Synopsis of Hamlet เป็นบทความที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาบทละคร โศกนาฏกรรม เรื่อง แฮมเล็ต (แฮมเลต) ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมและมีการศึกษาเกี่ยวกับละครในหลายแง่มุม ทั้งทางจิตวิเคราะห์ การเมือง สังคม เพศสภาพ และปรัชญา ฉากหลังในแฮมเล็ตเกิดขึ้นในพระราชวังเอลสินอร์ ภูมิภาคที่เย็นยะเยือกของเดนมาร์ก ธีมหลักคือการแก้แค้น การค้นหาความจริง การหลอกลวง และการตาย แฮมเล็ตได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมที่ดีที่สุดของ วิลเลียม เชคสเปียร์
บทสรุปย่อและโครงเรื่องของแฮมเล็ต– Synopsis of Hamlet
โฮเรโชเป็นเพื่อนนักเรียนขององค์ชายแฮมเล็ต เจ้าชายแห่งเดนมาร์ก เขาขึ้นไปที่เชิงเทินของปราสาทเอลสินอร์ในตอนดึกอันเต็มไปด้วยอากาศหนาวเย็น เพื่อพบกับทหารยามที่กำลังสับสน ขวัญผวา พวกเขาบอกกับโฮเรโชว่าวิญญาณที่พวกเขาเห็น คล้ายกับกษัตริย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว (พ่อของแฮมเล็ต ซึ่งชื่อเดียวกันกับองค์ชายแฮมเล็ต) มันปรากฏขึ้นอีกครั้งและพวกเขาตัดสินใจที่จะบอกเรื่องนี้กับองค์ชาย
ในตอนนั้นคลอเดียส อาของแฮมเล็ต ได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่งงานกับเกอร์ทรูด แม่ของแฮมเล็ต ราชสำนักเดนมาร์กได้ส่งทูตไปนอร์เวย์ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวจากกองทัพที่ผิดปกติ แฮมเล็ตกลับมาจากมหาวิทยาลัยที่เขาเรียน เขายังคงคร่ำครวญถึงการตายของพ่อ และได้ยินเรื่องวิญญาณจากโฮเรโช แฮมเล็ตตั้งใจจะไปดูด้วยตาตนเอง
วิญญาณปรากฏต่อแฮมเล็ตและบอกว่า ตนถูกวางยาพิษตายโดยคลอเดียส แฮมเล็ตสาบานว่าจะล้างแค้น หากเขาค้นพบว่าเรื่องนี้เป็นความจริง แฮมเล็ตต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เขารู้ว่าวิญญาณนั้นปรากฏได้หลายรูปแบบ โฮเรโช และเหล่าทหารยามสาบานว่าจะปกปิดเรื่องวิญญาณเป็นความลับ แฮมเล็ตวางแผนที่จะสืบหาเรื่องราวทั้งหมด โดยแกล้งทำเป็นคุ้มคลั่ง เพื่อไม่ให้ใครสงสัยภารกิจของเขา
เลแอร์ทีส บุตรชายของข้าราชบริพารโพโลเนียส กำลังเดินทางกลับไปเรียนต่อฝรั่งเศส เลแอร์ทีสเตือนโอฟีเลียน้องสาวของเขาว่า อย่าคิดถึงแฮมเล็ตมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อตัวเอง โพโลเนียสเป็นที่ปรึกษาของคลอเดียส เขาคือต้นธารหนึ่งของการทุจริตคอรัปชันในราชสำนัก เขามักจะจัดการทุกสิ่งอย่าง เขาจะบังคับให้ลูกชาย และลูกสาวอยู่ในอาณัติของตน โดยเฉพาะโอฟีเลียนั้นถูกบังคับมาตั้งแต่เด็ก ไม่มีปากเสียง หรืออิสรภาพ
