Home Literature อะไรคือ ภาษาแปลกในวรรณกรรม | What is conlang?

อะไรคือ ภาษาแปลกในวรรณกรรม | What is conlang?

by niwat59
202 views

เชื่อว่าหลายคนที่เป็นสายแฟนตาซี คงเคยมีประสบการณ์ได้เจอ ภาษาแปลกในวรรณกรรม หรือ ภาษาประดิษฐ์ อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ภาษาวาไลเรียน ภาษาพาร์เซล ภาษาเอลฟ์ ภาษาเหล่านี้ปรากฏอยู่ในนวนิยาย หรือภาพยนตร์ ที่มีการดัดแปลงเนื้อหามาจากวรรณกรรมดังหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่ลอร์ออฟเดอะริงส์ จนถึงแฮรี พอตเตอร์

ถ้าถามว่าแปลกแบบไหน แปลกแบบที่ว่า คุณอ่านหนังสือ หรือดูหนังสักเรื่อง ตัวละครพูดสนทนาด้วยภาษาที่คุณไม่เข้าใจ ถึงจะตั้งใจฟัง หรือตั้งใจอ่านแค่ไหน คุณก็ไม่รู้อยู่ดีว่าพวกเขาคุยเรื่องอะไร อังกฤษก็ไม่ใช่ สเปนหรือฝรั่งเศสก็ไม่เชิง แล้วมันคือภาษาอะไรกันแน่ ต้องออกเสียงแบบไหน มีความหมายยังไง นี่แหละคือภาษาแปลกที่เรากำลังกล่าวถึง 

ซึ่งแอบกระซิบนิดนึงว่า จริงๆ ภาษาแปลกพวกนี้ เขามีชื่อด้วยนะทุกคน เพราะเขาคือ ภาษาประดิษฐ์ พอพูดถึงภาษาประดิษฐ์ แน่นอนต้องมีคนถามต่ออีกว่า ภาษาประดิษฐ์คืออะไร เกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรมยังไง หลากคำถาม หลายข้อสงสัยที่เกี่ยวกับภาษาประดิษฐ์ วันนี้เรามีคำตอบ

ภาษาประดิษฐ์คืออะไร?

ภาษาประดิษฐ์ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า คอนแลง (Conlang) ย่อมาจาก Constructed Language ซึ่งถ้าแปลตรงตัวหมายถึง ภาษาที่ถูกสร้างขึ้นมา ย่อมไม่ใช่ภาษาธรรมชาติที่เกิดจากวัฒนธรรมของมนุษย์ ที่เราใช้กันทั่วไป ทั้งในเรื่องของคำศัพท์ หลักการออกเสียง หรือแม้แต่ไวยากรณ์ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น โดยบุคคลหรือกลุ่มคนที่สร้างภาษาเหล่านี้คือ นักภาษาศาสตร์

สร้างขึ้นมาทำไม?

ภาษาประดิษฐ์

เดิมทีการสร้างหรือการประดิษฐ์ภาษา เริ่มต้นมาจากแพทย์ทหารท่านหนึ่ง ชื่อนายแพทย์ลุดโดวิค ซาเมนฮอฟ ท่านเป็นชาวโปแลนด์ เชื้อสายยิว เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ในช่วงที่มีสงคราม ทั้งยังมีความขัดแย้งกัน ในเรื่องของความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม จึงส่งผลทำให้ท่านต้องการสร้างภาษา ที่เป็นเสมือนภาษากลางขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้สื่อสารกันได้ โดยไม่มีการแบ่งแยกความแตกต่างใดๆ

