7 วิธี การเขียนเรื่องสั้น : How to Write a Short Story

เพื่อเริ่มต้น การเขียนเรื่องสั้น นี่คือ 6 เทคนิคการเขียน ในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้ผู้อ่านสามารถลงมือเขียนได้อย่างมั่นใจและทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุด
How To Write a short story

จากประสบการณ์เขียนและบรรณาธิการมากว่ายี่สิบปี ผมขอนำเสนอ 7 วิธี การเขียนเรื่องสั้น รวมถึง เทคนิคการเขียน ตัวอย่างเรื่องสั้น ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เข้าใจถึง องค์ประกอบของเรื่องสั้น และเริ่มต้นการเขียน เรื่องสั้น ได้อย่างมั่นใจรวดเร็ว แต่ก่อนอื่นผมอยากให้ย้อนกลับไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ เพื่อปูพื้นฐานให้ทราบว่า เรื่องสั้นคืออะไร ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจแลจะสามารถเรียนรู้วิธีการเขียนได้เร็วขึ้น

“เรื่องสั้น” เป็นประเภท “เรื่องแต่ง” ที่ใช้เวลาน้อยที่สุด แต่อาจจะทำให้นักเขียนประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุด และสำหรับผู้เริ่มต้น หรือมีความตั้งใจที่จะยึดอาชีพนักเขียนในอนาคต ผมคิดว่านี่เป็นบทความที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าผู้อ่านอาจจะมีพื้นฐานการเขียนมาบ้างแล้ว แต่บทความชิ้นนี้จะช่วยให้เสริมพื้นฐานให้แน่นขึ้น เมื่อลงมือเขียนแล้วพบอุปสรรค บทความนี้จะช่วยแก้ปัญหา นอกจากนั้นยังช่วยจุดประกายความคิดให้ไหลลื่นขึ้นอีกด้วย 

การเขียนเรื่องสั้นเป็นศาสตร์และเป็นศิลป์ แม้แต่นักอ่านที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะเริ่มเขียนเรื่องสั้นได้อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้อ่านกำลังมองหาวิธีเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้น ไม่ว่าจะส่งไปให้หน้านิตยสารพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ ส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณารวมเป็นเล่ม เขียนเพื่อส่งชิงรางวัล เขียนส่งอาจารย์ หรือเพียงแค่ให้ผู้อ่านสักคนประทับใจ ผมพอมีคำตอบ ด้วย 7 วิธีง่ายๆ ที่สามารถเปลี่ยนหน้ากระดาษที่ว่างเปล่า ให้กลายมาเป็นเรื่องสั้นชิ้นสำคัญ

1.เขียนในสิ่งที่รู้

ก่อนที่จะเริ่มเขียนอะไรสักอย่างบนหน้ากระดาษ ต้องมีไอเดียดีๆ หรือหัวข้อที่จะเขียนอยู่ในหัว หรือสิ่งที่น่าสนใจที่จดอยู่ในสมุดบันทึก นักเขียนบางคนมีความสามารถที่จะดึงเรื่องราวดีๆ ที่อยู่ในอากาศอันว่างเปล่าออกมาเขียนได้อย่างน่ามหัศจรรย์ แต่นั่นไม่ใช่ทุกคน พวกเขาไม่ใช่นักเขียนวิเศษมาจากไหนไม่ต้องกลัว เคล็ดลับก็คือ ไอเดียที่ว่างเปล่านั้นไม่ได้หายากจนคิดไม่ออก ไอเดียที่ว่านี้ก็คือ “เรื่องที่รู้” หรือ”สิ่งที่เห็น” การเขียนเรื่องที่รู้จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งหลายลื่นไหล และช่วยให้การระดมความคิดในการวางโครงสร้างเรื่องไม่ยากจนเกินไป

ทำไมเรื่องที่รู้ ถึงสำคัญอันดับต้น เพราะมันจะช่วยไม่ให้การเขียนไขว้เขวต่อขอมูลที่จะเขียน นักเขียนมือใหม่อาจสงสัยว่าสิ่งที่เรารู้จะน่าสนใจขนาดนำมาเขียนได้ไหม ข้อนี้คือส่วนสำคัญ เพราะนั่นคือหน้าที่ของนักเขียน เรามาดูว่าจะเริ่มกันอย่างไรกับสิ่งที่คุณรู้

การเขียนเรื่องสั้น

เริ่มต้นที่ตัวละคร หรือฉากที่น่าสนใจ

โดยธรรมชาติของเรื่องสั้นจะมีขนาดความยาวน้อยกว่านวนิยาย เรื่องสั้นสร้างแรงกดดันให้ตัวละครน้อยกว่านวนิยาย การเขียนเรื่องสั้นจึงมุ่งไปที่เหตุการณ์เดียว ตัวละครหลักไม่กี่ตัว และสร้างประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวเสมอ ข้อนี้ต้องจับให้มั่น ไม่ต้องคิดซับซ้อน เล่าเรื่องอย่างง่ายๆ อาจจะมุ่งไปที่ตัวละครตัวเดียวหรือสองตัว ที่มีความสัมพันธ์กันในรูปแบบต่างๆ หรือเน้นไปที่ฉาก เมื่อเริ่มเขียน อาจจะเริ่มต้นจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่เหตุการณ์หนึ่งในทันที โดยเรียงลำดับขั้นเหตุการณ์อย่างง่ายๆ เช่นจาก ฉากที่ 1 ไปสู่ ฉากที่ 2 และจบที่ฉาก 3 โดยไม่มีการสลับเหตุการณ์ใดๆ เป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบคลาสสิก จุดเริ่มต้น กลางเรื่อง และบทสรุป  

ผมขอยกตัวอย่างเรื่องสั้น ล่องหน ของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวละครตัวหนึ่ง ที่สูญเสียแม่ เธอปิดกั้นตัวเองจนมองไม่เห็นคนอื่น ตัวละครเอกมีอาการซึมเศร้า เรื่องสั้นเล่าเรื่องความสัมพันธ์ประเด็นเดียวไม่ซับซ้อน ที่ค่อยๆ เปิดเผยรายละเอียดของเรื่องไปช้าๆ ทีละย่อหน้า จนขมวดปมในตอนจบ

ในขณะที่เรื่องสั้น เรื่องเล่าไม่มีชื่อ ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา มีตัวละครมากกว่าสองตัว และเรื่องราวก็มีความสลับซับซ้อนในแง่อารมณ์ และห้วงเวลา แต่ตัวเรื่องก็จำกัดตำแหน่งของสถานที่ที่เป็นฉากเอาไว้ได้อย่างตราตรึง เรื่องสั้นทั้งสองเรื่องเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้คุณเห็นว่าการเขียนเรื่องสั้นนั้นสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วย “ตัวละคร” หรือ “ฉาก” ซึ่งนำไปสู่รายละเอียดของตัวเรื่อง จากตัวละครกลายเป็นพล็อต จากฉากกลายเป็นโครงเรื่อง และทั้งหมดเริ่มต้นง่ายๆ จากสิ่งที่คุณประสบมาในชีวิต

ตัวละครสามารถนำเรื่องราวของคนครอบครัวมาใช้ เรื่องเล่าของเพื่อน หรือคนข้างบ้าน นี่คือสิ่งที่คุณรู้ ประสบการณ์ตรงคือข้อมูลชั้นต้นชั้นดี เพียงแต่หาแง่มุมที่จะเล่า หรือต้องการนำเสนอเรื่องราวแบบไหนให้คนอ่านได้อ่าน

เกร็ดชีวิตคือต้นทุนชั้นหนึ่ง

ถ้าต้องสร้างตัวละครที่มีชีวิตขึ้นมาสักตัว ประสบการณ์จริงคือข้อมูลชั้นหนึ่ง “เขียนในสิ่งที่รู้” นี่คือคำขวัญสุดคลาสสิกที่จะได้ยินจากนักเขียนทุกคนแนะนำ แม้ว่าชีวิตของเราจะไม่เคยใช้ชีวิตแบบเทพนิยายมหากาฟย์มาก่อน เช่น ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ไปจนถึง อลิซในแดนมหัศจรรย์ หรือมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับ คนไข้หมายเลข 23 ตัวละครผู้เป็นเสียงเล่าในเรื่อง ขัปปะ ตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่น แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตสามารถสร้างพื้นฐานในเรื่องสั้นได้ง่ายๆ เช่นอาจจะนำประสบการณ์ตลกๆ ที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงวันแต่งงานเพื่อน หรือญาติ มาเล่าใหม่ โดยเริ่มต้นจากจินตนาการของเรา โดยทำให้เรื่องราวเหล่านั้นสนุก และน่าสนใจ