การที่โอฟีเลียถูกห้ามในทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงความรัก นั่นทำให้แฮมเล็ตก็ปฏิเสธโอฟีเลียด้วยเช่นกัน เขาคิดว่าโอฟีเลียก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่พยายามต่อต้านเขา ไม่เข้าใจเขาเช่นทุกคน แฮมเล็ตคิดว่าเขาถูกผลักไสให้กลายเป็นคนนอก ซึ่งนั่นเขาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ขณะที่คลอเดียส และ โพโลเนียส ต้องการสอดแนมแฮมเล็ต เพื่อค้นหาเหตุผลสำหรับพฤติกรรมแปลกๆ ของแฮมเล็ตอย่างกะทันหัน โรเซ็นแครนทฺส์ และ กิลเด็นสเติร์น อดีตเพื่อนวัยเด็กของแฮมเล็ตถูกคลอเดียสเรียกตัวมาพบ คลอเดียสต้องการให้ทั้งสองสอดแนมแฮมเล็ตทุกฝีก้าว
ในเวลาเดียวกันแฮมเล็ตทราบข่าวว่ามีคณะละครเดินทางมาแสดงในวัง แฮมเล็ตต้องการให้การแสดงละครครั้งนี้เปิดโปงความจริงของคลอเดียสในเรื่องฆาตกรรมจากการวางยาพิษกษัตริย์องค์เก่า แฮมเล็ตรู้จักนักแสดงเหล่านั้น เขาจึงวางแผนให้คณะละครสอดแทรกฉากวางยาพิษเข้าไปด้วย แฮมเล็ตซักซ้อมพวกนักแสดงด้วยตัวเองก่อนที่จะเล่นต่อหน้ากษัตรยิ์และราชินี เขาจะเฝ้าดูปฏิกิริยาของคลอเดียส การแสดงที่สมจริงย่อมทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมกับละคร คลอเดียสจะถูกบทละครยั่วยุจนถึงที่สุด และนั่นจะบอกได้ว่าคลอเดียสสังหารกษัตริย์องค์ก่อนหรือไม่ ซึ่งวันแสดงละครคลอเดียสก็ทนดูละครไม่ได้ เขาลุุกออกไปก่อนที่ละครจะจบ
นั่นทำให้แฮมเล็ตมั่นใจว่า คลอเดียสสังหารพ่อของตน อย่างไม่มีข้อสงสัยประการใดอีกต่อไป
ความคุ้มคลั่งของแฮมเล็ต
ความคุ้มคลั่งของแฮมเล็ตยังทำให้ครอบครัวทุกข์ร้อนใจ โพโลเนียสอยากให้เกอร์ทรูดได้คุยกับแฮมเล็ตตรงๆ สองต่อสอง แม่กับลูก จะได้รู้ถึงสาเหตุของความคุ้มคลั่ง และโพโลเนียสต้องการเข้าไปแอบฟังการสนทนาด้วย เขาบอกกับเกอร์ทรูดว่าเขาจะได้วิเคราะห์ถึงความบ้าคลั่งของแฮมเล็ตเกิดจากเรื่องใดกันแน่
ระหว่างทางที่แฮมเล็ตจะไปเข้าพบเกอร์ทรูด เขาเห็นคลอเดียสคุกเข่าภาวนาอยู่คนเดียว พยายามจะอธิษฐานอะไรบางอย่าง นั่นเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่แฮมเล็ตจะสังหารคลอเดียส แต่การฆ่าคลอเดียสในขณะที่กำลังสวดอ้อนวอน จะทำให้วิญญาณของเขาไปสวรรค์ แฮมเล็ตไม่ต้องการให้วิญญาณคลอเดียสไปสวรรค์ เขาต้องการให้ผู้สังหารบิดาไปนรก แฮมเล็ตตัดสินใจไม่ลงมือฆ่าคลอเดียสในตอนนั้น
จักคงชีวิต, หรือมรณา, นั่นคือปุจฉา
Tweet
