สนทนากับเธอ: อุรุดา โควินท์
Home Interview สนทนากับเธอ: อุรุดา โควินท์

สนทนากับเธอ: อุรุดา โควินท์

by niwat59
63 views

Table of Contents

สนทนากับเธอ: อุรุดา โควินท์ สนทนากับนักเขียนสาว

สนทนากับเธอ: อุรุดา โควินท์ หากคุณมองหาหนังสือเขียนโดยนักเขียนสาวบนแผงหนังสือวัยรุ่น คุณอาจจะค้นหาไม่ยาก แต่ถ้าคุณจะหานักเขียนสาวในสายวรรณกรรม ชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึงคงไม่มีใครนอกจาก อุรุดา โควินท์ เธอเขียนหนังสือมาอย่างยาวนาน มีผลงานสม่ำเสมอ บ้างก็ว่าเธอไปได้ทั้งสายโรแมนติก และยังมาได้ในทางวรรณกรรม อุรุดา โควินท์ เป็นชื่อสกุลจริง เกิดที่จังหวัดเชียงราย จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยพายัพ สาขาบัญชีจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเรียนจบก็มาประกอบอาชีพเป็นพนักงานธนาคารนานถึง 7 ปี เกิดความอิ่มตัวกับงานธนาคาร รู้สึกว่าทำไปแล้วเริ่มเบื่อไม่สนุก จึงเริ่มเปลี่ยนมาทำงานเกี่ยวกับศิลปะที่รู้สึกว่าทำแล้วมีความสุขมากกว่า จนได้ลองเขียน

หลายปีที่ผ่านมาเธอเขียนหนังสืออย่างเดียว โดยมีคอลัมน์ประจำในนิตยสาร สกุลไทย ขวัญเรือน  และ ไรท์เตอร์  อีกทั้งยังมีพ๊อคเก็ตบุ๊กจัดพิมพ์อีกกว่าสิบเล่ม จากสำนักนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งมติชน ไรเตอร์ ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทความ คือหลักฐานยืนยันตัวตนในเส้นทางนี้ เธอเป็นที่ยอมรับในหมู่นักเขียนและนักอ่าและมีแฟนหนังสือที่ติดตามอยู่ไม่น้อย แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแวดวงนิตยสาร ทำให้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ประเทศไทยมีนิตยสารหัวเล็ก-ใหญ่ปิดตัวไปจำนวนมาก ทุกเล่มที่เธอเคยส่งต้นฉบับต่างก็ปิดตัว (ไล่ตามลำดับเวลา ปี 2558 คือ ไรท์เตอร์, ปี 2559 คือ สกุลไทย, ปี 2560 คือ ขวัญเรือน) เธอเริ่มผันตัวเองเข้าครัว เปิดขายน้ำพริกพร้อมกับยังเขียนหนังสือ ล่าสุดเธอกลับสู่บ้านเกิดที่เชียงราย เปิดแบบแสนอบอุ่นเป็นที่พักสำหรับนักเดินทาง นี่เป็นบทสัมภาษณ์ล่าสุดของเธอที่เม่นวรรณกรรม และเพจ Facebook เม่นวรรณกรรม ยินดีนำเสนอ

เริ่มคิดถึงการทำอาชีพขีดๆ เขียนๆ ตั้งแต่เมื่อไร

โดยไม่รู้ตัว การเขียนอยู่กับเรามานานมากค่ะ ตั้งแต่เรียน ม.ต้นเลย เพื่อนจดเลคเชอร์ เราเขียนบันทึก เขียนบทกวี (เราคิดว่ามันเป็นบทกวีอะนะ) พอโตมาหน่อย ริอ่านคบผู้ชาย เราก็เขียนจดหมายรัก แล้วมันเหมือนถูกสาปให้เขียนจดหมายรักค่ะ คือคนรักกี่คนกี่คน คบกันไม่เท่าไร ย้ายไปอยู่คนละจังหวัด ต้องติดต่อกันทางจดหมาย อืม… ตอนนั้นไม่มีมือถือนะคะ โทรศัพท์บ้านมีค่ะ แต่แม่แอบฟัง ดังนั้น เราจึงเขียนจดหมายรักอย่างจริงจัง แต่ละฉบับยาวยืด หลายๆ คนรักรวมกัน เราว่านับร้อยฉบับนะคะ นั่นคือก่อนที่เราจะคิดเป็นนักเขียน ครั้นเขียนเรื่องสั้นได้แล้ว เราก็ยังไม่คิดจะทำเป็นอาชีพอยู่ดีค่ะ (หากคำว่าอาชีพหมายถึงมีรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต) เราเขียนมาเรื่อยๆ กระทั่งตัดสินใจว่า เอาล่ะ เอาไงเอากัน ลุยกับมันสักตั้ง ทำเป็นอาชีพให้ได้… ก็ราวๆ 6 ปีที่ผ่านมานี้เองค่ะ

แล้วผลงานชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์คือเรื่องอะไร ตอนอายุเท่าไร และเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

เขียนตอนอายุ 27 เป็นเรื่องสั้นแรกที่เขียน และได้ตีพิมพ์เลย ชื่อเรื่องดอกไม้แห่งมิตรภาพ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับงานธนาคารค่ะ

ถ้าหากต้องอธิบายเกี่ยวกับงานของคุณกับนักอ่านที่ไม่เคยอ่านงานคุณมาก่อน คุณจะพูดถึงสไตล์การเขียนหรือสิ่งที่งานของคุณต้องการจะสื่อว่าอย่างไร

สิบห้าปีที่แล้ว เราบอกตัวเองว่า เราจะเป็นนักเขียนเรื่องรักที่หนักแน่น นั่นเป็นคำนิยายที่รวบรัดดีค่ะ เราเป็นคนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ ทุกอย่างในชีวิตของเราเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ มันเปลี่ยนแปลงเราได้จริงๆ และมันมีความหมายต่อเราจริงๆ งานของเราทุกชิ้น จึงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของผู้คนที่หลากหลายค่ะ และเราพยายามที่จะทำให้เรื่องรักของเราก้าวสู่ดินแดนของศิลปะด้วยความเรียบง่ายค่ะ (อยากซับซ้อนอยู่ค่ะ แต่เราไม่ใช่คนซับซ้อน งานก็เช่นกันค่ะ)

สนทนากับเธอ: อุรุดา โควินท์

สนทนากับเธอ ครั้งนี้ ทำให้เราอยากรู้ถึงแรงบันดาลใจในการเขียน ได้มาจากอะไร

โหย…จากลิปสติกหนึ่งแท่งก็มี จากเสียงเคาะกระทะก็มี จากความหลงใหลก็มาก และแน่นอน จากความสูญเสีย และความเจ็บปวด สำหรับเรา ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา ที่เราได้เจอ จะไม่สูญเปล่าค่ะ เรานำมันมาใช้ในการเขียนได้เสมอ แปรรูป แต่งเติม ขยับขยาย ได้ทั้งนั้นค่ะ

แล้วมีงานที่เอาตัวเองมาเป็นต้นแบบให้ตัวละครบ้างไหม

มีค่า แต่เราก็บิดมันเยอะมาก เหลือตัวเราไม่เท่าไรเอง เวลาเจอสถานการณ์เดียวกับตัวละคร เราคงตัดสินใจต่างกัน อันที่จริง ความเป็นเรา หากมองในฐานะตัวละครหนึ่ง มันก็มีหลายแง่มุมและซับซ้อนนะคะ เราหยิบมาใช้ทีละนิดละหน่อย หากเป็นนวนิยาย เรามักโยนความหลงใหลหนึ่งของเราลงไปในตัวละคร เพื่อให้เราเชื่อมโยงกับเธอ เหมือนเธอมีชิ้นส่วนของเรา เวลาเขียน เราจะไม่เบื่อค่ะ

ระยะเวลาในการเขียนแต่ละชิ้นแต่ละเล่ม ใช้เวลาประมาณเท่าไร

ถ้าเป็นเรื่องสั้นก็ 3 วัน ถึงสองสัปดาห์ค่ะ แล้วแต่ความยาว นิยายก็ราว ครึ่งปีถึงหนึ่งปีค่ะ

มาทางด้านฝั่งดนตรีกับภาพยนต์บ้าง ชอบฟังเพลงและดูภาพยนตร์สไตล์ไหน

ชอบเพลงลูกทุ่ง และเพลงร็อคค่า ส่วนหนังเราดูหมดเลยค่ะ ชอบที่สุดคือหนังของ John Cassavetes ค่ะ

แล้วรู้สึกว่า ทั้งสองสิ่งนี้มีอิทธิพลกับงานเขียนของคุณบ้างไหม

มีแน่นอนค่ะ อย่างที่บอก ทุกอย่างที่เราสัมผัสมีผลต่อการเขียนของเรา  แต่สิ่งที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือหนังสือค่ะ

