มุมมอง บุคคลที่ 3 : Third Person Point of View : The Most Popular Narrative Style

สรุปทุกประเด็นของ มุมมอง การเล่าเรื่อง บุคคลที่ 3 มุมมองยอดนิยม ทำไมนักนิยมใช้ และนักอ่านถึงคุ้นเคย ทุกประเด็น พร้อมตัวอย่าง เพื่อเข้าใจได้จบในโพสต์เดียว
Third Person Point of View

หนังสือที่เป็นนิยายเกือบทั้งหมดเขียนด้วย มุมมอง บุคคลที่ 1 หรือ มุมมอง บุคคลที่ 3 แต่ถ้าคุณกำลังเริ่มเขียนนิยายสักเรื่อง การเลือก POV สำหรับเรื่องราวของตัวเอง คุณจะเลือกใช้มุมมองไหน? อะไรคือความแตกต่างระหว่างมุมมองเหล่านั้น? แล้วมุมมองมีผลต่อเรื่องราวอย่างไร? ทำไมมุมมองบุคคลที่สามจึงเป็น มุมมองยอดนิยม

การเลือกมุมมองเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ แม้ว่าในตอนแรกจะมองไม่เห็นความแตกต่าง มุมมองทั้งสองรูปแบบสามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องราว และโทนของเรื่องที่จะเล่าได้ ดังนั้นจงใช้เวลาและตั้งใจในการเลือกมุมมองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเรื่องราวที่คุณต้องการจะเล่า

ถ้าคุณยังลังเลในการตัดสินใจเลือกมมุมมอง ขอให้คุณลองย้อนกลับไปในบทที่ผ่านมา คู่มือเกี่ยวกับมุมมอง ในส่วนของมุมมอง บุคคลที่ 1 ทำให้ผู้อ่านใกล้ชิดตัวละครในเรื่อง ในทางกลับกัน มุมมอง บุคคลที่ 3 จะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยระยะการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันออกไป นักอ่านส่วนใหญ่คุ้นเคยกับมุมมองบุคคลที่ 3 อยู่แล้ว สรรพนามที่ใช้ในการเล่าเรื่องคือ เขา เธอ พวกเขา หรือสรรพนามบุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางทางเพศที่ใหม่กว่านี้ 

ในการบรรยายด้วยบุคคลที่สาม ผู้บรรยายมักจะเป็น ‘ผู้สังเกตการณ์ที่ไม่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น’ (อ้างอิงจาก อ็อกซ์ฟอร์ด) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้บรรยายเป็นผู้สังเกตการณ์และรายงานเหตุการณ์หลักของเรื่อง

เขานั่งอยู่ในร้านอาหาร “ทำไมอาหารที่สั่งมาช้าจัง” เขาคิดในใจ

ในฐานะนักเขียน คุณสามารถโฟกัสไปที่ตัวละครแต่ละตัว โดยใช้บุคคลที่สามแบบจำกัดมุมมอง หรือมุมมองพระเจ้า ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องราวที่คุณต้องการเขียนเป็นอย่างไร ในโพสต์ต่อไป เราถึงจะมาลงลึกทุกแง่มุมสำหรับ มุมมองบุคคลที่ 3 แบบจำกัดมุมมอง และมุมมองพระเจ้า

อย่างไรก็ตาม ในโพสต์นี้เราจะปูพื้นฐานถึงสิ่งจำเป็นที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ มุมมอง บุคคลที่ 3 และวิธีการเขียน โดยเน้นไปที่สไตล์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน

ข้อดีของ มุมมอง บุคคลที่ 3 

บุคคลที่สามเป็นรูปแบบการเล่าเรื่องที่คลาสสิก ย้อนหลังไปถึงยุคของโฮเมอร์ นอกจากการมีประวัติอันยาวนานและน่าสนใจ มุมมองบุคคลที่สามยังมีประโยชน์มากมายสำหรับการเล่าเรื่องสมัยใหม่ นี่คือเหตุผลในการเขียนด้วยบุคคลที่สาม

มุมมอง บุคคลที่ 3 Third Person Point of View
Third Person Point of View: Limited and Omniscient

วิธีเลือก มุมมอง บุคคลที่ 3

กรุณาตอบคำถามเหล่านี้:

  • ใครเป็นผู้เล่าเรื่อง เรื่องราวเหล่านั้นเป็นของใคร?
  • อะไรคือสิ่งที่ทำให้งานเขียนของคุณสะดวกขึ้น?
  • คุณกำลังเขียนงานประเภทใด?
  • นี่เป็นนวนิยายเรื่องแรกของคุณ และเป้าหมายคือการตีพิมพ์ตามปกติใช่หรือไม่?