เมื่อแฮมเล็ตไปพบแม่ โพโลเนียสที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการให้แม่ลูกมาพูดคุยกัน เขาแอบซ่อนตัวอยู่ในห้องหลังม่านสอดแนมบทสนทนา ทั้งสองโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน ถึงการตัดสินใจแต่งงานใหม่ของแม่ โดยมองว่าการเลือกครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่สิ้นคิด โพโลเนียสเข้าใจผิดคิดว่าแฮมเล็ตจะฆ่าเกอร์ทรูด ทำให้ม่านมีการเคลื่อนไหว แฮมเล็ตแทงดาบเข้าไปที่ผ้าม่าน เพราะคิดว่าเป็นหนู โพโลเนียสตาย นั่นกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับแฮมเล็ต เขาพยายามผดุงความยุติธรรมทั้งหลายเอาไว้ แต่เขาก็ต้องตกลงไปสู่วังวนของความดำมืดนั้นเสียเอง และการสังหารโพโลเนียสนั้นทำให้แฮมเล็ตรู้สึกถึงบางอย่าง ในที่สุด วิญญาณปรากฏขึ้นอีกครั้งเพื่อเตือนแฮมเล็ตว่าอย่ารอช้าที่จะแก้แค้น
ความตายของโพโลเนียสถึงหูคลอเดียส เขาต้องปกปิดเหตุการณ์ฆาตกรรมในราชสำนัก ศพของโพโลเนียสถูกซ่อนภายในวัง เขาวางแผนส่งแฮมเล็ตไปอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นกองทัพของกษัตริย์ฟอร์ทินบราสแห่งนอร์เวย์ข้ามเดนมาร์กเพื่อไปโจมตีโปแลนด์ การส่งแฮมเล็ตไปอังกฤษแม้จะดูเหมือนเป็นการส่งไปในทางทูต แต่คลอเดียสวางแผนให้แฮมเล็ตไปโดนประหารที่อังกฤษ แต่แผนการนี้รั่วไหลมาถึงแฮมเล็ตเสียก่อน เขาจึงซ้อนแผนให้ โรเซ็นแครนทฺส์ และ กิลเด็นสเติร์นไปตายแทน
ระหว่างที่แฮมเล็ตไม่อยู่ โอฟีเลียกลายเป็นบ้าเพราะพ่อของเธอเสียชีวิต เธอทุกข์ท้อต่อชะตากรรมของตัวเอง ในวังที่ไม่มีใครเป็นพวกอีกต่อไป โพโลเนียสตาย เลแอร์ทีสกลับไปเรียนที่ฝรั่งเศสกำลังกลับมา ส่วนแฮมเล็ตกลายเป็นคนนอกสำหรับเธอนานแล้ว ความฟั่นเฟือนของโอฟีเลียเป็นเหตุให้เธอจมน้ำตาย อาจจะกล่าวได้ว่าการจมน้ำตายของเธอเป็นอุบัติเหตุ หรือความจงใจที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้
แฮมเล็ต และโฮเรโช กลับมายังพระราชวังเอลสินอร์ พอมาถึงสุสานทั้งสองพบกับสัปเหร่อกำลังเตรียมหลุมศพ แฮมเล็ตเห็นหัวกะโหลกที่สัปเหร่อหยิบขึ้นมา เขาถามว่านั่นกะโหลกของใคร สัปเหร่อตอบว่านี่คือหัวกะโหลกของยอริค อดีตตลกหลวงที่เคยสร้างเสียงหัวเราะให้กับทุกคน แฮมเล็ตรู้จักเขาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้เหลือเพียงกะโหลก ความสัมพันธ์ของแฮมเล็ตของยอริคแม้จะไม่แนบแน่น แต่หัวกะโหลกของเขาทำให้แฮมเล็ตอุปมาการมีชีวิตอยู่ หรือความตายนั้นเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ซึ่งตลอดเรื่องแฮมเล็ตพรรณาถึงดินแดนที่ไม่รู้จัก ดินแดนของความตายอยู่เสมอ
ไม่นานนัก คลอเดียส, เกอร์ทรูด, เลแอร์ทีส, บาทหลวง และเหล่าผู้ติดตามแบกโลงศพของโอฟีเลียมาที่สุสานเพื่อทำพิธี แฮมเล็ตเผชิญหน้ากับเลแอร์ทีส หลังจากที่เขาพยายามจะก่อกบฏ โดยนำไพร่พลบุกมาที่ท้องพระโรง เพื่อถามถึงสาเหตุการตายของโพโลเนียสผู้พ่อ แฮมเล็ตต้องการแก้แค้นให้พ่อฉันใด เลแอร์ทีสก็ต้องการแก้แค้นฉันนั้น แฮมเล็ตอาจจะดูนุ่มนวลกว่า แต่เเลแอร์ทีสไม่ใช่ เขาดุดันมุทะลุ และเต็มไปด้วยความกร้าวแกร่ง ส่วนแฮมเล็ตเป็นเหมือนนักคิด ฉลาด อ่อนไหว มีความเป็นปัญญาชน แต่ทั้งสองคนต้องการแก้แค้น
Hamlet (Example reading)
เลแอร์ทีสเข้ารับตำแหน่งแทนพ่อของเขาที่ราชสำนัก คลอเดียสกระตือรือร้นให้มีการดวลดาบระหว่างสองหนุ่ม แฮมเล็ต กับเลแอร์ทีส คลอเดียสวางแผนให้แฮมเล็ตต้องตาย ไม่ว่าด้วยเหตุอันใด ด้วยความรอบคอบ เขาจึงอาบยาพิษเอาไว้ที่ดาบ และยังใส่ยาพิษลงไปในไวน์ที่จะให้แฮมเล็ตดื่มระหว่างการดวล
แผนทั้งหมดพังทลาย และผิดพลาด เลแอร์ทีส กับแฮมเล็ต ดวลดาบกัน เมื่อแฮมเล็ตได้แต้มแรก และแต้มที่สอง เขาปฏิเสธดื่มไวน์ที่ใส่ยาพิษสำหรับฉลองแต้มแรกและแต้มที่สอง คลอเดียสใส่ไข่มุกลงไปเพื่อเพิ่มการเดิมพัน แฮมเล็ตต้องการดวลต่อ เกอร์ทรูดเข้ามาเช็ดเหงื่อให้แฮมเล็ต เธอดื่มไวน์อาบยาพิษแก้วนั้นเสียเอง โดยไม่ฟังคำทัดทานของคลอเดียส
การดวลดาบเป็นไปอย่างสูสี แฮมเล็ตโดนฟัน มีการพัวพันแย่งดาบ จนดาบสลับมือ เขาได้ฟันโดนเลแอร์ทีสด้วยเช่นกัน ยาพิษในไวน์ออกฤทธิ์ต่อเกอร์ทรูด เมื่อทุกคนใกล้จะตาย แฮมเล็ตแทงดาบสังหารคลอเดียส และกรอกไวน์ยาพิษพร้อมไข่มุกเข้าไปในปาก ความตายนี้เป็นความตายเพื่อทดแทนความยุติธรรมทั้งหมด แม้แต่ผลกรรมของแฮมเล็ตเองก็เช่นกัน แม้เขาพยายามจะหลีกหนีข้อเท็จจริง แต่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของคอรัปชั่นในวังที่เน่าเหม็น
ก่อนแฮมเล็ตตาย เขาได้คร่ำครวญกับโฮเรโช ต้องการให้โฮเรโชได้บอกกล่าวเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อกษัตริย์องค์ใหม่–ฟอร์ทินบราส แห่งนอร์เวย์ ผู้กลับมาด้วยชัยชนะจากสงครามโปแลนด์ และทิ้งให้ภาพชวนผวา นองด้วยเลือด และความตายเกลื่อนท้องพระโรงด้วยความหวาดสยอง
บทสรุปของ Synopsis of Hamlet
แฮมเล็ต หรือในชื่อเต็ม โศกนาฏกรรมของแฮมเล็ต องค์ชายแห่งเดนมาร์ก (The Tragedy of Hamlet, Prince of Denmark) ละคร 5 องก์ เขียนโดย วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1599–1601 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1603 เนื้อหาหนังสือไม่ได้รับอนุญาตในการพิมพ์ แต่อ้างอิงจากบทละครก่อนหน้านี้ โฟลิโอแรก (First Folio) นำมาจากควอร์โตที่สองของปี ค.ศ. 1604 ซึ่งอิงจากเอกสารของเชคสเปียร์พร้อมคำอธิบายประกอบบางส่วนโดยผู้ทำบัญชี
First Folio ตีพิมพ์ครั้งแรก (ค.ศ. 1623) เป็นหนังสือรวบรวมผลงานของ วิลเลียม เชคสเปียร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ Mr. William Shakespeares Comedies, Histories & Tragedies หนังสือเล่มนี้กลายมาเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับบทละครร่วมสมัยของเขาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ First Folio เป็นหนังสือที่มีขนาดใหญ่ มีความหนากว่า 900 หน้า จัดพิมพ์โดยสมาชิกห้าคน นำโดย Edward Blount และ William Jaggard นักแสดง John Heminge และ Henry Condell รับหน้าที่รวบรวมบทละครของเชคสเปียร์จำนวน 36 เรื่อง สำหรับยอดการจัดพิมพ์ของ First Folio ประมาณ 1,000 เล่ม ผู้จัดพิมพ์คือ Isaac ลูกชายของ Jaggard
โฟลิโอชุดที่สองจัดพิมพ์ในปี ค.ศ. 1632 โฟลิโอชุดที่สาม ค.ศ. 1663 โดยพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี ค.ศ.1664 โฟลิโอที่สี่และสุดท้ายได้รับการตีพิมพ์ ค.ศ. 1685
แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง แฮมเล็ต ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ มาจากหลายแหล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหนังสือของ Saxo Grammaticus (ราว ค.ศ. 1150 – ค.ศ. 1220) นักประวัติศาสตร์ นักศาสนศาสตร์ และนักประพันธ์ชาวเดนมาร์ก จากหนังสือเรื่อง Gesta Danorum III และ IV ในศตวรรษที่ 12 และ จากเรื่อง Histoires tragiques เล่มที่ 5 ผลงานของ François de Belleforest นักเขียน กวี และนักแปลชาวฝรั่งเศสในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา นอกจากนั้นบทละครเรื่อง แฮมเล็ต (แฮมเลต) ดัดแปลงจาก Ur-Hamlet บทละครที่ต้นฉบับสูญหายไป คาดเดาว่าเขียนโดย Thomas Kyd
โธมัส ไคด์ (รับบัพติศวันที่ 6 พ.ย. ค.ศ. 1558 เสียชีวิตราวๆ ธันวาคม ค.ศ. 1594) นักเขียนบทละครชาวอังกฤษผู้ริเริ่มการเขียนบทละครในแบบ “โศกนาฏกรรมแก้แค้น” เขาพัฒนาจุดไคลแมกซ์เพื่อเปิดเผยสัญชาตญาณของความเศร้า ในแบบฉบับโศนาฏกรรมละครสเปน ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบให้เชคสเปียร์นำไปศึกษาจนเป็นบทละครแนวจิตวิเคราะห์
บทความอื่นเกี่ยวกับ วิลเลียม เชคสเปียร์
- Drama in Hamlet: บทละครแฮมเล็ต
- แฮมเล็ต ของ วิลเลียม เชคสเปียร์
- William Shakespeare : Timeline
- บทเพลงในยุควิลเลียม เชคสเปียร์
ตัวอย่างหนังสือ Hamlet