โดยตามธรรมชาติแล้ว ภาษาเป็นสิ่งที่ไม่ตาย อยู่ได้ไม่คงทน เพราะเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ตามยุคสมัยตามกาลเวลา บวกกับปัจจุบันในโลกของเรา มีจำนวนนักภาษาศาสตร์ที่เก่ง และเชี่ยวชาญในด้านภาษาต่างๆ ค่อนข้างมาก พวกเขาคอยศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจภาษา รวมถึงสร้างภาษาใหม่ๆ อยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดภาษาประดิษฐ์ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ภาษาประดิษฐ์อาจถูกสร้างขึ้นจากหลายสาเหตุ บางครั้งสร้างขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในการสื่อสาร ระหว่างผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ เพื่อให้สะดวก และง่ายต่อการติดต่อ เช่น ภาษาเอสเปรันโต (Esperanto) ที่ช่วยในการสื่อสารระดับสากล ใช้กันมากที่สุดในโลก เรียนง่าย เน้นใช้เป็นภาษาที่สอง หรือ ภาษาอิดอ (Ido) ที่มีการดัดแปลงมาจากภาษาเอสเปรันโต

ถูกนำมาใช้โดยองค์การภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติ แม้ว่าจะใช้อักษรละติน 26 ตัว เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ แต่รูปแบบไวยากรณ์ง่ายกว่า และเป็นไปตามกฎ แตกต่างจากภาษาอื่นๆ หรือภาษาธรรมชาติ

และในขณะเดียวกัน ภาษาประดิษฐ์ก็อาจถูกสร้างขึ้นมา เพื่อใช้ในงานวรรณกรรม หรือใช้ประกอบภาพยนตร์โดยเฉพาะ ที่เราจะเห็นกันบ่อยคือ วรรณกรรมแฟนตาซีที่ดังๆ หลายเรื่อง ถูกนำไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ และมักมีการสร้างภาษาประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อใช้ประกอบ บางครั้งมีการประดิษฐ์ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ นำมาใช้สำหรับภาษานั้นๆ ด้วย 

What is conlang?

หลายคนคงคิดในใจว่า สร้างภาษาให้ยุ่งยากทำไม ใช้ภาษาที่มีอยู่แล้วสิง่ายกว่า แต่ทุกอย่างย่อมมีเหตุผลในตัวมันเอง การสร้างภาษาใหม่ ก็อันเนื่องมาจาก ต้องการสร้างความสมจริง และยังช่วยเสริมคนดู หรือคนที่เสพงานวรรณกรรมเหล่านี้ ให้รู้สึกได้ถึงการมีตัวตนอยู่จริงของตัวละคร 

และที่สำคัญคือ คุณอาจจะยังไม่รู้ ภาษานี่แหละ คือเอกลักษณ์ของหนังเรื่องนั้น และเป็นจุดขายที่ซื้อใจคนดูได้ดีที่สุด ลองสังเกต ยิ่งภาษาในหนังเรื่องไหนแปลก แหวกแนว ไม่เหมือนใคร ยิ่งดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้มาก แม้หนังจะจบไปแล้ว แต่กระแสยังแรงอยู่ ไม่มีตก แถมยังทำให้เกิดค่านิยมภาษาใหม่ขึ้นมา ถ้าใครพูดภาษานั้นได้ จะดูเท่ ดูมีความรู้ ถือว่าไม่ธรรมดา เป็นคนที่ตามความนิยม และไม่ตกยุค 

ทั้งนี้ทั้งนั้น คนทั่วไปที่ไม่รู้จักภาษาประดิษฐ์ จะมองว่าเป็นภาษาที่แปลก เพราะไม่เข้าใจในตัวภาษา จึงนิยมเรียกภาษาประดิษฐ์ว่า ภาษาแปลก ภาษาแปลก หรือภาษาประดิษฐ์ จึงมีความเกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรม ด้วยเหตุนี้เอง

พูดไปพูดมา บางคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่า ภาษาประดิษฐ์หน้าตาเป็นยังไง ทำไมถึงเรียกภาษาแปลก มันแปลกตรงไหน หากใครยังมีคำถามแบบนี้อยู่ในใจ เราบอกเลย จริงๆ ทุกคนเคยเห็นหน้าค่าตา และคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะตามในงานวรรณกรรมดังๆ เพียงแต่ไม่รู้เท่านั้นเอง ว่าภาษาพวกนี้คือภาษาประดิษฐ์ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราได้ทำการรวบรวมมาไว้ให้ทุกคนแล้ว

