แฮมเล็ต
Home Literature เกอร์ทรูด และ โอฟีเลีย ตัวละครหญิงที่ตกเป็น “เหยื่อ” ใน แฮมเล็ต

เกอร์ทรูด และ โอฟีเลีย ตัวละครหญิงที่ตกเป็น “เหยื่อ” ใน แฮมเล็ต

516 views 4 mins read

Hamlet – แฮมเล็ต คือบทละครแนวโศกนาฏกรรมที่มีชื่อเสียงอีกเรื่องหนึ่งของ วิลเลียม เชคสเปียร์ – William Shakespeare นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการวรรณกรรมที่ทั่วโลกให้การยอมรับ บทละครเรื่องนี้เต็มไปด้วยแง่มุมที่น่าสนใจ แค่ธีมหลักของเรื่องอย่าง ความรัก การแก้แค้น และการช่วงชิงอำนาจ ก็ดึงดูดมากพอที่จะทำให้ผู้อ่านพลิกหน้ากระดาษดื่มด่ำกับเรื่องราวแสนโศกนี้อย่างไม่รู้จบแล้ว จึงไม่แปลกที่แฮมเล็ตจะถูกนำไปวิเคราะห์วิจารณ์ผ่านหลากหลายทฤษฎี บทความนี้เป็นอีกหนึ่งบทความที่จะพาทุกท่านไปสัมผัสกับอีกแง่มุมที่ซ่อนอยู่ในวรรณกรรมเลื่องชื่อ นั่นก็คือ “ปิตาธิปไตย”


ปิตาธิปไตยคืออะไร?

ปิตาธิปไตย (patriarchy) คือ ระบบสังคมที่เพศชายเป็นผู้กุมอำนาจ โดยผู้ชายจะครอบงำบทบาทในด้านผู้นำการเมือง มีอำนาจหน้าที่ทางศีลธรรม มีเอกสิทธิ์ทางสังคม และการควบคุมทรัพยากร อีกทั้งสังคมปิตาธิปไตยบางแห่งยังเป็นสังคมแบบสืบทอดทางพ่อ (patrilineal) กล่าวคือ ทรัพย์สินและยศถาบรรดาศักดิ์จะถูกสืบทอดโดยสายสกุลเพศชาย ถ้าจะเรียกง่ายๆ ปิตาธิปไตยก็คือระบบการปกครองแบบชายเป็นใหญ่นั่นเอง


ปิตาธิปไตยใน แฮมเล็ต 

บทละครเรื่องแฮมเล็ตของเชคสเปียร์มีตัวละครหญิงหลักๆ 2 ตัวละคร ได้แก่ เกอร์ทรูด (แม่แฮมเล็ต) และโอฟีเลีย (หญิงที่แฮมเล็ตรัก) ทั้งคู่เป็นตัวละครหญิงชนชั้นสูงที่อยู่ในหมู่ชายผู้มีอำนาจทางการปกครอง ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเกอร์ทรูดและโอฟีเลียต่างก็ตกเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตยอันเข้มข้นที่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งผ่านมุมมองของตัวละครชาย โดยเฉพาะ “แฮมเล็ต” พระเอกของเราที่แสดงท่าทีรังเกียจแม่รังแกคนรักอย่างชัดเจน


เกอร์ทรูดในสายตา แฮมเล็ต

สำหรับแฮมเล็ตแล้วเกอร์ทรูด คือ มารดาที่ทำให้เขาผิดหวัง เพราะนอกจากตำแหน่งแม่ เธอยังมีตำแหน่งราชินีแห่งเดนมาร์กที่ต้องรักษาไว้ด้วย ทำให้หลังจากที่ราชาแฮมเล็ต (พ่อแฮมเล็ต) สิ้นพระชนม์ เกอร์ทรูดก็แต่งงานกับคลอเดียส น้องชายของราชาองค์ก่อนแทบจะทันที สร้างความไม่พอใจแก่แฮมเล็ตเป็นอย่างมาก และยิ่งมากขึ้นไปอีกเมื่อแฮมเล็ตได้รู้ความจริงเรื่องการสิ้นพระชนม์ของราชาองค์เก่า 

เขาเกลียดอาอย่างคลอเดียสที่ไม่มีลักษณะของความเป็นชายที่สมบูรณ์พร้อม เขามองว่าคลอเดียสด้อยกว่าบิดาของตนเองในทุกด้าน และพาลมาเกลียดมารดาที่ยอมแต่งงานกับชายที่ไร้ซึ่งความเป็นชายเช่นนี้ ดังนั้น แฮมเล็ตจึงไม่ลังเลที่จะประเคนบทสนทนาอันแสบทรวงให้เกอร์ทรูดอยู่ตลอด ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งถ้อยคำเหยียดหยามดูหมิ่นก็ไม่ได้ประเคนให้กับเกอร์ทรูดเพียงผู้เดียวแต่ยังเผื่อแผ่มาถึงผู้หญิงทั่วไปในสังคมด้วย


