generation
Home Art & Culture Transition Through Generation

Transition Through Generation

by niwat59
118 views

การเปลี่ยนผ่านจากอีกรุ่นสู่อีกรุ่น หรือ Transition Through Generation คือ ในสังคมมนุษย์การเปลี่ยนแปลงในแต่ละ Gen ไม่เคยหยุด คนรุ่นเก่าตายไป คนรุ่นใหม่เติบโต และในแต่ละรุ่นมักก่อคำถามถึงว่าอำนาจทางสังคม อำนาจอุดมการณ์ การเมือง รวมถึงวิถีชีวิต มีความแตกต่างกันอย่างไร ขณะเดียวกัน Generations ต่างๆ ได้เปลี่ยนไป Pop Culture และ Soft Power กลายมาอิทธิพลในสังคมรุ่นใหม่แทน เพื่อช่วยทำให้ผู้คนความเข้าใจถึงแต่ละรุ่นและวิธีที่พวกเขาดำเนินชีวิต เรามาศึกษาความแตกต่างกันระหว่างคนแต่ละรุ่นว่าเป็นอย่างไรบ้าง

คำถามเหล่านี้มักจะถูกตั้งคำถามถึงไอดอลในแต่ละยุค หงา คาราราวาน คือใคร? ใครคือ นวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์? ศิลปะที่เคยรับใช้คนอีกรุ่นกลับไม่ตอบสนองกับคนรุ่นใหม่ เพลงเพื่อชีวิตตายสนิท วาทกรรม นักการเมืองเลว นายทุนขูดรีด หมดสมัยไปแล้ว จะมีคนอ่านวรรณกรรมหลงเหลือสักกี่คนที่มองภาพชนบทสวยงาม ท้องทุ่งเต็มไปด้วยนาข้าว ฝูงวัวฝูงควาย เสียงเป่าขลุ่ยในแบบไอ้ขวัญ อีเรียม การสิ้นสูญภาพชนบทโรแมนติกท่ามกลางปรัชญาพอเพียง เกิดคำถามถึงสวัสดิิการของรัฐที่ล้มเหลว เรื่องราวเหล่านี้ขายไม่ได้สำหรับชนชั้นกลางระดับล่างอีกต่อไป (เข้าเมืองหางานทำ ลูกจ้าง พนักงาน บริษัทห้างร้าน)

Generation คือ

Transition Through Generation

เมื่อไม่สามารถกำหนดอนาคตว่าจะสามารถลืมตาอ้าปากได้เมื่อไหร่ และกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ต้องรอคอยนโยบายจากภาครัฐที่มองไม่เห็นปัญหา ยิ่งนโยบายมาจากรัฐเผด็จการ สืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม นับวันนำไปสู่ความเสื่อมสลาย เบื่อหน่ายการเมือง แม้จะมีความพยายามที่จะสานต่อวรรณกรรมการเมือง (รางวัลพานแว่นฟ้า ของรัฐสภา) แต่ดูเหมือนเรื่องราวที่ส่งเข้าไปประกวดก็ยังย้อนยุคสู่ปัญหาไปหลายสิบปี (ปัญหาเก่ายังไม่เคยสะสาง ปัญหาในโลกยุคใหม่ยิ่งโถมทับ)


“คนทุกเจเนอเรชันมีความพิเศษของตัวเอง พลังคนรุ่นใหม่ก็พิเศษเช่นกัน โดยเฉพาะที่ว่าเป็นพลังหลักในการกดดันเผด็จการ แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่งต่อความกล้าหาญสู่คนรุ่นต่อๆ ไปกำลังกลายเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องเอาชนะมันให้ได้ ผมหวังว่าคนรุ่นต่อๆ ไปจะมีพลังและก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น”

โจชัว หว่อง–นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง

ทุกวันนี้เพลงของวงคาราวานไม่เคยถูกเล่นบนเวทีที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกเลย เช่นเดียวกับบบทกวีของ นวรัตน์ ซึ่งกลายร่างเป็น สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่เคยแม้เรียกร้องในสถานะของนักคิด นักเขียน กวี คนเดือนตุลาคมฯ ทุกวันนี้พวกเขาได้มีที่ยืนทางด้านสิทธิเสรีภาพ ไม่เคยเลยที่จะเรียกร้องให้มีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับสื่อต่อการคุกคามของรัฐ หรือมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว นั่นจึงถูกตั้วคำถามถึง อำนาจวรรณกรรมหลังเพื่อชีวิต

เพลง 1 2 3  4 5 I Love You ของ แอมมี่ The Bottom Blue นักร้องเพลงพ๊อพร่วมสมัย ได้ถูกดัดแปลงมาร้องในเวทีต่อต้านเผด็จการแทนที่เพลงเพื่อชีวิต และตัวแอมมี่เองก็แสดงออกทางศิลปะเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ ด้วยการสาดสีใส่ตำรวจที่ สน.สำราญราษฎร์ โดยประกาศว่า “ประชาชนโดนสาดสีมามากพอแล้ว” นั่นเป็นการยืนยันต่ออุดมการณ์ที่เขามีอย่างเต็มเปี่ยม และตัวเขาเองก็โดนจับกุมเข้าไปในเรือนจำพร้อมกับนักต่อสู้คนอื่นๆ นั่นทำให้สถานะของนักร้องเพลงพ๊อพอย่างแอมมี่ กลายเป็นไอคอนเพื่อการต่อต้านผู้กดขี่ คงอยู่ในสถานะนักต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ไปในทันที บางครั้งมีข้อสงสับว่าดนตรีพ๊อพอาจจะกลายมามีบทบาท อำนาจวรรณกรรมหลังเพื่อชีวิต มากขึ้น

หรือก่อนหน้านั้นเพลงแรพ (Rap) ได้กลายเป็นดนตรีที่สำคัญในการต่อต้านเผด็จการในเมืองไทย โดยเฉพาะเพลง “ประเทศกูมี” ของ Rap Against Dictatorship ซึ่งมีการถ่ายทำมิวสิกวีดีโอโดยนำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 มานำเสนอในเพลง และเนื้อหาในเพลงก็ยังร่วมสมัย สามารถจับต้องได้ เต็มไปด้วยความดุดันโดยได้รับความนิยมในหมู่นักฟังเพลง และผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างรวดเร็ว เพียงไม่นานมิวสิกวีดีโอมียอดวิวในยูทิวป์นับล้านวิว นั่นบอกได้ว่าเพลงเพื่อชีวิตในแบบเดิมไม่สามารถทำงานได้ในโลกยุคใหม่ หรือจริงๆ แล้ว อำนาจวรรณกรรมหลังเพื่อชีวิต กำลังเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ

สาเหตุใดทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตตกต่ำจนสูญหายตายจากไปในสายตาคนรุ่นใหม่ หากย้อนกลับไปในอดีต วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นอย่างสูง การล้มหายตายจากค่านิยมในแต่ละยุคสมัยย่อมมีเหตุผลของตัวมันเอง การปรับตัวของสื่อที่เชื่องช้า อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่สิ่งใดที่นำไปสู่การต่อสู้จนเกิดภาวะสมัยใหม่ และมีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อีกครั้ง

Generations

Silent Generation

(พ.ศ.2468-2488)

ประชากรของคนรุ่นนี้มีไม่มากนัก เพราะเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นพอดี และยังเป็นช่วงเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ มีความเป็นอยู่ที่ลำบาก ผู้คนต้องทำงานหนักในโรงงาน เคร่งครัดต่อกฎระเบียบกฎหมาย อยู่ในแบบแผน มีความจงรักภักดีกับนายจ้าง และมีความเป็นชาตินิยมสูง พวกเขาถูกหล่อหลอมมาจากงานของหลวงวิจิตวาทกร สนใจรากเหง้าของตัวเอง รวมถึงค่านิยมรักชาติในแบบจอมพลแปลก ด้วยวาทกรรม “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ขณะเดียวกันงานวรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเช่นงานของคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เช่น “สี่แผ่นดิน” หลอมรวมแนวคิดชาตินิยมใหม่ผ่านสถาบันกษัตริย์ เริ่มเติบโตขึ้น

ขณะที่งานเขียนแนวก้าวหน้าอย่างเช่นมาลัย ชูพินิจ และศรีบูรพา ในช่วงต้นเป็นงานที่เชิดชูอุดมคติความเป็น “ผู้ชาย” สิทธิสตรีที่เริ่มเท่าเทียมผู้ชาย และยังเป็นงานเชิงคุณค่าทางสังคม ชนขั้น อย่างเช่น นิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” เริ่มตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน เมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นเรื่องราวของความรักของหนุ่มสาวต่างวัย ต่างสถานะ ที่มีเนื้อหากินใจ ภาษาที่ใช้ในเรื่องมีความงดงามเชิงวรรณศิลป์ ก่อให้เกิดวลีกินใจผู้อ่านมากมาย

จนกระทั่งมาถึงงานช่วงหลัง โดยเฉพาะของ “ศรีบูรพา” ที่เติบโตขึ้นและใช้นิยายผ่านมุมมองการเมือง เช่น “แลไปข้างหน้า” “ขอแรงหน่อยเถอะ” ซึ่งงานกลุ่มนี้ได้รับการอ่านใหม่อีกครั้งในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีการตีพิมพ์งานของศรีบูรพาออกมาจำนวนมากจากกลุ่มนักศึกษา

