Home LifeStyle การเดินทางของ นิยายวาย จากวรรณกรรมใต้ดินสู่หนังสือยอดนิยม

การเดินทางของ นิยายวาย จากวรรณกรรมใต้ดินสู่หนังสือยอดนิยม

621 views 3 mins read

ในยุคที่วงการหนังสืออยู่ในช่วงซบเซาแม้แต่บันเทิงคดีอย่างนิยายก็ขายได้ยาก ยังมีนิยายประเภทหนึ่งที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีๆ ก็ขายได้และขายดิบขายดีซะด้วยอยู่ คุณคิดถูกแล้วล่ะ นิยายประเภทนั้นคือ  นิยายวาย นิยาย(เคย)นอกกระแสที่ตอนนี้ขึ้นแท่นนิยายมาแรง ทรงอิทธิพลแบบสุดๆ แต่ดูเหมือนว่าความนิยมของนิยายวายจะสวนทางกับการยืนระยะของนักเขียน อีกทั้งช่วงหลังมานี้ความคาดหวังแกมกดดันของสังคมที่มีต่อนิยายวายก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แล้วสรุปว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้นิยายวายได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน? นักเขียนวายอยู่ไม่ยืดจริงไหม? นิยายวายจำเป็นต้องขับเคลื่อนสังคมจริงหรือเปล่า? หากคุณกำลังตั้งคำถาม บทความนี้มีคำตอบ!

นิยายวาย คืออะไร

วาย (Y) มาจากคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นคือ ยะโออิ (Yaoi)  เดิมใช้เรียกงานโดจินหรือการ์ตูนโป๊ที่แต่งล้อเลียนมังงะ อนิเมะ มีเนื้อหาแสดงความรักของเพศเดียวกัน ปัจจุบัน วาย (Y) ถูกนำมาใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น ครอบคลุมไปถึงหมวดหมู่ของนิยายและการ์ตูนซึ่งไม่ได้เป็นไปในทางล้อเลียนอย่างอดีต ตรงกันข้ามกลับนำเสนอแง่มุมความรักของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเหมือนกับนิยายชายหญิงทั่วไป บางครั้งเราจะได้ยินคนเรียกนิยายแนวนี้ว่า นิยาย Boy Love

ตัวละครหลักในกลุ่มนิยายวายหรือนิยาย Boy Love ก็จะคล้ายกับนิยายทั่วไป เพียงแต่เปลี่ยนจากพระ-นาง มาเป็น พระ-นายก็เท่านั้น เมื่อก่อนเราจะเรียกพระเอกนายเอกตามคำศัพท์ที่มาจากภาษาญี่ปุ่น เราจะเรียกพระเอกว่า “เมะ” ย่อมาจาก เซเมรุ ที่แปลว่า การโจมตี การเป็นฝ่ายบุก และจะเรียกนายเอกว่า “เคะ” มาจาก อุเคะ ที่แปลว่า การได้รับ การตั้งรับ แต่เดี๋ยวนี้นอกจากศัพท์ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว บางครั้งเราก็ใช้คำว่า “โพ” ที่ย่อมาจาก Position แปลว่า ตำแหน่ง มาเป็นตัวกำหนดเพศของตัวละครแทน เช่น โพผัวหมายถึงพระเอก ส่วนโพเมียหมายถึงนายเอก

จุดเริ่มต้นของ นิยายวาย

หลายคนอาจคิดว่านิยายวายเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา แต่รู้หรือไม่ว่านิยายวายผุดขึ้นมาในวงการหนังสือมากกว่าสองทศวรรษ! แล้ววายไปอยู่ที่ไหนมาตั้งนานล่ะ ทำไมถึงพึ่งมาดังจนเป็นกระแสในตอนนี้ ต้องบอกก่อนว่าจุดเริ่มต้นของนิยายวายเริ่มมาจากความนิยมในชุมชนเล็กๆ ของสาววาย ที่หยิบเอาตัวละครในการ์ตูน นิยาย ซีรีส์ ภาพยนตร์ นักร้อง หรือนักแสดงที่ตนเองชื่นชอบมาแต่งขึ้นโดยสร้างเส้นเรื่องใหม่ เราเรียกการกระทำในลักษณะนี้ว่าการเขียน แฟนฟิกชัน (Fan Fiction) 

