The Three Act Structure คือ
Home Literature The Three Act Structure : โครงสร้างเรื่องราวที่ทรงพลัง – โครงสร้างสามองก์

The Three Act Structure : โครงสร้างเรื่องราวที่ทรงพลัง – โครงสร้างสามองก์

by Niwat Puttaprasart
4.5K views 17 mins read

โครงสร้างสามองก์ – The Three Act Structure เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมในการวางโครงเรื่อง คนเขียนบทและนักประพันธ์ใช้กันอย่างแพร่หลาย หากเจาะลึกลงไปว่าทำไมโครงสร้างนี้ถึงเป็นที่นิยม คงเป็นเพราะโครงสร้างสามองก์เริ่มจากรากฐานง่ายๆ จาก จุดเริ่มต้น ตรงกลางเรื่อง และจุดสิ้นสุด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน และสามารถกำหนดทิศทางของเรื่องได้อย่างแม่นยำ

ในบทความนี้เรามาลองดูว่า โครงสร้างสามองก์ มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างไร และวิธีใช้โครงสร้างเรื่องทำอย่างไร และโครงสร้างนี้ยังสมารถใช้ได้กับเรื่องราวสมัยใหม่ได้หรือไม่

Table of Contents

โครงสร้างสามองก์ คืออะไร – The Three Act Structure คือ

Three Act Structure
The Three Act Structure

The Three Act Structure – โครงสร้างองก์สามองก์ คือรูปแบบการเล่าเรื่องที่แบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วน — องก์ที่หนึ่ง องก์สอง และองก์สาม หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ – จุดเริ่มต้น ตรงกลาง และจุดสิ้นสุด – ซิด ฟิลด์ (Syd Field) นักเขียนบทภาพยนตร์ ได้ดัดแปลงการเล่าเรื่องแบบโบราณให้มีเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับนักเขียนบทในปี 1978 จากหนังสือ “Screenplay” เขาระบุว่า โครงสร้างนี้เริ่มจาก การตั้งค่า การเผชิญหน้า และการแก้ปัญหา

นักเขียนหลายคนพัฒนาโครงสร้างนี้ในรูปแบบต่างๆ บางคนระบุว่าโครงสร้างสามองก์เริ่มจาก การตั้งค่า การสร้าง (ปมขัดแย้ง) และผลที่ได้รับ ซึ่งรูปแบบทั้งสองไม่ได้แตกต่างกันมาก ประเด็นพื้นฐานสำคัญของโครงสร้างสามองก์ดั้งเดิมประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้:

  • I – Setup – การตั้งค่า: การเปิดเรื่อง (Exposition) > จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ (Inciting Incident) > วางพล็อตจุดที่หนึ่ง (Plot Point One)
  • II – Confrontation – การเผชิญหน้า: การผูกปม (Rising Action) > จุดกึ่งกลางเรื่อง (Midpoint) > พล็อตจุดที่สอง (Plot Point Two)
  • III – Resolution – บทสรุป: ก่อนไคลแมกซ์ (Pre Climax) > ไคลแมกซ์ (Climax) > ตอนจบ (Denouement)

ประวัติย่อของ The Three Act Structure – โครงสร้างสามองก์

ซิด ฟิลด์ ไม่ใช่นักเขียนคนแรกที่คิดค้นโครงสร้างแบบสามองก์ แต่เป็น ‘อริสโตเติล’ 

Poetics ของอริสโตเติล คือคู่มือการเขียนบทละครเล่มแรกที่มีการบันทึกเอาไว้ เป็นหนังสือเล่มแรกที่นักเขียน หรือนักเขียนบทภาพยนตร์ควรอ่านก่อนลงมือเขียน 

แต่ว่านี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่คุณควรอ่าน

หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานเชิงทฤษฎีในการเขียน เนื้อหาเต็มไปด้วยข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานสำหรับการเล่าเรื่องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา เรื่องเล่าโศกนาฏกรรม และละครชวนหัว ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้น ตรงกลาง และจุดสิ้นสุด สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเป็นตัวแทนในโครงสร้างสามองก์

สิ่งสำคัญที่สุดที่นักเขียนควรทราบ ก่อนใช้ โครงสร้างสามองก์ ในเรื่องเล่าสมัยใหม่ คือการเข้าใจว่าเหตุการณ์หนึ่งต้องนำไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่งก่อนจะนำไปสู่อีกเหตุการณ์ในตอนจบ ทุกเหตุการณ์จะต้องเรียงร้อยเข้าด้วยกันทั้งสามองก์ 

จุดเริ่มต้น ตรงกลางเรื่อง และจุดสิ้นสุด ไม่ใช่สูตรสำเร็จ 

ภายในแต่ละองก์ จะมีจังหวะที่แตกต่างกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโครงเรื่อง อริสโตเติลวิเคราะห์เรื่องเล่าผ่านองค์ประกอบสามส่วนว่า การกระทำแต่ละองก์ควรเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยใช้จังหวะเพื่อส่งการเล่าเรื่องไปสู่ทิศทางที่ต่างกัน ใน Poetics เขาวางตัวเรื่องว่าจะต้องมีจังหวะที่นำไปสู่เหตุและผล แต่ละฉากจะต้องนำไปสู่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป และ “บท” ต่างๆ จะไม่ตั้งอยู่อย่างโดดๆ