ผลงานของมาลัยชูพินิจ เช่น “ชั่วฟ้าดินสลาย” นำเสนอรักสามเส้าชายสองหญิงหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยไฟรักปรารถนาต้องห้าม นิยายแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนที่ไม่ใช่คนของผู้มีอำนาจเหนือชีวิต การกักขังหน่วงเหนี่ยว การทรมาน การบังคับให้รัก หรือไม่รัก อันเป็นที่มาให้สองหนุ่มสาวต้องเลือกทางในตอนจบ

Baby Boomer Generation

Baby Boomer Generation

(พ.ศ. 2489-2507)

ปัจจุบัน (2563) คนในเจนเนอเรชั่นบีนี้จะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เข้าสู่วัยเกษียณ และวัยชรา หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง การพลิกฟื้นเศรษฐกิจเพื่อให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลทั่วโลก แต่จากการขาดแคลนแรงงานหลังสงครามทำให้ยุคนี้ทำให้กำเนิดประชากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้ามาทดแทนประชากรที่สูญเสียไปใน จึงเกิดค่านิยมที่ต้องมีลูกหลายๆ คนในหนึ่งครอบครัว ซึ่งต่อมาได้เผชิญต่อปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร

ขณะเดียวกันหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ไม่นาน การขยายอำนาจของจักรวรรดิ์อเมริกา เพื่อต่อต้านลัทธิการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของโซเวียตและจีน ทำให้พวกเขาเดินเข้าสู่ยุคสงครามเย็น สงครามเย็นสร้างความหวาดกลัวที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ การต่อต้านคอมมิวนิสต์รุนแรงขึ้นทั่วโลก และประเทศไทยกลายเป็นฐานที่มั่นของจักรวรรดิ์อเมริกาเพื่อการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ประเทศไทยมีฐานทัพอเมริกาอยู่หลายสิบแห่ง จนก่อเกิดสงครามเวียดนามในเวลาต่อมา ประเทศไทยได้กลายเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ที่นำกองบินของอเมริกาไปโจมตีเพื่อนบ้าน ไทยได้รับอนิสงฆ์จากสงคราม จากความช่วยเหลือของมหามิตร ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาของการเติบโตของลัทธิชาตินิยม และเผด็จการทหาร หลังสงครามเวียดนาม การพ่ายแพ้ของอเมริกากลายเป็นบาดแผลขนาดใหญ่ของอเมริกาจนถึงทุกวันนี้

คนในเจนนี้ส่วนใหญ่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกติกา มีความอดทน ทุ่มเทให้กับการทำงานและองค์กร ยึดถือระบบชนชั้น เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่ทันสมัยทำให้ความรู้ตกอยู่กับชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครอง คนเจนบีถูกสอนให้ประหยัด ใช้จ่ายอย่างรอบคอบ อดออม แต่คนยุคอื่นกลับมองว่าคนยุคเบบี้บูม เป็นพวกอนุรักษ์นิยม เคร่งครัดในประเพณีวัฒนธรรม ขณะเดียวกันเจนบี ควบคุมระบบเศรษฐกิจอย่างมั่นคง มั่งคั่ง การเติบโตของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ สามารถครอบงำทางด้านความคิดและวัฒนธรรมของคนทั่วโลก การเดินทางไปดวงจันทร์นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด

ในส่วนงานวรรณกรรมของยุคนี้ อำนาจวรรณกรรมหลังเพื่อชีวิต ไม่มีผลต่อวรรณกรรมร่วมสมัยในแนวทางอื่นๆ แทบจะแยกเดินออกจากวรรณกรรมพาฝัน ไม่ว่าจะเป็น “ปริศนา” “รัตนาวดี” และ “เจ้าสาวของอานนท์” ของ ว.ณ ประมวญมารค  นามปากกาของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต วรรณกรรมซึ่งมองภาพฝันสวยงามของชนชั้นสูง

รวมถึงนิยายแนวลูกผู้ชายอย่าง “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียน นำเสนอความเป็นใหญ่ของเพศชาย สร้างภาพอุดมคติ “สุภาพบุรุษ” ผู้ปกป้อง และลวนลามหญิงสาวในเวลาเดียวกัน ได้รับกระแสตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี เนื่องจาก “เพชรพระอุมา” นั้นฉายแบบแผนวีรบุรุษ ที่มีบริบทเป็นไทย ขณะเดียวกันภาพลักษณ์คู่พระ คู่นางต่างก็มีความสากล ผนวกด้วยเรื่องราวผจญภัยที่สนุกเร้าใจยิ่งสร้างจินตนาการให้ผู้อ่านมีความฝันเป็นเหมือนตัวละครเอกในนิยาย

ตัวแทนของคนรุ่นนี้คือ ศึกบางระจัน (2509) ตำนานอดีตอันเกรียงไกรสมัยกรุงศรีอยุธยาถูกนำมามาปลุกเร้าสำนึกรักประเทศ มนต์รักลูกทุ่ง (2513) ภาพฝันบ้านทุ่งอันสวยงามที่เต็มไปด้วยเรื่องราวโรแมนติก ขณะที่หนังอย่าง เพชรตัดเพชร (2509) เป็นภาพแทนสังคมเมืองกรุง หรูหรา ฟู่ฟ่า ทันสมัย พระเอกและผู้ร้ายใส่สูทชกกัน

การเมืองในช่วง 16 ปี เผด็จการ สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส วรรณกรรมพาฝันมีอิทธิพลมากในวงการภาพยนตร์ นิยายพาฝันจำนวนมากถูกผลิตขึ้นเป็นหนัง เป็นละคร รวมถึงละครวิทยุ เช่น จำเลยรัก (2506) ดวงตาสวรรค์ (2507) สวรรค์เบี่ยง (2513) ฯลฯ นิยายเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อหลีกหนีปัญหาสังคม และการเมือง ที่กดขีี่บีฑาฝ่ายตรงข้ามด้วยการจับติดคุก และสังหารอย่างโหดเหี้ยม ตัวอย่างเช่น จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด–นักเขียนคนสำคัญของไทย ถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงจนเสียชีวิตที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ “บ้านหนองกุง” ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ความตายของจิตร คือหนึ่งในโศกนาฎกรรมที่รัฐทำต่อประชาชนอย่างเปิดเผย

Generation X

Generation X

(พ.ศ. 2508-2522)

คนเจเนอเรชันเอ็กซ์ (เจนเอ็กซ์) หรืออาจจะเรียกอีกชื่อว่า “ยับปี้” (Yuppie) ที่ย่อมาจาก  Young Urban Professionals เป็นคนวัยทำงานในยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) คนรุ่นนี้เกิดจากผลกระทบจากการผลิตประชากรล้นเกินจนต้องมีมาตรการคุมกำเนิด เช่นในประเทศจีนอนุญาตให้ครอบครัวมีบุตรได้คนเดียว ขณะเดียวกันการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาในยุคนี้ โลกเพียบพร้อมด้วยความมั่งคั่ง ความทันสมัยทำให้ชีวิตการเป็นอยู่เริ่มเปลี่ยนแปลง คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทสำคัญ จากที่เคยเป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐ ได้แพร่กระจายมาสู่ประชาชน เช่นเดียวกับโทรทัศน์สี (บางคนยังทันยุคโทรทัศน์ขาวดำ) รายการทีวี เกมโชว์ เอ็มทีวี ดนตรีฮิบฮอป

ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้คนยุคนี้มีทางเลือกมากขึ้น พวกเขาเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีชีวิตที่ทุกข์ทนอีกต่อไป เมื่อมีโอกาสและตัวเลือกมากมาย คนเจนเอ็กซ์เติบโตขึ้นมาด้วยตนเองสูงมาก ยึดระบบชนชั้นน้อยกว่าคนยุคเบบี้บรูมเมอร์ คนในเจนนี้มีแนวโน้มต่อต้านสังคม ไม่มีความเชื่อในเรื่องศาสนา ไม่ยึดถือขนบประเพณีดั้งเดิมที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล บางครั้งถึงกับตั้งคำถามว่า “งานดีๆ เงินเดือนสูงๆ นั้นถูกยึดครองไปหมดแล้วจากคนรุ่นก่อน”

คนเจนเอ็กซ์ชอบอะไรง่ายๆ ไม่เป็นทางการ มักจะเก็บออมเท่าที่มี เลือกงานที่ชอบ รักอิสระ มีความคิดนอกกรอบ มองเรื่องชีวิตคู่มีอิสระมากขึ้น สามารถอยู่ก่อนแต่ง หรือการหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับการมองเพศที่สามเป็นเรื่องปกติ ต่างจากเจนบีที่มองเรื่องเหล่านี้ว่าผิดจารีต