การเขียนแฟนฟิกชัน (Fan Fiction) เรียกสั้นๆ ว่า การเขียนฟิก ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่แฟนคลับศิลปินบอยแบนด์ (Boy Band) โดยจุดเริ่มต้นมาจากการเขียนฟิกของกลุ่มศิลปินญี่ปุ่นก่อนจะตามมาด้วยการเขียนฟิกของกลุ่มศิลปินเกาหลี เรียกได้ว่า เริ่มเขียนกันตั้งแต่ศิลปินเกาหลีรุ่นแรก ๆ อย่างวง Supper Junior ที่ต้องแอบอ่านกันผ่านเว็บบอร์ด จนปัจจุบันมาถึงวงรุ่นลูกรุ่นหลานอย่าง NCT ที่อ่านได้ตามแอปพลิเคชันอ่านนิยายออนไลน์ทั่วไป อย่าง Joylada หรือ readAwrite กันเลยทีเดียว

ดังนั้น หากจะกล่าวว่า การเขียนแฟนฟิก เป็นต้นกำเนิดของนิยายวายก็คงไม่ผิดนัก เนื่องจากแฟนฟิกชันถือเป็นตลาดของสาววายกลุ่มแรกๆ ที่เสพเนื้อหาชายรักชายกันในวงเล็กๆ แบบลับๆ ทว่าความนิยมไม่เล็กและไม่ลับตามไปด้วย ทำให้ต่อมาสำนักพิมพ์เริ่มตีพิมพ์นิยายวายออกวางขายเพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่านักอ่านในที่สุด

นิยายวาย yaoi
ภาพประกอบจากมังงะ My Love Mix-Up! , Seven days , Sasaki and Miyano

นิยายวาย เคยนอกกระแส ต้องซื้อขายกันใต้ดิน

แม้นิยายวายจะผุดขึ้นในวงการหนังสือกว่า 20 ปี แต่แรกเริ่มเดิมทีการเปิดตัวของนิยายวายค่อนข้างติดลบ ภาพจำของคนส่วนใหญ่ในตอนนั้นการเสพนิยายประเภทนี้ไม่ต่างจากการดูหนังโป๊สักเรื่อง พูดแล้วก็นึกสงสารสาววายรุ่นพี่ที่จะซื้อขายนิยายวายกันแต่ละทีต้องทำแบบหลบๆ ซ่อนๆ แม้แต่บนเว็บไซต์ก็ใช่ว่าจะหาอ่านกันง่ายๆ หากไม่ผ่านระบบคัดกรองของเว็บบอร์ดก็ต้องอดไปตามระเบียบ 

ไจโกะ – วิชญา ปัญญาวรากุล บรรณาธิการของ Fictionlog เว็บไซต์นิยายออนไลน์ หนึ่งในสาววายรุ่นบุกเบิก     เคยให้สัมภาษณ์กับ The 101 .world ผ่านบทความ นิยายวาย : กระแสนิยม และกระจกสะท้อนสังคมที่ ‘ไร้เดียงสาทางเพศ’ โดยตอกย้ำความเป็นนิยายนอกกระแสผ่านการไม่ยอมรับนิยายวายของสังคมในอดีต ไว้ว่า

“สมัยก่อนมันจะมีรายการทีวีรายการนึง ชื่อว่ารายการ ‘หลุมดำ’ เป็นรายการที่นำประเด็นสังคมในช่วงนั้นมาถ่ายทอดเป็นสกู๊ป เช่น ประเด็นผู้หญิงที่โดนพ่อเลี้ยงข่มขืน คือเป็นรายการดาร์คๆ ในช่วงที่ยังไม่มีเพจอีจัน วันนึงรายการนี้ถ่ายทอดเหตุการณ์บุกจับการ์ตูนวายและการ์ตูนชายหญิงในงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเขาบอกว่ามันเป็นสื่อลามกอนาจาร กลายเป็นประเด็นใหญ่โต และทำให้วงการนิยายวายค่อนข้างปิด”