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าโครงสร้างสามองก์คืออะไร มาดูกันว่ามันทำงานอย่างไร

ทำไม โครงสร้างสามองก์ – The Three Act Structure จึงประสบความสำเร็จ

โครงสร้างนี้ผ่านการทดสอบด้วยกาลเวลามาอย่างยาวนาน มันจึงเป็นโครงสร้างที่ได้รับการใช้งานจากนักเขียนไปสู่คนเขียนบท นับตั้งแต่อริสโตเติลไปจนถึงหนังของดิสนีย์

อีกประการ โครงสร้างนี้เลียนแบบชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกฎ 3 ข้อ ที่อุบัติซ้ำ

ตัวอย่างเช่น:

  • เกิด/ชีวิต/ตาย
  • พระอาทิตย์ขึ้น/เที่ยงวัน/พระอาทิตย์ตก
  • ออกเดินทาง/การเดินทาง/กลับบ้าน
  • ความทุกข์/ความสุข/ความจริง

วิธีการใช้ โครงสร้างสามองก์ – The Three Act Structure

The Three Act Structure คือ
The Three Act Structure Diagram

เมื่อพูดถึงการเล่าเรื่องโดยใช้ โครงสร้างสามองก์ นักเขียนหลายคนเห็นคล้องต้องกันถึงข้อดีในโครงสร้างนี้ เราจะมาเจาะลึกลงไปในตัวโครงสร้าง โดยแยกแต่ละ “องก์” ออกเป็น “สัดส่วน” การอธิบายทางทฤษฏีอาจจะเป็นนามธรรมเกินไป ดังนั้นเราจะใช้ ภาพยนตร์เรื่อง Batman The Dark Knight และ The Hunger Games ภาคแรก  เป็นตัวอย่างตลอดทั้งบทความ เพื่อสร้างรูปธรรมให้ชัดเจน

องก์ที่หนึ่ง: การตั้งค่า The Three Act Structure (0-25%)

แม้องก์ที่หนึ่งความยาวของเรื่องจะเป็นหนึ่งในสามส่วนของโครงสร้าง ขณะเดียวกันองก์แรกมักจะกินเวลาของเนื้อเรื่องช่วงต้นทั้งหมด

แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือที่ดีทุกเล่มต้องมีการตั้งค่าที่น่าสนใจ

ประเด็นนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือหลายหน้ากระดาษเพื่อสร้างประโยคแรกที่สมบูรณ์แบบ

คุณต้องคิดวิธีการแนะนำตัวละครหลัก การใช้ชีวิตประจำวัน และวิธีที่สร้างความขัดแย้งหลักของเรื่องราว หรือสร้างอุปสรรคต่างๆ ให้ตัวละคร

การเปิดเรื่อง (Exposition) 6%

องก์ที่หนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดฉาก: ผู้อ่านควรจะรู้ว่าใครคือตัวเอกของเรื่อง ชีวิตประจำวันของพวกเขาเป็นอย่างไร และอะไรที่สำคัญสำหรับพวกเขา แน่นอนว่าชีวิตไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และการเปิดเรื่องนี้ควรให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงความท้าทายในปัจจุบันที่ตัวละครหลักต้องเผชิญ อะไรคือความปรารถนาของพวกเขา สิ่งที่ตัวเอกพยายามจะเอาชนะ ความท้าทายที่เกิดขึ้นคือสิ่งใด สิ่งเหล่านี้จะแสดงเป้าหมายของตัวละครที่ครอบคลุมทั้งหมดเพื่อการก้าวต่อไป

นี่คือเกณฑ์หลักในการเปิดเรื่องครั้งแรก:

  • แนะนำตัวละคร
  • ชีวิตประจำวันของตัวละครจะเป็นอย่างไร
  • Inciting Incident จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง หรือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร

การแนะนำตัวละคร – อย่าเริ่มหนังสือด้วยบทพูดคนเดียวที่ยาวเหยียดเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา หรือข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวละครที่ยังไม่เคยปรากฏ ชีวิตประจำวันของตัวละครเป็นที่น่าเบื่อสำหรับผู้อ่าน และผู้อ่านจะ…ไม่อ่านต่อ วิธีที่ดีที่สุดในการแนะนำตัวละครคือการใช้เสียง น้ำเสียง และการสร้างฉากในชีวิตประจำวันด้วยเสียงการเล่า (voice) และน้ำเสียง (tone) ของตัวละครในการเล่าเรื่อง ผู้อ่านจะสามารถเข้าใจความคิดและสถานการณ์ของพวกเขาได้โดยธรรมชาติ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสุขหรือไม่มีความสุข หรือหากพวกเขามีชีวิตอยู่อย่างไร ข้อสังเกตคือ ต้องเล่าโดยไม่แสดง 

