Introduction: The Seven-Point Story Structure
Home Literature Introduction: The Seven-Point Story Structure : โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด คืออะไรและทำงานอย่างไร

Introduction: The Seven-Point Story Structure : โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด คืออะไรและทำงานอย่างไร

นิวัต พุทธประสาท

by Admin
685 views 7 mins read

The Seven-Point Story Structure : โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด หรือ โครงสร้างเจ็ดจุด คืออะไร ทำงานอย่างไร จะใช้เพื่อสร้างเรื่องราวที่สนุกตื่นเต้นด้วยวิธีการไหน บทความนี้จะนำเสนอรายละเอียดทั้งหมด เพื่อผู้เขียนจะสามารถนำไปดัดแปลงเพื่อเขียนนวนิยายของตัวเอง

โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด คือชุดการลำดับเรื่องแต่งที่ทำให้ผู้อ่านอยากติดตามเรื่องราวอันสนุก Dan Wells ได้อธิบายโครงสร้างนี้เป็นครั้งแรกในการประชุม Life, the Universe, & Everything ในปี 2013 เวลส์ไม่ได้ฉกฉวยเครดิตโครงสร้างเจ็ดจุดไว้คนเดียว เพราะเขายืมโครงสร้างนี้มาจากคู่มือผู้บรรยายเกมสวมบทบาท Star Trek

ก่อนจะเข้าเนื้อหา มาดูว่าโครงสร้างเจ็ดจุดมีอะไรบ้าง ถ้าผู้เขียนศึกษาโครงสร้างสามองก์ จากบทความเกี่ยวกับ โครงสร้างเรื่องราวทั้ง 7 มาก่อนหน้านี้ โครงสร้างเจ็ดจุดมีอะไรคล้ายๆ กับโครงสร้างสามองก์ ทั้งสองโครงสร้างมีโครงเรื่องที่สร้างเดิมพันที่สูงขึ้น ซึ่งเดิมพันนี้นำไปสู่การแก้ปัญหาของตัวเอก การที่โครงสร้างเจ็ดจุดได้รับความนิยมจึงไม่ใช่การปฏิวัติทางโครงสร้างเรื่องราว แต่เป็นการพัฒนาโครงสร้างให้มีความสมดุลย์ระหว่างตัวเรื่องในครึ่งแรก กับตัวเรื่องในครึ่งหลัง โดยมีจุดกึ่งกลางเรื่อง (Midpoint) เป็นตัวแปร และมีจุดกดดันสองจุด (Pinch Point 1-2) โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุดจึงมีความน่าสนใจ ที่สามารถเปลี่ยนไอเดียในนวนิยาย ให้กลายมาเป็นเรื่องสนุกน่าค้นหา ต่อไปนี้คือขั้นตอนการทำงานของ โครงสร้างเรื่องราว 7 จุด

Seven-Point Story Structure โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด หรือ โครงสร้างเจ็ดจุด
The seven-point story structure

1. The Hook : บทนำเกี่ยวกับ โลก และ/หรือ ตัวละคร ที่พวกเขามีชีวิตอยู่ พร้อมด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ

2. Plot Point 1 : inciting incident หรือ จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ ที่นำตัวเอกเข้าสู่การผจญภัย

3.Pinch Point 1 : ความเสี่ยง หรือเดิมพันสูงขึ้น จากการเปิดตัวแนะนำศัตรู หรือความขัดแย้งที่สำคัญ

4. Midpoint : จุดเปลี่ยนของเรื่องราว เมื่อตัวเอกมีปฏิกิริยากับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป

5. Pinch Point 2 : ความขัดแย้งครั้งใหญ่กลับกลายเป็นเรื่องเลวร้าย และตัวเอกเหมือนกำลังสูญเสียการควบคุม

6. Plot Point 2: ตัวเอกค้นพบบางสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาแก้ไขความขัดแย้งครั้งใหญ่หรือเอาชนะศัตรูได้

7. Resolution: ความขัดแย้งที่สำคัญได้รับการแก้ไขและศัตรูจะพ่ายแพ้

วิธีใช้ โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด

สิ่งที่โครงสร้างเจ็ดจุดต้องการก็คือ ตัวละครและโลกของนวนิยายที่น่าสนใจ ก่อนจะไปลึกกว่านี้ ผมขอยกตัวอย่างนวนิยายเรื่อง The Hunger Games ของ ซูซานน์ คอลลินส์ เธอพบแนวคิดที่จะใช้ตัวละครวัยรุ่นต้องต่อสู้ในเกมเพื่อรอดชีวิต ขณะที่กำลังเปลี่ยนช่องทีวีไปเรื่อยๆ แม้คอลินส์ไม่ได้ร่างนวนิยายของเธอจากโครงสร้างเจ็ดจุด แต่นวนิยายเรื่องนี้สามารถนำมาเป็นตัวอย่างของบทความโครงสร้างเจ็ดจุดได้ 

โลกนวนิยายใน The Hunger Games:

Hunger Games : The Seven-Point Story Structure

ในอนาคตอันเลวร้าย อเมริกากลายเป็นรัฐเผด็จการที่มี 13 รัฐ ในแต่ละปีรัฐบาลกลางจะคัดเลือก “บรรณาการ”จำนวน 2 คนจากทุกเขต เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันใน Hunger Games ซึ่เป็นการแข่งขันยอดนิยมที่ถ่ายสดผ่านโทรทัศน์ระดับประเทศ กติกาคือพวกเขาต้องต่อสู้เอาชีวิตรอดจนตาย เหลือผู้ชนะเพียงคนเดียว

ต่อไปนี้คือห้าขั้นตอนที่จะนำโครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุดไปใช้

1. ตัดสินใจเลือก Resolution เป็นลำดับแรก

ขั้นตอนแรกของการวางแผนเขียน ผมมักจะแนะนำให้เริ่มตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนจบ โดยกำหนดรายละเอียดทุกอย่าง เพื่อทำให้เรื่องราวที่จะเล่าไม่ติดขัด กระบวนการทำงานที่ถูกต้องจะช่วยทำให้การเขียนนวนิยายมีโอกาสเขียนจบได้มากขึ้น แต่กระนั้นการที่ต้องให้ผู้เขียนเลือก Resolution หรือตอนจบของเรื่องก่อนเนื่องจาก Resolution เป็นจุดจบของ “Narrative Arc”

แล้ว “Narrative Arc” คืออะไร?

Narrative Arc : ส่วนโค้งของการเล่าเรื่อง คือความก้าวหน้าของเรื่องราวทั้งหมด ตัวอย่างของส่วนโค้งเรื่องราวจะเริ่มต้นด้วย เรื่องราวที่สุขสงบ ช่วงกลางตึงเครียด ความขัดแย้งเริ่มท้าทายตัวเอก และโมเมนตัมการเล่าเรื่องถูกสร้างขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด และจบลงด้วยความขัดแย้งได้รับการแก้ไข

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่น ตัวเอกชายพบนางเอก ตัวเอกล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์ พวกเขากลับมาสานสัมพันธ์อีกครั้ง ฟังดูเรียบง่าย แต่มันก็เป็นแบบนี้ จากนั้นเราก็เพิ่มความซับซ้อนเข้าไปให้กับส่วนโค้ง ซึ่งนั่นจะทำให้เรื่องราสของเราแตกต่างออกไป 

Resolution เป็นจุดจบของส่วนโค้งการเล่าเรื่อง จุดนี้คือจุดที่เรื่องราวได้รับการคลี่คลายปมจนหมด และอาจเป็นขันตอนสุดท้ายของส่วนดค้งการเล่าเรื่องของตัวเอก ตัวอย่างที่รูปธรรม ตัวเอกเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าร้ายหรือดี เช่น ถ้าตอนต้นตัวเอกเป็นเด็กเนิร์ด ถูกรังแก ตอนจบพวกเขาสามารถเอาชนะศัตรูได้

ใน The Hunger Games ตัวเอกชนะเกม ในขณะที่การแข่งขันเป็นไปอย่างรุนแรง มีคนตายไปมากมาย จุดจบเชิงตรรกะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินเรื่อง ผู้อ่านเดาได้ไม่ยากว่าตัวเอกจะต้องชนะวันยังค่ำ แต่เราสามารถเพิ่มผลที่ตามมาที่แตกต่างได้ ความสำเร็จในชัยชนะ ทำให้พวกเขามีชื่อเสียง ซึ่งหมายความว่าชีวิตของตัวเอกอาจเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ได้เงินรางวัล หรือมีอำนาจในระดับหนึ่งในตอนท้ายเรื่อง

2. สร้าง  Hook ที่คู่ขนานไปกับตอนจบ

เมื่อคิดตอนจบได้แล้ว ตอนต้นต้องสร้างสิ่งตรงข้ามที่ตัวเอกเป็น เช่น ตอนต้นตัวเอกถูกบูลลี่ เป็นเด็กขี้แพ้ หรือทำงานไม่สำเร็จ ตอนจบพวกเขาจะชนะ ถ้าตอนต้นพวกเขาอ่อนแอขี้แพ้ ตอนจบพวกเขาแข็งแกร่งชนะคู่ต่อสู้ วิธีการนี้ทำให้เราสามารถสร้างเรื่องราวที่น่าติดตาม การเปลี่ยนแปลงของตัวละครเป็นสิ่งที่ผู้อ่านชื่นชอบเสมอ

เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงสามารถดึงคนอ่านให้อยู่หมัดตั้งแต่ต้น เราต้องสร้างคำถามที่ทรงพลังให้กับผู้อ่าน จากนั้นพวกเขาจะค่อยๆ อ่านข้อเฉลยไปทีละหน้า ว่าตัวเอกต้องต่อสู้ หรือพัฒนาตัวอย่างไร พวกเขาพบเจออุปสรรคอะไรบ้าง

The Hunger Games: แคตนิสต้องดูแลแม่และน้องสาวในเขตที่ยากจนที่สุด

แคตนิสตัวเอกของเรื่องต้องเผชิญกับความยากลำบากในการมีชีวิตอยู่ เธออาศัยในเขตที่ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ ยากจนและต้องพยายามอยู่รอดให้ได้ ทั้งอิทธิพลทางการเมืองและความไม่ปลอดภัยในชีวิต

ถ้าตอนจบแคตนิสเอาชนะในเกมได้ ตอนเริ่มต้นเธอคือผู้เข้าแข่งขันในเขตที่อ่อนแอที่สุด ไม่เคยมีผู้รอดชีวิตจากเขตนี้มานานแล้ว 

เพื่อไม่ให้เรื่องราวกลายเป็นความบังเอิญ เราต้องสร้างทักษะการเอาชีวิตรอดให้กับเธอ แคตนิสเป็นนักล่าสัตว์ เธอเรียนรู้วิธีการแลกเปลี่ยน และทำข้อตกลง เธอต้องมีแรงจูงใจมากพอที่จะเอาชีวิตรอดจากเกม นั่นคือครอบครัวที่ต้องดูแล

ในขณะที่เราวางจุดเริ่มต้นกับตอนจบเคียงคู่กัน เรากำลังสร้างตัวละครที่น่าสนใจ นี่คือเครื่องมือที่สามารถใช้พัฒนาเรื่องราวไปสู่การแก้ปัญหาได้

3. แบ่งเรื่องราวออกเป็นสองส่วนด้วย Midpoint

เพื่อทำให้โครงสร้างเรื่องราวมีความแข็งแกร่ง และเพิ่มความซับซ้อน จะต้องเลือกใช้ Midpoint – “จุดกึ่งกลางเรื่อง” ในโครงสร้างนี้ จุดกึ่งกลางเรื่องคือเหตุการณ์ที่แบ่งเรื่องราวออกเป็นสองส่วน

1 ตัวละครหลักตอบสนองต่อภาวะแวดล้อมของพวกเขา และ

2 ตัวละครหลักเปลี่ยนแปลงในเชิงรุกเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน

ครึ่งแรกของเรื่องตัวละครตอบสนองต่อทุกสิ่งรอบตัวเท่านั้น ส่วนสองคือที่ที่พวกเขาดำเนินการตามเป้าหมายในเชิงรุก จุดกึ่งกลางเรื่องแสดงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนการตอบสนองเป็นการกระทำ

ใน The Wizard of Oz ในที่สุดโดโรธีมาถึง Emerald City (ชัยชนะ) แต่ Wizard เรียกร้องให้เธอเอาชนะแม่มด (ต้นทุน)

ภาพยนตร์มหากาฟย์ Star Wars ลุค สกายวอร์กเกอร์ ช่วย เลอา จาก Death Star (ชัยชนะ) แต่เป็นส่งผลให้โอบีวันที่ปรึกษาของเขาถูกสังหาร และจักรวรรดิค้นพบฐานกบฏ (ต้นทุน)

เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์จุดกึ่งกลางเรื่อง ตัวละครเริ่มรู้สึกจําเป็นต้องทําอะไรบางอย่างแทนที่จะให้คนอื่นบอกว่าภารกิจหรือโชคชะตาของพวกเขาคืออะไร

The Hunger Games: ตัวเอกหยุดเดินตามกฎแต่เลือกไปบนเส้นทางของตัวเอง

The Hunger Games : The Seven-Point Story Structure

แคตนิสถูกบังคับให้เข้าสู่เกม เรารู้ว่าเมื่อถึงตอนจบเธอเป็นผู้ชนะ ด้วยการสร้างจุดกึ่งกลางเรื่อง เธอท้าทายกฎ “มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว” โดยร่วมมือกับบรรณาการคนอื่นเพื่อช่วยให้รอดชีวิต เธอจะไม่เล่นตามกฎของแคปิตอลอีกต่อไป เมื่อตัวเนื้อเรื่องได้รับการปรับมาสู่การมีผู้รอดชีวิตสองคน การพัฒนาพล็อตแบบนี้ช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงธีมของเรื่องได้

สิ่งที่ทำให้แคตนิสต้องการต่อสู้เอาชนะระบบ เป็นเพราะแรงจูงใจของเธอ ตัวละครนี้สร้างขึ้นจาก The Hook แคตนิสรักแม่และเสียลสละเพื่อน้องสาว แรงจูงใจนี้เธอตัดสินใจโค่นระบบ ความตายของเพื่อนบรรณาการอายุน้อย ทำให้เธอคิดถึงน้องสาว

4. (a) เขี่ยลูกบอลด้วย Plot Point 1

ตอนนี้เรามีโครงเรื่องหลวมๆ ถึงเวลาโฟกัสเนื้อหาของเรื่องที่จะนำรายละเอียดสำคัญของ Hook ไปสู่ Midpoints

The Hook คือการสร้าง “โลกธรรมดา” ของเรื่อง ตัวเชื่อมนี้จะต้องมีสถานการณ์ที่จะผลักให้ตัวเอกออกไปจากพื้นที่ปลอดภัย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ควรมีการพลิกผันเรื่องราวเล็กน้อย เพื่อให้พล็อตเคลื่อนไปข้างหน้า ด้วย “จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์” (inciting incident) หรือ การเรียกร้องให้ผจญภัย (เช่น ในโครงสร้าง Hero’s Journey) ตัวละครต้องตอบสนองต่อเหตุการณ์ อาจจะเป็นภารกิจที่ต้องเผชิญหน้า คำทำนาย หรือการตกงาน

เมื่อตัวเอกสนองตอบต่อปฏิกิริยาในช่วงครึ่งแรกของเรื่อง แต่พวกเขายังไม่เริ่มดำเนินการอะไรในเชิงรุก แต่เหตุการณ์นี้ทำให้พวกเขานิ่งเฉยไม่ได้

อย่างเช่น

  • เกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์ที่หยุดชะงักในช่วงของ Hook
  • ทำไมตัวเอกต้องตอบสนองต่อสิ่งเร้า
  • อะไรคือความเสี่ยงสำหรับตัวเอกต่อสถานการณ์เหล่านั้น

เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่าตัวละครจะเดินหน้าได้อย่างไร

The Hunger Games: นางเอกอาสาไปเป็นเครื่องบรรณาการแทนน้องสาว

ตัวเรื่องดึงแคตนิสเข้าสู่เกม แทนที่จะเป็นน้องสาวของเธอที่ถูกคัดเลือกจากการสุ่ม การอาสาของแคตนิสผู้อ่านไม่รู้สึกว่าเธอถูกบังคับให้ทำ แต่สมัครใจไปเอง เหตุการณ์นี้ช่วยเพิ่มการเดิมพันมากขึ้น ยิ่งตัวเอกมีลักษณะปกป้องครอบครัว การตัดสินใจของเธอจึงเป็นเรื่องบุคลิกภาพ ชีวิตด้านใน และสถานการณ์ที่บีบบังคับ

4. (b) ใช้ Plot Point 2 เป็นการผลักดันครั้งสุดท้าย

ขั้นตอนนี้จะทำให้นวนิยายออกมาสมดุลย์ เมื่อมี Plot Point 1 แล้ว ก็สามารถสร้าง Plot Point 2 มันคือจุดเปลี่ยนของเรื่อง เพื่อนำเรื่องราวทั้งหมดไปสู่ตอนจบ Plot Point 2 ตามหลักจะเกิดขึ้นหลังจากจุดกึ่งกลางเรื่อง เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง

Plot Point 1 ตัวละครจะถูกบังคับ Plot Point 2 จะตรงข้ามกับจุดแรก พวกเขาจะกระทำตามเจตจำนงเสรีของตนเอง นี่เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการแก้ปัญหา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้นที่จุดกึ่งกลางเรื่อง

The Hunger Games: แคตนิสเอาชนะเกม โดยปฏิเสธตอนจบอย่างที่พวกเขาต้องการ

จุดกึ่งกลางเรื่อง แคตนิสมีชีวิตรอดจากเกม ชัยชนะเป็นการท้าทายอำนาจของแคปิตอล ตามกฎจะต้องมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว เธอต้องฆ่าเพื่อน แต่แทนที่จะปล่อยให้เป็นแบบนั้น แคตนิสเข้าใจเรื่องการสื่อสารกับคนดู และอาศัยจุดนี้เปลี่ยนแปลงคำตัดสิน ขณะเดียวกันเกมที่ไม่มีใครชนะเพียงหนึ่งเดียวเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐ แต่พวกเขาต้องยอมรับเพราะไม่สามารถฝืนพลังกระแสชน ซึ่งทำให้นางเอกของเราบรรลุเป้าหมายของเธอ

5. (a) เพิ่มแรงกดที่ Pinch Point 1

ตอนนี้เราได้เรื่องราวคร่าวๆ: สถานะที่เป็นอยู่ การเรียกร้องให้ผจญภัย ความเชื่อ เหตุการณ์ขั้นสูงสุด และความแน่วแน่ แต่เรายังขาดแรงกดดัน — ช่วงเวลาที่เชื่อมส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความตึงเครียด เพื่อทําให้เรื่องราวน่าสนใจยิ่งขึ้น นี่คือที่มาของ Pinches พวกเขากำลังจะทำอะไรใหม่ๆ หรือเข้าสู่เหตุการณ์อันตราย นี่คือเวลาที่จะนำองค์ประกอบที่เพิ่มความตึงเครียดและความขัดแย้งหลักเข้าไป

ทันทีหลังจากเปิดเผยความขัดแย้งหลักโดยใช้ Plot Point 1 ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น สร้างความขัดแย้ง สร้างศัตรูหรือคู่อริขึ้นมา –Pinch Point 1–  หลังจาก Plot Point 1 ตัวละครเพิ่งถูกผลักเข้าสู่การผจญภัย สิ่งต่างๆ จะน่าตื่นเต้นมากขึ้น เราสามารถแนะนําศัตรูได้ที่ Pinch Point 1 ด้วยวิธีการเล่าเรื่อง “บอกแต่ไม่แสดง” ผู้อ่านจะรู้ว่าเส้นทางข้างหน้าท้าทายแค่ไหนสําหรับตัวเอก คู่อริควรเป็นตัวแทนของความขัดแย้งที่สําคัญ ซึ่งเป็นประเด็นสําคัญแต่บางครั้งก็เป็นพื้นฐานที่ตัวเอกจะเลือกจัดการที่จุดกึ่งกลางเรื่อง

5. (b) ฆ่าความหวังทั้งหมดด้วย Pinch Point 2

เพิ่มความตึงเครียด แต่คราวนี้ตัวเอกพบว่าอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขาควบคุมไม่ได้หรือไม่มีโอกาสชนะเราเพิ่มจุดกดดันสุดท้าย ตัวเอกเลือกจะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์ของพวกเขา และเรารู้ว่าพวกเขากำลังไปถึงที่นั่นในตอนท้าย อย่างไรก็ตาม เพียงเพราะพวกเขาออกไปจากภารกิจที่ต้องทำ นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะง่ายดาย การตั้งค่าให้จุดจบนั้นน่าพอใจจนกว่าจะไปถึง ตัวละครจะได้รับการทดสอบ นี่คือสิ่งสำคัญแม้ว่าเราจะไม่ได้อิงเรื่องราวเท่ากับส่วนโค้งของตัวละคร ความท้าทายยังสามารถแสดงให้เห็นว่าตัวละครยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมได้อย่างไร

เมื่อพยายามขจัดความหวังทั้งหมด จุดนี้ เป็นช่วงเวลาที่ พวกเขา “หลงทาง” แม้ว่าจะได้พบกับศัตรูที่แท้จริงของเรื่อง ตัวเอกรู้สึกว่าไม่สามารถเอาชนะได้ ในทางหนึ่ง จากช่วงเวลาที่เลวร้าย ตัวเอกจะได้รับการสนับสนุนให้คิดต่างออกไปจากเดิม ประเมินความสามารถและทักษะพวกเขาใหม่อีกครั้ง และหาทางออกจากสถานการณ์ ในแบบที่ทำใน  Plot Point 2

The Hunger Games: ศัตรูปล่อยให้นางเอกตายใจ 

แคตนิสกำลังก่อกบฎต่อระบบ ทำงานร่วมกับเพื่อนบรรณาการเพื่อเอาชีวิตรอด ขณะที่แคปิตอลต้องการพรากความหวังของเธอ พวกเขาปล่อยให้มีเสรีภาพ เช่นเปลี่ยนกฎที่ดูเหมือนจะอนุญาตให้มีผู้ชนะสองคน พวกเขามีแผนที่กำจัดปรปักษ์ทั้งหมดของรัฐ วางแผนให้อีกคนฆ่าอีกคน อำนาจรัฐจัดเต็มกับผู้ต่อต้าน โดยใช้โทรทัศน์เป็นเครื่องมือ

โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด หรือ โครงสร้างเจ็ดจุด

ตอนนี้เรามีพล็อตเรื่องแล้ว มาจัดระเบียบฉากและเหตุการณ์กันใหม่ด้วยโครงสร้างเจ็ดจุด

1. The Hook : แคตนิสมีชีวิตกับครอบครัวในบ้านหลังเล็กในเขตที่ทุรกันดาร 

2. Plot Turn Point 1 : เมื่อน้องสาวของเธอได้รับการสุ่มให้เป็นตัวแทนของเขต เพื่อเข้าร่วม Hunger Games เธอขออาสาไปแทนน้องสาว

3. Pinch Point 1 : เธอพบกับคู่ต่อสู้จากเขตอื่น และโปรดิวเซอร์ของเธอก่อนเริ่มเกม

4. Midpoint : เข้าสู่เกมในช่วงเริ่มต้น เพื่อนบรรณาการของแคตนิสถูกสังหาร เธอเลือกที่จะเปลี่ยนเกม ไม่เล่นตามกฎ เธอต้องการเอาชีวิตรอดพร้อมกับเพื่อน

5. Pinch Point 2 : แคตนิสถึงจุดที่ตกต่ำที่สุด เธอพบว่าแคปิตอลหลอกให้เธอเชื่อว่ากฎของเกมเปลี่ยน สามารถมีผู้ชนะสองคน

6. Plot Turn Point 2 : แคตนิสใช้อุบาย กับเพื่อนของเธอ และชิงไหวพริบกับโปรดิวเซอร์โดยขู่ว่าสุดท้ายจะไม่เหลือผู้ชนะเลย

7. Resolution : โปรดิวเซอร์ยอมแพ้ เธอได้รับชัยชนะพร้อมกับเพื่อนหนุ่ม เธอกลับไป มีบ้านหลังใหญ่สำหรับครอบครัว

ทำไมต้องใช้ โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด

โครงสร้างเจ็ดจุดที่เพิ่งเรียนรู้ในบทความนี้ สามารถนำมาพัฒนาพล็อตที่มีอยู่ได้ จุดต่างๆ ที่กระโดดไปมาสามารถหารายละเอียดต่างๆ เข้ามาร้อยเรียงให้เป็นเรื่อง โดยสร้างตรรกะของเรื่องเป็นตัวเชื่อมต่อในจุดต่างๆ โครงสร้างเจ็ดจุดเหมาะกับเรื่องแบบไหน

  • ตัวละครน่าสนใจ แต่ยังหาโครงสร้างเรื่องไม่ลงตัว
  • ต้องการสร้างการเล่าเรื่อง จากตัวละครที่น่าสนใจ โดยสร้างเหตุการณ์ให้สอดคล้อง
  • กำลังมองหากระบวนการเพื่อสร้างไอเดียที่ช่วยแยกพล็อตเรื่องออกจากกัน

เรื่องราวส่วนใหญ่มีเป้าหมายไปที่ตอนจบของเรื่อง ปัญหาที่ตัวละครต้องเผชิญหน้า ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ น่าสนใจ หรืออย่างน้อยพวกเขาพยามทำอะไรบางอย่าง โครงสร้างเจ็ดจุด เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้เขียนวางภาพ และวางแผนเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ นี่คือสิ่งที่โครงสร้างเจ็ดจุดมีประโยชน์

อย่างไรก็ตาม การเขียนโดยไม่มีการวางแผนนั้นอาจทำออกมาได้ดี แต่บางครั้งการทำตามโครงสร้างเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบปัญหาเวลาลงมือทำงาน

อย่าหมกมุ่นกับการทำตามโครงสร้างการเล่าเรื่องเหล่านี้มากเกินไป ควรใช้เพื่อเป็นแนวทางหลวมๆ ที่ช่วยในการรวบรวมเรื่องราวที่จะเขียน การเลือกใช้โครงสร้างต่างๆ เป็นกระบวนการที่ทรงประสิทธิภาพและสนุกสนาน ทั้งหมดต้องใช้เวลาเพื่อวางแผนการเขียน แต่เมื่อพบวิธีการแล้ว เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการเขียนช่วยให้เขียนต้นฉบีบได้ราบรื่น และได้ผลมากขึ้น

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More