ภาษาพาร์เซล ใน Harry Potter (Parseltongue – Harry Potter) – ภาษาแปลกในวรรณกรรม

ภาษาพาร์เซล ใน Harry Potter

ชาวมักเกิ้ลทั้งหลายต้องรู้จักภาษานี้เป็นอย่างดีแน่นอน จากผลงานวรรณกรรมอันโด่งดัง เรื่อง แฮร์รี พอตเตอร์ ของ เจ. เค. โรว์ลิ่ง (J. K. Rowling) หนึ่งในนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก นิยายแฟนตาซี การันตีด้วยยอดขายหนังสือถล่มทลาย เกือบ 500 ล้านเล่ม ทำสถิติหนังสือขายดีที่สุดตลอดกาล และยังมีการเอาไปแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 73 ภาษาทั่วโลก ภายหลังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ยังคงประสบความสำเร็จอีกครั้ง เพราะไม่ว่าจะทำออกมากี่ภาค ก็กวาดรายได้ได้มหาศาล

ซึ่งถ้าหากใครตามอ่านหรือตามดู จะรู้กันดีว่า หนึ่งในตัวละครหลักอย่าง แฮร์รี พอตเตอร์ พ่อมดน้อยของเรา เขาสามารถพูดภาษาพาร์เซลได้ ภาษาพาร์เซลเรียกอีกอย่างว่า ภาษางู เราใช้ภาษานี้เพื่อเอาไว้คุยกับงู พาร์เซลถือเป็นภาษาของงูที่เก่าแก่โบราณ น้อยคนนักที่จะพูดได้ พ่อมดแม่มดคนไหนที่เข้าใจ และสื่อสารกับงูด้วยภาษานี้ได้ จะเรียกกันว่า พาร์เซลเมาท์(Parselmouth)

ภาษาแปลกในวรรณกรรม

ความพิเศษของภาษาพาร์เซลคือ เป็นภาษาประดิษฐ์ ที่ไม่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมา เพื่อใช้รองรับในการเขียน เน้นการพูดเพียงอย่างเดียว จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้พาร์เซล แตกต่างจากภาษาประดิษฐ์อื่นๆ โดยแน่นอนว่า ก่อนที่จะมีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ จะต้องมีการประดิษฐ์ภาษาขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ฟรานซิส โนแลน (Francis Nolan) ผู้เคยทำงานสอนด้านสัทศาสตร์การออกเสียง ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มาเป็นคนประดิษฐ์การออกเสียงในเรื่อง 

ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์ฉายออกไปไม่นาน กระแสตอบรับนั้นดีมากถึงมากที่สุด เหล่าคนดูที่เป็นแฟนคลับ ก็เริ่มหันมาสนใจภาษานี้เพิ่มขึ้น บางคนเข้าถึงอารมณ์มากๆ ถึงขนาดไปตามเรียนกันแบบจริงจัง เพราะอยากพูดภาษางูแล้วดูเท่ เหมือนตัวละคร 

และเพื่อเป็นการช่วยโปรโมทภาพยนตร์ ภาคสุดท้ายก่อนจะเข้าฉาย ทาง Warner Brothers ได้สร้าง “Parseltongue translator” เครื่องแปลภาษาพาร์เซล แอพที่เปิดโอกาสให้ผู้หลงใหลคลั่งไคล้ในภาษา ได้มาทดลองเรียน โดยวิธีการดาวน์โหลดไฟล์ MP3 มาแปลงเป็นภาษางู แล้วออกเสียงตาม 