ใครจะไปคิดว่าผ่านไปไม่กี่ปีนิยายนอกกระแสที่ต้องซื้อขายกันใต้ดินแบบลับๆ นิยายที่ถูกมองว่าเป็นสื่อลามกอนาจารหลังร้านหนังสือในวันนั้นจะวางขายกันเกลื่อนกลาดหน้าร้านหนังสือในวันนี้ ด้วยสภาพสังคมที่เปิดกว้างยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นทำให้การอ่านนิยายวายไม่ใช่เรื่องผิดอีกต่อไป ตลาดของนิยายวายกว้างขึ้นผู้อ่านมีหลากเพศหลายวัย ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นนี้เป็นผลมาจากสภาพสังคมที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศเพียงอย่างเดียวหรือ? อะไรที่ช่วยทำให้กระแสของนิยายวายอยู่ยงคงกระพันมาตลอด 20 ปีกันแน่?

กระแส นิยายวาย จากการค้าใต้ดินสู่การค้าบนดินอย่างเต็มรูปแบบ

นิยายวายมีจุดขายในตัวของมันเอง มีตลาด มีกระแส ตั้งแต่ตอนที่อยู่ใต้ดิน นี่คือสิ่งที่เราต้องยอมรับ แต่เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นิยายวายขึ้นมามีกระแสอยู่บนดินได้อย่างมีสง่าราศี คือ อิทธิพลจากสื่อบันเทิงอย่าง “ซีรีส์”และ “ภาพยนตร์” ซีรีส์วายที่ออกฉายเรื่องแรกของไทย คือ Love Sick The Series ผลงานจากนิยายวายเรื่องดังที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Dek-D “Love Sick The Series: ชุลมุนหนุ่มกางเกงน้ำเงิน” โดยหลังจากซีรีส์เรื่องนี้ออกอากาศก็โด่งดังและได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง ต่อมาไม่นานก็มีซีรีส์วายอีกหลายเรื่องผุดตามมาเป็นดอกเห็ด 

นิยายวายเรื่องไหนดังเรื่องไหนดี บรรดาผู้จัดก็จ้องที่จะจับจองเอาไปทำเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์ GMMTV ดูจะจับทางได้ก่อนใครเพื่อนเพราะหลังจากกระแส    ซีรีส์วายช่องเล็กช่องน้อยเป็นไปในทิศทางบวก เจ้าตัวก็เริ่มหยิบนิยายวายเรื่องดังขึ้นมาทำเป็นซีรีส์ทันที โดยซีรีส์วายที่มาจากนิยายเรื่องแรกของ GMMTV ได้แก่ “Sotus The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” ที่ต้องบอกว่าประสบความสำเร็จแบบเกินคาด ดารานักแสดงในเรื่องต่างกลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน

Sotus The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง เป็นเรื่องราวในรั้วมหาลัยของกลุ่มพี่ว้ากและน้องปีหนึ่ง เนื้อเรื่องถ่ายทอดให้เห็นข้อดี-ข้อเสียของระบบ SOTUS   (ระบบอาวุโส) และปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซีรีส์วายยุคแรก ๆ ต่างก็เป็นไปในทิศทางนี้แทบทั้งหมด วนเวียนอยู่ในรั้วโรงเรียน มหาวิทยาลัย และคณะยอดฮิตอย่างแพทย์หรือวิศวะ ก่อนที่ต่อมาเนื้อหาของนิยายวายจะขยายวงกว้างขึ้น

เข้าไปมีพื้นที่ในการถ่ายทอดแง่มุมที่น่าสนใจของทุกวงการ อย่างวงการบันเทิงก็มี “นับสิบจะจูบ Lovely Writer” วงการครูอาสาก็มี “นิทานพันดาว 1000 Stars” หรือแม้แต่วงการมาเฟีย ก็มีซีรีส์วายที่กำลังมาแรงอย่าง “KinnPorsche รักโคตรร้าย สุดท้ายโคตรรัก” ที่กำลังออกอากาศ 