งานวรรณกรรมเพื่อชีวิตกลับมาอยู่ในกระแสหลักอีกครั้ง อาจจะเรียกได้ว่า อำนาจวรรณกรรมหลังเพื่อชีวิต กลับมามีบทบาทต่อคนยุคนี้ เหมือนการโหยหาสู่งานในแบบสังคมนิยม เช่น งานของจิตร ภูมิศักดิ์ เสนีย์ เสาวพงศ์ ศรีบรูพา ถูกกลับมาอ่านใหม่ และพิมพ์ซ้ำในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบานที่สุด หลังจากนักศึกษาประชาชนได้ขับไล่ทรราชอย่างถนอม กิตติขจร ออกไปนอกประเทศได้สำเร็จ ขณะเดียวกันกระแสลัทธิสังคมนิยมก็เบ่งบานในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สหรัฐฯ ได้รับความเสียหายไม่มาก ในขณะที่อังกฤษได้รับผลกระทบอย่างสูง ส่งผลให้สหรัฐฯ ผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าจักรวรรดิใหม่โดยไม่ยากเย็น เมื่อสิ้นสุดสงครามสหรัฐฯ ผลักดันการจัดระเบียบโลกเพื่อก่อให้เกิดการขยายตัวเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จัดระเบียบการค้า และการเงินระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องการให้ลัทธิคอมมิวนิสม์เป็นอุปสรรค ประเทศไทยซึ่งตกอยู่ในวงล้อมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง ส่งผลให้สหรัฐฯ นั้นสนับสนุนไทยอยู่เบื้องหลังมากมายผ่านรัฐบาล กองทัพ และสถาบันสำคัญของไทย ความกังวนของชนชั้นนำในไทยหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอย่างมาก ยิ่งชัยชนะของประชาชนในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ก่อให้เกิดกระแสประชาธิปไตยเสรีนิยมสูงมากขึ้นเท่าไหร่ ความหวาดกลัวก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น

ต่อมาในต้นปี 2519 มีการคุกคามนักศึกษาที่รุนแรงมากขึ้น และเหตุการณ์มีความตึงเครียดขึ้น เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร พยายามเดินทางกลับเข้าประเทศไทย ในฐานะ “สามเณร” ในวัย 65 ปี “บวชเป็นสามเณร” มาจากประเทศสิงคโปร์ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และมี พระญาณสังวร (อดีตสมเด็จพระสังฆราช) เป็นองค์อุปัชฌาย์ ได้รับนามว่า สุกิตติขจโรภิกษุ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงอีกครั้ง เมื่อฝ่ายรัฐเริ่มออกปราบปรามคนที่เห็นต่าง เพื่อต่อต้านการกลับมาของถนอม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แขวนคอพนักงานการไฟฟ้าสองคนที่ประตูแดง และต่อมามีการแสดงละครแล้วนำไปสู่การป้ายร้ายป้ายสีประชาชน นักศึกษา ว่ากำลังประทุษร้ายองค์รัชทายาท และเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลให้มีการฆ่ากลางเมืองที่สยสยองที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย

หลัง 6 ตุลาคม 19 นิยาย “หัวก้าวหน้า” มีบทบาทมากกับคนรุ่นนี้มากขึ้น โดยเฉพาะงานของสุวรรณี สุคนธา, ณรงค์ จันทร์เรือง, ชาติ กอบจิตติ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ‘รงค์ วงษ์สวรรค์, วานิช จรุงกิจอนันต์, สุชาติ สวัสดิศรี ฯลฯ วรรณกรรมเพื่อชีวิตก้าวไปอีกขั้น มีความคมคายทางความคิดมากขึ้น ตัวละครไม่ยึดติดอยู่ในรูปแบบเก่าๆ ภาพชนบทค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นภาพเมือง ปัญหาปากท้องในเมืองกรุงถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นกว่าในอดีต

ส่วนหนังที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นนี้ไม่ว่าจะเป็น “ชีวิตบัดซบ” (2519) “ทองพูนโคกโพธิ์ ราษฎรเต็มขั้น” (2520) “ครูบ้านนอก” (2521) ฉายภาพการต่อสู้ของคนหนุ่ม-สาวต่อความอยุติธรรมในสังคม กฎหมายบิดเบี้ยว การถูกบีบบังคับให้พวกเขาเสียอัตลักษณ์ความเป็นคน จนตรอกจนต้องออกมาสู้ และตัวตายไปในท้ายเรื่องเสมอ

ขณะเดียวกันในปีกวรรณกรรมพาฝันก็ยังมีอิทธิพลสูงขึ้นไม่ต่างกัน นิยายอย่าง คู่กรรม ของทมยันตี ปูนปิดทอง ของ กฤษณา อโศกสิน รัตนโกสินทร์ ของ ว.วินิจฉัยกุล และดูเหมือนว่าความนิยมในด้านการตลาดของนิยายกลุ่มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในช่วงกวาดล้างคอมมิวนิสต์ และการหนีเข้าป่าของปัญญาชน ทำให้นิตยสารรายปักษ์ รายเดือนทั้งหลายไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาที่เป็นการเมืองได้ นิยายในปีกนี้จึงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คู่ขนานไปภาพยตร์แนวกู้ชาติอย่าง “วีรบุรุษกองขยะ” (2519) “หนักแผ่นดิน” (2520)

การเมืองเข้มข้นแต่พออาศัยคำว่า “กู้ชาติ” แล้วมันก็ไม่ใช่การเมืองอีกต่อไป แต่เป็นการทำเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิด รวมไปถึงหนังที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายเพื่อปราบอิทธิพลเถื่อนอย่าง “ชุมแพ” (2519) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการกล่อมเกลาล้างสมองผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อบันเทิงซึ่งถูกเซ็นเซอร์เนื้อหา รวมไปถึงเซ็นเซอร์ตัวเองไปโดยปริยายเพื่อไม่ให้หนังที่ลงทุนมาได้ฉายตามปกติ

มิตรสหายท่านหนึ่งสรุปเจนเอ็กซ์เอาไว้อย่างน่าสนใจก็คือ เป็นยุคที่คนร่วมสมัยเติบโตขึ้นมาโดยไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งคนตาสว่าง และมืดบอดอยู่ร่วมกัน มีพวกเข้าป่า มีพวกในเมือง มีคนออกจากป่าด้วยเหตุผลคนละอย่างสองอย่างหรือมากมาย และการเติบโตในยุคดังกล่าวทั้งเป็นอำนาจนิยม ขณะเดียวกันก็เริ่มเข้าสู่ทุนนิยมการค้าเสรี และการเติบโตเชิงเดี่ยวของนายทุนที่เกาะกุมอำนาจ มองเห็นความมั่นคงยั่งยืนเมื่อต้องยึดกับรัฐ

หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และเลือกพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย

พลเอกเปรมนำนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด การคืนรังของเหล่าปัญญาชนที่เข้าป่าเพื่อต่อสู้อำนาจรัฐได้สิ้นสุดลง บาดแผลของคนหกตุลาคมปีหนึ่งเก้ายังบาดลึกในจิตใจ บางคนกลับออกมาเรียนต่อ บางคนไต่เต้าทำธุรกิจของครอบครัว บางคนสูญเสียทุกอย่าง นั่นเป็นการจบสิ้นยุคเจนเอ็กซ์ที่เต็มไปด้วยความบอบช้ำ บางคนนิยามว่ามันเป็นเศษซากทางประวัติศาสตร์ที่ยากจะลืม

Generation Y

Generation Y

(พ.ศ. 2523-2540)

Gen-Y หรือ ยุค Millennials คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ.2523-2540 คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและมีค่านิยมที่แตกต่างกันระหว่างรุ่นปู่ย่าตายายกับรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา ขณะเดียวกันการเติบโตก้าวกระโดดของเทคโนโลยีมีผลต่อความเปลี่ยนแปลง การใช้ชีวิต ความเชื่อ ทั้งทางด้ารสังคม การเมือง รวมถึงทัศนคติต่างๆ ที่เปิดมากขึ้นกว่าเดิม

ยุคนี้จะเป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก หลังพลเอกเปรมดำรงตำแหน่งนายกสามสมัย ระหว่างปี 2523-2531 เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ เกิดกลุ่ม 10 มกรา ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศภายในพรรค กลุ่ม 10 มกรา ลงมติไม่สนับสนุนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา จนทำให้พระราชบัญญัติไม่ผ่านการเห็นชอบ พรรคประชาธิปัตย์แสดงความรับผิดชอบโดยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกเปรมจึงประกาศยุบสภา มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531

ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรม มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 จากกลุ่มนักวิชาการ ภายหลังการเลือกตั้ง ในคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เข้าพบพลเอกเปรมที่บ้านพัก เพื่อเชิญให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม 2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17

การเข้าดำรงตำแหน่งของชาติชาย สร้างกระแสตอบรับทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อพลเอกชาติชาย ประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” นั่นทำให้ภาคเศรษฐกิจตอบรับกับนโยบายนี้อย่างคึกคัก และเป็นการดำเนินรอยตาม “ยุคโชติช่วงชัชวาล” ที่พลเอกเปรมเคยถากถางทางเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ในยุคเจนวายทำให้พ่อแม่ของพวกเขา (เจนเอ็กซ์) ที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในชีวิตอยู่แล้ว จนสามารถดูแลเอาใจใส่ลูกๆ ได้เป็นอย่างดี เด็กยุคนี้จึงมักจะถูกตามใจตั้งแต่ยังเล็ก โดยได้รับในสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่ค่อยได้ เช่นของเล่นที่พ่อแม่เจนวายไม่มีโอกาสซื้อในสมัยเด็ก หรือการโหยหาอดีตในวัยเยาว์ (Nostalgia) จนก่อให้เกิดแนวคิดย้อนระลึกความหลังในทุกสิ่งที่เป็นอดีต ตัวอย่างเช่นสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง “เพลินวาน” (ปัจจุบันปิดตัวลงแล้ว หรือตลาดน้ำ ตลาดเก่าร้อยปี)