คุณมีวิถีหรือสไตล์ในการทำงานอย่างไร ปกติทำงานตอนไหน

เราจัดตารางการทำงานให้ตัวเองล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือนค่ะ ว่าวันไหนจะเขียนอะไรบ้าง คือเราไม่มีวันพักให้ตัวเอง ยกเว้นมีธุระนอกบ้านทำให้ไม่สามารถเขียนได้จริงๆ หรือตั้งใจไปเที่ยว (กรณีนี้เราก็จะปรับตาราง ทำทดแทนให้มากขึ้น ก่อนหรือหลังเที่ยว เพื่อให้งานลุล่วงตามเป้าหมายในเดือนนั้นๆ) เราทำงานทุกวัน เพราะเราจะรู้สึกมีชีวิตชีวา หลับอย่างสบายใจเมื่อประจักษ์ว่าวันนี้งานเขียนคืบหน้า แต่เราทำงานไม่หนักนะคะ เหมือนมวยที่ต่อยเก็บคะแนนไปเรื่อยๆ เบื่อก็หยุดดูคลิปแต่งหน้า เล่น Facebook หรือดูทีวีย้อนหลัง ทำกับข้าว ซื้อของ จะใช้คำว่าเขียนไปพักไปก็ได้ เราเขียนช้าด้วยนะคะ ดังนั้นต้องอาศัยลูกขยันค่ะ

วางอนาคตอาชีพนักเขียนของตัวเองไว้อย่างไร

เอาจริงๆ นะคะ ตอนนี้คือดับเครื่องชน มีอะไรทำได้-ทำค่ะ และอนาคตที่ว่า เราไม่อาจวางข้ามปีได้เลย ในภาวะเช่นนี้ เราบอกได้แต่เพียงว่า เราจะยืนอยู่ในฐานะนักเขียนให้จงได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รายได้จากการเขียนไม่พอใช้ หาจากทางอื่นค่ะ แยกมันออกจากกัน หาเงินให้พอใช้ แล้วก็เขียนหนังสือไปด้วย คือเราต้องกินให้อิ่ม และหาให้พอใช้ก่อน เราถึงจะคิดอะไรออก นิยายเรื่องใหม่ของเรา ก็จะลองเผยแพร่ทางเว็บไซต์ค่ะแต่อย่างที่บอกไงค่ะ แยกเงินออกจากการเขียน ได้เงินเท่าไรก็ช่างมัน ไม่เป็นไร เราพอกินแล้ว ตอนนี้ต้องทำอย่างนี้ค่ะ คิดเสียว่าช่วงหนึ่งงานเขียนเคยเลี้ยงเราได้ ตอนนี้เราก็เป็นฝ่ายเลี้ยงมันบ้าง เปลี่ยนกัน

มีสิ่งที่อยากสื่อสารถึงนักอ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ๆ บ้างไหม

ฝากอุรุดา โควินท์ไว้พิจารณาอีกหนึ่งนามปากกานะค้า จุ๊ฟ

สำหรับนักอ่านและสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ รักแล้วเราต้องลุยค่ะ ลุยอย่างเดียวไม่พอ เราต้องอดทนและรอคอยได้ด้วย ถ้าเราไม่เลิก ต้องมีวันของเราค่ะ เชื่อว่ามันมีวันของเราเท่าๆ กับวันของคนอื่นนั่นล่ะ วันไหนจะเป็นของใครเท่านั้นเอง

สุดท้ายแล้ว ผลงานใหม่ที่กำลังจะออก เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

นิยาย หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา เป็นเรื่องราวของนักเขียนสองคนที่ใช้ชีวิตด้วยกันในหมู่บ้านหุบเขานครศรีธรรมราช ตอนนี้อยู่ระหว่างการขัดเกลา จะส่งให้สำนักพิมพ์ที่เราหมายตาไว้ภายในเดือนมกราคมปี 2560 ค่ะ ต่อจากนั้นก็รอฟังข่าว ซึ่งหวังว่าจะเป็นข่าวดี และส่วนที่เหลือคือหน้าที่ของสำนักพิมพ์ค่ะม”

ผลงานที่จัดพิมพ์แล้วของอุรุดาท์

ผลงานรวมเล่มของ อุรุดา โควินท์

  • มิตรภาพยังอยู่กับเรา (2541)
  • ลูกสาวของดอกไม้ (2543)
  • มีไว้เพื่อซาบ (2550)
  • ผีเสื้อที่บินข้ามบึง (2556)
  • ผู้ชายในฝัน (2556)
  • สมิงพระราหู (2556)
  • ขอบของแสง ปีกแห่งเงา (2557)
  • แหวนพระจันทร์ (2557)
  • เมรีในร้านหนังสือ (2558)
  • หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา (2560)

รวมคอลัมน์จาก ‘ครัวสีแดง’ 6 เล่ม

  • ครัวสีแดง (2552)
  • บ้านเกิด ครัวของเรา กับร้านในสวนลิ้นจี่ (2556)
  • Far and Near ใกล้และไกลในความทรงจำ (2557)
  • My Eros เมื่อรักได้สัมผัส ครัวสีแดง (2558)
  • Cinderella’s Apron ครัวสีแดงกับผ้ากันเปื้อนของนางซิน (2558)
  • ครัวสีแดง แซ่บ PARTY (2559)

You may also like

Leave a Comment

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More