กว่าครึ่งเรื่องแฮมเล็ตเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการสมรสใหม่ของแม่ การสืบพันธุ์ในวงศ์ตระกูล และเกลียดชังคลอเดียสที่ตอนนี้มีศักดิ์เป็นบิดา ตัวละครแฮมเล็ตจึงเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่สื่อนัยเรื่องเพศได้อย่างเข้มข้น สอดคล้องกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ในแง่ของ ปมอิดิปุส ที่ชี้ให้เห็นว่าตัวแฮมเล็ตเองก็มีความหวงแหนและปรารถนาในตัวมารดาไม่แพ้กัน 

แฮมเล็ต

โอฟีเลียในสายตา แฮมเล็ต

ในสายตาแฮมเล็ต โอฟีเลีย เป็นผู้หญิงที่เขาไม่สามารถมอบความไว้วางใจให้นางได้อีกต่อไป เพราะโอฟีเลียอยู่ในกรอบที่พ่อและพี่ชายซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับแฮมเล็ตขีดให้เสมอ แม้เธอจะเป็นผู้หญิงที่ดีแต่ก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่เขาควรไว้ใจ และคงไม่ต่างอะไรจากเกอร์ทรูดที่สามารถแปรใจไปรักชายอื่นได้ในชั่วข้ามคืน ต้องยอมรับว่าแฮมเล็ตผิดหวังอย่างมากต่อการกระทำของมารดา ความเสียใจผลักให้เขาไม่ปรารถนาในตัวหญิงใดอีกรวมถึงโอฟีเลีย

แฮมเล็ตที่ต้องแกล้งบ้าคลั่งในเรื่องจึงไม่ลืมที่จะใช้หญิงที่ตนรักเป็นเครื่องมือแสดงความวิปลาสผ่านทั้งทางคำพูดและการกระทำที่จัดว่าหยาบคายและหยามเกียรติ แม้เขาอาจจะไม่ได้ทำด้วยความเต็มใจแต่ทำไปเพราะสถานการณ์ที่บีบบังคับ ก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่โอฟีเลียกลายเป็นเพียงเครื่องพิสูจน์ความบ้าของเพศชายผู้กระหายอำนาจได้


“…หากเจ้าจำต้องวิวาห์, ก็จงแต่งกับคนเขลา, 

เพราะคนมากปัญญาย่อมรู้ดีว่า สตรีเยี่ยงเจ้า

เปลี่ยนบุรุษให้กลายเป็นสัตว์มีเขาได้อย่างไร…”


จะเห็นได้ว่า ทั้งเกอร์ทรูดและโอฟีเลียต่างก็ตกเป็นเหยื่อของระบบสังคมแบบปิตาธิปไตยอย่างชัดเจน มองเผินๆ เกอร์ทรูดดูเป็นหญิงกระหายอำนาจ ไร้ซึ่งคุณธรรม และเต็มไปด้วยเล่ห์ร้าย ส่วนโอฟีเลียก็ดูเป็นหญิงสาวที่ซื่อและเปราะบางเสียจนเกินเหตุ แท้จริงแล้วเกอร์ทรูดหรือโอฟีเลียเป็นอย่างไร ดีหรือร้าย? กระทำในสิ่งที่ถูกหรือผิด? คงไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่สิ่งที่ชัดแน่ๆ คือการกระทำหรือการตัดสินใจของพวกเธอไม่ได้มีทางเลือกมากนักหรอก หญิงสูงศักดิ์ในวงสังคมที่ชายเป็นใหญ่ล้วนต้องเดินไปในเส้นทางที่ชายผู้กุมอำนาจเป็นผู้กำหนด


การถูกมองเป็นคนอื่นและถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

การถูกมองเป็นคนอื่น การถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  มุมมองเหล่านี้คือมุมมองที่แสดงออกผ่านงานวรรณกรรมหรือสื่อแขนงอื่นๆ ที่มีแนวคิดแบบปิตาธิปไตย ซึ่งบทละครเรื่องแฮมเล็ตเองก็เป็นอีกหนึ่งบทละครที่ผู้เขียนอย่างวิลเลียม เชคสเปียร์ ได้ถ่ายทอดชุดความคิดแบบชายเป็นใหญ่ผ่านมุมมองดังกล่าวไว้ได้อย่างเด่นชัด