ในด้านการศึกษา คนเจนวายมีการศึกษาดี มีลักษณะนิสัยชอบการแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ ไม่ชอบอยู่ในเงื่อนไข ชอบเสพข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย มีอิสระทางความคิด กล้าถามในทุกเรื่องที่ตัวเองสนใจ ไม่หวั่นคำวิจารณ์ มีความเป็นสากล มีความนิยมชมชอบวัฒนธรรมหรือศิลปินต่างชาติเป็นเรื่องธรรมดา การเกิดขึ้นของดนตรี Alternative-Indie จากฝั่งอเมริกา REM, Pearl Jam, Nirvana ฝั่งยุโรป Brit-Pop จากอังกฤษ U2, The Smiths, Morissey, INXS, Radiohead, Oasis, Manic Street Preachers การเปิดร้าน Tower Record ในเมืองไทยหลายสาขา และต่อมายักษ์ใหญ่ด้านเอนเตอร์เทนเม้นต์ก็ทยอยมาเปิดร้านในประเทศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นกลายเป็นแหล่งทำเงินของคนรุ่นใหม่ ราคาที่ดินสูงขึ้น ราคาหุ้นถีบตัว อสังหาริมทรัพย์กลายเป็นทองคำ ธุรกิจใหม่ๆ เช่นเคเบิลทีวีถือกำเนิดขึ้น การให้บริการเครือข่ายส่งสัญญาณข้อความผ่านเครื่องรับ (เพจเจอร์) เช่นเครือข่าย 1144 แพ็คลิงค์, 1500 อีซีคอล, 152 โฟนลิงค์ เครือข่ายเหล่านี้ได้รับความนิยมสูงมากในยุคก่อนโทรศัพท์มือถือ

ปัจจุบันคนเจนวายนี้อยู่ทั้งในช่วงวัยเรียนและในวัยทำงาน (2563) ที่สำคัญจากการที่ยุคนี้เป็นยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องสูง คนกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการทำงานเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารได้ดี ชอบงานด้านไอที ใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งมีความสามารถที่จะทำอะไรได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เรียกได้ว่า สามารถใช้เครื่องมือเครื่องไม้ได้อย่างคล่องแคล่วอย่างที่ไม่เคยปรากฏ

pop culture

การเติบโตของคนเจนวาย – Generation Y

คนเจนวายโตมากับการ “ดู” มากกว่าการ “อ่าน” ในชั่วโมงเรียนเริ่มถูกบังคับให้อ่านหนังสือนอกเวลาเพื่อนำไปสอบ บทเรียนนำเสนอประวัติศาสตร์ราวนิยาย มะกะโทคนขยัน, ราชาธิราช รามเกียรติ จนถึง ขุนช้างขุนแผน ที่ถูกตัดมาเป็นบางบทบางตอน สนับสนุนแนวคิดเรื่องแผ่นดินใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ไปจนถึงพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ประวัติศาสตร์การเมืองถูกเล่าอย่างตื่นตาตื่นใจทั้งกรณี รศ. 112 จนถึงการเลิกทาส

นิยายที่มีอิทธิพลมากคือวรรณกรรมเยาวชน “เวลาในขวดแก้ว” ของประภัสสร เสวิกุล “หุบเขากินคน” ของ มาลา คำจันทร์ จนถึงนิยายแปล “เอมิล ยอดนักสืบ” “แมงมุมเพื่อนรัก” (หนังสือนอกเวลา) เจนวายส่วนใหญ่ตระหนักถึงพลังของเยาวชนมากขึ้น พวกเขาเริ่มทำอะไรได้ตั้งแต่เด็กๆ แต่ยังอยู่ในกรอบ “เด็กดี” ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ความตระหนักว่าพวกเขาอาจเปลี่ยนเรื่องเล็กๆ ได้ แต่จะเปลี่ยนเรื่องใหญ่ระดับสังคมหรือประเทศไม่ได้ยังคงวนเวียนเป็นคำถาม สิ่งเหล่านี้เป็นความอัดอั้นของคนเจนวายไม่น้อย อาจจะกล่าวได้ว่ากระแสลม อำนาจวรรณกรรมหลังเพื่อชีวิต เริ่มที่จะปรากฏขึ้นในช่วงเวลานี้

ในเรื่องการทำงาน คนเจนวายต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วยงาน พวกเขาชอบทำงานเป็นทีม ต่างจากเจนเอ็กซ์ที่ชอบทำงานแบบตัวคนเดียวมากกว่า คนวัย Gen-Y เติบโตมากับการประชุม การระดมความคิด ความเห็น พวกเขาไม่เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ที่อดทนรอได้ แต่คนเจนวายมองว่าคุณค่าของพวกเขามีสูงกว่า เช่นถ้าพวกเขามีความสามารถที่สูง ก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงตามไปด้วย ผลงานที่ดีควรจะให้ค่าตอบแทนที่เป็นเหตุเป็นผลด้วย หรือถ้าพวกเขาเก่งกว่า ควรจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หรือเพิ่มเงินเดือนตามที่ความสามารถนั้นพิสูจน์ได้ พวกเขามองเห็นว่าการไต่เต้าแบบระบบอุปถัมป์ไม่ควรเกิดขึ้น  หรือการไต่เต้าตามระบบอาวุโส โดยไม่ดูที่ผลงานก็เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงหรือยกเลิกไป

นอกจากนี้แล้ว กลุ่ม Gen-Y จะเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีใจช่วยเหลือสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์ที่ดี และแน่นแฟ้นกับพ่อแม่

หนังวัยรุ่นที่เป็นตัวแทนของยุคสมัย ผลักให้พวกเขาห่างไกลจากการเมืองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “หวานมันส์ฉันคือเธอ” “อนึ่งคิดถึงพอสังเขป” “กระโปรงบานขาสั้น” ฯลฯ พูดถึงชีวิตวัยรุ่นมัธยมอันแสนสนุก ปัญหาเดียวในชีวิตคือความรัก อาจจะมีเรื่องครอบครัวแซมเข้ามาบ้าง แต่มักคลี่คลายได้ด้วยดี แต่กระนั้นคนเจนวายก็เติบโตมากับการเผชิญการรัฐประหารอีกครั้งในรอบหลายปี และไม่มีใครคิดว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก

การรัฐประหารในปี 2534 โดยเรียกตนเองว่า รสช. ซึ่งมี พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ (จปร. 1) ผบ.สส. เป็นหัวหน้า รสช. แต่การยึดอำนาจในครั้งนี้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และรองหัวหน้า รสช. เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการ และยังมีทหารกลุ่ม จปร. 5 อีกหลายคนมีบทบาทในการยึดอำนาจ โดยภายหลังการยึดอำนาจ พล.อ. สุจินดา เป็นผู้ที่มีบทบาทในการเข้ามาจัดการปัญหาต่างๆ ในขณะที่ พล.อ. สุนทร ไม่ได้มีบทบาทที่ชัดเจนนัก โดยคณะ รสช.ให้เหตุผลในการยึดอำนาจว่า

  1. มีพฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง รัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นรัฐบาลบุฟเฟต์คาบิเนต ร่ำรวยผิดปกติ
  2. ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต
  3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
  4. มีการพยายามทำลายสถาบันทางทหาร
  5. มีการบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อขจัดภยันตรายที่มีต่อประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากรัฐบาลละเลยคดีลอบสังหารเชื้อพระวงศ์ โดยอ้างอิงคำสารภาพของพันเอกบุลศักดิ์ โพธิเจริญ ส.ส.พรรคพลังธรรม จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งให้การซัดทอดพลตรีมนูญ รูปขจ

สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดของการทำรัฐประหาร พ.ศ.2534 นี้ คือไม่มีการอ้างถึงภัยคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งมักจะอ้างถึงอยู่เสมอในการทำรัฐประหารหนก่อนๆ และนอกเหนือจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง (คอร์รัปชั่น) กับการทำลายสถาบันแล้ว ก็มีการอ้างถึง “เผด็จการรัฐสภา” ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ตลกที่สุดเพราะในระบอบประชาธิปไตยก็ย่อมตัดสินใจในการบริหารบ้านเมืองด้วยคะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นปกติอยู่แล้ว

หลังจากนั้นเพียงปีเดียว รสช. ตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยนักกฎหมายและนักวิชาการ เพื่อประกาศใช้ได้ในวันที่ 9 ธ.ค. 2534 จนนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรม ที่ก่อตั้งโดยเครือข่าย รสช. ได้คะแนนเสียงมากที่สุด รวบรวมพรรคการเมืองอื่นๆ ในสภาผู้แทนฯ เลือกพล.อ.สุจินดา ที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางความไม่พอใจของชนชั้นกลาง ออกมาชุมนุมตามท้องถนน โจมตี อดีตผู้บัญชาการทหารบกที่พูดว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” พร้อมกับเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง มีการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลตั้งแต่ 17-21 พ.ค. ทำให้เกิดความสูญเสีย

กระทรวงมหาดไทยรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บรวม 1,728 ราย (สาหัส 47 ราย) และสูญหายอีก 48 ราย แต่หลายฝ่ายคาดกันว่าตัวเลขจริง สูงกว่านั้นมากโดยไม่มีการยืนยันตัวเลข ความสูญเสียในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬยังคงเป็นแดนสนธยาของคนไทยตลอดมา เวลาล่วงผ่านมาแล้วยี่สิบกว่าปี ตัวเลขผู้ศูญหายและเสียชีวิตยังไม่ปรากฎเป็นที่ชัดเจน