คำตอบ

ถ้าเป้าหมายของคุณคือการตีพิมพ์นวนิยาย เพื่อวางขายตามปกติในร้านหนังสือ และหวังให้มีคนอ่านจำนวนมาก หรือเกิดแฟนหนังสือจำนวนนึง ติดตามงานเขียนเรื่องต่อไป คุณควรเริ่มต้นการเขียนด้วยมุมมอง บุคคลที่ 3  แบบจำกัดมุมมอง (หรือ บุคคลที่ 1) สำนักพิมพ์ หรือตัวแทนนักเขียนไม่ค่อยเต็มใจที่จะพิจารณาผลงานที่เขียนด้วย บุคคลที่ 2 หรือบุคคลที่สาม แบบมุมมองพระเจ้า อย่าลืมว่าสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในตัวนักเขียนใหม่ หากคุณต้องการลองใช้ มุมมองพระเจ้า ให้ทำในช่วงเวลาที่จำกัด เช่น เริ่มต้นบทแรก เพื่ออธิบายสภาพแวดล้อม ราวกับภาพมุมกว้างในภาพยนตร์ การเขียนบทแรกด้วยมุมมองพระเจ้าสามารถทำงานได้ดี ส่วนมุมมองที่สอง คุณลองย้อนกลับไปอ่าน มุมมองการเขียน บุคคลที่ 2 ควรใช้ เมื่อใด

บุคคลที่สาม แบบจำกัดมุมมอง แม้จะสร้างโอกาสได้ง่ายกว่า (แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว) ที่จะเขียนออกมา แน่นอนว่า POV แบบจำกัดมุมมองเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันและคุณจะมีโอกาสน้อยที่จะเสี่ยงกับการสลับเล่าตัวละครแต่ละตัวไปมา แต่ข้อผิดพลาดแบบนี้ยังสามารถแก้ไขได้ง่ายเมื่อเขียนด้วยมุมมองนี้

มุมมองการเขียน มุมมอง บุคคลที่ 3 มีกี่แบบ

คำถามนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจมากกว่า “มุมมองการเขียนคืออะไร” เสียอีก แน่นนอนมุมมองการเขียนไม่ได้มีแบบเดียว มุมมองการเขียนยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น ถ้าไม่มีมุมมองการเล่าเรื่อง ก็ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวตัวละครนั้นได้ โชคดีที่ตัวละครของคุณที่เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องมี POV ในการบอกเล่าเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็น POV ไหน

มุมมองตัวละครแต่ละตัวมีความแตกต่างกัน เหมือนชีวิตคุณจริงๆ ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะมาจากเดียวกัน เป็นพี่น้องคลานตามกันออกมา แต่ละคนแตกต่างทั้งรูปร่าง หน้าตา ลักษณะ นิสัย แม้แต่ฝาแฝดยังบอกกับทุกคนว่า “ฉันไม่เหมือนเขา” หากคุณเปลี่ยนมุมมองในแต่ละบท ผู้อ่านจะต้องทราบในทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเหลียวดูชื่อบทหรือชื่อตอน แต่ถ้าคุณทำให้ตัวละครแต่ละตัวของคุณเหมือนกันหมด ผู้อ่านก็จะสับสน จนอดทนอ่านเรื่องที่คุณเขียนต่อไปไม่จบ

หากคุณกำลังเขียนมหากาพย์แฟนตาซี หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ คุณอาจต้องมีตัวละคร POV ในทุกสถานที่ที่สำคัญ สิ่งนี้จะทำให้ผู้อ่านอยู่ในสถานที่ต่างๆ และพวกเขาจะเข้าใจถึงขอบเขตของเรื่องราว หลังจากที่คุณสร้างโลกนิยายขึ้นมา คุณสามารถเลือกใช้บุคคลที่สามแบบจำกัดในการเล่าเรื่อง