ถือว่าบรรดาค่ายต่าง ๆ ที่เลือกนิยายวายไปทำเป็นซีรีส์ตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด เพราะข้อดีของการนำนิยายไปทำเป็นซีรีส์ คือ ฐานแฟนคลับ บรรดาแฟนนิยายต่างก็ตั้งตารอตัวละครโปรดที่กำลังจะขึ้นไปโลดแล่นบนจอแก้ว รอสนับสนุนช่วยกันโปรโมทตั้งแต่ซีรีส์ยังไม่เริ่มถ่ายทำ ดูเผิน ๆ จึงเหมือนซีรีส์จะโกยผลประโยชน์จากนิยายวายอยู่ฝ่ายเดียว แต่จริงๆ แล้ว ทั้งซีรีส์และนิยายวายต่างก็วินวินด้วยกันทั้งคู่ เพราะถ้าซีรีส์วายเรื่องไหนประสบความสำเร็จแฟนๆ ซีรีส์ก็พร้อมจะควักเงินในกระเป๋าสตางค์จับจองนิยายวายต้นกำเนิดความฟินเช่นกัน

อาจกล่าวได้ว่า กระแสจากซีรีส์วายเป็นแรงกระพือสำคัญที่ทำให้นิยายวายยังคงทรงอิทธิพล เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้นิยายวายสามารถเข้าถึงผู้คนได้จำนวนมาก อีกทั้งยังมีส่วนในการนำเสนอภาพจำด้านบวกของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซีรีส์วายจึงเป็นสื่อสำคัญที่ช่วยให้นิยายวายได้รับการยอมรับจากสังคม

ถือว่าบรรดาค่ายต่างๆ ที่เลือกนิยายวายไปทำเป็นซีรีส์ตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด เพราะข้อดีของการนำนิยายไปทำเป็นซีรีส์ คือ ฐานแฟนคลับ บรรดาแฟนนิยายต่างก็ตั้งตารอตัวละครโปรดที่กำลังจะขึ้นไปโลดแล่นบนจอแก้ว รอสนับสนุนช่วยกันโปรโมทตั้งแต่ซีรีส์ยังไม่เริ่มถ่ายทำ

Love Sick The Series
ภาพประกอบจากซีรี่ย์ Love Sick The Series , นิยาย Love Sick The Series: ชุลมุนหนุ่มกางเกงน้ำเงิน

นิยายวาย ขายได้แต่นักเขียนอยู่ไม่ยืด?

เมื่อวงการนิยายวายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นและเห็นได้ชัดว่าสามารถสร้างกำไรได้อย่างมหาศาล นอกจากซีรีส์หรือภาพยนตร์จะผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดแล้ว สายผลิตอย่างนักเขียนก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน นักเขียนหลายคนแจ้งเกิดจากการเขียนนิยายวายเลยก็มี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิยายวายส่วนใหญ่มีกลุ่มคนอ่านอยู่แล้วและระยะหลังมานี้แอปพลิเคชันเขียน-อ่านนิยายออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น แยกหมวดหมู่ Y ออกมาอย่างชัดเจนง่ายต่อการค้นหา ดังนั้นต่อให้คุณเป็นนักเขียนใหม่แต่แต่งเรื่องได้โดนใจผู้อ่านก็สามารถดังขึ้นมาได้ง่ายๆ ชั่วข้ามคืน

แต่ประเด็นคือความยั่งยืนของนักเขียนนิยายวายมันจีรังแค่ไหน ลี้ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท หนึ่งในนักเขียนนิยายวายควบตำแหน่งนักเขียนรางวัลซีไรต์ได้แสดงทัศนะของเธอต่อการยืนระยะของนักเขียนวายผ่าน Facebook ส่วนตัว ไว้ว่า

“หกปีที่ผ่านมา เพื่อนนักเขียนนิยายวายล้มหายตายจากไปมากเหลือเกิน แม้แต่คนที่ดัง คนที่ออกนิยายปีละสิบเล่ม คนที่ดังมากและประสบความสำเร็จมาก คนที่แบบ ท็อปห้าของวงการ ก็คือเลิก เลิก เลิก ม้วนเสื่อกลับบ้านไปทำอย่างอื่น นามปากกาที่ดังตอนนี้ก็เป็นนามปากกาใหม่ๆ ที่ว่านั้นคือ แป๊บเดียวก็หาย วนไปที่คนใหม่กว่ามาดังอีกแล้ว เป็นวงการที่ตายกันแบบเป็นเบือ ไม่มีคำว่ายืนระยะ ไหนจะต้องรับมือกับปัญหาสังคมสารพัดสารพัน ว่างๆ สังคมไม่ทำอะไรเราก็หยุมหัวกันเอง”

เอาเป็นว่าหลังจากฟังเสียงของคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว ก็พอจะสรุปได้ว่าวงการวายนักเขียนเกิดง่ายแต่การยืนระยะเป็นเรื่องยาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงบวกกับต้องต่อสู้กับนักเขียนใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งในปัจจุบันที่เราสามารถอ่านนิยายได้อย่างอิสระบนโลกออนไลน์ ตรงจุดนี้น่าจะเป็นภาษีให้กับนักเขียนใหม่พอสมควร นักเขียนท็อปๆ นักเขียนดังๆ ที่ออกหนังสือปีละหลายสิบเล่มนั้นอาจจะต้องยอมแพ้เมื่อนักเขียนใหม่ผลิตผลงานและเผยแพร่ให้อ่านฟรีๆ แบบวันต่อวัน

นอกจากการแข่งขันระหว่างนักเขียนหน้าใหม่และเก่าของวงการนิยายวายในประเทศแล้ว นักเขียนนิยายวายแดนสยามยังต้องแข่งขันกับนักเขียนนิยายวายจากแดนมังกรอย่างพี่สาวชาวจีนด้วย โดยระยะหลังมานี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าหลายๆ สำนักพิมพ์พยายามเอาอกเอาใจสาววายด้วยการนำนิยายวายจากฝั่งจีนเข้ามาแปลและจัดจำหน่ายเป็นภาษาไทย มีทั้งแบบพรีออเดอร์และแบบวางขายตามชั้นหนังสือให้เหล่าสาววายได้เลือกสรร เรียกได้ว่าวงการนี้สายผลิตต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดสุดๆ

อย่างไรก็ดี แม้การยืนระยะจะเป็นเรื่องยากแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อช่องทางที่ทำให้นักเขียนวายส่วนใหญ่มีกระแสขึ้นมาคือช่องทางออนไลน์ ก็อาจเป็นไปได้ว่าช่องทางที่จะทำให้นักเขียนเหล่านี้ยืนระยะต่อไปได้คือช่องทางออนไลน์เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะจับถูกทิศ ถูกทาง และถูกใจคนอ่านหรือไม่ สาววายที่รออ่านนิยายมีกันครึ่งค่อนประเทศ มันจะเป็นไปไม่ได้เชียวหรือที่นักเขียนจะยืนระยะในวงการนี้อย่างยั่งยืน

นิยายวาย กับการขับเคลื่อนสังคม

สืบเนื่องมาจากการแสดงทัศนะของจิดานันท์ที่กล่าวถึงเมื่อสักครู่ จะเห็นว่าเธอได้เสนอประเด็นที่น่าสนใจอย่าง การรับมือกับปัญหาสังคมไว้ในตอนท้าย ชี้ให้เห็นว่าวงการนิยายวายในปัจจุบันทั้งผู้อ่านและสังคมต่างก็มีความคาดหวังต่อมันมากกว่าการเป็นบันเทิงคดีประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะความคาดหวังด้านการขับเคลื่อนสังคมเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ดูเหมือนจะเป็นอีกภาระหน้าที่หนึ่งของนิยายวายไปแล้ว

ความจริงประการหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือนิยายวายไม่สามารถใช้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศได้จริง นิยายวายอาจช่วยให้สังคมเปิดกว้างทางความคิดเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการคาดหวังว่ามันจะเป็นสื่อสำคัญที่จะขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศดูจะเกินขอบเขตหน้าที่ของนิยายไปสักหน่อย อย่าลืมว่าท้ายที่สุดแล้วนิยายวายก็คือสื่อบันเทิงประเภทหนึ่งไม่ใช่สารคดี เพราะฉะนั้นเนื้อหาของนิยายไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม เราปรับนิยายวายให้มีเนื้อหาเหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงได้แต่เราไม่อาจเปลี่ยนมันได้ทั้งหมด 