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นรอยแผลหนึ่งของคนเจนวายที่กำลังเติบโตขึ้น ขณะเดียวกันคนเจนเอ็กซ์ที่เติบโตอยู่ในวัยทำงานหรือเรียนในมหาวิทยาลัยต่างออกมาขับไล่รัฐบาลฉ้อฉล ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นม็อบมือถือ ม็อบคนชั้นกลาง หลังเหตุการณ์พฤษาภาคม 35 ทำให้การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และการไม่เอานายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นกลายเป็นประเด็นหลัก

Generations

กระนั้นภาพหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม พลเอกเปรม พลตรีจำลอง และพลเอกสุจินดา เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่เก้า นั่นคือภาพที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ทอแสงประกายขึ้นในหมู่คนชั้นกลางอย่างเด่นชัดอีกครั้ง และอาจจะกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากสิ้นยุคสงครามเย็น ระบอบสังคมนิยมไม่ได้เป็นศัตรูทางการเมืองของประเทศอีกต่อไป ขณะเดียวกันประเทศกำลังเดินหน้าเป็นเสือเศรษฐกิจ เข้าสู่ยุคทุนนิยมอย่างเต็มตัว

ขณะเดียวอิทธิพลของละครโทรทัศน์ โดยเฉพาะบรรดาละครที่ชูแนวคิดชาตินิยม “คู่กรรม” “สายโลหิต” “รัตนโกสินทร์” ฯลฯ เช่นเดียวกับนิยายพาฝันที่ย้อนกลับไปสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชหรือยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน รวมถึง “ปริศนา” “เจ้าสาวของอานนท์” “โดมทอง” แม้กระทั่งนิยายที่มีท่าทีวิพากย์ระบบอำนาจนิยมและเจ้าขุนมูลนายเก่าอย่าง “บ้านทรายทอง” ก็ถูกลดคุณค่าลงจนกลายเป็นเพียงการต่อสู้ระหว่างสาวน้อยพลัดบ้านพจมานกับหญิงใหญ่ทรงอำนาจ และหญิงเล็กขี้อิจฉา

ก่อนสิ้นสุดยุคเจนวาย นิยายเรื่อง Harry Potter ของ เจเค. โรว์ลิง เล่มแรกก็วางจำหน่ายในสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกในปี (ค.ศ. 1997 หรือ พ.ศ. 2540) และนี่เป็นนิยายที่เปลี่ยนโลกทัศน์วรรณกรรมเยาวชนไปจนสิ้น เมื่อนิยายเล่มนี้ใช้เวลาไม่นานก็โด่งดังไปทั่วโลก จากนั้นเราได้ติดตามชีวิตแฮรี่จากเด็กค่อยๆ โตเป็นผู้ใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงสิ่งเล็กๆ รอบๆ ตัวไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่าระดับสังคมได้ จากนั้นหนังสือได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ ยิ่งทำให้อิทธิพลของนิยายเล่มดังกล่าวขยายความตื่นตัวต่อวรรณกรรมแนวแฟนตาซีไปอีกระดับหนึ่ง และกว่าแฮรี่ พ็อตเตอร์เล่มแรก จะวางจำหน่ายในภาษาไทยก็ล่วงเลยไปจนถึงปี 2543 ด้วยจำนวนการพิมพ์ถึง 40,000 เล่ม นั้นตอกย้ำเป็นอย่างดีว่าหนังสือเล่มนี้ว่าสร้างอิทธิพลต่อเยาวชนไม่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้นช่วงท้ายของเจนเนอเรชันก็ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือวิกฤติต้มยำกุ้ง การพังทลายทางเศรษฐกิจครั้งนี้ของประเทศไทย ทำให้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนไปตลอดการ การลดค่าเงินบาท รวมไปถึงการเปลี่ยนวิธีคำนวนอัตราแลกเปลี่ยน และต้องเข้าฟื้นฟูกิจการกับ IMF ฐานะทางเศรษฐกิจครั้งก่อผลให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจตกต่ำยาวนานต่อเนื่อง

Generation Z

Generation Z — จาก Pop Culture สู่ Soft Power

(พ.ศ. 2540 ขึ้นไป)

อาจจะเริ่มกล่าวได้ว่ายุคเจนซี เป็นจุดเริ่มต้น อำนาจวรรณกรรมหลังเพื่อชีวิต ตกต่ำลง เทียบอายุแล้วก็คือ วัยเด็ก เยาวชน วัยรุ่น นั่นเอง เยาวชนกลุ่ม Gen-Z หรือ Zoomer เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ เป็นอย่างดี เรียนรู้ได้ไว เพราะพ่อแม่ใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่นนี้แตกต่างจากรุ่นอื่นๆ สมัยที่ยังเป็นเด็กอยู่ พวกเขาจะเห็นภาพที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ต่างจากรุ่นก่อนๆ ที่อาจจะมีพ่อออกไปทำงานเพียงคนเดียว โดยมีแม่เป็นแม่บ้าน

แต่ที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งก็คือพวกเขาเติบโตมากับครอบครัว พ่อ–แม่ เลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่มีพ่อแม่หย่าร้างกัน แม้สถิติการหย่าร้างในปัจจุบันจะยังไม่นิ่ง แต่สถิติดังกล่าวพอบอกได้ว่าการหย่าร้างในสังคมไทยเริ่มกลายเป็นเรื่องธรรมดา ผิดกับยุคสมัยก่อนโดยเฉพาะผู้ใหญ่ในยุคเจนบีนั้นมองเรื่องการหย่าร้างเป็นความผิด เป็นความอับอายทางสังคม และให้คุณค่าการแต่งงานสูงมาก

คนเจนแซดในวัยเด็กเติบโตขึ้นมาด้วยการเผชิญกับปัญหาทางการเมือง รัฐประหารปี 49 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เสื้อเหลืองเสื้อแดง การสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองในปี 53 จากการส่องยิงอย่างเหี้ยมโหด ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ พอโตขึ้นในระดับมัธยมปลายหรืออุดมศึกษา พวกเขาต้องเผชิญการชุมนุมปิดถนนยึดสถานที่ราชการ ขัดขวางการเลือกตั้ง จนกลายเป็นโมฆะ จากกลุ่ม กปปส. และต่อมาพลเอกประยุทธและพรรคพวกทำหารรัฐประหารยึดอำนาจ อยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการในนาม คสช. นานถึงสี่ปี โดยมีคนถูกเรียกตัวไปรายงานตัว ปรับทัศนคติ จับขัง พลโดยท่านผู้นำ สัญญาที่ไร้อนาคตว่า “เมื่อไหร่?” จะจบสิ้นยาวนาน ยิ่งอยู่นานวันประเทศยิ่งเต็มไปด้วยความเสียหาย ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความไม่เป็นธรรมมากมายบังเกิดขึ้นในยุค คสช. คนที่รณรงค์เพื่อไม่รับรัฐธรรมนูญ 60 ถูกจับ ต้องขึ้นศาล คนเจนแซด และเจนวาย มีช่วงเวลาเหล่านี้ร่วมกัน

คนเจนแซดไม่ได้เติบโตมากับทีวีที่มีเพียงห้าช่อง (3, 5, 7, 9และ 11) อิทธิพลจากสื่อต่างประเทศกลายเป็นเรื่องง่ายที่จะติดตามผ่านช่องทางต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะวัฒนธรรม J-Pop จากญี่ปุ่น ที่วางรากฐานมาหลายปี จนกระทั่งวัฒนธรรม K-Pop มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวัยหนุ่มสาว จากภาพยนตร์ Christmas in August (1998) เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของหนังเกาหลีใต้ที่คนไทยได้ชม ตามด้วย Il Mare (2000) สร้างกระแสหนังเกาหลีใต้ได้อย่างน่าตื่นตา จนกระทั่งซีรีส์ Full House (2004) เข้าฉายในโทรทัศน์ ชื่อของ Rain นักแสดงนำชายในซีรีส์เรื่องนี้ก็ติดลมบนในฐานะไอดอลของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนัง เพลง และวัฒนธรรมเกาหลีปูพรมแดนได้อย่างแข็งแกร่ง ตามด้วยซีรีส์ “แดจังกึม” ซึ่งแทรกซึมวัฒนธรรมการกิน การแสดงถึงชาตินิยม รวมถึงความยุติธรรม

หลังวิกฤติเศรษฐกิจผ่านไปไม่นาน เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตขึ้น แวดวงสิ่งพิมพ์เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ไม่ใช่ด้วยวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่เป็นนิยายไลท์โนเวล จากฝั่งเกาหลี ไต้หวัน รวมถึงจีน นิยายแนวนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการ์ตูนกับนิยายลางเลือนลงไป พวกเขาสามารถอ่านงานที่ซับซ้อนขึ้น เปิดโลกมากขึ้น ทั้งในไลท์โนเวลและในนิยาย Y ต่างชูจุดขายด้วยเนื้อหาแนวแฟนตาซีและไซไฟ เป็นแนวที่ได้รับความนิยมสูงมาก ทำให้พวกเขาเริ่มจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่า อนาคตที่พัฒนาไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ พวกเขาไม่ได้หลงติดอยู่ในอดีตและอุดมการณ์ชาตินิยมคร่ำครึอีกต่อไป

มาร์เวลคอมิกส์ ผู้สร้างการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร อย่างเช่นสไปเดอร์แมน หรือ ดีซีคอมิกส์ ผู้สร้างแบตแมน ต่างนำการ์ตูนของตู้ต่อต้านภัยลัทธิคอมมิวนิสต์ ตัวละครเหล่านี้เริ่มตรวจสอบตัวเองหลังยุคมีเลเนียมการตีความใหม่นี้นอกจากวิพากษ์วิจารณ์ในการเป็นศาลเตี้ย ในฐานะผู้ผดุงความยุติธรรมในสังคม ภายใต้หน้ากากของฮีโร่ผู้ปกป้อง พวกเขายังถูกทำให้ระลึกถึงอำนาจที่มากล้นนั้นต้องมาด้วยความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ (สไปเดอร์แมน) หรือ แบตแมนใน The Dark Knight ซึ่งก็อตแฮมไม่จำเป็นต้องมีแบตแมนอีกแล้ว แต่จะอยู่ได้ด้วยผดุงความยุติธรรมผ่านกฎหมาย ไม่ใช่ความรุนแรง

เพราะฉะนั้น นิยาย หรือหนังในแนวชาตินิยมจึงไม่ได้รับความสนใจอีกต่อไป การอ้างตนว่าเป็นงานสร้างสรรค์แต่สะท้อนทัศนะสังคมการเมืองในแบบเก่า ขาวกับดำ ผิดกับถูก ผู้ร้ายต้องผิดทุกเรื่อง พระเอกคือผู้พิทักษ์ความดี กลายเป็นสิ่งตกยุคไปแล้ว ความซับซ้อนของตัวละครไม่ใช่ขาวกับดำอีกต่อไป แต่เป็นสีเทา หรือลื่นไหล ตัวละครเอกมีทั้งดีและเลวในตัว งานประเภทสั่งสอนศีลธรรมถูกหมางเมินและไม่ให้คุณค่าอีกต่อไป บทเรียนในตำรากลายเป็นนิยายสมบูรณ์แต่คนเจนแซดมีทางเลือกในการหาความรู้อื่นๆ มากขึ้น ซึ่งสามารถหาอ่านบทความได้ในอินเตอร์เน็ต แค่การตั้งคำถามใน Google พวกเขาก็ได้คำตอบมากมายและลึกกว่าที่บทเรียนที่มีอยู่ในตำราเรียน

หนังและนิยายอย่างแฮรี่ พ็อตเตอร์ หรือหนังเรื่อง The Hanger Games กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับอำนาจเก่า เด็กหนุ่มสาวที่เป็นตัวละครในเรื่องต่างแสดงออกว่าสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ แม้จะไม่มีความหวัง แต่สามารถเป็นไปได้ พวกเขาไม่ได้มองว่าอำนาจเผด็จการเป็นอุปสรรค แต่อุปสรรคคือคนรุ่นก่อนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง

“คนเหล่านี้เติบโตมาท่ามกลางโลกที่ไม่เชื่อว่ามันมีสิ่งที่ถูกต้องแบบเดียว เขาเติบโตมาท่ามกลางโลกที่ทุกฝ่ายพยายามที่จะหาข้อมูลและเหตุผลสนับสนุนจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง ผลที่ตามมาก็คือเขามองโลกซับซ้อนขึ้น โลกของเขาไม่มีใครขาวดำ ละครที่เขาดู หนังที่เขาดูในเน็ตฟลิกซ์ โลกที่เขา socialize ขึ้นมามันซับซ้อนกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ ในโลกที่มีทีวีเพียงห้าช่อง ในโลกที่มีแต่สื่อบนกระดาษ ในโลกที่มีแต่ละครวิทยุ ในโลกที่มีแต่ข่าวที่มาจากวิทยุ โลกของเขามันซับซ้อนมากขึ้น”[1]

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
Tweet

อัตลักษณ์อันพร่าเลือนในแต่ละ Generation

นั่นเป็นคำตอบที่อาจจะทำให้เรามองเห็นภาพร่างอันเลือนลางว่าการเติบโตของขบวนการคนหนุ่มสาวนั้นมีอัตลักษณ์อย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร และกำลังดูอะไร ฟังอะไรผ่านยุคของพวกเขา

หากศึกษา อำนาจวรรณกรรมหลังเพื่อชีวิต จะพบว่าภาพจำของแต่ละยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บทพิสูจน์ว่าไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือกาลเวลาไปได้ ยกเว้นการเปลี่ยนแปลง ข้อพิสูจน์นี้แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์แจ้ง เมื่อได้ปะติดปะต่อคนแต่ละยุค การพัฒนาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี มีส่วนต่อการเปลี่ยนผ่าน

ในช่วงเจนแซด วิชาประวัติศาสตร์ในแบบบทเรียนชั้นประถม และมัธยม ไม่สามารถสร้างความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ได้จริงๆ การเรียนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนเพียงเพื่อการสร้างชาตินิยมในแบบรัฐเผด็จการ โดยเน้นวีรกรรมของกษัตริย์ในอดีตกาลที่ไม่อาจเชื่อมโยงกับปัจจุบัน หรืออนาคตที่จะเห็นประเทศเจริญงอกงามไปได้ ภาพรถเมล์เก่าๆ วิ่งไปเสียไปอยู่กลางกรุง ภาพรถไฟหวานเย็นที่ใช้เวลาเดินทางนับชั่วโมง ระบบขนส่งสาธารณะราคาแพงกว่าค่าครองชีพ ผังเมืองที่ไม่เป็นระเบียบ ตึกรามบ้านช่องแข่งกันเติบโตไร้ทิศทาง การเมืองแย่ ระบบราชการกลายเป็นตัวถ่วงการพัฒนา มองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยความเน่าเฟะ จนคนรุ่นแซดตั้งคำถามที่สำคัญว่า “คนรุ่นก่อนอดทนกับเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร โดยไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลง” ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐธรรมนูญ 60 ยิ่งตอกย้ำถึงการต้องการครองอำนาจของชนชั้นนำ

เช่นเดียวกับเพลงเพื่อชีวิตกลายเป็นของตกสมัย เพลงเหล่านี้เคยใช้ได้ในยุคสงครามเย็น เพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดิ์นิยมอเมริกา สงครามเวียดนาม ขณะเดียวกันศิลปินเพื่อชีวิตหลังออกจากป่า ได้ถีบตัวเองไปเป็นนายทุน แอ๊ด คาราบาว ที่เคยนำวงคาราบาวยุคเกรียงไกรจากเพลง “เมดอินไทยแลนด์” ปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นทั่วผืนแผ่นดินไทย การตื่นตัวที่จะใช้สินค้าในประเทศ ขณะเดียวกันบนปกแผ่นเสียง เทป และเวทีคอนเสิร์ตชุดเมดอินไทยแลนด์ก็มีภาพโฆษณาโค้กอย่างเด่นหลา และในเวลาต่อมาแอ๊ด คาราบางเองก็ได้แต่งเพลงให้กับบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัท และโดยรสนิยมตัวเขาเองก็นิยมใช้สินค้าที่มาจากอเมริกาและยุโรป

หงา คาราวาน หลังออกจากป่า คอนเสิร์ตฟอร์ยูนิเซฟ เป็นคอนเสิร์ตแรกที่บรรเลงที่หอประชุมธรรมศาสตร์ บาดแผลของวงดนตรี คาราวาน โดยเฉพาะ หงา คาราวาน ไม่ต่างจากคนเดือนตุลาคมอื่นๆ มากนักที่หนีเข้าป่า บอบช้ำ กล้ำกลืน ไปก็ไม่ได้ กลับก็ไม่ถึง เพลงอย่าง “คืนรัง” สะท้อนภาพบาดแผลที่แสนเจ็บสาหัสของคนรุ่นเขา (แต่มันทำให้เกิดภาพโรแมนติก) ความน่าเห็นอกเห็นใจนี้แผ่ซ่านไปทั่วทุกหย่อมหญ้าของเหล่าปัญญาชน การปฏิวัติที่ไม่สำเร็จ และกลายมาเป็นผู้แพ้นั้นยิ่งกดทับความรู้สึกของพวกเขามากขึ้น บทเพลงเพื่อชีวิตยุคหลังออกจากป่าส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นเพื่อปลุกปลอบหัวใจที่พังทลายลงอย่างช้าๆ จนมาถึงเพื่อชีวิตคนสุดท้าย พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ยิ่งเห็นอาการอ่อนล้าของเพลงเพื่อชีวิตในรุ่นเจนวาย

วงอมตะ ที่ก้าวขึ้นมาโด่งดังด้วยเพลง “ตาผุยชุมแพ” พวกเขาก็เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงาน ชนชั้นล่าง ที่พูดถึงปากท้อง การไม่พอกิน แต่ก็ยังสยบยอมต่ออำนาจของรัฐ “เพลงตาผุยชุมแพ” เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึง “โง่-จน-เจ็บ” ซึ่งมักถูกรัฐไทยยัดเยียดให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้น “เพลงตาผุยฯ” ที่นำทำนองเพลงของบ๊อบ ดิแลน มานำเสนอใหม่นั้นพูดถึง ชาวนายากจนที่ชื่อตาผุย ส่งให้ลูกชายชื่อน้อยเพื่อไปเรียนในเมืองเพื่อจบการศึกษาแล้วจะได้กลับมารับราชการ มุมมองของตาผุยมองภาพราชการไทยว่าเป็นเจ้าคนนายคน เป็นชนชั้นที่สูงกว่า ถ้าพวกเขาเรียนสูงขึ้นก็น่าจะสามารถผลักดันให้ครอบครัวมีฐานะทั้งเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น และน่าจะสบายกว่าการใช้ควายไถนา ควายในเพลงนี้แสดงออกถึงความยากจน และยังไม่มีการปฎิรูปการเกษตร