ในปัจจุบันแม้จะผ่านมา 20 ปีแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงเป็นดาวที่ไม่เคยดับ มักถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง และฉายซ้ำนับไม่ถ้วน ชาวมักเกิ้ลเองก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พูดได้คำเดียวว่า ประสบความสำเร็จหมด ทั้งงานวรรณกรรม ภาพยนตร์ รวมไปถึงตัวภาษาที่ใช้ประกอบ ส่วนถ้าใครอยากรู้ว่า คำไหนออกเสียงเป็นภาษางูยังไง สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่  TheParselmouth กันได้เลย

ภาษาวาไลเรียนชั้นสูง ใน Game of Thrones (High Valyrian – Game of Thrones)

ภาษาวาไลเรียนชั้นสูง ใน Game of Thrones

“Valar morghūlis.”

(All men must die.)

ทุกคนเกิดมาล้วนต้องตาย


จากนวนิยายขายดีของ จอร์จ เรย์มอนด์ ริชาร์ด มาร์ติน (George Raymond Richard Martin) หรือที่รู้จักกันในนามปากกา จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน สู่งานภาพยนตร์แฟนตาซีคุณภาพแน่น ทางช่อง HBO ดีกรี Primetime Emmy Awards ถึง 38 รางวัล 

Game of Thrones เรื่องราวสงครามการช่วงชิงบัลลังก์เหล็กอันเข้มข้น เพื่อเป็นเจ้าแห่งอาณาจักรทั้งเจ็ด และการแก้แค้นเพื่อทวงคืนบัลลังก์ จากทายาทคนสุดท้ายของตระกูลกษัตริย์ ผู้หลงเหลืออยู่อย่าง แดเนริส ทาร์แกเรียน (Daenerys Targaryen) หรือที่หลายคนเรียกว่า แม่มังกร (Mother of the Dragons)

มังกรถือเป็นสัตว์โบราณที่แข็งแกร่ง ทุกคนเกรงกลัว ถ้ามีไว้ในครอบครอง จะไม่มีใครกล้าตั้งตัวเป็นศัตรู มังกรจึงเป็นสิ่งที่หลายคนหมายมั่นตั้งใจ อยากจะหามาครอบครองให้ได้ แต่ไหนเลยจะง่ายขนาดนั้น ปัจจุบันมังกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่หายาก ควบคุมก็ยาก ที่สำคัญคือจะสั่งมังกรได้ จำเป็นต้องพูดภาษาวาไลเรียนชั้นสูง (High Valyrian) เท่านั้น จะเป็นวาไลเรียนทั่วไปก็ไม่ได้ ซึ่งก็มีแค่แม่มังกรของเราคนเดียวนี่แหละ ที่พูดภาษาวาไลเรียนชั้นสูงได้ 

ภาษาวาไลเรียน ใน Game of Thrones

ภาษาวาไลเรียน ดัดแปลงมาจากภาษาละติน (Latin) เป็นภาษาชั้นสูง และมีหลายแบบแยกย่อยไปอีก ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ เช่น Astapori Valyrian ใช้พูดกันในเมือง Astapor หรือ Meereenese Valyrian ใช้พูดกันในเมือง Meereen ซึ่งจุดนี้เรายอมรับเลยว่า คนประดิษฐ์ภาษาเขาเก่งจริงๆ สร้างภาษาเดียวไม่พอ ยังสามารถแตกเป็นภาษาลูกได้อีกหลายภาษา 

โดยผู้ประดิษฐ์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ เดวิด เจ ปีเตอร์สัน (David J. Peterson) นักภาษาศาสตร์ ที่คอยสร้างภาษาใหม่ๆ ให้กับภาพยนตร์แฟนตาซีมาแล้วหลายต่อหลายเรื่องนั่นเอง และแน่นอนพอภาพยนตร์ถูกปล่อยออกไป ภาษานี้ก็ทำให้จำนวนแฟนซีรีส์เพิ่มมากขึ้น ทุกคนพากันไปเรียน หาคอร์สสอนต่างๆนานา เพราะอยากพูดภาษาชั้นสูงได้ พูดแล้วดูมีระดับ แถมสั่งมังกรได้อีกด้วย

ประโยคหรือวลีเด็ดๆ เช่น

“Skorī dēmalȳti tymptir tymis, ērinis iā morghūlis.”

(When you play the game of thrones, you win or you die.)

ถ้าคุณก้าวขาเข้าสู่เกมแห่งการช่วงชิงบัลลังก์ คุณต้องชนะ ไม่เช่นนั้นคุณก็ต้องตาย


“Zaldrīzes buzdari iksos daor.”

(A dragon is not a slave.)

มังกรไม่ใช่ทาส


“Dracarys!”

(Dragonfire!)

พ่นไฟ! (ใช้สั่งมังกร)


อย่างไรก็ตาม วาไลเรียนชั้นสูง เป็นภาษาประดิษฐ์ ซึ่งเดิมไม่มีใครบนโลกใช้

และย่อมไม่ใช่ภาษาที่เราพูดในชีวิตประจำวัน ความตั้งใจแรกเริ่ม คือสร้างเพื่อประกอบภาพยนตร์เท่านั้น แต่เพราะกระแสตอบรับดีมาก ตอนหลังจึงมีการเปิดคอร์สสอนภาษา ให้เรียนกันแบบฟรีๆ ใน Duolingo ซึ่งคุณเดวิดเอง ก็มีส่วนช่วยในการออกแบบหลักสูตรคอร์สเรียนตรงนี้ด้วย ใครสนใจ สามารถเข้าไปลงทะเบียนเรียน ในเว็บไซต์ที่เราให้ไว้ได้ หรือถ้าใครสะดวกเป็นแอปพลิเคชั่น สามารถโหลดใส่สมาร์ทโฟนไว้ได้เช่นกันค่ะ

ภาษาโดทราคี ใน Game of Thrones (Dothraki – Game of Thrones) – ภาษาแปลกในวรรณกรรม

“Athdavrazar”

(Excellent!)

ยอดเยี่ยม!


เรายังคงอยู่กันที่ซีรีส์เรื่องเดิม อย่างที่บอกว่าคุณเดวิดเขาเก่งมาก นอกจากจะประดิษฐ์ภาษาวาไลเรียนแล้ว เขายังประดิษฐ์ ภาษาโดทราคี (Dothraki) อีกด้วย ภาษาโดทราคี เป็นภาษาชนเผ่า พูดกันในหมู่ชาวโดทราคี นักรบบนหลังม้าแห่งทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ตามในเรื่องจะเป็นพวกเร่ร่อน ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบภาคกลางของเอสซอส รู้จักกันในชื่อ Dothraki Sea 

โดยจะมีความคล้ายอารบิกอยู่หน่อยๆ เพราะตัวภาษาดัดแปลงมาจากการยำรวม ระหว่างอาหรับและเติร์ก การออกเสียงของภาษานี้จะค่อนข้างทุ้ม ดูหนักแน่น เรามองว่าคนประดิษฐ์คงอยากสร้างภาษาให้เหมาะกับความเป็นชนเผ่า การใช้ชีวิตบนหลังม้า มีการไล่ล่า และการต่อสู้ ภาษาที่ออกมาเลยต้องให้ความรู้สึกแข็งแกร่งพอสมควร

ภาษาโดทราคี

บางซีซั่นเราจะเห็นแม่มังกรพูดภาษานี้ด้วย เพราะสามีของเธอคือ Khal Drogo ผู้นำชนเผ่า และเธอมักจะถูกเรียกว่า Khaleesi ที่หมายถึง ภรรยาของผู้นำชนเผ่านั่นเอง

ประโยคหรือวลีเด็ดๆ เช่น

“Anha vazhak yeraan thirat.”

(I will let you live.)