การถูกมองเป็นคนอื่นของตัวละครหญิงใน แฮมเล็ต

การถูกมองเป็นคนอื่นในที่นี้ ถ้าพูดกันแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือการที่ตัวละครไม่ได้อยู่ฝั่งเดียวกันกับผู้แต่ง ถูกมองเป็นคนนอก ถูกมองเป็นคนที่อยู่คนละพวก ซึ่งก็ดูเหมือนว่าตัวละครหญิงจากแฮมเล็ตอย่างเกอร์ทรูดและโอฟีเลียจะเป็นแบบนั้น เพราะหากสังเกตจะพบว่าทั้ง 2 คน ไม่ได้อยู่ในฐานะเดียวกับตัวละครชายตั้งแต่แรก พวกเธอถูกผลักออกมาในฐานะที่เป็นผู้หญิง มีสิทธิ์คิดหรือตัดสินใจไม่เทียบเท่าผู้ชายในเรื่อง โดยจะเห็นประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุดเมื่อมองผ่านสายตาของแฮมเล็ต เจ้าชายคนสำคัญที่มองสตรีเป็นคนอื่นอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ลังเลที่จะนิยามความเป็นหญิงด้วยถ้อยคำเหยียดหยามระคายหู อาทิ “ความรวนเร, นามของเจ้าคือ สตรี!” หรือ “โอ, อิสตรีอันร้ายกาจกว่าใคร!” 


“ข้าได้ยินได้ฟังเรื่องเครื่องประทินโฉมของสตรีมามากดุจพอกัน.

พระเจ้าประทานใบหน้าให้เจ้าหนึ่ง, แต่เจ้ากลับสร้างอีกหนึ่งขึ้นมาซ้อน.

พวกเจ้าร่ายรำและเดินวางท่า, พวกเจ้าพูดจาชวนหลงใหล,

ตั้งชื่อเล่นน่ารักให้ผลงานสร้างสรรค์ของผู้เป็นเจ้า,

ปกปิดความร่านด้วยไร้เดียงสา!”



การถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของตัวละครหญิงใน แฮมเล็ต

การผูกโยงผู้หญิงกับดอกไม้ ลำธาร ป่า เขา หรืออะไรก็ตามที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่  ไม่ว่าใครๆ ก็ทำกัน แต่รู้หรือไม่ว่าภายใต้ความธรรมดาเหล่านั้น แท้จริงแล้วมีนัยบางอย่างซ่อนอยู่ เพราะการอุปมาให้ผู้หญิงกับธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันอาจสื่อถึงความไม่เจริญ ไม่พัฒนา และไม่มีวัฒนธรรม ต่างจากผู้ชายที่เวลาถูกเปรียบเทียบมักจะอุปมาหรือเชื่อมโยงกับสิ่งที่แสดงออกถึงพลังอำนาจบารมีเสมอ ดังนั้นหากผู้เขียนแสดงมุมมองที่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอยู่บ่อยๆ นั่นอาจหมายถึงระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่แทรกซึมอยู่ในผลงานของเขา

ในกรณีของบทละครเรื่องแฮมเล็ต โอฟีเลีย เป็นตัวละครหญิงที่แสดงให้เห็นถึงการถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้ชัดเจนที่สุด เพราะตัวละครของโอฟีเลียผูกโยงอยู่กับสัญลักษณ์ของธรรมชาติอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังจากที่นางสูญเสียตัวตน ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ ดอกไม้มากมายหลายชนิดก็ปรากฏผ่านบทสนทนาของโอฟีเลียทั้งสิ้น แม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ตัวละครหญิงอย่างโอฟีเลียก็ยังคงเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างจงใจ

โอฟีเลีย

ความตายกับการหลุดพ้นจากระบบปิตาธิปไตยของตัวละครหญิงใน แฮมเล็ต

หรือแท้จริงแล้วความตายของเกอร์ทรูดและโอฟีเลียคือหนทางแห่งการหลุดพ้นจากระบบสังคมชายเป็นใหญ่? คำถามนี้ถ้าจะตอบว่า ใช่ คงไม่เกินจริงนัก เพราะตัวละครหญิงทั้งคู่ต่างก็ไม่เคยหนีเงาแห่งสังคมปิตาธิปไตยพ้น สำหรับเกอร์ทรูดความตายของเธอชัดเจนและแน่วแน่ การดื่มไวน์ผสมยาพิษแก้วนั้นดูจะเป็นการตัดสินใจเดียวที่มาจากตัวของเธอเอง เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เธอขัดคำสั่งของราชาแห่งเดนมาร์กอย่างคลอเดียส ส่วนโอฟีเลียแม้สาเหตุการตายของเธอจะไม่ได้แจ่มชัดอย่างเกอร์ทรูด แต่องค์ประกอบของเรื่องก็ชวนให้เชื่อว่าการตายของเธอมาจากเจตจำนงของตนเอง ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่โอฟีเลียได้ทำตามความปรารถนาของตัวเองโดยไม่ต้องคำนึงถึงคำสั่งของพ่อหรือพี่ชายเช่นกัน น่าเสียดาย ที่ในยุคนั้นความตายเป็นทางเลือกเดียวของผู้หญิงในการดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากสังคมที่ชายกุมอำนาจ


ปิตาธิปไตยในวรรณกรรมปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี แม้ระบบปิตาธิปไตยจะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเข้มข้นผ่านบทละครแฮมเล็ตก็ขอให้ทุกท่านตระหนักไว้ว่านี่เป็นบทละครที่มีอายุกว่า 421 ปี เพราะฉะนั้นเราไม่อาจเอาบริบทของสังคมปัจจุบันที่ได้รับการเรียนรู้และเข้าใจความเลวร้ายของระบบชายเป็นใหญ่ไปตัดสินบทละครในอดีตได้ การนำเสนอสภาพสังคมแบบชายเป็นใหญ่ในแฮมเล็ตจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประณามต่อว่า แต่ในทางตรงกันข้ามการนำเสนอประเด็นดังกล่าวครั้งนี้กลับเป็นไปเพื่อตอกย้ำความโหดร้ายของสังคมที่ผู้หญิงต้องตกเป็นรองผู้ชายต่างหาก 

ปัจจุบันเราตระหนักและให้ค่ากับตัวละครหญิงมากขึ้นแล้ว ตัวละครหญิงในหน้ากระดาษของนักเขียนยุคนี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวประกอบฉากอีกต่อไป พวกเธอมีบทบาท มีหน้าที่ มีทางเลือกในสังคมมากกว่าในอดีต แต่ถึงอย่างนั้นหลายๆ ครั้งเงาของสังคมชายเป็นใหญ่ก็ยังคงพาดผ่านและพาความเจ็บปวดในฐานะผู้หญิงมาให้พวกเธอสัมผัส ก็ได้แต่ภาวนาให้สังคมปิตาธิปไตยสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้หญิงเฉพาะในหน้ากระดาษ และหวังว่าความเจ็บปวดเหล่านั้นจะเป็นไปเพื่อสะท้อนให้สังคมเห็นคุณค่าของความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นไม่ใช่เพื่อสนับสนุนการกุมอำนาจทางสังคมของผู้ชาย


บทสรุป

ระบบปิตาธิปไตยในแฮมเล็ตจากบทความนี้ ตัวละครหญิงคนสำคัญอย่าง “เกอร์ทรูด” และ “โอฟีเลีย” เหยื่อที่ต้องเจ็บปวดกับการใช้ชีวิตท่ามกลางวงสังคมที่ชายเป็นผู้กุมอำนาจ แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งผู้หญิงเคยเจ็บปวดแค่ไหนกับระบบสังคมที่ตนเองต้องตกเป็นรอง ไร้ทางเลือก ปราศจากอำนาจในการตัดสินใจ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงชุดความคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่แทรกซึมลงไปในบทละคร 

แต่มันคงจะตลกไปหน่อยหากจะตำหนิวิลเลียม เชคสเปียร์ นักเขียนคนดังของโลกที่สร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นเมื่อสี่ร้อยกว่าปีก่อน ยุคที่ยังไม่มีใครเข้าใจว่าปิตาธิปไตยคืออะไร ไม่มีใครเข้าใจว่ามันเลวร้ายแค่ไหน ดังนั้น เป้าหมายของบทความนี้จึงไม่ใช่การพยายามใช้บริบทสังคมปัจจุบันไปด้อยค่าและตัดสินวรรณกรรมในอดีต แต่เป็นการตอกย้ำเพื่อให้เราตระหนักถึงการให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมทางเพศทั้งในวรรณกรรมและในวงสังคม เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็ไม่สมควรต้องเจ็บปวดจากการตกเป็นรอง…

เกอร์ทรูด

เกี่ยวกับผู้เขียน

About the Author

บทความนี้เขียนและสร้างสรรค์โดย ธุวพร มีโพธิ์ นักศึกษาปี 3 – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชา: ภาษาไทย


About the illustrator

ลิปดา. (she/her/them)


บทความอื่นๆ เกี่ยวกับแฮมเล็ต

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More