Home Literature Dan Harmon Story Circle : วัฏจักรเรื่องราวของแดน ฮาร์มอน : สิ่งที่นักเขียนจะได้เรียนรู้จาก Rick and Morty

Dan Harmon Story Circle : วัฏจักรเรื่องราวของแดน ฮาร์มอน : สิ่งที่นักเขียนจะได้เรียนรู้จาก Rick and Morty

by niwat59
929 views 9 mins read

หลายทศวรรษต่อมา เราได้ยินชื่อเสียงเกี่ยวกับ Dan Harmon ผู้สร้างรายการฮิต Rick and Morty รวมถึง Community (TV series sitcom) หลายร้อยเอ็กพิโซด มากกว่า 6 ซีซัน ทว่าแดน ฮาร์มอนไม่ได้เป็นเพียงผู้สร้างรายการทีวีชื่อดังเท่านั้น แต่เขายังเป็นคนเขียนบทผู้พัฒนาโครงสร้างการเล่าเรื่อง บทความนี้จะพาผู้อ่านเรียนรู้โครงสร้างการเล่าเรื่อง The Story Circle หรือ Dan Harmon Story Circle อันเป็นเป็นวัฏจักรโครงสร้างเรื่องราวแปดขั้นตอนที่ฮาร์มอนได้พัฒนาขึ้น โครงสร้างเรื่องราวนี้เป็นแนวทางที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้แต่งทุกคน แต่ที่วิเศษไปกว่านั้น โครงสร้างนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเขียนมือใหม่ ถ้านั่นคือคุณ ลองอ่านบทความนี้เพื่อพัฒนาการเขียนของคุณได้ในทันที

Table of Contents

Dan Harmon Story Circle คืออะไร?

The Story Circle เป็นแนวทางในการวางแผนงานเขียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น นวนิยาย หรือบทภาพยนตร์ โครงสร้างการเขียนที่ Dan Harmon ดัดแปลงนำมามาจาก The Hero’s Journey — ของ Joseph Campbell นักเขียน–นักวิชาการทางวรรณกรรม The Hero’s Journey ปรากฏอยู่ในตำนานการเล่าเรื่องจากทั่วทุกมุมโลก และการเล่าเรื่องเกือบทุกรูปแบบมีลักษณะเป็นวัฏจักร  เรื่องราวเหล่านั้นมักครอบคลุมจังหวะการเดินเรื่อง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ:

  • ตัวละครกล้าออกไปผจญภัย ค้นหาสิ่งที่ต้องการ และ
  • กลับมาด้วยความเปลี่ยนแปลง ทั้งร่างกายและวิญญาณ

ฮาร์มอนด์ เป็นผู้สร้าง Rick and Morty ซึ่งเป็นซีรีส์แอนิเมชั่น 30 ตอน ซีรีส์เรื่องนี้สร้างชื่อเสียงด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็วและการผสมผสานวัฒนธรรมป๊อป (pop culture) บวกกับอารมณ์ในแบบนิยายวิทยาศาสตร์ ที่มีความคล้ายคลึงกับตัวละครจากเรื่อง Back to the Future ตัวเนื้อหายังได้รับการยกย่องว่ามีการเล่าเรื่องที่เข้มข้น 

แม้ Dan Harmon Story Circle จะเข้ากันได้ดีกับพล็อตเรื่อง Rick and Morty ที่มีความยาวภายในเวลา 21 นาที แต่โครงสร้างนี้ยังสามารถดัดแปลงให้เข้ากับงานเขียนในรูปแบบต่างๆ ได้ไม่ยาก

โครงสร้างการเล่าเรื่อง Dan Harmon Story Circle

Dan Harmon's Story Circle

ข้อดีของเวอร์ชัน Harmon มีมากกว่า Vogler คือเน้นไปที่ตัวละครโดยเฉพาะและนำไปใช้กับเรื่องราวที่กว้างขึ้นได้ง่ายกว่า

The Harman’s Circle ได้รับการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นวัฏจักรที่แบ่งช่วงการดำเนินเรื่องตามแนวตั้งและแนวนอน และลำดับเรื่องตามเข็มนาฬิกา ตั้งแต่หนึ่งถึงแปด โดยแต่ละตัวเลขแสดงถึงช่วงเวลาที่แตกต่างกันของโครงสร้าง ด้านล่างเป็นคำอธิบายที่สำคัญของเรื่องราวที่ต้องการไปถึงในแต่ละขั้นตอน:

  1. YOU – ตัวละครอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย… นี่คือการสถาปนาสภาพที่เป็นอยู่ของตัวละคร ชีวิตปกติสุขของพวกเขา
  2. NEED – แต่พวกเขาต้องการบางอย่าง… ‘ต้องการ’ ในที่นี้อาจจะหมายถึงสิ่งที่มีมาอย่างยาวนาน แต่เพิ่งถูกกระตุ้นขึ้นมาในเบื้องหน้าจาก Inciting Incident จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ยั่วยุให้ตัวเอกต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตในพื้นที่ปลอดภัย
  3. GO – ตัวเอกเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย… พวกเขาต้องทำสิ่งใหม่เพื่อไล่ตามสิ่งที่ต้องการ
  4. SEARCH – ปรับให้เข้ากับสิ่งใหม่… พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายบางอย่าง ต้องดิ้นรนจึงจะเริ่มประสบความสำเร็จ และปรับตัวให้เข้าสถานการณ์
  5. FIND – ได้สิ่งที่ต้องการ… มักจะเป็นชัยชนะที่ผิดพลาด
  6. TAKE – จ่ายแพงเพื่อมัน… พวกเขารู้ว่าสิ่งที่ ‘ต้องการ’ ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขา ‘ต้องการ’ จริงๆ และมีราคาที่ต้องจ่าย
  7. RETURN – จากนั้นกลับสู่สถานการณ์ที่คุ้นเคย… ตั้งเป้าหมายใหม่ เป้าหมายนั้นคือ “ความจริง”
  8. CHANGE – ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว… จะดีขึ้นหรือแย่ลง ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง

ฮาร์มอนวางโครงสร้างเรื่องราวของเขาไว้บนสมมติฐานที่ตรงไปตรงมา: เรื่องราวทั้งหมดเป็นวัฏจักร ตัวละครเริ่มต้นในโซนพื้นที่ปลอดภัย ก่อนจะค้นพบความต้องการและเคลื่อนออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตน สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นกับพวกเขา พวกเขาเติมเต็มความต้องการและกลับมาที่พื้นที่ปลอดภัยของพวกเขาอีกครั้ง แน่นอนสถานการณ์จริงมันซับซ้อนกว่านั้น แต่ไม่มาก!

แปดขั้นตอน โครงสร้างวัฏจักรเรื่องราวของ Dan Harmon Story Circle :

ขั้นตอนที่ 1: ตัวละครอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขา- YOU

ในฉากแรก หน้าที่ของนักเขียนคือสร้างตัวเอกขึ้นมา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้เขียนต้องบอกกับคนอ่านว่าตัวเอกคือใคร

ฮาร์มอนกล่าวว่าวิธีที่ดีที่สุดในการทำเช่นนี้คือการแสดงให้ผู้อ่าน (หรือผู้ชม) เห็นถึงมุมมองของตัวละคร จำเป็นต้องทำเช่นนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าผู้อ่านไม่สวมอยู่ในมุมมองของตัวละคร แสดงว่าตัวละครไม่อยู่ในเรื่องราว 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองของตัวละคร:

วิธีง่ายๆ ในการทำให้ผู้อ่านรู้จักตัวเอกคือ การทำให้ตัวละครรู้สึกน่าสงสาร ฮาร์มอนยกตัวอย่างเรื่อง Die Hard เมื่อเราพบกับจอห์น แมคเคลน (นำแสดงโดยบรู๊ส วิลลิส) เขาแสดงเป็นตำรวจที่กลัวการบิน เราทุกคนสามารถมองเห็นความวิตกกังวลของแมคเคลนได้ในทันที ดังนั้นผู้อ่านจะสวมตัวเองเข้าไปอยู่ในร่างของแมคเคลนไปโดยธรรมชาติ

story circle dan harmon die hard
บรู๊ซ วิลลิส ใน Die Hard

ตัวละครตัวแรกที่ปรากฏขึ้นในครั้งแรกอาจไม่ใช่ตัวเอกก็เป็นได้ แต่ไม่เป็นไร อย่างไรก็ตาม ฮาร์มอนเตือนเกี่ยวกับการเปลี่ยนจากบทบาทตัวละครตัวหนึ่งไปสู่อีกตัวละครว่า:

“ในช่วงต้นของเรื่องราว (จากนวนิยายจนถึงภาพยนตร์) สมัยใหม่จำนวนมากทำให้เราเปลี่ยนบทบาทตัวละครจากอีกตัวไปสู่ตัวละครอีกตัวได้ง่าย จนกระทั่งในที่สุดเราก็ได้ตัวละครที่สามารถเล่าเรื่องได้พอเหมาะกับเรื่อง การตีกลับแบบนี้อาจมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเกิดขึ้นมากกว่า 25% ของเรื่องราวทั้งหมด คุณจะสูญเสียผู้อ่าน (ผู้ชม) ในทันที”

คำถามแนะนำ:

  • พระเอกของเรื่องคือใคร?
  • นักเขียนจะทำให้ผู้อ่านรู้สึก/เขียนถึงพวกเขาอย่างไร? (คำใบ้: ใช้ความน่าสงสาร)
  • พื้นที่ปลอดภัยของตัวละครคืออะไร?