ข้าจะปล่อยเจ้าไปก่อน (ไว้ชีวิต)


“Asshekhqoyi vezhvena!”

(Happy Birthday!)

สุขสันต์วันเกิด!


“Yer zheanae sekke.”

(You’re very beautiful.)

คุณสวยมาก


มาถึงช่วงคำถามสำคัญ ถ้าอยากเรียนล่ะ มีคอร์สเปิดสอนเหมือนภาษาวาไลเรียนหรือเปล่า คำตอบคือมีค่ะ สามารถเข้าไปเรียนได้ที่ LivingLanguage แต่มีค่าใช้จ่าย $30 หรือราวๆ 1,000 บาท สำหรับคอร์สออนไลน์ 1 ปี แม้จะไม่ฟรี แต่รับรองว่าเรียนแล้วคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปแน่นอน

ภาษาเอลฟ์ ใน The Lord of the Rings (Elvish – The Lord of the Rings) – ภาษาแปลกในวรรณกรรม

ภาษาเอลฟ์ ใน The Lord of the Rings

“Mae g’ovannen”

(Welcome)

สวัสดี ยินดีต้อนรับ


มหากาพย์ภาพยนตร์ไตรภาคสุดยิ่งใหญ่ จากนวนิยาย The Lord of the Rings ของ เจ. อาร์. อาร์.โทลคีน หรือ ศาตราจารย์จอห์น โรนัลด์ รูเอล โทลคีน (John Ronald Reuel Tolkien) เรื่องราวที่จะพาทุกคนหลุดเข้าไปในมิดเดิลเอิร์ธ เพื่อร่วมผจญภัยในภารกิจครั้งสำคัญ การทำลายแหวนวิเศษ

แหวนที่จะคอยทดสอบจิตใจของทุกคนตลอดเวลา 

ซึ่งหนึ่งในตัวละครที่เราอดพูดถึงไม่ได้นั้นคือพวกเอลฟ์ เพราะมีส่วนช่วยในการทำภารกิจครั้งนี้ ดังนั้นในเรื่อง จะมีการสื่อสารกันด้วยภาษาเอลฟ์ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะตัวละครที่เป็นขวัญใจแฟนหนัง เลโกลัส เจ้าชายเอลฟ์แห่งป่าเมิร์ควู้ด กับสำเนียงภาษาเอลฟ์ ที่ตรึงใจคนดูได้ตลอดกาล

ที่มาของภาษาเอลฟ์นั้นไม่ธรรมดา ผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาก็คือ นักเขียนของเราเอง โทลคีนหลงใหลในภาษาศาสตร์เอามากๆ เขาเชี่ยวชาญหลายภาษา และเริ่มต้นประดิษฐ์ภาษาเอลฟ์ ตอนอายุเพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น แต่งเรื่องเอง ภาษาก็ประดิษฐ์เอง อัจฉริยะขนาดแท้จริงๆ นอกจากนี้ โทลคีนยังแตกภาษาเอลฟ์ออกเป็นหลายแขนง ถ้าจะให้ระบุว่าภาษาเอลฟ์มีภาษาอะไรบ้าง คงบอกได้ยาก ที่เราเจอบ่อยในเรื่อง คงเป็น ภาษาเควนย่า (Quenya) กับ ภาษาซินดาริน (Sindarin)

ภาษาเควนย่า ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาฟินนิช ละติน กรีก และเยอรมันโบราณ ส่วนภาษาซินดาริน เป็นภาษาของพวกเอลฟ์สีเทา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาเวลช์ (Welsh) เสียส่วนใหญ่ โทลคีนใช้เวลาทั้งชีวิต ทุ่มให้กับการพัฒนา และการปรับปรุงโครงสร้างของภาษา จนสุดท้ายสองภาษานี้ก็กลายมาเป็นภาษาที่สมบูรณ์ และสามารถใช้งานได้จริง 