จงระลึกเสมอว่าการเลือกมุมมองการเล่าเรื่องนั้นสำคัญอันดับต้นๆ เลือกอย่างชาญฉลาด และจำไว้ว่า ‘น้อยแต่มาก’

เรียนรู้เพิ่มเติม: มุมมองการเขียน : คู่มือในการเลือกทุกมุมมอง พร้อมตัวอย่าง

เคล็ดลับในการใช้ มุมมอง บุคคลที่ 3 ในงานเขียน

แม้ว่าคุณจะเคยเขียนด้วยบุคคลที่สามมาก่อน แต่มีบางสิ่งที่ควรทราบเพื่อปรับปรุงการเขียนให้ดีขึ้น หัวข้อต่อไปนี้จะเป็นวิธีเขียนคำบรรยายที่ไหลลื่น และดึงดูดใจผู้อ่าน โดยเน้นมุมมอง บุคคลที่ 3 แบบจำกัดมุมมอง เนื่องจากปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้มากที่สุด

เลือกมุมมองของตัวละครอย่างชาญฉลาด

มุมมองบุคคลที่สามจำกัดมุมมองทำให้คุณต้องบรรยายตัวละครทุกตัว แม้จะได้ไม่ได้เลือกเป็นตัวหลัก แต่ข้อมูลของพวกเขามีประโยชน์อย่างมากในการบรรยายของคุณ ดังนั้นก่อนที่คุณจะเริ่มเขียนด้วยมุมมองนี้ จำเป็นต้องเลือกตัวละครอย่างระมัดระวัง

บางครั้งตัวละครเอกในมุมมอง บุคคลที่ 1 อาจจะโดนตัวละครรองขโมยซีน เช่น นิค ใน The Great Gatsby  หรือ วัตสัน ใน Sherlock Holmes แต่ในบุคคลที่ 3 ตัวละครจะนำไปสู่ระยะห่างโดยตัวมันเอง คุณจึงไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ในกรณีที่คุณต้องการทำให้ตัวละครรองโดดเด่นขึ้นมา คุณสามารถ “โฟกัส” ตัวละครนั้นโดยตรง

ในอีกกรณี สมมติว่าคุณมีตัวเอกหลายตัว หรือตัวรองที่สำคัญหลายคน คุณใช้วิธีจำกัดมุมมองให้เหลือเพียงจุด “โฟกัส” เดียว หรือเปลี่ยนสลับการบรรยายตัวละครทั้งหลายไปทีละตัว เรียงตามลำดับความสำคัญ

มุมมองยอดนิยม บุคคลที่ 3

คำถามที่จะเป็นตัวช่วย เมื่อต้องการเขียนด้วย มุมมอง บุคคลที่ 3

  • เรื่องราวของเรื่องเกิดจากตัวละครเดียว หรือตัวละครอื่นหลายตัวที่มีความสำคัญเท่าๆ กัน
  • มีฉากสำคัญที่ไม่มีตัวเอกร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนั้น แสดงว่าคุณใช้เทคนิคที่มีจุดประสงค์ เช่นพล็อตเรื่องเปิดเผยการหักหลังของเพื่อน หรือไม่ก็เรื่องราวไม่สมดุลย์
  • คุณต้องการให้คนอ่านทราบถึงความคิดตัวละครของกันและกันหรือไม่ นี่เป็นวิธีที่นักเขียนนิยายรักๆ ใคร่ๆ ชื่นชอบ ผู้เขียนมักจะเปลี่ยนมุมมอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวละครต่างตกหลุมรักกันและกันได้อย่างไร
  • สุดท้ายคุณต้องรู้ว่าอยากเขียนแบบไหน อยากทำอะไร ตัวเลือกใดก็ตามที่โน้มเอียงไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะใช้ตัวละครตัวเดียว สองตัว หรือหลายตัว สิ่งนั้นมักจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในนิยายของคุณ แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น คุณยังสามารถแก้ไขได้

เจาะลึกเข้าไปในกระแสสำนึก

เมื่อกล่าวถึงนวนิยายที่เขียนด้วยบุคคลที่สาม สิ่งสำคัญคือ คุณรู้จักตัวละครหลักดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสร้างสัมพันธ์ ความใกล้ชิด เหมือนกับการเขียนด้วยบุคคลที่หนึ่ง แต่อย่างไรก็ดีไม่ใช่เหตุผลที่คุณจะไม่สร้างโปรไฟล์ของตัวละครหลัก หรือตัวละครทั้งหมดในเรื่องของคุณ

หลังจากที่คุณสร้างโปรไฟล์ตัวละคร คุณมีตัวละครหลักตัวเดียวในมุมมองที่สาม ต่อจากนั้นให้ดำดิ่งเข้าไปในความคิด ความเชื่อ ความกังวล ความรู้สึก และนิสัยใจคอของพวกเขาอย่างเต็มที่ อาจจะต้องใช้จินตนาการบ้าง แต่ในไม่ช้าคุณจะเชี่ยวชาญ เข้าใจ รู้สึกในสิ่งที่พวกเขาคิด ไตร่ตรอง มองเห็น ทั้งในชีวิตประจำวัน และความรู้สึกที่พวกเขาแสดงออก นั่นจะทำให้มุมมองบุคคลที่สามของคุณมีความน่าดึงดูดใจ

หากคุณมีตัวละครมุมมองบุคคลที่สามหลายตัว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ ต้องทำให้ตัวละครเหล่านั้นมีความแตกต่าง สร้างลำดับความสำคัญ สร้างกระบวนการคิดในแต่ละบุคคลให้แตกต่างกัน และสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อการบรรยาย สิ่งหนึ่งที่ตัวละครตัวหนึ่งชอบ อีกตัวอาจจะเกลียด หรือไม่สนใจ การสร้างสถานการณ์ให้เกิดผลสูงสุดก็คือการจับคู่ความแตกต่างนั้นเข้าด้วยกัน

แน่นอนว่าคุณสามารถใช้เวลาจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างตัวละครแต่ละตัวขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณจะใช้ตัวละครหลายตัวเป็นตัวดำเนินเรื่อง วิธีที่ดีที่สุดคือทำความเข้าใจตัวละครเหล่านั้น ให้ความสำคัญแต่ละตัว และแสดงให้เห็นว่าตัวละครเหล่านั้นมีความน่าสนใจอย่างไร

บุคคลที่ 3 Flowers for Mrs. Harris

นิยายเรื่อง Flowers for Mrs. Harris เขียนโดย Paul Gallico มิสซิสแฮรีสเป็นแม่บ้านรับใช้ ทั้งวันยุ่งอยู่กับการปัดกวาดถูบ้าน ล้างถ้วยชาม ให้กับนายจ้างของเธอที่รักชอบเสื้อผ้าจากสำนัก ‘ดิออร์’ อันแสนหรูหรา แม้จะไม่เข้ากับตัวเจ้านายเธอเลยก็ตาม การที่ต้องเดินทางไปนครปารีส มิสซิสแฮรีสต้องเผชิญหน้ากับบุคคลหลากหลายฐานะหลากหลายทัศนคติ เป็นการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิตในนิยายแสดงให้เห็นว่าหญิงรับใช้ร่างเล็กคนนี้จจะสามารถเอาชนะการดูถูกหมิ่นแคลน และการตัดสินของมนุษย์ที่มักมองคนอย่างผิวเผินได้อย่างขาวสะอาดได้อย่างไร

แสดงให้เห็น แต่ไม่เปิดเผยโดยตรง

ในขณะที่คุณกำลังเขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครบุคคลที่สาม สิ่งที่ต้องทำให้แน่ใจก็คือ คุณได้บรรยายในแบบ “แสดงแต่ไม่บอก” เมื่อใดก็ตามที่คุณกำลังอธิบายรายละเอียดของตัวละคร หรือเขียนถึงประสบการณ์ของพวกเขา โดยพื้นฐานแล้วคุณต้องบรรยายด้วยสีสันทางภาษา ใช้กลวิธีดึงดูดผู้อ่านมากกว่าที่จะใช้วิธีสรุป เหมือนการกรอกข้อความในใบสมัครงาน อย่าทำแบบนั้น

มาดูตัวอย่างความแตกต่างกัน “ประยุทธต่อสู้กับประวิทย์ ประยุทธชนะ” ฉากต่อสู้ที่บอกผลเหมือน LiveScore ทำให้คุณรู้ผลแค่ใครยิงนำ ใครยิงประตู นาทีที่เท่าไหร่ ไม่มีไฮไลต์ ไม่มีภาพ ขาดจินตนาการ แต่การบรรยายที่มีสีสันช่วยให้น่าตื่นเต้นกว่าเช่น “ประวิทย์แม้จะดูอ่อนแอ แต่เขามีลูกเล่นแพรวพราว ประยุทธหายใจหอบ เขารู้ว่าตัวเองแข็งแกร่งก็จริง ถ้าต้องการพิชิตประวิทย์ เขาต้องเล็งหมัดให้โดนจุดสำคัญ ประยุทธใช้เวลาหลอกล่ออยู่นาน ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ หมัดตรงเป้าเร็วราวกับลูกธนู เสียงกรีดร้องในลำคอเล็ดลอดออกมา ประยุทธเอาชนะเจ้าแห่งเล่ห์กลได้ด้วยหมัดตรง” 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ พยายามอย่าใช้ภาษาที่มองผ่านแว่นกรองของบุคคลมากเกินไป เพื่ออธิบายประสบการณ์ของตัวละคร คุณอาจจะโดนล่อลวงให้เขียนรูปแบบนี้ ตัวอย่างเช่น

“เมื่อปวีณามองออกไปนอกหน้าต่าง เธอสังเกตว่าดวงอาทิตย์กำลังลับฟ้า เธอแลเห็นริ้วสีส้มเคล้าชมพูแทรกตัวบนปุยเมฆ ท้องฟ้าเวลานั้นทำให้เธอคิดถึงแม่ที่กำลังถักทอผ้าพันคอให้เธอ”

เมื่อเราปรับจูนตัวละครหลักแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเขียนด้วยภาษาเช่น “เธอสังเกตเห็น”, “เธอเห็น” และ “เธอคิด” มันสร้างอุปสรรคระหว่างผู้อ่านกับตัวละคร การปรับปรุงภาษาเล็กน้อยช่วยทำลายสิ่งกีดขวางนั้นหายไป และทำให้ฉากนั้นสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้นมาในทันที

“ปวีณามองออกไปนอกหน้าต่าง พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า สีส้มเคล้าชมพูแทรกตัวบนปุยเมฆ ทำให้เธอคิดถึงแม่ที่กำลังถักทอผ้าพันคอให้เธอ”

Franz Kafka

‘เมตามอร์โฟซิส’ หรือ Die Verwandlung โดย Franz Kafka เป็นวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงโลกภายในของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี นักวิจารณ์วรรณกรรมส่วนใหญ่ตีความนวนิยายเรื่องนี้แตกต่างกัน แต่ที่เห็นพ้องต้องกันก็คือ การกลายเปลี่ยนทางร่างกายของเกรกอร์ตัวเอกในท้องเรื่อง เป็นสัญลักษณ์ของความต้องการมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวของคาฟก้า เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าชีวิตของนักประพันธ์กับตัวละครมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าทางด้านการงานที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเดินทาง และติดต่อผู้คน ปัญหาทางด้านการเงินของครอบครัว รวมถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างคาฟก้า กับออทลา คล้ายคลึงความสัมพันธ์ของเกรกอร์กับเกรเทน้องสาวของตน

บทสนทนาใน มุมมอง บุคคลที่ 3

โดยปกติถ้าคุณจะพูดถึงตัวเอง ส่วนใหญ่เราจะสนทนาด้วย บุคคลที่ 1 แต่ถ้าคุณใช้บทสนทนาด้วยบุคคลที่ 3 ทุกครั้งมันจะกลายเป็นเรื่องประหลาด คุณอาจจะทำได้ในบางครั้งเพื่อสร้างมุกตลก หรือดึงดูดความน่าสนใจ

“เที่ยงนี้เราไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือหน้าปากซอยกันไหม ของโปรดของสิรินดาเลยล่ะ” เจนพูด

“ไม่นะ สิรินดาเกลียดก๋วยเตี๋ยวเรือจะตายไม่ใช่หรือ ผมว่าสิรินดาชอบส้มตำมากกว่า” เสรีร้องขัด

