Home Art & Culture วรรณ(ะ)กรรม : แท้จริงแล้วคุณค่าของ วรรณกรรม ขึ้นอยู่กับอะไร?

วรรณ(ะ)กรรม : แท้จริงแล้วคุณค่าของ วรรณกรรม ขึ้นอยู่กับอะไร?

69 views

แม้ว่าในขณะนี้ กระแสความนิยมงานเขียนประเภทแฟนฟิคชัน นิยายวาย และ หนังสือการ์ตูน กำลังเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากของเหล่านักอ่านในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับงาน วรรณกรรม ประเภทอื่น งานเขียนเหล่านี้กำลังโดนสังคมโจมตีถึงความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงวัยของผู้อ่าน ถูกนิยามว่า ไม่มีคุณค่าต่อการอ่าน จนเกิดคำถามที่ว่า อะไรคือสาเหตุของการเกิด “วรรณะ” ทางวรรณกรรม

วิเคราะห์คุณค่าของงานเขียน ผ่านความหมายของคำว่า “ วรรณกรรม ” จากมุมมองคนทั่วไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้บัญญัติให้คำว่า วรรณกรรม หมายถึง งานเขียน หรือ งานศิลป์ทุกประเภท ที่สร้างจากการคิด ประสบการณ์ หรือ จินตนาการ เช่น เรื่องเล่า นิทาน และเรียงความ เป็นต้น ในทางกลับกัน ปัจจุบันงานเขียนทุกประเภทไม่สามารถเรียกว่า วรรณกรรม ได้เฉกเช่นในอดีต โดยให้นิยามที่แคบลงว่า “บทประพันธ์รูปแบบใหม่ที่มีคุณค่า” ซึ่งต้องมีกลวิธีการนำเสนอที่มีชั้นเชิง มีภาษาที่สละสลวย หรือมีคุณค่าต่อผู้อ่านและสังคม เช่น นวนิยาย สารคดี กวีนิพนธ์  และพระราชนิพนธ์ เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อนำความหมายของคำว่า วรรณกรรม มาเปรียบเทียบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่า นิยามของคำว่า วรรณกรรม ในปัจจุบัน ครอบคลุมเฉพาะบทประพันธ์ที่ต้อง “มีคุณค่าทางวรรณศิลป์” แล้วเราจะสามารถทราบได้อย่างไรว่า บทประพันธ์แบบใดจึงเข้าข่ายจัดเป็นงานวรรณกรรม? บุคคลหรือสถาบันใดเป็นผู้พิจารณาว่างานเขียนใดเป็นวรรณกรรม? และใช้กฎเกณฑ์ใดมาตัดสิน?

ในปีพ.ศ. 2457 ได้มีการจัดตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้นเป็นตัวแทนในการคัดเลือกงานเขียนทรงคุณค่าในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าต้องการส่งเสริมการแต่งหนังสือให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย แต่กลับรับพิจารณาเฉพาะงานเขียนประเภท กวีนิพนธ์ บทละคร นิทาน ละครพูด และคำอธิบายเชิงศิลป์ โดยงานเหล่านั้น ต้องมีลีลา และรูปแบบการเขียนที่คนในสโมสรเห็นพ้องว่า “ดี” ซึ่งในปัจจุบัน สถาบันประกวดงานเขียนดีเด่นเช่นนี้ยังคงมีอยู่ หลายๆ คน อาจเคยรู้จักกันมาบ้างแล้วสำหรับ งานรางวัลซีไรต์ (S.E.A Write) ซึ่งค่อนข้างมีอิทธิพลต่อแวดวงนักเขียนอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อหนังสือที่เขียนได้รับรางวัล ทั้งผู้เขียน และงานเขียน จะได้รับการยกย่องไปด้วย

วรรณกรรมหรืองานเขียนที่ได้รับเลือกกลายเป็นงานที่มีกระแสในสื่อสังคม และดึงดูดความสนใจของผู้คน คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือการออกมากำหนดว่างานเขียนใดเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าในการอ่านนั้นมีประโยชน์ หรือความเหมาะสมอย่างไร และช่วยส่งเสริมงานเขียนดังที่กล่าวอ้างได้จริงหรือไม่ 

ชนชั้น กับ ประเภทงาน วรรณกรรม ในสังคมไทย

หากมีหนังสือเล่มหนึ่งจากนักประพันธ์ชื่อดังอย่าง วิลเลียม เชคสเปียร์ กับ อีกเล่มของนักเขียนเล็กที่ยังไม่มีผลงานกระแสหลัก คุณคิดว่านักอ่านจะหันเหความสนใจไปที่หนังสือเล่มไหนมากกว่ากัน? แน่นอนว่าต้องเป็นงานเขียนของผู้มีชื่อเสียง 

เพราะเหตุใดคนในสังคมจึงตีกรอบคุณค่าของงานเขียนจากความโด่งดัง? 