แอบฟัง และ Spy

ตำนานที่เราได้ยินบ่อยๆ นักเขียนคนนี้ คนนั้น ชอบไปนั่งตามร้านกาแฟ เจ.เค. โรวว์ลิง ก็ไปเขียนหนังสือในร้านกาแฟตอนที่ยังไม่ดัง พวกเขาคงไม่ได้ไปนั่งดื่มกาแฟเฉยๆ เพื่อชิมเอสเพรสโซรสชาติเยี่ยมราวผลไม้สุก หรือ แอบชอบพนักงานเสิร์ฟ แน่นอนพวกเขาไปทำงานเขียน และเก็บข้อมูล มันดูเหมือนพวกนักสืบในหนังอาชญากรรมหรือเปล่า อาจะไม่ใช่ นักเขียนควรสร้างไหวพริบหนึ่งขึ้นมาคือ คอยเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้คนคน สังเกต จดจำ จดบันทึก วิเคราะห์สิ่งที่น่าสนใจ บางทีเรื่องที่ดูไร้สาระอาจะเป็นประโยชน์ในภายหลังก็ได้ ฟังดูไม่ค่อยไพรเวซี แต่นั่นคือหน้าที่ของนักเขียน

ถ้าไม่ชอบไปร้านกาแฟ คุณป้าข้างบ้านก็เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี คุณลองบอกว่าคุณเป็นนักเขียนดูสิ ร้อยทั้งร้อยพวกเขาอยากเล่าชีวิตให้นำไปเขียนเป็นหนังสือ ประสบการณ์ที่พวกเขาเล่าเป็นประโยชน์ พวกเขาอยากจะเล่าประสบการณ์มันๆ ให้ฟังอย่างไม่รู้จักเบื่อ นี่คือข้อมูลชั้นดีเพื่อนำไปเขียน เรื่องราวเหล่านั้นช่วยประกอบโครงสร้างของเรื่องสั้นได้อย่างมหัศจรรย์ โดยไม่จำเป็นต้องปั้นแต่ง หรือใช้จินตนาการทั้งหมด บางครั้งอาจจะใช้สิ่งที่ได้ยินมาแต่งเรื่องต่อไป แม้ฟังดูโหดร้ายกับเจ้าของเรื่อง แต่นักเขียนคือผู้บอกเล่าเรื่องราว ไม่ใช่นักศีลธรรม และทั้งหมดของการสปายคือ ต้องจดทุกอย่างลงในบันทึก เพราะมันอาจจะสูญหายไปเหมือนอากาศถ้าปล่อยไปนานๆ

ไม่ใช่แค่ชีวิตของเราจะเป็นแรงบันดาลใจ แต่ชีวิตของคนอื่นต่างก็มีอะไรพิเศษ เรื่องราวของเพื่อน ของป้า ของใครต่อใครหลายคนคือวัตถุดิบชั้นดี

เทคนิคการเขียน ไอแซก ไดนิเสน
ไอแซก ไดนิเสน

อ่านหนังสือที่คุณชอบ

หากยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเขียนอย่างไร มืดแปดด้านไปหมด สิ่งที่ต้องทำอาจจะกลับไปสู่จุดเริ่มต้น อะไรที่ทำให้เราอยากเป็นนักเขียน ไปเริ่มที่จุดนั้น นั่นคือการอ่านหนังสือ ผมเชื่อว่านักเขียนทุกคนเป็นนักอ่านมาก่อน อ่านมาเยอะจนคิดว่าตัวเองเริ่มมีเรื่องเล่าของตัวเอง นั่นแสดงว่าแรงบันดาลใจกำลังเดินทางมาอย่างเต็มเปี่ยม สิ่งที่ต้องทำคือ อาจจะกลับไปอ่านงานที่ชอบ แต่การอ่านครั้งนี้ไม่ใช่อ่านเอาสนุกอีกแล้ว แต่เป็นการอ่านเพื่อเรียนรู้วิธีการเขียน แล้วไต่ระดับการอ่านอีกครั้ง โดยการอ่านงานที่ยากขึ้นเรื่อยๆ เลือกนักเขียนที่ได้รับการยกย่องของโลก และพยายามดูว่าพวกเขาเขียนอย่างไร นี่คือประเด็นสำคัญ เพราะถ้าไม่รู้ว่านักเขียนเขียนหนังสืออย่างไร เราก็ไม่อาจจะรู้ว่าตัวเองจะเขียนอะไรให้คนอ่านด้วยเช่นกัน

จำเป็นมากที่คุณจะต้องอ่านเออร์เนส เฮมมิงเวย์, จอห์น สไตน์เบ็ค, ลีโอ ตอลสตอย, ไอแซก ไดนิเสน หรือนักเขียนไทยอย่าง ศรีบูรพา, มนัส จรรย์ยงค์, เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือแม่อนงค์ อ่านงานของพวกเขาสักครั้งในชีวิต ถ้าไม่รู้ว่าพวกเขาเขียนอะไรมาบ้าง มันก็ยากที่จะบอกว่าเราจะเขียนอะไร นักเขียนในยุคก่อนก็เหมือนภูเขาที่จะต้องเดินผ่านไปให้ได้ บางคนอาจเป็นเนินเขา บางคนเป็นภูผา บางคนเป็นยอดมหึมา แต่นั่นคือต้องผ่านพวกเขาจากการอ่าน 

เมื่อมีไอเดียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ตัวละคร ฉาก หรือเหตุการณ์ ลองเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งอารมณ์ ทั้งความรู้สึก กำหนดน้ำเสียงที่จะเล่า หากพบว่าแกนอารมณ์นี้สามารถขับเคลื่อนตัวเรื่องได้ คว้ามันมาเป็นแกนหลักสำหรับการนำเสนอ แต่ถ้ามันยังไม่มีแรงผลักดันอะไรมากมาย จะต้องเติมเนื้อหาเพิ่มมากขึ้น เช่น สร้างปมขัดแย้ง สร้างจุดหมายของตัวเอก ความต้องการ หรือแรงปรารถนาทั้งภายในและภายนอก เมื่อมาถึงจุดนี้ พร้อมแล้วสำหรับการสร้างโครงเรื่อง

2.ปรับโครงสร้างให้แน่น

นักเขียนมากมายมักโดนล่อลวงว่าการเขียนเรื่องสั้น หรือนวนิยายที่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐาน คือการวางแผนแต่ละเหตุการณ์อย่างประณีต สร้างชีวิตตัวละครอย่างละเอียด ทำแผนที่ของเรื่องอย่างระมัดระวัง ดำเนินโครงเรื่องตามแนวเรื่องยอดนิยม มีจุดเริ่มต้น มีตรงกลาง และมีจุดสิ้นสุด แต่ทั้งหมดอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในเรื่องแต่งที่กำลังเขียน แต่สิ่งสำคัญจริงๆ ก็คือ การพัฒนาของตัวละครหลัก เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานเขียนทุกชิ้น

ในเรื่องสั้นควรจะมีการสร้างแรงเร้าต่อเหตุการณ์และจุดไคลแมกซ์

การเขียนนิยาย อาจจะมีบทพรรณามากมาย แต่ในเรื่องสั้นต่างออกไป เรื่องสั้นต้องมีความกระชับ ต้องมีการผูกปม โดยสร้างสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดแรงเร้า การผูกปมช่วยให้เรื่องดำเนินไป เรื่องจะไปไม่ถึงจุดไคลแมกซ์เลยถ้าขาดการผูกปม

เมื่อเข้าสู่ช่วงผูกปมแล้ว ข้ามการอธิบายที่ยืดยาว รักษาโครงสร้างในตอนกลางให้เกิดความสมดุลย์ และตบท้ายด้วยแรงขับดันจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือที่เราเรียกกันว่า “ขมวดปม” สรุปเรื่องราวทั้งหมด หรือคลี่คลายปมปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ด้วยการเฉลยทุกปัญหา

สิ่งสำคัญที่สุด เรื่องสั้นไม่มีเวลามากพอที่จะทอดน่องชมนิทรรศการ เรื่องสั้นคือรูปแบบงานที่ต้องการอ่านอย่างรวดเร็ว กระชับฉับไว และไม่จำเป็นต้องมีฉากแอคชันใดๆ ที่ยืดเยื้อ หรือเบื้องหลังที่ซับซ้อน

สร้างความตึงเครียดลงไปในแต่ละฉาก

วิธีผูกปมที่มีประสิทธิภาพคือ ข้ามการบรรยายที่ยืดยาว กระตุ้นเหตุการณ์ในเรื่องให้ปะทุขึ้นจนเกิดคำถามต่อผู้อ่าน เพื่อจะได้หาคำตอบให้พวกเขาในตอนจบ

จากจุดเริ่มต้นของเรื่อง เพิ่มแรงกดดันขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่องราวจะดำเนินไปตามครรลองที่ควรเป็น ตัวละครหลักจะดำเนินมามาถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ การผูกปมจะช่วยให้ตัวละครมีทางเลือกก่อนที่จะถึงจุดเปลี่ยน ตัวละครอาจจะต้องการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ มีความทะเยอทะยาน จนมาถึงจุดไคลแมกซ์ โครงสร้างแบบนี้สนับสนุนให้นักเขียนสร้างวิธีการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด และตรงประเด็น ช่วงกลางเรื่องจะเป็นจุดเชื่อมต่อ ถ้าไม่อยากเพิ่มเติมเหตุการณ์อะไรลงไป ก็รักษาโมเมนตัมไปจนจบเรื่อง

การเขียนเรื่องสั้น อย่ากลัวที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ

โครงสร้างและรูปแบบของเรื่องสั้นได้รับการออกแบบให้ใช้เวลาไม่มาก โดยเฉพาะเรื่องเล่าแบบคลาสสิกที่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดนี้ช่วยให้มีอิสระในการวางโครงสร้างของเรื่อง ว่าจะเรียงลำดับตามเหตุการณ์ จากเริ่มไปจนจบ หรือจะเสี่ยงทดลองโดยเริ่มต้นเรื่องที่ตอนจบ จากนั้นค่อยเล่าเหตุการณ์ตอนต้น หรือระหว่างทางจะมีการเปลี่ยนมุมมองการเล่า จากบุคคลที่หนึ่งไปเป็นบุคคลที่สาม แต่นั่นต้องเขียนจนช่ำชองมาสักพัก เพื่อเอามันให้อยู่มือ

ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าผู้อ่านมีเวลาให้เรื่องสั้นสัก 20 นาทีเพื่ออ่านให้จบ เราอาจจะกลับไปใช้วิธีดั้งเดิม คือการดำเนินเรื่องแบบคลาสสิกเหมือนอย่างเรื่องสั้น มนัส จรรยงค์ หรือ เรื่องสั้นของศรีบูรพา นักเขียนไทยยุคบุกเบิกเคยเขียนมา โดยกำหนดให้ตัวละครเป็นจุดเด่น หรือตัวดำเนินเรื่องมีอิทธิพลต่อโครงเรื่อง สร้างปมปัญหาให้เกิดความน่าสนใจ ทั้งต่อแนวคิด และพฤติกรรม เล่นกับผู้อ่าน พาพวกเขาไปเจอกับคำถามที่ต้องตอบ หรือปัญหาที่ต้องการแก้ไข ดำเนินเรื่องอย่างมีศิลปะ และจบลงด้วยความสยอง ในแบบมนัส จรรย์ยงค์ หรือ ตั้งคำถามเชิงอุดมการณ์ในแบบศรีบูรพาทำเสมอๆ

ถ้าชอบจบเรื่องสั้นแบบหักมุม จงอย่าลืมว่าการหักมุมจบนั้น จะต้องสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงในเรื่องที่เล่ามา นักเขียนบางคนใช้วิธีหักหลังโครงเรื่องแทนที่จะหักมุม ถ้าทำแบบหลัง นักอ่านจะตั้งคำถามถึงตอนจบว่าสมจริงหรือไม่ หรือนักเขียนแค่ต้องการจบเรื่องนี้แบบที่จะเป็นอะไรก็ได้ โดยไม่มีพื้นฐานอะไรรองรับ อย่าทำแบบนั้น เพราะมันจะก่อปัญหามากกว่า การจบแบบธรรมดาเสียอีก

องค์ประกอบของเรื่องสั้น
องค์ประกอบของเรื่องสั้น

3.เปิดเรื่องด้วยแรงดึงดูด

มีวิธีมากมายที่จะเปิดเรื่องสั้นให้น่าสนใจ แต่ๆๆๆๆๆ ต้องเลือกใช้โทนที่เหมาะสม วิธีโบราณที่ผมไม่ค่อยแนะนำเช่น เปรี้ยง ป้าง ปัง กริ๊ง กร๊าง ผั่วะ เอี๊ยด โครม ทำไมผมถึงบอกแบบนั้น (ทั้งที่หลายคนคิดว่าการเปิดเรื่องแบบนี้น่าสนใจ) ก็เพราะว่าตำราการเขียนทุกเล่มจะแนะนำให้นักเขียนเริ่มต้นเรื่องแบบนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้วิธีนี้โดยไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น คนอ่านจะรู้ว่าเราเขียนตามตำรา หรือเป็นมือใหม่ ที่แย่สุดเราซื่อตรงในศาสตร์เกินไปโดยไม่ปรับอะไรมันเลยให้เป็นศิลป์

แน่นอนอาจจะมีหลายคนบอกว่า ฉากเปิดที่รวดเร็วฉับไวน่าฉงนใช้การได้เสมอ ฉากแบบนี้ดึงดูดคนอ่านได้ เช่น เรื่องสั้นเปิดเรื่องด้วยฉากอุบัติเหตุรถบัสพุ่งชนชายคนหนึ่ง เสียงเบรคดังเอี๊ยด ตามมาด้วยเสียงโครม ชายคนนั้นเป็นพยานปากเอกที่กำลังเปิดโปงนายตำรวจที่คอรัปชัน แต่ต้องมาตายเสียก่อน นักสืบเอกชนคิดว่าการตายของชายคนนั้นมีเงื่อนงำ เขาจึงออกติดตามความจริงทั้งหมด ลองคิดดูเถิดว่า มีคนเขียนแบบนี้เป็นพันๆ หมื่นๆ นักเขียนหลายคนก็แนะนนำให้นักเขียนรุ่นใหม่เขียนกันแบบนี้นับแสนๆ ราย ดังนั้นถ้าคิดที่จะเปิดเรื่องแบบนี้ ผมไม่ห้าม เพียงแค่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น

มีสองสามวิธีที่ดูดีกว่านั้น หนึ่งแนะนำตัวละคร สองดึงดูดความสนใจ สามบรรยาฉาก ถ้าให้ดีทำทั้งสองในสามอย่างในคราวเดียว ลองมาดูว่าเรามีวิธีเปิดเรื่องที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

การเขียนเรื่องสั้น เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ตื่นตะลึง

วิธีที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านก็คือ ต้องทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงปัญหา และแรงตึงเครียดที่เกิดขึ้นในเรื่อง ต้องทำให้คนอ่านอยากรู้ว่าสองสามประโยคแรกจะพาพวกเขาไปที่ไหน ผมขอยกตัวอย่างเช่นนิยายสั้นเรื่อง “ใบหน้าอื่น” ของผม ที่เริ่มต้นด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “พี่ชายของคุณตายแล้ว” เสียงนี้สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยคำถาม ความสงสัย เกิดอะไรขึ้น เรื่องราวเป็นยังไง มันรบกวนจิตใจ ชวนอยากให้รู้ อยากเห็น อยากรู้ว่าฉากต่อไปจะเป็นอย่างไร จะเล่าอะไรต่อจากนี้ ทำให้สามารถใส่รายละเอียดของเรื่องเข้าไปสนับสนุนฉากเปิดนี้ได้ทันที

อีกตัวอย่างหนึ่ง เรื่องสั้น “ประเทศไทย” ของ ฮารุกิ มูราคามิิ เขาเริ่มต้นเรื่องด้วย:

เสียงประกาศดังลั่น ‘คณะนี้เคลื่องบีนของเราคามลางลงผ่านเข้าสู่หลูมอากัด ได้โพรดเข้านั่งพระจามที่และรัดเคมขัดขาดที่นั่งของทานคะ’

ประเทศไทย : ฮารุกิ มูราคามิ

ไม่ต้องขึ้นต้นด้วย “เอี๊ยดโครม!!!” ไม่ต้องขึ้นเรื่องด้วยเสียง “เปรี้ยงปร้าง!!!” อันดัง แต่ผู้อ่านก็สามารถมองเห็นภาวะที่น่าตื่นตะลึงได้จากไม่กี่ประโยค

ฉาก การเขียนเรื่องสั้น

เริ่มต้นเรื่องด้วยการดึงดูดความน่าสนใจ

วิธีนี้ยากขึ้น ต้องอาศัยประสบการณ์ในการเขียนพอสมควร มันเป็นเหมือนการดึงดูดความสนใจ เช่น ถ้าตกปลาเราต้องมีเหยื่อ ปลาจะกินเหยื่อหรือไม่ เหยื่อนั้นต้องน่าสนใจ วิธีนี้ต้องทำให้คนอ่านรู้สึกถูกแรงดึงดูด พาพวกเขาเข้าไปในบรรยากาศของเรื่อง จากนั้นทำให้อยากอ่านต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร ผมขอยกตัวอย่างเรื่องสั้นของตัวเองอีกเรื่องคือ “ความเหลวใหล” เรื่องสั้นเปิดขึ้นแบบเรียบๆ ว่า  : 

