ในยุคปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โซเชียลมีเดีย นั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ทุกคนต่างติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลยอดฮิตอย่าง Facebook Twitter Instagram หรือ TikTok อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป แอปพลิเคชันดังกล่าวไม่สามารถคงความนิยมไว้ได้ตลอด ตัวอย่างเช่นในปี 2022 แอป Twitter มีกระแสจากการเปลี่ยนเจ้าของบริษัทและเกิดการไล่พนักงานออกเป็นจำนวนมากซึ่งสิ่งนี้ทำให้ระบบของแอปไม่เสถียรเท่าก่อนหน้านี้ ในส่วนของ Facebook ผู้ใช้ตำหนิเกี่ยวกับเรื่องอัลกอริทึมเช่นเดียวกัน ทำให้ความนิยมของแอปพลิเคชันเหล่านี้เริ่มถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่นักท่องโซเชียลมีเดียหลายคนเริ่มตามหาแอปทางเลือกใหม่ๆ มาทดแทน
ดังนั้น บทความนี้จึงอยากแนะนำ 6 แอปโซเชียลมีเดียของสายโชเชียลยุคใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับแอปพลิเคชันที่น่าสนใจผ่านคุณสมบัติและข้อดีข้อเสีย รวมถึงความเป็นส่วนตัวของแต่ละแพลตฟอร์ม โดยผู้เขียนเชื่อว่าหลังจากที่อ่านบทความนี้แล้ว ผู้อ่านจะได้พบแอปใหม่ๆ ที่ถูกใจและเหมาะสมสำหรับไลฟ์สไตล์ของตัวเองอย่างแน่นอน!
Table of Contents
1. Hive Social
ลักษณะการใช้งานและเนื้อหา
Hive Social ติดอันดับแอปพลิเคชันมาแรงอันดับ 1 ที่มีคนดาวน์โหลดมากที่สุด โดยตอนนี้ยอดดาวน์โหลดสูงสุด 1 ล้านคนแล้ว ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ Instragram ผสมกับ Twitter แอปพลิเคชันนี้จะเน้นไปในด้านของการลงรูปภาพผสมกับการโพสต์ข้อความ ในส่วนของตัวลูกเล่นนั้น Hive มีความสามารถที่หลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นการอัปโหลดเพลงหรือลงคลิป และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือการที่ผู้ใช้สามารถเพิ่มเพลงไปยังโปรไฟล์ได้ ซึ่งถือเป็นลูกเล่นอันโดดเด่นอย่างหนึ่งของ Hive Social กันเลยทีเดียว
Hive Social ไม่มีจุดประสงค์ทางการตลาด แต่ทางตัวแอปก็ไม่ได้ห้ามผู้ใช้โปรโมทผลิตภัณฑ์ของตัวเอง นอกจากนี้แอปพลิเคชันยังอนุญาตให้ลงเนื้อหาล่อแหลมได้ ตราบเท่าที่เนื้อหาดังกล่าวได้รับการจัดหมวดหมู่ที่ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น Hive ไม่สนับสนุนคำพูดแสดงความเกลียดชังทุกรูปแบบ ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าคอมมูนิตี้ของ Hive จะเป็นมิตรต่อสุขภาพจิตของเราอย่างแน่นอน
ความเป็นส่วนตัว
Hive Social มีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบแต่ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเก็บข้อมูลเหมือนกับแอปพลิเคชันอื่นๆ ทั่วไปนั่นเอง
ข้อดี
- ไม่ผลักดันอัลกอริทึมกับผู้ใช้ โซเชียลแพลตฟอร์มนี้ขับเคลื่อนโพสต์แรกตามลำดับเวลาที่ผู้ใช้ติดตาม ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ที่บ่นว่าไม่เคยเห็นโพสต์ของเพื่อนหรือครอบครัว
- มี UI ที่ราบรื่นพร้อมการออกแบบที่สะอาดตา แฟน ๆ ของ Instagram จะประทับใจกับการจัดวางอย่างแน่นอน
- เอาใจผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่เบื่อโฆษณาหนัก ๆ เพราะแอปนี้ไม่มีโฆษณา
ข้อเสีย
- ระบบยังไม่ค่อยเสถียร เพราะยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา
- ณ ปัจจุบัน รองรับเพียงแค่ภาษาอังกฤษภาษาเดียว
- ฟังก์ชันถ่ายรูปของแอปไม่มีลูกเล่นฟิลเตอร์
2. Reddit
ลักษณะการใช้งานและเนื้อหา
Reddit คือ โซเชียลมีเดียประเภทเว็บบอร์ดคล้ายๆ เว็บ Pantip ของไทยเรา โดยที่ผู้ใช้สามารถสร้างห้องคอมมูนิตี้ที่เรียกว่า Subreddit ขึ้นมาเอง หรือไปเข้าร่วมสนทนาของคนอื่นได้ ซึ่งหมวดหมู่ของเนื้อหานั้นก็มีหลายประเภทแทบจะทุกเรื่องบนโลก เช่น เกม หนัง ดนตรี เทคโนโลยี อาหาร หรือมีมตลกๆ เป็นต้น