เรามองว่ามีคนไม่น้อย มีความสนใจ และยอมจ่ายเงินเพื่อต้องการเสพงานวรรณกรรมชื่อดังเหล่านี้ด้วยใจจริง กับคนอีกส่วนที่เราเชื่อว่านักอ่านหลายๆ คนก็คงจะคล้ายๆ กัน คือ การซื้อหนังสือมา แต่ไม่ได้อ่าน หรือแค่อยากเก็บสะสมเพื่อเป็นคุณค่าทางจิตใจ 

แฟนฟิคชัน การ ทบทวน วรรณกรรม

เมื่อหันมามองงานวรรณกรรมที่ผลิตโดยนักเขียนนอกกระแส ในยุคที่ทุกคนมีสื่อโซเชียลอยู่ในมือ งานเขียนประเภท “แฟนฟิคชัน” งานเขียนที่แต่งขึ้นจากจินตนาการของแฟนคลับที่มีต่อศิลปินที่ชื่นชอบ ที่มีเจตนาสร้างขึ้นมาเพื่อให้ความบันเทิง และสามารถหาอ่านได้ฟรีผ่านทางโลกออนไลน์ กลับถูกมองว่า ด้อยกว่า นวนิยายที่ได้ตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ชื่อดัง แต่ด้วยกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในเวลาต่อมา มีแฟนฟิคชันจำนวนไม่น้อย ได้รับเลือกให้เป็นบทละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์ จนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทำให้มุมมองของคนทั่วไปที่มีต่อแฟนฟิคชันเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกมากขึ้น และหันมาให้ความสนใจ จนถึงขั้นมีการจัดประกวดแฟนฟิคชันรวมถึงให้ค่าตอบแทนแก่นักเขียน เช่น แอปอ่านนิยายชื่อดังอย่าง จอยลดา 

หนังสือการ์ตูน วรรณกรรม

อีกหนึ่งงานเขียนที่ให้ความรื่นรมย์ใจต่อผู้อ่านมาทุกยุคทุกสมัย แต่กลับถูกคนในสังคมมองว่า เนื้อหาสาระไม่มีคุณค่าพอที่จะอ่าน อย่าง “หนังสือการ์ตูน” ที่คนส่วนใหญ่มองว่ามีเนื้อหาที่ขายจินตนาการ ฟุ้งไปด้วยความเพ้อฝัน และเน้นมุกตลกโปกฮา แต่ความเป็นจริงแล้ว หนังสือการ์ตูนหลายๆ เรื่องกลับให้ข้อคิดเตือนใจ สะท้อนและเสียดสีสังคมให้นักอ่านกลับมาคิดได้ไม่ต่างจากงานวรรณกรรมอื่นๆ เลย ยกตัวอย่างเช่น หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Ushijima the Loan Shark ที่เล่าเรื่องชีวิตของมนุษย์ในสังคมของตลาดมืด อย่างเช่น การปล่อยเงินกู้เถื่อน หรือจะเป็นหนังสือการ์ตูนไทยอย่าง ‘MSD อัจฉริยะอ่านใจคน’ จากสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิคส์  ที่สร้างสรรค์ผลงานสะท้อนสังคมในประเทศไทย ทั้งเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยเรียน การใช้โซเชียลมีเดีย และปัญหาการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น สำนักพิมพ์ Let’s comic ที่เล่นกับประเด็นทางสังคม ด้วยการถ่ายทอดด้วยการ์ตูนสั้น เช่น เรื่องสั้นตอน ตำรวจจราจรจอมโบก หรืองานของคุณ ไตรภัค สุภวัฒนา โดยใช้นามปากกาว่า PUCK ที่เลือกนำเสนอการ์ตูนเสียดสีสังคมผ่านสีสันและลายเส้น 2D ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือการ์ตูน ที่มีเนื้อหาตีแผ่ประเด็นทางสังคมได้น่าสนใจได้ไม่แพ้งาน “วรรณกรรม” นี้ เหตุใดถึงมักถูกมองข้าม และยัดเยียดว่าเป็นหนังสือไร้สาระ แท้จริงแล้วเส้นแบ่งของมันอยู่ที่ไหน?

ความ หมาย ของ วรรณกรรม นิยายวาย

งานหนังสือที่ในอดีตต้องอยู่อย่างหลบซ่อน จนได้ฉายาว่า นิยายใต้ดิน มีนักอ่านเฉพาะกลุ่ม และไม่สามารถนำมาวางจัดขายได้อย่างหนังสือทั่วไปบนชั้นหนังสือ สืบเนื่องจากเรื่องความลื่นไหลทางเพศของคู่ตัวละครเอก ที่ดูขัดต่อกรอบความคิดในเรื่องเพศของสังคมไทยอย่าง “นิยายวาย” ที่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่ากำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่สนใจอย่างมาก ซึ่งการเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มมากขึ้นในสังคม คือส่วนสำคัญที่ทำให้นิยายวายกลายเป็นตลาดหนังสือ ที่มียอดขายไม่แพ้งานนวนิยายกระแสหลัก  แต่ถึงแม้ว่างานเขียนวายจะมีความนิยมเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนในสังคมไทยต่างมอง นิยายวาย เป็นงานเขียนที่เน้นขายให้กับกลุ่มเด็กสาว ที่มีรสนิยมอ่านงานเขียน ซึ่งดำเนินเรื่องไปด้วยความสัมพันธ์ชายรักชาย และชอบจิ้นให้มีโมเมนต์ร่วมกันมากกว่า จนนิยามผู้หญิงที่ชื่นชอบนิยายประเภทนี้ว่า “สาววาย” เลยทีเดียว 

ในทางกลับกัน เมื่อคนในสังคมมองนิยายวายเป็นเช่นนี้ จึงเป็นสาเหตุหลักๆ ให้กลุ่มนักอ่านชายบางส่วน ไม่กล้าเผยว่าชอบ หรืออ่านนิยายวายอย่างโจ่งแจ้ง บางคนกลับถูกเหมารวมว่าชอบเพศเดียวกัน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว นิยายวาย ก็เป็นงานวรรณกรรมทั่วไป ที่ให้ความเพลิดเพลินกับผู้อ่าน และสามารถเป็นได้ทั้งนิยายสืบสวนสอบสวน นิยายสะท้อนสังคม หรือแม้แต่นิยายคอมเมดี้ได้ไม่ต่างจากนวนิยายแนวอื่นๆ เพียงแค่ดำเนินเนื้อเรื่องด้วยตัวเอกที่เป็น LGBTQ+ 

ท้ายที่สุด “การนิยาม” เป็นเพียงแค่ปัจเจกที่คนในสังคมสร้างขึ้นมา การตัดสินของใครจะไม่มีความสำคัญอีกต่อไป ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าของตัวมันเอง เราเชื่อมั่นว่า เมื่อเวลาผ่านไป สังคมเติบโตขึ้น ผู้คนในสังคมจะไม่มองว่างานเขียนประเภทนี้เป็นวายหรือไม่ แต่จะมองเป็นเรื่องรสนิยมทางเพศของตัวละครเพียงเท่านั้น

เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ
เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
ผู้เขียน: นางสาวพิชญา วัฒนไพบูลย์
บรรณาธิการ: นางสาวณัชฐิญา ชัยนุภาพ
ผู้ช่วยบรรณาธิการ: นางสาววรางกุล วิลาวัณย์
นางสาวปรียาภรณ์ ปัญญาธรรม
พิสูจน์อักษร: นางสาวเจนจิรา ภู่โต

บรรณานุกรม 

ความหมายของวรรณกรรม เขียนโดย TVonpiece

ใครว่าญี่ปุ่นดี: การ์ตูนสะท้อนสังคมด้านมืดญี่ปุ่นค้ายา เงินกู้ ขายตัว เขียนโดย ผู้จัดการออนไลน์

ถูกมองว่าแปลกมั้ย? ถ้าชอบอ่าน ‘นิยายวาย’  วงการนี้เข้าแล้ว ออกยากมากขอเตือน เขียนโดย  Polahha

นวนิยาย’วาย’ ตลาดคนอ่านไม่เคยวาย เขียนโดย พรเทพ เฮง

แฟนฟิค Fanfiction กับ 6 เหตุผลที่ทำให้ใครๆ ก็ชอบอ่าน เขียนโดย Natira Wongpaitoon

วรรณกรรม คือ อะไร ? เขียนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วรรณกรรมและวรรณคดีคืออะไร? เขียนโดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

วรรณคดีสโมสร เขียนโดย kingkarnk288

The classification ชวนชม…ชนชั้นวรรณกรรม เขียนโดย ไพฑูรย์ ม่วงเพชร

You may also like

Leave a Comment

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More