ชีวิตประจำวันของตัวละคร – คือจุดเริ่มต้นของหนังสือ บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องสร้างโลกของนวนิยายที่มีขนาดใหญ่โต หรือเรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครที่ซับซ้อน เราต้องการเห็นว่าชีวิตประจำวันของตัวละครเป็นอย่างไร เพราะนี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อถึงช่วง Inciting Incident ช่วงเวลาดังกล่าวเดิมพันจะมากขึ้น ชีวิตใหม่น่าจะดีกว่าและน่าสนใจมากจนถึงขั้นตัดสินใจเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่าง 


การตั้งค่า: The Dark Knight : เมื่อโจ๊กเกอร์ปรากฏตัวในก็อตแธม


เปิดตัวด้วยการแนะนำ Joker – โจ๊กเกอร์คือหนึ่งในองค์ประกอบของความโกลาหลที่จะส่งก็อตแธมไปสู่ความล่มสลาย และท้าทายโครงสร้างความยุติธรรมที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน หลังจากนั้นไม่นาน เราก็ได้รู้จักกับแบทแมน จากจุดนี้เราจะเห็นถึงอิทธิพลของแบทแมนที่มีต่อผู้ทำความดีคนอื่นๆ ในก็อตแธม


The Hunger Games

การตั้งค่า: The Hunger Games : แคทนิสมีชีวิตในพาเน็ม เขตที่ 12


หนังสือแนะนำแคทนิสให้ผู้อ่านได้รู้จักในฐานะเด็กวัยรุ่นที่มีความรับผิดชอบและมีความมุ่งมั่น น้ำเสียงของการแนะนำตัวละครประกอบไปด้วยความโศกเศร้าและความว่างเปล่าที่ผู้อ่านสามารถสัมผัสได้ ผู้เขียนใช้ keyword เช่น “หนาวเย็น” “หยาบกระด้าง” และ “ต่ำตม” ทั้งหมดเกิดขึ้นในย่อหน้าแรก

หลังจากสร้างสถานการณ์ความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ของแคทนิสกับน้องสาวและแม่ไปได้สองสามย่อหน้า เธอออกไปล่าสัตว์ นี่เป็นฉากที่สำคัญมากเพราะเราได้เรียนรู้ว่าชีวิตของเธอมีความยากลำบากเพียงใด และเธอต้องทำอะไรเพื่อให้อยู่รอดภายใต้การปกครองของแคปิตอล 

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ (Inciting Incident) 12%

นี่คือส่วนสำคัญที่สุดในหนังสือ หาก Inciting Incident ไม่น่าสนใจ ผู้อ่านจะวางหนังสือลง ไม่เพียงแค่นั้น Inciting Incident ต้องเปลี่ยนชีวิตตัวละครไปตลอดกาล หากหนังสือเขียนโดยไม่มีช่วงเวลานี้ ก็จะไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับตัวละคร ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เราจะอ่านอะไรจากเรื่องที่ไม่มีจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ Inciting Incident ยังต้องสร้างความแตกแยกที่ชัดเจนมาก ผ่านชีวิตประจำวันของพวกเขา

ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้การผจญภัยของตัวเอกเคลื่อนไหว จากชีวิตธรรมดาไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่า การเผชิญหน้าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เป็นจังหวะที่สำคัญใน โครงสร้างสามองก์: ​​หากไม่มี Inciting Incident เรื่องราวที่เป็นปมปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์จะนำไปสู่การเดินทางของตัวเอก การเดินทางนั้นอาจช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนสถานการณ์และบรรลุเป้าหมาย

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนเขียนนวนิยาย และบรรณาธิการหลายต่อหลายเล่ม เราจะสร้าง จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ ได้อย่างไร

  • ตัวเอกของคุณไม่พอใจชีวิตที่เป็นอยู่ของพวกเขาอย่างไร
  • ตัวเอกของคุณต้องการอะไร สิ่งใดถึงทำให้พวกเขาพอใจได้ (นี่คือเป้าหมายของพวกเขา)
  • ความกลัวและข้อบกพร่องที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขาคืออะไร
  • การกระทำของตัวเอกต้องทำเพื่อค้นหาความพึงพอใจ เหตุการณ์ต้องบังคับให้พวกเขาเผชิญหน้ากับความกลัวและ/หรือข้อบกพร่องได้อย่างไร

ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เรียกว่า “การเรียกร้องให้ผจญภัย” – The Call of Adventure เป็นการผลักดันให้ตัวเอกออกจากพื้นที่ปลอดภัยด้วยตัวเขาเอง มันจะสมเหตุสมผลหรือเปล่า ถ้าอยู่ๆ ตัวละครจะออกไปจากพื้นที่ปลอดภัยโดยไม่ต่อต้าน หากเป็นแบบนั้น อาจต้องสลับเหตุการณ์ (หรือลำดับฉากที่เกิดขึ้น) ระหว่างจุดโครงเรื่อง (Plot Point) กับ Incident Incident และ Plot Point One — เพื่อให้ตัวละครมีโอกาสหรือเวลาสำหรับการไตร่ตรองถึงแรงจูงใจของพวกเขา 

ชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนไปอย่างไร? การเดินทางจะส่งผลต่อชีวิตของคนรอบข้างแบบไหน? จะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเขาประสบความสำเร็จ? จะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเขาล้มเหลว อาจจะต้องเพิ่มเดิมพันเพื่อให้ตัวละครไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับในการออกไปผจญภัย ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุการณ์จะต้องขึ้นอยู่กับตัวละคร

ตัวอย่าง 


จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์: The Dark Knight : Incident Incident


แบทแมนเป็นพันธมิตรกับจิม กอร์ดอน (หัวหน้าตำรวจก็อตแธม) และฮาร์วีย์ เดนท์ (อัยการ) ด้วยการมีความหวังอย่างลึกๆ ว่าเด็นท์จะสามารถปกป้องก็อตแธมด้วยความยุติธรรม เดิมพันนี้ทำให้แบตแมนจะได้วางมือจากการเป็นศาลเตี้ย เขาจะไม่ออกไปไล่ล่าอาชญกรอีกแล้ว 


จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์: The Hunger Games : Incident Incident 


พริมน้องสาวสุดที่รักของแคทนิสได้รับการสุ่มเลือกให้เป็นเครื่องบรรณาการ เธอต้องเข้าร่วมการต่อสู้ที่จะออกฉายทางโทรทัศน์จนกว่าจะไม่เหลือผู้แข่งคนอื่น นั่นหมายความว่าพริมจะตาย ช่วงเวลาที่เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล ชีวิตของแคทนิสจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


 พล็อตจุดที่หนึ่ง (Plot Point One) 19-25%

เมื่อมาถึงจุดนี้ตัวเรื่องจะเต็มไปด้วยความเร็ว ไม่มีการอ้อมค้อมหรือลังเลอีกต่อไป ตัวละครดำเนินมาถึงจุดแรกของโครงเรื่อง จุดนี้จะแสดงถึงการตัดสินใจของตัวเอก การมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ และการกระทำทุกอย่างของเขา

สำหรับนวนิยายบางเรื่อง จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์และพล็อตจุดที่หนึ่งเกิดขึ้นในฉากเดียวกัน–เวลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ใน The Hunger Games พริมได้รับเลือกไปเป็นเครื่องบรรณาการ เหตุการณ์นี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทันที หลังจากนั้นแคทนิสอาสาไปแทนที่น้องสาวของเธอ แสดงถึงการยอมรับอย่างไม่เต็มใจต่อการเรียกร้องสู่การผจญภัย

เพื่อมองภาพให้ชัด พล็อตจุดที่หนึ่งก็เหมือนสปริงบอร์ดที่นำตัวละครเข้าสู่องก์ที่สองอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่าง 


พล็อตจุดที่หนึ่ง: The Dark Knight : เปลี่ยนไปสู่องก์สอง


โจ๊กเกอร์เข้าสู่โลกของอาชญากรรม โดยเข้ายึดครองอำนาจตระกูลอาชญากรที่มีอิทธิพลและสัญญาว่าจะฆ่าแบทแมนเพื่อแลกกับเงินครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนร้าย


พล็อตจุดที่หนึ่ง: The Hunger Games  


แคทนิสอาสารับไปเป็นเครื่องบรรณาการแทนน้องสาวของเธอ การรับอาสาเป็นเหตุการณ์ที่ดึงเธอเข้าสู่หัวใจของเรื่องราว 


องก์ที่สอง: การเผชิญหน้า – The Three Act Structure (25-75%)

การผูกปม (Rising Action) 25-50%

การไล่ตามเป้าหมายเริ่มก่อตัวขึ้น ตัวเอกต้องเผชิญอุปสรรคเป็นครั้งแรก เพวกเขาต้องเดินทาง เพื่อจะได้สำรวจสภาพแวดล้อมใหม่ และเริ่มเข้าใจความท้าทายที่อยู่ตรงหน้า นี่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่นักเขียนจะแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับตัวละครที่เหลือ (ทั้งเพื่อนและศัตรู) และศัตรูตัวหลัก นักเขียนจะต้องบรรยายถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ครอบคลุมเรื่องราว (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือสิ่งของ)

เมื่อตัวเอกเริ่มเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับหนทางข้างหน้า พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงวิธีการและปรับตัวเพื่อให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น ด้วยกลวิธีนี้ ในช่วงการผูกปมตัวละครหลักจะมีปฏิกิริยาเชิงรุกมากขึ้น

การผูกปมต้องสร้างความขัดแย้งให้กับตัวละคร และปล่อยให้พวกเขาได้รับชัยชนะ แต่จะต้องตามด้วย “แต่” ที่สร้างความขัดแย้งที่ก่อความเลวร้ายอื่นยิ่งกว่า



การผูกปม: The Hunger Games


แคทนิสฝึกฝนเพื่อเอาตัวรอดจากการแข่งขัน หลังจากการแข่งขันเริ่มขึ้น เธอรวบรวมเสบียงและวิ่งหนีเอาชีวิตรอด  จากนั้นเธอต้องเผชิญกับอันตรายทางกายภาพมากมาย ก่อนที่กลุ่มผู้แข่งขันที่แข็งแกร่งจะค้นพบและเริ่มตามล่าเธอ