ขั้นตอนที่ 2: แต่พวกเขาต้องการบางสิ่งบางอย่าง – NEED

ในขั้นตอนนี้ นักเขียนจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่า ชีวิตประจำวันของตัวละครเอกไม่ใช่ครรลองที่เขาจะควรเป็น มีความต้องการบางอย่างที่ขาดหายไป พวกเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อเติมเต็มความต้องการนั้น ความต้องการนี้อาจเป็นความจริง บางทีตัวเอกอาจหลงทางในเกาะร้างเหมือนใน Castaway หรือ The Edge

ความต้องการของตัวละครอาจเป็นแค่เรื่องภายในจิตใจอย่าง Die Hard ความต้องการของ จอห์น แมคเคลน คือการฟื้นฟูชีวิตคู่ที่แตกสลาย นักเขียนต้องสร้างความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกให้กับตัวละคร ใน Castaway ความต้องการภายนอกของ ชัค โนแลนด์ (นำแสดงโดยทอม แฮงค์) คือการออกจากเกาะร้าง ความต้องการภายในของเขาคือการกลับไปหาคู่หมั้นและเอาชนะความสิ้นหวังในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้าเอาตัวรอด

ฮาร์มอนเปรียบเทียบ “ความต้องการ” นี้กับ “การเรียกร้องให้ผจญภัย” (call to adventure) ในโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ The Hero’s Journey – การเดินทางของวีรบุรุษ ตัวเอกมักจะปฏิเสธการเรียกร้อง วัฏจักรของฮาร์มอน ตัวเอกไม่จำเป็นต้องปฏิเสธการเรียกร้อง การปฏิเสธเป็นเพียงวิธีเพิ่มความตึงเครียดให้กับเรื่องราวในนวนิยาย

หากความต้องการของตัวละครเป็นเรื่องภายใน ฮาร์มอนกล่าวว่าตัวละครดังกล่าวสามารถบอกความต้องการของพวกเขาได้ในช่วงนี้ หากความต้องการภายในคือความต้องการเป็นอิสระ พวกเขาอาจพูดว่า “ครอบครัวของฉันจงหายไป” ตัวละคระตอบสนองความต้องการของพวกเขา แต่ไม่ใช่ในแบบที่พวกเขาคาดหวัง

ตัวอย่าง: ตัวละครเอกอยากให้ครอบครัวหายไปเมื่อเขาตื่นขึ้นในตอนเช้า และพบว่าครอบครัวของเขาไปเที่ยวพักผ่อนโดยทิ้งเขาไว้เพียงลำพังในบ้าน

ฮาร์มอนกำหนดขั้นตอนนี้อย่างตรงไปตรงมา:

“นี่คือจุดที่แสดงให้เห็นว่ามีบางสิ่งที่ไม่สมดุลในจักรวาล ไม่ว่าจักรวาลนั้นจะใหญ่หรือเล็กเพียงใด”

คำถามแนะนำ:

  • ความต้องการภายนอกของตัวละครคืออะไร?
  • ความต้องการภายในคืออะไร?
  • อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของตัวละคร?
  • สิ่งที่ขาดหายไปจะได้รับการตอบสนองได้อย่างไร? (อาจจะอยู่ในรูปแบบที่เซอร์ไพรส์ผู้อ่าน)

ขั้นตอนที่ 3: พวกเขาเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย – GO

ในที่สุดความขัดแย้งก็มาถึง

เรื่องเล่าในนวนิยายมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร? เพราะนี่คือพื้นที่ที่จะนำเสนอสิ่งนั้น ฮาร์มอนเปรียบพื้นที่ในขั้นตอนนี้เหมือนกับโปสเตอร์ภาพยนตร์ เราจะใส่อะไรลงไปในโปสเตอร์หนัง ถ้าไม่พยายามขายเรื่องราวนวนิยายที่เราเขียน?

วัฏจักรเรื่องราวของแดน ฮาร์มอน Jaws
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Jaws

สำหรับโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Jaws นำเสนอภาพ “ฉลาม” หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับฉลามที่บุกชุมชนชายหาด โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง The Notebook เป็นภาพคู่รักหนุ่มสาวจูบกันกลางสายฝน The Notebook เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่นสองคนจากเมืองต่างๆ ที่ตกหลุมรักกัน

เราไม่สามารถเริ่มต้นนวนิยายด้วย “สถานการณ์” ได้ ถ้าเราไม่ตั้งค่าในส่วนแรกของเรื่องราว นั่นคือขั้นตอน YOU การตั้งค่าในจุดเริ่มต้นมีความสำคัญ เพราะต้องปูพื้นฐานตัวละคร ทำความรู้จักตัวละครก่อน จึงจะนำตัวละครไปสู่ความขัดแย้งได้ “ฉลาม” สามารถท่องไปในคลื่นและกินเด็กน้อยได้อย่างไร ถ้าเราไม่ปูพื้นมาก่อน การตั้งค่าคือส่วนสำคัญ เพราะมันนำไปสู่ความขัดแย้ง

จากจุดนี้เป็นต้นไป เรื่องราวจะเข้าสู่ “โลกพิเศษ” ไม่สำคัญหรอกว่าโลกนี้จะพิเศษแค่ไหน อย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญคือมันแตกต่างอย่างมากจากโลกธรรมดาของตัวละคร ตัวเอกจะได้รับโอกาสในการเติมเต็มความต้องการของพวกเขา แต่พวกเขาจะผ่านความยากลำบากราวกับนรกเพื่อไปถึงเป้าหมาย

คำถามแนะนำ:

  • จงอธิบายโปสเตอร์โปรโมตหนังสือที่คุณกำลังจะเขียน
  • เรื่องราวในนวนิยายขัดแย้งกันอย่างไร?
  • ความขัดแย้งนั้นจะเข้าสู่เรื่องราวได้อย่างไร?
  • “โลกพิเศษ” ของเรื่องราวแตกต่างจาก “โลกธรรมดา” อย่างไร

ณ จุดนี้ ตัวเอกต้องเก็บข้าวของและสัมภาระทั้งหมด ในฐานะนักเขียน เรากำลังสร้างสถานการณ์ที่จะแยกตัวเอกออกจากสารัตถะของพวกเขา

ฮาร์มอนยกตัวอย่างจาก Die Hard ในตอนนี้เราเห็นจอห์น แมคเคลนสังหารผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งอย่างเลือดเย็น แมคเคลนกำลังสลัดภาพตัวเองจากการเป็นตำรวจนิวยอร์กและกลายเปลี่ยนเป็นคาวบอยในยุคแดนเถื่อนที่ยิงปืนต่อสู้โจร แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่มีกฏเกณฑ์ ไม่มีกฎหมาย บุคลิกคาวบอยเป็นส่วนหนึ่งของเขาที่นำไปสู่การโค่นล้มผู้ก่อการร้ายได้หลายสิบคน

นี่คือสิ่งที่ฮาร์มอน พูดถึงในช่วงนี้ “เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ระดับที่ลึกที่สุดของจิตไร้สำนึก และเราไม่สามารถเข้าถึงมันได้เพราะเรื่องไร้สาระที่เราเคยคิดว่าสำคัญ”

ไม่มีที่ว่างสำหรับตัวละครอีกอีกแล้ว กำจัดโทรศัพท์มือถือของตัวละครออกไป เขาไม่สามารถหาคนช่วยเหลือ สร้างความไม่มั่นคงให้พวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแฟนซีในงานเลี้ยงหรูและความคิดไร้เหตุผล หรือตัวตนของตัวละคร ในตอนท้ายของเรื่อง Castaway ทอม แฮงค์สไม่ใช่ผู้จัดการที่ไม่มีเวลา หรือพนักงานออฟฟิศที่มีน้ำหนักเกิน

แต่เขาคือผู้รอดชีวิต

คำถามแนะนำ:

  • “ตัวตนภายนอก” ของตัวละครคืออะไร
  • “ตัวตนภายใน” ของตัวละครคืออะไร
  • ตัวละครต้องสละอะไรเพื่อเข้าถึงตัวตนภายในนั้น?

ขั้นตอนที่ 5: ได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ- FIND

ฮาร์มอนกล่าวว่า Joseph Campbell เรียกขั้นตอนนี้ว่า “Meeting with the Goddess” ในแง่สัญลักษณ์ ตัวเอกกำลังทิ้งต้นกำเนิดที่มีปัญหาในขั้นตอนที่หนึ่งไป และในขั้นที่ห้านี้ พวกเขาจะพบต้นกำเนิดในรูปแบบใหม่ ทั้งหมดนี้อาจดูไม่จำเป็น แต่ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจถึงขั้นตอนนี้ และเปรียเทียบโครงสร้างของแคมเบลเอาไว้ในใจ

ในขั้นตอนนี้ ตัวเอกจะได้พบกับสิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องการเพื่อเปลี่ยนเป็นฮีโร่ สิ่งที่ตัวละครพบอาจดี–มันอาจจะดี แต่อาจเป็นส่วนผสมของทั้งสองอย่างก็ได้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการค้นพบที่ตัวเอกจะได้เปิดเผยความสามารถภายใน หรือสิ่งที่เขามีอยู่ ไมว่าจะเป็นการสานสัมพันธ์รัก หรือค้นพบความลึกลับและระทึกขวัญ โครงเรื่องอาจบิดเบี้ยวอย่างหนักในขั้นตอนนี้ ต่อไปนี้คือจุดพล็อตบางส่วนที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้:

  • การค้นพบที่น่าทึ่ง
  • ฉากเซ็กซ์
  • พล็อตเรื่องใหญ่
  • คำสารภาพ
  • พึ่งตนเองได้
  • พบกับตัวละครที่มีพลังคล้ายพ่อมดอ๊อซ

ประเด็นของขั้นตอนนี้คือการเปลี่ยนทิศทางของเรื่องราว จากขั้นตอนที่หนึ่งสู่ขั้นตอนที่สี่ สถานการณ์ของตัวละครจะมาถึงจุดตกต่ำ หลังจากนั้น สถานการณ์ตัวเอกจะเชิดหัวขึ้นจากหลุม ต่อนี้ไป ตัวละครจะขับเคลื่อนตามความตั้งต้องการของตัวเอง

ฮาร์มอนกล่าวว่าเทพยดาจะปลดเปลื้องตัวเอกที่เป็นคนธรรมดา เช่นเดียวกับโอดิซุสจะก้าวข้ามหญิงผู้ล่อลวง ในขั้นตอนที่หนึ่ง ถ้าสร้างตัวตัวเอกให้เป็นเด็กเนิร์ด พวกเขาจะเปลี่ยนไป มั่นใจได้เลยว่าเขาต้องทำอะไรเท่ๆ และสวมแว่นกันแดดเรแบนด์

Dan Harmon Story Circle ขั้นตอนที่ 6- จ่ายแพงเพื่อมัน- TAKE

The Story Circle  robocop
Robocop

แดน ฮาร์มอนเรียกขั้นตอนนี้ว่า “Meet your Maker” เขาเปรียบเทียบกับฉากในเรื่อง Robocop เมื่อเมอร์ฟีย์พบกับผู้สร้างที่ให้กำเนิด ซึ่งเป็น CEO ของบริษัทที่เปลี่ยนให้เขากลายเป็นหุ่นยนต์ที่ดีกว่ารุ่นเดิม

ขั้นตอนนี้มักจะไม่ค่อยดีสำหรับตัวเอก ทำไม Robocop ถึงโดนเล่นงาน เพราะขั้นตอนนี้อยู่ตรงข้ามกับขั้นตอนที่สอง ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “ถนนแห่งการทดสอบ” ในขณะที่ขั้นตอนที่สอง เตรียมให้ตัวเอกพร้อมสำหรับการพบกับเทพยดา ขั้นตอนที่หกเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับการกลับสู่โลกธรรมดา

ขั้นตอนที่ 6 จ่าพแพงเพื่อมัน – Take เราจะขจัดร่องรอยสุดท้ายของอัตตาในตัวเอก ฮาร์มอนมักจะเปรียบเทียบวัฏจักรเรื่องของเขากับการเดินทางไปสู่จิตไร้สำนึก เราเดินทางลงไปในจิตใจเพื่อค้นหาว่าเราเป็นใคร นั่นคือแก่นหลักที่แท้จริง – ระหว่างการเดินทางกลับ เทพยดาต้องการเปลี่ยนตัวตนของตัวเอก ไปสู่ตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นภายใต้ความทุกข์ยากเท่านั้น

Castaway
ภาพยนตร์เรื่อง Castaway การปะทะกันระหว่างโนแลนด์ กับวิลสัน

กลับไปที่หนังเรื่อง Castaway ตัวเอกได้พบกับเทพยดาของเขาในขั้นตอนที่ 5 เขาพบกับหีบที่พัดมาเกยตื้ืนบนชายหาด พระเอกตระหนักดีว่าเขาสามารถใช้ของเหล่านี้สร้างเป็นเรือที่มีใบ และในที่สุดก็หนีออกจากเกาะร้าง—ด้วยความช่วยเหลือจากเทพยดาทำให้เขาเดินทางออกสู่ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ในขั้นตอนที่ 6

ตัวเอกต้องจ่ายด้วยราคาเท่าไหร่? เราทุกคนรู้ดี ฉากที่เศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ชัค โนแลนด์ (ทอม แฮงค์) พ่ายแพ้วิลสัน วิลสันคืออะไร? ในฐานะข้อเท็จจริง วิลสัน (Wilson) เป็นเพียงวอลเลย์บอลลูกหนึ่ง แต่สำหรับพระเอกของเรา วิลสันเป็นมากกว่านั้น วิลสันเป็นส่วนสำคัญของจิตใต้สำนึกของโนแลนด์

ตลอดทั้งเรื่อง พระเอกพูดคุยกับวิลสัน หรือพูดกับตัวเอง วิลสันตั้งคำถามกับการกระทำและแรงจูงใจของโนแลนด์ และสงสัยว่าแผนของเขากับโถชักโครกอะไรจะได้ผลมากกว่ากัน วิลสันสงสัยว่าพวกเขามีเชือกเพียงพอไหม วิลสันเตือนพระเอกของเราถึงความพยายามฆ่าตัวตายที่ล้มเหลวของเขา

เมื่อวิลสันจากไปในที่สุด โนแลนด์คร่ำครวญถึงอัตตาชิ้นสุดท้ายของเขา ขณะที่มันลอยลงสู่ทะเล วิลสันคืออัตตา มันไม่จำเป็นอีกต่อไป พระเอกเปลื้องตัวตนออก และตอนนี้เขาต้องพึ่งพาโชคชะตา จักรวาล หรืออะไรก็ตาม เขาพร้อมจะทำตามความประสงค์

คำถามแนะนำ:

  • ฮีโร่ต้องเสียสละอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย?
  • ใครคือ “ผู้สร้าง” ฮีโร่ และพวกเขาจะพบกันได้อย่างไร?

ขั้นตอนที่ 7: จากนั้น…กลับสู่สถานการณ์ของพวกเขา – RETURN

การกลับคืนสู่สถานการ์นั้นง่าย แค่ใส่รองเท้าแตะแล้วตะโกนว่าฉันพร้อมจะกลับบ้านแล้ว แต่การกลับคืนอาจซับซ้อนกว่านั้น ดูจากหนังเรื่อง Castaway เมื่อวิลสันทิ้งโนแลนด์ไป เขาก็ลอยอยู่ในมหาสมุทรเป็นเวลาหลายวัน

ในส่วนนี้ ฮาร์มอนกล่าวอีกครั้งเกี่ยวกับการแยกระหว่างจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก:

“ตามสัญชาตญาณ การมีจิตสำนึกและการขาดจิตสำนึก จะปรับการกระทำของตนตามที่พวกเขาต้องการ แต่ตามแบบแผนส่วนใหญ่ เป้าหมายของพวกเขาคือแยกโลกทั้งสองออกจากกัน ซึ่งรวมถึงกันไม่ให้ผู้คนเห็นและมีชีวิตอยู่เพื่อบอกเล่าเรื่องราว”

แนวคิดบางประการเกี่ยวกับการกลับคืน:

  • ฉากไล่ล่า
  • คนรักกำลังจากไป เขาหรือเธอกำลังเดินทางไปสนามบิน หรืออยู่บนรถไฟ
  • นาฬิกาเริ่มนับถอยหลัง กลไกระเบิดกำลังจะทำงาน “ฉันจะตัดสายอะไรก่อน!”

คำถามแนะนำ:

  • พระเอกจะกลับมาสู่โลกปกติได้อย่างไร?
  • อุปสรรคอะไรบ้างที่อาจขวางทางพวกเขา

Dan Harmon Story Circle ขั้นตอนที่ 8: การเปลี่ยนแปลง – Change

ตัวเอกกลับสู่โลกธรรมดาโดยได้เรียนรู้บทเรียนจากโลกพิเศษ ตอนนี้เขาได้เป็นจ้าวแห่งทั้งสองโลก แต่ยังมีปัญหาบางอย่างในขั้นตอนนี้ที่ตัวเอกจะต้องเผชิญ

Boss Hogg ตัวละครใน The Dukes of Hazzard

แม้ว่าตัวเอกจะหลุดพ้นจากโลกของจิตไร้สำนึกแล้ว แต่บางสิ่งอาจตามพวกเขากลับมา ดังที่ฮาร์มอนกล่าวไว้ว่า “บางครั้ง Boss Hogg [ตัวละครใน The Dukes of Hazzard ซีรีส์ทางโทรทัศน์แนวแอ็กชัน-คอมเมดี้ของอเมริกาที่ออกอากาศทาง CBS ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 1979 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 1985] ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ขอบเขตของตัวเอง บางครั้งเอเลี่ยนก็แอบเข้าไปอยู่ในห้องที่คุณหลบหนีมัน ไม่นับว่าทีเร็กซ์จะเดินผ่านหลังบ้านของผู้คน”

แต่ตัวเอกไม่ใช่คนเดียวกับที่พวกเขาอยู่ในขั้นตอนแรก พวกเขาได้เรียนรู้จากบทเรียนในโลกพิเศษ และได้ขจัดอัตตาของตน ความสมมาตรจะเป็นแนวทางในการเขียนของคุณ 

ถ้าไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรในขั้นตอนนี้ 

คำแนะนำคือ ให้ดูที่ขั้นตอนตรงข้ามกับขั้นตอนนั้นๆ

Dan Harmon Story Circle
Dan Harmon Story Circle Diagram

เช่น ขั้นตอนที่ 8 อยู่ตรงข้ามกับขั้นตอนที่ 4 และตัวเอกของเราทำอะไรในขั้นตอนนั้น? นั่นคือถนนแห่งการทดสอบ ในขั้นตอนที่ 4 ตัวละครจะได้เรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นพระเอก ในขั้นตอนที่ 8 พวกเขาจะพิสูจน์บทเรียนที่ได้รับระหว่างเส้นทางแห่งการทดสอบ

ฮาร์มอนกล่าวว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ดีในการนำองค์ประกอบบางอย่างที่ได้รับการนำเสนอจากขั้นตอนที่สี่กลับมาใช้ อาวุธที่ใช้การไม่ได้ พระเอกซ่อมได้หรือไม่? บางทีตอนนี้อาจเปิดเผยว่าพระเอกซ่อมปืนเป็น มีวิชาฟันดาบ หรืออะไรก็ตาม และสามารถควงกระบองสามท่อนด้วยทักษะที่ชำนาญ หรือกลุ่มตัวละครที่ช่วยอะไรพระเอกไม่ได้เลย พอมาถึงขั้นตอนที่แปด คนกลุ่มเดียวกันนี้ออกมาช่วยพระเอกให้รอดพ้นจากภัย

ขั้นตอนนี้เป็นการประลอง เป็นการทดสอบ การต่อสู้ครั้งสุดท้าย หรือการสารภาพรักที่รอคอยมานานในเรื่องราวความรัก พระเอกเผชิญเหตุการณ์สาหัส และกลับมาในช่วงเวลานี้ แสดงว่าตัวละครได้แปรเปลี่ยนไป กลายเป็นคนไร้อัตตา เป็นพระเอกตัวจริงที่รู้ดีว่าต้องทำอะไรและพูดอะไร

คำถามแนะนำ:

  • พระเอกได้เรียนรู้อะไรระหว่างการเดินทางที่ผจญภัยมา?
  • พวกเขาต้องสูญเสียคุณสมบัติที่ไม่ดีอะไรบ้างเพื่อไปถึงจุดนี้?
  • เรื่องราวในนวนิยายจะเป็นอย่างไรต่อไป

ตัวอย่างวัฏจักรเรื่องราวของแดน ฮาร์มอน – Dan Harmon Story Circle – ที่ใช้ในซีรีส์ Rick and Morty

Dan Harmon Story Circle –  Rick and Morty

ต่อไปนี้คือรายละเอียด ตอนนำร่องของ Rick and Morty ที่เข้าใจง่ายและสามารถแสดงให้เห็นถึง Harmon’s Story Circle ทำงานได้อย่างไร

YOU

ริกปลุกมอร์ตี้ให้ตื่นกลางดึก ริกกำลังเมา และบอกมอร์ตี้ว่า เขาต้องการแสดงบางอย่างให้ดู ทั้งสองออกเดินทางด้วยยานอวกาศสร้างเองของริก และในที่สุดมันก็พัง ผู้ชมพิสูจน์ได้ในทันทีว่ามอร์ตี้เป็นเหยื่อของพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของริก

NEED

วันรุ่งขึ้นที่โรงเรียน มอร์ตี้ฝันถึงเจสสิก้า เด็กสาวในชั้นเรียน เขาไม่มีความมั่นใจที่จะจีบเธอ

GO

ริกดึงมอร์ตี้ออกจากโรงเรียนและพาไปยังดาวเคราะห์นอกโลกเพื่อค้นหาและรวบรวมเมล็ดต้นไม้ขนาดใหญ่

