเหตุผลว่า น่าจะเป็นเพลงแรกๆ ที่เขาได้ฟังในวัยเด็ก แล้วน่าจะเป็นเพลงคลาสสิกเพลงแรกที่เขาได้ฟังหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง และเพลงนี้ได้เปิดประตูในจักรวาลการฟังเพลงคลาสสิกให้กับเอโก เพลงเปียโนโซนาต้าหมายเลขสองมีผู้นำมาบรรเลงจำนวนมาก ล้วนเป็นยอดฝีมือเช่น Emil Gilels, Vladimir Horowitz หรือจะเลือกนักเปียโนยอดอัจฉริยะอย่าง Evgey Kissin ก็ได้อรรถรสในแบบเด็กหนุ่ม (ในวัยนั้น)
The Threepenny Opera
เป็นผลงานเพลงของ Kurt Weill ผู้ประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน เชื้อสายยิว เขามีผลงานเป็นที่ยอมรับ เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 1920 และในช่วงท้ายชีวิตอพยพไปอยู่อเมริกา The Threepenny Opera ของเขาต่อมารู้จันในเพลง Mack the Knife ซึ่งกลายเป็นเพลงแจ๊ซสแตนดาร์ดในปัจจุบัน โดยมีผู้นำมาขับร้องจำนวนมาก ส่วนโอเปร่า The Threepenny Opera ลักษณะเพลงคอมเมดี้ มีส่วนผสมของดนตรีแจ๊ซอยู่มากทีเดียว บทเพลงต้นฉบับของโอเปร่าค่อนข้างหาฟังยากสำหรับแผ่นซีดี แต่ใน Apple Music สามารถหาฟังได้อยู่หลายเวอร์ชั่นด้วยกัน
Jacob van Eyck เป็นคีตกวี เป็นนักดนตรีฟลูต (ขลุ่ย) ชาวเนเธอร์แลนด์ ผลงานของเขาที่เป็นที่รู้จักคือ Der Fluyten Lust-hof การที่เอโกเลือกเพลงของ Jacob van Eyck เพราะเอโกเป็นนักดนตรีด้วย เครื่องดนตรีที่เขานิยมคือขลุ่ยนั่นเอง เอโกบอกว่าเพลงของ Jacob van Eyck เป็นเหมือนแนวทางการกำเนิดขึ้นของตัวละครในนิยายเรื่องใหม่ของเขา
Beethoven Symphony No.7
ในมูฟเม้นต์ที่สอง Allegretto ผู้เขียนแปลกใจเล็กน้อยที่เอโกเลือกเพลงนี้ของบีโธเฟ่น แต่ถ้าอ่านที่เขาอธิบายว่าทำไมเขาถึงชอบเพลงนี้และเลือกมันขึ้นมานั้น มันเป็นสิ่งที่งดงามมาก เอโกอธิบายว่าครั้งหนึ่งตอนที่เขายังหนุ่ม เขาไปชมคอนเสิร์ต แต่ไปถึงช้าเพราะหาสถานที่แสดงไม่พบ เขาได้เข้าไปฟังดนตรีโดยการช่วยเหลือ แต่ได้นั่งตรงทางเดิน ซึ่งมองไม่เห็นวงแสดง เขานั่งอยู่คนเดียว คิดตรึกตรอง จนกระทั่งมูฟเม้นต์ที่สองบรรเลงขึ้นมา ในที่สุดเขาก็ร้องไห้ นั่นทำให้เขาประจักษ์ตรงหน้าว่าดนตรีนั้นเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจที่เข้มข้น ซิมโฟนีหมายเลขเจ็ด เป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยมสูงมากๆ เพลงหนึ่งของบีโธเฟ่น อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นเพลงที่ถูกถางทางเพื่อก้าวสู่หมายเลขเก้า มันยอดเยี่ยมมากแม้เขาจะสร้างสรรค์หมายเลขห้าอันโด่งดังมาแล้วก็ตาม
Aria from the end of Mozart’s Don Giovanni K.527
โอเปราเรื่องนี้ของโมสาร์ท ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการแสดงที่กรุงปราก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จที่กรุงเวียนนาเท่าที่ควร เรื่องราวของดอน โจวานนี ดัดแปลงมาจากตำนาน ดอน ฆวน หนุ่มนักรักชาวสเปนอันเลื่องชื่อ เรื่องราวโอเปรากล่าวถึงจุดจบอันน่าสะพรึงกลัวของดอน โจวานนีต้องการทุกสิ่งจากหญิงสาว แล้วเขาต้องได้ตัวหญิงสาวมา แม้จะด้วยการสังหารใครก็ตาม เอโกกล่าวว่าแม้โอเปราเรื่องนี้จะเป็นที่นิยมเพราะฟังการร้องที่ง่าย แต่สิ่งที่จับใจมากที่สุดก็คือความน่าสะพรึงกลัวของความตาย การเผชิญหน้ากับนรกภูมิ การหนีความกลัวของมนุษย์ ซึ่งเอโกรู้สึกสยองทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงนี้
Bach, Goldberg Variations, BWV.988
มาถึงบทเพลงสุดท้าย ที่เอโกได้เลือกเอาไว้ นั่นคือบทเพลงของบาค Bach, Goldberg Variations, BWV.988 เพลงนี้ของบาค เขียนขึ้นเพื่อเล่นกับฮาร์ฟซิคอร์ด ประกอบไปด้วย aria และ variations set ถึงสามสิบวาริเอชั่น ตีพิมพ์บทเพลงครั้งแรกในปี 1741 เป็นผลงานชิ้นสำคัญของดนตรีคลาสสิก เพลงนี้ได้ชื่อว่า Goldberg เนื่องมาจากเชื่อกันว่า Johann Goldberg นักเปียโนชาวเยอรมันน่าจะเป็นผู้บรรเลงเพลงนี้ของบาคเป็นคนแรกๆ เอโกกล่าวถึง Bach, Goldberg Variations “มีทั้งความซับซ้อนที่ลงตัวด้านดนตรีและความเป็นมิตรอย่างมากกับผู้ฟัง…” ซึ่งสะท้อนแนวคิดของเอโกเองด้วยว่า เขาจำเป็นต้องเข้าถึงคนอ่าน เพื่อสร้างสมดุลย์ให้กับงานเขียน ลงจากหอคอยงาช้าง แล้วทำในสิ่งที่เป็นความจริง เหตุผลที่ผลงานชุดนี้กลายเป็นเพลงสำคัญของยุค เนื่องมาจากมันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคคลาสสิก ถ้าหากมีใครให้เขาเลือกบทเพลงบทเพลงเดียวไปยังเกาะร้างไร้คน เอโกคงเลือกบทเพลงนี้ของบาค เขาให้เหตุผลว่า มันไม่มีที่สิ้นสุด Goldberg Variations ของบาคเพลงนี้นักเปียโนแทบทุกนำไปบรรเลงคอนเสิร์ตและอัดแผ่น ผู้เขียนขอแนะนำให้ฟังผลงานของมือเปียโนระดับเซียนอย่าง Glenn Gould หากต้องการฟังแบบอ่อนช้อยทันสมัยหน่อยก็ Ragna Schirmer หรือฟังในแบบเรียบเรียงเสียงประสานขึ้นใหม่เพื่อเล่นแบบกีตาร์ดูโอ Duo Mélisande จากสองหนุ่มนักกีตาร์ Sebastein Linares และ Nicolas Lestoquoy
เอโกพูดถึงงานของเขาเอาไว้ว่า “ผมไม่รู้ว่าคนอ่านคาดหมายอะไร…ผมคิดว่าบาร์บารา คาร์ทแลนด์ (นักเขียนนวนิยายแนวโรมานซ์ชาวอังกฤษ) เขียนในสิ่งที่ผู้อ่านคาดหมาย ผมคิดว่าผู้ประพันธ์ควรเขียนในสิ่งที่ผู้อ่านไม่ได้คาดหมาย ปัญหาก็คือไม่จำเป็นต้องถามว่าคนอ่านต้องการอะไร แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงเขา ด้วยการสร้างผู้อ่านที่คุณต้องการในแต่ละเรื่องที่เขียน”
และทั้งหมดนี้คือบทเพลงหกบทที่ Umberto Eco นักปรัชญาคนสำคัญของโลกยุคใหม่แนะนำให้เราฟัง