ย้อนกลับไปในคืนหนึ่ง รถกระบะสีฟ้าของพ่อจอดเสียอยู่ริมถนนท่ามกลางความมืด ตอนนั้นผมอายุประมาณสิบขวบ รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องสนุกที่บังเอิญผ่านเข้ามา

ความเหลวไหล: นิวัต พุทธประสาท

ผู้อ่านกำลังถูกดึงเข้าไปในเรื่องอย่างช้าๆ ทำไมรถกระบะเสีย จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กอายุสิบขวบ เขาสนุกในวันแย่ๆ วันนั้น อนาคตของเขาเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้กระตุ้นผู้อ่าน มันดูเหมือนปกติ แต่ก็แฝงเรื่องราวเอาไว้ เพื่อให้เกิดการตามหาคำตอบ ซึ่งจะสร้างอารมณ์ร่วมต่อผู้อ่านได้ดี

ผมมีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เรื่องสั้นของมิลาน คุนเดอรา เรื่อง “ซิมโปเซียม” : 

ในห้องพักแพทย์ (ในแผนกไหนของโรงพยาบาลใดในเมืองอะไรก็ได้ตามใจคุณ) มีตัวละครห้าตัวมารวมกัน และพัวพันกันทั้งในการกระทำ และคำพูด จนกลายเป็นเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ กระนั้นก็น่ารื่นรมย์ที่สุด

ซิมโปเชียม: มิลาน คุนเดอลา

เห็นอะไรในพารากราฟแรกของเรื่องสั้นเรื่องนี้ใช่ไหม มิลาน คุนเดอลา ดึงให้เข้าไปในฉากที่สามารถจินตนาการได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลกจะเชื่อมโยงประสบการณ์โรงพยาบาลที่เคยเห็นในหนังเน็ตฟลิกซ์ หรือโรงพยาบาลที่คุ้นเคย เมื่อมีประสบการณ์จากการแนะนำสั้นๆ แล้ว มันก็ง่ายที่จะทำให้ฉากกับโครงเรื่องเป็นพื้นที่เล่าเรื่องได้ดีขึ้น ต่อมาเขาแนะนำว่าเรื่องนี้มีตัวละครห้าตัว และทั้งหมดสัมพันธ์กัน เอาแค่ตรงนี้ผู้อ่านก็พร้อมแล้วที่รับเรื่องทั้งหมดที่มิลานจะเล่า มันเป็นการเริ่มเรื่องเพื่อดึงคุณเข้าสู่พล็อตนั่นเอง

เริ่มต้นบรรยายภาพ

เป็นวิธียอดนิยมในการเปิดเรื่องของนักเขียน ไม่ว่าจะมือเก๋า หรือมือใหม่ โดยการนำเสนอผู้อ่านด้วยภาพที่นักเขียนต้องการให้ผู้อ่านเห็น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ภาพลักษณ์ตัวละคร หรือสถานที่ ถ้าชอบดำเนินเรื่องในแบบขับเคลื่อนด้วยพล็อต แสดงว่าเราชอบการบรรยายเรื่องด้วยภาพ เพราะมันสามารถสะท้อนความคิดของนักเขียนไปสู่จินตนาการของผู้อ่านได้ดีที่สุด

ยกตัวอย่าง เรื่องสั้น “อสรพิษ” ของแดนอรัญ​แสงทอง เปิดฉากด้วยการวาดภาพสีน้ำมันสวยงามของบรรยากาศยามเย็น :

จวนเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนรอนแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำนุ่มนวลอ่อนโยนลง ท้องฟ้าโปร่งโล่งเหมือนโดมแก้วผลึก

อสรพิษ: แดนอรัญ แสงทอง

แม้ว่าการบรรยายภาพในเรื่อง “อสรพิษ” ดูเหมือนจะเป็นฉากเริ่มต้นของเรื่องราวที่น่ารื่นรมย์และสุขสงบเพียงใด แต่จริงๆ แล้ว “อสรพิษ” กลับมืดมนยิ่งขึ้น การเริ่มต้นเรื่องด้วยแสงสุดท้ายยามเย็นอันงดงาม ก่อนนำไปสู่เรื่องราวภายในเรื่อง การเริ่มเรื่องด้วยภาพสร้างผลกระทบให้ผู้อ่านไม่น้อย

ผมแนะนำว่าวิธีเริ่มต้นด้วยภายช่วยในการเปิดเรื่องได้ง่ายกว่าวิธีอื่น แต่ถ้าเปิดเรื่องโดยบรรยายแบบไร้จุดหมาย แล้วไม่สามารถดึงผู้อ่านให้เข้ามาในพล็อตหลักได้ มันก็เป็นแค่ภาพสวยๆ ที่ไร้เรื่องราว ดังนั้นต้องทำให้พอดี และเข้าใจว่าทำไมต้องทำ

แน่นอนเราจะมีบทความลงลึกถึงเรื่องเหล่านี้ในบทต่อๆ ไป ไม่ต้องห่วง

อีกตัวอย่างหนึ่ง “จุดจบของ ดร.โนเกิล” ของแฮร์มานน์ เฮสเซอ :

“ดร.โนเกิล อดีตครูโรงเรียนมัธยมปลายที่ลาออกก่อนวัยเษียณ และอุทิศตัวทุ่มแทศึกษาด้านนิรุกติศาสตร์ เป็นส่วนตัว จะไม่มีวันไปติดต่อเกี่ยวข้องกับนักมังสวิรัติและบริโภคตามแนวทางมังสวิรัติอย่างแน่นอน ถ้าสัญญาณของโรคหืดและโรคไขข้ออักเสบจะไม่เข้ามารุมเร้าเขาทีเดียวพร้อมกัน และบังคับให้ควบคุมอาหารตามแนวทางมังสวิรัติ”

“จุดจบของ ดร.โนเกิล” ของแฮร์มานน์ เฮสเซอ

เฮสเซอแนะนำตัวเอกได้อย่างละเอียดแต่กระชับ ด้วยการบรรยายไม่กี่ประโยค และเป็นการนำเราให้เข้าไปสู่เรื่องราวประหลาดในเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้อย่างมหัศจรรย์

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างการเปิดเรื่อง ซึ่งสามารถนำไปดัดแปลงเพื่อเขียนเป็นเรื่องสั้นของตัวเอง และพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ต่อไป

Manuscript Template

ดาวโหลดฟรี

อย่าปล่อยให้ต้นฉบับที่ยุ่งเหยิงทำลายเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่

เริ่มต้นทำต้นฉบับในรูปแบบที่ถูกต้องส่งให้สำนักพิมพ์ หรือนิตยสาร เพื่อพิจารณา

We promise we’ll never spam! Take a look at our Privacy Policy for more info.

4.เข้าทรงเขียน (อุปมาแบบไทย) เขียนตอนดื่ม (อุปมาแบบฝรั่ง) 

นักเขียนหลายคน หรือเกือบส่วนใหญ่ เป็น “นักดื่ม” กวีที่เป็นนักดื่ม (หนัก) เช่นกัน สุนทรภู่ มีวรรคทอง จาก “นิราศภูเขาทอง” ที่ท่องจนขึ้นใจ

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง 

สุนทรภู่: นิราศภูเขาทอง

ผมรู้ว่าคุณสามารถต่อกลอนบทนี้ได้จนจบ ผมชอบสุนทรภู่ก็ตรงที่แกเป็นนักดื่มนี่แหละ หรือนักเขียนอย่างเออร์เนส เฮมิงเวย์ ขึ้นชื่อเป็นนักดื่มและนักต่อสู้ ผมไม่ได้แนะนำให้คุณเขียนไปดื่มไปนะครับอย่าเข้าใจผิด มันเป็นแค่อุปมา

ประเด็นก็คือการเขียนร่างแรกของเรื่องสั้น หรือแม้แต่นวนิยาย นักเขียนบางคนให้สัมภาษณ์ว่าเขาเขียนเหมือน “เข้าทรง” หรือถ้าเป็นแบบเฮมิงเวย์ เขียนเหมือน “ขาดสติ” เพราะเมา (หรือเปล่า?) ไม่พวกเขาไม่ได้เมา และไม่ได้ขาดสติ แล้วก็ไม่ได้เข้าทรง เข้าผีเวลาเขียน แต่การเขียนในร่างแรกเปรียบเหมือนสายน้ำที่ไหลออกมาจากคอนเชียสไม่รู้จักหยุด วิธีเดียวที่จะเก็บความคิดที่ไหลออกมาแบบนั้นได้คือ รีบเขียน รีบพิมพ์ รีบบันทึก จนคุณไม่มีเวลาใส่ใจว่ามันสะกดถูกหรือผิด ประโยคบิดเบี้ยวไม่มีไวยากรณ์ บางทีก็มีแต่เรื่องราวไร้สาระ ยิ่งถ้าเป็นลายมือหวัดๆ บางครั้งอาจจะไม่รู้ว่าเขียนอะไรออกมา

ความคิดที่ไหลพล่านราวกับน้ำในเขื่อนแตก คือสิ่งที่ต้องกรอปเอาน้ำนั้นเข้ามาในภาชนะเก็บกักให้ได้มากที่สุด จากนั้นค่อยแปรมันออกมาเป็นตัวอักษรหลังจากที่เก็บมันเอาไว้แล้ว แต่อย่าให้มันนานเกินไป การเขียนแบบใช้คอนเชียส คือร่างแรก นักเขียนจะเขียนทุกอย่างที่นึกได้ลงไป ดังนั้นเรื่องสั้นร่างแรกจึงไม่เหมาะที่จะส่งให้มนุษย์คนไหนได้อ่าน ก่อนที่จะทำการแก้ไขมันให้สมบูรณ์

เมื่อเขียนร่างแรกเสร็จที่เหมือนเข้าทรง หรือเขียนตอนดื่ม นักเขียนบางคนเขียนร่างแรกด้วยลายมือ บางคนพิมพ์ดีีด ยุคปัจจุบันก็คงเป็นคอมพิวเตอร์ จัดการกับร่างแรกให้เป็นระเบียบที่สุด สำนวนที่ใช้ คำที่เลือก มันจะยุ่งเหยิง เรื่องนั้นเกิดขึ้นเป็นธรรมดา รวมถึงการสะกดคำผิด แก้ไขให้ถูกในการ Edited งานต่อไปคือแก้ไขสำนวน ตัดส่วนเกิน เพิ่มสิ่งที่ขาด จากนั้นร่างแรกจะกลายเป็นร่างที่สอง หรือที่สามในภายหลัง ทำซ้ำๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจ และอย่าแก้ตามที่เขียนในร่างแรก นั่นหมายถึงคุณนำร่างแรกมาปรับปรุงเพื่อให้ได้เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ และแก้ไขมันให้ตรงเป้ามากที่สุด

เรื่องสั้น เฮมิงเวย์
Ernest Hemingway

ภูมิหลังตัวละครไม่ค่อยจำเป็น สำหรับ การเขียนเรื่องสั้น

ถ้ายึดวิธีการทำงานแบบเฮมิงเวย์ ทฤษฏีภูเขาน้ำแข็งของเขาก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเขียนเรื่องสั้น ถ้าผู้อ่านเคยอ่านเรื่องสั้นของเฮมิงเวย์มาก่อน จะพบว่าตัวละคร “นิก” ไม่ค่อยมีที่มาที่ไป เขาจะดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนา กับประโยคสั้นๆ ให้ผมเปรียบเทียบกับยุคนี้ “joylada” 

หน้าตาของภูเขาน้ำแข็งส่วนใหญ่อยู่ “ใต้น้ำ” ผู้อ่านสามารถอนุมานเรื่องราวที่นำเสนอผ่านประโยคที่เขียนขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญเพียงไม่กี่ประโยค แทนที่จะอธิบาย หรือป้อนทุกรายละเอียดลงไปในเรื่อง ผู้อ่านจะไตร่ตรอง พิจารณาเนื้อหาย่อย และสามารถเข้าถึงบทสรุปได้ด้วยตนเอง

ประเด็นนี้ผมหลีกไม่พ้นที่ต้องยกรื่องสั้นของเฮมิงเวย์ เรื่อง “นักมวย” มาเป็นตัวอย่าง เรื่องสั้นเรื่องนี้มี นิก อดัมส์ เป็นตัวเอก เขาถูกชกจากคนสับรางรถไฟ เพราะตกลงมาจากการแอบขึ้นรถไฟ จากนั้นเขาไปพบอดีตนักมวย และพรรคพวกที่เร่ร่อนและได้รู้จักกัน โดยพูดคุยเรื่องราวผ่านกองไฟ :

“นายหิวไหมนิก”

“หิวจนเกือบจะเป็นลมเทียวครับ”

“ได้ยินไหม บักส์”

“ผมได้ยินอะไรๆ ที่เกิดขึ้นเกือบหมด”

“ฉันไม่ได้ถามแกอย่างนั้นสักหน่อย”

“ใช่ ฉันได้ยินทุกอย่างที่คนหนุ่มพูด”

บทสนทนาของเฮมิงเวย์เป็นตัวดำเนินเรื่อง ขณะเดียวกันบทสนทนาก็ยังเผยภูมิหลังของตัวละครในตอนต่อไป โดยไม่ต้องบรรยายยืดยาว

แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าผู้อ่านจะเข้าใจสิ่งที่เขียนหรือ อาจจะต้องบรรยายบริบทของเรื่องมากกว่านั้น ซึ่งสามารถเพิ่มเติมลงไปในการแก้ไขต้นฉบับครั้งต่อไปหลังจากเขียนแบบคอนเชียส

5.ตวัดเรื่องในตอนจบให้เข้มข้น

ไม่ว่าจะเริ่มต้นเรื่องได้ดีเพียงใด บรรยายภาพได้สวยงามในตอนกลางเรื่องได้อย่างลื่นไหลแค่ไหน แต่ไม่สามารถขมวดปมตอนจบได้ ไม่มีอะไรน่าผิดหวังไปมากกว่านี้อีกแล้วสำหรับคนอ่าน ตอนจบที่อ่อนปวกเปียก หรือเร่งร้อนเกินไป ทำลายโครงเรื่องดีๆ ตัวละครเจ๋งๆ ที่อุตสาห์สร้างขึ้น

แต่อย่ายกธงขาว มีวิธีมากมายที่จะปิดเรื่อง และขอให้รู้ไว้ว่าไม่มีกฎข้อบังคับตายตัว แต่มีทางเลือกที่น่าสนใจในการจบเรื่องมากกว่าที่คิด

ตัวละครเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ใน การเขียนเรื่องสั้น

ปกติตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวมากมายมาตลอดเรื่อง การพัฒนาตัวละครเอกมีทั้งแบบคลาสสิก และร่วมสมัย (หรือแบบอื่นๆ อีกมากที่เราจะหาโอกาสคุยถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดในอนาคต) ตอนจบตัวละครเอกอาจจะต้องเลือกตัดสินใจ เพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ละเอียดอ่อน พวกเขาถูกคาดหวัง หยามเหยียด ความทุกข์ยากที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา การจบเรื่องไม่ได้มีตัวเลือกเดียว นักเขียนสามารถเลือกให้ตัวละครเป็นเช่นไรก็ได้ในตอนท้ายเรื่อง ไม่ว่าจะเดินไปตามกรรม หรือ ต่อต้านชะตากรรม ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องมีพื้นหลังที่เป็นไปได้รองรับเสมอ

ผมขอยกตัวอย่างที่หลายๆ เรื่องชอบใช้กัน แต่มันไม่ค่อยเวิร์กในระยะยาว แต่มันสร้างความตื่นเต้นประหลาดใจได้ดีในช่วงแรกที่เขียน: คุณอาจจะเล่าเรื่องผจญภัยสุดอันตรายเจียนอยู่เจียนตายของตัวเอก สุดท้ายแล้วเขาต้องตกจากตึกสูงสิบสามชั้น ผู้อ่านรู้ทั้งรู้ว่าถ้าใครก็ตามหากตกจากตึกสูงขนาดนี้ ไม่มีวันรอดจากความตาย ยกเว้นว่าตัวละครนั้นเป็นยอดมนุษย์ หรือมีใครสักคนช่วยเขาไว้ ดังนั้นจะเลือกทางรอดให้ตัวเอกอย่างไรในตอนจบ

ทางเลือกแรก ให้เรื่องทั้งหมดตกอยู่ในความฝัน พอเขาตกลงถึงพื้น สะดุ้งตื่นจากนิทรา ตอนจบแบบนี้ เป็นการจบแบบหักมุม แน่นอนคนอ่านจะชอบ แต่ก็จะมีคนอ่านบางกลุ่มอาจตั้งคำถามว่า เรื่องที่อุตสาห์เล่ามาทั้งหมดเป็นแค่ความฝันงั้นหรือ ทางแก้คือ คุณต้องทำให้ความฝันนั้นให้บทเรียนกับตัวละครมากขนาดไหน โดยความฝันนั้นอาจเปลี่ยนตัวเอกไปตลอดกาล

ทางเลือกที่สอง เรื่องราวผจญภัยเจียนตายของตัวเอก กำลังตกอยู่ในสถาการณ์อันตราย ตกจากตึกสูง มีคนมาช่วยเขาได้ทันโดยใช้เบาะนิรภัย มันเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จบแบบคลาสสิก “ตัวช่วย” เบาะนั้นมาได้อย่างไร ใครมาช่วย แน่นอนว่าระหว่างทางคงต้องหาเหตุผลดีๆ มารองรับ

ผมอยากให้คุณคิดทางเลือกที่สาม ว่าเขาจะรอดตายได้อย่างไร หรือเขาไม่รอด วิธีจบจะบอกว่าเรื่องสั้นประสบความสำเร็จในแง่แนวคิดอย่างไร

ทุกคนรู้ว่านิทานอีสปมักจะจบด้วยการสั่งสอน ตัวละครเอกจะได้รับกรรมอย่างไรถ้าทำชั่ว แต่ในเรื่องสั้นยุคใหม่ต่างออกไป นั่นทำให้สามารถจบเรื่องที่แตกต่างได้มากมาย การเขียนเรื่องสั้นไม่ใช่ตำราการสอนศีลธรรม ดังนั้นมีทางมากมายที่จะทำให้งานเขียนน่าสนใจมากขึ้นอีกหลายเท่า

ผมขอยกตัวอย่างจาก เบอร์นาร์ด มาลามัด นักเขียนอเมริกันร่วมสมัย เชื้อสายยิว ชาวนิวยอร์ก เจ้าของรางวัลพูลิตเชอร์ เรื่องสั้น “The Death of Me” เล่าเรื่องเจ้าของร้านตัดเสื้อชาวยิว ผู้มีลูกจ้างฝีมือดีสองคน สองตำแหน่งที่ไม่ค่อยกินเส้นกัน พวกเขาทะเลาะกันจนบางครั้งลูกค้าต่างหนีไปก่อนที่จะใช้บริการ เจ้าของร้านไม่อยากไล่สองคนนี้ออกเพราะเสียดายฝีมือ จึงพยายามหาทางไม่ให้สองคนนี้เผชิญหน้ากัน โดยแบ่งส่วนทำงานด้วยการกั้นห้อง เหตุวิวาทหายไปได้ไม่นาน ทั้งสองก็กลับมาทะเลาะกันใหม่ถึงขั้นใช้มีดแทงกัน เจ้าของร้านพลันเข้ามาห้าม อนิจจาเขาลื่นล้มใกล้จะตาย

ตอนจบแบบนี้หักมุมได้อย่างแนบเนียน และไม่ทำให้การหักมุมเป็นไปอย่างยัดเยียด

ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเรื่องราวพวกเขาเปลี่ยนไปหรือไม่?

มนุษย์มีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงโดยกำเนิด แทนที่จะใส่ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความศักดิ์สิทธิ์ เบอร์นาร์ด มาลามัด เลือกใช้ตัวละครสามตัวที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และมีปัญหาซึ่งกัน มาลามัดเล่าเรื่องช่างอัดรีด เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวตนของเขา ขณะเดียวกันก็สร้างให้ความขัดแย้งทั้งสามฝ่ายกลายเป็นจุดเปราะบาง จนนำผู้อ่านไปถึงตอนจบที่ขมวดปม แทนที่จะเกิดสงครามระหว่างช่างตัดเย็บ กับช่างอัดรีด คนกลางคือเจ้าของร้านกลับใกล้ถึงความตายก่อนพวกเขา ซึ่งมันตั้งคำถามว่ามันเป็นโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ตายคือโชคดี ความขัดแย้งคือความทุกข์ การจบนอกจากขมวดปมเรื่องทั้งหมดแล้ว ยังตั้งคำถามต่อผู้อ่านได้อย่างลึกซึ้งอีกด้วย

ตอนจบจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อตัวละครถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง ต้องสร้างตัวละครที่ผู้อ่านผูกพัน พูดให้เข้าใจง่ายคือ คนอ่านต้องเอาใจช่วยตัวละครเอก แม้ว่าเรื่องสั้นจะมีเวลาปูพื้นน้อยกว่านวนิยาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ต้องสร้างกระแส หรือผลกระทบต่อตัวละครให้เกิดขึ้น กดดันด้วยอารมณ์ความรู้สึก นั่นจะช่วยให้ตอนจบเข้มข้น 

หากเขียนมาถึงสองสามย่อหน้าสุดท้าย ใกล้ถึงตอนจบแล้ว บ่อยครั้งรู้สึกได้ทันทีว่า กำลังจะปิดเรื่องไม่ลง ปัญหานี้เกิดจากสองสามฉากก่อนหน้านี้ได้ก่อปัญหาขึ้นมา ถ้าลองกลับไปค้นหาเบาะแสว่าเกิดอะไรขึ้น ผมเดาว่ามันเกิดขึ้นเพราะผู้เขียนสร้างผลกระทบทางอารมณ์ไม่เพียงพอกับพล็อตเรื่อง มันอาจจะไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นแบบนั้น วิธีการง่ายๆ คือ กลับไปอ่านทวนอีกสองสามรอบ และลงมือแก้ไข เพื่อจะได้ตอนจบที่ทรงพลัง

How to Write a Short Story

6. อ่านทวน เก็บรายละเอียด และแก้ไข

หากสงสัยว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องสั้นที่เขียน เปลี่ยนจากเรื่องสั้นที่ดี กลายมาเป็นเรื่องสั้นชั้นยอดในพริบตา (ผมอาจจะพูดเกินจริงไป แต่มันเปลี่ยนแปลงได้จริง) ความลับทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการแก้ไข 

วิธีการแรก อ่านทวนซ้ำ

เมื่อเขียนเรื่องสั้นเสร็จ อาจจะทิ้งเวลาไว้สักระยะ แล้วกลับมาอ่านทวนซ้ำ จากนั้นก็ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือส่วนเกินออก อะไรคือส่วนเกินของเรื่อง นักเขียนน่าจะรู้ดีที่สุด ไม่ต้องกลัวว่าเรื่องที่เขียนจะเหลือสั้นนิดเดียว แต่ถ้าตัดออกแล้วดีขึ้นก็คุ้มค่า เอ็ดการ์ อลัน โป เคยกล่าวเอาไว้ว่า “เรื่องสั้นต้องมีอารมณ์เดียว และทุกประโยคต้องดำเนินเรื่องไปข้างหน้า” โปกำลังสอนอะไรเรา นักเขียนส่วนใหญ่ทำให้เนื้อเรื่องคืบไปข้างหน้า จากคำ สู่ประโยค ไปจนถึงบรรทัด และย่อหน้า อย่าวนเรือในอ่าง ขณะเดียวกันต้องรักษาเป้าหมายของเรื่องให้อยู่ในอารมณ์เดียว รักษาโมเมนตัม รักษาโครงสร้าง ตัวเรื่อง ตัวละคร หรือถ้าจะทดลองให้สุดโต่ง ก็จงทำอย่างมั่นใจว่าเรื่องที่จะเล่าดำเนินไปข้างหน้าเสมอ 

วิธีการที่สอง แก้ไขอย่างไร้ความปราณี

บางครั้ง การอ่านทวนจะใช้เวลานานกว่าการร่างต้นฉบับ ขั้นตอนนี้จะทำให้เรื่องสั้นสมบูรณ์ และปรับแต่งแนวคิดหลักให้เข้ากับพล็อตที่ตั้งเอาไว้ อย่าแปลกใจ ไม่ต้องกังวล เมื่อเขียนเรื่องสั้นเสร็จ สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ รูปร่างหน้าตาที่ของเรื่องสั้นจะออกมาเป็นอย่างไร แบบไหน ซึ่งกระบวนการปรับแต่งแก้ไขนี้ถือว่าสำคัญที่สุด ตอนที่เขียน บางครั้งมันอาจจะออกไปไกลจากจุดหมาย การแก้ไขคือดึงมันกลับมาให้เข้าที่เข้าทาง

บางครั้งอาจจะวนอยู่กับเนื้อเรื่องเดิมๆ หรือพยายามรักษาตอนจบเพื่อขมวดปม จนไม่กล้าดำเนินเรื่องไปข้างหน้า หรือกลัวว่าเรื่องที่เขียนมีเนื้อหาสั้นเกินไป ตอนแก้ไขคือหัวใจสำคัญ การแก้ไขต้องไร้ความปราณี แม้แต่ตัดส่วนที่ชอบที่สุดทิ้ง เพื่อให้ทั้งเรื่องกลมกล่อมขึ้น