SEARCH 

สัตว์ประหลาดไล่ริกและมอร์ตี้ไปที่หน้าผา ทั้งสองหลบหนีสัตว์ประหลาด และพบต้นไม้ใหญ่ แต่พวกมันอยู่ที่ด้านล่างของหน้าผา ริกมอบรองเท้าบูทล้ำสมัยให้กับมอร์ตี้ ที่มีความสามารถเดินลงไปด้านข้างของหน้าผาได้ มอร์ตี้ล้มเหลวในการใช้งานรองเท้าและตกลงไปที่หน้าผาจนขาของเขาบาดเจ็บ

FIND

ที่ด้านล่างของหน้าผา พวกเขารวบรวมเมล็ดต้นไม้ใหญ่หลังจากที่ริกรักษามอร์ตี้โดยเดินทางข้ามเลาไปสู่อนาคตและนำเซรั่มสำหรับรักษาขาหักมาให้

TAKE

การเดินทางสู่อนาคตของริก ต้องใช้พอร์ทัล–อุปกรณ์ข้ามมิติเวลา–แต่แบตเตอรี่หมด ถ้าต้องการกลับบ้าน ริกอธิบายว่าพวกเขากลับไปแบบเดิมไม่ได้จะต้องผ่านด่านศุลกากรข้ามมิติ มอร์ตี้จะต้องซ่อนเมล็ดต้นไม้ยักษ์ไว้ในก้นเพื่อผ่านด่านตรวจ

RETURN 

เจ้าหน้าที่ศุลกากรออกตามหามอร์ตี้ ริกและมอร์ตี้วิ่งหนี และเจ้าหน้าที่ไล่ล่าพวกเขาไปติดๆ ริกกับมอร์ตี้เจอทางตัน แต่มอร์ตี้จำรองเท้าบู๊ตที่พวกเขาสวมได้ ครั้งนี้เขาเปิดเครื่องสำเร็จ ทั้งสองเดินขึ้นไปบนกำแพงและขึ้นไปบนหลังคาเพื่อหนี จังหวะนี้เป็นตัวอย่างขององค์ประกอบจากขั้นตอนที่สี่ที่กลับมาเพื่อกอบกู้สถานการณ์ในขั้นตอนที่แปด!

CHANGE 

ริกซ่อมพอร์ทัลสำเร็จ ขณะที่มอร์ตี้ใช้ปืนป้องกันพวกเจ้าหน้าที่ พวกเขาเดินทางผ่านประตูเวลาและเข้าไปในโรงอาหารของโรงเรียน เจสสิก้าดูประทับใจกับประตูเวลาอันน่าทึ่งของมอร์ตี้ พ่อแม่ของมอร์ตี้เผชิญหน้ากับริก และไม่พอใจที่ริกดึงมอร์ตี้ออกจากโรงเรียน อย่างไรก็ตาม เมล็ดต้นไม้ใหญ่ในก้นของมอร์ตี้ทำให้เขามีสติปัญญาเฉียบแหลมชั่วคราว เขาพูดถึงข้อเท็จจริงสองสามข้อและเกลี้ยกล่อมพ่อแม่ของเขาว่าอิทธิพลของริกนั้นดีสำหรับเขาอย่างไร


Free Download : Dan Harmon Story Circle Worksheets Bundle

เม่นวรรณกรรมได้จัดทำเวิร์กชีทสำหรับนักอ่านที่ต้องการความสะดวกในการใช้งาน โครงสร้างวัฏจักรเรื่องราวของแนฮาร์มอน ตัวเวิร์กชีทนี้ประกอบไปด้วย:

  1. The Story Circle ในรูปแบบ File PDF จำนวนหนึ่งหน้า ที่สามารถเติมเรื่องราวขั้นตอนทั้งแปด โดยการกำหนดเรื่องราวของผู้เขียนเอง เพื่อสร้างไกด์ไลน์กับเรื่องราวที่ผู้เขียนจะแต่งเนื้อหาของนวนิยาย เรื่องสั้น หรือบทภาพยนตร์ของตนเอง
  2. Workbook The Story Circle ในรูปแบบ File Microsoft Word หลังจากผู้เขียนวางโครงสร้างไกด์ไลน์ได้แล้ว ก็ถึงเวลาลงมือเขียนเรื่องราวของตัวเองตามขั้นตอนต่างๆ โดยใช้ Workbook เป็นรูปแบบเพื่อกำหนดในงานเขียน
Dan Harmon Story Circle – The Story Circle Worksheets
Dan Harmon Story Circle Worksheets Bundle

วิธีการดาวน์โหลด

  • พิมพ์ชื่อ และอีเมล์
  • กดปุ่ม Download Now
  • รออีเมล์คอนเฟิร์ม หากไม่พบ ลองค้นที่ Spam Mail
  • เปิดอีเมล์ คลิกลิงค์ดาวน์โหลด
Download : The Story Circle Worksheets Bundle

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More