สิ่งสำคัญที่ทำให้นิยายวายต่างออกไปจากโลกแห่งความเป็นจริงของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศปรากฏเด่นหลาตั้งแต่คาแรคเตอร์ตัวละครพระเอก-นายเอกแล้ว พระเอกในนิยายวายส่วนใหญ่มีลักษณะของความเป็นชายสูงมาก ต้องหน้าตาดี รูปร่างสูงใหญ่สมส่วน มีความแข็งแรงมาดแมน ในขณะที่นายเอกของนิยายวายก็จะมีลักษณะของความเป็นหญิงแฝงอยู่จะต้องตัวเล็ก หน้าตาน่ารัก แม้จะมีนิสัยเหมือนผู้ชายก็จะมีความหยุมหยิมแบบผู้หญิงร่วมด้วย ซึ่งในชีวิตจริงของ LGBTQ ไม่ได้เป็นแบบนี้ทั้งหมด พวกเขาหลากหลายและมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งมากกว่าการวางคาแรคเตอร์ตัวละครในนิยายวายสักตัวหนึ่งของนักเขียน 

นิยายวายอาจไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่หลายๆ คนคาดหวังแต่ก็ใช่ว่านิยายวายจะไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นอื่นใดในสังคมได้เลย นิยายวายไม่ได้ต่างจากนิยายรักชายหญิงทั่วไป มันมีแง่มุม มีข้อคิด และมีวิธีนำเสนอปัญหาสังคมในแบบของมันเอง เป็นวรรณกรรมกระจกที่ส่องสะท้อนสภาพสังคมอีกบานหนึ่งไม่ต่างจากวรรณกรรมทั่วไป บางทีหากเราเปิดใจอ่านนิยายวายโดยปราศจากการยัดเยียดหน้าที่ ปราศจากอคติที่มองว่านิยายวายเป็นเพียงนิยายตลาด นิยายพาฝัน เราอาจจะเห็นแง่มุมที่เป็นประโยชน์มากขึ้นจากมันก็ได้ 

ซึ่งในชีวิตจริงของ LGBTQ ไม่ได้เป็นแบบนี้ทั้งหมด พวกเขาหลากหลายและมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งมากกว่าการวางคาแรคเตอร์ตัวละครในนิยายวายสักตัวหนึ่งของนักเขียน 

นิยายวาย ไม่ติดเหรียญ
ภาพประกอบจากซีรี่ย์ Sotus The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง

บทสรุป

การเดินทางของนิยายวายจากใต้ดินสู่การเป็นหนังสือยอดนิยม ยาวนานและไม่เคยง่าย เปิดตัวปุ๊บคนก็ตีตราว่าเป็นสื่อลามกปั๊บ  ต้องใช้เวลากว่าสิบปีนิยายวายถึงจะสามารถขึ้นมาเผชิญหน้ากับวงสังคมได้อย่างเฉิดฉาย มิหนำซ้ำยังทรงอิทธิพลมากขึ้นจากกระแสซีรีส์วายที่คอยเป็นแรงขับเคลื่อน อย่างไรก็ดี แม้นิยายวายจะมาแรงแซงวรรณกรรมทุกหมวดหมู่เพียงใด ถนนของนิยายวายก็ไม่เคยราบเรียบ มันเต็มไปด้วยความคาดหวังและแรงกดดันจากสังคมอยู่เสมอ

แม้วันนี้เราจะสามารถใช้คำว่าประสบความสำเร็จกับนิยายวายได้แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า นิยายวาย ยังคงเป็นเรื่องใหม่ มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ เข้าถึงและเข้าไม่ถึง คงจะต้องเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ กับวงการนี้ ผู้เขียนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อการทำงานแบบยืนระยะ ในขณะที่ผู้อ่านก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับและทำความเข้าใจกับหน้าที่ของนิยายวายในฐานะบันเทิงคดี เราคงต้องทำความรู้จักและปรับตัวกับวงการนี้ต่อไป เพราะกระแสนิยายวายคงอยู่กับเราไปอีกนานตราบเท่าที่ยังทำเงินจำนวนมหาศาลได้อยู่…



About the illustrator
About the illustrator

ภาพประกอบบทความนี้ออกแบบและสร้างสรรค์โดย รุจาภา พรหมวิเศษ นักศึกษาปี 3 – มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาวิชา: ภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล – เอก : การผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล


เชิงอรรถ


1 comment

Mew 28/08/2024 - 13:16

เป็นบล็อคที่ดีมากๆ ค่ะ

Reply

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More