การอ่านทวนหลายรอบเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องมีจุดหมายว่าการอ่านทวนนี้ไม่ใช่การชื่นชมผลงาน แต่มันคือการฆ่าทิ้งบทที่ไม่เข้ากันกับเรื่องหลักออกไป ต้องใส่ใจกับประโยค คำ ทำให้มันลื่นไหล ด้วยการเชื่อมประโยคที่ดี ไม่สะดุด อย่าใช้คำซ้ำ หลีกเลี่ยงคำพวกนี้โดยเฉพาะคำเชื่อมประโยค ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของเรื่อง ให้จังหวะกับโครงเรื่อง จังหวะที่เต้นต้องมีระบบของมัน 

พล็อตเรื่องจะนำไปสู่การเรียนรู้ของตัวละคร ถ้ามีเหตุการณ์ หรือตัวละครที่ไม่สอดคล้องกับพล็อต แต่เสียดายที่จะคัดทิ้ง อาจจะตัดฉากนั้นเก็บเอาไว้อีกแฟ้ม เผื่อว่ามันอาจจะมีประโยชน์ในภายหลัง พยายามแก้ไขจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ตัดโครงเรื่องที่เป็นส่วนเกิน ผมย้ำเรื่องนี้บ่อย นั่นจะทำให้เรื่องสั้นดูดีขึ้น

จะทำอย่างไรถ้า เรื่องสั้น ยาวเกินไป

นักเขียนบางคนคิดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ เรื่องสั้นที่ยาวกว่าปกติสักสี่ห้าร้อยคำ จะมีผลอะไรมากหรือไม่ คุณคิดว่าไม่ แต่…

บางครั้งเรากำลังเขียนเรื่องสั้นเพื่อส่งไปประกวดตามรายการต่างๆ เช่น รางวัลพานแว่นฟ้า ซึ่งรางวัลนี้ มีกฎข้อบังคับเรื่องขนาดตัวอักษร และจำกัดจำนวนหน้าของเรื่องสั้น ในฐานะที่ผมเคยเป็นกรรมการรางวัลดังกล่าวมาก่อน ถ้าคุณเขียนเรื่องสั้นเกินหน้าที่ทางรางวัลกำหนด ต่อให้คุณเขียนดีแค่ไหน มันจะถูกปัดตกโดยไม่เคยได้อ่านเพื่อพิจารณา เพราะฉะนั้นนี่คือเรื่องสำคัญ

มาดูว่าจะทำอย่างไรกับปัญหานี้ ลองทบทวนเรื่องสั้น เพื่อปรับให้ตรงเป้ามากขึ้น จากนั้นก็ดูว่าจะตัดอะไรทิ้ง ถ้ามีเรื่องที่ต้องอธิบาย เช่นรถประจำทางสายแปดมีเส้นทางวิ่งจากไหนไปไหน อาจจะไม่ต้องพรรณาทั้งหมด หรือลดบทบรรยายภาพที่เยิ่นเย้อเกินไป การลดขนาดของเรื่อง ขึ้นอยู่กับพล็อตหลัก พล็อตย่อยที่ไม่มีผลต่อเรื่องสมควรตัดทิ้ง ต้องชั่งน้ำหนักและจัดการมันโดยไม่ลังเล

เรื่องสั้นที่ยาวเกินไปอาจจะทำให้ตกรอบรางวัลบางรางวัลโดยไม่รู้ตัว อย่าให้เรื่องนี้เกิดขึ้น จัดการกับมันก่อนที่จะพลาดโอกาส เพราะคุณเห็นว่ามันไม่สำคัญ

7.การตั้งชื่อ!

เรามาถึงบทสุดท้ายที่อาจจะยากที่สุดจากทุกหัวข้อ อาจจะสงสัยว่าทำไมผมยกการตั้งชื่อมาที่บทสุดท้าย ว่ากันว่าการตั้งชื่อเล่มนั้นยากอยู่แล้ว แต่การตั้งชื่อเรื่องสั้นสักเรื่องอาจจะยากกว่า

ข่าวดี? ชื่อเรื่องสั้นมีความสำคัญก็จริง แต่ยังสำคัญน้อยกว่าชื่อ “เล่ม” หรือชื่อ “นวนิยาย” (เพียงเล็กน้อยเท่านั้น) ดังนั้น การตั้งชื่อเรื่องสั้น สามารถตั้งชื่อให้เป็น “นามธรรม” ได้มากกว่า จึงไม่จำเป็นว่าต้องตั้งชื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด แต่บางครั้งมันอาจจะเป็นเพียงแค่คำๆ เดียว วลีเดียว หรือใช้ความหมายที่ไม่เจาะจงเกินไป

สิ่งที่ต้องคิด เมื่อถึงเวลาตั้งชื่อเรื่องสั้น

  • ธีมที่ครอบคลุมเรื่องคืออะไร
  • เรื่องสั้นมีอะไรพิเศษบ้าง
  • ตั้งชื่อให้ดูน่าสนใจ แต่ไม่จำเป็นต้องอธิบายทั้งหมด
  • อ่านเรื่องสั้นแล้วได้อะไร
  • ชื่อตัวละครที่น่าสนใจ

คำถามเหล่านี้จะช่วยให้ตั้งชื่อเรื่องได้อย่างเหมาะสม และน่าสนใจมากพอที่จะดึงดูดผู้อ่านให้เข้ามาอ่าน นักอ่านจะมีส่วนร่วมกับชื่อเรื่อง เมื่อชื่อเรื่องเชื่อมโยงประสบการณ์ของเขากับชื่อเรื่องของเรา

นักเขียนบางคนอาจจะตั้งชื่อเรื่องสั้นได้ก่อนเขียนตัวเรื่อง พวกเขาใช้ชื่อนั้นเป็นโครงสร้างในการนำเสนอ แต่นักเขียนอีกหลายคนยังไม่ตั้งชื่อเรื่องจนกว่าเขาจะเขียนจบทั้งหมด นั่นบอกเราว่า ไม่ว่านักเขียนแต่ละคนจะทำงานแบบไหน ก็ไม่สำคัญเท่าได้เริ่มต้นทำงานแล้วหรือยัง เมื่อถึงเวลาหนึ่งเราจะได้ชื่อเรื่องที่เหมาะสม บางครั้งเมื่อผ่านเวลาไป ความช่ำชองก็มากขึ้นตามไปด้วย ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ยกเว้นว่ายังไม่ลงมือทำ

เปิดรับความคิดเห็นจากผู้อื่น

การส่งเรื่องไปให้ใครสักคนอ่าน อาจจะทำให้รู้สึกประหม่า ยิ่งถ้าเพิ่งเริ่มเขียนหนังสือจะสร้างความหวาดกลัวไม่น้อยเลยทีเดียว อย่ากลัวในเรื่องนี้ เคล็ดลับก็คือ เมื่อเขียนเรื่องสั้นเสร็จ อ่านทบทวน แก้ไข และมั่นใจได้ว่ามันพอจะสมบูรณ์แล้ว ส่งเรื่องให้คนสนิทอ่านเป็นคนแรก ไม่ว่าเพื่อนที่ชอบอ่านหนังสือ แฟน หรือใครที่พอจะไว้ใจได้ จากนั้นก็ให้เขาลองวิจารณ์ ถามดูว่าอ่านแล้วเป็นอย่างไร มีจุดไหนที่ต้องแก้ไข สนุกไหม น่าเบื่อหรือเปล่า การส่งให้คนอื่นอ่านจะช่วยให้แก้ไขต้นฉบับได้ดีขึ้น เพราะมุมมองของคนอื่นจะช่วยงานเขียนของเราได้เสมอ

แต่เพื่อนหรือแฟนอาจจะมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์เรื่องสั้น การส่งให้ใครที่ไม่รู้จักมีโอกาสบั่นทอนความมั่นใจในการเขียน มีนักเขียนใหม่ไม่มากก็ไม่น้อยที่ล้มเลิกการเขียนเพราะการวิพากษ์วิจารณ์ที่ขาดเหตุผลรองรับ ถ้าใครเจอแบบนี้ ไม่ช่วยให้นักเขียนพัฒนาการเขียนได้เลยนอกจากอคติที่ไร้ความหมาย ผมไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดกับคุณ

ลองพิจารณาการแก้ไขแบบมืออาชีพ

หากคุณตัดสินใจเลือกใช้บรรณาธิการมืออาชีพ ตอนนี้เวบไซต์สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมมีบริการ บรรณาธิการวรรณกรรมอิสระ ที่มีประสบการณ์ ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทความ (จากราคาเริ่มต้นเพียง 1,500 บาท สำหรับเนื้อหาที่ไม่เกิน 5,000 คำ) และนี่จะเป็นโอกาสที่ดีที่คุณจะได้รับประสบการณ์ในการทำงานแบบมืออาชีพ ที่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ยอดเยี่ยม เรื่องสั้นควรเป็นอย่างไร แก้ไขแบบไหน พัฒนาต่อได้อย่างไร และเรื่องเหล่านี้เหมาะที่จะส่งไปพิจาณาที่ใดได้บ้าง ลองคลิก บริการด้านบรรณาธิการ ของเราเพื่อการตัดสินใจ

