บทความนี้จะนำทุกท่านเข้าสู่การวิเคราะห์เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของ LGBTQ+ พ่วงด้วยแชทหลุดที่เผยทัศนคติของ “ผู้มีอำนาจแห่งศาลรัฐธรรมนูญ” อันมีผลต่อคำวินิจฉัย สมรสเท่าเทียม
“รักแห่งสยาม” เป็นภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอเรื่องราวความรักระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่สมจริง ไม่เพ้อฝัน ทำให้ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเข้าใจปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญภายใต้กรอบจารีตของวัฒนธรรมไทย แต่ที่สำคัญอีกอย่างมันเล่าถึงเรื่องราวการเรียนรู้และยอมรับกันและกันในเรื่องความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ชีวิต ช่วงวัย และความชอบ ระหว่างแม่วัยเบบี้บูมเมอร์และลูกชายเจนวายของเธอ
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประตูบานแรกที่ทำให้คนไทยหลายๆ คนได้เห็นและเริ่มทำความเข้าใจต่อปัญหาที่ชาว LGBTQ+ ต้องเผชิญ
รักแห่งสยามออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2550
14 ปีผ่านไป ทั้งสื่อ การเคลื่อนไหว และข้อเขียนเกี่ยวกับ LGBTQ+ ได้ปรากฎให้เห็นมากมาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีมติเห็นชอบและอนุญาตให้มีการจดทะเบียนสมรสเฉพาะคู่รักที่เป็นเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น แถมยังมีแชทหลุดที่แสดงทัศนคติน่ากังขา แสดงให้เห็นว่ามุมมองของ “ผู้ใหญ่” ไม่ได้วิวัฒนาการไปไหนเลย
เหตุใดศาลรัฐธรรมนูญกลับเลือกที่จะไม่อนุมัติให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม? การสมรสเท่าเทียมสำคัญอย่างไร? และทำไมจึงต้องผลักดันให้เกิดขึ้น? ซึ่งคำตอบของทุกปัญหาจะได้รับการไขข้อข้องใจภายในบทความนี้
Table of Contents
คำตัดสินของศาลยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยฉบับเต็มเกี่ยวกับ การสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน โดยศาลมีมติเห็นชอบว่าจุดมุ่งหมายหลักของการสมรสคือ การให้กำเนิดบุตรเพื่อไว้สืบสกุลและขับเคลื่อนสังคมต่อไปตามจารีตที่สืบทอดกันมาช้านาน ด้วยเหตุนี้การสมรสจึงควรเกิดขึ้นระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น โดยมีการอธิบายเพิ่มเติมว่า “ความรักของคนเพศเดียวกันเป็นเพียงความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศ”
คำวินิจฉัยนี้ของศาลฯ แสดงให้เห็นถึงกรอบความคิดที่หยุดนิ่งท่ามกลางการขับเคลื่อนเดินหน้าของสังคม อีกทั้งยังแสดงถึงความไม่เข้าใจ
และความไม่ใส่ใจของศาลฯ เกี่ยวกับเพศ เนื่องจากความรู้สึกของกลุ่ม LGBTQ+ รวมไปถึงสถานะทางเพศนั้นถือเป็นเรื่อง “ทั่วไป” ซึ่ง “มนุษย์” ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรักใครสักคนโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเพศสภาพ และพวกเขายังสามารถเลือกที่จะเป็นเพศใดก็ได้ โดยไม่ถูกทำให้รู้สึกว่าตนแปลกแยกไปจากสังคม นอกจากนี้ การกำหนดว่ามนุษย์มีเพียงเพศชายกับเพศหญิงยังเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักความเป็นจริงและเป็นการตีความที่ไม่ครอบคลุม เพราะคำวินิจฉัยของศาลฯ เป็นการตัดสินในแง่ของการกำหนดเพศจากอวัยวะเพศ (Biological Sex) เพียงอย่างเดียว
ในขณะที่สังคมไทยทุกวันนี้เริ่มมีการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในเรื่องของเพศสภาพหรือเพศทางสังคม (Gender) ซึ่งเป็นสถานะทางเพศที่สามารถรับรู้ได้ด้วยตนเอง โดยประกอบไปด้วยลักษณะความเป็นชาย (Masculinity) และลักษณะความเป็นหญิง (Femininity) นอกจากนี้เพศสภาพอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความคิด สภาพแวดล้อมทางสังคม หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม ดังนั้นเพศสภาพจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับเพศกำเนิดเสมอไป
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติของมนุษย์เลย แต่เพราะเหตุใดกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะช่วยให้พวกเขาทำสิ่งที่เป็น “เรื่องปกติทั่วไป” และเข้าถึงสิทธิสวัสดิการที่ควรจะได้รับเหมือนกับ “บุคคลทั่วไป” ในสังคมกลับไม่ได้รับการพิจารณาให้มีขึ้น? นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยอื่นๆ ที่หลังจากอ่านแล้ว ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าต้องมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกระแคะระคายกับตรรกะการตัดสินของศาลฯ ในครั้งนี้
แม้ว่าทัศนคติของศาลฯ เป็นเรื่องที่ไม่อาจตัดสินกันได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ทำการโพสต์ภาพแช็ตกลุ่มไลน์ของอาจารย์คณะนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เชื่อว่าถูกปล่อยออกมาอย่างลับๆ จากในภาพมีข้อความต่างๆ ที่ส่งมาจากหนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “Jd Court” ซึ่งเป็นบัญชีผู้ใช้ของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ปรากฎในข้อความของนายทวีเกียรติ เต็มไปด้วยการแสดงออกถึงอคติทางเพศ และการเผยแพร่ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของเพศที่บิดเบี้ยว เช่น มีการตัดสินว่ามนุษย์ถูกสร้างขึ้นให้มีแค่ 2 เพศเท่านั้น เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามธรรมชาติ แต่หากมีความหลากหลายทางเพศมากเกินกว่าที่กล่าวไปถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด
นอกจากนี้ยังมีการดูถูก LGBTQ+ ด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควร และอื่นๆ อีกมากมาย กล่าวคือบุคคลผู้ที่เป็นถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านนี้ ยึดถือหลักการและตรรกะของตนเองเป็นหลัก ทั้งยังไม่ยอมเปิดกว้างเพื่อทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนกับ LGBTQ+ อีกด้วย
ซึ่งในความเป็นจริง มุมมองการตัดสินเพศจากอวัยวะสืบพันธุ์ (Biological Sex) และการจำกัดว่ามนุษย์มีแค่ 2 เพศนั้น เป็นมุมมองที่คับแคบ และเป็นเรื่องล้าหลังสุดโต่ง เนื่องจากความหลากหลายทางเพศถือเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติอยู่แล้ว และการมีมากกว่า 2 เพศขึ้นไปโดยไม่เจาะจงเฉพาะเพศชายกับเพศหญิงนั้นไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด โดยในปัจจุบันได้มีการให้ความสำคัญกับเพศสภาพ (Gender) และเพศวิถี (Sexual Orientation) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน กล่าวคือ การตัดสินเพศของบุคคลจากลักษณะภายนอกว่าเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือเพศอื่นๆ สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องตามสืบถึงเพศกำเนิดของบุคคลดังกล่าว
อีกทั้งบุคคลที่เป็น LGBTQ+ ยังสามารถแสดงพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตนเอง ซึ่งรวมไปถึงการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศได้ตามใจปรารถนา เช่น บุคคลที่เป็นเพศหญิงโดยกำเนิดสามารถแสดงท่าทางหรือแต่งกายได้เหมือนเพศชาย และอาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศให้เหมือนกับผู้ชายได้ ในขณะที่เพศชายเองก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าทั้งเพศชายและเพศหญิงสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้โดยที่สังคมไม่ควรไปห้ามหรือดูถูก เพราะการกระทำของพวกเขาไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรือผิดธรรมชาติ เพียงแต่เป็นการยอมรับในตัวตนที่พวกเขาเป็นและดำเนินชีวิตไปตามที่ต้องการก็เท่านั้น
นอกจากนี้บรรดาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ต่างก็มีพฤติกรรมทางเพศที่หลากหลายและน่าสนใจ อาทิ การมีความรักระหว่างสิ่งมีชีวิตเพศเดียวกันที่ดำรงคงคู่กับธรรมชาติมาอย่างยาวนานและไม่ได้สร้างปัญหาร้ายแรงให้กับเผ่าพันธุ์ของตนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่น่าแปลกใจกลับไม่ใช่เรื่องความหลากหลายทางเพศของสิ่งมีชีวิตต่างๆ แต่เป็นการที่มนุษย์เพิ่งจะเรียนรู้ถึงการมีอยู่ของ LGBTQ+ ทั้งที่สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือการที่มนุษย์ “บางส่วน” ยังคงไม่ตระหนักรู้ และไม่คิดที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ผู้คนเหล่านั้นต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามหากภาพแช็ตไลน์ดังกล่าวที่ถูกปล่อยออกมาเป็นความจริง สิ่งนี้จะสามารถใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันว่าคำวินิจฉัยสมรสเท่าเทียมถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมด้วยแนวคิดที่ผิดเพี้ยนและล้าหลังอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ทั้งที่ศาลฯ ควรจะศึกษาให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งถือว่าเป็นประชาชนชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นอิสระจากการถูกกีดกันด้วยอคติทางสังคม แต่กระนั้นสิ่งที่ศาลฯ กระทำกลับตรงกันข้าม
สิทธิประโยชน์ในการ สมรสเท่าเทียม ที่คู่รักทุกคนควรจะได้รับ
ถึงแม้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันจะเริ่มเปิดกว้างเรื่องความรักระหว่างเพศเดียวกันมากขึ้น และมีการอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต (พ.ร.บ.คู่ชีวิต) ที่ร่างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2556 แต่รายละเอียดของสิทธิหรือสวัสดิการที่ได้รับกลับไม่เท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสกันในบางประการ อย่างเช่น
- การตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลของคู่รัก เช่น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน และต้องมีการเซ็นยินยอมในการผ่าตัด ในกรณีของคู่สมรส (จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย) อีกฝ่ายจะมีสิทธิ์ในการตัดสินใจทันที แต่คู่ที่เป็น LGBTQ+ (ซึ่งยังไม่มีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย) จะไม่สามารถเซ็นยินยอมแทนกันได้
- สวัสดิการจากรัฐของคู่สมรส เช่น ในกรณีคู่สมรส ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นข้าราชการ คู่ของตนก็จะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลด้วยเช่นกัน ในขณะที่คู่รัก LGBTQ+ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้ แม้ว่าคู่ของตนจะเป็นราชการหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทรวงการคลังได้ทำการประกาศขอยืดเวลาออกไปถึง 3 ปีหลังจากที่กฏหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ภาครัฐทำการเก็บข้อมูลของจำนวนข้าราชการไทยที่เป็น LGBTQ+ ก่อนจะส่งมอบให้กระทรวงการคลังเพื่อนำไปวางแผนและจัดแจงงบประมาณต่อไป
- การเปลี่ยนมาใช้นามสกุลเดียวกัน เช่น คู่สมรสสามารถยื่นเรื่องขอเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของอีกฝ่ายได้ แต่ในกรณีของคู่รัก LGBTQ+ ยังไม่มีกฎหมายสมรสมารองรับการเปลี่ยนนามสกุล
- เข้าถึงการลดหย่อนภาษีของอีกฝ่าย เช่น ถ้าในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำงาน อีกฝ่ายสามารถนำคู่ของตนมาช่วยลดหย่อนภาษีรายปีได้ แต่คู่รัก LGBTQ+ ไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ได้
ปัญหาการได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมกันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับตัวคู่รักเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงบุตรบุญธรรมที่พวกเขารับอุปการะอีกด้วย อย่างกรณีของคุณศิริวรรณ พรอินทร์ หรือ คุณหงส์ ที่เติบโตมาในครอบครัวบุญธรรมที่เป็น LGBTQ+ เธอได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ The MATTER โดยบอกเล่าถึงปัญหาที่เคยพบเจอเกี่ยวกับสิทธิที่ไม่เท่าเทียมระหว่างคู่รักเพศเดียวกันกับคู่รักชายหญิง เช่น ไม่ว่าจะเป็นการทำพาสปอร์ต การรับสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ต้องให้บิดามารดาที่แท้จริงเป็นผู้เซ็นเอกสารยินยอมเท่านั้น แต่เนื่องจากบิดาและมารดาของคุณหงส์แยกทางกันโดยไม่ได้ทำการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และตัวเธอเองไม่ได้รับการติดต่อจากมารดาที่เป็นผู้ถือครองสิทธิการเลี้ยงดูของเธอเลย ทำให้คุณหงส์ต้องเสียโอกาสในการเข้าถึงสิทธิหรือสวัสดิการต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่ายังมีสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการอีกมากที่มีผลบังคับใช้ไม่เท่าเทียมกันระหว่าง “คู่ชีวิต LGBTQ+” กับ “คู่สมรสชายหญิง” ซึ่งปัญหาดังกล่าวสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงควรสนับสนุนให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อทำให้การจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถเข้าถึงสิทธิในการสมรสเพื่อรับสวัสดิการต่างๆ จากรัฐได้อย่างเท่าเทียม
“เลือกที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด” สุนีย์ แม่ของโต้ง พูดขึ้นในซีนคลี่คลายของรักแห่งสยามระหว่างที่ทั้งสองกำลังตกแต่งต้นคริสต์มาส แล้วโต้งไม่รู้ว่าจะเลือกติดตุ๊กตาผู้หญิงผู้ชายยังไงให้ถูกใจเธอ แสดงถึงความยอมรับ การปล่อยวาง และความเชื่อใจแก่ลูกชายของเธอซึ่งเป็นเกย์ ความเชื่อใจว่าลูกชายโตพอจะเลือกการใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้ น่าเสียดายที่ในโลกความเป็นจริงผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจในมือไม่อาจมีความเชื่อใจเช่นนี้จากความเชื่อศีลธรรมโบราณโบร่ำและความเชื่อเรื่องเพศล้าหลัง
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนความเท่าเทียม 👇
แหล่งที่มาข้อมูล
· “สมรสเท่าเทียม” ได้ไปต่อ หรือ พอแค่นี้? : Spring News
· สรุปคำวินิจฉัยศาลฉบับเต็ม ปมจำกัดสมรสแค่ชายหญิงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ : เขียนโดย คุณคมกฤช ดวงมณี
· ถอดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี #สมรสเท่าเทียม จุดเปลี่ยนของการเรียกร้องสิทธิ LGBTQ ในไทย : เขียนโดย คุณฉัตรชัย เอมราช
· สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ เรื่อง “คู่ชีวิต / คู่สมรสอีกก้าวสำคัญของความเสมอภาคทางเพศ” : เขียนโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
· สมรสเท่าเทียม กับ 30 ประเทศที่เห็นชอบด้วยกฎหมาย เปิดความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศ : PPTV Online
· ส.ฟ้าสีรุ้ง เห็นด้วย พ.ร.บ.คู่ชีวิต แม้ให้สิทธิไม่เท่าคู่ชายหญิง : PPTV Online
· อธิบาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต vs สมรสเท่าเทียม ดราม่าสำคัญที่จะมีผลต่อชีวิตของกลุ่ม LGBT : เขียนโดย คุณวิศรุต สินพงศพร
· ทำไมสัญลักษณ์ LGBTQ จึงเป็นสีรุ้ง? : เขียนโดย คุณสิทธิศักดิ์ บุญมั่น และ คุณวิชัย ตาดไธสงค์
· กฎหมายคู่ชีวิต เขียนโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ประสพสุข บุญเดช
· สมรสเท่าเทียม : เปิด 9 สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับ
ครม. เห็นชอบ แต่ ก้าวไกลเห็นว่า “ไม่เท่าเทียม” : บีบีซีไทย (BBC Thai)
· Pride Month: สำรวจ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต-กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส : iLaw
· 12 ปี ‘รักแห่งสยาม’ จุดเริ่มต้นแห่งการขับเคลื่อน LGBT : เขียนโดย Tonkit
· แชทหลุด “ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ – ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
· มองการสืบพันธุ์ของสัตว์ แล้วย้อนมามองมนุษย์ : เขียนโดย คุณอาจวรงค์ จันทมาศ
· การเป็นครอบครัว LGBTQ ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติด้วยกฎหมาย
คุยกับ หงส์ – ศิริวรรณ พรอินทร์ เขียนโดย คุณพลอยรุ้ง สิบพลาง
· เพศหลากหลายในวัยรุ่น (LGBTQ Youth) : เขียนโดย คุณจารุจรรย์ ทรัพย์ชาตอนันต์
· LGBTQ ความหลากหลายทางเพศในเด็กและวัยรุ่น : เขียนโดย พญ.พิชญา พจนโพธา
· ความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย : เขียนโดย คุณรพินท์ภัทร์ ยอดหล่อชัย
· ความผิดปกติทางเพศ (Sexual disorders) : เขียนโดย ผศ.นพ.ภควัต วิวัฒนวรเศรษฐ์