ผู้ใช้สามารถตั้งกระทู้คำถามหรือสนทนาด้วยคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ ข้อความ หรือวิดีโอ ซึ่งสามารถโหวต Upvote หรือ Downvote ให้กับโพสต์ต่างๆ ซึ่งถ้า Updown มีจำนวนมาก ก็จะมีโอกาสขึ้นมาอยู่หน้าแรกของ Subreddit และ Reddit ได้
ความเป็นส่วนตัว
Reddit นั้นเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้น้อยมาก โดยส่วนใหญ่มีการเก็บฐานข้อมูลของผู้ใช้เพื่อนำไปพัฒนาสานต่อระบบแพลตฟอร์มตัวเองให้ดีขึ้นเช่นเดียวกับแอปอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อจริงในการสมัคร และทางแอปพลิเคชันก็ไม่ติดตามตำแหน่งของผู้ใช้โดยอัตโนมัติอีกด้วย
ข้อดี
- สามารถค้นหาคอมมูนิตี้ที่ตนสนใจได้ง่าย ไม่ว่าคุณจะสนใจอะไร ก็มักจะมี Subreddit สำหรับเรื่องนั้นๆ เสมอ หรือถ้าไม่มีจริงๆ ก็สามารถสร้างคอมมูนิตี้ของตัวเองขึ้นมาเองได้เลย
- เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักเขียน นักเขียนบล็อก และนักข่าวที่ดีเยี่ยม
ข้อเสีย
- Reddit เหมือนเป็นพื้นที่สำหรับคนหลายคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันมาคุยกันมากกว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับคุยกับเพื่อนโดยเฉพาะ
- เนื่องจากทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น จึงอาจจะเกิดการถกเถียงกันได้ง่ายเพราะแต่ละคนมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน
3. Mastodon
ลักษณะการใช้งานและเนื้อหา
Mastodon คือ โซเชียลมีเดียที่มีลักษณะ UI คล้ายกับ Twitter คือมีการลงสเตตัส เมนชั่นตอบกลับ กดไลก์ และแชร์ เพียงแต่จะมีการแบ่งเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่จะแบ่งออกตามธีมหรือตามความสนใจที่แตกต่างกันออกไป โดยทางแอปจะให้เราเลือกเซิร์ฟเวอร์ที่เราจะเข้าไปอยู่ก่อน เราถึงจะสามารถสร้างโปรไฟล์ของตัวเองได้ แม้จะถูกแบ่งออกเป็นเซิร์ฟ แต่เราก็ยังคงเห็นโพสต์ของคนที่เราติดตามผ่านหน้าฟีดรวมไม่ว่าคนที่เราติดตามนั้นจะอยู่ในเซิร์ฟไหนก็ตาม นอกจากนี้เรายังสามารถย้ายข้อมูลบัญชีของเราไปยังเซิร์ฟเวอร์อื่นได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังถูกพัฒนาโดยองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดังนั้น Mastodon จึงเป็นแอปพลิเคชันเครือข่ายสังคมอย่างแท้จริง
ความเป็นส่วนตัว
Mastodon มีการเก็บข้อมูลบัญชี ข้อมูลผู้ติดตาม โพสต์ของผู้ใช้ และข้อมูลที่อยู่ IP เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาระบบเหมือนแอปพลิเคชันทั่วไป ซึ่งอาจมีความไม่เป็นส่วนตัวเพิ่มมาอีกเล็กน้อยเนื่องจากเจ้าของเซิร์ฟเวอร์สามารถอ่านข้อความส่วนตัวของผู้ใช้ได้ ดังนั้นจึงต้องเลือกเซิร์ฟเวอร์ที่มีขนาดเล็ก และผู้สร้างเป็นคนสนิทที่ไว้ใจ
ข้อดี
- แต่ละโพสต์จะแสดงบนหน้าฟีดขึ้นอยู่กับการติดตามของเราเท่านั้น
- ไม่มีไม่มีอัลกอริทึมหรือโฆษณาที่จะทำให้ผู้ใช้เสียเวลา
- แต่ละเซิร์ฟเวอร์มีกฎระเบียบของตัวเอง ทำให้มีความยืดหยุ่นในการสร้างกลุ่มคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนที่ต่างกัน
ข้อเสีย
- อาจเกิดความสับสนในช่วงแรกของการใช้งาน เพราะต้องเลือกเซิร์ฟเวอร์ก่อนถึงจะสมัครบัญชีได้
- ยังไม่มีเซิร์ฟเวอร์ของคนไทยโดยเฉพาะ
4. Tumblr
ลักษณะการใช้งานและเนื้อหา
Tumblr เป็นอีกหนึ่งโซเชียลมีเดียที่อยู่มาอย่างยาวนานไม่แพ้ Facebook และ Twitter แต่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย แพลตฟอร์มนี้จะมีลักษณะหน้าไทม์ไลน์ที่คล้ายคลึงกับ Facebook แต่ในแง่การใช้งานจะเหมือนเป็นการเขียนบล็อกเสียมากกว่า Tumblr จึงเป็นแอปพลิเคชันที่เหมาะแก่การเก็บหรือจดบันทึกข้อความต่าง ๆ ในส่วนของคอนเทนต์ที่สามารถลงใน Tumblr ได้นั้น ต้องไม่มีเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่ล่อแหลม หรือเป็นภาพโป๊เปลือย ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกแบนได้
ความเป็นส่วนตัว
ในแง่ของความเป็นส่วนตัวนั้น Tumblr ก็ไม่ต่างจากแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่มีการเก็บฐานข้อมูลของผู้ใช้บริการเว็บไซต์เพื่อนำไปพัฒนาสานต่อระบบของแพลตฟอร์มตนเองให้ดีขึ้น แต่ว่าทางตัวผู้ใช้ ก็สามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวต่างๆ เบื้องต้นได้ ทั้งการแสดงสถานะออนไลน์ หรือการที่อนุญาตให้ทางแอปพลิเคชันเก็บข้อมูลประวัติการค้นหาเพื่อแนะนำคอนเทนต์ที่มีความคล้ายกันขึ้นมาให้หรือไม่
ข้อดี
- สามารถสร้างบล็อกออกมาเป็นบล็อกๆ และจัดเรียงให้เป็นระเบียบได้
- UI สบายตาดูง่าย
- ระบบการเสิร์จหรือการติดแท็กใช้ไม่ยาก
ข้อเสีย
- ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาระดับนึงจึงจะสามารถเข้าใจถึงระบบและวิธีการใช้
- รองรับหลายภาษาแต่ไม่มีภาษาไทย
5. Counter Social
ลักษณะการใช้งานและเนื้อหา
Counter Social คือ โซเชียลมีเดียที่ค่อนข้างคล้ายกับ Twitter แต่สามารถโพสต์ข้อความได้ถึง 500 ตัวอักษรต่อหนึ่งโพสต์ ซึ่งภายในแอปจะมีการอัปเดตข่าวตลอดทำให้ผู้ใช้บริการตามทันเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น Counter Social สามารถดึงดูดผู้ใช้ด้วยลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น โดยบอกว่าทางแพลตฟอร์มไม่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับโปรโมชั่น หรือโฆษณาใด ๆ ขึ้นมารกหน้าฟีด ทำให้ผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์การพูดคุยโต้ตอบทางสังคมโดยไม่มีข้อจำกัดมาขวางกั้น
Counter Social ยังมีคุณสมบัติที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น โซลูชันการแชร์ไฟล์ในตัวถึง 500TB ฟังวิทยุฉุกเฉินมากกว่า 7,000 ความถี่ การประชุมทางวิดีโอส่วนตัวในคลิกเดียว ช่องชุมชนส่วนตัว ห้อง VR ส่วนตัว และเข้าถึงการรายงานข่าวสตรีมสดฟรีจากผู้ให้บริการดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่เลือก เป็นต้น
ความเป็นส่วนตัว
Counter Social ได้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเพียงเล็กน้อยเพื่อปรับแต่งประสบการณ์ของผู้ใช้และตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลของผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงไซต์ตามข้อเสนอแนะที่แอปได้รับจากผู้ใช้งาน
ทางแอปพลิเคชันยังมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่หลากหลายเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้งานได้ทำการป้อน ส่ง หรือเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง ทำให้ไม่มีการขาย แลกเปลี่ยน หรือโอนข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลของผู้ใช้ไปยังบุคคลภายนอก แต่อาจมีการเผยแพร่ข้อมูลของผู้ใช้ตามความเหมาะสมเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
ข้อดี
- ไม่ยอมรับโทรลล์ บอทสแปม ข่าวที่ไม่เป็นความจริง การคุกคาม และอิทธิพลทางการเมืองจากต่างประเทศ
- ไม่มีโฆษณามารบกวนใจ
- มีความปลอดภัยของข้อมูลสูง
- มีภาษาให้เลือกมากมายซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
ข้อเสีย
- UI ไม่ทันสมัยเท่าแอปพลิชันยอดฮิตอื่น ๆ
- การเข้าถึงแอปพลิเคชันล่าช้าเล็กน้อย
6. Minds
ลักษณะการใช้งานและเนื้อหา