“โอเค งั้นสิรินดาจะลงคะแนนว่าจะกินอะไรได้ไหม” สิรินดายักไหล่

Head Hopping
อะไรคือ Head Hopping

หลีกเลี่ยง Head Hopping

อะไรคือ Head Hopping

มุมมองบุคคลที่สามมีเรื่องราวเกิดขึ้นในหลายแง่มุม หลายตัวละคร บางเทคนิคคุณใช้มุมมองแบบจำกัดให้กับตัวละครอื่นๆ ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกเสมอคือ การเปลี่ยนมุมมองเล่าเรื่องจากตัวละครหนึ่งไปสู่อีกตัวละครหนึ่งอย่างกระทัน อาจจะทำให้ผู้อ่านสับสน นั่นคือ Head Hopping

เป็นเรื่องยากมากที่ผู้อ่านจะตามคุณทัน เมื่อคุณกระโดดอย่างรวดเร็วจากตัวละครหนึ่งไปตัวละครหนึ่ง บางครั้งผู้อ่านจำเป็นต้องหยุด เพื่อกลับไปอ่านทบทวนในประโยคที่ผ่านมา เพื่อประมวลผลว่าตัวละครนี้กำลังทำอะไร คิดอะไร ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขาล้มเลิกการอ่านหนังสือของคุณก็เป็นได้ บางครั้งคุณอาจจะเคยได้ยินนักอ่านพูดว่า “ฉันเข้าไม่ถึง” นั่นแสดงว่านักอ่านกำลังสับสน หรือเวียนหัว

สำหรับนักเขียนใหม่บางคนมักเข้าใจผิด หรืออาจสับสน คิดว่า Head Hopping เป็นสิ่งเดียวกับ “บุคคลที่สาม มุมมองพระเจ้า” หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่เป็นความจริง มุมมองพระเจ้า เป็นการเล่าเรื่องจากมุมมองหนึ่ง ผู้บรรยายไม่ควรบอกความคิดและความรู้สึกของตัวละครทั้งหมดหรือตัวละครใดๆ ให้เราทราบ

มุมมองพระเจ้า ผู้บรรยายเผยให้เราเห็นว่าตัวละครรู้สึกอย่างไรผ่านการกระทำและบทสนทนา ไม่ใช่โดยการกระโดดเข้าไปในหัวของตัวละคร เรื่องราวเล่าผ่านมุมมองของผู้บรรยาย เหมือนผู้บรรยายเป็นตัวละคร

ลักษณะการเขียนแบบHead Hopping

เสรีขมวดคิ้วกับจดหมาย เขาถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทในสิ่งที่เขาไม่ได้เขียนด้วยซ้ำ เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอนุพงศ์มองจากอีกฟากหนึ่งของห้อง เขาสะกดไม่ให้ตัวเองตื่นตระหนก เสรีจะรู้หรือไม่ว่าบัญชีเฟซบุ๊กของเขาถูกแฮ็ก คนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้คืออนุพงศ์เสรีมึนงงเป็นอย่างมาก เมื่อเขาจัดการกับหมายเรียกเสร็จแล้ว กลับมาทบทวนสิ่งที่โพสต์ สมองของเขาบีบอย่างรุนแรง เขาจำอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโพสต์อะไรลงไป

อันดับแรกเรารู้ว่าเสรีคิดอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ แต่แล้วเรื่องก็เปลี่ยนไปที่อนุพงศ์ ซึ่งเราไม่ควรรู้ว่าเขาคิดหรือรู้สึกอย่างไร “เขาสะกดไม่ให้ตัวเองตื่นตระหนก” จึงเป็นการกระโดดไปที่การแสดงความคิดของอนุพงศ์ จากนั้นเหตุการณ์ก็ย้อนกลับไปที่เสรีอีกครั้ง สับสนใช่ไหม มุมมองแบบจำกัดไม่ควรเกิดการบรรยายแบบนี้ขึ้นในนิยาย เราควรจะทำให้ผู้อ่านเห็นอาการของอนุพงศ์ผ่านสายตาของเสรีมากกว่า นี่คือเหตุผลที่คุณควรค่อยๆ โฟกัสบุคคลที่สามไปทีละตัวในแต่ละฉาก โดยแบ่งลำดับความสำคัญตัวละครให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นบททั่วไป หรือบทที่ไม่สำคัญมากนัก

แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถทำให้ตัวละครอื่นที่กำลังประสบอะไรบางอย่าง ขณะที่ตัวละครอีกตัวกำลังคิดบางอย่างอยู่ในหัวไปพร้อมๆ กันได้ เพียงแต่คุณต้องอิงสิ่งที่ตัวละครนั้นมองเห็น จากตัวอย่างด้านบน คุณสามารถปรับมุมมองของเสรีไปเป็นอีกแบบ ดังตัวอย่างข้างล่าง

เสรีขมวดคิ้วกับจดหมายที่ได้รับ เขาโดนฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาทในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำ เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่เขาอ่านสำนวนฟ้องที่ส่งมา เขารู้สึกว่าสายตาของอนุพงศ์มองมาที่เขาจากอีกฟากหนึ่งของห้อง เสรีคิดว่าอนุพงศ์เพื่อนของเขายืนด้วยท่วงท่าแข็งทื่อ แต่เมื่อเงยหน้าขึ้นมา อนุพงศ์ดูงงงวยเหมือนที่เสรีกำลังเป็น

เวอร์ชันนี้ให้ผลที่คล้ายคลึงกัน ทำให้อนุพงศ์ดูน่าสงสัย โดยไม่ต้องสลับไปเล่าถึงความคิดภายในของอนุพงศ์โดยตรง อาจเป็นไปได้ในบทถัดไปคุณอาจให้อนุพงศ์ทนทุกข์กับสิ่งที่เขาทำกับเสรี และวางแผนถึงขั้นต่อไปในบทที่จะถึง แต่อย่าขัดจังหวะฉากที่กำลังเกิดขึ้นของเสรี

Third Person Point of View

ในขณะโรเบิร์ต แลงดอน นักสัญลักษณ์แห่งฮาร์วาร์ดมีภารกิจในนครปารีส เขาได้รับโทรศัพท์สายด่วนกลางดึก ฌาคส์ โซนิแยร์ ภัณฑารักษ์ผู้สูงอายุของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ถูกฆาตกรรมภายในพิพิธภัณฑ์ ใกล้ศพตำรวจพบรหัสลับที่ทำให้งุนงง ในการไขปริศนาอันลึกลับนี้ แลงดอนต้องตะลึงเมื่อพบว่ามันนำไปสู่ร่องรอยเบาะแสที่ซ่อนอยู่ในผลงานของดาวินชี…เบาะแสที่ทุกคนมองเห็นได้…และจิตรกรยังปกปิดมัน

นิยายเรื่อง รหัสลับดาวินซี เขียนโดย Dan Brown ค่อยๆ แนะนำตัวละครทีละตัวตั้งแต่บทนำ ฉากเปิดเรื่องที่ฌาคส์ โซนิแยร์ ถูกสังหาร ต่อด้วยบทที่หนึ่งแนะนำ โรเบิร์ต แลงดอน ที่ถูกปลุกขึ้นกลางดึก ต่อด้วยบทที่สองแนะนำ เจ้าคนเผือกฉายาสิลาสเดินเขยกผ่านประตูอาคารที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ เราจะเห็นได้ว่าแดน บราวน์ ค่อยๆ โฟกัสตัวละครของเขาทีละตัว โดยไม่ทำให้ผู้อ่านสับสนทั้งเรียงลำดับเหตุการณ์และตัวละครอย่างมีนัยสัำคัญต่อตัวเรื่องซึ่งเป็นแนวสืบสวน

แน่นอนว่ามีวิธีบอกเล่าเรื่องราวในมุมมองของบุคคลที่สามมีมากกว่าหนึ่งวิธี ในบทนี้เราเพียงปูพื้นฐานให้มองเห็นภาพกว้างๆ ของการใช้มุมมองบุคคลที่สามในรูปแบบต่างๆ ในบทถัดไปเราจะลงลึกถึง มุมมมอง บุคคลที่ 3 แบบจำกัดมุมมอง และต่อด้วย มุมมองพระเจ้า โปรดติดตามในโพสต์ถัดไปเพื่อศึกษาอย่างละเอียด

แบบฟอร์มทดสอบการเลือกมุมมองการเขียน

ถ้าคุณกำลังเขียนนวนิยาย และยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกมุมมองการเขียนใด เรามีบททดสอบให้คุณได้ทดลองทำก่อนตัดสินใจ บททดสอบนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าคุณชอบมุมมองใดเป็นพิเศษ และจะสามารถวางแผนในการเขียนได้ดีขึ้น

มุมมองไหนที่เหมาะกับนวนิยายที่คุณกำลังเขียน
Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *