Home Art & Culture รู้ไว้ ไม่ตกข่าว ย้อนความ 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

รู้ไว้ ไม่ตกข่าว ย้อนความ 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

เขียนโดย ดวงมณี ภังคะญาณ พศวัต มาลัยศิริรัตน์ อาริศรา ผดุงกิจสกุล ธนพร วิลาศรี และจิตสุภา สังขจร

123 views 7 mins read

ช่วงเวลาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา พวกเรานั้นล้วนได้เจอกับ เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 มากมายนับไม่ถ้วนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคร้าย ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การประกาศข่าวใหญ่ หรือแม้แต่ดราม่าต่าง ๆ ซึ่งทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานั้นก็เป็นเหตุการณ์ที่ตราตรึงใจพวกเรา และเป็นกระแสที่โด่งดังอยู่ตามช่วงเวลาในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย และตอนนี้เองก็เข้าสู่เดือนธันวาคม ช่วงเวลาสิ้นปีแล้ว พวกเราจึงได้เขียนรวบรวม 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022 เอาไว้ จะมี เหตุการณ์เด่น อะไรกันบ้าง ไปอ่านกันได้เลย

Table of Contents

1. กลับมาอีกครั้งกับ ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 เหตุการณ์น่าสนใจ 2022 เหตุการณ์ประจำปี 2022 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 เหตุการณ์ 2022 เหตุการณ์เด่น 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

เมื่อวันที่ 12 – 23 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง หลังจากได้ปิดปรับปรุงมาอย่างยาวนานตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 โดยสามารถทำยอดขายไปได้ถึง 347 ล้านบาท และมีผู้เข้าร่วมงานสูงสุดถึง 1.3 ล้านคนภายในเวลา 12 วัน ซึ่งถือว่าสูงขึ้นถึง 74% เมื่อเทียบกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2562 ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะความอัดอั้นจากการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาที่งานอย่างต่อเนื่อง โดยหมวดหนังสือที่สามารถทำยอดขายได้สูงสุดก็คือ “นิยายและวรรณกรรม” รองลงมาคือ “หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น” ซึ่งสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าผู้คนยังคงให้ความสนใจในการอ่านหนังสือเล่มไม่แพ้การอ่านหนังสืออีบุ๊กอยู่

ในส่วนของการเดินทางก็มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากมีการสร้างทางเชื่อมไปยังศูนย์สิริกิติ์ขึ้นมาใหม่ ทำให้สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT แล้วเดินผ่านอุโมงค์ทางเชื่อมเข้าไปงานหนังสือได้เลย หรือหากโดยสารด้วยรถไฟฟ้า BTS ก็สามารถลงที่สถานีอโศกแล้วต่อรถไฟฟ้า MRT ไปลงที่สถานีสุขุมวิท แล้วออกที่ทางออก 3 ก็สามารถเดินเข้างานได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบริการขนส่งไปรษณีย์ไทยเพื่อเอาใจนักอ่านทุกคน ค่าจัดส่งหนังสือแบบ EMS เริ่มต้นที่ 50 บาททั่วประเทศ มาพร้อมกับสแตมป์และคอลเลคชันพิเศษให้คุณได้สะสมมากมาย อีกทั้งยังมีจุดชมวิวถ่ายรูปอยู่บริเวณกลางพื้นที่จัดงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็น Landmark พิเศษที่เพิ่มขึ้นมาในปีนี้อีกด้วย

สำหรับใครที่กลัวว่าผู้คนส่วนใหญ่จะเลิกอ่านหนังสือเล่มและหันไปหาอีบุ๊ก ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะจากความสำเร็จอย่างล้นหลามของมหกรรมหนังสือระดับชาติในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณอันดีที่บอกว่ายังคงมีคนที่รักในการอ่านหนังสือเล่มอยู่ แม้จะอยู่ในยุคที่ผู้คนหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตก็จะยังคงมีผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติจำนวนมากเช่นนี้เหมือนเดิม และอาจจะเพิ่มขึ้นถ้าผู้คนยังตระหนักถึงความสำคัญและความสนุกของการได้เลือกซื้อและอ่านหนังสือที่ตนรัก

2. ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ‘จนกว่าโลกจะโอบกอดเราไว้’ คว้าซีไรต์ปี 65

จนกว่าโลกจะโอบกอดเราไว้ เหตุการณ์น่าสนใจ 2022 เหตุการณ์ประจำปี 2022 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 เหตุการณ์ 2022 เหตุการณ์เด่น 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการจัดการแข่งขันประกวดผลงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเภท “กวีนิพนธ์” ประจำปี 2565 โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565 และเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ได้มีการประกาศผู้ชนะที่สามารถคว้ารางวัลซีไรต์ปีนี้ไปได้ ได้แก่ กวีนิพนธ์เรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ สามารถนำเสนอภาพของสังคมพลิกผันในปัจจุบันที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการระบาดครั้งใหญ่ ปัญหาอาชญกรรม สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมของสื่อต่าง ๆ รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกในอดีตและปัจจุบัน กวีต้องการสื่อว่า แม้ชีวิตจะต้องพบเจอกับความโหดร้ายและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ขอเพียงเรายังเอื้ออาทรต่อกัน โอบกอดกันด้วยความเข้าใจ และเห็นใจซึ่งกันและกัน

ด้วยเหตุนี้ ทางคณะกรรมการจึงตัดสินให้ผลงานวรรณกรรมประเภทกวีนิพนธ์เรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ให้เป็นผู้ชนะรางวัลซีไรต์ประจำปี 2565 ซึ่งถือว่าเป็นกวีหญิงคนที่สองของไทยที่สามารถคว้ารางวัลซีไรต์เอาไว้ได้ต่อจาก จิระนันท์ พิตรปรีชา หญิงคนแรกของไทยที่สามารถคซีไรต์ประจำปี 2532 ไปได้ด้วยเรื่อง “ใบไม้ที่หายไป” สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยเรานั้นก็มีความสามารถในการเขียนวรรณกรรมไม่แพ้ชาติใดในโลก 

การจัดงานประกวดผลงานวรรณเช่นนี้ ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่วรรณกรรมอย่างยิ่ง เพราะเป็นโอกาสที่หลาย ๆ คนจะได้รู้จักวรรณกรรมที่มีแนวคิดดี ๆ จากผู้เขียนผู้มากความสามารถจากหลาย ๆ ประเทศในอาเซียน อย่างเช่นในผลงานชนะเลิศก็ยังสอดแทรกสภาพสังคมในปัจจุบันเอาไว้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้อ่าน และผู้เขียนหวังว่าในอนาคตงานแข่งขันประกวดผลงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จะนำพาวรรณกรรมดี ๆ มาให้ทุก ๆ คนอีกในปีหน้า

3. “100 ปี แห่งความโดดเดี่ยว” มหากาพย์ปัญหาลิขสิทธิ์ระหว่างฉบับแปลเก่ากับฉบับแปลใหม่

100 ปี แห่งความโดดเดี่ยว เหตุการณ์น่าสนใจ 2022 เหตุการณ์ประจำปี 2022 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 เหตุการณ์ 2022 เหตุการณ์เด่น 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

เรื่องเด่นประจำปี 2565 ก็คงหนีไม่พ้นจุดจบของมหากาพย์ปัญหาลิขสิทธิ์ระหว่างสำนักพิมพ์สามัญชน กับ สำนักพิมพ์บทจร ในการถือครองลิขสิทธิ์แปลไทยนวนิยายเรื่อง “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” ที่เขียนโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ซึ่งถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาสเปนเมื่อพ.ศ. 2510 และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อพ.ศ. 2513

“100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกตั้งแต่พ.ศ. 2529 โดย ปณิธานและร.จันเสน ซึ่งแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ และยังคงมีการพิมพ์ซ้ำรวมถึงจัดจำหน่ายมาจนทุกวันนี้ โดยฉบับปณิธานและร.จันเสน ได้รับการพิมพ์ซ้ำตั้งแต่ก่อนที่กฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากนั้นสำนักพิมพ์สามัญชนก็ได้ลิขสิทธิ์การแปลไทยนี้มาต่ออีกทอดหนึ่ง

จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2559 สำนักพิมพ์บทจรได้ซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้มาจากทายาทของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ โดยแปลเป็นภาษาไทยจากภาษาสเปนซึ่งเป็นภาษาต้นฉบับ และได้ทำการเรียกร้องให้สำนักพิมพ์สามัญชนยุติการจำหน่าย “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” แต่การเจรจาไม่สำเร็จ จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2564 เนื่องจากสำนักพิมพ์สามัญชนได้จำหน่ายนวนิยายเรื่องนี้ในงานหนังสือด้วยราคาที่ถูกกว่า ทำให้สำนักพิมพ์บทจรและทายาทเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหายทางผลประโยชน์

จุดสิ้นสุดของข้อพิพาทก็มาถึงในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯได้พิพากษายกฟ้อง โดยอ้างอิงจากอนุสัญญากรุงเบิร์นที่ว่า “หากผู้สร้างสรรค์ไม่ได้แปลผลงานตนเองเป็นภาษาที่ต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในประเทศภาคีใดภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่การเผยแพร่งานเดิมเป็นครั้งแรก สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะแปลงานของตนเป็นภาษาดังกล่าวย่อมหมดสิ้นไป” ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ไม่ได้อนุญาตให้ใครแปลเป็นภาษาไทย การตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยแต่เพียงผู้เดียวของกาเบรียลเจ้าของลิขสิทธิ์จึงระงับไปแล้ว ศาลพิพากษาว่าการแปลนวนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาไทยไม่ใช่เรื่องผิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด และไม่ต้องได้รับอนุญาตจากกาเบรียล จึงสรุปได้ว่า การที่สำนักพิมพ์สามัญชนจัดพิมพ์และจำหน่ายนวนิยายเรื่อง “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” ไม่เป็นการละเมิดต่อสำนักพิมพ์บทจร 

ผู้เขียนคิดว่าคำตัดสินในครั้งนี้ก็ถือเป็นการหยุดการขัดแย้งของทั้งสองสำนักพิมพ์ด้วยวิธีที่สันติที่สุดแล้ว เพราะทั้งสองสำนักพิมพ์ก็ยังคงขายนวนิยายเรื่องนี้ต่อไปได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อพิพาทในครั้งนี้สร้างคำถามให้แก่ผู้คนที่อยู่ในวงการวรรณกรรมอย่างมากในเรื่องของลิขสิทธิ์ อย่างเช่นที่ว่าศาลจะยังคุ้มครองสิทธิของผู้แปลอยู่หรือไม่หากมีการนำไปแปลเป็นภาษาอื่นไปแล้ว เรายังต้องไปขอสิขสิทธิ์จากเจ้าของผลงานอยู่หรือไม่ และการนำวรรณกรรมที่ไม่ใช่ภาษาต้นฉบับมาแปลจะถือว่าผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้อาจจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แค่วงการวรรณกรรมแปลไทยเลยก็ได้ อย่างไรก็ดี บางคนก็พอใจกับคำตัดสินนี้เพราะผู้อ่านจะได้เห็นความหลากหลายของสำนวนการแปล บ้างก็ไม่พอใจเพราะทำให้ผลประโยชน์ที่ทางสำนักพิมพ์ที่จะได้รับลดน้อยลง แต่ในเมื่อศาลตัดสินมาแบบนี้ คงต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้อ่านแล้วว่าชอบ “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” ของสำนักพิมพ์ไหนมากกว่ากัน

4. เทศกาล Colorful Bangkok 2022 เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองศิลปะ

เทศกาล Colorful Bangkok 2022 เหตุการณ์น่าสนใจ 2022 เหตุการณ์ประจำปี 2022 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 เหตุการณ์ 2022 เหตุการณ์เด่น 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

กรุงเทพมหานครได้ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้พื้นที่สาธารณะเป็นเวทีโชว์ความสามารถของศิลปิน และยกพื้นที่ให้ทุกคนมามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ความน่าสนใจของงานนี้คือการรวมเอาเทศกาลและอีเวนต์ศิลปะต่าง ๆ มามากกว่า 120 งาน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 ทำให้ตลอด 3 เดือนนี้ ทั่วกรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยสีสันจากงานศิลปะ แสงสี และดนตรีสำหรับเทศกาล Colorful Bangkok ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศของงานเหล่านี้กันอย่างจุใจ ตามนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีของผู้ว่าราชการ กรุงเทพฯ ‘ชัชชาติ’ โดยแต่ละเดือนนั้นเองก็มีการจัดเทศกาลที่แตกต่างกันไป 

ในเดือนพฤศจิกายนเป็นเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ ไฮไลต์ของงานคือ Unfolding Bangkok ที่เชิญชวนทุกคนเข้าวัดเพื่อไปเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาและสถาปัตยกรรมของวัดผ่าน interactive art ของวัดอินทารามวรวิหารและวัดราชคฤห์ ระหว่างวันที่ 12-20 พ.ย. 2565 

ตามด้วยเทศกาลแสงสีและเทศกาลดนตรีในเดือนธันวาคมและมกราคม ที่มีไฮไลต์ของงานคือ Awakening Bangkok มาในธีม Endless Tomorrow เป็นการจัดแสดงไฟในย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย ระหว่างวันที่ 16-25 ธ.ค. 65 รวมถึงเทศกาลเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน “Night at the Museum Festival 2022” กว่า 20 แห่ง เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, Museum Siam, ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ โดยแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกจัดวันที่ 16-18 ธ.ค. 65 ในกรุงเทพฯ และวันที่ 23-25 ธ.ค. 65 ในเขตปริมณฑลและต่างจังหวัด นอกเหนือจากนั้น ยังมีงาน Siam Music Fest 2022 ที่ได้ขนศิลปินกว่า 80 คนมาขึ้นแสดงบน 6 เวที รอบสยามสแควร์ ระหว่างวันที่ 17-18 ธ.ค. 65 ต่อด้วยกิจกรรมดนตรีในสวนที่สวนสาธารณะ 12 แห่งในกรุงเทพฯ เช่น สวน 60 พรรษา สวนรถไฟ สวนเสรีไทย ฯลฯ 

ผู้เขียนคิดว่าเทศกาล Colorful Bangkok 2022 นี้ถือเป็นตัวเลือกที่ดีในการยกระดับเมืองกรุงเทพฯให้ไปในทางที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนศิลปะสร้างสรรค์ไปด้วยในตัว ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเมืองหลวงของไทยไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยตึกราบ้านช่องและห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่แห่งสีสันที่รวมประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน น่าเสียดายที่เทศกาลนี้มีเพียงแค่ปีเดียว แต่ก็ไม่แน่ว่าในปีหน้าอาจจะมีเทศกาลดี ๆ แบบนี้เกิดขึ้นอีกก็ได้

5. วิลล์ สมิธตบหน้าคริส ร็อกบนเวทีออสการ์ 2022

วิลล์ สมิธตบหน้าคริส เหตุการณ์น่าสนใจ 2022 เหตุการณ์ประจำปี 2022 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 เหตุการณ์ 2022 เหตุการณ์เด่น 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

หากพูดถึงงานประกาศรางวัลออสการ์ในปีนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่คริส ร็อกถูกวิลล์ สมิธตบหน้ากลางเวที จนเกิดเป็นกระแสบนโลกอินเตอร์เน็ตที่พูดถึงความเหมาะสมของนักแสดงทั้ง 2 ฝ่ายมากมายและมีมต่าง ๆ ที่ตามมาอย่างไม่ขาดสายในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ในวันที่ 28 มีนาคม 2565 ระหว่างที่งานประกาศรางวัลตุ๊กตาทอง ออสการ์กำลังดำเนินรายการ ร็อกได้พูดแซวถึงทรงผมของเจด้า สมิธ ผู้เป็นภรรยาของ วิลล์ สมิธ และการเล่นมุกเสียดสีนี้เองทำให้วิลล์ สมิธไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนเกิดเหตุดังกล่าว ซึ่งในเวลาต่อมาไม่นาน วิลล์ สมิธยอมรับว่าการกระทำของตนเองนั้นไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

การกระทำของวิลล์ สมิธบนเวทีออสการ์เป็นเหตุให้เขาถูกแบนจากทุกกิจกรรมที่จัดโดยออสการ์นาน 10 ปี แต่เจ้าตัวแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากออสการ์ก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ที่บทลงโทษจากออสการ์จะมีผลบังคับใช้ และในวันที่ 29 กรกฎาคม วิลล์ สมิธได้ออกมาขอโทษร็อกผ่านช่องยูทูปของตนเอง “Will Smith” ผ่านวิดีโอที่มีชื่อว่า “It’s been a minute…”

ภายหลังทางคริส ร็อกเองไม่ได้แจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายแต่อย่างใดและยังออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายชั่วโมงต่อมา โดยเจ้าตัวกล่าวทำนองว่าตัวเขานั้นไม่ใช่ผู้ถูกกระทำบนเวทีออสก้าร์ และร็อกได้แสดงความเป็นมืออาชีพโดยการขึ้นทอล์คโชว์ของตนต่อหลังจากงานประกาศรางวัลจบลง ถึงแม้จะมีแฟน ๆ ถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวขณะที่เจัาตัวกำลังดำเนินรายการ แต่เจ้าตัวขอไม่แสดงความคิดเห็นและดำเนินทอล์คโชว์ต่อไป

การกระทำของวิลล์ สมิธนั้นไม่ได้ส่งผลต่อเพียงตัวเขาหรือคู่กรณีอย่างคริส ร็อกเท่านั้น ผู้คนที่ให้ความสนใจไม่ว่าจะเป็นทั้งชนผิวสีหรือชาวผิวขาว โดยส่วนมากต่างไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ใช้ความรุ่นแรงของสมิธ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียง “มุกตลก” ของร็อกก็ตาม  และการตัดสินใจช่วงวูบของวิลล์ สมิธในครั้งนี้ได้สร้างรอยด่างพร้อยร้าวให้กับกลุ่มชาวผิวสีและสร้างกระแสการเหมารวม (Stereotype) ที่ว่าชายชาวคนผิวสีมักใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้ทางผู้เขียนมีความคิดว่าการกระทำของทั้งสองฝ่ายนั้นมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องมุกตลกของคริส ร็อกที่เล่นเกี่ยวกับโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) ซึ่งเป็นโรคที่เจดา สมิธต้องเผชิญนั้นถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางจิตใจที่ไม่สมควรนำมาพูดเป็นเรื่องตลกอย่างยิ่ง ส่วนการใช้กำลังด้วยอารมณ์ชั่ววูบของวิลล์ สมิธเองก็ถือว่าไม่เหมาะสม แม้ว่าอาจมีผู้ที่เห็นด้วยกับการที่ร็อกถูกตบหน้า แต่ทางผู้เขียนมองว่าวิลล์ สมิธถือเป็นบุคคลที่ชูหน้าชูตาของกลุ่มคนผิวสีในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทุกคนอาจทราบกันดีว่ามีปัญหาการเหยียดเชื้อชาติมาก ดังนั้นการกระทำของวิลล์ สมิธในครั้งนี้จึงส่งผลต่อชื่อเสียงกับกลุ่มคนผิวสีด้วยเช่นกัน

6. อวตาร 2 ภาคต่อของหนังที่ทำรายได้อับดับ 1 ของโลก หลังจากรอคอยมากว่า 13 ปี

อวตาร 2 เหตุการณ์น่าสนใจ 2022 เหตุการณ์ประจำปี 2022 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 เหตุการณ์ 2022 เหตุการณ์เด่น 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

อวตาร (Avatar) ภาพยนตร์แนวไซไฟแฟนตาซีฟอร์มยักษ์ระดับโลกที่แฟน ๆ ต่างรอคอยภาคต่อกันมาอย่างยาวนาน ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 ที่กำกับโดยผู้กำกับมือทองอย่าง เจมส์ คาเมรอน และด้วย CGI ที่ล้ำหน้าเหนือยุคในสมัยนั้นทำให้เรื่องนี้ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม กวาดรางวัลระดับโลกหลายรายการ และได้ขึ้นเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสามารถทำเงินไปได้มากกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว ๆ 1 แสนล้านบาท

Avatar ได้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในภาคต่อ  “ Avatar 2 ” หรือ “Avatar: The way of water” ที่มีชื่อไทยว่า “อวตาร วิถีแห่งสายน้ำ” หลังจากที่ปล่อยให้แฟน ๆ รอคอยกันถึง 13 ปี ซึ่งได้ประกาศฉายในไทยวันที่ 14 ธันวาคม 2565 โดยตัวหนังมีความยาวหนังถึง 3 ชั่วโมงและเป็นการปฏิวัติวงการ CGI ยุคใหม่อย่างแท้จริงซึ่งได้ใช้งบทุ่มทุนสร้างไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาทเพื่อให้พวกเราเต็มอิ่ม จุใจ สมการรอคอย

ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องนี้มียอดจองตั๋วล่วงหน้าอย่างถล่มทลายเพราะแฟน ๆ ต่างรอคอยกันมาอย่างยาวนาน ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่เข้าฉายได้เพียงแค่วันแรกก็สามารถทำรายได้อย่างเป็นทางการสูงถึง 50 ล้านบาท โดยมีการวิจารณ์อย่างล้นหลามว่าเป็นหนังที่สมการตั้งตารอเป็นอย่างมาก ถ้าเปรียบเป็นคะแนน ก็ให้ความสนุกไปถึง 10000/10 กันเลยทีเดียว

จากรายได้และกระแสตอบรับของผู้ชมแสดงให้เห็นว่าแม้จะผ่านไปแล้วกว่า 13 ปี ความสนใจที่มีต่อภาพยนต์อวตารนั้นก็ไม่ได้ลดหายไปเลย มิหนำซ้ำยังเป็นการเพิ่มฐานผู้ชมหน้าใหม่ที่ไม่เคยรู้จักภาพยนต์เรื่องนี้มาก่อนเสียอีก เพราะทั้งเนื้อเรื่องและภาพ CGI นั้นก็เยี่ยมยอดสมตามคำร่ำลือจริง ๆ ถ้าใครได้มีโอกาสได้รับชมภาพยนต์เรื่องนี้แล้วอยากดูภาคต่อก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรอนาน เพราะผู้กำกับเจมส์ คาเมรอน ได้วางแผนไว้แล้วว่าภาคต่อไปจะฉายในปี 2024 รู้แบบนี้แล้วก็เตรียมเก็บเงินจองตั๋วหนังกันได้เลย

7. APEC 2022 การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่มีไทยเป็นเจ้าภาพ

APEC 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

การประชุมเอเปค 2022 หรือ APEC 2022 เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคตลอดทั้งปีนี้ รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้หัวข้อ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงสู่สมดุล” โดยในงานนี้ไทยก็ได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาใช้เป็นแนวคิดหลักในการประชุมครั้งนี้ด้วย

เจ้าภาพงานเอเปคนี้สำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก เพราะนี่คือโอกาสที่ไทยจะได้ส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล และได้เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ นอกจากนี้การที่ไทยเป็นเจ้าภาพยังแสดงให้เห็นว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดพร้อมกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้

แต่ก็ไม่ใช่ว่าการประชุมนี้จะดำเนินการไปอย่างเรียบง่ายราวกับโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีกลุ่มต่อต้านการประชุมวิจารณ์ว่าโมเดล BCG นี้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุนมากกว่าประชาชน ทั้งยังมีการประท้วงขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต่อต้านนโยบายของสี จิ้นผิง ผู้เป็นหนึ่งในแขกของการประชุม นอกจากนี้ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ประท้วงในระหว่างการประชุมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพในงาน APEC 2022 ถือว่าเป็นเหตุการณ์เด่นของประเทศไทยในปีนี้ เพราะการประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เปิดโอกาสให้ไทยได้นำเสนอสินค้าทางเศรษฐกิจของตนให้กับประเทศอื่น ซึ่งประชาชนก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะพัฒนาไปถึงขั้นไหน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าแนวทางเศรษฐกิจของไทยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างแน่นอน

8. ปลดล็อกกัญชาเสรีในประเทศไทย

ปลดล็อกกัญชาเสรี เหตุการณ์น่าสนใจ 2022 เหตุการณ์ประจำปี 2022 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 เหตุการณ์ 2022 เหตุการณ์เด่น 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

ประเทศไทยได้มีการปลดล็อกกัญชาเพื่อผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เพราะกัญชานี้สามารถนำไปใช้ประโยนช์ได้มากมายโดยเฉพาะในทางการแพทย์ จึงได้มีการบังคับใช้กฎหมายด้วยการปลดล็อกตัวกัญชาออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติด

กฎหมายปลดล็อกกัญชาเสรี “กัญชง กัญชา” ได้มีผลบังคับใช้ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นวันแรกที่ให้ประชาชนสามารถปลูกพืชชนิดนี้บริเวณบ้านได้แต่ต้องไม่เกิน 15 ต้นต่อครัวเรือน และใช้ในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องมีการแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ขององค์การอาหารและยา ในทางตรงกันข้ามส่วนของการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นั้นยังคงต้องมีการขออนุญาต เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร เครื่องสำอางค์ และยาสมุนไพร ซึ่งในการอนุญาตให้นำส่วนประกอบของกัญชามาใช้ก็ได้นำความกังวลมาสู่หลายภาคส่วนในสังคมอยู่เช่นกัน 

แม้ว่าจะมีการปลดล็อกกัญชาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำตามที่ใจต้องการได้ทุกอย่างเพราะมันยังคงอยู่ในการควบคุม ยกตัวอย่างเช่น การจะครอบครองกัญชาได้นั้นคุณต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ตามข้อกฎหมายกัญชาที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนที่ว่า “…ห้ามไม่ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ครอบครอง จำหน่าย เคลื่อนย้ายพืชกัญชา…” นอกเหนือจากนั้น ถ้าถูกร้องเรียนจากกลิ่นหรือควันจากกัญชาแล้วผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาทถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีกฎหมายควบคุมอีกมากมายในเสรีกัญชานี้

ทางผู้เขียนเห็นว่าการปลดล็อกกัญชานี้ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ต่อประเทศไทยเท่าที่ควร เพราะการปลดล็อกพืชชนิดนี้นั้นเหมือนจะไม่ได้ปลดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากสักเท่าไหร่ อ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชงนั้นมีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกกัญชา โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสพหรือใช้กัญชาโดยเสรีเพื่อนันทนาการไม่ใช่การใช้ทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาผู้ป่วย การให้อนุญาตประชาชนปลูกกัญชา กัญชงในบ้านโดยไม่มีระบบการจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากบุคลากรทางการแพทย์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการนำกัญชาไปใช้อย่างไม่เหมาะสมและอาจส่งผลเสียต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมในวงกว้าง”  

ในท้ายที่สุด การปลดล็อกกัญชานี้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอยู่พอสมควร เห็นได้จากการนำพืชนี้มาเป็นส่วนผสมในอาหารต่าง ๆ ซึ่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ควรระวังเอาไว้หากเกิดอาการแพ้ นอกจากนี้คนไทยอาจจะต้องเฝ้าระวังการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมภายในชุมชนอีกด้วย 

9. ฟุตบอลโลก 2022 กับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของไทย หรือนี่จะเป็นจุดจบของกฏ Must Have & Must Carry

ฟุตบอลโลก 2022 เหตุการณ์น่าสนใจ 2022 เหตุการณ์ประจำปี 2022 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 เหตุการณ์ 2022 เหตุการณ์เด่น 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

ถือเป็นข่าวดังในปีนี้สำหรับคอฟุตบอลที่ต้องลุ้นจนวินาทีสุดท้ายว่าจะได้ดูฟุตบอลโลกหรือไม่ และจะได้ดูกันแบบไหน เพราะกว่าไทยเราจะปิดดีลได้ก็ปาไป 3 วันก่อนการแข่งนัดแรกจะเริ่มกันเลยทีเดียว โดยสาเหตุก็มาจากปัญหาเรื่องเงินค่าลิขสิทธิ์ที่สูงลิ่ว และกฏ Must Have และ Must Carry ของกสทช.นั่นเอง

กฏ Must Have และ Must Carry ถูกบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2555 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดในยุคทีวีดิจิตอล โดยกฏทั้งสองระบุไว้ว่า คนไทยจะต้องสามารถเข้าถึงรายการที่กำหนดไว้ใน Must Have (ซีเกมส์, อาเซียน พาราเกมส์, เอเชียน เกมส์, เอเชียน พาราเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย) และ คนไทยจะต้องรับชมแบบฟรี ๆ ในทุกแพลตฟอร์ม 

สองกฏนี้ดูเหมือนจะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ชม แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับสร้างความวุ่นวายให้เสียมากกว่า เพราะมันทำให้ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์มีราคาสูงขึ้นเนื่องจากสามารถดูได้ทุกช่องทั่วประเทศ ทางเจ้าของลิขสิทธิ์จึงต้องคิดค่าลิขสิทธิ์เพิ่ม และทางเอกชนหรือเพย์ทีวีขาดแรงจูงใจในการซื้อลิขสิทธิ์เพราะขาดรายได้เนื่องจากผู้ชมสามารถดูผ่านฟรีทีวีได้อยู่แล้ว ในขณะเดียวกันทางฟรีทีวีก็ไม่มีแรงจูงใจเช่นเดียวกันเพราะต้องอนุญาตให้เพย์ทีวีนำไปถ่ายทอดสดต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จนกระทั่งในปี 2565 ราคาค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมีราคาที่สูงมาก จนกว่าจะปิดดีลได้ก็ต้องเสียไปราว 1400 ล้านบาทเพื่อให้คนไทยสามารถดูฟุตบอลโลกครบ 64 แมตซ์ โดยได้เงินสนับสนุนมาจาก กสทช. จำนวน 600 ล้านบาท จากการสนับสนุนของภาคเอกชนอีกจำนวน 700 ล้านบาท และได้จากค่าอื่น ๆ เช่น ภาษี ค่าจัดการ อีก 100 ล้านบาท

แม้จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ได้แล้วแต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เนื่องจาก ทรู ผู้เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนจำนวน 300 ล้านซึ่งคิดเป็น 25% จากราคาเต็มได้เรียกร้องสิทธิพิเศษในการถ่ายทอดสดผ่านทาง True 4U มากถึง 32 นัด และสามารถเลือกนัดได้ก่อนช่องอื่น ๆ นอกจากนี้ทรูยังบล็อกกล่อง IPTV อื่นๆ ทำให้การจะดูบอลโลกจะต้องดูผ่านกล่องของทรูเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าคนที่ใช้กล่องเจ้าอื่นต้องไปหาซื้อหนวดกุ้งเพื่อรับสัญญาณจากทีวีดิจิตอลเอาเอง ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ขัดกับกฏ Must Carry และสร้างความไม่พอใจกับหลาย ๆ ฝ่าย

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เริ่มมีการตระหนักถึงการมีอยู่ของกฏ Must Have และ Must Carry ประชาชนหลายคนเริ่มคิดว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนั้นไม่จำเป็น เพราะไม่มีทีมชาติไทยอยู่ในการแข่งและไม่ใช่คนไทยทุกคนที่อยากดูบอลโลก ซึ่งทางกสทช. ก็กำลังพิจารณาปรับปรุงกฎ Must Have ของไทยในอนาคต ซึ่งนั่นอาจจะทำให้คนไทยไม่ได้ดูบอลโลกฟรีอีกต่อไปในอนาคตเลยก็ได้ ทางผู้เขียนเองก็เป็นคนชอบดูฟุตบอลโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าการต้องฉายฟุตบอลโลกทุกนัดบนทีวีทุกช่องในราคาลิขสิทธิ์ที่สูงลิ่วก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นนัก การปรับปรุงกฏของกสทช.จึงอาจเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ในอนาคตคอฟุตบอลอาจจะต้องเตรียมเงินเอาไว้เผื่อฟุตบอลโลกครั้งต่อไปเพราะครั้งหน้าจะมีเจ้าภาพตั้ง 3 ประเทศนั่นคือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งถ้าพลาดไปก็คงน่าเสียดายมาก

10. อีลอน มัสก์ ซื้อกิจการของทวิตเตอร์

อีลอน มัสก์ เหตุการณ์น่าสนใจ 2022 เหตุการณ์ประจำปี 2022 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 เหตุการณ์ 2022 เหตุการณ์เด่น 2022 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022

หนึ่งในเหตุการณ์บนโลกโซเชียลที่เป็นที่พูดถึงและถูกจับตากันอย่างไม่อาจละสายตาได้จนถึงตอนนี้ นั่นคือการเทคโอเวอร์ Twitter ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียง 1 วัน มัสก์ประกาศชัยชนะด้วยการทวีต “the bird is freed” มีความหมายว่า “นกฟ้าเป็นอิสระแล้ว” และซ้ำด้วยการเชิญอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างคุณปารัก อกราวัล (Parag Agrawal) ออก

มัสก์ได้เริ่มแผนพัฒนา Twitter หลังจากเข้ามารับตำแหน่ง CEO ครั้งแรกในวันที่ 30 ตุลาคม 2565 โดยเป็นการปรับปรุงระบบยืนยันตัวตน หรือ “เครื่องหมายติ้กถูกสีฟ้า” และเปิดตัวด้วยชื่อ “Twitter Blue” ในราคา $19.99 (หรือราว 700 บาท) เพื่อเป็นคัดกรองบัญชีที่ถูกสร้างมาเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่นและบัญชีบอท แต่ด้วยเสียงตอบรับที่ไม่สู้ดี มัสก์จึงลดราคาลงเหลือเพียง $8 (หรือราว 280 บาท)

หลังจากที่มักส์ได้เริ่มเผยแพร่ข่าวการพัฒนา Twitter Blue เหล่าอินฟลูเอนเซอร์บน Twitter ต่างแสดงความไม่พอใจและส่วนใหญ่ให้ความเห็นกันว่า Twitter Blue นั้นไร้สาระและไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย โดยคุณ Charlie @MoistCr1TiKal ได้ออกความคิดเห็นผ่านการทวิตว่า “เครื่องหมายติ้กถูกสีน้ำเงินมันก็ดูตลกมากพอแล้ว แต่ลองนึกภาพเอาว่าต้องจ่ายค่าติ้กถูกนั่น 8 ดอลล่าห์ต่อเดือน สู้เอาเงินไปกดลงชักโครกยังจะดีซะกว่า พวกคุณก็แค่จ่ายซื้อสัญลักษณ์ติดบัญชีที่เอาไว้ให้คนอื่นได้รู้ว่าคุณมันปัญญาอ่อน”

และแล้วสิ่งที่มัสก์พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกลับได้ผลตรงกันข้าม ในวันที่ 10 พฤษจิกายน 2565 หลังจาก Twitter Blue เปิดบริการอย่างเป็นทางการได้เพียงแค่ 1 วัน มีบัญชีผู้ใช้ที่ได้รับการยืนยันตัวตนแล้วจากบริการใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างล้นหลาม ซึ่งดูผิวเผินอาจเป็นเรื่องดี แต่หลาย ๆ บัญชีนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการปลอมแปลงเป็นบุคคลและบริษัทต่าง ๆ มากมาย และจากเหตุการณ์นี้เองทำให้มีหลาย ๆ องค์กรเสียทรัพย์สินและรายได้จำนวนมากกว่าหลายพันล้านตอลล่าห์สหรัฐ และเหตุการณ์เหล่านี้เอง ทำให้มัสก์ต้องหยุดบริการ Twitter Blue อย่างกระทันหันในวันถัดมา

จนปัจจุบันหลังจากเหตุการณ์การโกลาหลมากมายที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน Twitter Blue ก็กลับมาให้บริการอีกครั้งในวันที่ 29 พฤษจิกายน 2565 แต่จำกัดการให้บริการเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาคา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียเท่านั้น

การเข้าซื้อทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์นั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อแพลตฟอร์มนี้อย่างมากภายในปีเดียว ผู้เขียนคิดว่านโยบายส่วนใหญ่ของมัสก์ที่ออกมาจนถึงปัจจุบันสร้างความลำบากต่อกลุ่มผู้ใช้มากกว่าผลประโยชน์เสียอีก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าผู้ใช้หลายคนจะเริ่มไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม เราไม่มีทางรู้เลยว่าชะตากรรมของทวิตเตอร์จะเป็นอย่างไรต่อไป จึงอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้ใช้แล้วว่าจะยังต้องการใช้แอปนี้ต่อไปหรือไม่

บทสรุป


เป็นอย่างไรกันบ้างกับเหตุการณ์สำคัญประจำปีนี้ เรื่องราวมากมายที่ได้เกิดขึ้นนั้น มีทั้งเรื่องที่น่ายินดีด้วยความสุข และเรื่องที่น่าขบคิดด้วยความสงสัย แต่ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว พวกเราที่เป็นผู้ก้าวเดินต่อไปในอนาคตคงทำได้เพียงเก็บความทรงจำดี ๆ เอาไว้เป็นความสุข ส่วนเรื่องทุกข์ ๆ ที่พลาดพลั้งก็ให้เป็นบทเรียนให้ดำรงชีวิตกันไป

ส่วนผู้อ่านถ้ามี 10 เหตุการณ์น่าสนใจประจำปี 2022 ที่อยากจะแบ่งปันสามารถโพสต์ลงในคอมเม้นต์ด้านล่างได้เลย

สุดท้ายทุกอย่างก็มีทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบ เช่นเดียวกันกับปี 2022 ที่กำลังจะจบลง และเริ่มต้นสู่ปีใหม่ 2023 ไม่ว่าเราจะเคยผ่านอะไรมาก็ตาม แต่เมื่อปีใหม่มาถึง เราก็ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ใหม่ ๆ และใช้ชีวิตกันต่อไป

อ้างอิง1

อ้างอิง2

Position: Editor, Author , Proof Reader

About the article

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ประจำปี 2565-66

กองบรรณาธิการ

- ดวงมณี ภังคะญาณ
- พศวัต มาลัยศิริรัตน์ 
- อาริศรา ผดุงกิจสกุล
- ธนพร วิลาศรี
- จิตสุภา สังขจร

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More