Minds คือ โซเชียลมีเดียใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม ก่อนจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในไทย Minds นั้นเป็นแอปพลิเคชันที่เปิดกว้างในการลงคอนเทนต์และแนวคิดทุกรูปแบบ โดยตัวแอปจะมีลักษณะหน้าต่างแสดงผลและฟีเจอร์ที่คล้ายคลึงกับแพลตฟอร์มยอดฮิตอย่าง Twitter Facebook หรือ Tumblr ที่สามารถโพสต์ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ เขียนบล็อก รวมทั้งมีการใช้แฮชแท็กที่ใช้ในการแสดงความนิยมยอดฮิตต่างๆ โดยตัวผู้ใช้สามารถกดถูกใจ ไม่ถูกใจ แสดงความคิดเห็น แชร์ หรือจะสนับสนุนเงินให้เจ้าของโพสต์ก็ยังได้
ความเป็นส่วนตัว
Minds มีการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการที่สูงมาก โดยแอปพลิเคชันมีความโดดเด่นอย่างมากในเรื่องรหัสผ่าน ที่มีการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ข้อมูลในระดับสูงมากชนิดที่แม้แต่ตัวพนักงานของแอปเองก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ อีกทั้ง Minds ไม่มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้เพื่อนำไปขายให้กับโซเชียลมีเดียอื่นๆ ด้วย และให้อิสระแก่ผู้ใช้บริการในการเข้าใช้งานว่าไม่จำเป็นที่จะต้องยืนยันตัวตนและสามารถเข้าใช้ด้วยสถานะไม่ระบุตัวตน
อย่างไรก็ตามแต่ Minds มีนโยบายการมอบและแชร์ข้อมูลให้ภาครัฐเมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องดำเนินการทางกฏหมาย โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้
ข้อดี
- มีความปลอดภัยของข้อมูลสูง
- สามารถบริจาค Token สนับสนุนให้กับโพสต์หรือแอคเคาท์ที่ชื่นชอบได้
- สามารถสร้างหรือเขียนบล็อกได้
ข้อเสีย
- ไม่สามารถรีมายด์โพสต์ที่รีมายด์อีกทีได้ (“รีมายด์”มีความหมายเหมือน“รีโพสต์”ที่เรารู้จักกันนั่นเอง)
- ไม่มีการแจ้งเตือนว่าใครโพสต์ในรีมายด์อะไรบ้าง
ในตอนนี้ผู้อ่านทุกท่านคงจะได้ทำความรู้จักกับแอปโซเชียลมีเดียทั้ง 6 กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าแต่ละแอปจะมีลักษณะที่แตกต่างกันและมีกลุ่มเป้าหมายของการใช้งานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ แต่แอปพลิเคชันทั้ง 6 ตัวนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักท่องเว็บรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้โซเชียลมีเดียด้วยแพลตฟอร์มนอกเหนือจากที่มีอยู่ โดยเฉพาะแอป Hive Social ที่ในปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างมากและคาดว่าอาจจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในอนาคต อีกทั้งตอนนี้ก็ยังมี Bluesky ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย แม้ว่าตัวแพลตฟอร์มจะยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา เนื่องจากอดีตผู้ก่อตั้ง Twitter เป็นผู้พัฒนาด้วยตัวเอง ทำให้หลายคนคาดหวังและตั้งตารอคอยแพลตฟอร์มนี้ไม่น้อยเช่นกัน
สุดท้ายนี้ทางผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสามารถเลือกใช้โซเชียลมีเดียใดก็ตามได้อย่างอิสระโดยไม่มีความจำเป็นที่จะถูกยึดติดหรือบังคับให้เลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการตามหาช่องทางใหม่ ๆ และสามารถท่องโลกโซเชียลได้อย่างมีความสุขนะคะ
อ้างอิง
Hive Social:
Screenrant : What Is Hive Social?
Hive Social : Privacy policy & Terms
Reddit:
The Growth Master : CASE STUDY
Reddit : Reddit Privacy Policy
Minds:
กรุงเทพธุรกิจ : 5 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ ‘Minds’
MGR online : รู้จัก “Minds” ตัวเปลี่ยนเกมโซเชียลเน็ตเวิร์ก
Counter Social:
Only sky : CounterSocial isn’t the ‘new Twitter’: It’s something much better
Creative Blog : Leaving Twitter?
USA TODAY : Considering joining the Twitter migration?
Mastodon:
Today : รู้จัก Mastodon แอปหน้าคล้าย Twitter
Tumblr:
Alternatives to Twitter include Mastodon, BlueSky, CounterSocial and more (usatoday.com)