ขณะเดียวกันในเพลงยังมองว่าการที่ชนชั้นล่างจะไต่เต้ามาเป็นคนชั้นกลางนั้นเป็นการกระทำที่ “คิดผิด” เพราะสุดท้ายแล้วชะตากรรมของน้อยที่ไปเรียนหนังสือก็กระโจนเข้าสู่วงจรอุบาท เพราะเสียคนไปกับยาเสพติด การพนัน หรือแทนที่เขาจะเรียนเพื่อกลับมารับราชการ เขาอาจจะอยากเป็นนักดนตรีเพื่อชีวิตก็เป็นได้ (ภาพน้อยในมิวสิกวีดีโอเป็นภาพแบบฮิบปี้ที่แต่งตัวเหมือนเล็กคาราบาว และแบกกีตาร์) และสุดท้ายชะตากรรมของน้อยก็ไม่ต่างจากตาผุย คือกลับมาทำนาเช่นเดิม และต่อมาการทำนาในแบบตาผุย แบบน้อย กลายเป็นบุคลาธิษฐานของชนชั้นกลางที่มองภาพชนบทสวยงาม และต้องรักษาเอาไว้

วงนิรนาม และนิค นิรนาม นั้นก่อเกิดขึ้นจากการบูมกระแสเพลงเพื่อชีวิตอย่างสูง พวกเขาใช้ท่วงทำนองเพลงลูกทุ่งเข้ามาผสมผสาน เนื้อหาเพลงของวงนั้นต่อต้าน “ผู้แทน” สส. การเลือกตั้ง อย่างชัดเจน เช่น “ป้าบัวศรี” และ “คนกินแดด” โดยเฉพาะตัวละครที่เป็นชาวนา ชาวบ้าน ที่อยากจะยกระดับชนชั้น ไม่ว่าด้วยวิธีการใด อย่างในมิวสิกวีดีโอ “ป้าบัวศศรี” การให้ชูศรี และล้อต็อก ตลกคู่ชายหญิงตลอดการของวงการบันเทิงมาเล่นเป็นครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่างที่อยากยกฐานะเป็นผู้แทนราษฎร (เป็นเหมือนตัวตลกของสังคม) ลงทุน ลงแรง ลงเงินจนหมดเนื้อหมดตัว เพื่อสมัครเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียงจากชาวบ้าน มีความฝันว่าจะได้เข้าสภาแล้วไปกอบโกยเงินทอง (ทุจริตคอรัปชั่นมีแต่ สส.)

ทั้งสองจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการเป็นผู้แทน สุดท้ายก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง อีกทั้งที่เอาผืนนาไปจำนอง “เงินไปเที่ยวเดี๋ยวเดียวก็กลับ” นั้นไม่กลับมาจริงๆ จนกลายเป็นหนี้เป็นสิน ทั้งหมดถูกทำให้มองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองในประเทศไทยมีปัญหามากมาย คนที่เข้าสภามามีแต่จะมากอบโกยเงินทอง การต้องการเปลี่ยนฐานะจากชนชั้นล่างเป็นชนชั้นกลางนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากถ้าระบบไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการต่อรองทางอำนาจ แล้วถ้าพวกเขาคิดแบบนั้น ก็เป็นความคิดที่ผิด ฝันก็เป็นไปไม่ได้

ในช่วง 2530-2540 ความขัดแย้งต่างๆ ถูกประคับประคองด้วยรัฐบาลที่อ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ และไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างและยังพยายามประนีประนอมให้ฝ่ายต่างๆ อยู่ร่วมกันแบบที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมจำนน แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540  มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมีการสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพโดยผลที่ออกมาคือรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำหรือไม่ แต่ผลที่ตามมาคือการสร้างพลังให้กลุ่มคนรากหญ้า คนที่มีความคิดแตกต่างเริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และนำมาสู่ความขัดแย้งระลอกต่อไป

ความขัดแย้งในช่วงกลางของคนเจนวายจนถึงแซดในปัจจุบัน มันคือการต่อสู้ระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง อาจจะเรียกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับคนรากหญ้า ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางระดับสูงกับชนชั้นกลางระดับล่าง หรือจะเรียกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยก็แล้วแต่ เป็นเรื่องความแตกต่างของความคิดทางการเมือง โดยจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งรอบนี้คือชัยชนะของชนชั้นนำและชนชั้นกลางระดับสูง จากความสำเร็จในการทำรัฐประหารในปี 2557

วรรณกรรมในยุคเจนวาย และแซด ก็ไม่ต่างกันมากนัก เมื่อวงการสิ่งพิมพ์เริ่มฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เรียนรู้ปัญหาจากประสบการณ์ พวกเขาเริ่มมองหาตัวเลือกในการทำหนังสือที่แตกต่างจากสมัยก่อน ขณะที่นักเขียนไทยยังไม่สามารถเติบโตในทุกแนวเขียน ดังนั้นการมองหาวัตถุดิบจากนอกประเทศจึงกลายมาเป็นเป้าหลักสำคัญของวงการสิ่งพิมพ์ ไม่เฉพาะหนังสือดังๆ หนังสือฮาวทู รวมไปถึงวรรณกรรมพาฝัน วรรณกรรมอมตะ ต่างๆ ยิ่งการก่อเกิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ยิ่งทำให้การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นทำได้ง่ายขึ้น แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ก็สามารถกีดกันคู่แข่งที่จะพิมพ์หนังสือปกซ้ำกันได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการเติบใหญ่ของวงการหนังสือจึงค่อยๆ เติบโตจากแนวทางหนังสือของต่างประเทศ หนังสือเล่มไหนเริ่มมีชื่อเสียง และขายดีในต่างประเทศ ในเมืองไทยก็จัดพิมพ์ในภาษาไทยในปีรุ่งขึ้น

การแปล แฮรี่ พอตเตอร์ ลอร์ดออฟเดอะริงค์ นิยายวาย จากจีน เกาหลี และไต้หวัน หลั่งไหลผ่านสำนักพิมพ์ใหญ่เล็ก วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มมีพื้นที่น้อยลง ขณะเดียวกันหลังรัฐประมารในปี 2549 หนังสือที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง (Non-Fiction) เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การเมือง ที่ไม่อยู่ในกระแสหลัก หรือหนังสือแนววิทยาศาสตร์ สังคมวิทยา มนุษยวิทยา ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด จนในปัจจุบันหนังสือแนวนี้มียอดจำหน่ายไม่แพ้หนังสือในแนวเรื่องแต่งไปแล้ว

Pop Culture Revolution

“วิ่งกันนะแฮมทาโร่”

Generation คือ Soft Power

ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แกนนำจัด “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” พวกเขาคาดกันว่าจะมีผู้ร่วมงานประมาณ 100 คน แต่ผลปรากฏว่ามีผู้มาร่วมชุมนุมมากกว่า 1,000 คน ผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักเรียน-นักศึกษา ราว 60% แล้วทั้งหมดเป็นหญิง  อาจจะเป็นความน่ารักของการ์ตูนตัวหลักที่ใช้เป็นธีมของงานอย่าง “แฮมทาโร่” หรือไม่ก็อาจจะเป็นจำนวนผู้ติดตามและใช้สื่อโซเชียลส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง “แฮมทาโร่ ก็คือ ป๊อปคัลเจอร์ จากประเทศญี่ปุ่น สามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก แฮมทาโร่เป็นสัญลักษณ์แทนผู้เรียกร้อง ที่ไม่แตกต่างจากหนูตัวหนึ่งที่อยู่ในกรง และ “กรงนั้นกำลังจะพัง” การออกมาวิ่ง คือ การ “เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง”

“วิ่งกันนะแฮมทาโร่” และ “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือ การชุมนุมที่ดูสนุกสนาน เต็มไปด้วยสีสัน ประท้วงการเมืองด้วยวิธีที่แตกต่างจากการประท้วงแบบเดิม ๆ

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าสีสันของการชุมนุมโดยเยาวชนจะยิ่งทวีความสร้างสรรค์ขึ้นอีกเพื่อขยายกระแสการเคลื่อนไหว ที่จะนำพาสารข้อเรียกร้องไปสู่คนหมู่มากเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

สาเหตุสำคัญว่าทำไมกลุ่มคนรุ่นใหม่ถึงออกมาชุมนุมแสดงความคิดเห็น อาจจะต้องพิจารณาถึงประสบการณ์ที่เขาได้รับมาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านการทำรัฐประหารมาถึง 2 ครั้ง (รัฐประหาร 2549 และ 2557) ในช่วงอายุของพวกเขาไม่สามารถมอบอนาคตที่ดีให้กับพวกเขาได้

ฟันน้ำนม VS ฟันปลอม

หาก “ทีวีจอสี” คืออาวุธสำคัญในการสื่อสารความคิดของแกนนำ “ม็อบเหลือง-แดง-นกหวีด” ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กไลฟ์และแฮชแท็กก็เป็น “อาวุธใหม่” ของเครือข่ายนักศึกษาที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่ม-กระตุ้นอารมณ์ร่วมได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ตัวไม่ได้อยู่ในสถานที่ชุมนุมก็สามารถ “ม็อบออนไลน์” ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามจำนวนคนบนถนนยังมีความสำคัญ และขึ้นอยู่กับรัฐว่าจะรอจนเห็นจำนวนนั้นหรือไม่

การปรากฏตัวของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นการเดินออกจากแป้นพิมพ์และหน้าจอมือถือ จากอวตาร หรือแอคหลุม ในทวิตภพ พวกเขาปรากฏขึ้นอย่างช้าๆ

"ต้องเข้าใจวิวัฒนาการในทวิตเตอร์ที่เด็กๆ ใช้กันเพราะเขาเบื่อสถานะตัวเองในเฟซบุ๊กที่มีพ่อแม่ มีผู้ใหญ่ชอบมาตาม มาวุ่นวายกับชีวิตเขา ไม่มีความเป็นส่วนตัว เขาจึงหนีจากรูปแบบเครือข่ายเฟซบุ๊กเข้าไปในทวิตเตอร์ เขาจึงไม่ใช้หน้าจริง และใช้เป็นพื้นที่ปลดปล่อยความคิดจินตนาการของเขา แล้วมันก็โตมา ถึงจุดหนึ่งจากความเป็นอวตารมาเล่นอยู่ในออฟไลน์ ผมคิดว่านี่เป็นภาพที่น่าประทับใจและน่าสนใจว่าเขาสามารถออกมาจากคอมพิวเตอร์ได้" 1

“ภาษาม็อบยุค 4.0” ที่คนต่างวัยติติงว่ารุนแรง ก้าวร้าว สุดโต่งนั้น ทั้งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และนักกิจกรรมการเมืองเห็นตรงกันว่าเป็นภาษาปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นนี้ และสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่อยู่นอกกรอบคิดแบบเดิม ไม่ยอมรับค่านิยมเดิมเรื่องลำดับชั้นทางสังคมและการสยบยอมต่ออำนาจ พวกเขามีภาษาเฉพาะ มีวิธีคิดที่เป็นตรรก ซึ่งผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เวลาที่พวกผู้ใหญ่รู้สึกแบบนี้ มันเหมือนพวกเขากำลังจะหมดอำนาจ การที่พวกเขาบังคับเด็กด้วยกฎไม่ได้ มันหมายความว่ากฎหเหล่านั้นไม่มีความหมาย สิ่งเดียวที่ผู้ใหญ่ต้องทำคือปรับตัว หรือทำได้แค่ตายไปกับการยึดอยู่ในระบอบเก่าที่กำลังล่มสลายในอนาคต

แฟนคลับ K-Pop การทำงานของ Soft Power

pop culture Soft Power

การเสียชีวิตของ ‘จงฮยอน’ นักร้องดังจากวง SHINee เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กลุ่มแฟนคลับนักร้องเกาหลีทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย “แฟนคลับเกาหลี” หรือ “ติ่งเกาหลี” ที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทย ลงรากฝังลึกมาไม่ต่ำกว่าสิบปี พวกเขาแสดงออกถึงความคลั่งไคล้ในตัวศิลปิน และไอดอล ผู้ใหญ่หลายคนมองความคลั่งไคล้เหล่านี้ เช่น วิ่งตามนักร้องคนโปรด ไปรอต้อนรับที่สนามบิน ทำป้ายไฟในคอนเสิร์ต ถูกกล่าวหาว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่สมเหตุสมพล เกินความพอดี

โซเชียลมีเดียทำให้โลกทั้งใบแคบลง การติดต่อกันระหว่างแฟนเพลงและศิลปินทำได้อย่างง่ายดาน และศิลปินเกาหลี ครองใจแฟนของตนผ่านทวิตเตอร์จำนวนมาก การขยายฐานแฟนเพลงจึงใหญ่ขึ้นๆ ทุกวัน หรืออาจจะคิดเป็นวินาทีเลยทีเดียว การแสดงออกผ่านทวิตเตอร์ การร้องเพลงคัพเวอร์ การโพสต์รูป การเต้น ข้อความเหล่านยี้ถูกทวีต และรีทวีตอย่างรวดเร็ว

หลังการสลายชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ด้วยรถแรงดันน้ำพลังสูง ผสมสี และสารเคมี ฉีดเข้าใส่ผู้ชุมนุม จากนั้นตำรวจพร้อมโล่และกระบองก็ไล่กวาดผู้ชุมนุม บางคนโดนจับ หลายคนบาดเจ็บ ทำให้สถานการณ์การชุมนุมตึงเครียดขึ้นมา การประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงทำให้ตำรวจทำการจับกุมแกนนำจำนวนมากเข้าไปคุมขังโดยไม่อนุญาตให้มีการประกันตัว เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ชุมนุมเกิดการระดมทุนเพื่อมาซื้ออุปกรณ์ป้องกัน เช่นหมวกนิรภัย แว่นตากันน้ำ ร่ม และเสื้อกันฝน

โดยปกติแฟนคลับศิลปินเกาหลีมักจะมีการระดมทุนจากแฟนๆ ในโอกาสต่างๆ อยู่แล้วเช่นวันเกิด วันออกอัลบัม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นปกติ ซึ่งเราอาจจะเห็นภาพศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบได้ติดอยู่บนแผ่นคัตเอาท์โฆษณาตามสี่แยกสำคัญในเมืองไทย นั่นเป็นฝีมือของแฟนดอมของศิลปินนั้นๆ

“อารียา” ซึ่งตอนนั้นไม่ได้อยู่ร่วมในการชุมนุม ได้เริ่มทำโพลล์ทางทวิตเตอร์จากบัญชีแฟนเบส (fanbase) ของกลุ่มแฟนคลับวงเกิลส์เจเนอเรชัน ( Girls’ Generation ) ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 17,500 คน เพื่อสำรวจความเห็นว่าพวกเขาจะช่วยบริจาคเงินต่อท่อน้ำเลี้ยงให้การประท้วงครั้งนี้ได้หรือไม่ จากนั้นไม่นานผลปรากฏว่าเสียงตอบรับดีเกินคาด

“หลายคนไม่พอใจกับการที่ตำรวจเข้าปราบปรามและการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธในวันนั้น พวกเขาจึงเปลี่ยนความโกรธมาเป็นเงินบริจาค” อารียากล่าวกับรอยเตอร์

ในเวลาเพียง 9 ชั่วโมง กลุ่มแฟนคลับชาวไทยของวงเกิลส์เจเนอเรชัน ที่เรียกตัวเองว่า SONE ก็ระดมทุนได้กว่า 780,000 บาท เมื่อรวมกับการบริจาคของแฟนคลับศิลปินเกาหลี หรือที่เรียกว่า “แฟนด้อม” (Fandom) กลุ่มอื่น ๆ ก็ทำให้ยอดบริจาครวมในสัปดาห์นั้นพุ่งสูงกว่า 4 ล้านบาท

อารียาและเพื่อนร่วมทีมได้นำเงินที่ได้ไปซื้ออุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เช่น หมวกนิรภัย ที่ป้องกันดวงตา แล้วนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมการประท้วงตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งมีการทำบันทึกรายการทุกอย่างไว้เพื่อความโปร่งใส

นอกจากเงินระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันต่างๆ แล้ว เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “จู่ๆ เราก็มีเงินเข้าบัญชีธนาคารของเรากว่า 10 ล้านบาท…ดิฉันรู้สึกทึ่งกับกลุ่มแฟนคลับเค-ป็อป” นั่นหมายความว่าแฟนดอมไม่ได้มองเพียงการต่อสู้ในการชุมนุมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองว่ายังมีการจับกุมแกนนำ ผู้ชุมนุม อย่างต่อเนื่องและพวกเขาต้องใช้เงินสำหรับการประกันตัวในจำนวนมาก

จึงไม่แปลกที่การชุมนุมครั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าแตกต่างจากการชุมนุมหลายครั้งในประเทศไทย และนี่อาจจะบอกได้ว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่คืออนาคตของประเทศ พวกเขากำลังมองหาอนาคตที่ไม่มีความหวัง หลังจากที่ผู้นำ ชนชั้นนำ และรัฐบาลไม่เคยมองเห็นปัญหาเหล่านี้ พวกเขาคิดผิด มองผู้ชุมนุมแตกต่าง และยังใช้วิธีการเดิมๆ ในการจัดการปัญหา โดยไม่มุ่งที่จะแก้ปัญหาจริงๆ

เสียงเพรียกของเพื่อชีวิตอาจจะตายลงแล้วจริงๆ ขณะที่ผู้ชุมนุมรุ่นใหม่ มีแนวทางการต่อสู้ที่ไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบเก่าๆ ขณะเดียวกันพวกเขาก็พัฒนาการชุมนุม ยกเพดาน และมุ่งมั่นสิ่งที่เรียกร้อง

ชัยชนะไม่เคยได้มาโดยง่าย และพวกเขารู้ว่ายังต้องเดินทางอีกไกล และกลับไปไม่ได้

“การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการต่อสู้ดิ้นรนอันแสนยากลำเข็ญเหน็ดเหนื่อย และเป็นสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด มันเป็นการต่อสู้ในระยะยาว แม้ว่าเราอาจไม่ชนะทุกสมรภูมิ แต่เชื่อว่าเราจะชนะสงครามเพื่อประชาธิปไตยได้”

โจชัว หว่อง
Tweet
Image

[1] สมบัติ บุญงามอนงค์

1 comment

วัดนารีวอน | สันติสุข กาญจนประกร | spikewrite.com 13/07/2024 - 16:13

[…] หญิงนักธุรกิจ หญิงนักการเมือง หญิงแม่ค้า หญิงนักดนตรี […]

Reply

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More