จุดกึ่งกลางเรื่อง (Midpoint) 50%

เสียงรัวกลองรบดังสนั่น ผู้ชมระส่ำระสาย คนอ่านอยู่ไม่ติดที่นั่ง ไม่แปลกเลยที่ Midpoint จะเกิดขึ้นตรงจุดนี้…จุดกึ่งกลางเรื่อง! เหตุการณ์สำคัญจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับบางสิ่งที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง

เหตุผลก็เพราะว่าช่วงกลางเรื่องที่กำลังเขียนอาจจะน่าเบื่อที่สุด

ในตอนแรก เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ แต่ยังไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวละครและความขัดแย้งที่รบกวนชีวิตของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ในองก์ที่สอง ความขัดแย้งและตัวละครเริ่มเป็นที่รู้จักสำหรับคนอ่านมากขึ้น องก์ที่สองจึงได้รับการออกแบบมาเพื่อโยนผู้อ่าน (และตัวละครหลัก) ออกจากพื้นที่ปลอดภัยในลักษณะที่ดึงดูดความสนใจจากคนอ่านอีกครั้ง

กลับไปที่เป้าหมายหลักของตัวเอก เพื่อกำหนดว่าเหตุการณ์ Midpoint นี้ควรเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นในจุดนี้ เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าเป้าหมายกำลังถูกคุกคามโดยตรง อะไรจะทำให้ตัวละครตระหนักถึงเดิมพันที่มีอยู่ในมือจะสูญเสียไปอย่างรุนแรง

ความขัดแย้งจะทำให้ตัวละครพบกับความล้มเหลว และมีบางอย่างเข้ามาที่สามารถทำให้ดีขึ้นหรือแย่ลงได้

ตัวอย่าง 


จุดกึ่งกลางเรื่อง: The Dark Knight : Midpoint 


ในขณะที่บรูซ เวนย์กำลังจะเปิดเผยตัวตนที่เป็นความลับว่าเขาคือแบทแมน เดนท์โกหกกับสาธารณชนและบอกว่าเขาคือแบทแมน เพื่อหยุดยั้งการโจมตีของโจ๊กเกอร์ ต่อเหยื่อบริสุทธิ์ที่ถูกฆ่า


จุดกึ่งกลางเรื่อง: The Hunger Games : Midpoint 


แคทนิสถูกตามล่าและติดกับดักจาก “พวกมืออาชีพ” กลุ่มบรรณาการที่ภักดีกับแคปิตอลที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเพื่อเอาตัวรอดในเกม เธอต้องใช้พลกำลังอย่างหนักเพื่อหนีจากเงื้อมมือของพวกมืออาชีพ นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกลี้ยกล่อมให้เธอเลิกหนีและเริ่มต่อสู้เพื่อชนะเกมนี้ให้ได้


พล็อตจุดที่สอง (Plot Point 2) 50-75%

ตัวเอกที่น่าสงสารตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก พวกเขาคิดว่ากำลังคืบหน้าไปตามเป้าหมาย จากนั้น Plot Point Two แทรกเข้ามาและโยนพวกเขาออกไปจากจังหวะที่กำลังเต้น

พวกเขาต้องการเวลาเพื่อไตร่ตรองถึงความขัดแย้งของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผลพวงจากวิกฤต Midpoint บังคับให้ตัวเอกต้องเปลี่ยนจากการเป็น “ผู้โดยสาร” ไปสู่ผู้คุมเชิงในเกมรุกคืบ

นักเขียนอาจต้องวางแผนการเรียงลำดับฉากจากจุดนี้ การแก้ปัญหาของตัวละครจะได้รับการคลี่คลายผ่านความก้าวหน้า เป้าหมายจากการเดินทางของพวกเขาจะได้รับการตอบสนอง ลองนึกถึงพล็อตจุดที่สอง ตัวละครต้องการยืนหยัดและเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู พวกเขาต้องการความมั่นใจ เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป…

นักเขียนอาจจะเลือกด้วยจังหวะจบ “ใช่พวกเขาประสบความสำเร็จ แต่มีความขัดแย้งอื่นเกิดขึ้น” ตามมา “ไม่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในความขัดแย้งนั้น แต่พวกเขาได้รับบางสิ่งเพื่อช่วยพวกเขาในครั้งต่อไป”

วิธีการนี้ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินโดยทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่า มัน “ไม่ง่ายเกินไป” !!!

ตัวอย่าง 


พล็อตจุดที่สอง: The Dark Knight : ชั่วขณะที่ความมืดหม่นคืบคลานเข้ามา


ระหว่างย้ายตัวอัยการเดนซ์จากสถานีตำรวจเพื่อไปฝากขังที่เรือนจำ โจ๊กเกอร์วางแผนที่จะโจมตีขบวนรถ ตามที่สัญญาว่าจะกำจัดแบทแมนกับเหล่าทรชน แต่แผนนี้ได้ถูกซ้อนแผนโดยจิม หัวหน้าตำรวจของก็อตแธมป์ที่ต้องการล่อให้โจ๊กเกอร์ออกมาจากที่ซ่อน เพื่อจับเขามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


พล็อตจุดที่สอง: The Hunger Games


แคทนิสพยายามทำลายเสบียงของพวกมืออาชีพ และสังหารพวกเขา เธอได้เป็นเพื่อนกับริวและร่วมมือกันเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ภายหลังริวถูกทำร้ายอย่างสาหัสโดยบรรณาการคนหนึ่งซึ่งแคทนิสพยายามฆ่าด้วยธนู แคทนิสตามหาพีตา ต่อสู้กับพวกบรรณาการคนอื่นเพื่อช่วงชิงยา เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของพีตา


องก์ที่สาม: บทสรุป – The Three Act Structure (75-100%)

องก์สุดท้ายมักใช้เวลาถึง 1/4 ของเรื่องราวทั้งหมด แต่บางครั้งก็น้อยกว่า

ก่อนไคลแมกซ์ (Pre Climax) 75-81%

แม้แต่อัศวินที่สวมชุดเกราะที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เขาก็มีจุดอ่อน: ความกลัวและข้อบกพร่องที่หยั่งรากลึกเปิดเผยขึ้นในช่วงนี้ ในขณะที่ตัวเอกกำลังเตรียมพร้อมที่จะพบกับศัตรูตัวต่อตัว ศัตรูตัวแข็งแกร่งขึ้นและตอนนี้ก็พร้อมสำหรับการเผชิญหน้า

บางครั้งเราอาจจะเรียกช่วงเวลานี้อีกอย่างว่า “ค่ำคืนแห่งความมืดมิดของวิญญาณ” องก์ที่สามเริ่มต้นด้วยการปะทะกันครั้งสุดท้ายระหว่างตัวเอกและศัตรู เราได้สัมผัสประสบการณ์การเดินทางทั้งหมดกับตัวละครหลักแล้ว 

นี่คือจุดที่เรามองเห็นความแข็งแกร่งที่แท้จริงของคู่ต่อสู้ในครั้งแรก และมักจะทำให้ตัวเอกไม่ระมัดระวังตัว แม้ว่าผู้อ่านส่วนใหญ่จะทราบดีว่าศัตรูมักจะชิงความได้เปรียบตัวเอกได้ในช่วงนี้ แต่เราควรตั้งข้อสงสัยว่า ฉากสุดท้ายจะเป็นอย่างไร และตัวละครหลักจะปลอดภัยหรือไม่ เรื่องราวจะจบลงอย่างไร

เหตุการณ์ใดๆ หรือทั้งหมดจะต้องเกิดขึ้นเพื่อนำเรื่องราวไปสู่จุดไคลแม็กซ์ นี่คือจุดที่ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ผู้อ่านได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสของตัวละครในช่วงไคลแม็กซ์ และที่สำคัญที่สุด: ตัวละครต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดของพวกเขา โดยทิ้งความหวังว่าพวกเขาจะกลับมาได้ในที่สุด

ตัวอย่าง


ก่อนไคล์แม็กซ์: The Dark Knight : ทางเลือกที่เจ็บปวด


โจ๊กเกอร์ถูกจับตัวไปสอบสวน แต่ดูเหมือนว่าโจ๊กเกอร์จะวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว ในการสอบสวน โจ๊กเกอร์เปิดเผยว่าได้ลักพาตัวเดนท์และราเชลเอาไว้คนละที่ ระเบิดได้รับการตั้งเวลาเอาไว้พร้อมกัน แบทแมนจำเป็นต้องเลือกที่จะช่วยใครคนใดคนหนึ่ง และในที่สุดราเชลเสียชีวิต แบทแมนช่วยเด็นท์เอาไว้ได้ แต่เขาก็เกิดบาดแผลลึกน่ากลัวจากการโดนเปลวไฟเผาไปครึ่งหน้า ส่วนแผลทางใจของเดนซ์ทำให้เขาไม่แยแสกับแนวคิดเรื่องความยุติธรรมอีกต่อไป ที่เลวร้ายไปกว่านั้น โจ๊กเกอร์หนีไปได้ พร้อมกับรถบัสที่เต็มไปด้วยตัวประกัน


ก่อนไคล์แม็กซ์: The Hunger Games


แคทนิสถูกตัวต่อต่อยและเริ่มมองเห็นภาพหลอน แคทนิสตะหนักว่าหมีที่ไล่ตามเธอเป็นสัตว์ที่เธอเคยสังหาร รวมถึงพวกมืออาชีพที่เธอฆ่าด้วย เธอเห็นพีตาย้อนกลับมา แต่แทนที่จะฆ่าเธอ เขากลับบอกให้เธอหนีไป


จุดไคลแมกซ์ (Climax) 87%

Climax หมายถึงช่วงเวลาสุดท้ายของความขัดแย้งที่ได้รับการคลี่คลายปมทั้งหมด การคลี่คลายนี้ได้ครอบคลุมเรื่องราวทั้งหมด เนื่องจากตัวเอกเพิ่งถูกโจมตีจากฉากที่ผ่านมา อาจจะเรียกได้ว่าทั้งร่างกายและจิตใจอยู่ในขั้นระบม และอมทุกข์ ตัวเอกจำเป็นต้องรักษาแผล จากนั้นพวกเขาจะกลับมาเผชิญหน้ากับศัตรู หรือปัญหาอีกครั้ง ตัวเอกจะทำให้ความขัดแย้งนั้นจบลง จุดนี้ ถ้านักเขียนมีแผนหักมุม สามารถเขียนจุดไคลแม็กซ์ได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องบิดตัวเรื่อง 

โดยปกติแล้ว ไคลแม็กซ์จะรวมอยู่ในฉากเดียว ในขณะที่พรีไคลแม็กซ์มักใช้เวลานานกว่าและอาจขยายออกไปโดยจัดเป็นลำดับของเหตุการณ์

ตัวอย่าง 


จุดไคลแมกซ์: The Dark Knight : การกลับมาของความขัดแย้ง


แบทแมนกลับมาตามล่าโจ๊กเกอร์อย่างหนักหน่วง ขณะที่โจ๊กเกอร์วางแผนให้ก็อตแธมล่มสลาย ผู้คนจะเลือกฆ่ากันเองเพื่อเอาตัวรอด ต่อให้แบทแมนฆ่าโจ๊กเกอร์ได้ แต่เมืองกำลังอยู่บนหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเห็นแก่ตัว หรือความสมัครสมานสามัคคี


จุดไคลแมกซ์: The Hunger Games


ในที่สุดแคทนิสและพีตาเป็นผู้รอดชีวิตสองคนสุดท้าย แต่ผู้คุมเกมกลับยกเลิกกฎที่เพิ่งปรับเปลี่ยน เพื่อที่จะบีบให้พวกเขาสร้างฉากจบที่สะเทือนอารมณ์แก่คนดู ความจริงก็คือต้องการให้คนใดคนหนึ่งฆ่าอีกคน แต่แทนที่จะทำตาม แคทนิสกลับเลือกแก้ไขสถานการณ์ด้วยการใช้ “ไนท์ล็อก” เบอร์รี่พิษที่มีฤทธิ์ร้ายแรง โดยแบ่งครึ่งหนึ่งให้แก่พีตา เมื่อทราบว่าทั้งแคทนิสและพีตาตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย เหล่าผู้คุมเกมจึงได้ประกาศให้พวกเขาทั้งสองเป็นผู้ชนะเกมล่าชีวิตครั้งที่ 74


ตอนจบ (Denouement) 94%

ในที่สุดฝุ่นก็หายตลบ แต่อย่างไรก็ตาม ผลของเป้าหมายของตัวเอกยังไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในช่วงไคลแม็กซ์ แต่มันจะปรากฏขึ้นในช่วง “ไขข้อกังขา” หรือเราอาจจะเรียกมันว่า “สรุปปม” ตอนจบควรเป็นตอนที่ภารกิจต้องทำให้สำเร็จ หรือมีการวางเป้าหมายใหม่ หากเป้าหมายของพวกเขาเปลี่ยนไปในองก์ที่สาม นอกจากนี้ยังมีกลวิธี หรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่สามารถทำในตอนจบได้ ลองมาดูว่าตอนจบควรเป็นอย่างไร:

  • ถ้านักเขียนสัญญากับผู้อ่านเอาไว้อย่างไร เมื่อถึงตอนจบ ได้เวลาสำหรับการตอบสนอง ถ้าคุณจำได้กลวิธี “ปืนของเชคอฟ” Chekhov’s Gun เมื่อใดที่คุณทิ้งปริศนาเอาไว้ คุณต้องไขมัน ถ้าเราเห็นปืนบนผนังห้องในฉากแรก ปืนนั้นจะต้องได้รับการใช้แก้ไขสถานการณ์ในฉากจบ
  • คลี่คลายปมที่สำคัญในตอนจบ นี่คือสิ่งที่คนอ่านรอคอย
  • แม้ว่าคุณจะจบแบบปลายเปิด แต่จำเป็นต้อง ขีดเส้นใต้ตัวหนาๆ สำหรับแก่นเรื่อง คุณทิ้งปมเอาไว้อย่างไร มันต้องได้รับการแก้ปมนั้น
  • ปลดเปลื้องความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงจุดไคลแมกซ์ตามลำดับฉากที่สำคัญ ในหนังแอคชันนี่คือช่วงเวลาของความสุข ตอนจบของเจมส์ บอนด์ ในทุกๆ ซีรีส์มักบอกเราแบบนี้เสมอ 

เหตุการณ์ใดๆ หลังจากจุดไคลแมกซ์ โดยปกติแล้วจะเป็นเพียงบทเดียว หรือสองบท แต่ไม่ควรยาวเกินสองบท ส่วนนี้ทั้งหมดมีไว้เพื่อปิดลูปและทำให้ผู้อ่านพอใจ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าหากมีคำถามสำคัญๆ ในหนังสือ คุณต้องตอบคำถามในประเด็นนี้ให้แก่ผู้อ่านให้ได้ ถ้าคุณต้องการทิ้งปริศนาสำหรับหนังสือเล่มต่อไป (ในภาคต่อ) ทางออกที่ดีที่สุดของคุณคือสร้างปัญหาผ่านจุดไคลแม็กซ์ พวกเขาแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขาได้สำเร็จแล้ว แต่เหตุการณ์จุดสุดยอดอุบัติขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ตัวอย่าง


