เทศกาลปีใหม่สากลเข้าสู่ปี 2566 ก็ได้ผ่านไปแล้ว แต่ก็ยังไม่แคล้วเทศกาลปีใหม่ประจำชาติของประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่กำลังจะมาถึง หรือรู้จักกันดีในชื่อ เทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน โดยในปี 2566 นี้ จะตรงกับวันที่ 22-24 มกราคม เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักกันกับประเพณี ตรุษจีน นี้ แต่ก็อาจจะไม่ทราบถึงความเป็นมาเป็นไปที่แท้จริง ดังนั้นวันนี้ผู้เขียนจึงจะมาเล่าถึงประวัติความเป็นมาและกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง ความเชื่อวันตรุษจีน มาให้ได้อ่านกัน
Table of Contents
ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ
จุดเริ่มต้นของประเพณีตรุษจีนนั้นไม่ได้มีบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จากการสืบค้นของทายาทเจ้าของกิจการปฏิทินน่ำเอี้ย ปฏิทินจีนฉบับภาษาไทยที่ใช้กันในยุคปัจจุบัน ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า เทศกาลตรุษจีนนั้นอาจจะเริ่มในช่วงราชวงศ์โจว (1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยจะตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีนของทุกปี
ในประเพณีนี้ ชาวจีนจะไหว้สักการะบรรพบุรุษ เจ้าที่เจ้าทาง และเทพเจ้า เพื่อขอความรุ่งเรือง รุ่งโรจน์ มีกินมีใช้ รวมถึงความเป็นสิริมงคลให้แก่ครอบครัวตลอดทั้งปี นอกเหนือจากการกราบไหว้แล้วก็ยังมีการทำความสะอาดบ้าน ตัดผม ประดับบ้านด้วยโคมไฟสีแดง พร้อมกับตุ้ยเหลียน (ป้ายคำอวยพรความหมายมงคล) หรือในบางพื้นที่เองก็อาจจะมีกิจกรรมอื่น ๆ เฉพาะที่อีกด้วย
ประเพณีตรุษจีนนั้นเป็นประเพณีที่มีความสำคัญอย่างมากกับประชาชนชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ต่างกับประเพณีสงกรานต์ของไทยซึ่งนับว่าเป็นเทศกาลปีใหม่ประจำชาติไทยของเราเช่นกัน โดยในประเพณีนี้นั้นเป็นเหมือนวันสำคัญต่าง ๆ อาทิ วันขึ้นปีใหม่เพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ วันรวมญาติสนิทมิตรสหายที่ห่างหาย อีกทั้งยังเป็นวันที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และคงความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไว้
กิจกรรมในวันตรุษจีน
ในแต่ละพื้นที่และบางครอบครัวจะมีกิจกรรมที่ทำกันในวันตรุษจีนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเชื่อและธรรมเนียมที่สืบทอดกันมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพิธีการหลักที่ทำเหมือนกันทุกบ้านเช่นกัน ตัวอย่างเช่นกิจกรรมดังต่อไปนี้
ไหว้บรรพบุรุษ เจ้าที่เจ้าทาง และเทพเจ้า
- ในวันตรุษจีน กิจกรรมหลักที่ทุกบ้านจะทำเป็นอันดับแรกคือการไหว้บรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลและโชคดีในปีนั้นแก่ครอบครัวของตน ซึ่งพิธีการไหว้นี้จะเป็นการไหว้ที่นับตามช่วงเวลา โดยในแต่ละช่วงเวลาจะเป็นการไหว้สิ่งดังต่อไปนี้
1. ช่วงเช้า เป็นการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป หรือแล้วแต่ความสะดวก)
2. ช่วงสาย เป็นการไหว้บรรพบุรุษ (เวลา 10.00 น. ไม่เกินเที่ยงวัน)
3. ช่วงบ่าย เป็นการไหว้สัมภเวสี (ช่วงเวลาบ่าย ไม่เกิน 18.00 น.)
4. ช่วงค่ำ เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย เทพแห่งโชคลาภ ( ช่วง 23.00 น. – 05.00 น.)
- แต่ละบ้านจะเลือกเวลาไหว้ที่แตกต่างกัน บ้างก็จะไหว้ 2 เวลา บ้างก็จะไหว้ 3 เวลา ตามแต่ความสะดวกและความต้องการ
สิงโตเชิด
- การเชิดสิงโต เป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติจีนมาอย่างยาวนาน มักจะแสดงกันในงานสังสรรค์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและสร้างความสิริมงคลแก่ผู้ชม
- ในปัจจุบันอาจหาชมคณะสิงโตเชิดขนาดใหญ่เฉกเช่นเมื่อก่อนได้ยาก แต่ก็ยังมีคณะเล็ก ๆ ที่ยังออกแสดงเพื่อขอบริจาคอยู่บ้างตามบางพื้นที่เช่นกัน หากมีโอกาสสักครั้งก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ควรพลาด
ให้แต๊ะเอีย
- การให้แต๊ะเอีย คือการนำเงินใส่ในซองอั่งเปา(ซองแดง) ผู้ใหญ่จะให้เงินแก่เด็ก ๆ หรือลูกหลานที่อายุน้อยกว่า ซึ่งจะนิยมใส่เงินในซองเป็นจำนวนเลขคู่ที่ถือเป็นเลขมงคล
- อีกมุมหนึ่ง การให้แต๊ะเอียก็เป็นเหมือนดั่งการสอนให้ลูกหลานรู้จักการเก็บออมเพื่อมีกินมีใช้ในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนการสั่งสอนให้รู้จักการแบ่งปันกันในครอบครัวในยามยากลำบากอีกด้วย
เผากงเต๊ก
- การเผากงเต๊ก เป็นพิธีกรรมทางความเชื่อที่เกี่ยวกับการส่งสิ่งของให้แก่บรรดาบรรพบุรุษและญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยจะนำกระดาษมาพับเป็นสิ่งของต่าง ๆ ตั้งแต่เงินทองไปจนถึงบ้านเรือน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการส่งทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยให้แก่เหล่าบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วสามารถนำไปใช้ในชีวิตโลกหลังความตายได้
- แม้การเผากงเต๊กนั้น หลายคนอาจจะชินกับการเผาในวันเช็งเม้งมากกว่า แต่ในบางพื้นที่และหลายครอบครัวก็ได้นำเอาพิธีนี้มารวมในวันตรุษจีนด้วยเช่นกัน เพราะถือว่านอกจากเป็นการไหว้บรรพบุรุษแล้ว ก็จะได้ส่งสิ่งของเหล่านี้ให้พวกท่านได้ใช้กันตั้งแต่ต้นปีเลย
จุดประทัด
- เรื่องของการจุดประทัดในวันตรุษจีนนั้น เป็นกิจกรรมที่ทำโดยมีความเชื่อว่าเป็นการทำเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ปัดเป่าสิ่งไม่ดี ให้ออกไปเพื่อต้อนรับสิ่งดี ๆ สิ่งใหม่ ๆ ให้เข้ามาในชีวิต
- แต่การจุดประทัดนั้นแม้ตามความเชื่อจะเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีทั้งหลาย แต่บางครั้งก็เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความเดือดร้อนได้ไม่น้อยเช่นกัน ฉะนั้นแล้ว หากต้องการจะจุดประทัดจริง ๆ ควรจะเช็คดูให้เรียบร้อยถึงเรื่องความปลอดภัยและเรื่องเพื่อนบ้านข้างเคียงก่อน
ความเชื่อในวันตรุษจีนกับสิ่งต่าง ๆ ที่ห้ามทำ
ความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันกับมนุษย์ตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในวันตรุษจีนนั้นก็มีเรื่องเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยเช่นกัน โดยความเชื่อยอดฮิตประจำวันตรุษจีนหลัก ๆ จะมีอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลย
ห้ามกวาดบ้าน
ความเชื่อนี้ได้มีคำอธิบายไว้ว่า หากกวาดบ้านในวันตรุษจีนจะเป็นการกวาดสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ให้ออกไปจากชีวิตในปีนั้น
ห้ามพูดคำหยาบ
การพูดจาหยาบคายก็เป็นเหมือนกับการเอาสิ่งแย่ ๆ เข้ามาในชีวิต ทำให้เขาถือกันว่าในวันนี้ที่เป็นวันปีใหม่ไม่ควรพูดคำหยาบ เพื่อให้มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา
ห้ามสระผมและห้ามตัดผม
เนื่องจากคำว่าผมนั้น เป็นคำพ้องเสียงกับความมั่นคงในภาษาจีน ทำให้มีความเชื่อที่ว่า หากสระผมหรือตัดผมในวันนี้จะเป็นการตัดเอาความมั่นคงในชีวิตตลอดปีนั้นออกไป
ห้ามซักผ้า
ว่ากันว่าที่ห้ามซักผ้ากันในวันนี้ เป็นเพราะวันตรุษจีนตรงกับวันเกิดของเทพเจ้าแห่งน้ำตามความเชื่อ การซักผ้าที่สกปรกจึงเป็นเหมือนการลบหลู่ท่านนั่นเอง
ห้ามให้ยืมเงิน
เชื่อกันว่าการให้คนอื่นยืมเงินตั้งแต่ต้นปีนั้น เป็นเหมือนลางบอกเหตุว่าจะมีการถูกยืมเงินตลอดทั้งปีแน่นอน รวมถึงหากยังติดค้างหนี้สินใครอยู่ ถ้ารีบคืนได้ควรรีบคืนเสียเพราะไม่อย่างนั้นก็อาจจะมีหนี้สินติดตัวตลอดทั้งปีเช่นกัน
ห้ามทำของแตก
อุบัติเหตุของตกแตกเป็นเรื่องที่บางครั้งก็ยากจะห้ามไม่ให้เกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความเชื่อกันว่า การที่ของแตกนั้นเป็นสัญญาณของการสูญเสีย แตกแยก พลัดพรากจากกัน รวมถึงอาจจะมีการเสียชีวิตด้วย จึงทำให้อีกหนึ่งข้อห้ามที่สำคัญอย่างมากนั่นเอง
ห้ามซื้อรองเท้าใหม่
คำว่ารองเท้าในภาษาจีน เป็นคำพ้องเสียงกับเสียงถอนหายใจยามเหนื่อย จึงเกิดเป็นความเชื่อว่า หากซื้อรองเท้าใหม่ในวันปีใหม่จะมีแต่เรื่องเหนื่อยหน่ายใจเข้ามาตลอดทั้งปี
ห้ามร้องไห้
ส่วนมากจะเป็นการร้องไห้ที่เกิดจากความเสียใจและความทุกข์เป็นเสียส่วนใหญ่ ทำให้ถือกันว่า หากร้องไห้ในวันนี้จะทำให้ต้องเผชิญกับเรื่องเศร้าโศกเสียใจจนต้องร้องไห้ตลอดทั้งปี
ห้ามใช้ของมีคม
เป็นความเชื่อที่หลายคนอาจจะต้องสงสัยว่าหากจำเป็นต้องใช้ขึ้นมาจะทำอย่างไร แต่ชาวจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การใช้ของมีคมในวันนี้จะเป็นการตัดสิ่งดี ๆ และความโชคดีที่กำลังจะเข้ามา
ห้ามกินโจ๊ก
ในอดีตนั้น โจ๊ก ถือเป็นอาหารของคนจนหรือคนไม่มีอันจะกิน ทำให้เกิดเป็นความเชื่อที่ว่าการทานโจ๊กในวันตรุษจีนนี้เป็นเหมือนการขัดขวางไม่ให้ตัวเองร่ำรวยนั่นเอง
ห้ามเข้าห้องนอนคนอื่น
แม้จะไม่รู้ที่มาที่ไปแน่ชัด แต่ความเชื่อนี้ระบุเอาไว้เพียงว่า หากเข้าห้องนอนคนอื่นในวันนี้ ถือว่าเป็นลางไม่ดีและจะเกิดโชคร้าย
ห้ามใส่สีขาวหรือสีดำ
อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อเรื่องนี้ แต่ว่าในวันตรุษจีน การใส่เสื้อสีดำและสีขาวถือว่าเป็นเรื่องไม่ดี เป็นสีที่ใส่แล้วเป็นลางร้าย ควรจะใส่เสื้อสีแดง ซึ่งเป็นตัวแทนของความโชคดีทั้งหลายของชาวจีน โดยเสื้อที่ใส่อาจจะมีสีอื่นผสมมาบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ควรจะมีสีแดงเป็นหลักจึงจะมีแต่ความโชคดีเข้ามา
เป็นอย่างไรกันบ้างกับสาระความรู้ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไป หวังว่าข้อมูลที่หามาจะเป็นประโยชน์และสามารถสร้างความเพลินเพลิดให้แก่นักอ่านทุกท่านได้ สุดท้ายนี้ ทุกเทศกาลที่ถูกจัดขึ้นมานั้นล้วนมีประวัติและความเป็นมา ทั้งความเชื่อและพิธีกรรมที่แตกต่างกันไป ดังนั้นแล้วหากเราจัดงานเทศกาลโดยที่รู้ถึงที่มาที่ไปของวันตรุษจีนก็น่าจะทำให้เรารู้สึกมีแนวทางในการทำกิจกรรมเฉลิมฉลองเหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วย
อ้างอิง
JEAB.com: 12 ข้อห้ามวันตรุษจีนที่ไม่ควรทำ
ไทยรัฐออนไลน์: 8 ข้อปฏิบัติ 12 ข้อห้ามวัน “ตรุษจีน”
ไทยรัฐออนไลน์: เปิดความหมาย “อั่งเปา” และ “แต๊ะเอีย” พร้อมเรื่องน่ารู้วันตรุษจีน
Promotions: ความสำคัญของวันตรุษจีน วันปีใหม่อันสดใสของชาวจีน
Promotions: ตรุษจีนปีนี้ใส่สีอะไรดี ความหมายของแต่ละสี และสีต้องห้าม
ไทยรัฐออนไลน์: คําอวยพรวันตรุษจีน 2566 ภาษาจีน ความหมายดี รวยๆ เฮงๆ
BRH: ประวัติวันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน
ไทยรัฐออนไลน์: ประวัติวันตรุษจีน มีความสำคัญ ความเชื่ออย่างไร พร้อมคำอวยพรดีๆ
มหาวิทยาลัยมหิดล: วันตรุษจีน: ความหมายของซองอั่งเปากับแต๊ะเอีย