ความยิ่งใหญ่ของภาษาเอลฟ์ยังมีมากกว่าที่คุณคิด รู้หรือเปล่าว่า ภาษาเอลฟ์ของโทลคีน คือต้นแบบของการสร้างภาษาประดิษฐ์ยอดฮิตอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาษาวาไลเรียน และภาษาโดทราคี ใน Game of Thrones, ภาษาคลิงงอน (Klingon) ใน Star Trek และภาษานาวี (Na’vi) ใน Avatar รู้แบบนี้แล้ว คำกล่าวที่ว่า การประดิษฐ์ภาษาเอลฟ์ของโทลคีน คือจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ๆ นับไม่ถ้วน ก็คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง

ประโยคหรือวลีเด็ดๆ เช่น

“Agoreg vae”

(You did well)

ทำดีมาก


“Mára valto!”

(Good luck!)

โชคดีนะ


“Melinyel”

(I love you)

ฉันรักเธอ


ในมุมมองของแฟนหนัง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาษาเอลฟ์ เป็นภาษาที่สวย และมีเสน่ห์ ฟังแล้วเหมือนต้องมนต์สะกด นานวันเข้า ภาษาเอลฟ์กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปโดยปริยาย ผู้คนต่างกล่าวขาลไม่ใช่แค่ในหมู่แฟนหนัง 

ทั้งยังมองว่ามันคือภาษาจริงภาษาหนี่ง ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันไปแล้ว จริงขนาดไหน จริงถึงขนาดที่ว่าบางมหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกา มีเปิดสอนวิชาที่ว่าด้วยภาษาของพวกเอล์ฟโดยเฉพาะ มีหนังสือเรียนเอลฟ์ ชื่อ Gateway to sindarin 

และคลิปสอนภาษาพื้นฐานใน Youtube อีกเพียบ อยากรู้ว่าประโยคไหน เขียนเป็นภาษาเอลฟ์ยังไง สามารถเข้าไปที่ ElvishTranslator เว็บช่วยแปลภาษา ที่จะช่วยให้คุณเขียนภาษาเอลฟ์ได้ง่ายขึ้น

โลกของภาษาประดิษฐ์กว้างมากจริงๆ จะเห็นได้ว่าในภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง

ไม่ได้มีภาษาประดิษฐ์เพียงแค่ภาษาเดียว มันสามารถแตกแยกออกเป็นภาษาลูกได้อีกมาก ภาษาประดิษฐ์ในโลกนี้ ก็ไม่ได้มีเท่าที่เรากล่าวมา ที่หยิบยกนำมาเล่าให้ทุกคนฟังวันนี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังคงมีภาษาประดิษฐ์แปลกๆ อีกเยอะแยะมากมาย ปรากฏอยู่ตามงานวรรณกรรมที่เราชอบอ่าน ตามหนังหรือภาพยนตร์ที่เราชอบดู เพียงแต่เราอาจไม่เคยสังเกตุเห็น หวังว่าบทความนี้ จะช่วยเปิดโลกทัศน์ด้านภาษาให้กับทุกคนได้นะคะ ขอตัวลาไปก่อนค่ะ

Geros ilas!, Hajas!, Galu!

เกี่ยวกับบทความ
เกี่ยวกับบทความ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
ผู้เขียน: นางสาวปรียาภรณ์ ปัญญาธรรม
บรรณาธิการ: นางสาวนุศรา เตชะมานิ
พิสูจน์อักษร: นางสาวกนกพร ปัญญาธรรม

แหล่งอ้างอิง

ภาษาประดิษฐ์

High Valyrian

ที่มาของภาษาประดิษฐ์ เขียนโดย Shakti’s

พาร์เซลเมาท์และภาษาพาร์เซล เขียนโดย P.T.Riddle

ความลุ่มหลงในภาษาเอลฟ์ของผู้เขียนลอร์ดออฟเดอะริงส์  เขียนโดย วรรณกรรมเด็ก

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More