ตอนจบ: The Dark Knight : ผลพวงของกรรม 


แต่กว่าที่แบทแมนจะรู้ตัวว่าแผนการได้พลิกผัน เดนท์ได้กลายเป็น Two Face ที่เต็มไปด้วยความแค้น เขาสูญเสียทุกอย่าง และต้องการแก้แค้นต่อคนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ เขาไม่สนใจความยุติธรรมอีกต่อไป ความโกลาหลเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเดนท์เผชิญหน้ากับแบทแมนและจิม เดนท์ตกลงมาเสียชีวิต แบทแมนเกลี้ยกล่อมให้จิมกล่าวโทษว่าแบทแมนเป็นคนฆ่าเดนท์ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของเดนท์ในการเป็นผู้พิทักษ์เมืองก็อตแธมด้วยกฏหมาย


ตอนจบ: The Hunger Games


แม้แคทนิสจะได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรสตรี แต่เฮย์มิตซ์เตือนเธอว่า ในตอนนี้เธอได้ตกเป็นเป้าโจมตีหลังจากการท้าทายแคปิตอลอย่างเปิดเผย

ปัญหาเกี่ยวกับ โครงสร้างสามองก์

โครงสร้างสามองก์เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในการวางแผนเขียนบทภาพยนตร์ หรือนวนิยาย เช่นเดียวกับทฤษฎีโครงสร้างต่างๆ ถึงกระนั้น ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะความเร็วในการพัฒนาตัวเรื่อง

ในการเตรียมตัวเขียนต้นฉบับร่างแรก นักเขียนมืออาชีพมักจะไม่คิดถึงโครงสร้าง Save the Cat Beat Sheet แต่จะครุ่นคิดว่าตอนที่ “ตัวร้ายกำลังปรากฏตัว” ที่อยู่ระหว่างหน้า 55-75 ว่าจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่นักเขียนควรจะทำ

ใช้โครงสร้างสามองก์เป็นพื้นฐาน จากนั้นในกระบวนการเขียนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับรายละเอียดปลีกย่อย เช่น “เหตุการณ์ใดควรเกิดขึ้นในหน้านี้” และ… “เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

นี่คือโครงสร้างในหนังเรื่อง Alien:

  • Revelation: ลูกเรือตระหนักว่ามนุษย์ต่างดาวกำลังใช้ช่องระบายอากาศเพื่อเคลื่อนที่ผ่านยานอวกาศ
  • การตัดสิน: พวกเขาตัดสินใจผลักดันเอเลี่ยนไปทางแอร์ล็อคและปล่อยมันออกสู่อวกาศ
  • ความปรารถนาที่เปลี่ยนแปลง: ริปลีย์และคนอื่นๆ ต้องการฆ่าเอเลี่ยน
  • แรงจูงใจที่เปลี่ยนไป: พวกเขาต้องฆ่าเอเลี่ยนหรือตาย

ทั้งหมดนี้สร้างความสมจริงให้กับตัวบท และยังสร้างแนวโน้มที่จะทำให้ผู้เขียนกำหนดโครงสร้างเกี่ยวกับเรื่องราวมากกว่าปล่อยให้มันปรากฏขึ้นตามธรรมชาติ

หากคุณพยายามวางแผนงานเขียน แต่คุณยังติดอยู่ในการวางโครงสร้าง Revelation อาจจะทำให้สมองตันไปก่อนที่จะคิดออก

โดยรวมแล้ว การวางแผนที่รัดกุมเกินไป มักจะส่งผลเสียต่อตัวละครและเรื่องราวมากกว่า

การเล่าเรื่องที่เคร่งครัด จะนำไปสู่การเขียนต้นฉบับที่ขาดอารมณ์ความรู้สึก แทนที่จะเขียนไปอย่างธรรมชาติ กลับนำไปสู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไร้แบบแผน แทนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นเองแต่กลับเหมือนจงใจ

นักเขียนต้องปลดปล่อยจินตนาการให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ทฤษฏีโครงสร้างสามองก์เสมอไป ทฤษฏีก็คือทฤษฏี งานเขียนคือฝีมือผสมผสานศิลปะ

เรามาถึงตอนท้ายของ โครงสร้างสามองก์ – The Three Act Structure เราได้เห็นตัวอย่างของเรื่องราวสมัยใหม่ที่ไปได้ดีกับโครงสร้างสามองก์ นั่นเป็นเพราะว่าโครงสร้างนี้ได้รับการออกแบบมา โดยสามารถเขียนเรื่องราวได้หลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงรูปแบบการนำเสนอ เป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่น โดยสามารถดัดแปลงให้เข้าสถานการณ์ของเรื่องราวที่พล็อตเอาไว้ และจะทำให้ผู้อ่านสามารถปรับใช้ให้เข้ากับเรื่องราวที่จะเขียนได้เป็นอย่างดี

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More