บทสรุป : 7 วิธี การเขียนเรื่องสั้น

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราได้เรียนรู้วิธีที่จะเขียนเรื่องสั้นแล้ว ทำไมไม่ลองลงมือเขียนเรื่องสั้นในแบบที่อยากเขียน การเริ่มต้นที่จะเป็นนักเขียนไม่ยากอย่างที่คิด แต่การลงมือทำทันทียากกว่า จะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลยถ้ายังไม่ได้เริ่มลงมือ แน่นอนมันเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ถ้าเริ่มสร้างระเบียบวินัยภายในตัวเอง สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นได้ ลองอ่านจนจบบทความ

เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ลองเช็คลิสต์ดูว่าเรื่องสั้นเป็นอย่างไรบ้าง

  • เรียบง่าย มุ่งไปที่ประเด็นเดียว และขับเน้นชีวิตของตัวละคร
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้อ่านมองเห็นภาพตัวละครหลักทันที และชัดเจน
  • มุ่งเน้นไปที่โครงเรื่อง และข้อความที่พยายามจะส่งถึงผู้อ่าน
  • ไอเดียเรื่องสั้นเขียนออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา ไหลลื่น สละสลวยด้วยประโยคและถ้อยคำ
  • มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และตอนจบมีการขมวดปม ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าหักมุมหรือปลายเปิด

ถ้าเช็คได้ห้าหัวข้อข้างต้น หรือสองในสาม เรื่องสั้นที่เขียนก็เข้าใกล้เรื่องสั้นดีๆ เรื่องหนึ่ง ที่รอคนอ่านมาอ่านได้แล้ว

ผมมีแบบฝึกหัดเป็นการบ้าน เพื่อจะช่วยให้มีแรงบันดาลใจในการเขียนง่ายขึ้น เพียงแค่ใช้โจทย์ที่กำหนดมานำไปแต่งเป็นเรื่องสั้น สิ่งที่ควรระลึกไว้ก็คือ เรื่องสั้นเป็นงานที่สร้างสรรค์แบบหนึ่ง นักเขียนมีอิสระที่จะเขียนถึงอะไรก็ได้ นักเขียนทุกคนมีทางเลือกมากมายที่จะนำเสนอเรื่องต่างๆ มีกลวิธีนับพันๆ ที่สามารถหยิบยืมจากที่โน่นที่นี่มาใช้ได้เสมอ

ดังนั้นลงมือเขียนเรื่องสั้นกันเถอะ

แบบฝึกหัดสำหรับ การเขียนเรื่องสั้น

จงเขียนเรื่องสั้น สัปดาห์ละหนึ่งเรื่องเป็นเวลา 4 สัปดาห์

ในการเริ่มต้น การเป็นนักเขียนคุณภาพต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก สิ่งที่จำเป็นคือต้องการเห็นความก้าวหน้าของตนเองโดยใช้เวลาไม่นาน นี่คือสิ่งที่นักเขียนจะต้องท้าทายกับตัวเอง

สิ่งที่จำเป็นอีกประการคือต้องเรียนกระบวนการเขียนเรื่องสั้น วิธีไหนที่ยอดเยี่ยม วิธีไหนทำให้เขียนเร็วขึ้น และต้องเขียนอย่างสม่ำเสมอ

จงเขียนเรื่องสั้นัปดาห์ละเรื่อง ขนาดความยาวไม่ว่าจะเป็น 500, 1,000 หรือ 2,000 คำ อาจจะแบ่งวันทำงาน แต่ถ้าเป็นไปได้จงเขียนทุกวัน ตลอดทั้งเดือน ไม่มีการท้าทายอื่นๆ นอกจากเขียน

เมื่อเขียนสำเร็จ คุณจะมีเรื่องสั้นทั้งหมด 4 เรื่องให้ทบทวน แก้ไข และปรับปรุง การทำเช่นนี้ไม่เพียงสร้างนิสัย แต่ยังช่วยให้มีวินัยในการทำงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และได้รับประสบการณ์จากการเขียนอย่างมากมาย

หลังจากผ่านไปสี่สัปดาห์ สิ่งที่ได้รับคือการเรียนรู้มากขึ้นกว่าเดิม คุณจะเรียนรู้ว่าชอบเขียนเรื่องสั้นแบบไหน ซึ่งมีความสำคัญในการนำไปวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้น นอกจากนั้นจะทราบว่าวิธีเขียนเรื่องสั้นแบบไหนที่ทำแล้วออกมาได้ดี หากต้องการเรียนรู้ ต้องลองท้าทายสิ่งนี้ ทำมันอย่างจริงจัง ด้วยเวลาเพียง 30 วันเท่านั้น

ผมเชื่อว่าคุณทำได้

ต่อไปนี้คือไอเดีย การเขียนเรื่องสั้น คุณเลือกโจทย์ไปเขียนเป็นการบ้าน

  • ลองดัดแปลงบันทึกประจำวัน เพื่อเขียนออกมาเป็นเรื่องสั้น โดยเริ่มจากตอนจบก่อน จากนั้น ค่อยๆ เล่าเรื่องเพื่อคลี่คลายปมปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง เรื่องสั้นเรื่องนี้บังคับให้เขียนประมาณ 500-1,000 คำ ไม่จำกัดว่าจะใช้บุคคลที่หนึ่งหรือบุคคลที่สามเล่าเรื่อง 
  • ช่วงนี้ทุกคนประสบปัญหาเรื่องโควิด 19 นี่คือข้อมูลชั้นดี ประสบการณ์ที่ได้พบเจอด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน เรื่องงาน การถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน ในห้อง การติดเชื้อ การรักษา ผลกระทบต่างๆ เกี่ยวกับตัวคุณ ปัญหาข้างเคียง การฉีดวัคซีน รวมถึงการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาล คุณสามารถนำทุกสิ่งมาเขียน สร้างพล็อต หากลวิธีการดำเนินเรื่อง และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหักมุมจบในโจทย์ข้อนี้
  • ตัวละครได้รับพัศดุลึกลับ เขาต้องเปิดกล่องจดหมายเพื่อค้นพบความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่อยู่ข้างใน ตอนจบจบแบบปลายเปิด
  • ตัวละครอาศัยอยู่ในกระสวยอวกาศซึ่งกำลังเดินทางจากโลกไปดาวอังคาร และพวกเขารู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามกำหนด จากความบกพร่องของคอมพิวเตอร์ เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ด้วยแนวทางวิทยาศาสตร์ กาลไม่ไกลจากปัจจุบัน
  • เมื่อตัวละครย้ายโรงเรียน พวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะพบความลับที่ซ่อนอยู่ทั่วทั้งโรงเรียน…ทว่าครูทุกคนรู้ความลับนั้นคืออะไร เรื่องเล่าสยองขวัญ สถานการณ์ร้ายๆ เรื่องราวดำมืด วิญญาณที่จ้องจะแก้แค้น และความลับที่ถูกปิดมานาน
  • หลังจากที่สภาพอากาศเลวร้าย ฝุ่น PM ได้ก่อกวนเมือง และตัวละคร ในที่สุดพวกเขาก็ออกจากบ้านเพื่อค้นหาทุกคนที่หายตัวไป ท่ามกลางคำพยากรณ์จากอดีตที่พบในอินเตอร์เน็ต กฎอัยการศึกของรัฐบาลที่พยายามปกปิดข้อเท็จจริง ทำเรื่องสั้นเรื่องนี้ให้เเป็น เรื่องสั้นดิสโทเปีย

ถึงเวลาส่งการบ้าน เมื่อคุณได้เรียนรู้ การเขียนเรื่องสั้น

เมื่อเขียนเรื่องสั้นตามที่ได้ท้าทายจบ คุณอาจจะใช้โจทย์ข้างต้น หรือมีพล็อตของตัวเอง แต่เรื่องสั้นต้องผ่านการอ่านทวน แก้ไข และแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะได้ต้นฉบับดีที่สุดในช่วงเวลาหนึ่ง ลองส่งมาที่ Short Story Season โดยโพสต์เรื่องสั้นในฟอร์มด้านล่าง เรื่องอาจจะได้ลงในเวบไซต์เม่นวรรณกรรม บรรณาธิการอาจจะมีคำแนะนำดีๆ เพื่อทำให้มองเห็นแนวทางที่จะเขียนเรื่องสั้นเรื่องต่อไป ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ขอให้โชคดี

Loading

[block_content id=”23797″]

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *